“คล็อค แชนนอน (Claude Shannon) ผู้บุกเบิกศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์และคิดค้นทฤษฎีข้อมูลได้พบแมรี่ เอลิซาเบธ (Mary Elizabeth) ภรรยาของเขาในที่ทำงาน ซึ่งคือเบลล์แลบส์ ในเมอร์เรย์ฮิลล์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ เมื่อต้นยุค 1940 เขาเป็นวิศวกร ทำงานด้านการเข้ารหัสเพื่อส่งสัญญาณในสงคราม ส่วนเธอเป็นคอมพิวเตอร์”
นี่คือส่วนเปิดของหนังสือ The Most Human Human (ปัญญา-มนุษย์-ประดิษฐ์) ที่ทำให้ต้องสะดุดไปคิดแป๊บหนึ่งว่า “หือ? อะไรนะ?”
ก่อนที่จะตกใจกันไปมากกว่านี้ต้องอธิบายก่อนว่าสิ่งที่ทำให้เราสับสนคือคำว่า ‘ภรรยา’ และ ‘คอมพิวเตอร์’ ถูกไหมครับ? เพราะสองสิ่งนี้ไม่ควรมาพร้อมๆ กัน (อย่างน้อยก็ไม่ใช่ตอนนี้และเมื่อห้าสิบปีก่อน เรายังไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นยังไง) ในตอนแรกยุคเริ่มต้นนั้น ‘คอมพิวเตอร์’ หมายถึงตำแหน่งงานครับ ไม่ได้หมายถึง ‘คอมพิวเตอร์’ ที่เป็นอุปกรณ์ประมวลผลดิจิทัลที่แพร่หลายไปทั่วในยุคปัจจุบัน มนุษย์ที่เป็นคอมพิวเตอร์นั้นทำหน้าที่คำนวณและวิเคราะห์เชิงคณิตศาสตร์ บางครั้งอาจจะใช้เครื่องคิดเลขพื้นฐานในการช่วยทำงาน กลุ่มคนเหล่านี้แหละที่อยู่เบื้องหลังการทำนายการเคลื่อนที่ของดาวหางฮัลเลย์อันแม่นยำในยุคนั้น
ถ้าจะบอกว่าคอมพิวเตอร์ดิจิทัลถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำงานแทนที่คอมพิวเตอร์มนุษย์ก็คงไม่ผิดนัก ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เครื่องจักรเคยถูกเปรียบเทียบว่าคิดคำนวณวิเคราะห์ได้เหมือนมนุษย์ แต่กลับกันตอนนี้เมื่อไหร่ก็ตามที่มีมนุษย์ที่เป็นอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์โผล่ขึ้นมาเราจะเปรียบเทียบคนคนนั้นเป็นเหมือนกับคอมพิวเตอร์ มันเป็นชะตากรรมที่พลิกผันของมนุษย์โดยแท้จริง
เพราะฉะนั้นถึงตอนนี้คงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องถกเถียงกันแล้วว่าคอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์นั้นมีความสามารถในการคิดคำนวณ วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลได้เร็วกว่ามนุษย์ไปแล้ว ส่วนความหมายของคำว่า ‘คอมพิวเตอร์’ ก็เปลี่ยนไปแล้วจากเมื่อหลายทศวรรษก่อน
แต่คำถามต่อมาที่เป็นประเด็นเก่าแก่ที่เติบโตมาพร้อมกับความฉลาดของหุ่นยนต์ก็คือ วันหนึ่งมันจะสามารถมีความรู้สึกและความคิดเป็นของตัวเองรึเปล่า? พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าคอมพิวเตอร์ดิจิทัลนี้จะกลายเป็นมนุษย์ในรูปแบบแมชชีนได้จริงๆ รึเปล่านั่นเอง?
ก่อนที่จะไปตอบคำถามตรงนั้นเราต้องแยกก่อนว่า Artificial Intelligence (AI) นั้นแบ่งออกกว้างๆ ได้สองอย่างก็คือ ‘Weak AI’ กับ ‘Strong AI’ ซึ่งความแตกต่างของสองสิ่งนี้ก็คือส่วนที่เป็นความคิดความรู้สึกที่เหมือนมนุษย์นั้นแหละ Weak AI เป็นสาขาที่เน้นการสร้างซอฟต์แวร์เพื่อการแก้ไขปัญหาหรือทำงานบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุและผล อย่างรถยนต์ไร้คนขับ, Alpha Go, Watson IBM, Facebook NewsFeed หรือ ระบบแนะนำสินค้าของ Amazon ส่วน Strong AI เป็นระบบเครื่องจักรฉลาดที่สามารถทำงานได้เทียบเท่ามนุษย์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีตัวตนจริงๆ แต่จะลองนึกภาพถึง Skynet ในภาพยนตร์ The Terminator หรือ Samantha ในภาพยนตร์เรื่อง Her
ซึ่งในช่วงแรกของงานวิจัยปัญญาประดิษฐ์สมัยใหม่ที่เริ่มราวๆ ค.ศ.1950
นักวิจัยต่างเชื่อว่า Stong AI จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า
เฮอร์เบิร์ต ไซมอน (Herbert Simon) หนึ่งในผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นบิดาของ AI ในยุคนั้นก็กล่าวไว้ในปี ค.ศ.1965 ว่า
“ภายใน 20 ปี เครื่องจักรจะสามารถทำทุกอย่างที่มนุษย์ทำได้”
ซึ่งเขาก็ไม่ใช่คนเดียวที่เชื่อแบบนั้น บุคคลที่มีชื่อเสียงและความรู้ทางสายนี้อย่าง มาร์วิน มินส์กี้ (Marvin Minsky) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยปัญญาประดิษฐ์ที่ MIT, อัลเลน เนเวล (Allen Newell) ผู้เขียนโปรแกรม Logic Theorist ร่วมกับเฮอร์เบิร์ต ไซมอนและ คลิฟฟ์ ชอว์ (Cliff Shaw) ที่เรียกได้ว่าเป็น AI โปรแกรมแรกของโลก) และคล็อด แชนนอน (Claude Shannon) ผู้สร้าง A.I ที่เรียกว่า หนูของแชนนอน (Shannon’s mouse) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์สามารถเรียนรู้หาทางออกจากเขาวงกตได้ ต่างก็มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ซึ่งความเชื่อเหล่านี้นำไปสู่การแต่งนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง 2001: A Space Odyssey ของ อาเธอร์ คลาร์ก (Arthur C. Clarke) หรือ The Man from Mars และ Solaris ของ สแตนิชลอว์ เล็ม (Stanisław Lem) ในภายหลัง
นักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์หลายคน (บางส่วนเรียกตัวเองว่า ‘futurologists’ หรือ นักอนาคตศาสตร์) ได้จินตนาการถึงอนาคตที่หุ่นยนต์นั้นสามารถทำงานทุกอย่างแทนมนุษย์ มีความคิด การตัดสินใจ ความรู้สึกเฉกเช่นเดียวกับเรา แต่ในเมื่อเราไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไรหรือเมื่อไหร่ เราก็ไม่สามารถทราบได้ว่าผลกระทบที่ตามมาจริงๆ แล้วเป็นยังไงมันเหมือนกับการมานั่งถกเถียงกันว่าถ้าวันหนึ่งปรากฏว่ามีเด็กทารกที่มีหางเหมือนลิงที่มีพละกำลังไม่เหมือนเด็กทั่วไปจะกลายร่างเป็นคิงคองยักษ์เมื่อเห็นพระจันทร์เต็มดวงจะเกิดอะไรขึ้นกับโลกของเราบ้าง? แน่นอนว่ามันคงสนุกดีไม่น้อย แต่ว่าเพื่ออะไร?
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า AI จะไม่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, กฎหมาย, การเมืองการปกครอง หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ แต่นี่ก็ยังจัดอยู่ในหมวดของ ‘Weak A.I’ ที่เป็นการสร้างเทคโนโลยีที่เฉพาะเจาะจงขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ซึ่งจากสิ่งที่เราเห็นอยู่ตอนนี้เราก็พอที่จะคาดเดาผลกระทบของมันได้แล้วว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นต่อบ้าง (รถยนต์ไร้คนขับ, โดรนส่งของ, AI ตรวจเอกสารคัดกรองผู้เข้าสมัครงาน, ซุปเปอร์มาเก็ตที่ไร้แคชเชียร์ ฯลฯ) เพราะฉะนั้นสำหรับนักพัฒนา AI จริงๆ แล้วคำถามที่ว่า “การสร้างคอมพิวเตอร์ที่มีความรู้สึกนึกคิดนั้นเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?” อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานที่พวกเขาทำในทุกๆ วัน
แต่ถ้าต้องให้มานั่งคิดจริงๆ ว่าถ้า Strong AI เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบยังไงต่อไปในอนาคต คำตอบที่ได้คืออาจจะไม่มีใครรู้ เพราะในเมื่อเราไม่รู้เลยว่าหากหุ่นยนต์ที่มีความคิดเกิดขึ้นจริงๆ แล้วพวกมันจะคิดเรื่องอะไร จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะคาดเดาว่าต่อจากนั้นถ้ามันเกิดขึ้นแล้วจะเป็นยังไงบ้าง มันอาจจะพยายามทำลายล้างเผ่าพันธ์มนุษย์บนโลกเหมือนกับที่ Skynet ทำ มันอาจจะจับมนุษย์ไปเป็นทาสเพื่อใช้ครองจักรวาลก็ไม่มีใครรู้ได้ หรืออีกความเป็นไปได้ที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากเท่าๆ กันคือมันอาจจะมาช่วยทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น แก้ไขปัญหาที่เราไม่สามารถทำได้ หรือบางทีพวกมันอาจจะไม่ทำอะไรเลยแค่นั่งรวมตัวกันอ่านนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นอย่างที่บอกไม่มีใครรู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น
เทียบตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นภาพชัดเจนขึ้นอีกนิด, สมมุติว่ามีเอเลี่ยนมนุษย์ต่างดาวแวะมาเยี่ยมโลกเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน พวกเขาก็อาจจะพบมนุษย์รูปแบบหนึ่งที่เป็นอยู่ในตอนนั้น เอเลี่ยนก็นั่งสังเกตการณ์แล้วก็จากไป คำถามคือพวกเขาจะรู้ไหมว่าวันหนึ่งลูกหลานของมนุษย์เหล่านี้จะเพลิดเพลินกับกวีและงานเขียนของวิลเลียม เชกสเปียร์ คนเหล่านี้จะสร้างเทคโนโลยีที่สามารถเดินทางไปยังอวกาศได้ คนเหล่านี้จะใช้เวลาถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องปรัชญาชีวิตและความหมายของการมีอยู่ของตัวเอง? ความคิด ความรู้สึก รวมไปถึงจิตใต้สำนึกของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากเกินกว่าจะคาดเดา แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าวันหนึ่งถ้าหุ่นยนต์สามารถทำแบบนั้นได้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ซึ่งถ้าเราบอกว่าสมองกลนั้นจะถูกออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่นและเรียนรู้ได้เหมือนกับมนุษย์ก็หมายถึงว่าโมเดลของมันนั้นจะมีความคล้ายคลึงกับสมองส่วน Neocortex ที่เป็นระบบการเรียนรู้ของมนุษย์และทำให้เรานั้นแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสมองส่วนอื่นที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับสัญชาตญาณ (ความรู้สึก ความหิว โกรธ ความอยากได้ อิจฉาฯลฯ) ถ้าวันหนึ่งหุ่นยนต์สามารถเรียนรู้และทำทุกอย่างแทนมนุษย์ได้ มันก็ยังขาดส่วนที่จะทำให้เป็นเหมือนมนุษย์
แน่นอนว่าอาจจะมีคนที่พยายามสร้างหุ่นยนต์ที่ทำแบบนั้น
แต่ในตอนนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าต้องทำยังไงและเป็นไปได้รึเปล่า
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องของความเชื่อว่าสิ่งที่ซับซ้อนถูกอธิบายได้ด้วยส่วนย่อยๆ ที่ไม่ซับซ้อนอย่าง ‘Reductionism’ นั้นทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถที่จะคิดหรือเข้าใจได้เหมือนกับมนุษย์เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมาตลอด มีงานเขียนจากหนังสือ Minds, Brains and Programs ของ จอห์น เซิร์ล (John Searle) ได้อธิบายเรื่องนี้ว่า สมมติมีมนุษย์คนหนึ่งนั่งอยู่ในห้องแล้วมีโน้ตคำศัพท์ภาษาจีนพร้อมกับคำอธิบายว่าต้องใช้คำศัพท์ตัวไหนเมื่อไหร่ในภาษาที่เขาเข้าใจอยู่แล้ว (โดยเงื่อนไขคือว่าคำอธิบายเหล่านี้ละเอียดและสามารถใช้งานได้จริง) เมื่อมีคนจีนที่อยู่นอกห้องเขียนคำถามหรือพิมพ์ประโยคผ่านไปให้อีกคนที่อยู่ในห้อง ก็ได้คำตอบกลับมาเป็นภาษาจีนตามที่เขาเข้าใจ คนที่อยู่นอกห้องก็อาจจะคิดไปได้ว่าคนที่อยู่ในห้องนั้นสามารถสื่อสารภาษาจีนได้ (ถ้าอ่านหนังสือ The Most Human Human, Turing’s Test ก็มีความคล้ายคลึงกันแต่จะใช้หุ่นยนต์หลอกกรรมการว่ามันเป็นมนุษย์)
แต่ความจริงคือคนที่อยู่ในห้องนั้นแค่ทำตามข้อมูลที่มี (syntax) โดยไม่เข้าใจความหมาย (semantics) ของคำถามเหล่านั้นเลย ซึ่งสมองกลก็เป็นแบบเดียวกัน (มีครั้งหนึ่งที่ผมเคยนั่งเถียงเป็นจริงเป็นจังกับ AI ของสายการบินหนึ่ง แต่สุดท้ายก็มาคิดได้ว่ามันมีข้อมูลแค่นี้และไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสาร แล้วก็ต้องยอมแพ้ไป) หุ่นยนต์ที่สามารถวิเคราะห์และสร้างผลลัพธ์ตามข้อมูลนั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่งในเวลานี้ แต่นั่นก็ยังเป็น ‘Weak A.I’ อยู่ดี
แต่นี้ก็นำไปสู่อีกคำถามว่า ถ้าสมมติว่าเราสร้างหุ่นยนต์ที่ความคิดความรู้สึกเหมือนมนุษย์ได้ (หรือถ้ามันเกิดขึ้นมาเองไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็ตาม) หุ่นยนต์จะต้องการเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ เหรอ? เพราะเจ้าสิ่งที่เรียกว่า ‘การตระหนักรู้’ หรือ ‘สติ’ ที่มาพร้อมกับการเป็นเหมือนมนุษย์นั้นนำมาซึ่งภาระที่น่าปวดหัวอย่างเช่นการคิดไปล่วงหน้าหรือวางแผนสำหรับงานที่กำลังทำอยู่ การตั้งคำถามเพื่อหาความหมายในทุกสิ่งทุกอย่างเป็นคำสาปที่ติดตัวมนุษย์ตั้งแต่จำความและเริ่มตระหนักรู้ถึงตัวตนของตัวเอง ยิ่งพยายามค้นคว้าหาคำตอบมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เจ็บปวดมากขึ้นเท่านั้น ถ้าพบว่าการมีอยู่ของตัวเองไม่ได้มีความหมายมากเท่าจินตนาการเอาไว้
อีกอย่างหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยในเรื่องของการตระหนักรู้ก็คือ ‘ร่างกาย’ ที่มาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ ซึ่งเรารู้ว่ามันมีอยู่ตรงนั้นและเป็นส่วนหนึ่งของระบบการรับรู้ของเราด้วยไม่ใช่แค่เรื่องของสมอง ร่างกายเราตอบสนองต่อความคิดจินตนาการ ความจำที่ฝังลึกลงไปข้างใน เด็กคนหนึ่งเมื่อถูกแม่ดุเวลาหยิบจับของมีคม เมื่อได้ยินเสียงแม่ดุเตือนครั้งต่อไปความทรงจำเหล่านั้นจะย้อนกลับมาทันที หรือการกลับไปเจอแฟนเก่าแล้วรู้สึกท้องไส้ปั่นป่วนนั้นคือสิ่งที่ทำให้เราเป็น ‘เรา’ ไม่ใช่แค่สมองแต่คือร่างกายทั้งหมด เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าวันหนึ่งเราจะสามารถอัพโหลดความจำหรือสมองส่วนความคิดอ่านของเราขึ้นไปอยู่บนคอมพิวเตอร์ได้ มันก็ไม่ได้เป็นของเราจริงๆ แล้ว
สุดท้ายแล้วถ้าเกิดว่าวันหนึ่งหุ่นยนต์สามารถตระหนักรู้และมีความคิดได้เหมือนกับมนุษย์สักแห่งบนคลาวด์ มันก็คงไม่น่าจะมาในรูปแบบที่เราคาดคิดอย่าง Skynet เพราะถ้าหุ่นยนต์คิดได้จริงๆ คำถามแรกที่พวกเขาอาจจะรวมหัวกันคิดคือ “เราอยากจะเป็นเหมือนมนุษย์จริงๆ เหรอ?”
อ้างอิงข้อมูลจาก