“สังเกตไหมว่า เวลามีเหยื่อมาเล่าเรื่องออกทีวีสมัยนี้ เขาไม่ค่อยปิดหน้าแล้ว แต่ผู้ต้องหาถูกเบลอหน้า ทำไมมันกลับกันไปหมดเนาะ”
แม่ค้าข้าวเหนียวมะม่วงเจ้าประจำตั้งข้อสังเกต คำพูดนี้ชวนให้ฉันกลับมาคิดต่อว่า ระหว่างการไม่เห็นหน้าแหล่งข่าวที่เป็นเหยื่อ กับการได้เห็นหน้า มันส่งผลให้ผู้ชมรับสารแตกต่างไปยังไงบ้าง?
เป็นเรื่องเข้าใจได้ทั้งฝ่ายผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่ยึดหลักสิทธิผู้ต้องหาและอาจต้องการให้ผู้ออกมาตีแผ่ความจริงได้ปรากฏตัวในที่แจ้งแสงส่อง ไม่ต้องหลบซ่อนเป็น ‘เหยื่อ’ ในเงาสลัวอีกต่อไป และฝ่ายผู้ชมที่เคยชินกับการเห็นหน้าผู้ถูกกระทำเพียงในจินตนาการ
ฉันเพิ่งได้มีโอกาสอ่านบทสัมภาษณ์อดีตทหารเกณฑ์ ‘เพศทางเลือก’ คนหนึ่ง ที่เล่าประสบการณ์ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติบนฐานของความแตกต่างทางเพศทั้งในค่ายทหารและบ้านคุณนายทหาร (ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วที่ waymagazine) อ่านแล้วก็นึกขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ ที่เปิดเผยประสบการณ์ต่อสาธารณชนแทบหมดเปลือก
แต่เมื่ออาการขอบคุณจางหายไป ฉันก็เกิดตงิดใจขึ้นมาว่า เจ้าตัวเล่ารายละเอียดส่วนตัวมากพอจะระบุตัวตนได้ถึงขนาดนี้แล้ว (เรียนด้านสังคมสงเคราะห์, ทำงานด้านสิทธิผู้ลี้ภัย, และเคยเขียนข้อความต่อสาธารณะที่มีกระแสไปไกลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ ‘เมย’ นักเรียนเตรียมทหาร) ไยจึงยังเลือกไม่เปิดเผยชื่อ และให้ถ่ายภาพหัวขาด?
บทความนี้ตั้งสมมติฐานขึ้นมาเป็นตุ๊กตาสองตัว เพื่อจะยิงกันเองให้ล้มกันไปข้างนึง ขอให้ท่านผู้อ่านตัดสินเองว่าจะรับตุ๊กตาตัวไหนกลับบ้าน
ตุ๊กตาตัวที่หนึ่ง-การได้ยินเสียงโดยไม่เห็นหน้า ทำให้ผู้รับสารติดหล่มกับความเป็นเหยื่อของแหล่งข่าว ความเป็นมนุษย์ของเสียงเหล่านั้นถูกลดทอนลง สังคมไม่เดินไปไหน เพราะคนที่มีประสบการณ์ยังกล้าๆ กลัวๆ ในการพูดถึงเรื่องนั้นๆ อย่างเปิดเผย
ตุ๊กตาตัวที่สอง-การได้ยินเสียงแม้จะไม่เห็นหน้า นับเป็นความกล้าหาญในสังคมปิด ที่จะช่วยนำพาสังคมไปสู่จุดที่เปิดกว้างกว่าเดิมได้ และการเล่าเรื่องแบบนิรนาม ทำให้ผู้รับสารรู้สึกว่ามันใกล้ตัว มันจริง มันอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้
ฉันไม่ได้มีเจตนาจะเรียกร้องอะไรจากแหล่งข่าวผู้ให้สัมภาษณ์ท่านนี้ แต่ต้องการหยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อขบคิดประเด็นการปิดหน้าเหยื่ออธรรมให้แตกฉานมากยิ่งขึ้น หากมีเนื้อความตอนใดที่เขียนไปในทำนองวิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคล ขอให้เข้าใจว่าเป็นไปเพื่อความชัดเจนในเชิงเหตุผล เพื่อนำไปต่อยอดในระดับกรณีทั่วไป
จินตนาการใบหน้าตามสายตาหญิง/ชาย
เมื่อไม่เปิดเผยใบหน้าต่อสาธารณชน ผู้ให้สัมภาษณ์หน้าตาเป็นอย่างไร ผู้อ่านก็คงได้แต่จินตนาการตามบทพรรณนาของนักเขียน ซึ่งในกรณีนี้ วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ เขียนไว้ว่า “ผมพบเขาในวันที่ 21 ของการเป็นทหารเกณฑ์ปลดประจำการ ผมของเขาเริ่มยาวออกมาจากกฎระเบียบ ร่างกายทะมัดทะแมง เป็นหลักฐานของวินัยที่ฝึกฝนและสร้างกล้ามเนื้อบนเรือนร่างของเขา ใบหน้าตอบ ดวงตากลมสวย ในดวงตาของเขาเป็นดวงตาของผู้หญิง เป็นข้อสังเกตส่วนตัวสำหรับชายที่เป็นเพศทางเลือก”
ยิ่งอ่านฉันยิ่งมึนงงว่า ‘ดวงตาของผู้หญิง’ นี้เป็นยังไง? งงเหมือนเวลามีคนบอกฉันว่า ‘ยิ้มคือผู้สาว’ (ยิ้มเหมือนผู้หญิง) อยากรู้ว่าองศาการยิ้มมันมีเพศด้วยเหรอ? แล้ว ‘ข้อสังเกตส่วนตัว’ ที่ว่านี้หมายถึงส่วนตัวของผู้สังเกตที่ไม่ใช่เพศทางเลือก ทำนองว่า “คหสต. อย่าด่ากูนะ” ใช่ไหม? แล้ว “ชายที่เป็นเพศทางเลือก” นี่มันคืออะไรนะ?
แทนที่บทพรรณนาจะทำให้เข้าใจคนคนนั้นในฐานะมนุษย์ผู้มีเอกลักษณ์ กลับทำให้งงใจในคนสัมภาษณ์ว่าจะพรรณนาเรือนร่างของแหล่งข่าวคนนี้ไปทำไม หรือเพื่อทดแทนข้อจำกัดที่ว่าเขาไม่ยอมให้ถ่ายภาพใบหน้า?
กล้าหาญแบบนิรนาม
ความงงส่งผลต่อเนื่องไปถึงการเลือกใส่เสื้อตราแอมเนสตี้ เขียนข้อความว่า “BRAVE” (กล้าหาญ) ของผู้ให้สัมภาษณ์ไปด้วย ผู้ให้สัมภาษณ์ต้องการสื่อว่าตนเองกล้าหาญที่มาเล่าเรื่องราวของตนต่อสาธารณะ? หรือว่าอะไร?
การเชิดชูการหนีทัพของทหารชั้นผู้น้อย (subaltern) สลับขั้วสถานะคนที่ถูกตราหน้ามาตลอดว่าเป็นคนไม่รักชาติ ขี้ขลาดตาขาว ให้มาเป็นวีรชนผู้กล้า นั้นปรากฏเป็นรูปธรรมแล้วที่เยอรมนี ซึ่งมีอนุสรณ์สถาน “ผู้หนีทัพไม่ทราบชื่อ”
เมื่อปี 1989 หลังจากกำแพงแบร์ลินเพิ่งพังลงหมาดๆ เมือง Potsdam ซึ่งในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางการผลิตกองทัพปรัสเซีย ได้กลายเป็นเมืองแรกๆ ของโลกที่ประดิษฐานอนุสรณ์สถานอุทิศแด่ทหารหนีทัพผู้ไม่ยอมเข่นฆ่าคนอื่นตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
ในเชิงรูปแบบ อนุสรณ์สถานนี้ฉีกแนวรูปปั้นเชิดชูวีรบุรุษ-วีรสตรีแห่งระบอบบูชาความเป็นทหาร (militarism) ไปอย่างไม่เหลือเค้า โดยประติมากรชาวตุรกีนาม Mehmet Aksoy แกะรูปรอยแขนขาเว้าในเนื้อหิน แต่ทิ้งศีรษะและลำตัวไว้เป็นอากาศธาตุ
กรณีของผู้ให้สัมภาษณ์ อาจมองได้ว่าเป็นหนึ่งในคนนับไม่ถ้วนที่ปฏิเสธการเป็นทหารโดยมโนธรรม (conscientious objector) เป็นเศษเสี้ยววีรกรรมความกล้าหาญอันมีอยู่ดาษดื่นเหลือคณาในประเทศที่คนเรือนหมื่น ต่อปีหลบหนีการถูกเกณฑ์ทหาร ผู้ให้สัมภาษณ์ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน ก็สามารถสื่อสารจากใจถึงใจด้วยถ้อยคำที่เป็นจริง
แต่หากมองอีกแง่หนึ่ง ผู้ให้สัมภาษณ์คนนี้ก็หาใช่คนไร้นามที่เรื่องราวหล่นหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ หากเป็นคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่มีเครือข่าย มีตัวตนเป็นที่รู้จักในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งยังมีญาติที่พอมีอำนาจในสถาบันทหาร (ผิดกันกับพลทหารเกาลูน ลายน้อย ผู้ออกมาเปิดโปงการถูกบังคับขู่เข็ญให้เลี้ยงไก่ของเจ้านาย) การออกมาเปิดเผยเรื่องราวแต่ยังปกปิดตัวตน จะเรียกว่า ‘กล้าหาญ’ ได้เต็มปากเต็มคำหรือ?
จึงเกิดความผสมปนเประหว่างสถานะการเป็น ‘เหยื่อหัวหาย’ ไร้ปากเสียง กับสถานะการเป็น ‘ผู้กล้าหาญ’ ผู้มีปากเสียงไปพร้อมๆ กัน
ฉันนึกย้อนไปถึงที่เคยทุ่มเถียงกับเพื่อนนักข่าวคนหนึ่งจนแทบมองหน้ากันไม่ติด ตอนไปร่วมโต๊ะข่าวเยาวชนเอเชียแปซิฟิกกับองค์การสหประชาชาติเมื่อสองปีก่อน เรื่องมีอยู่ว่าเพื่อนนักข่าวได้ไปสัมภาษณ์ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นเกย์แต่ไม่เปิดเผยตัว เขาบอกนักข่าวว่าอยากให้เล่าเรื่องราวความลำบากของตนในฐานะชาวไทลื้อที่เป็นเกย์ แต่ไม่ให้เปิดเผยชื่อหรือถ่ายรูปหน้า ให้ถ่ายเฉพาะมือข้างหนึ่งเท่านั้น
ฉันวิจารณ์ไปว่า ถ้าจะให้เราเผยแพร่เรื่องราวความยากลำบากของคุณ แต่กลับไม่ให้เปิดเผยตัวตน มันจะไม่ตอกย้ำ stigma หรือ? มันจะไม่ผลิตซ้ำแนวคิดของ ‘คนทั่วไป’ หรือ ที่มองว่าก็ปกติอยู่แล้วนี่ที่ ‘พวกเกย์’ จำต้องอยู่แบบซ่อนๆ แอบๆ? สู้ไปหาสัมภาษณ์คนอื่นเพิ่ม หาใครที่พร้อมจะเปิดหน้าเล่าเรื่องเป็นตัวเอกของข่าวแทน จะไม่ดีกว่าหรือ?
เพื่อนนักข่าววิจารณ์กลับมาว่า ฉันจะไปตัดสินและตัดเสียงแหล่งข่าวแบบนั้นได้ยังไง? ไม่ใช่ว่าอ้างตัวเองเป็น LGBT แล้วฉันจะไปคิดแทนใครอื่นเขาได้นี่ว่าเขาควรนำเสนอตัวเองอย่างไร จะเอามาตรฐานส่วนตนมากะเกณฑ์-ประเมินค่าประสบการณ์ที่หลากหลายอย่างนั้นหรือ? ก็นี่ไงเรื่องที่เขาเล่าและอยากให้เราถ่ายทอด จะไม่ยอมให้เล่าอย่างที่เขาต้องการซะงั้น?
เพื่อนนักข่าวคนนี้มาจากประเทศบังคลาเทศ ประเทศซึ่งในปีนั้นเพิ่งเกิดเหตุรุมสังหารบรรณาธิการนิตยสารด้านสิทธิ LGBT ไป ในบรรดาการสังหารผู้มีความเห็นต่างทางศาสนามาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนฉันมาจากประเทศไทย ประเทศที่คนไม่ถึงกับลุกขึ้นมาฆ่ากันเพราะตัวตนทางเพศที่แตกต่าง และสังคมกระแสหลักก็ยอมรับการมีอยู่ของคนหลากเพศในพื้นที่สาธารณะมากพอที่ฉันเริ่มจะเบื่อหน่ายการชูความกล้าหาญของปัจเจกที่ ‘ออกจากตู้’ (coming out of the closet) ราวกับเป็นหลักหมายสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของชาวเรา — สำหรับชาวเราหลายคน ‘ตู้สีแดง’ อาจออกยากกว่า “ตู้สีรุ้ง” ด้วยซ้ำ
สรุปเราสองคนเถียงกันไม่จบ
กลุ่มอาการเกรงใจผู้ใหญ่
แน่นอนว่าการได้ยินเสียงแต่ไม่เปิดหน้า ไม่จำเป็นต้องมีอะไรเสียหาย ออกจะเป็นเรื่องธรรมดาด้วยซ้ำไปในสื่อทุกวันนี้ที่เวลาเล่าเรื่องประเด็นอ่อนไหว เช่น การทำแท้ง ความรุนแรงระหว่างคู่รัก หรือการเกณฑ์ทหารก็ตาม ก็มักจะหันกล้องถ่ายรูปเลี่ยงไปทางอื่น ไม่ให้เห็นใบหน้าเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ให้สัมภาษณ์
ถ้ามองจากมุมของแหล่งข่าวเองล่ะ? อะไรเป็นเหตุให้เขาเปิดปากเล่าเรื่องต่อสาธารณชน แต่ไม่ยอมเปิดหน้า “ความปลอดภัยของแหล่งข่าว” ที่ว่านั้น ปลอดจากภัยอะไร?
มีคำถาม-คำตอบหนึ่งในบทสัมภาษณ์ชิ้นเดิมที่อาจชี้ให้เห็นอะไรบางอย่าง
“คุณโพสต์สเตตัสหลังข่าวเมย (นักเรียนเตรียมทหารผู้เสียชีวิต) ด้วยใช่ไหม แล้วกระแสไปไกลมาก เกิดอะไรขึ้น”
“เราโพสต์อะไรแบบนี้อยู่บ่อยๆ เราไม่ค่อยกลัวชาวเน็ตด่า เราจะเฉยๆ เพราะเรามีมุมมองที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ถ้าเราโพสต์อะไรที่เป็นสาธารณะเราก็เตรียมรับมือกับทุกคอมเมนต์อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เราตั้งค่าเฉพาะฉัน เพราะเราคิดว่าสเตตัสของเรากำลังจะทำคนอื่นเดือดร้อน แล้วก็มีคนที่ดีกับเราเหมือนกันในค่าย แล้วก็มีผู้ใหญ่โทรมาให้เราลบ ถ้าไม่ลบเขาจะฟ้องร้องเรา แต่ก็ได้พูดคุยด้วยเหตุผล ก็จบลงด้วยดี”
ฉันไม่แน่ใจนักว่า ‘คนอื่น’ ที่จะเดือดร้อนเพราะสเตตัสนี้หมายถึงใคร อดีตผู้บังคับบัญชาในค่าย? ญาติผู้ใหญ่ที่ทำงานในกองทัพ? เพื่อนร่วมงานในองค์กร? แล้วก็ไม่แน่ใจอีกเช่นกันว่า ‘ผู้ใหญ่’ ที่โทรมาให้ลบสเตตัสนี้ โทรมาบอกด้วยความเป็นห่วงว่าคนอื่น ‘เขา’ จะฟ้องร้องเราได้ หรือโทรมาขู่ว่าถ้าไม่ลบแล้ว “ตัวเขาเอง” จะฟ้องร้องกันแน่
ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ชัดเจนว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวบางอย่างสั่นคลอนจากการเล่าความจริงในที่สาธารณะ อันเป็นความอ่อนไหวที่พบได้ทุกสังคม แต่สังคมไทยดูจะเกรงอกเกรงใจ ‘ผู้ใหญ่’ เป็นพิเศษ