ไม่ใช่เรื่องแปลก (แต่ก็ยังคงน่าละเหี่ยใจ) ที่แนวคิดคอมมิวนิสม์จะยังคงตกเป็นจำเลยของสังคม และถูกใช้เป็นข้ออ้างในฐานะ ‘ขั้วที่อยู่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย’ อยู่ต่อไป เมื่อมันกลายเป็นเหตุผลหลักที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้ในการปฏิเสธไม่ให้ คุณปฐม ตันธิติและคณะจดทะเบียนจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสม์แห่งประเทศไทยได้[1] เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา
แต่พร้อมๆ กันไป ท่าน กกต. กลุ่มเดียวกันนี้ ก็ดูจะเชื่ออย่างเต็มใจว่า รัฐบาลเผด็จการทหารนั้น มีความเป็นประชาธิปไตยมากพอ อย่างน้อยๆ ก็คงจะ 99.99% กระมัง
ที่บอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนั้น ก็เพราะแนวคิดคอมมิวนิสม์ หรือสังคมนิยม หรือเรียกรวมๆ หลวมๆ ว่า ‘ฝ่ายซ้าย’ นั้น ตกเป็นจำเลยอย่างเป็นทางการในระบบโลกเรื่อยมาอยู่แล้วตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น ที่ฝ่ายซ้ายก็จิกด่าฝั่งที่เรียกตัวเองว่า ‘โลกเสรี’ โดยคำว่า ‘เสรี’ ในที่นี่ดูจะเน้นไปในทาง ‘เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่’ เป็นหลักด้วย และฝ่ายโลกเสรีเองก็ประณามด่าทอ ‘ฝ่ายซ้าย’ ต่างทำเป็นกิจวัตร จนกระทั่งสงครามเย็นสิ้นสุดลง พอจะนับได้ว่าค่ายโลกเสรีชนะในการต่อตีในครั้งนั้นไป และกลายเป็นตัวแทน ‘แนวคิด/อุดมการณ์หลัก’ ของโลกไป
เมื่อฝั่งโลกเสรีเป็นผู้ได้ชัยชนะ ก็เป็นธรรมดาที่ฝ่ายซ้ายจะกลายเป็นจำเลยของประวัติศาสตร์ มีการพูดถึงความเสียหายมากมายที่ ‘ฝ่ายซ้าย’ สร้างขึ้น ในขณะที่ความเสียหายที่ทุนนิยมจากโครงสร้างวิธีคิดแบบเสรีนิยมใหม่สร้างขึ้นนั้นกลับถูกลดเลือนลงไป รัฐบาลคอมมิวนิสม์เข่นฆ่าคนมากมาย มีคนตายจำนวนมาก ทั้งในการปกครองของสตาลิน เหมา หรือเขมรแดง ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นโดยตลอด ซึ่งนั่นก็ถูกต้องและเป็นความจริงที่ควรต้องพูดถึงกัน แต่พร้อมๆ กันไป ความรุนแรงและความตายที่ระบอบทุนนิยมเสรีสร้างไว้ ดูจะถูกละทิ้งไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ประชาธิปไตยนำความตายมามากแค่ไหน และสร้างความรุนแรงเพียงใดไม่ค่อยจะถูกพูดถึงนัก และซ่อนมันไว้หลังฉากของอุดมการณ์ที่แสนสวยงาม และนี่ก็เป็นสถานะที่ ‘ฝ่ายซ้าย’ โดยเฉพาะอุดมการณ์คอมมิวนิสม์ต้องเผชิญเรื่อยมา
ประเทศไทยเอง ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ด้วยความชัดเจนในการวางตัวอยู่ฝั่งดียวกับค่ายโลกเสรีในช่วงสงครามเย็น ประเทศเรามีการต่อสู้ และปราบปรามแนวคิดฝ่ายซ้าย และพรรคคอมมิวนิสม์แห่งประเทศไทยอย่างรุนแรง เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่ความเป็นคอมมิวนิสม์ถูกใช้เป็นเงื่อนไขในการอนุญาตฆ่าได้ มีพระที่บอกว่า ‘ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป’ มีการปราบปรามและฆ่าประชาชน นิสิตนักศึกษา อย่างโหดเหี้ยมและทรมาณมากมาย นำไปสู่การหนีเข้าป่า และนำมาสู่การต่อสู้และเสียชีวิตอีกมาก
และก็เช่นเดียวกันกับในอีกแทบทุกพื้นที่ในโลก ฝ่ายซ้ายในไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการต่อสู้ สภาวะที่ดูจะหมดหนทางในการจะต่อสู้ให้ได้ชัยชนะในทางการเมืองและเศรษฐกิจนี้เอง กลายเป็นสภาวะที่นำมาซึ่งความหดหู่ร่วมกันอย่างทั่วไปหมดของฝ่ายซ้าย หรือที่ Enzo Traverso เรียกมันว่า Left Wing Melancholia ที่ อาจารย์สรวิศ ชัยนาม นักวิชาการด้านแนวคิดฝ่ายซ้ายคนสำคัญของไทยในปัจจุบันได้สรุปไว้โดยรวบรัดว่า ภายใต้สภาวะที่ดูจะไร้สิ้นทางต่อสู้ และความชอกช้ำจากการไม่มีโอกาสจะชนะในด้านการเมืองและเศรษฐกิจได้นี้ นักคิดฝ่ายซ้ายจึงต้องหันมาต่อสู้ในด้านสังคมไปแทน ซึ่งสุดท้ายมันก็เป็นการต่อสู้ภายใต้การยอมรับ การต่อสู้ภายใต้ระเบียบของทุนนิยมเสรีที่พวกเขายอมรับความพ่ายแพ้ต่อมันไปนั่นเอง
การหันมาต่อสู้ในทางวัฒนธรรมแทบจะล้วนๆ แทน ภายใต้ความซึมเศร้าหมู่ หรือ Left Wing Melancholia นี้เอง ที่ทำให้อาจจะพอพูดได้ตามข้อสรุปของอาจารย์สรวิศว่า “ฝ่ายซ้ายกลายเป็นผู้ได้รับชัยชนะในด้านวัฒนธรรม แต่พ่ายแพ้ในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ” โลกโดยรวมจึงมีประชาธิปไตยเสรี ที่สมาทานแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ และดูจะเป็นเครื่องมือสำคัญของระบบทุนนิยม อันเป็นชัยชนะที่ฝ่ายขวาฉกชิงไปได้ ในขณะที่การเมืองเชิงวัฒนธรรมกลายเป็นชัยชนะของฝ่ายซ้ายไป อย่างแนวคิดเรื่อง สิทธิความหลากหลายทางเพศ, พหุนิยมวัฒนธรรม, สิทธิมนุษยชน, กระทั่งเรื่องความถูกต้องทางการเมือง (Political Correctness/PC) ที่ริเริ่มโดยฝ่ายขวา ก็โดนฝ่ายซ้ายยึดเอามาเป็นของตนไปเสีย และความไม่พีซีกลายไปเป็นภาพลักษณ์ของฝ่ายขวาแทน เป็นต้น อย่างไรก็ตามชัยชนะในทางวัฒนธรรมของฝ่ายซ้ายที่ได้มา ก็ดำเนินอยู่ภายใต้กลไกการทำงานของระบอบการเมืองและเศรษฐกิจที่ฝ่ายขวาชิงชัยไปได้อยู่ดี
จนไม่ผิดนักที่จะพูดได้ว่า ชัยชนะของฝ่ายซ้ายแบบที่ถือครองอยู่ ก็กลายเป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนวิถีของเสรีนิยมใหม่ ประชาธิปไตยเสรี และทุนนิยมเสรีไปด้วยในตัว
แต่อาจจะเป็นเพราะแบบนี้เอง ในหลายๆ ที่ของโลก อย่างน้อยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ‘เสียงของฝ่ายซ้าย ในโลกของฝ่ายขวาค่ายเสรี’ นั้นก็ดูจะไม่ใช่ของน่ารังเกียจ ไม่ได้เป็นจำเลยอะไรมากนัก แนวคิดฝ่ายซ้าย อุดมการณ์สังคมนิยม ข้อเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการ การรื้อฟื้นวิธีคิดแบบมาร์กซิสม์ จนกระทั่งกระแส Post-Marxism และ Radical Marxism มาแรงเหลือเกินในระยะหลัง แน่นอนรวมไปถึงแนวคิดหรือพรรคคอมมิวนิสม์ด้วย ก็เริ่มมีที่ทางของตนในระบอบประชาธิปไตยเสรี และพื้นที่ในการทำความเข้าใจว่า ‘คอมมิวนิสม์กับประชาธิปไตย’ ไม่ใช่สิ่งที่ตรงกันข้ามกันเสมอไป แต่คอมมิวนิสม์เป็นการนำเสนอว่ามันมี “ความเป็นไปได้ หรือตัวเลือกแบบอื่นๆ ของสังคมประชาธิปไตย” ที่ยังไม่ต้องละทิ้งวิถีชีวิตแบบคนสมัยใหม่ สังคมหลังอุตสาหกรรม นอกเหนือไปจากทุนนิยมเสรี และประชาธิปไตยเสรีอยู่ด้วยนั่นเอง
อย่างน้อยๆ จุดยืนที่ว่า คอมมิวนิสม์ไม่ใช่สิ่งที่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตยอย่างแน่นอนนั้นก็ดูจะได้รับการยอมรับกันทั่วแล้ว และต้องมีที่ยืนในประเทศที่บอกว่าตนเองเป็นประชาธิปไตยได้ แม้ความเข้าใจหรือความนิยมต่อแนวคิดฝ่ายซ้ายจะยังเรียกไม่ได้ว่าเป็นที่นิยมหรือเข้าใจกันอย่างแพร่หลายไปหมดก็ตาม ดังจะเห็นได้จากแทบทุกที่ในโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศโลกเสรี ล้วนมีพรรคคอมมิวนิสม์ได้ กระทั่งประเทศที่เป็นหัวหอกในการต่อต้านแนวคิดคอมมิวนิสม์ในยุคสงครามเย็นอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ไม่เว้นครับ…ใช่แล้ว ที่ยกเว้นก็ดูจะมีแต่พี่ไทยเรานี่แหละ
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะประเทศไทยไม่ได้มีห้วงจังหวะในการทำความคุ้นเคย (domesticate) กับแนวคิดฝ่ายซ้ายมาก หลังจากฝ่ายซ้ายไทยพ่ายแพ้จากการปราบปรามของรัฐก็ได้ เพราะในโลกตะวันตก แม้ฝ่ายซ้ายจะพ่ายแพ้ในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ก็ยังพอมีด้านสังคมที่เหลือรอดอยู่บ้าง ในขณะที่ประเทศไทยเรานั้นฝ่ายขวาดูจะได้ชัยชนะหมดทุกกระบวนความ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม และไม่ใช่ขวาเสรีนิยมด้วย เป็นขวาอำนาจนิยมฟาสซิสต์ที่มีสมาทานเข้ากับทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่กันเลยทีเดียว
ความไม่เคยชินกับแนวคิดฝ่ายซ้ายใดๆ เลยนี้เอง ทำให้เรายังคงเข้าใจฝ่ายซ้ายผิด ว่ามันเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยงและตรงข้ามประชาธิปไตยไป ในขณะที่ทหารอำนาจนิยมที่ครอบงำเราตลอดเวลา ดูจะกลายเป็นทางรอดของระบอบประชาธิปไตยได้เสียฉิบ
ไม่เพียงเท่านั้น การเป็น ‘ซ้าย’ ในไทย ในระยะหลังมา จึงกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมาก เพียงแค่คุณเป็น ‘ขวาไม่มากเท่ากับขวาอำนาจนิยมที่ปกครองสังคมอยู่’ เท่านั้นแหละ ก็เป็นซ้ายแล้วในสายตาสังคมนี้ และพรรคคอมมิวนิสม์แห่งประเทศไทยที่คิดจะจัดตั้งขึ้น จึงกลายเป็นของต้องห้ามที่ดูจะไร้ทางรับได้ในระบบวิธีคิดแบบนี้ไป
ฉะนั้นนอกจากจะมาอธิบายว่าแนวคิดฝ่ายซ้าย รวมไปถึงคอมมิวนิสม์นั้นมันไม่ได้ตรงข้ามกับประชาธิปไตย และทำไมไทยเราจึงยังดักดานกับความคิดโบราณแบบนั้นอยู่อีกแล้ว ในครั้งนี้ผมจึงอยากจะอธิบายต่อเนื่องไปถึงวิธีคิดพื้นฐานของแนวคิดมาร์กซิสม์ด้วย แม้จะกระอักกระอ่วนใจเป็นอย่างมาก 2 ประการครับ คือ
1. ผมตระหนักดีว่าการอภิปรายเรื่องนี้ในประเทศไทย อาจจะยังเป็นอะไรที่ไกลไปมาก และอาจเป็นผลเสียกับกระแสประชาธิปไตยโดยรวมได้ เพราะจำเป็นต้องวิพากษ์ประชาธิปไตยเสรีด้วย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังจากประเทศเค้าพัฒนาในระบอบประชาธิปไตยไปได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ประเทศไทยเรานั้นอะไรใดๆ ก็ยังไม่มีเลย ฉะนั้นนี่จึงเป็นความกระอักกระอ่วนแรก
2. ความกระอักกระอ่วนที่สองที่อยากจะขอ ‘หมายเหตุ’ ไว้ตรงนี้ก็คือ ที่ผมจะอธิบายพื้นฐานแนวคิดมาร์กซิสม์นี้ คงจะนับได้ว่าเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนมากเมื่อผู้เชี่ยวชาญสำนักนี้มาอ่าน เพราะผมเองนั้นไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญแนวคิดด้านนี้อะไรเลย เป็นเพียงคนซึ่งอ่านงานฝ่ายซ้ายมากกว่าคนโดยทั่วไปบ้าง แต่ก็ยังห่างไกลจากผู้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งยังต้องบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ผมเองไม่ใช่คนที่สมาทานกับแนวคิดคอมมิวนิสม์ที่ว่ามา ไม่ใช่เพราะรังเกียจ แต่เพราะยังมีใจรักในความสะดวกสบายของระบบทุนนิยมและยังรักตัวเอง มากกว่าชีวิตคนอื่นที่โดนขูดรีดจากกลไกของระบบนี้อยู่บ้างเท่านั้น (สรุปสั้นๆ ว่าผมเหี้ยนั่นแหละครับ)
ได้หมายเหตุ 2 ข้อข้างต้นไป ผมก็สบายใจหน่อย ผมคิดว่าเรามาลองดูรากฐานวิธีคิดของแนวคิดมาร์กซ์กันดูดีกว่าครับ ว่ามันสมเหตุสมผลไหม และมัน ‘ตรงข้ามกับประชาธิปไตย’ อย่าง กกต. ไทยว่าไว้ไหม หรือมันเป็น ‘อีกทางเลือกหนึ่ง’ ของระบบสังคมมนุษย์สมัยใหม่ ที่จะสามารถใช้ชีวิตยุคหลังอุตสาหกรรม โดยที่มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในตัว แค่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเสรีก็เท่านั้น?
ไม่ได้จะเยิ่นเย้ออะไรนะครับ แต่การจะทำให้เห็นภาพได้นั้น ผมต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนยุคประชาธิปไตยเสรีนิยมก่อนสักหน่อย คือ ก่อนจะเกิดรัฐประชาธิปไตยเสรี ที่มีแนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และปัจเจกชนนิยมนั้น รัฐโดยมากของโลกปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ครับ
รัฐที่ให้สมบูรณาญาสิทธิย์กับผู้ปกครองเพียงหนึ่งเดียวนั้น ก็แปลว่าตัวรัฐเองเกิดขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของผู้ปกครองนั้น รัฐหมุนไปตามที่ผู้ปกครองประสงค์ให้เป็น ว่าง่ายๆ ก็คือ รัฐแบบนี้มีขึ้นมาเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้ปกครอง ไม่ได้มีขึ้นเพื่อประชาชนในรัฐ ประชาชนเป็นเพียงสมบัติหรือทรัพยากรในการครอบครองของกษัตริย์ ฉะนั้นมนุษย์จึงไม่ได้มีความหมายว่า Human Being ในแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ แต่เป็นเพียงปศุสัตว์ทางการเมืองแบบหนึ่งของเจ้าผู้ปกครอง ประชากรในตอนนั้นเป็นเพียง Human Subject ที่มีแต่ร่างกาย มีแต่เลือดเนื้อ แต่ไร้ซึ่งสิทธิเหนือกายภาพต่างๆ เหล่านั้น ความมั่นคงในตัวตนของมนุษย์ในตอนนั้น จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกษัตริย์ผู้ปกครอง
ในช่วงต่อมา โดยเฉพาะภายหลังทศวรรษ 1780s กระแสของการโค่นล้มการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่คนเพียงคนเดียวก็เกิดขึ้น มีการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเป็นเจ้าของเหนือร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของตนเอง ที่เรียกกันว่า Individual Self-Ownership ซึ่งปรับเปลี่ยนสถานะของมนุษย์จาก Human Subject หรือปศุสัตว์การเมือง มาเป็น Human Being หรือคนอย่างที่เราเป็นกันอยู่ในปัจจุบันได้ รัฐในระบอบประชาธิปไตยเองก็เช่นเดียวกัน มันไม่ได้มีไว้เพื่อรับใช้เจ้าผู้ปกครองสูงสุดคนใดคนหนึ่งแต่เพียงคนเดียวอีกต่อไป แต่เพราะว่าเจ้าของรัฐนั้นคือประชาชนทุกคนในรัฐเท่าๆ กันหมด รัฐจึงมีหน้าที่ในการรับใช้และปกป้อง ชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน ภายใต้เงื่อนไขร่วมที่ผูกรวมสังคมนั้นๆ ไว้ที่เรียกกันว่ากฎหมาย และค่านิยมร่วมอื่นๆ นั่นแหละครับ
โดยสรุปก็คือ แนวคิดเสรีนิยมและประชาธิปไตยเสรี มันได้เปลี่ยนสถานะความเป็นคนใหม่ (ปศุสัตว์ เป็น คน) ซึ่งนี่หมายความว่ามนุษย์พึงได้รับการประกันความมั่นคงในฐานะมนุษย์บนฐานของการมีสิทธิและเสรีภาพที่สมบูรณ์
(โอเคจบส่วนปูเรื่องละครับ มันจำเป็นครับ) ปัญหามันเริ่มจากว่า ภายใต้สิทธิและเสรีภาพของปัจเจก อันเป็นคุณค่าสำคัญของแนวคิดเสรีนิยม, เสรีนิยมใหม่, ทุนนิยมเสรี และประชาธิปไตยเสรีนั้น มันนำมาซึ่งการแข่งขันกันอย่างมาก และบ่อยๆ ครั้งต้นทุนหรือปัจจัยการผลิตเริ่มต้นของแต่ละคนก็ไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้นแม้จะได้รับการประกันความเท่ากันทางกฎหมาย แต่ความไม่เท่าเทียมกันทางฐานะ ปัจจัยการผลิต ทุน และอำนาจทางวัตถุต่างๆ ก็นำมาซึ่งช่องว่างของความห่างทางชนชั้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสังคมอุตสาหกรรมที่กลุ่มนายทุนขูดรีดชนชั้นแรงงานอย่างหนักหน่วง จ่ายค่าตอบแทนต่ำเตี้ย แต่บังคับใช้แรงงานอย่างเกินพอดี ประหนึ่งเป็นเครื่องจักร หรือวัวควายในการทำงาน มนุษย์โดยมาก ในชื่อว่าชนชั้นแรงงานนี้เอง ดูจะมีสภาพเป็นเพียง ‘หน่วยในการผลิต’ เท่านั้นเสีย
ตรงจุดนี้เอง เราเห็นความย้อนแย้งที่สำคัญมาก และเป็นรากฐานสำคัญของแนวคิดฝ่ายซ้าย (โดยเฉพาะการตั้งข้อถกเถียงเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Argument) มั้ยครับ?
สิ่งที่เกิดขึ้นแปลว่า แนวคิดเสรีนิยม (ใหม่) ประชาธิปไตยเสรี และทุนนิยมเสรี ที่ไปช่วยปลดปล่อยมนุษย์จากโซ่ตรวนของอำนาจนิยมของกษัตริย์ ซึ่งไปเปลี่ยนมนุษย์จากปศุสัตว์การเมืองให้กลายมาเป็นคนเต็มคนเองนี้แหละ ที่ดันกลับมาทำให้มนุษย์กลับไปเป็นปศุสัตว์การเมืองอีกครั้งในฐานะของหน่วยการผลิตในระบอบทุน เพียงแค่เปลี่ยนตัวเจ้าของจาก ‘กษัตริย์’ มาเป็น ‘นายทุน’ แทนเท่านั้น (แต่ในบางประเทศอย่างในโลกอาหรับที่มี ‘กษัตริย์ผู้เป็นนายทุน’ ด้วยเลย ก็ยิ่งแล้วใหญ่ไปอีก) มันจึงกลายเป็นความย้อนแย้งในเชิงจุดยืนทางอุดมการณ์ขึ้นมาว่า ประชาธิปไตยเสรี ดูจะกลายเป็นระบบซึ่งปลดปล่อยมนุษย์จากความเป็นไพร่ทาส เพียงเพื่อให้กลับมาเป็นไพร่ทาสรูปแบบใหม่เท่านั้นหรือนี่? และกลไกที่ประกันเรื่องเสรีภาพของปัจเจกของมันเองนี่แหละ ที่ทำให้มันไม่มีทางหลุดไปจากวังวนนี้ได้ (และนี่แหละครับ การเล่าย้อนไปเสียไกลจึงจำเป็น)
ปู่มาร์กซ์เคราครึ้มจึงมองว่าไม่ได้แล้วแหละ สิทธิและเสรีภาพอื่นใดทั้งมวลควรมาทีหลังสิทธิในการมีชีวิตในฐานะมนุษย์สิวะ! คือ เสรีภาพส่วนบุคคลที่แสนงดงามอะไรต่างๆ นั้น จะไม่มีประโยชน์อันใดเลย หากเราไม่มีชีวิตในฐานะมนุษย์เสียก่อนเป็นรากฐาน เพราะฉะนั้นคุณค่าสำคัญที่สุดของแนวคิดฝ่ายซ้ายจึงเริ่มต้นขึ้นที่ ‘การประกันความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะมนุษย์’ ก่อน มนุษย์ทุกคนต้องสามารถใช้ชีวิตในระดับพื้นฐานได้เหมือนกัน เท่ากันก่อน นั่นคือสิ่งที่รัฐจะต้องประกันให้เกิดขึ้น และต้องเป็นการสามารถใช้ชีวิตพื้นฐานอย่างสมบูรณ์พูนสุขประสามนุษย์ยุคใหม่ด้วยนะครับ ไม่ใช่บอกว่าเราจะเลิกยุ่งกับทุนนิยมเสรี ด้วยการบอกว่า “เฮ้ พวกเรา จงกลับไปสู่สังคมบรรพกาลก่อนจะมีทุนนิยมเถอะ ไปปลูกผัก ทำไร่ของตัวเอง ทำบ้านดินอยู่ ขอเพียงมีสิ่งนั้นก็พอแล้ว บลาๆ” แล้วจะได้
ฉะนั้นแนวทางที่มาจากรากฐานความคิดแบบนี้ก็เริ่มจากการมองว่าการให้สิทธิกับทรัพย์สินส่วนบุคคล และเสรีภาพในการใช้สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนในการผลิต มันก็จะนำไปสู่จุดเดิมที่ความมั่นคงมนุษย์เป็นเพียงปัจจัยรองอีก ฉะนั้นจึงเสนอให้มีการบังคับรวมทรัพย์สิน ให้มาเป็นทรัพย์สินร่วม หรือ common property และกระจายให้ทุกคนในสังคมได้ใช้อย่างเท่าๆ กัน นี่เป็นการประกันว่าอย่างน้อยก็ไม่ต้องมีใครตกรางไปเป็นไพร่ทาส เป็นปศุสัตว์ หรือหน่วยการผลิตอีก
แน่นอน วิธีคิดของปู่มาร์กซ์มีรายละเอียดอีกมาก และก็ชัดเจนว่ามีปัญหาหลายส่วนในตัวเองอยู่ ซึ่งคนก็วิพากษ์แกมาเป็นศตวรรษแล้ว แต่นั่นไม่ได้แปลว่าแนวคิดของปู่แกตรงกันข้ามกับประชาธิปไตย ในความหมายว่า ระบอบการเมืองที่ปกครองโดยประชาชนเลย มันก็แค่เป็นประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่งที่เน้นการประกันความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะมนุษย์ให้ตลอดรอดฝั่ง ก่อนเสรีภาพของปัจเจก โดยเฉพาะในแง่เสรีภาพเหนือทรัพย์สินก็เท่านั้นครับ
และโครงสร้างรากฐานที่สำคัญที่สุดของแนวคิดฝ่ายซ้ายนี้ก็คือ การมองหาทางเลือกใหม่ๆ ให้กับประชาธิปไตย ในความหมายว่าการปกครองโดยประชาชน ไม่ใช่ยอมจำนนต่อความเป็นไปของประชาธิปไตยเสรีที่กลายเป็นเพียงกลไกหนึ่งของระบบทุนนิยมเสรีไป ปล่อยให้มันขูดรีด 99% ของคน เพื่อเอาใจ 1% ของสังคมตอนบนไปโดยบอกว่านี่แหละคือดีที่สุดแล้ว เราไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ฉะนั้นแม้จะไม่เห็นด้วยกับแนวทางของปู่มาร์กซ์ ก็ยังสามารถมองหาทางเลือกแบบอื่นๆ ได้ ที่มันจะประกันความมั่นคงให้ความเป็นคน และเป็นหนทางในการดำรงชีวิตในระบอบประชาธิปไตยวิถีอื่นๆ ครับ หากท่านอยู่บนฐานคิดนี้ ก็แปลว่า ท่านเริ่มจะ ‘ซ้ายจริงๆ’ ไม่ใช่แค่ ‘ซ้ายโดยเปรียบเทียบ’ ที่เป็นซ้ายได้แค่เพราะว่าขวาไม่พอแบบลิเบอรัลจำนวนมากในไทยแล้ว
ผมอยากจะขีดเส้นใต้เตือนตรงท้ายนี้แค่ว่า อย่าได้เผลอมองว่าประชาธิปไตยแบบไทย หรืออำนาจนิยม ทหารครองเมืองนี้เองก็เป็น ‘อีกทางเลือกหนึ่งของประชาธิปไตย’ ที่เลวทรามแบบเดิมไปด้วยนะครับ มันไม่ใช่เลย เพราะระบอบแบบที่เป็นอยู่ ไอ้ไทยๆ อะไรที่เรียกกันนี่ นอกจากจะไม่มีสิทธิเสรีภาพอะไรกันแล้ว ความเป็นคนอะไรก็ไม่มีเช่นเดียวกันครับ ฉะนั้นถ้าประชาธิปไตยเสรี ที่ยังพอมีเสรีภาพอยู่บ้างว่าพีคแล้ว ที่เราเป็นๆ อยู่นี่เนี่ยก็คือ ‘พีคของพีค’ อีกทีหนึ่งนั่นเอง
เมื่อพอจะเห็นภาพแล้วว่าคอมมิวนิสม์ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยทั้งมวล ผมก็เหลือบมาเห็นข่าวการลงชื่อต้านมติ กกต. ในเรื่องนี้พอดี[2] ก็ได้แต่หวังและคอยเชียร์อยู่ห่างๆ ประสาคนซ้ายแบบเทียมๆ ว่า ขอให้เรียกร้องสำเร็จกันนะครับ Communists of Thailand Unite!
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.pptvhd36.com
[2] โปรดดู www.prachatai.com