จำได้ไหมว่า ครั้งสุดท้ายที่คุณ ‘กลั้นหายใจ’ ตอนเล่นเกมคือเมื่อไหร่?
ไม่ใช่กลั้นหายใจด้วยความกลัวแบบในเกมสยองขวัญสั่นประสาท แต่กลั้นหายใจด้วยความอัศจรรย์ต่อความยิ่งใหญ่ สวยงาม หรือน่าพิศวงของสิ่งที่ปรากฏบนจอ
ผู้เขียนรู้สึกแบบนี้ครั้งแรกที่เกาะครีบปลาวาฬสีน้ำเงิน รู้สึกถึงความสง่างามราวกับเหินเวหาอยู่ใต้น้ำ แล้วจู่ๆ ปลาวาฬพร้อมผองเพื่อนก็กระโจนพ้นน้ำ มองเห็นดาวบนฟ้าส่องประกายระยิบระยับตัดกับสีน้ำเงินยวงของพรายน้ำ แตกกระจายจากการพลิกตัวของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ครั้งแรกที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวผลักออกมาจากถ้ำ เพียงเพื่อมาประจันหน้ากับเมืองบาดาลใหญ่โตมโหฬาร ละลานตาด้วยซากปรักหักพังที่ยังงดงามด้วยสาหร่ายหลากสีเลื้อยไล้ซอกซอนหินสีเทา ล้อลำแสงอาทิตย์แทรกผ่านหินสีประดามี
ครั้งแรกที่เกาะปลาหมึกยักษ์ใต้ทะเลลึก หนวดระโยงระยางพัวพันน่าประหวั่นพรั่นพรึงว่าจะกระหวัดรัดร่าง แต่แววตาอันอ่อนโยนของปลาหมึกทำให้คลายกังวล
และครั้งแรกที่ทะยานตัวขึ้นเหนือน้ำพร้อมกับปลาฉลามที่ฟื้นคืนชีพมาเป็นเพื่อนคู่ใจ ฝูงปลาหลากสีอีกนับร้อยกระโจนเป็นเพื่อนอย่างพร้อมเพรียง
จังหวะกลั้นหายใจโดยไม่รู้ตัวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเกมเดียวกัน
ABZÛ โดยทีมนักออกแบบเบื้องหลัง Journey กับ Flower สองเกมที่ขยับขยายขอบฟ้าของเกมในฐานะ ‘ศิลปะ’ แต่คราวนี้เพิ่มเติม ‘สาร’ ที่ไม่ได้สื่อตรงๆ ด้วยข้อมูล แต่ส่งผ่านการสร้าง ‘ความรู้สึก’ ให้สำนึกในความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ
เกมนี้ไม่มีการเกริ่นนำหรือเสียงเล่าเรื่องใดๆ ตลอดทั้งเกม เรา (ซึ่งมีแขนขาแต่รู้ว่าไม่ใช่มนุษย์แน่ๆ เพราะดำน้ำลึกได้โดยไม่ต้องใช้ถังออกซิเจน) เพียงแต่ดำน้ำลงไปให้ลึกและกว้างที่สุดที่ทำได้ สำรวจฉากแต่ละฉากและหาทางออกไปยังฉากต่อไป ถ้าคิดแต่จะไปให้ถึงฉากจบให้เร็วที่สุด ทั้งเกมก็ใช้เวลาเล่นเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้นเอง
แต่ใครจะไม่อยากเตร็ดเตร่เถลไถลดำผุดดำว่ายจนลืมเวลา ในเมื่อกราฟิกแสนสวยงาม ดนตรีประกอบสุดไพเราะ และอากัปกิริยาอันน่าอัศจรรย์ของบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายจะดึงดูดให้เราฝังตัวอยู่ในโลกใต้น้ำของ ABZÛ ซึ่งเกมก็เชื้อเชิญให้เราใช้เวลาสำรวจโลกนี้นานเท่าที่ใจอยาก ตั้งแต่การไม่ตั้งกำหนดเวลา (ใช่ว่าถ้าไม่หาทางออกภายใน 30 นาที โลกใต้น้ำจะพังพินาศ) หรือการวาง ‘หอยสังข์’ (เป็นโบนัสให้เก็บ achievement) และ ‘จุดปล่อยปลา’ (เป็นโบนัสและปล่อยปลาพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาสู่ระบบนิเวศ) หลายจุดอย่างลึกลับซับซ้อน ถ้าจะเก็บให้ครบต้องเล่นมากกว่าหนึ่งรอบอย่างแน่นอน
ฟีเจอร์ที่ดูดเวลาที่สุดคือ ทุกฉากมี ‘หินสมาธิ’ ให้เราตีลังกาใต้น้ำขึ้นไปนั่งทำสมาธิ ถอดวิญญาณชั่วคราวออกไปเฝ้าดูพฤติกรรมของสัตว์น้ำทั้งหลายทีละตัว กดปุ่มซ้ายขวาหน้าหลังเพื่อเปลี่ยนมุมกล้องไปส่องสัตว์ตัวใหม่ ฟีเจอร์นี้นอกจากจะเพลินมากแล้ว ยังทำให้ทึ่งว่าทีมออกแบบสามารถโมเดลรูปร่างหน้าตาและพฤติกรรมของสัตว์ในโลกจริงได้หลายร้อยชนิด แต่ละชนิดโมเดลอย่างละเอียดเที่ยงตรงชนิดที่นักชีววิทยายอมรับ เราจะได้เห็นปลาใหญ่ว่ายงับปลาเล็กกว่าเพื่อยังชีพ เต่าทะเลพุ้ยน้ำเอื่อยๆ อย่างไม่อินังขังขอบ โดดไปตามปลาฉลามเจ้าถิ่น ปลาโลมาขี้เล่น ปลากระเบนหน้างอ ฯลฯ
ในฉากหลังๆ เราจะดำดิ่งลงทะเลลึกที่มืดเกือบมิดเพราะแสงแดดส่องลงมาไม่ถึง ไปพบกับสัตว์หน้าตาประหลาดมากมายที่มนุษย์ไม่เคยพบพานต่อหน้าเพราะว่าไม่มีใครดำลงไปลึกขนาดนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็น ‘ปลางู’ Viper Fish เขี้ยวแหลม ‘ปลานักตกปลา’ Angler Fish ซึ่งได้ชื่อนี้เพราะมีอวัยวะผลิตแสงเรียกว่า โฟโตฟอร์ (photophore) เรืองสว่างห้อยอยู่ปลายจมูกเพื่อหลอกล่อเหยื่อ ปลาหมึกยักษ์ และสัตว์ทะเลลึกอีกมากมายที่พรายแสงดุจดังโดมไฟในทะเล
อีกฟีเจอร์ที่ผู้เขียนชอบมากคือ เราสามารถ ‘เกาะ’ สัตว์น้ำทุกตัวที่ตัวใหญ่พอๆ กับเราได้ แต่จะบังคับให้มันว่ายดั่งใจไม่ได้ทั้งหมด ถ้าตัวเล็กก็พอไหว แต่ถ้าเกาะสัตว์ตัวใหญ่ยักษ์อย่างปลาวาฬสีน้ำเงิน ก็ต้องตามใจพระเดชพระคุณ ไม่สลัดเราออกก็เดชะบุญแล้ว
ทีมนักออกแบบ ABZÛ เลือกจำลองสัตว์จริงให้สมจริงมากที่สุด แต่วาดโลกใต้น้ำแฟนตาซีที่สวยงามกว่าโลกจริง เพื่อสร้างอารมณ์ร่วมให้กับคนเล่นและกระตุกต่อมอนุรักษ์ ซึ่งจะออกฤทธิ์แรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราเล่นไปถึงฉากหลังๆ ที่จะได้เห็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด อย่างเช่นปลานกขุนทองหัวโหนก (Humphead Wrasse) หรือปลากระเบนยี่สน (Eagle Ray) และเมื่อมาถึงฉากเมืองบาดาล เราก็จะได้พบกับสัตว์น้ำจำนวนมากที่สูญพันธุ์ไปแล้วจากอดีตกาลอันนานโพ้น กลับมามีชีวิตโลดแล่นอยู่ตรงหน้า ตั้งแต่แอมโมไนต์ (Ammonite) บรรพบุรุษของหอย, เฮลิคอเปรียน (Helicoprion) ฉลามปากบวม หรือแม้แต่ อีลาสโมซอรัส (Elasmosaurus) ไดโนเสาร์คอยาวในน้ำ ทำให้นึกถึงตำนาน ‘สัตว์ประหลาดล็อคเนส’ ในสกอตแลนด์ ทะเลสาบซึ่งยังคงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ถึงแม้จะมีข้อพิสูจน์แล้วก็ตามว่าไม่มีอยู่จริง
การได้ว่ายน้ำเคียงคู่และเฝ้าดูสัตว์เหล่านี้ท่ามกลางซากของเมืองโบราณส่ง ‘สาร’ ที่ชัดเจนว่า โลกธรรมชาติแสนจะน่ามหัศจรรย์ แต่ถูกมนุษยชาติทำลายไปมิรู้เท่าไรแล้ว มีงานวิจัยประเมินว่า สัตว์และพืชสูญพันธุ์มากกว่า ‘อัตราการสูญพันธุ์ตามธรรมชาติ’ กว่า 1,000 ถึง 10,000 เท่า และสัตว์น้ำก็มีอัตราการสูญพันธุ์สูงกว่าสัตว์บกมาก อัตราสูญพันธุ์ทุกวันนี้สูงจนนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เสนอว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคแห่ง ‘การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่’ ครั้งที่หก ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นโดยน้ำมือสัตว์สายพันธุ์เดียว ชื่อ ‘มนุษย์’
ยิ่งเล่น ‘สาร’ ของเกมจะยิ่งชัด เราจะเผชิญหน้ากับระเบิดในน้ำ (ไม่ทำให้ถึงตาย เพียงแต่เซซัดเสียหลักไปเล็กน้อย) และสิ่งประดิษฐ์อันตรายอื่นๆ ส่อเค้าความขัดแย้งระหว่างธรรมชาติกับเทคโนโลยี แต่ทีมออกแบบก็ระวังเหมือนกันที่จะไม่ให้พล็อตนี้ออกมาง่ายและเหมารวมเกินไป ปลาฉลามที่ว่ายมางับเพื่อนหุ่นยนต์ช่วงกลางเกมดูเผินๆ จะประสงค์ร้าย แต่สุดท้ายมันก็กลับกลายมาเป็นเพื่อนคู่ใจ ส่วนเทคโนโลยีซึ่งคุกคามสิ่งมีชีวิตก็ใช้เป็นประโยชน์ได้เช่นกัน อย่างเช่นหุ่นยนต์กล้องที่ช่วยเปิดทางให้กับเรา
ราวกับเกมจะบอกเราว่า เทคโนโลยีไม่ได้ ‘ดี’ หรือ ‘แย่’ ในตัวมันเอง อยู่ที่ ‘วิธีใช้’ ว่าเราจะใช้มันไปในทางใด
มีพลังทำลายล้างมหาศาล แต่ก็ช่วยฟื้นฟูเยียวยาได้เช่นกัน