1
นานมาแล้ว ผู้หญิงคนหนึ่งก่อให้เกิดเสียงหัวเราะฮือฮาขนานหนัก เมื่อเธอ ‘โพล่ง’ ประโยคลือลั่นอมตะขึ้นมากลางวงสนทนาระหว่างประเทศ, ว่า
“ไม่มีเซ็กซ์ในสหภาพโซเวียต!”
ฟังแล้วหลายคนอาจงงๆ ว่าอ้าว! ถ้าไม่มีเซ็กซ์แล้ว คนในสหภาพโซเวียตจะมีลูกมีหลานกันได้ยังไง ป่านนี้ไม่สูญประเทศสิ้นประชากรกันไปหมดแล้วหรอกหรือ
เรื่องทั้งหมดเป็นยังไงกันแน่ ทำไมผู้หญิงคนนี้ถึงได้พูดออกมาได้ – ว่าประเทศของตัวเองไม่มีเซ็กซ์
มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?
มันเป็นอย่างนั้นได้ด้วยหรือ?
ทำไมเธอถึงพูดอย่างนั้น?
ก่อนจะตอบคำถามเหล่านี้ ไปดูกันก่อนดีไหมครับว่าสภาพบ้านเมืองของสหภาพโซเวียตในยุคนั้นเป็นอย่างไร และสภาพบ้านเมือง ความเป็นเผด็จการ และสำนึกที่จะดิ้นรนหนีห่างจากเผด็จการ ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งถึงขั้นพูดออกมาว่า – ประเทศของฉันไม่มีเซ็กซ์, ได้อย่างไรกัน
2
วันนั้นคือวันที่ 17 กรกฎาคม ปี 1986 อีกไม่กี่วันก็ครบสามสิบเอ็ดปีพอดี
ในตอนนั้น รัสเซียกำลังดำเนินนโยบายที่เรียกว่า เปเรสทรอยก้า (Perestroika) ซึ่งตลกดีไม่หยอกนะครับ เพราะถ้าจะพูดไป เปเรสทรอยก้าก็คือการ ‘ปฏิรูปโดยเผด็จการ’ เราดีๆ นี่แหละ (นี่ไม่ได้พยายามบอกใบ้เป็นนัย – ว่ามันเหมือนกับเหตุการณ์ในประเทศไหนหรอกนะครับ!)
หลายคนอาจคิดว่า สหภาพโซเวียตเป็นคอมมิวนิสม์ แปลว่าต้องมีการปกครองแบบคอมมิวนิสม์ บีบบังคับผู้คน โหดร้ายเบ็ดเสร็จเป็นเนื้อนาเดียวกันมาตั้งแต่ต้นจนจบ ตามที่เราถูกปลูกฝังเรื่อง ‘ผีคอมมิวนิสม์’ กันมาโดยรัฐไทยที่ตกอยู่ใต้อาณานิคมอำพรางอย่างสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็น แต่ที่จริงแล้ว ต้องบอกว่าสหภาพโซเวียตมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของการปกครองในประเทศมาหลายยุคหลายสมัยเหมือนกับทุกหนแห่งในโลกนั่นแหละนะครับ คือมันไม่ได้มีสภาพ ‘สถิตย์นิ่ง’ (Static) อยู่บนหิ้ง แต่ทุกอย่างที่เกิดในประเทศหรือสังคมหนึ่งๆ ย่อมมีพลวัตหรือความเปลี่ยนแปลงโน่นนั่นนี่ของมันอยู่เสมอ
และความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบางอย่างก็ ‘ซ้อน’ อยู่ใต้ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ อย่างที่คนนอกอาจไม่เห็นหรือไม่รับรู้ด้วยซ้ำ คือถ้าเมืองไทยเรามี ‘ระบอบทักษิณ’ หรือ ‘ระบอบคนดี’ ได้ สหภาพโซเวียตก็มีระบอบย่อยๆ แบบนี้อยู่หลายระบอบเหมือนกัน อาทิ ระบอบสตาลิน (อันนี้ไม่ค่อยจะเล็กเท่าไหร่), ระบอบครุสเชฟ หรือระบอบกอร์บาชอฟ
ถ้าเราดูรัสเซียกันแบบคร่าวๆ มากๆ เราจะพบว่าหลังการปฏิวัติรัสเซีย เกิดการรวมตัวเป็นสาธารณรัฐก่อน แล้วถึงกลายมาเป็นสหภาพโซเวียต จากยุคของเลนิน (จะเรียกว่า ‘ระบอบเลนิน’ ก็คงได้) ผ่านมาถึงยุคแห่งการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างยุคของสตาลิน (อันนี้เรียกได้เต็มปากว่าเป็น ‘ระบอบสตาลิน’) ซึ่งต้องบอกว่า ในบรรดายุคต่างๆ ของสหภาพโซเวียตนั้น ยุคที่โดดเด่นโด่งดังและ ‘น่ากลัว’ ที่สุด น่าจะหนีไม่พ้นยุคของสตาลินนี่แหละครับ (บางคนก็เรียกว่า Stalinism แต่บางคนก็เรียกว่า Stalinization) ซึ่งเป็นการปกครองที่สุดของเผด็จการแล้ว สตาลินใช้ความรุนแรงต่อคนในรัฐจัดการกับพวกที่เรียกว่าเป็นชนชั้นกระฎุมพี และควบคุมเศรษฐกิจของประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยพยายามทำให้ประเทศเป็นอุตสาหกรรม (Industrialization) แบบเต็มสตีม (แต่ประชาชนไม่ได้มีกรรมสิทธิ์นะครับ ทุกอย่างเป็นของรัฐหมด) ด้วยความเชื่อว่า การกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม จะทำให้ลัทธิคอมมิวนิสม์เฟื่องฟู เพราะเป็นการสนับสนุนชนชั้นแรงงาน
แต่ยิ่งเผด็จการมี ‘ความเผด็จฯ’ (จะเผด็จเกิร์ล, เผด็จกาล หรือเผด็จกาฬ – ก็ได้ทั้งนั้น) รุนแรงมากแค่ไหน พอ ‘สิ้น’ เผด็จการนั้นไป ก็เหมือนหมดสิ่งที่คอยกดทับสังคมเอาไว้ ทำให้ร่องรอยความวิบัติต่างๆ ที่เคยถูกซุกไว้ใต้พรมเพราะฝีมือเผด็จการ – ผุดโผล่ขึ้นมา
สหภาพโซเวียตยุคสตาลินก็เช่นเดียวกัน
หลังสตาลินเสียชีวิตในปี 1953 สหภาพโซเวียตเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ มันคือยุคของของนิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) (เขาเป็นประธานาธิบดีที่ผมน้อย และมีปานบนศีรษะ จำได้ว่า ฝั่งอเมริกาเล่นสงครามจิตวิทยา โดยบอกว่าปานของครุสชอฟคือ ‘สัญลักษณ์ซาตาน’) ผู้เริ่มทำสิ่งที่เรียกว่า ‘การปฏิรูป’ ประเทศ ด้วยขบวนการ De-Stalinization หรือการล้มล้างสถาบันสำคัญๆ ที่ยึดโยงอำนาจของสตาลินเอาไว้
การปฏิรูปของครุสชอฟดูเหมือนได้ผลในช่วงแรกๆ แต่เขาอาจจะ ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ ในการปฏิรูปเนิ่นนานไปหน่อย ลงท้ายก็เลยไม่ค่อยได้ผล คนไม่นิยม แถมเขายังต้องอับอายเพราะ (ดูเหมือน) พ่ายแพ้สหรัฐอเมริกาในวิกฤตนิวเคลียร์ในการเจรจาที่ตุรกีอีกต่างหาก ผลก็คือ เขาต้องลงจากอำนาจในปี 1964 หลังจากนั้น สหภาพรัสเซียก็เข้าสู่ยุคชะงักงันทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และทางการเมือง (เรียกว่ายุค Stagnation ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน) มาฟื้นตัวกันอีกทีก็ในยุคของ มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ซึ่งมีนโยบาย ‘ปฏิรูป’ อย่างหนักหน่วง โดยหลังเกิดภาวะชะงักงันในหลายด้าน กอร์บาชอฟก็เร่ิมนโยบาย ‘ปฏิรูป’ ทางการเมืองที่เรียกว่า ‘กลาสนอสต์’ (Glasnost – แปลว่า openness) คือการ ‘เปิดประเทศ’ โดยมีเปเรสทรอยก้าเป็นขบวนการสำคัญส่วนหนึ่งของนโยบายนี้
และเป็นเปเรสทรอยก้านี่เอง – ที่เกี่ยวพันกับเรื่อง ‘เซ็กซ์’ ที่เราว่ากันมาตั้งแต่ต้น
3
พูดสั้นๆ เปเรสทรอยก้า คือ ‘การปฏิรูป’ ภายในพรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษแปดศูนย์จนถึงปี 1991 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลง เดิมทีเดียว พรรคคอมมิวนิสต์จะทำหน้าที่ ‘ควบคุม’ โน่นนั่นนี่แบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่นโยบายเปเรสทรอยก้าของมิคาอิล กอร์บาชอฟ เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (เช่นรัฐมนตรี) สามารถมีอิสระในการตัดสินใจได้มากขึ้น แถมยังมีการนำระบบเศรษฐกิจใหม่มาใช้ที่มีลักษณะเป็น ‘ระบบตลาด’ มากขึ้นกว่าเดิมด้วย
ฟังดูเผินๆ เหมือนเปเรสทรอยก้าเกิดขึ้นเพื่อทำลายระบบเศรษฐกิจแบบเดิมที่เรียกว่า Command Economy หรือระบบเศรษฐกิจแบบ ‘ทำตามคำสั่ง’ ซึ่งการลงทุนต่างๆ ทั้งหลายจะถูกควบคุมอย่างใกล้ชิด ทุกอย่างเป็นระบบ ‘รวมศูนย์’ (Centralized) หมด เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต และกับกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออกที่อยู่ใต้อาณัติของสหภาพโซเวียต แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นหรอกนะครับ เพราะแม้มิคาอิล กอร์บาชอฟ จะนำเปเรสทรอยก้ามาใช้ ทว่าเป้าหมายของเขาก็คือการทำให้ระบบสังคมนิยมมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะได้มีผลิตภาพสูงขึ้นมากพอจะตอบสนองความต้องการของประชาชนชาวโซเวียต
รายละเอียดของเปเรสทรอยก้ามีเยอะแยะไปหมด แต่เรื่องหนึ่งที่อยากพูดถึง และเกี่ยวพันกับเรื่องเซ็กซ์ของเรา ก็คือเรื่องขบวนการผู้หญิงในรัสเซีย
หลายคนอาจคิดว่า พอเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว สหภาพโซเวียตต้องกดเหยียดผู้หญิงแน่ๆ แต่จริงๆ แล้วไม่เป็นอย่างนั้นนะครับ เพราะผู้หญิงในสหภาพโซเวียตส่วนใหญ่มีความรู้และมีสถานะที่เท่าเทียมกับผู้ชาย มีกฎหมายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศออกมาตั้งแต่ปี 1918 โน่นแล้ว ผู้หญิงสามารถออกมาทำงานทำการในพื้นที่นอกบ้านได้ ยิ่งเมื่อเกิดเปเรสทรอยก้าขึ้นมา พวกเธอก็ยิ่งมีอิสระในด้านการเมืองด้วย คือสามารถลุกขึ้นทำโน่นนี่ได้ ยุคนั้นเกิดองค์กรสำหรับผู้หญิงขึ้นมากกว่า 300 องค์กรทั่วรัสเซีย มีการสนับสนุนให้ผู้หญิงทำธุรกิจ ฝึกอบรม และแม้กระทั่งเป็นล็อบบี้ยิสต์ในทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม การ ‘เปิดประเทศ’ ของสหภาพโซเวียตที่ว่านี้ ไม่ได้เปิดออกไปเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีล้วนๆ นะครับ โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา แต่เป็นการเปิดประเทศเพื่อเปรียบเทียบและออกแนวสำแดงความ ‘เหนือกว่า’ ของประเทศตัวเองมากกว่า โดยปีที่พูดได้ว่า ขบวนการผู้หญิงและเปเรสทรอยก้าทำงานอย่างแข็งขันที่สุด น่าจะเป็นปี 1986
ในวันที่ 17 กรกฎาคม 1986 เกิดเหตุการณ์สำคัญหนึ่งขึ้น เมื่อสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตจัดงาน ‘ทอล์คโชว์’ แบบข้ามประเทศ โดยให้ผู้หญิงในสองประเทศ คืออเมริกันกับรัสเซีย มาพูดคุยกันผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ โดยคนรัสเซียอยู่ในเลนินกราด ส่วนคนอเมริกันอยู่ในบอสตัน แล้วใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Telemost เพื่อเชื่อมกัน
ตอนหนึ่ง ผู้หญิงอเมริกันเอ่ยปากถามผู้หญิงรัสเซียว่า – ในอเมริกา ปัญหาเรื่องเซ็กซ์ที่ปรากฏในสื่ออย่างโทรทัศน์นี่รุนแรงมากเลยนะ มีเยาวชนเลียนแบบมากมาย ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ในรัสเซียมีปัญหาแบบเดียวกันหรือเปล่า
นั่นทำให้ผู้หญิงรัสเซียคนหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า ลุดมิลา อิวาโนวา (Lyudmila Ivanova) ลุกขึ้นมาตอบด้วยการ ‘โพล่ง’ ออกมาว่า “There is no sex in the Soviet Union.” หรือ “ในสหภาพโซเวียต เราไม่มีเซ็กซ์”
คำตอบนี้ทำให้เกิดเสียงหัวเราะดังลั่นห้องส่งทั้งที่เลนินกราดและที่บอสตัน นั่นทำให้ลุดมิลากลายเป็นคนดังข้ามคืน ประวัติศาสตร์ต้องจารึกเอาไว้ว่า เธอเป็นผู้ ‘ประกาศ’ ว่า ประเทศของเธอปลอดเซ็กซ์!
คุณอาจจะสงสัยว่า ลุดมิลาบ้าหรือเมาหรือเปล่า อยู่ๆ ไปประกาศแบบนั้นได้อย่างไร
ก็ต้องบอกว่าเธอพูดแบบนั้นจริงนะครับ แต่ข้อความเต็มๆ ของเธอก็คือ There is no sex in the Soviet Union…on television! ต่างหากเล่า ทว่าเสียงหัวเราะดังลั่นห้องส่งทำให้คำว่า on television ถูกกลบไปหมด สุดท้ายเมื่อปรากฏเป็นข่าว คนทั้งโลกจึงจดจำว่าลุดมิลาพูดโพล่งออกมาแบบนี้
แน่นอน ถ้าเป็นสมัยนี้ เราอาจรู้สึกอายแทนลุดมิลาว่าเธอพูดแบบนี้ได้ยังไง เพราะใครๆ ก็มีเซ็กซ์กันทั้งนั้น แต่ย้อนกลับไปในยุคแปดศูนย์ที่รัสเซีย คำพูดนั้นของลุดมิลาทำให้เพื่อนร่วมชาติของเธอรู้สึกอับอายในอีกมิติหนึ่ง
ในตอนนั้น แม้ขบวนการผู้หญิงจะ ‘มาแรง’ ตามนโยบายเปเรสทรอยก้า แต่ความมาแรงที่ว่าคือการมาแรงอย่างเป็นทางการ มันไม่ได้นับรวมไปถึงไลฟ์สไตล์หรือวิถีปฏิบัติทางเพศใดๆ ด้วย ยุคน้ัน ผู้หญิงรัสเซียไม่ใส่กระโปรงสั้น ไม่แต่งหน้าจัด ไม่เผยร่องอก ไม่มีชุดชั้นในเซ็กซี่ขาย และแม้กระทั่งการพูดคำว่า ‘เซ็กซ์’ (หรือคำอื่นๆ เช่น ถุงยางอนามัย) ในที่สาธารณะ ก็ยังเป็นของต้องห้าม
ด้วยเหตุนี้ เมื่อจบรายการ ลุดมิลาก็เลยถูกลงทัณฑ์หลายสถาน เธอต้องเสียงานที่ทำอยู่ ถูกตำหนิจากพรรคคอมมิวนิสต์ จากนายจ้างของเธอ และจากสังคมโดยรวม ทุกคนบอกว่า – ผู้หญิงที่ทำงานหนักและได้รับความเคารพนับถือจากสังคมทั่วไป โพล่งคำที่ ‘น่าอาย’ อย่างคำว่าเซ็กซ์ออกมาได้อย่างไร เธอคิดอะไรอยู่ เธอ ‘ตกหลุมพราง’ ของผู้หญิงอเมริกันที่ยั่วให้เธอพูดคำว่าเซ็กซ์ออกมา ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อผู้หญิงรัสเซียเป็นอันมาก
เราจะเห็นได้เลยว่า สังคมหนึ่งๆ มันไม่ได้เคลื่อนที่ไปเป็นเส้นตรงในทุกมิติ แม้มีความพยายามในการ ‘เปิด’ และ ‘ปฏิรูป’ ประเทศด้วยนโยบายเปเรสทรอยก้า แต่การเปิดนั้นก็ไม่ได้เปิดหมดทุกมิติ เรื่องเพศยังถูกเก็บงำลี้ลับ และทำให้ลุดมิลาต้องได้รับผลตามมา
ที่จริง ในปี 1986 ยังมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับผู้หญิงรัสเซียเกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่งด้วย นั่นคือการปล่อยตัวกวีหญิงอย่าง อิรินา ราทูชินสกายา (Irina Ratushinskaya) ซึ่งเป็นกวีที่ต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์อย่างออกหน้าออกตา ในปี 1983 เธอถูกรัฐบาลเผด็จการตัดสินว่าผิดในข้อหาก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย ทำลายความมั่นคงของรัฐบาลโซเวียต จึงต้องติดคุกนานเจ็ดปี
แต่แล้วในเดือนตุลาคม 1986 จู่ๆ รัฐบาลโซเวียตก็ปล่อยตัวเธอออกมา เธอยังไม่เชื่อตัวเองเลยว่าได้รับการปล่อยตัว เธอคิดว่าเป็นปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อลงโทษเธอ เพราะก่อนหน้านี้มีนักโทษถูกปฏิบัติแบบนี้มาหลายคนแล้ว คือพาตัวกลับบ้าน ทำให้ลิงโลดใจนึกว่ารอดแล้ว แต่แล้วก็จับกลับมาติดคุกใหม่ คือให้ลิ้มรสอิสรภาพชั่วคราว ซึ่งจะสร้างความเจ็บปวดในการถูกกักขังให้มากยิ่งขึ้น
ในกรณีของอิรินานั้น เธอถูกนำตัวไปที่บ้าน ปล่อยเธอไว้ในบ้านโดยไม่ได้มีการแจ้งสามีของเธอก่อน สามีของเธอกลับบ้านมาก็ต้องตกใจ (และดีใจ) ที่ได้พบเธอโดยไม่คาดฝัน ส่วนหนึ่งที่อิรินาถูกปล่อยตัวก็เพราะนโยบายเปเรสทรอยก้า สหภาพโซเวียตเปิดประเทศ กอร์บาชอฟต้องไปประชุมร่วมกับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน การปล่อยตัวกวีหญิงจึงเป็นคล้ายๆ สัญลักษณ์อย่างหนึ่งว่าสหภาพโซเวียตจะผ่อนคลายต่อนักโทษการเมือง
และเป็นนักโทษการเมืองที่เป็นผู้หญิงด้วย
4
ผมเล่าเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้ฟัง เพราะอยากให้เห็นว่า ความเป็นเผด็จการนั้นประหลาดดีนะครับ มันสามารถ ‘บิด’ จิตของเราไปได้ต่างๆ นานา กระทั่งก่อให้เกิดสภาพสังคมแบบต่างๆ ที่ประหลาดๆ ขึ้นมา
คนยุคเราๆ ที่ไม่เคยได้พบเจอกับเผด็จการเบ็ดเสร็จจริงๆ อย่างที่คนในศตวรรษที่แล้วต้องพบเจอ น่าจะไม่รู้อย่างถ่องแท้หรอกว่าภาวะที่ถูกเผด็จการกดหัว เอาดาบปลายปืนจี้หลัง หรือระเบิดกระสุนใส่หัวคนที่เรารักต่อหน้าต่อตา – มันเป็นอย่างไร
เผด็จการอย่างสหภาพโซเวียตพยายามปฏิรูป แต่เป็นการปฏิรูปที่อยู่ใต้สำนึกเผด็จการ เผด็จการคิดแต่จะปฏิรูปคนอื่น ไม่เคยคิดจะปฏิรูปตัวเอง ผลลัพธ์หลังจากนั้นจึงคือการล่มสลายของมหาอำนาจที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
แต่ที่ตลกมากก็คือ หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายลงไปแล้ว ลุดมิลาก็ผงาดขึ้นมา เธอคิดมาตลอดว่า – เอ๊ะ! ฉันผิดอะไร นี่ฉันอุตส่าห์ปกป้องประเทศให้นะ เธอให้สัมภาษณ์ในตอนหลังว่า ต่อให้เธอพูดแค่ว่า สหภาพโซเวียตไม่มีเซ็กซ์เฉยๆ (ไม่มีคำว่า – ในโทรทัศน์) เธอก็ยังคิดว่ามันเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะไม่มีใครในสหภาพโซเวียตตอนนั้นพูดถึงเซ็กซ์กันเลย แล้วโซเวียตจะมีเซ็กซ์ไปได้อย่างไรกัน
หลังเกิดเหตุการณ์นั้น เธอไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้อีกเลยนานถึงสิบปี มันเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เธอเครียดมาก แต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย ลุดมิลาก็ได้ที เธอเปิด ‘คลับสำหรับผู้หญิง’ ขึ้นมา แล้วใช้ม็อตโต้ประจำตัวอย่าง No Sex in the USSR มาโปรโมทธุรกิจของตัวเอง มันกลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
มันคือการล้อเลียน มันคือการเย้ยหยันเผด็จการ!
ลุดมิลาให้สัมภาษณ์ว่า – ตอนนี้เธอเป็นนักธุรกิจแล้ว นี่คือการสร้างอิมเมจของเธอ เธอแต่งงานถึงห้าครั้งกับสามีห้าคน แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ – เธอไม่ต้อง ‘กลัว’ อีกต่อไป