แม่งเอ๊ย ชาติก่อนไม่รู้เคยทำเวรทำกรรมอะไรไว้ ชาตินี้ถึงได้เจอเคราะห์กรรมไม่หยุดหย่อน แต่งงานมีลูกสาวน่ารักไม่ทันไร ผัวเฮงซวยก็ทิ้งฉันไปมีใหม่ ต้องกระเซอะกระเซิงออกจากบ้านมันไปอาศัยอยู่กับพี่สาวชั่วคราว แต่ละวันออกไปย่ำต๊อกหางาน แค่พี่ให้ที่ซุกหัวนอนก็เกรงใจจะแย่แล้ว
พี่รีเบ็คกาแนะให้ฉันหาซื้อรถเข็นขายกาแฟ แต่กว่าฉันจะหาร้านเจอในย่านอุตสาหกรรมโกโรโกโส นาฬิกาก็บอกเวลาตีสอง เหนื่อยสายตัวแทบขาด แต่กัดฟันเดินกลับบ้านเพราะไม่อยากเปลืองเงินเก็บอันน้อยนิดไปกับการโบกแท็กซี่ กว่าจะถึงบ้านก็ปาเข้าไปตีสาม หลับเป็นตายแถมฝันร้ายอีกต่างหาก
วันต่อมาพี่รีเบ็คกาปลุกฉันแต่เช้า นอนยังไม่เต็มตา แต่ทำไงได้ ฉันต้องส่งลูกสาวไปโรงเรียนแต่เช้า (แน่นอนว่าเดิน เพราะต้องใช้เงินอย่างจำกัดจำเขี่ย อะไรไม่จำเป็นก็ไม่จ่าย) เสร็จแล้วก็ไปขอใบอนุญาตขายกาแฟจากหน่วยงานราชการ ถ่อไปร้าน ‘ซูเปอร์สโตร์’ ซื้อถ้วยกาแฟ กระดาษเช็ดปาก เครื่องชงกาแฟ เครื่องทำเอสเพรสโซ …จริงๆ ตอนช้อปอุปกรณ์ประกอบอาชีพใหม่ฉันก็รู้สึกตื่นเต้นดีอยู่หรอก หัวใจมาตกไปอยู่ตาตุ่มอีตอนไปซื้อรถเข็นขายกาแฟ เพราะปรากฏว่าช้อปอุปกรณ์เพลินจนไม่มีเงินซื้อรถเข็น ต้องตัดใจเอานาฬิกาไฮโซกับแหวนแต่งงานของฉันไปจำนำ (แต่ก็ดีเหมือนกัน ไม่อยากคิดถึงอีตาบ้านั่นอีกแล้ว)
ได้รถเข็นกับอุปกรณ์ครบแล้วก็ได้เวลาหาเงินเสียที แต่การหาโลเคชั่นเจ๋งๆ นี่มันไม่ง่ายเลย ฉันเสียเวลาหลายวันกว่าจะเจอถนนที่คนพลุกพล่าน ดูมีโอกาสได้กำไรมากกว่าขาดทุน สาธุ ขอให้ลูกช้างรอดเถิด!
หลังจากที่ชีวิตตกต่ำถึงขีดสุด ในที่สุด ฉันก็เริ่มตั้งตัวได้ ตั้งใจจะรีบหาเงินให้ได้เยอะๆ เพิ่มกาแฟรสชาติใหม่ๆ ในเมนูให้ได้เร็วๆ เพราะวันขึ้นศาลที่จะตัดสินว่าระหว่างฉันกับสามีใครจะได้สิทธิดูแลลูกงวดเข้ามา เวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน
เหลืออีกไม่กี่วัน ฉันต้องทำให้ศาลเห็นให้ได้ว่าฉันเป็นแม่ที่พึ่งพาได้!
เกมจำลองธุรกิจมีมากมายก่ายกอง เกมที่จำลองชีวิตคนทำธุรกิจมีน้อยนับนิ้วได้ และเกมที่จำลองชีวิตปากกัดตีนถีบ แถมยังจำลองอย่างจริงใจและสะท้อนใจชนิดลืมไม่ลง เห็นจะมีแต่ Cart Life เท่านั้นตลอดประวัติศาสตร์เกมที่ผ่านมา
และที่เจ๋งมากคือ ผู้เขียนหยิบเกมเก่า (ออกปี 2011) เกมนี้มาเล่นใหม่เมื่อผ่านไปหลายปี พบว่ายังสนุกและคลาสสิกไม่ล้าสมัย เครื่องคอมไม่ต้องเร็ว-แรงก็เล่นได้เพราะเป็นเกมเล็กมาก (กินเนื้อที่ไม่ถึง 20MB) แถมดีไซเนอร์คือ ริชาร์ด ฮอฟไมเออร์(Richard Hofmeier) ก็ปล่อยตัวเต็มของเกมนี้ให้โหลดฟรี (จากที่เคยคิดราคา $5) และปล่อย source code ให้โหลดฟรีด้วยตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา หลังจากที่เขาประกาศว่า “ผมพอแระกับการสนับสนุน/แก้บั๊กในเกมนี้ …ถึงเวลาเลิกคิดเงินและเปิดไส้พุงมันต่อสาธารณะ”
ดูเผินๆ เกมนี้ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ถึงแม้การเลือกใช้กราฟิกย้อนยุคเป็นโทนขาว-เทา-ดำทั้งเกมจะเตะตาและมีเสน่ห์ไม่น้อย แต่ถ้าลองเล่นให้ผ่านช่วงสองวันแรกในเวลาเกมไปได้จะพบว่า เกมนี้มีอะไรๆ มากกว่าที่คิดมากมาย แถมยังสื่อ ‘เศรษฐศาสตร์ของความจน’ ที่นักเศรษฐศาสตร์ค้นพบจากการทำงานวิจัยในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา ได้อย่างสมจริงและกระแทกใจคนเล่น
Cart Life โปรยว่าเป็น “เกมจำลองธุรกิจค้าปลีก” (retail simulation) ผู้เขียนก็เลยคิดว่ามันเป็นเกมธุรกิจทั่วไปที่เพียงแต่เน้นธุรกิจขนาดจิ๋ว แต่พอเล่นไปไม่กี่นาที ตัวละครที่เลือกเป็นในเกมคือเมลานี (Melanie) ร้องบอกว่า “ฉันเหนื่อยมากแล้ว” กับการตระเวนหาร้านขายเครื่องกาแฟ ผู้เขียนก็ค้นพบว่า นี่ไม่ใช่เกมแบบที่ทำให้เรารู้สึก ‘ฟิน’ ที่ได้ครองโลกหรือเอาชนะศัตรูคู่อริ แต่เพียงโล่งอกเมื่อเอาชีวิตรอดไปได้อีกวัน
Cart Life ไม่ใช่เกมจำลอง ‘ธุรกิจ’ เท่ากับเป็นเกมที่จำลอง ‘ชีวิต’ ของผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ค่อยมีทางเลือกในชีวิต ไม่ว่าเราจะเลือกตัวละครอะไร –จะเป็น เมลานี (Melanie) แม่ม่ายลูกหนึ่งที่กำลังจะเปิดร้านกาแฟ หรือ แอนดรัส (Andrus) แรงงานอพยพที่กำลังจะเปิดแผงหนังสือพิมพ์ หรือ วินนี่ (Vinny) ที่กำลังจะเปิดรถเข็นขายเบเกิล –เราก็จะถูกกำหนดเป้าหมายและธุรกิจขายปลีกมาให้เรียบร้อย พร้อมทุนรอนตั้งต้นจำนวนหนึ่ง
เรามีเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ในเกมเท่านั้นที่จะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่แบบ ‘กู้โลก’ หากแต่เป็นเป้าเล็กๆ ที่มีความหมายยิ่งใหญ่สำหรับตัวเราในเกม ไม่ว่าจะเป็นการหาเงินให้พอย้ายออกไปอยู่เอง หาเงินมาให้พอจ่ายค่าเช่า หรือหาเงิน $1,000 ให้ทันก่อนที่ศาลจะตัดสินว่าระหว่างเรากับอดีตสามี ใครน่าจะมีปัญญาเลี้ยงลูกมากกว่ากัน
Cart Life จำลองด้าน ‘ธุรกิจ’ ของการขายปลีกได้ดีพอประมาณ ตั้งแต่การหาซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็น หาโลเกชั่นที่เหมาะสม คอยปรับราคาตามเสียงตอบรับของลูกค้า (ทุกครั้งที่ปรับราคาจะเห็นชัดว่ากำไรคาดการณ์จะลดลงหรือเพิ่มขึ้นเท่าไร) อัพเกรดร้าน พัฒนาสินค้า จ่ายเงินซื้อใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ฯลฯ แต่สิ่งที่ทำให้เกมนี้โดดเด่นกว่าเกมจำลองธุรกิจทั่วไป คือการจำลองด้าน ‘ชีวิต’ ของคนทำธุรกิจได้อย่างยอดเยี่ยมยิ่งกว่า โดยเฉพาะความซ้ำซากจำเจของงาน เช่น ถ้าเราเลือกคนขายหนังสือพิมพ์ เราจะต้องพับหนังสือพิมพ์ก่อนขาย หรือถ้าเราชงกาแฟเราก็จะต้องชงทีละขั้น ตั้งแต่บดกาแฟ กดกาแฟ เติมน้ำร้อน รินใส่แก้ว ยื่นแก้วให้ลูกค้า และต้องทำทั้งหมดนี้ให้เร็วพอ ก่อนที่ลูกค้าจะหมดความอดทน
แต่สิ่งที่ทำให้ Cart Life เป็นมากกว่าเกม คือการจำลองชีวิตนอกร้านค้า ตั้งแต่การกิน นอน (ในเกมนี้เราต้องกิน และพยายามนอนให้พอ) ดื่ม มิตรภาพ ครอบครัว ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ความสูญเสีย อาชญากรรม การลงโทษ ความเจ็บป่วย โรคซึมเศร้า และอื่นๆ อีกมากมาย ตัวละครแต่ละตัวที่เราเลือกเล่นได้ในเกมล้วนมีจุดด่างพร้อย ความอ่อนแอ หรือเสพติดอะไรบางอย่าง เช่น แอนดรัสคนขายหนังสือพิมพ์ติดบุหรี่ ถ้าทำงานทั้งวันโดยไม่ดูดบุหรี่เลยจะทุรนทุรายมาก
สรุปได้สั้นๆ ว่า ในขณะที่เกม The Sims จำลองชีวิตของคนที่รวยที่สุด 10% Cart Life ก็จำลองชีวิตของคนที่เหลืออีก 90%
แล้วCart Life สะท้อนข้อค้นพบอะไรบ้างของนักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาชีวิตของคนจน? ผู้เขียนสรุปได้สามข้อด้วยกัน
ข้อแรก คนจนมักขาดแคลนข้อมูลสำคัญๆ และเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงยกตัวอย่างเช่น พวกเขาไม่มั่นใจว่าการส่งลูกไปฉีดวัคซีนจะมีประโยชน์เพียงใด เชื่อว่าสิ่งที่ลูกๆ ได้เรียนรู้ในปีแรกๆ ของการไปโรงเรียนนั้นไม่สลักสำคัญอะไรมาก ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วควรใช้ปุ๋ยในการเพาะปลูกมากน้อยขนาดไหน ไม่รู้ว่าเลือกผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. ไปแล้ว ส.ส. คนนั้นไปทำอะไรให้บ้างหลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง
เมื่อใดที่ความเชื่อที่คนจนยึดมั่นมากๆ ปรากฏแล้วว่าเป็นความเชื่อที่ผิด ผลที่เกิดขึ้นคือคนจนก็จะไปตัดสินใจผิดๆ ซึ่งบางครั้งมีผลพวงเชิงลบตามมามากมาย ลองนึกภาพเกษตรกรที่ใส่ปุ๋ยเคมีเกินปริมาณที่เหมาะสมไปสองเท่า
ต่อให้เป็นเรื่องที่คนจนรู้ตัวว่าพวกเขาไม่รู้ ความไม่แน่นอนที่ตามมาก็อาจส่งผลกระทบเชิงลบสะสมในระยะยาวมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น ความไม่แน่ใจว่าการถ่อไปสถานีอนามัยเพื่อเอาลูกไปฉัดวัคซีน (ซึ่งต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงมากสำหรับคนจน มักหมายถึงการขาดรายได้ไปทั้งวัน) เป็นสิ่งที่ ‘ได้คุ้มเสีย’ หรือเปล่า ประกอบกับธรรมชาติมนุษย์ทุกฐานะที่ชอบผัดวันประกันพรุ่ง ส่งผลให้เด็กในครอบครัวยากจนจำนวนมากไม่ได้รับวัคซีน สุ่มเสี่ยงเป็นโรคที่ป้องกันได้
Cart Life สะท้อนภาวะ ‘ขาดแคลนข้อมูล’ ของคนจนด้วยการให้ข้อมูลเรา (คนเล่น) น้อยมาก ตอนเริ่มเกมเราจะรู้ข้อมูลเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ ต่อการเริ่มเล่นเท่านั้น อย่างอื่นต้องลองผิดลองถูกเรียนรู้ไปเอง ซึ่งเราก็จะเรียนรู้ด้วยการย่ำต๊อกออกไปนอกบ้าน เพราะโลกในเกมนี้ไม่ได้มีแต่เรากับลูกค้า แต่เต็มไปด้วยคนอื่นอีกมากมาย เราสามารถหยุดคุยกับคนตามท้องถนนได้ทุกเมื่อ (แต่แน่นอน ยิ่งเถลไถลไม่ทำงานยิ่งสุ่มเสี่ยงว่าจะแพ้ เพราะเวลาไม่คอยใคร)
การดิ้นรนเอาตัวรอดในเกมแปลว่าเราจะหมดเวลาไม่น้อยไปกับการขอคำปรึกษาจากเพื่อน ญาติ หรือคนแปลกหน้า ซึ่งพวกเขาก็รู้อะไรๆ มากกว่าเราไม่มาก แถมบางครั้งยังให้ข้อมูลเราผิดอีกต่างหาก
ข้อสอง คนจนต้องแบกรับความรับผิดชอบสำหรับหลายมิติในชีวิตมากเกินไป ยิ่งเรามีเงินมากเท่าไร ก็ยิ่งมีคนอื่นตัดสินใจอย่าง ‘ถูกต้อง’ ให้เรา โดยที่เราอาจไม่รู้ตัวเลยก็ได้ เช่น ชนชั้นกลางได้ประโยชน์จากคลอรีนที่เทศบาลใส่ในน้ำประปาที่ส่งไปตามบ้าน แต่คนจนไม่มีน้ำประปาใช้ ก็เลยต้องหาทางกรองน้ำให้บริสุทธิ์เอาเอง, คนจนไม่มีเงินซื้ออาหารเช้าอุดมโภชนาการอย่างซีเรียลยี่ห้อต่างๆ เลยต้องกระเสือกกระสนหาทางให้ลูกๆ ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ (ซึ่งแน่นอน ประเด็นที่ว่า อะไรแค่ไหนถึงจะ ‘เพียงพอ’ ก็ไม่ใช่ความรู้ที่ใครๆ ก็เข้าใจได้ง่าย ไม่ว่าจะจนหรือรวย แต่คนรวยมีบริษัทผู้ผลิตซีเรียลและอาหารเสริมอื่นๆ คิดแทนให้แล้ว ขอเพียงมีเงินจ่าย) คนจนไม่มีกลไกการออมอัตโนมัติ อย่างเช่นเงินบำนาญหรือเงินประกันสังคม ก็เลยต้องหาวิธีออมเงินเอง (ซึ่งก็ยากมาก เพราะการออมขัดแย้งกับธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ที่มักไม่มองการณ์ไกล)
การตัดสินใจเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญ เพราะมันแปลว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียโอกาสบางอย่างทันที แลกกับประโยชน์ที่จะเกิดในอนาคตอันไกลโพ้น และการที่คนจนต้องหาเช้ากินค่ำ ก็ทำให้ต้นทุนการตัดสินใจเหล่านี้ยิ่งสูงขึ้นไปอีก
เศรษฐศาสตร์ความจนสอนว่า ถ้าเราจะช่วยคนจนจริงๆ สิ่งที่ต้องคิดคือ ทำให้การทำในสิ่งที่ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่ ‘ง่ายเหมือนปอกกล้วย’ สำหรับพวกเขาให้ได้มากที่สุด โดยใช้ข้อค้นพบจากเศรษฐศาสตร์เชิงทดลองและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เช่น ผลิตเกลือเสริมธาตุเหล็กและไอโอดีนในราคาถูกในราคาที่ทุกคนหาซื้อได้
Cart Life สะท้อนภาระอันหนักอึ้งของคนจนอย่างแจ่มชัด ตั้งแต่การไม่ยอมให้เรา ‘หยุดเวลา’ (pause) ในเกม นาฬิกาเดินหน้าเสมอ แม้แต่ตอนที่เรากดดูเมนูต่างๆ เพื่อตัดสินใจ มันจะหยุดก็ต่อเมื่อจบหนึ่งวันในเกมเท่านั้น หยุดเซฟเกมให้เราเมื่อตัวละครไปนอน ก่อนนอนเราจะต้องกดปุ่มซ้ายขวาแปรงฟัน มองดูน้ำลายไหลลงอ่างน้ำ แล้วรายการรายได้และค่าใช้จ่ายประจำวันก็จะฉายสรุปขึ้นบนจอ ข้างตัวเราที่เปลือยเปล่า นั่งเหนื่อยหมดสภาพอยู่ใต้ฝักบัวอาบน้ำ
เราไม่เคยมีเวลาพอใน Cart Life ที่จะทำทุกอย่างที่อยากทำ (และคิดว่าต้องทำ) และแรงกดดันที่รุมเร้าทุกมิติก็จะยิ่งทำให้เราลนลานและทำพลาด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเล่นเป็นเมลานี แม่ค้าขายกาแฟที่พยายามตั้งตัวให้ได้ก่อนขึ้นศาลแย่งสิทธิการดูแลลูก เวลาลูกค้าเดินมาซื้อกาแฟ เราเลือกได้ว่าจะแนะนำตัวก่อน จะชวนลูกค้าคุย หรือจะยิงคำถามเลยว่าลูกค้าอยากรับอะไร แต่ถ้าเมลานีเหนื่อยหรือหิวเพราะนอนไม่พอหรือไม่มีเงินกินข้าว เธอจะมีแรงแค่ถามลูกค้าว่าอยากรับอะไร ถ้าเหนื่อยหรือหิวมากๆ ก็จะไม่มีแรงทำอะไรทั้งสิ้น ต้องไปหาข้าวกินหรือนอน ก่อนจะมีแรงมาทำงาน
วันแรกในเวลาเกม ผู้เขียนในหมวกเมลานีเปิดร้านไม่ทันเพราะต้องรอรถเมล์นานเกินไป (แถมต้องเดินเป็นชาติจากบ้านไปป้ายรถเมล์) และศาลก็ปิดก่อนที่จะขอใบอนุญาตเปิดร้านสำเร็จ ระหว่างวิ่งไปวิ่งมา ลืมสนิทว่าต้องกลับไปรับลูกสาวที่บ้านพี่ กว่าจะกระหืดกระหอบไปรับลูกก็มืดค่ำ ลูกสาวโกรธแม่หน้างอหงิก ยิ่งทำให้เมลานีเครียดหนักเข้าไปอีก ซึ่งก็แน่นอนว่าจะกระทบกับสภาพอารมณ์ของเธอในวันถัดไป ไม่สามารถคุยเล่นกับลูกค้าได้ ลูกค้าบางคนพอเจอแม่ค้าหน้าบูดก็จะไม่อยากอุดหนุน ส่งผลให้เมลานีขาดรายได้และเครียดหนักยิ่งกว่าเดิม
Cart Life ฉายภาพอย่างแจ่มชัดว่า อุปสรรคจำนวนมากที่เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยสำหรับคนมีเงินนั้น คือเรื่องใหญ่สำหรับคนจน และก็สามารถลุกลามบานปลายเป็นปัญหาใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว การไปหาหมอเวลาป่วยไข้เล็กๆ น้อยๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือนหมายถึงการลาป่วย เสียเวลาแต่ได้เงินเท่าเดิม แต่สำหรับคนจน การไปหาหมอหมายถึงการเสียเวลามหาศาลในโรงพยาบาลรัฐอันแออัด เสียค่าเดินทางไปโรงพยาบาล (ซึ่งก็ต้องใช้เงินที่ไม่ค่อยมี) และการเสียเวลาทั้งหมดนี้ก็หมายถึงการเสียรายได้ เพราะเวลาทุกนาทีมีค่าเท่ากับเงินจริงๆ สำหรับคนปากกัดตีนถีบ
ข้อสาม ความคาดหวังเกี่ยวกับสิ่งที่คนทำได้และไม่ได้มักจะกลายเป็นคำพยากรณ์ที่กลายเป็นความจริงเพราะพยากรณ์แบบนั้น (self-fulfilling prophecy) นักเรียนหลายคนรู้สึกเหนื่อยหน่าย เลิกไปโรงเรียนหลังจากที่ครู (บางทีก็รวมพ่อแม่ด้วย) แสดงอาการดูถูกดูแคลนว่าพวกเขา ‘โง่เกินกว่าจะเรียนได้’ ผู้ประกอบการขนาดจิ๋วเลิกพยายามชำระหนี้เพราะคิดว่าอีกไม่นานก็ต้องเป็นหนี้อีก พยาบาลเลิกไปทำงานเพราะไม่มีใครคาดหวังแล้วว่าพวกเธอจะไปทำงาน
ใน Cart Life ตัวละครทุกตัวยิ่งหดหู่และเครียด ยิ่งส่งผลต่องาน ยิ่งพานทำให้คนอื่นดุด่าว่าโง่ เซ่อ หรือไม่เอาไหน และยิ่งพานรู้สึกว่าตัวเองเป็นอย่างนั้นจริงๆ หลายวันในเกมเราจะไม่อยากออกไปเปิดร้านเลย ไม่ทำก็ไม่ได้เพราะการยังชีพต้องใช้เงิน และต้องรับผิดชอบกับชีวิตใกล้ตัว เพราะไม่ว่าเราจะแย่ขนาดไหนในสายตาของคนอื่น เราก็สำคัญกับใครบางคนหรือบางตัวเสมอ ไม่ว่าจะเป็นแมวของแอนดรัส หรือลอรา ลูกสาวของเมลานี
เศรษฐศาสตร์ความจนสอนว่าการเปลี่ยนแปลงความคาดหวังนั้นไม่ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย และเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว สถานการณ์ที่ดีขึ้นนั้นเองก็จะเริ่มหักล้างความเชื่อผิดๆ อย่างความรู้สึกที่ว่าตัวเองไร้ค่า และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนไปในทิศทางที่ถูกต้อง สำคัญที่เราต้องเลิกเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนจน เลิกกลัวว่าการแจกเงินสด สิ่งของ หรือบริการ จะทำให้พวกเขางอมืองอเท้าไม่ทำอะไร และเลิกคิดไปเองอย่างมีอคติว่า พวกเขาประพฤติตัวไม่ดีเพราะ ‘เป็นคนไม่ดี’