จริงๆ เรื่องนี้ผมดองมาไว้ได้ประมาณปีนึงแล้ว เพราะตั้งแต่เริ่มเป็นคดี ผมก็ติดตามมาตลอด และสนใจว่าจะเขียนเรื่องนี้ในแง่มุมไหนดี แต่ไหนๆ เรื่องราวมาถึงจุดหักเหน่าสนใจอีกครั้ง จึงต้องขอเขียนก่อน แต่น่าจะเป็นแค่ตอนแรกของคดียาวๆ คดีนี้ นั่นก็คือ คดีของ คาร์ลอส กอส์น (Carlos Ghosn) ผู้บริหารของค่ายรถยนต์ชื่อดัง Nissan ที่เป็นข่าวใหญ่ส่งท้ายปีของญี่ปุ่น เพราะหลังจากถูกดำเนินคดีแบบคาราคาซังที่ญี่ปุ่นเป็นเวลานานปีกว่าๆ เขาก็ตัดสินใจตัดช่องน้อยแต่พอตัว หนีออกจากประเทศญี่ปุ่นไปปักหลักที่เลบานอน แล้วจัดการโจมตีกลับเข้าใส่ระบบยุติธรรมของญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นประเด็นสำคัญของรอบนี้ครับ
แต่ก่อนอื่น ก็ควรไปดูก่อนว่าทำไมกอส์น ถึงได้มีความสำคัญขนาดนั้น แม้ปัจจุบันกอส์นจะเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ชาวฝรั่งเศส’ แต่เขาก็เกิดที่บราซิลโดยมีเชื้อสายฝรั่งเศสและเลบานอน เขาใช้ชีวิตวัยเด็กในบราซิลก่อนมาโตในเลบานอน แล้วค่อยไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ปารีส กลายเป็นคนสามแผ่นดินจริงๆ และหลังจบมา เขาก็เริ่มทำงานในบริษัทดังอย่าง Michelin บริษัทยางที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป แล้วไต่ระดับขึ้นเป็นผู้บริหาร หลังจากอยู่กับ Michelin ได้ 18 ปี เขาก็ข้ามฟากไปบริหารงานให้กับ Renault บริษัทรถยนต์ชื่อดังของฝรั่งเศส และรุ่งเรืองในสายบริหารต่อไป
หลังจากนั้นไม่นาน Nissan ก็ได้ร่วมมือกับ Renault กลายเป็นพันธมิตรกัน และ กอส์นก็ได้รับตำแหน่งประธานบริษัท Nissan ในปี ค.ศ.2000 ซึ่งเป็นช่วงที่จัดว่าผลประกอบการของบริษัทไม่เป็นไปอย่างที่ควร กอส์นเข้ามาพร้อมกับภารกิจฟื้นฟู Nissan และเขาก็จัดการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในบริษัท เขาไม่นิยมการบริหารงานแบบญี่ปุ่น พยายามเพิ่มความเป็นสากลในบริษัท ยุบระบบบริษัทในเครือทิ้งแบบไม่สนใจเครือข่ายเดิมที่มีมา ซึ่งผลก็คือ บริษัททำกำไรได้ในทันที และด้วยการบริหารของเขา Nissan กลับมารุ่งโรจน์สมกับศักยภาพที่มี จนกอส์นกลายเป็นผู้บริหารชื่อดังในสังคมญี่ปุ่น มีแต่คนจับตามองด้วยความชื่นชม (อาจจะแอบอิจฉาด้วย) และมีหนังสือออกวางขายมากมาย ด้วยเสน่ห์เฉพาะตัวของเขา และผลงานที่พิสูจน์ได้ ไม่แปลกที่จะเป็นที่นิยมขนาดนี้ และยิ่งเมื่อ Nissan เข้าซื้อหุ้นของ Mitsubishi หลังจากมีปัญหาเรื่องการบิดเบือนตัวเลขค่าการประหยัดพลังงาน ทำให้ Renault-Nissan-Mitsubishi กลายเป็นพันธมิตรค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อันดับ 4 ของโลก และอำนาจของกอส์นก็เพิ่มมากขึ้น
แต่หลังจากสนุกกับชื่อเสียงและการเป็นที่รักในญี่ปุ่นมานาน สวรรค์ของกอส์นก็ล่มลง เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2018 เขาถูกจับกุมหลังจากนั่งเครื่องบินส่วนตัวกลับมาจากเลบานอน ด้วยข้อหาตกแต่งบัญชี ซึ่งก็กลายเป็นข่าวใหญ่ในญี่ปุ่นให้เราได้ชมได้อ่านกันแบบไม่รู้จบ เพราะถือเป็นคดีที่ใหญ่มากๆ ของญี่ปุ่นที่ผู้บริหารระดับนี้จะถูกจับ แถมยังเป็นการจับกุมเมื่อเข้าประเทศด้วยหน่วยพิเศษ เพิ่มความดราม่าเข้าไปอีก และทันทีที่ กอส์นถูกจับกุม บริษัท Nissan ก็ประกาศปลดเขาออกจากตำแหน่งทันที ซึ่งอ้างว่ามาจากการตรวจสอบภายในบริษัทว่ากอส์นรายงานเงินชดเชยน้อยเกินไป และใช้ทรัพย์สินของบริษัทในเรื่องส่วนตัว ซึ่งก็มีรายงานจากสื่อว่า Nissan ต้องจ่ายค่าที่พักในหลายๆ เมืองให้กับ Ghosn รวมถึงเขาใช้งบบริษัทในการท่องเที่ยวกับครอบครัวด้วย ซึ่งดราม่ามันก็เริ่มตรงนี้ล่ะครับ
กอส์นถูกควบคุมตัวไว้ที่ศูนย์ควบคุมตัว ในฐานะ ‘ผู้ต้องสงสัย’ จากคดีการตกแต่งบัญชี และถูกสอบสวนโดยไม่มีทนายซ้ำไปมา โดยหลังจากถูกคุมตัวไว้ครบกำหนด 23 วัน เขาก็ถูกปล่อยออกมา เพราะไม่มีการดำเนินคดีทางศาล แต่ก็โดนต่ออีกในคดีใช้ทรัพย์สินของทางบริษัท ทำให้ถูกคุมตัวต่ออีก 23 วัน ซึ่งก็เป็นลูปแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่หมดระยะเวลาควบคุมตัว ก็จะมีการนำเอาคดีเล็กๆ น้อยๆ มาคุมตัวเขาต่อในฐาน ‘ผู้ต้องสงสัย’ ต่อไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีการดำเนินการทางศาลต่อ ซึ่งระหว่างที่ควบคุมตัว ก็มีการรายงานจากครอบครัวของเขาว่า นอกจากจะถูกเค้นให้สารภาพวันละ 7 ชั่วโมงแล้ว ยังมีการบอกว่า ถ้าไม่สารภาพจะยิ่งโดนหนักกว่านี้ ซ้ำไปมาไปเรื่อยๆ โดยไม่อนุญาตให้ทนายเข้าร่วมฟังการสอบสวน ซึ่งก็จัดว่าเป็นการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายในการควบคุมตัวผู้ต้องหาไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องมีการดำเนินคดี
ซึ่งแนวนี้ล่ะครับที่ถูกนานาชาติเพ่งเล็งและวิจารณ์มาโดยตลอด โดยหลายชาติก็เรียกว่าเป็นวิธีการ ‘จับตัวประกัน’ แท้ๆ ซึ่งถ้าเป็นประเทศใต้ระบอบเผด็จการ นี่ก็ไม่แปลกอะไร แต่นี่เกิดขึ้นในประเทศที่มีเศรษฐกิจอยู่ระดับหัวแถวของโลกและได้รับการยกย่องในหลายๆ เรื่อง จนไม่น่าเชื่อว่าจะมีเรื่องแบบนี้ได้ ซึ่งที่น่าทึ่งไปกว่าคือ ญี่ปุ่นมีการตัดสินว่าผู้ต้องหาที่กระทำผิดถึง 99.4% ของการดำเนินคดี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงแบบไม่น่าเชื่อ จนมองได้สองแบบคือ ญี่ปุ่นพิจารณาคดีเป็นอย่างดีก่อนจะทำการจับกุมและดำเนินคดีกับใคร หรือว่า ไม่ว่าจะอย่างไร หากมีการดำเนินคดีแล้ว ระบบยุติธรรมของญี่ปุ่นก็ต้องทำตามระบบไปเพื่อรักษาความเชื่อมั่นของสังคมที่มีต่อระบบ คุณคิดว่าแบบไหนกันครับ
จากรายงานข่าวและคดีที่ผ่านมา มีกรณีที่ศาลตัดสินให้ผู้ต้องหามีความผิด ทั้งๆ ที่รู้ว่าผู้ต้องหาไม่ได้กระทำผิด แต่ศาลต้องตัดสินว่าผิด เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้ระบบศาลและระบบยุติธรรมเสียหน้า รวมไปถึงสัดส่วนการ ‘รับสารภาพ’ ของผู้ต้องหาที่สูงไม่เบา
จนหลายคนมองว่าระบบของญี่ปุ่นคือ “Guilty until proven Innocent” หรือ
ผิดจนกว่าจะพิจารณาได้ว่าบริสุทธิ์ ซึ่งก็กลับหัวกลับหางจากสิ่งที่ควรเป็น
พอย้อนมาดูวิธีการที่ใช้กับกอส์นแล้ว ก็ไม่แปลกอะไรที่จะเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นได้ เพราะมีหลายครั้งที่ ผู้ต้องสงสัยถูกควบคุมตัวเป็นเวลาหลายวัน วนไปหลายรอบ ก่อนจะถูกปล่อยออกมาเพราะไม่ถูกดำเนินคดี เพราะในที่สุดแล้ว คนเหล่านั้นบริสุทธิ์จริงๆ แต่ก็เสียเวลาของชีวิตและความเชื่อถือของสังคมไปเรียบร้อย เพราะระบบที่ทำให้มีการตัดสินความผิด 99.4% ทำให้สังคมเชื่อว่า เมื่อคุณถูกจับกุม ก็เท่ากับว่า คุณกระทำผิดไปแล้ว แถมสื่อก็พร้อมจะรายงานแม้ว่าจะใช้คำว่า ‘ผู้ต้องสงสัย’ แต่สามารถรายงานเรื่องต่างๆ ราวกับว่าคุณเป็นผู้ต้องหาที่ผิดแล้วแน่นอนได้ กรณีของกอส์นก็เช่นกันที่หลังจากถูกจับกุม สื่อก็รายงานเรื่องต่างๆ ในบริษัท Nissan แบบสารพัดสารพัน จากที่เคยเป็น CEO มากฝีมือเต็มไปด้วยเสน่ห์ผู้กอบกู้ Nissan ขึ้นมาจากหุบเหว และทำให้บริษัทกลับกลายมาเป็นมหาอำนาจในวงการรถยนต์ได้อีกครั้ง กลายมาเป็นชาวต่างชาติเผด็จการในบริษัทที่บ้าอำนาจ หลงตัวเอง และทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองในทันที
ก็ไม่แปลกที่เมื่อกอส์นชั่งน้ำหนักความเสี่ยง พอดูอัตราการตัดสินว่าสูงถึง 99.4% แล้ว ทำให้เขาเลือกที่จะหนีดีกว่าเสี่ยงสู้ต่อที่ญี่ปุ่นแบบไม่น่าจะชนะได้ และต่อให้ชนะ ก็ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันทางสังคมจากมุมมองที่มีต่อตัวเขาเปลี่ยนไปอย่างย้อนกลับไม่ได้ ตั้งแต่กลางปีก่อนที่เขาได้รับอนุญาตให้กลับมาพักที่บ้านในเงื่อนไข House Arrest โดยต้องวางเงินประกัน 1,000 ล้านเยน เขาเองก็คงจะวางแผนในการหลบหนีมาได้ระยะหนึ่งนั่นล่ะครับ จนอาศัยช่วงปลายปี ซ่อนตัวในกล่องเครื่องดนตรีขนาดใหญ่ของ Yamaha เพื่อจะได้ผ่านการตรวจของศุลกากร ก่อนจะถูกนำไปใส่ในห้องเก็บของของเครื่องบินส่วนตัว ซึ่งเชื่อมกับห้องโดยสารที่มีการกั้นแยกจากห้องนักบินอีกที ทำให้ปฎิบัติการหนีตายในครั้งนี้ มีคนรู้เรื่องจริงๆ ไม่กี่คนเท่านั้น บางคนที่มีส่วนร่วมก็เชื่อว่าเป็นกระบวนการพาเด็กที่ถูกลักพาตัวหนีออกมา (ต่อมา Yamaha ต้องออกประกาศว่าไม่แนะนำให้เข้าไปซ่อนในกล่องเครื่องดนตรีของตัวเอง) กลายเป็นภารกิจที่เหมือนกับหนังเรื่องนึงเลยทีเดียว ก่อนที่จะแวะเปลี่ยนเครื่องที่ตุรกีแล้วเข้าไปเลบานอน บ้านเก่าของเขาที่ผู้คนที่นั่นก็ชื่นชมและยกย่องเขาเป็นเหมือนฮีโร่ และที่สำคัญคือไม่มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับญี่ปุ่น
พอเปิดตัวว่าหนีออกมาเลบานอนได้ไม่นาน เขาก็พร้อมแถลงข่าวอย่างเป็นทางการต่อหน้านักข่าวนับร้อย ซึ่งก็อัด Nissan เข้าแบบเต็มๆ หลายดอก ไม่ว่าจะชี้แจงว่าทุกอย่างเป็นเรื่องที่บริษัทรับทราบ และเป็นสิทธิ์ของเขา และมีลายเซ็นของคณะกรรมการแล้ว ถ้าเขาผิดจริงคณะกรรมการจะรับผิดชอบด้วยไหม ซึ่ง ณ จุดนี้ ผมไม่ขอตัดสินว่ากอส์นถูกนะครับ แต่ก็ไม่ได้มองว่าเขาผิด จนกว่าจะมีการดำเนินคดีอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็ตามที่เขาบอกไปว่า ถ้าต้องรอก็ไม่รู้จะมีการดำเนินคดีจริงๆ ตอนไหน อาจจะถูกกดดันให้สารภาพไปก่อนด้วยซ้ำ และการแถลงข่าวครั้งนี้ ก็เป็นความฉลาดของกอส์นเป็นอย่างมาก ที่เลือกเล่นบทเหยื่อของระบบยุติธรรมญี่ปุ่นที่ถูกประชาคมโลกโจมตีมาแต่แรกแล้ว (‘ย้ำ’ ว่าไม่ได้มองว่าเขาขาวสะอาดนะครับ แต่มองในแง่แผนการ) แม้จะต้องเผชิญความเสี่ยงว่าจะโดนหมายจับของตำรวจสากลแทน อาจจะออกจากเลบานอนไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็น่าจะดีกว่าต้องอยู่อย่างเสี่ยงๆ ที่ญี่ปุ่น แน่นอนว่าหนึ่งในแนวทางการสู้ของเขาคือให้ฝรั่งเศสเข้ามาช่วย เพราะ Renault ก็มีรัฐบาลฝรั่งเศสถือหุ้นอยู่ แต่ตอนนี้ก็น่าจะยาก เพราะตัวนายกฯ เองก็ต้องพยายามควบคุมกลุ่มคนใช้แรงงานที่ประท้วงอยู่ จะมาช่วยผู้บริหารที่หนีออกมาคงทำให้สถานการณ์ของตัวเองย่ำแย่ไปอีก การดึงเอาสื่อและประชาคมโลกมาใช้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง (และนักล็อบบี้ของเขาก็กำลังพยายามเสนอให้ฮอลลีวูดสร้างภาพยนตร์เรื่องราวของเขาอีก)
เรียกได้ว่าเป็นการชนกันที่โหดเอามากๆ งานนี้ Nissan ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี จะยอมความก็เสีย จะสู้ต่อก็อาจจะเสียภาพลักษณ์อีก กลายเป็นการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ส่วนทางการญี่ปุ่นก็เจอเผือกร้อน เพราะผู้ต้องสงสัยระดับนี้หนีไปได้ (แต่ก็แน่นอนว่าการหนีไปทำให้ภาพลักษณ์ของกอส์นในสายตาสังคมญี่ปุ่น คือ ผิดแน่ๆ เลยต้องหนีไปสินะ) น่าจะเป็นคดีที่ลากกันไปอีกยาวนานแน่นอน จนไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่ดูเหมือนทุกฝ่ายจะได้รับความเสียหายไม่แพ้กัน และที่สำคัญคือ คดีนี้ส่งผลต่อแวดวงธุรกิจของญี่ปุ่นแน่นอนครับ
ในยุคที่โลกเปิดกว้างขึ้นและทุนไหลเวียนไปมาได้ง่ายขึ้น ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่มีผู้บริหารต่างชาติน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจไล่เรียงกัน และจากคดีของกอส์นก็ยิ่งทำให้สงสัยว่า ที่เขาถูกดำเนินคดี ก็เพราะว่าเป็น ‘ชาวต่างชาติ’ หรือไม่ ยิ่งมีบันทึกว่าหน่วยพิเศษของญี่ปุ่นมักจะไล่ตามเหยื่อรายใหญ่เพื่อที่จะสร้างคดีดังๆ เพื่อทำให้สังคมเชื่อว่าญี่ปุ่นจัดการกับปัญหาเป็นอย่างดี ก็ยิ่งชวนให้คิดมากยิ่งขึ้น เพราะเท่าที่ไล่เช็กข่าวดู ก็มีผู้บริหารชาวญี่ปุ่นในบริษัทอื่นที่ทำการตกแต่งบัญชีคล้ายกัน แถมยอดเงินสูงกว่า แต่ก็ไม่มีการดำเนินคดีอะไร หรือยิ่งไปเทียบกับกรณีของบริษัทอื่นที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสังคมมากกว่าเช่น การใช้เหล็กไม่มีคุณภาพพอในการผลิตรางรถไฟ แต่บริษัทหรือผู้บริหารไม่ได้โดยลงโทษทางอาญา หรือกรณีของ TEPCO กับเตาปฎิกรนิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะที่ไม่ถูกดำเนินคดีอะไร พอเทียบกับกรณีนี้แล้วก็รู้สึกแปลกๆ ล่ะครับ
ยิ่งไปกว่านั้น กรณีของกอส์นคือ ทางบริษัทเป็นคนส่งข้อมูลให้ทางการเอง ต่อให้กอส์นผิด แต่การปฎิบัติต่อผู้ที่เข้ามากอบกู้บริษัทจากสภาวะที่ย่ำแย่แบบนี้ มันก็ชวนให้คิดเหมือนกันนะครับ ยังไม่นับว่าถ้าเกิดเอกสารที่กอส์นแสดงเป็นของจริงแล้ว เหล่ากรรมการจะเป็นอย่างไร และที่สำคัญคือ คดีนี้ก็ยิ่งทำให้ผู้บริหารต่างชาติที่มีฝีมือ ต้องคิดหนักหากได้รับข้อเสนอจากกิจการในญี่ปุ่น เพราะนอกจากจะต้องเจอกับการบริหารงานแบบญี่ปุ่นแล้ว ใครจะรับประกันได้ว่า อนาคตจะไม่ได้เป็น คาร์ลอส กอส์น คนที่สองครับ
ย้ำส่งท้ายอีกรอบว่า ผมไม่ได้มองว่ากอส์นถูกหรือผิดในตอนนี้ และคดีของกอส์นอาจจะเป็น White Collar Crime ครั้งสำคัญของวงการธุรกิจโลกก็ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ในอีกแง่ มันก็เผยให้เห็นถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่น ซึ่งเรียนตามตรงว่า ตอนนี้ได้แต่จับตามองเท่านั้นจริงๆ ครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก