ผมคลับคล้ายคลับคลาว่าเรียนรู้เรื่องการออมมาตั้งแต่สมัยประถม แถมยังถูกย้ำพร่ำสอนอีกครั้งชั้นเรียนวิชาการเงินส่วนบุคคลสมัยมหาวิทยาลัย ถึงกระนั้นการออมเงินก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดี และคนจำนวนไม่น้อยก็คงเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากไม่ต่างกัน จนบางครั้งแผนการเกษียณที่มีในใจก็คือทำงานหาเงินต่อไปเรื่อยๆ เท่าที่มีกำลัง
ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งที่เราได้เห็นบทความเนื้อหาประมาณว่า ‘คนไทยออมไม่พอ’ ‘คนไทยไม่มีความพร้อมทางการเงินที่จะเกษียณ’ หรือ ‘หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งทะลุเพดาน’ ซึ่งมักจะปิดท้ายด้วยคำแนะนำว่าทุกคนจะต้องเริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่าย หารายได้เพิ่ม ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น กันเงินออมไว้อย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์ และอีกสารพัดคำแนะนำที่อ่านแล้วก็ได้แต่สบถในใจว่า ‘ถ้าทำได้ทำไปนานแล้วโว้ย’
อาจถึงเวลาที่เราต้องยอมรับความจริงว่าการจัดการเงินเพื่อการเกษียณเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีก่อนเราไม่ต้องคิดเรื่องเกษียณอายุหรอกครับ เพราะอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยอยู่แค่ 55 ปี แต่ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้า อายุคาดเฉลี่ยเลยก้าวกระโดดไปเป็นเกือบ 80 ปี คนรุ่นใหม่ทั้งหลายเลยต้องมานั่งปวดหัวว่าจะเอายังไงกับอีก 20 ปีของชีวิตที่เหลือหลังจากหยุดทำงาน
ส่วนศาสตร์เรื่องการเงินและการลงทุนก็เป็นเรื่องใหม่แกะกล่องไม่ต่างกัน ดังนั้นอย่าแปลกใจเลยครับถ้าคุณจะรู้สึกว่ามันช่างยุ่งยากสลับซับซ้อนหรือลงทุนกี่ครั้งก็พลาดพลั้งทุกที
เมื่อปัญหาเดิมใช้วิธีแก้ไขแบบเดิมไม่ได้ผล อาจถึงเวลาที่เราต้องมองหาทางเลือกใหม่โดยการให้ภาครัฐซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรมากกว่าประชาชนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อออกแบบ‘แผนเกษียณ’ สำหรับทุกคน
ออมเงินเรื่องยาก ไม่ว่าจะจนหรือรวย
ผมเคยเข้าใจว่าถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นการออมเงินก็จะง่ายยิ่งขึ้น แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปเพราะยิ่งเรามีรายได้มากขึ้นเท่าไหร่ ความต้องการจับจ่ายใช้สอยก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะการตัดสินใจซื้อของอย่างหนึ่งอย่างใดอาจไม่ได้เกิดขึ้นเพราะ ‘ความจำเป็น’ แต่อาจเป็นการตัดสินใจซื้อเพื่อแสดงถึง ‘สถานะทางสังคม’ เช่นกัน
ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.1899 ธอร์สไตน์ เวเบลน (Thorstein Veblen) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันคือคนแรกที่ใช้คำว่า ‘การบริโภคอย่างโจ่งแจ้ง (Conspicuous Consumption)’ พร้อมกับนิยามว่าเป็นการจ่ายเงินซื้อสินค้าหรูหราเพื่อแสดงถึงความร่ำรวยและชนชั้นของตนเอง
มีหลากหลายทฤษฎีพยายามอธิบายถึงเหตุผลของการบริโภคอย่างโจ่งแจ้ง บ้างก็มองว่าเกิดจากสัญชาตญาณการแข่งขันเพราะการครอบครัวสินค้าหรูหราราคาแพงเป็นการแสดงสถานภาพที่เหนือกว่าคนอื่นๆ บ้างก็เสนอว่าการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเกิดจากการความรู้สึกไม่มั่นคงภายใน เลยต้องการใช้วัตถุสิ่งของฉาบทาความเปราะบางนั้นไว้โดยเชื่อว่านิสัยรวยๆ จะช่วยบดบังจุดด้อยของตนเอง ส่วนธอร์สไตน์กล่าวว่าปัจจัยสำคัญคือสื่อโฆษณา และความพยายามสร้างภาพลักษณ์ของตนเองให้สอดคล้องกับฐานะตามความคาดหวังของสังคม
ผมขอยกตัวอย่างเครื่องดื่มยอดนิยมอย่าง ‘กาแฟ’ เพื่อให้เห็นภาพ สำหรับคนมีรายได้น้อย แน่นอนว่าพวกเขาก็ต้องดื่มกาแฟซองแบบทรีอินวัน หรือกาแฟกระป๋อง หากฐานะดีขึ้นมาหน่อยก็ขยับมาดื่มกาแฟสดราคาครึ่งร้อย ถ้าเริ่มรวยขึ้นอีกก็ต้องดื่มกาแฟแบรนด์ดังหรือจิบกาแฟดริปเมล็ดซิงเกิลออริจินให้สมกับฐานะ แต่สำหรับผู้บริหารหรือมหาเศรษฐี การดื่มกาแฟแก้วละหลายร้อยที่ใช้เมล็ดจากไร่ชื่อดังที่ผ่านการสกัดโดยบาริสต้ามือรางวัลก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
ทั้งสินค้าและบริการที่เสนอขายในตลาดมีหลากหลายระดับที่จับกลุ่มลูกค้าทุกชนชั้น ดังนั้นต่อให้จะมีรายได้หลายหมื่นหรือเงินเดือนเหยียบแสน การออมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดีเพราะค่าใช้จ่ายย่อมขยับเป็นเงาตามตัว
ที่หยิบยกทฤษฎีนี้มาเล่าสู่กันฟัง ไม่ใช่ว่าผมกำลังจะสั่งสอนว่าการบริโภคเช่นนี้เป็นเรื่องไม่ดี เพราะความรู้สึกอยากได้อยากมี อยากใช้ของหรูราคาแพงให้สมกับฐานะทางสังคมเป็นเรื่องสามัญธรรมดาของมนุษย์ในระบอบทุนนิยม ซึ่งผมคงไม่มีสิทธิไปวิพากษ์วิจารณ์ใคร
เริ่มออมเงินเมื่อไหร่ดี?
‘ออมก่อนรวยกว่า’ คือสิ่งที่เหล่ากูรูทางการเงิน พ่อแม่ รวมถึงภาครัฐพร่ำบอกเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันโดยให้เหตุผลว่าหากเริ่มออมวันนี้ เงินจะงอกเงยอย่างรวดเร็วในวันหน้าเพราะพลังของดอกเบี้ยทบต้น ฟังดูก็สมเหตุสมผลดี แต่ทราบไหมครับว่าฟากฝั่งนักเศรษฐศาสตร์คิดแบบตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง
หากอายุยังน้อยและมีอนาคตทางการงานที่ค่อนข้างสดใส นักเศรษฐศาสตร์แนะนำว่าอย่าไปกังวลเรื่องการออมเลย มีเท่าไหร่ก็ใช้ไปก่อนหรือกระทั่งจะก่อหนี้บ้างก็ไม่เป็นไร เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคตก็ค่อยเริ่มเก็บออมเงินก้อนใหญ่แล้วใช้หนี้ให้หมด นี่คือแบบจำลองของมนุษย์ที่มีเหตุมีผลตามทฤษฎีที่ชื่อว่า ‘การเกลี่ยการบริโภค (consumption smoothing)’
สงสัยไหมว่าทำไมนักเศรษฐศาสตร์ถึงเสนอเช่นนั้น พวกเขาไม่เข้าใจพลังของดอกเบี้ยทบต้นหรือเปล่า?
แน่นอนว่าไม่ใช่ ลองย้อนนึกดูอีกครั้งว่าเรากระเสือกกระสนทำงานหาเงินไปทำไม คำตอบก็แสนเรียบง่ายคือเราอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ถ้ามั่นใจว่าอนาคตจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด แล้วทำไมเราต้องทนทุกข์กระเบียดกระเสียรเก็บออมในช่วงวัยรุ่นสร้างตัวแล้วหวังสบายตอนใกล้เกษียณเล่า สู้ ‘เกลี่ย’ ความสุขให้ถัวเฉลี่ยกันไปตลอดชีวิตไม่ดีกว่าหรือ
ทั้งสองฝั่งก็ดูมีเหตุผลที่ฟังขึ้น ในฐานะคนอายุต้นสามสิบ ผมทราบดีว่าการเก็บออมในช่วงสี่ห้าปีแรกหลังเรียนจบมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องยากเย็นเพียงใด แต่ในขณะเดียวกัน การเริ่มออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อยก็ช่วยในเรื่องการบ่มเพาะวินัยทางการเงิน เพราะหากเคยชินกับการใช้จ่ายเกินตัวแล้ววันหนึ่งจะกลับลำหันมาเก็บออมก้อนใหญ่คงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลายคน
‘เริ่มออมเงินเมื่อไหร่ดี?’ จึงเป็นคำถามที่ตัวผมเองก็ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปจะมอบให้ แต่สิ่งเดียวที่สามารถยืนยันได้คือการออมเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ นี่คือสาเหตุที่รัฐบาลควรเข้ามามีบทบาทในการออกแบบนโยบายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชน
‘แผนเกษียณ’ ฉบับรัฐบาลไทย
รัฐบาลไทยมีกลไกหลายรูปแบบในการช่วยเหลือประชาชนให้เข้าสู่วัยเกษียณแบบมีเงินเก็บมากพอ อย่างไรก็ตาม นโยบายส่วนใหญ่ยังเน้นไปที่ผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงแต่ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มผู้ที่เปราะบางที่สุดนั่นคือเหล่าแรงงานหาเช้ากินค่ำที่นักวิชาการเรียกว่าเหล่าแรงงานนอกระบบ (informal workers)
นโยบายจูงใจที่หลายคนรู้จักกันดีคือการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือกองทุนรวมเพื่อการออมสำหรับช่วยประหยัดภาษี แต่เนื่องจากภาษีเงินได้ของไทยคำนวณแบบขั้นบันไดและการซื้อกองทุนเหล่านี้จะสามารถนำมาคำนวณเป็นค่าลดหย่อน นั่นหมายความว่ายิ่งคนมีรายได้สูงก็จะยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้น
ตัวอย่างเช่น นายตู่มีเงินได้สุทธิปีละ 600,000 บาท หากซื้อกองทุนเพื่อการออม 100,000 บาทก็จะช่วยประหยัดภาษีได้เท่ากับ 100,000 x 15% = 15,000 บาท ขณะที่นายป้อมมีเงินได้สุทธิปีละ 5,100,000 บาท หากซื้อกองทุนมูลค่าเท่ากันจะสามารถประหยัดภาษีได้ถึง 100,000 x 35% = 35,000 บาท แต่หากมีรายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาทต่อปี ก็จะไม่มีแรงจูงใจใดๆ ให้ซื้อกองทุนเหล่านี้
อีกกลไกหนึ่งที่ทุกคนคงจะคุ้นหูคือระบบประกันสังคม ซึ่งในประเทศไทยมีทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ
สำหรับภาคบังคับ นายจ้างจะมีหน้าที่หัก 5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้แต่สูงสุดไม่เกิน 750 บาท ประกอบกับนายจ้างจ่ายสมทบอีกเท่าตัว ถ้าเรามีรายได้มากกว่าหรือเท่ากับ 15,000 บาทก็จะเสมือนว่ารัฐบังคับให้เก็บออมประมาณเดือนละ 1,500 บาทโดยนายจ้างและลูกจ้างจ่ายคนละครึ่ง หากจ่ายจนครบ 15 ปีก็จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเริ่มต้นที่ 3,000 บาทต่อเดือน สูงสุด 7,500 บาทต่อเดือนหากจ่ายต่อเนื่องจนครบ 35 ปี หากมองว่าเรายังมีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ให้การรักษาฟรีก็ถือว่าไม่ได้เลวร้ายนัก
ส่วนภาคสมัครใจของเหล่าแรงงานอิสระตามมาตรา 40 หากจ่ายสมทบสูงสุดเดือนละ 300 บาท เมื่อถึงวัยเกษียณก็จะได้เงินออมพร้อมดอกผล และเงินบำนาญเดือนละ 150 บาท
ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ หากเทียบกับ
ประกันสังคมภาคบังคับของเหล่าแรงงานในระบบ
แต่ถ้าไม่ได้ออมเงินใดๆ หรือเข้าระบบไหนเลย ประชาชนคนไทยที่อายุแตะเลขหกก็จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเริ่มต้นเดือนละ 600 บาทโดยจะขยับเพิ่มขึ้นถึงสูงสุดเดือนละ 1,000 บาทเมื่ออายุถึง 90 ปี
จะเห็นว่าระบบสวัสดิการของไทยค่อนข้างจูงใจผู้มีรายได้สูงและอุ้มชูเหล่าแรงงานในระบบ แต่แทบไม่ช่วยเหลือแรงงานนอกระบบเท่าที่ควร เพราะต่อให้เขาจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมแบบเต็มเพดานบวกกับเบี้ยชราภาพก็ยังเข้าสู่วัยเกษียณโดยได้รับเงินจากรัฐเพียงวันละ 25 บาทเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันเงินก้อนนี้อาจไม่พอค่าข้าวหนึ่งมื้อเสียด้วยซ้ำ จึงนับเป็นโจทย์สำคัญว่าจะทำอย่างไรให้แรงงานกลุ่มนี้มีรายได้เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
หากไม่กล่าวถึงเรื่องสวัสดิการ ถ้าวันหนึ่งพวกเขาอยากออมเงินก็คงเผชิญกับคำถามสำคัญว่าจัดการอย่างไรดี เพราะเหล่าแรงงานนอกระบบขาดความรู้ด้านการเงินการลงทุน และไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ สุดท้ายจึงเลือกฝากเงินจำนวนมากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่นับวันมูลค่ามีแต่จะหดหายเพราะเงินเฟ้อ ขณะที่หลายคนมองไม่เห็นอนาคตจากการฝากเงินกับธนาคารจึงหันไปแสวงโชคกับหวยทั้งใต้ดินและบนดิน หรือลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกผลตอบแทนสูงที่ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่วันดีคืนดีก็ถูกเปิดโปงว่าเป็นแชร์ลูกโซ่
รัฐบาลจึงควรจัดหาทางเลือกการลงทุนที่สะดวก ง่าย และมีความเสี่ยงสมน้ำสมเนื้อกับช่วงอายุ เช่น โครงการบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (National Pension Scheme) ของอินเดียที่ประชาชนเพียงใส่เงินเข้าในบัญชีโดยรัฐบาลจะทำหน้าที่จัดหานักการเงินมืออาชีพมาบริหารให้ได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง แถมมีเงินลงทุนขั้นต่ำแค่ครั้งละราว 220 บาทเท่านั้น ที่สำคัญยังถอนเงินบางส่วนออกไปใช้ก่อนได้หากจำเป็น
รายงานดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ (NRRI) โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า คะแนนความพร้อมของคนไทยอยู่ที่ 4 เต็ม 10 อย่างไรก็ตาม หากแกะกล่องดูด้านในจะพบว่า ปัจจัยที่สำคัญคืออาชีพโดยที่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจจะพร้อมกว่ากลุ่มอาชีพอื่นอย่างมาก ความแตกต่างหลักๆ คือการสนับสนุนของนายจ้าง (Employer Enabler) ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนเกษียณ รวมถึงการส่งเสริมการออม
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่ารัฐบาลไทยดูแลพนักงานของตัวเองได้ดีอยู่แล้ว ก้าวต่อไปคือจะทำอย่างไรให้การดูแลดังกล่าวครอบคลุมภาคเอกชน และประชาชนหาเช้ากินค่ำที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม
อ้างอิงข้อมูลจาก
Pension Extension: Bringing Informal Workers Into the Retirement Social Safety Net
The Common Sense of Consumption Smoothing
ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ การจัดทำและการประยุกต์ใช้ในเชิงนโยบาย
ผลประโยชน์ประกันสังคม กรณีชราภาพ