หลังจากที่เพจเยาวชนปลดแอกได้โพสต์ภาพสัญลักษณ์ RT Movement ที่ออกแบบมาให้อยู่รูปของค้อนเคียวในเพจทางการของตน ก็นำมาซึ่งกระแสข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งจากฝั่งที่เคลื่อนไหวร่วมอุดมการณ์ด้วยกันเอง และจากฝั่งที่เรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงกันข้ามทางการเมือง ทั้งข้อถกเถียงนั้นยังมีความหลากหลายมากมายหลายแขนงด้วย ไล่ตั้งแต่ความถูกต้องของการใช้คำว่า ‘แรงงาน’ ในบริบทปัจจุบันเมื่อเทียบกับบริบทการใช้งานของคาร์ล มาร์กซ์ ไปจนถึงสถานะทางยุทธศาสตร์ของการเคลื่อนไหวนี้ ที่บางฝั่งก็ชื่นชมอย่างมาก ในขณะที่บางส่วนออกมาแสดงความเป็นห่วง แต่อีกฝั่งหนึ่งก็แสดงท่าทีต่อต้านอย่างแข็งกร้าว
ผมอยากจะจำกัดคำอภิปรายในงานชิ้นนี้อยู่เฉพาะแต่ในเรื่องมุมมองในทางยุทธศาสตร์ของการใช้ตราสัญลักษณ์ค้อนเคียวเป็นหลัก เพราะเนื้อหาในแง่ความถูกต้องทางหลักการของตัวสัญลักษณ์เองไปจนถึงนิยามการใช้คำนั้น กล่าวโดยตรงว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปสนใจหรือ แคร์’ อะไรนัก ทั้งยังมีคนที่มีความสามารถที่จะอภิปรายเรื่องนี้ได้มากกว่าผมอีกมากมายด้วย โดยเฉพาะผู้ปวารณาตัวเป็นฝ่ายซ้ายโดยแท้จริง และอีกประการหนึ่งที่อยากจะระบุให้ชัดเจนอย่างยิ่งก็คือ นี่คือการอภิปรายในฐานะ ‘ผู้สังเกตการณ์’ ต่อข้อถกเถียงล้านแปดที่เกิดขึ้นนี้ล้วนๆ ว่าอีกแบบก็คือ เป็นการอภิปรายที่ตัวผู้เขียนเองรู้ตัวดีว่าทำตัวลอยตัวอยู่เหนือบริบทการถกเถียงเองหรือกระทั่งองค์ประธานของตัวข้อถกเถียง ฉะนั้นหากจะไม่พอใจกันในส่วนนี้ ก็ยุติการอ่านไปได้เลย ณ จุดนี้ครับ
ขั้นแรกที่สุดก่อน เป็นเส้นมาตรฐานเบื้องต้นสุดในการพูดคุยเรื่องนี้คือ ผมคิดว่าเราต้องยืนยันและมีความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับจุดยืนหรือการเคลื่อนไหวในการใช้ตราค้อนเคียวโดยกลุ่มประชาชนปลดแอกหรือไม่ก็ตาม เราต้องยืนยันร่วมกันว่านี่คือสิทธิที่พึงทำได้อย่างแน่นอนในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีใครพึงใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการทำร้าย ใช้ความรุนแรงใดๆ ได้ ทั้งต่อตัวผู้ใช้ตราสัญลักษณ์นี้หรือระบอบประชาธิปไตยทั้งยวงก็ตามที และหากกฎหมายประเทศนี้จะไม่อนุญาตให้มีการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่ประเทศไทยได้นั้น ก็สมควรจะแก้ไขให้สามารถทำได้ได้แล้ว เพื่อให้ต้องตรงกับครรลองของระบอบประชาธิปไตย
เอาล่ะครับ ผมคิดว่านั่นคือเงื่อนไขขั้นพื้นฐานที่สุดที่เราต้องเห็นร่วมกันก่อน แล้วค่อยมาพิจารณาร่วมกันว่าคิดเห็นอย่างไรต่อมู้ฟนี้ (ทำนองเดียวกับกรณี 10 ข้อเสนอของทางธรรมศาสตร์ ที่ต้องยืนยันเรื่องการพูดได้ ทำได้เป็นพื้นฐานก่อน แล้วจะมามอง วิเคราะห์ในเชิงยุทธศาสตร์ว่าเห็นด้วยหรือไม่อะไรก็ว่าไป) ผมคิดว่าผมแบ่งการอภิปรายทางยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ เป็น 2 หมวดใหญ่ๆ น่าจะชัดเจนที่สุดครับ นั่นคือ หลักการ vs ในทางความเป็นจริง กับ ระยะสั้น vs ระยะยาว และส่วนอื่นๆ ที่อาจจะเป็นข้อเสนอแนะเพิ่มเติมส่วนตัวของผมเอง
หลักการ vs. ในทางความเป็นจริง (Principle vs Actuality)
จริงๆ แล้วสำหรับหมวดนี้นั้น เราได้แตะไปบ้างแล้ว ตอนที่เรายืนยันในทางหลักการไปในตอนต้น ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความเคลื่อนไหวส่วนนี้ ก็ต้องยืนยันว่าทำได้ ซึ่งแน่นอนว่านั่นคือส่วนหนึ่งของการยืนยันตามหลักการ อย่างไรก็ดี มันไม่ได้มีแต่เพียงเท่านั้นน่ะสิครับ คือ หากเราโยนเรื่องว่าการใช้ตราสัญลักษณ์ค้อนเคียวที่ว่านี้เป็นแต่เพียงแค่ ‘มีม’ หรือการล้อเล่นแซวเล่นทางการเมืองแบบหนึ่งออกไปก่อนแล้ว (และหากให้มองโดยส่วนตัว ก็ไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นแค่มีมอะไรด้วย) เราต้องยอมรับกันก่อนว่า สิ่งที่ตราสัญลักษณ์ค้อนเคียวนั้นสัมพันธ์ด้วยมากที่สุดก็คือ อุดมการคอมมิวนิสม์ หรืออย่างเบาลงมาเล็กน้อยก็สังคมนิยมครับ ซึ่งแม้จะไม่ได้สร้างความกลัวหรือความหลอนเท่ากับช่วงสงครามเย็นแล้ว แต่จะปฏิเสธว่าจะไร้ซึ่งคนที่กลัวมันก็คงจะไม่ได้ หรือคนที่ไม่ได้กลัวแต่ไม่เห็นด้วยกับตัวแนวคิดนี้ก็ย่อมมีเป็นธรรมดา
ทีนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่านี้เอง สำหรับผมแล้วมันซ้อนบริบทในเชิง หลักการ vs ความเป็นจริง หลายเงื่อนไว้อยู่น่ะครับ เริ่มต้นก่อนเลยว่า ในทางหลักการนั้น “การเตือน” (ทางยุทธศาสตร์) ที่ว่า “ไม่เห็นด้วยกับมู้ฟนี้เพราะจะกลายเป็นเงื่อนไขหรือข้ออ้างให้ฝั่งตรงกันข้ามใช้ทำลายขบวนการต่อสู้” ได้นั้น ผมคิดว่าเราต้องบอกก่อนว่าเป็นการเตือนที่ “ผิดในทางหลักการ”
เพราะการเตือนแบบนี้มันวางอยู่บนตรรกะชุดเดียวกัน
กับการบอกว่า “อย่าแต่งตัวโป๊นะ เดี๋ยวจะโดนลวมลาม ข่มขืนได้”
แน่นอนการ “เตือน” แบบนี้ย่อมเป็นการผิดหลักการเพราะว่า “บอกผิดคน” คนเตือนต้องบอกกับคนที่ “คิดจะข่มขืนเพราะเงื่อนไขแบบนี้ต่างหาก” ไม่ใช่มาบอกคนที่คิดจะแต่งตัว เรื่องเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นมาตรฐานที่เราควรจะเข้าใจกันได้โดยทั่วไปแล้ว กับกรณีของการใช้ตราสัญลักษณ์ค้อนเคียวนี้ก็เช่นเดียวกัน ในทางหลักการก็ตามนั้น อย่างไรก็ดี การเตือน “ในทางปฏิบัติ” ไม่ว่าจะเรื่องการแต่งกายกับความเสี่ยงในการโดนข่มขืน หรือ การใช้สัญลักษณ์ค้อนเคียวคอมมิวนิสม์กับการเสี่ยงจะทำให้อีกฝั่งมีข้ออ้างในการใช้กำลังได้นั้น เป็นสิ่งที่ประเมินได้ “ในทางปฏิบัติ” ไหม ผมก็ยังคิดว่ายังคงประเมินในทิศทางนั้นได้ และเตือนกันเองในระดับส่วนตัว (คือ “ไม่ใช่ในทางสาธารณะ”) กับเรื่องแบบนี้นั้น ผมก็ยังคิดว่าเป็นเรื่องที่ทำได้อยู่ เพราะสังคมเรานี้ “ความเน่าเฟะ” นั้นคือความเป็นจริงในทางปฏิบัติด้วย โดยเฉพาะกับผู้ถือครองอำนาจทางการเมือง อย่างไรก็ดี การเตือนหรือวิจารณ์ในลักษณะนี้ผมเห็นว่าควรเตือนหรือแนะนำเป็นการส่วนตัวมากกว่าทำในที่สาธารณะ เพราะหากทำในพื้นที่สาธารณะแล้วก็จะยิ่งทำให้ “สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นตามหลักการ มีโอกาสเกิดขึ้นจริงได้อีก เพราะการพูดซ้ำๆ ของเราในเรื่องนี้ว่า มันมีความเป็นไปได้นะๆๆๆ นั้น มันนำมาซึ่งการสร้างเงื่อนไขที่ทำให้สภาวะแบบที่ว่านี้คงอยู่ต่อไปได้ด้วย” ถึงที่สุดแล้ว ในระดับนี้ผมคิดว่า การเตือนในทางสาธารณะควรยืนยันตามหลักการไป และการเตือนในทางความเป็นจริงอาจจะต้องทำในระดับส่วนตัว
ยิ่งไปกว่านั้น หากประเมินในทางยุทธศาสตร์กันจริงๆ แล้ว “หากฝั่งนั้นคิดจะหาเรื่องปราบปรามหรือใช้กำลังกับประชาชนจริงๆ” จนถึงตอนนี้ จำเป็นต้องรอให้สัญลักษณ์ค้อนเคียวปรากฏด้วยหรือ? ผมคิดว่าไม่เลย หากพวกเขาคิดจะทำ มีข้ออ้างให้หยิบมาเล่นได้โดยไม่ต้องสนใจหลักการและความถูกต้องอีกมากมายอยู่แล้ว โดยไม่ต้องมีเรื่องค้อนเคียวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั่นเอง
อย่างไรก็ดี มีอีกมุมหนึ่งของหมวด “หลักการ vs ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ” นี้ที่ผมคิดว่าจะต้องอภิปรายกันเพิ่มเติมด้วย คือ แม้เราจะกล่าวได้โดยชัดเจนตามหลักการ “ประชาธิปไตย” ว่า แนวคิดคอมมิวนิสม์ ไม่ได้ขัดกับฐานวิธีคิดเรื่องประชาธิปไตยแต่อย่างใดดังที่เราย้ำกันแต่ต้น (และผมเองก็เคยเขียนถึงเรื่องนี้หลายครั้งแล้วในแมทเทอร์นี้) แต่พร้อมๆ กันไป ก็ต้องยอมรับในทางความเป็นจริงด้วยว่า “มันคือเส้นทางหนึ่งที่เลือกเดินได้ของระบอบประชาธิปไตย” ว่าอีกแบบก็คือ มันมีทั้งคนที่เห็นด้วยก็ได้ ไม่เห็นด้วยก็ได้นั่นเอง ซึ่งมันต่างจากกรณีของ 3 ข้อเรียกร้อง หรือ 10 ข้อเสนอฯ ก่อนหน้านี้ ที่เราสามารถกล่าวได้อย่างมั่นคงชัดเจนด้วยว่า คู่ต่อสู้นั้น คือ “ศัตรูร่วมของอุดมการประชาธิปไตยสากล” กล่าวคือ ไม่ว่าจะยืนอยู่บน “เส้นทางแบบไหน” ของระบอบประชาธิปไตยก็ตาม หากมีการใช้อำนาจที่ล้นเกินรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย หรือ มีคนที่มีอำนาจทางการเมืองได้โดยไม่ต้องผ่านการเลือกหรือตรวจสอบใดๆ แล้วนั้น สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าคุณจะเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมใหม่ หรือแบบสังคมนิยมก็ตาม
ในแง่นี้เอง ผมจึงคิดว่าการที่เพจทางการของกลุ่ม
ประชาชนปลดแอกได้ใช้สัญลักษณ์นี้ในนามกลุ่มอย่างเป็นทางการ
ขึ้นมานั้น จึงไม่ถูกต้อง ทั้งในทางหลักการและในทางความเป็นจริงด้วย
เพราะคนที่มาร่วมกับกลุ่มประชาชนปลดแอกแต่ต้น และเข้าร่วมการต่อสู้ในนามกลุ่มนี้ (อย่างที่ทางกลุ่มพยายามเน้นย้ำเองเสมอว่า “ประชาชนปลดแอกนั้นเป็นของประชาชนทุกคน ไม่ใช่แกนนำคนหนึ่งคนไหน”) ซึ่งข้อเรียกร้องและการต่อสู้แต่ต้นรากมานั้น มันวางฐานอยู่บน “ข้อเรียกร้องต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยสากล” ที่ทุกคนที่สมาทานอุดมการณ์ชุดนี้ย่อมควรเห็นด้วย แต่กรณีของสัญลักษณ์ค้อนเคียวและคอมมิวนิสม์นั้น “เป็นคนละเรื่องกัน” เพราะเป็นทางเลือกหนึ่งภายใต้ร่มประชาธิปไตยนี้เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่มาร่วมกับกลุ่มประชาชนปลดแอกจะเห็นด้วยกับจุดยืนหรือตัวเลือกดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ผมจึงคิดว่าไม่ใช่มู๊ฟที่ “แฟร์” นักกับคนที่ร่วมขบวนอยู่ด้วย โดยส่วนตัว ผมคิดว่าทางที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดคือ สร้างเพจใหม่ กลุ่มใหม่ขึ้นมา และเคลื่อนไหวในฐานะกลุ่มนี้ชัดๆ โดยตรงไปเลย เป็นอีกก้อนหนึ่งที่ไม่ได้ทำในนามกลุ่มประชาชนปลดแอกจะดีที่สุดครับ กลุ่มประชาชนปลดแอก จะช่วยประชาสัมพันธ์บ้างอะไรบ้างก็ย่อมทำได้เป็นปกติ เพราะถือว่าอยู่ในเครือข่ายพันธมิตรแนวร่วมประชาธิปไตยด้วยกัน เหมือนอย่างที่กลุ่มประชาชนปลดแอก, ธรรมศาสตร์และการเมือง, นักเรียนเลว, ฯลฯ ต่างประชาสัมพันธ์ให้กันและกันมาโดยตลอดนั่นเอง เพียงแค่จะมาจับยัดเหมารวมแบบนี้นั้น ผมเองคิดว่าผิดทั้งในระดับหลักการและในทางปฏิบัติด้วย
ระยะสั้น vs ระยะยาว
ผมคิดว่าอีกหมวดหนึ่งที่ต้องมองกันนั้นคือเรื่องของ “ระยะ” ในทางยุทธศาสตร์ คือ ระยะสั้นและระยะยาวนี่แหละครับ ว่ากันแบบตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม หากเราประเมิน “ประโยชน์ในระยะสั้น” หรือระยะอันใกล้ของขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่จะได้จากมู้ฟ “ค้อนเคียว” นี้ มีอะไรบ้างไหม? บอกตรงๆ ผมว่าแทบจะไม่มี หรือต่อให้มีก็ได้น้อยกว่าเสีย เพราะอย่างที่บอกไปว่าความกลัวต่อ “ภัยคอมมิวนิสม์” ที่ฝังหัวและถูกอธิบายแบบผิดๆ ในสังคมไทยมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950s นั้น แม้จะลางเลือนไปมากแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมดสิ้นลง ทั้งขบวนการเคลื่อนไหวในตอนนี้เอง ก็มีคนจากหลากหลายรุ่น หลากหลายพื้นเพมาร่วมด้วยแล้วอีกต่างหาก การเปิดตัวแนวคิดนี้ “โดยกลุ่มเคลื่อนไหวหลัก” (คือ ประชาชนปลดแอกเอง) นั้น จึงมีโอกาสที่จะทำให้คน “แขยง” และไม่ร่วมด้วย มากกว่าที่จะสู้ด้วยอย่างเต็มอกเต็มใจต่อไป
ผมคิดว่าเรื่องนี้ “จำเป็นที่จะต้องยอมรับ” ไม่ว่าจะจากฝั่งที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับมู้ฟนี้ก็ตาม ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าทางแก้ไขนั้นก็คือเรื่องเดียวกับคำแนะนำส่วนตัวที่มีไว้ก่อนหน้า คือ ต้อง “แยก” มู้ฟเม้นต์นี้ออกจากกลุ่มประชาชนปลดแอกให้ชัดเจน กล่าวคือ อยู่ในสถานะ “กลุ่มก้อน” (cluster) หนึ่งของขบวนการโดยองค์รวมทั้งหมด และไม่ใช่ทำในนาม “กลุ่มเดิมซึ่งสร้างขึ้นมาจากเงื่อนไขข้อตกลงเบื้องต้นคนละชุดกัน” ในกรณีหลังนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีข้อวิพากษ์ว่ากำลังพยายาม “ไฮแจ็ค” หรือขโมยขบวนการความเคลื่อนไหว เพราะการทำแบบที่ว่านี้ก็ไม่แฟร์จริงๆ อย่างที่ว่าไป ฉะนั้นหากสร้างกลุ่มก้อนใหม่ขึ้นมาที่ชัดเจนและขับเคลื่อนขบวนการต่อสู้ไปเรื่อยๆ ในฐานะกลุ่มก้อนหนึ่งในขบวนการต่อสู้ทั้งหมด เป็น “ตัวเลือกหนึ่งของแนวทางประชาธิปไตยที่เป็นไปได้” ร่วมไปกับเส้นทางแบบอื่นๆ ในขบวนการ ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องและดีกว่า
แม้เมื่อมองในระยะสั้น อาจจะไม่เห็นประโยชน์อะไรนักที่ขบวนการเคลื่อนไหวจะได้ประโยชน์ในส่วนนี้ ซ้ำร้ายอาจจะมีผลเสียมากกว่าด้วย เช่น คนหันหนีมากขึ้น หรือมีความสุ่มเสี่ยง (ที่ไม่ควรจะมี) ขึ้นมาได้ เป็นต้น แต่หากมองในระยะยาวขึ้นไปแล้ว ผมกลับเห็นว่ามู้ฟนี้จำเป็นจะต้องมี หรือมีดีกว่าไม่มี เพียงแค่อาจจะต้องปรับวิธีการทำอย่างที่บอกไปแล้วนั่นเอง
ทำไมผมจึงคิดว่าเพื่อยุทธศาสตร์ในระยะยาวแล้ว นี่คือเรื่องที่ควรจะมี หรือจำเป็นต้องมีนั้น เพราะแบบนี้ครับ ประการแรก เราต้องยอมรับกันก่อนว่า ความพยายามที่จะจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสม์แห่งประเทศไทยขึ้น นับตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสม์แห่งประเทศไทยเดิมได้แตกสลายลงไปนั้น “ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น” มีการพยายามหลายครั้งแล้ว แม้แต่ช่วงที่มีการจดทะเบียนพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2019 นั้น ก็มีความพยายามอีกครั้ง แต่ทั้งหมดล้วน “ไม่สำเร็จ” ส่วนสำคัญมากๆ เลยคือ การขาดกระแสการรับรู้ พยายามทำความเข้าใจ และความสนใจของสังคม
พูดอีกแบบก็คือ ช่วงเวลานี้ อาจจะเป็นช่วงเวลา
ทางประวัติศาสตร์ช่วงเดียวของไทยจริงๆ ก็ได้ ในการจะนำเสนอ
และสอดแทรก “จุดยืนแบบคอมมิวนิสม์” ในฐานะตัวเลือกหนึ่ง
ของระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นจริงได้
ที่ผมพูดแบบนี้ ไม่ใช่เพราะผมมองไม่เห็นนะครับว่า หากครั้นสักวันหนึ่งฝั่งประชาธิปไตยได้รับชัยชนะขึ้นมาแล้ว จะค่อยมาเรียกร้องเรื่องนี้ หรือมาตั้งพรรคแบบนี้ขึ้นใหม่ก็ไม่สายหรอก ผมเข้าใจประเด็นนั้นครับ และก็ยอมรับว่าจริงในระดับหนึ่ง แต่พร้อมๆ กันไป ที่กล่าวมานั้นก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียวด้วย
ลองนึกดูแบบจริงๆ จังๆ เถอะครับว่า มีรัฐประชาธิปไตยไหนบ้าง ที่ก่อร่างวางรูปแบบโครงสร้างทางการเมืองของตนเรียบร้อยแล้ว (Established democratic regime) ที่สามารถมองคอมมิวนิสม์ในฐานะ “ตัวเลือกจริงๆ จังๆ” ทางการเมืองได้? คำตอบคือ “ไม่มี” ครับ เพราะเวลาที่เราพูดถึงการวางโครงสร้างระบอบทางการเมืองแล้วนั้น มันคือการวางฐานที่ “คิดเผื่อไว้เฉพาะเส้นทางที่ลงรอยกับประชาธิปไตยทุนนิยมเสรีเดินได้” เท่านั้น ไม่ต้องพูดถึงความทุกย์ยากของเบอร์นี แซนเดอร์สในเวทีการเมืองของสหรัฐอเมริกาในการเสนอข้อเสนอที่ “ซ้ายโดยเปรียบเทียบ” (แต่ห่างไกลสังคมนิยม/คอมมิวนิสม์อยู่อีกมาก) เลยนะครับ แม้แต่ในสังคมที่วางตัวเองเป็น Social Democratic (ประชาธิปไตยสังคมนิยม) หรือเป็นรัฐสวัสดิการอย่างสแกนดิเนเวียเองนั้น ก็คือ การหาจุดลงตัวที่จะทำให้ข้อเสนอแบบ “ฝ่ายซ้ายทำงานในโครงสร้างระบบเศรษฐกิจแบบฝ่ายขวาทางเศรษฐกิจได้” นั่นเอง
ว่าอีกแบบก็คือ ในประเทศเหล่านี้นั้นเองก็ล้วนแต่มีพรรคคอมมิวนิสม์อยู่กันทั้งนั้น (โดยส่วนใหญ่อะนะ) แต่เสียงหรือข้อเสนอในฐานะคอมมิวนิสม์จริงๆ นั้นมันเป็นเสียงที่ “ไม่ถูกได้ยินไป” เพราะทุกคนก็จะรู้สึกว่ามันเป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่จะ “ไปสู่รูปแบบอย่างคอมมิวนิสม์” ที่ว่า เพราะหากจะทำ ก็เท่ากับต้องรื้อระบบโครงสร้างทางการเมืองที่มีมาทิ้งใหม่หมด เพราะมันไม่ได้ถูกวางโครงสร้างให้รองรับการจัดสรรอำนาจและทรัพยากรตามวิถีคอมมิวนิสม์ได้นั่นเอง ไปได้มากสุดตามเงื่อนไขที่สร้างมาเพื่อรองรับระบอบที่อิงอยู่กับฝั่งขวาทางเศรษฐกิจก็ได้แต่เพียง Social Democratic บ้าง Progressive Liberalism บ้าง ซึ่งสลาวอย ชิเช็ก เรียกมันว่า “De-caf communism” นั่นเอง
ด้วยเงื่อนไขของโครงสร้างอย่างที่ว่านี้เอง การจะได้มาซึ่งคอมมิวนิสม์จึงถูกผูกติดกับภาพของความรุนแรง และการใช้กำลัง เพราะจำเป็นต้อง “โค่นล้มระบบแบบเดิมทิ้งลงก่อน” และทำให้แม้แต่กับกลุ่มเสรีชนที่ก้าวหน้าที่สุดส่วนหนึ่ง ก็หันมามองด้วยตรรกะชุดเดียวกับที่ฟรานซิส ฟูกูยามะเคยใช้ในงานของเขาที่ชื่อ The End of History and the Last Man ที่มองว่า “ประชาธิปไตยเสรี” นั้นดีที่สุดแล้ว และโลกจะไม่ขยับไปจากจุดนี้แล้ว แต่ในกรณีนี้อาจจะดีขึ้นหน่อย คือ อาจจะเปลี่ยนจากประชาธิปไตยเสรี (Liberal Democracy) มาเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy) แทนนั่นเอง แต่โดยรวมแล้วกรอบตรรกะเดียวกัน
การผูกคอมมิวนิสม์ไว้กับความรุนแรงต่างๆ นานานั้น ก็พูดได้ว่าไม่ผิดอะไร แต่พร้อมๆ กันไปทุนนิยมเสรีและประชาธิปไตยเสรีนั้นก็ไม่ได้แตกต่างอะไรนัก ผมไม่ได้พูดถึงเฉพาะแต่ความรุนแรงเหลื่อมล้ำที่ทุนนิยมก่อขึ้นเท่านั้นนะครับ ซึ่งฝั่งที่ไม่เห็นดีด้วยกับมู้ฟค้อนเคียวนี้หลายท่านเองก็ตระหนักในประเด็นนี้อยู่ แต่ผมพูดถึงความรุนแรงที่ “ผูกติดมากับการก่อตั้งตัวระบอบการปกครอง” นี่แหละครับ อาจจะด้วยว่าเราอยู่ในกระแสวิธีคิดแบบสันติวิธีต่างๆ เลยทำให้เรามักจะลืมคิดไปว่า แท้จริงๆ แล้ว การได้มาซึ่ง “ประชาธิปไตยเสรี” (Liberal Democracy) นั้น โดยมากแล้วก็ผูกติดกับความรุนแรงมากมายเช่นเดียวกัน ไม่ได้ด้อยอะไรเมื่อเทียบกับฝั่งจีนแดงหรือเขมรแดงเลย อย่าง Independent War ของสหรัฐอเมริกา หรือการปฏิวัติฝรั่งเศสเอง ที่แทบจะกลายเป็นภาพแฟนตาซีของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “การตั้งระบอบการปกครอง” นั้น มันตัดขาดจาก “ความรุนแรง” หรือ? โดยหลักแล้วก็ไม่
และหากให้เห็นภาพรวมมากไปกว่านั้น ในแทบทุกระลอกคลื่นของการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยเสรี (Waves of Democratization) ในโลกนั้น ก็มักจะเกิดขึ้นหลังจากเงื่อนไขของ “ความรุนแรงใหญ่” ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะสงครามโลก หรือสงครามเย็น ผมร่ายยาวมาทั้งหมด ไม่ได้เพื่อจะบอกให้เราจะต้องใช้วิธีรุนแรงในการต่อสู้นะครับ แค่จะบอกว่า อย่าได้ “มองเฉพาะ” (single out) คอมมิวนิสม์ว่า “เพื่อจะตั้งระบอบโครงสร้างการปกครองที่เป็นไปได้ของตนจะต้องใช้ความรุนแรง” เลย เพราะลักษณะดังกล่าวนี้กับประชาธิปไตยเสรีเองนั้นก็เป็นเช่นกัน หรือพูดอีกแบบก็คือ หากจะอ้างด้วยเงื่อนไขนี้จริงๆ ก็อาจจะต้องยุติการให้เกียรติ ยกย่องย่อง (Glorified) ทุกๆ คลื่นของการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยเสรีไปด้วยนั่นเอง
เพราะฉะนั้นแล้วผมจึงบอกว่าหากมองในระยะยาวแล้ว นี่คือช่วงเวลาที่สำคัญและจำเป็นในการจะออกแบบโครงสร้างที่จะสามารถเอื้อให้ทุกเส้นทางหลักของประชาธิปไตย ไม่ว่าจะประชาธิปไตยเสรีนิยมใหม่ เสรีนิยมก้าวหน้า สังคมนิยมประชาธิปไตย หรือกระทั่งคอมมิวนิสม์สามารถมีที่ยืนในโครงสร้างการเมืองชุดเดียวกันได้ แน่นอนว่า “ภาระหน้าที่ในการหาทางออกแบบและนำเสนอความเป็นไปได้นี้ อยู่ที่ฝั่งผู้ขับเคลื่อนมู้ฟค้อนเคียวนั้นเอง รวมทั้งผู้ที่สนับสนุนด้วย” ที่ควรจะออกมาระดมความคิด (หลังจากแยกก้อนออกจากกลุ่มประชาชนปลดแอกให้ชัดเจนแล้ว) ว่าสามารถจะ “ทำแบบไหนได้บ้าง” ที่จะไปได้ไกลกว่า Social Democracy แต่ยังสามารถรองรับความเป็นไปได้ทางการเมืองแบบอื่นๆ ได้ด้วยอยู่ พวกท่านต้องนำเสนอส่วนนี้ เพราะเป็นภาระของผู้ชี้ชวนให้เดินเส้นทางนี้ต้องทำ ไม่ใช่หน้าที่ของคนอื่น ถ้าหากท่านทำให้ผู้อื่นเห็นได้ว่า “มันเป็นไปได้” มันมีทาง มันเม้กเซ้นส์ ก็จบครับ
แต่แทนที่จะลองนำเสนอการออกแบบโครงสร้างการเมืองที่ว่านี้ หลักๆ แล้วผมเห็นต่างฝ่ายต่างดีดดิ้นจะเป็นจะตายกันทั้งสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งก็ราวกับนั่งทรงฟูกุยามะมาจุติ อีกฝั่งก็ทำตัวราวสาวคอมฯ แรกแย้มที่ไม่เคยพบเคยเห็นคนด่าคอมมิวนิสม์ในลักษณะหรือท่าทีแบบนี้มาก่อน ทั้งๆ ที่เค้าด่าแบบนี้มาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว (ทำเป็นไม่คุ้นเคยไปได้) และหากคิดจะทำจริงๆ ผมขออนุญาตเสนอเพิ่มแบบ “ลอยตัวๆ” อีกครั้งหนึ่งด้วยว่า การทำเรื่องนี้ต้องทำแบบรัดกุมพอสมควร เพราะแม้กระแสความนิยมแนวคิด “ฝ่ายซ้าย” ในสากลโลกจะมีมากขึ้นจากช่วงสงครามเย็นสิ้นสุดใหม่ๆ จริง แต่พร้อมๆ กันไป กระแสการเมืองแบบฝ่ายขวาสุดขั้ว (Far-right movement) เองก็มาแรงไม่ด้อยเช่นเดียวกัน หรืออาจจะมากกว่าได้
ที่ตกไปนั้นเห็นจะเป็นฝั่ง Extreme centric หรือกลุ่มตรงกลางของเส้นขวาซ้ายทางการเมืองต่างหาก ในโลกของการเมืองที่ Polarized หรือแบ่งขั้วมากๆ นั้น สิ่งที่หายไปจึงมักคือความเคยชินตรงกลาง แต่นั่นแหละครับ สิ่งที่เพิ่มมากขึ้นไม่ได้มีแต่ฝั่งขั้วที่เราเองยืนอยู่ ฝั่งตรงข้ามก็ขยายตัวด้วยเช่นกัน … ขอให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะแต่เพียงเท่านี้ครับ