เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศเรามีการผ่าน กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA (Personal Data Protection Act) ที่ทำให้เกิดการถกเถียงกันในโลกออนไลน์ในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนทำงานศิลปะและสื่อสารมวลชนที่ต้องทำงานกับภาพต่างๆ ว่าการกระทำแบบไหนจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล? หรือรัฐจะฉวยโอกาสใช้กฏหมายนี้ในการปิดกั้นสื่อหรือปิดปากประชาชนไหม?
แต่ในตอนนี้เราจะไม่พูดถึงกฏหมายที่ว่านี้ เพราะเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่จะขอนำเสนอเกี่ยวกับคนทำงานศิลปะที่ข้องแวะกับประเด็นในการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือแม้แต่การต่อต้านลิขสิทธิ์ในรูปแบบต่างๆ กัน
ในโลกศิลปะทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีศิลปินมากมายที่ต่างทำงานสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือแม้แต่ลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปินป๊อปอาร์ตที่หยิบเอาภาพของเหล่าเซเลบ ซุปเปอร์สตาร์ (หรือแม้แต่คนธรรมดาสามัญ) และภาพสินค้ายี่ห้อต่างๆ รวมถึงภาพโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์มาใช้ทำงานศิลปะโดยไม่ได้รับอนุญาต สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิหรือลิขสิทธิ์หรือไม่
เมื่อพูดถึงการล้วงล้ำสิทธิส่วนบุคคล และละเมิดลิขสิทธิ์ในโลกศิลปะ เราย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงการพูดถึงศิลปินนักฉกฉวย (Appropriation) ตัวพ่อ ชาวอเมริกัน ริชาร์ด พรินซ์ (Richard Prince) ไปได้ เริ่มต้นด้วยผลงานสร้างชื่อของเขาอย่าง Untitled (Cowboy) (1980–1989) ที่หยิบฉวยเอาภาพโฆษณาในนิตยสารของบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโรมาครอปภาพมาโดยตัดโลโก้ ตัวหนังสือข้อความของโฆษณาออกทั้งหมด และใช้ห้องอัดภาพราคาถูกขยายภาพให้ใหญ่จนภาพแตก เพื่อเปลี่ยนให้กลายเป็นผลงานของเขา นัยว่าเพื่อสื่อความหมายใหม่ และย้ำเตือนผู้ชมให้ตั้งคำถามถึงค่านิยมในการบริโภคที่พวกเขามีส่วนร่วมสร้างขึ้นมา ในขณะเดียวกันก็โกยเงินเข้ากระเป๋าศิลปินและแกลเลอรี่ด้วย เพราะภาพนี้ถูกประมูลไปในราคา 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 41 ล้านบาท) เลยทีเดียว
หรือในปี ค.ศ.2008 พรินซ์เคยหยิบฉวยเอาภาพในหนังสือรวมภาพถ่ายชื่อ Yes, Rasta ของช่างภาพชาวฝรั่งเศส ปาตริก การิยู (Patrick Cariou) มาใช้ในผลงานของตัวเองโดยไม่ได้ขออนุญาต จนทำให้การิยูดำเนินการฟ้องร้องพรินซ์ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ แต่การิยูกลับเป็นฝ่ายแพ้คดีไปเสียอย่างงั้น
ในปี ค.ศ.2014 พรินซ์เล่นเกี่ยวกับประเด็นในการละเมิดลิขสิทธิ์ (รวมถึงสิทธิส่วนบุคคล) หนักข้อกว่าเดิม ในผลงานชุด New Portraits ที่เล่นกับวัฒนธรรมโซเชียลมีเดีย ด้วยการหยิบฉวย (แคปหน้าจอ) เอาภาพจากเว็บไซต์อินสตาแกรมของนางแบบ ศิลปิน นักแสดง เซเลบ และเหล่าบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ในอินเทอร์เน็ต มาตีพิมพ์ลงบนแคสวาส และจัดแสดงเป็นผลงานในนิทรรศการของเขาที่หอศิลป์ Gagosian ในนิวยอร์ก โดยที่เจ้าของภาพไม่รู้เห็น และไม่ได้รับอนุญาตเลยแม้แต่น้อย ที่น่าขันขื่นก็คือ ในขณะที่พรินซ์ขายผลงานหลายภาพในนิทรรศการนี้ได้ในราคาสูงถึงภาพละ 90,000 เหรียญสหรัฐ (หรือราว 3 ล้านบาท) หนึ่งในเจ้าของภาพบนอินสตาแกรมตัวจริงเสียงจริงอย่างกลุ่ม Suicide Girls ประกาศขายภาพเดียวกันของเธอ (ที่โดนพรินซ์หยิบฉวยไปใช้) โดยพิมพ์ลงบนแคสวาสเหมือนกันอย่างไม่ผิดเพี้ยน แต่กลับขายไปได้ในราคาเพียง 90 เหรียญสหรัฐ (หรือราว 3 พันบาท) เท่านั้นเอง ซึ่งทำให้เกิดการถกเถียงอย่างมาก ว่าสิ่งที่ศิลปินอย่างพรินซ์ทำนั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิสวนบุคคลหรือไม่
นอกจากฟากฝั่งของศิลปินที่ล่วงล้ำสิทธิส่วนบุคคลหรือละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองแล้ว ในโลกศิลปะเองก็ยังมีศิลปินที่ยอมละวางสิทธิของตนเอง และต่อต้านระบบลิขสิทธิ์เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมและคนหมู่มากอยู่เช่นเดียวกัน ดังที่ปรากฏในแนวคิดของระบบ Copyleft (ที่อยู่ตรงข้ามกับแนวคิดของระบบลิขสิทธิ์ (Copyright) โดยใช้สัญลักษณ์แบบเดียวกัน © แต่กลับตัวอักษร c ไปทางด้านซ้ายแทน) ที่เปิดโอกาสให้สาธารณชนนำผลงานที่สร้างขึ้นไปใช้งาน แก้ไข หรือดัดแปลงได้อย่างอิสระ
ยกตัวอย่างเช่นศิลปินอย่าง SUPERFLEX กลุ่มนักปฏิบัติการทางศิลปะสัญชาติเดนมาร์ก ที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1993 โดยสมาชิกหลักอย่าง ยาค็อบ เฟงเกอร์ (Jakob Fenger), ราสมุส นีลเซ่น (Rasmus Nielsen) และ บียอนด์เสตียร์เน่ คริสเตียนเซ่น (Bjørnstjerne Christiansen) ที่จบการศึกษาจากสถาบัน Royal Academy of Fine Arts เดนมาร์ก พวกเขาทำงานศิลปะหลากรูปแบบ ตั้งแต่ผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง ภาพยนตร์ งานออกแบบ ไปจนถึงผลงานศิลปะสาธารณะขนาดใหญ่ โดยมักเชื้อเชิญผู้คนรอบข้างให้เข้ามามีส่วมร่วมในสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน ทั้งผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาอาชีพอย่าง สถาปนิก นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หรือเกษตรกร รวมถึงผู้ชม ไปจนกระทั่งเด็กๆ หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตในสายพันธุ์อื่นๆ อย่างสัตว์และพืชอีกด้วย
นอกจากจะทำโครงการศิลปะที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการเมืองท้องถิ่นแล้ว ยังตีแผ่และตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ชุมชนหลากหลายแห่งทั่วโลก ผลงานของ SUPERFLEX ท้าทาย และตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบกฏหมายลิขสิทธิ์ได้อย่างน่าสนใจ
ดังเช่นในผลงาน Free Beer (2007) ที่พวกเขาร่วมมือกับนักศึกษามหาวิทยาลัย IT University of Copenhagen เดนมาร์ก ในการสร้างโครงการธุรกิจแบบโอเพ่นซอร์ส ด้วยการแจกจ่ายสูตรผลิตเบียร์ รวมถึงแบรนด์และโลโก้ฟรี ให้ทุกคนนำไปผลิตและจำหน่ายเบียร์ของตัวเองได้โดยไม่มีลิขสิทธิ์ ซึ่งสูตรเบียร์ที่ว่านี้ถูกนำไปผลิตเบียร์ในโรงเบียร์ เวิร์กช็อป หรือแม้แต่ห้องครัวทั่วโลก ทั้งในไทเป เซาเปาโล ลอสแองเจลิส มิวนิก น็อกซ์วิลล์ โลซาน คอร์นวอลล์ โบลซาโน และโอ๊คแลนด์ (โดยที่ SUPERFLEX มีส่วนร่วมหรือไม่ก็ตาม) ที่พวกเขาทำเช่นนี้ก็เพื่อต่อต้านระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ที่พวกเขามองว่าเป็นสิ่งที่คุกคามสิทธิเสรีภาพของผู้คน
หรือผลงานอย่าง If Value Then Copy (2017) ซึ่งเดิมทีเคยเป็นสโลแกนของผลงาน Copyshop (2005) ของ SUPERFLEX ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นลิขสิทธิ์ และแรงงานที่ไม่ได้เป็นวัตถุที่จับต้องได้ อย่างความคิดและไอเดีย พวกเขามองว่า เมื่อเกิดระบอบลิขสิทธิ์ สินค้าหรือแม้แต่แนวความคิดหลายอย่างถูกทำให้กลายเป็นเจ้าของ และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ เพื่อสงวนและปกป้องมูลค่า (ทางเศรษฐกิจ) ของมัน
เดิมทีสุภาษิตที่ว่า “If value then right.” (ถ้ามีมูลค่าก็ต้องมีลิขสิทธิ์) เป็นถ้อยคำที่ถูกใช้โดยผู้สนับสนุนการจดลิขสิทธิ์ที่กล่าวว่า “ถ้าสิ่งใดมีมูลค่าก็ควรต้องมีลิขสิทธิ์ และถ้าใครก๊อปปี้ไปโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ถือว่าคนคนนั้นคือขโมย และควรต้องถูกลงโทษทางกฎหมาย” ผลงานชิ้นนี้เป็นการเอาประโยคจากสโลแกนที่ดัดแปลงสุภาษิตที่ว่านี้ในเชิงเสียดสีอย่าง “If value then copy.” (ถ้ามีมูลค่าก็ลอกเลียนแบบมันซะเลย) ออกมาเป็นภาพวาดสามภาพ ซ้ำๆ กัน เพื่อสะท้อนถึงความเป็นสินค้าในระบบอุตสาหกรรมที่ถูกผลิตซ้ำเป็นจำนวนมาก
ผลงานชุดนี้ไม่ได้เป็นแค่การจิกกัดเสียดสีสุภาษิตเดิมของผู้สนับสนุนลิขสิทธิ์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสะท้อนอุดมการณ์ของ SUPERFLEX ในการต่อต้านระบบกฎหมายลิขสิทธิ์อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน สโลแกนนี้ก็ท้าทายแนวคิดหลักเกี่ยวกับความเป็นต้นฉบับ ความเป็นเจ้าของ และคุณค่าของสิ่งต่างๆ ว่ามีอยู่จริงหรือไม่? มีไอเดียหรือความคิดไหนที่เป็นต้นฉบับโดยไม่ได้แรงบันดาลใจจากอะไรเลยจริงหรือไม่? ใครสักคนสามารถอ้างความเป็นเจ้าของผลงานหรือผลิตผลทางความคิดที่ไม่สามารถจับต้องได้หรือไม่? หรือมนุษย์เราจะสามารถพัฒนาหรือวิวัฒนาการตัวเองโดยไม่ลอกเลียนแบบสิ่งที่มีอยู่แล้วรอบๆ ตัวเราได้หรือไม่? (If Value Then Copy เป็นการร่วมงานระหว่างกลุ่ม Copenhagen Brains และ SUPERFLEX)
หรือศิลปินคอนเซปต์ชวลชาวเยอรมันอย่าง อราม บาร์ธอลล์ (Aram Bartholl) ผู้เป็นที่รู้จักการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างโลกดิจิทัล และโลกกายภาพได้อย่างลุ่มลึกและท้าทาย เดิมทีบาร์ธอลล์ไม่ได้ร่ำเรียนทางศิลปะมาโดยตรง แต่เขาจบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมโยธา และเข้าฝึกงานในบริษัทสถาปนิก MVRDV ในรอตเทอร์ดาม, เนเธอร์แลนด์ อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะผันตัวไปเข้าร่วมกับกลุ่มศิลปิน Freies Fach ที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นของชุมชนเมืองและงานศิลปะที่แทรกตัวเข้ากับพื้นที่สาธารณะ ต่อมาเขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มศิลปินในโลกอินเทอร์เน็ตอย่าง Free Art and Technology Lab (F.A.T) ที่มีเป้าหมายในการหลอมรวมวัฒนธรรมป๊อปเข้ากับเทคโนโลยีโอเพนซอร์ส ที่เปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้าถึงได้อย่างเสรี และวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายลิขสิทธิ์สากลที่ปิดกั้นผู้คนจากการเข้าถึงแหล่งความรู้ จนกระทั่งกลุ่มปิดตัวไปในปี ค.ศ.2015
อุดมการณ์ในการต่อต้านระบบลิขสิทธิ์ที่ว่านี้ ถูกสานต่อในผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของบาร์ธอลล์อย่าง โครงการศิลปะ Dead Drops (2010) ที่เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.2010 โดยบาร์ธอลล์สร้างเครือข่ายการแชร์ไฟล์อย่างเสรี ด้วยการใช้แท่ง USB ติดบนผนังตามพื้นที่สาธารณะห้าแห่งในนิวยอร์ก และให้คนเอาคอมพิวเตอร์มาเสียบเพื่อดาวน์โหลดไฟล์ไปได้ตามใจชอบ โครงการนี้ขยายตัวไปทั่วโลก จนในที่สุดมีแท่ง USB จำนวน 1,400 ชิ้นกระจายตัวอยู่เกือบสิบสองประเทศ ทั้งแอฟริกาใต้ กาน่า เยอรมนี อิหร่าน และรัสเซีย และยังคงถูกทำต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
แนวคิดของโครงการนี้ขยายตัวไปเป็นงานศิลปะจัดวาง DVD Dead Drop (2012) ที่เขาเอาเครื่องไรท์แผ่นดีวีดีซ่อนไว้ในผนังด้านนอกของพิพิธภัณฑ์ Museum of the Moving Image ในนิวยอร์ก ให้คนที่พบเห็น เอาแผ่นดีวีดีเปล่ามาเสียบเพื่อไรต์เอาข้อมูล ภาพนิทรรศการศิลปะดิจิทัล สื่อต่างๆ และเนื้อหาหรือผลงานศิลปะของศิลปินที่เขาคัดสรรกลับไปได้อย่างอิสระทั้งวันทั้งคืนตลอด 24 ชั่วโมง
“เดิมที อินเทอร์เน็ตเริ่มต้นขึ้นในฐานะของโครงการที่ค่อนข้างเปิดกว้างในมหาวิทยาลัย ในรูปแบบของระบบโอเพนซอร์ส หรือซอฟต์แวร์ฟรี บริษัทออนไลน์ต่างก็คิดค้นเทคโนโลยีอันแตกต่างหลากหลายในการสื่อสาร ซึ่งเป็นอะไรที่ทรงพลังมากๆ แต่ในทุกวันนี้ เรากลับติดกับอยู่กับโซเซียลมีเดียไม่กี่บริษัท อย่าง Facebook Instagram ซึ่งก็เป็นบริษัทเดียวกัน หรือ Youtube Google Twitter ซึ่งเป็นอะไรที่ผูกขาดและค่อนข้างเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะถ้าคุณโพสต์บางสิ่งบางอย่างที่พวกเขาไม่ชอบและคิดว่าไม่เหมาะสม พวกเขาก็จะเซ็นเซอร์คุณ ทุกวันนี้คนเราไม่ค่อยเข้าเว็บไซต์มากเท่าแต่ก่อนอีกต่อไป ซึ่งจริงๆ เป็นพื้นที่ที่คุณสามารถเปิดเว็บไซต์ หรือบล็อกของตัวเองได้ในแบบที่คุณต้องการฟรีๆ
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเครือข่ายออนไลน์ก็คือความมีอิสระเสรี เมื่อผมถ่ายรูปดิจิทัลแล้วส่งให้คุณ คุณอาจเอาไปโพสต์ลงวิกิพีเดีย ที่ทุกคนก็สามารถนำไปใช้ได้ นั่นแปลว่ารูปและข้อมูลเหล่านี้สามารถคัดลอก ส่งต่อ และเผยแพร่ความรู้ได้ ซึ่งเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมและมีประโยชน์มาก วิกิพีเดียเป็นตัวอย่างที่ดี มันอาจจะมีปัญหาบางอย่าง แต่ก็เป็นพื้นที่ที่ให้ความรู้อย่างเสรีที่ดี แต่เมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ ซึ่งแน่นอน ว่าคนที่ทำงานสร้างสรรค์ควรจะได้รับค่าตอบแทนจากการทำงาน แต่ในขณะเดียวกัน การแบ่งปันภาพและข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ตโดยไม่มีลิขสิทธิ์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ แน่นอนว่าก่อนหน้านี้ในอุตสาหกรรมดนตรีและภาพยนตร์ก็ประสบปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ตอนนี้ปัญหาเหล่านั้นก็ถูกจัดการได้แล้ว ทุกวันนี้ทุกคนก็ซื้อเพลงและหนังจาก iTunes และ Netflix และมันก็กลับมาเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ได้อีกครั้ง
ผมคิดว่าต่อไป การเผยแพร่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นระบบที่ปิดมากๆ อีกครั้ง เพราะในยุโรปกำลังมีกฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่กำลังจะโหวตในสภาของยุโรป ที่ถ้าคุณอัปโหลดภาพบางอย่างแล้วมีคนอ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ภาพนั้นจะถูกบล็อกทันที ซึ่งเป็นอะไรที่ค่อนข้างเข้มงวดและปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก เพราะอันที่จริง ศิลปะและวัฒนธรรมต่างๆ ก็เกิดจากการดัดแปลง ได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจมากจากสิ่งเก่าๆ น่าตลกตรงที่ ทุกวันนี้เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่กฎหมายกลับกดดันให้มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกให้น้อยลง ในอนาคตกฏหมายลิขสิทธิ์อาจทำให้เราไม่สามารถส่งต่อภาพหรือข้อมูลให้กันได้อีกต่อไป ซึ่งทางการตลาดนั้นเป็นอะไรที่ดี แต่สำหรับการแบ่งปันข้อมูลความรู้อย่างเสรี เป็นอะไรที่เลวร้ายมากๆ” (ข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.2018)
เมื่อดูจากผลงานของศิลปินทั้งหลายเหล่านี้แล้ว ทำให้เราอดนึกไม่ได้ว่า การใช้กฎหมายปกป้องคุ้มครองสิทธิ ข้อมูล หรือแม้แต่ผลประโยชน์ส่วนบุคคลนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่าง แต่ในทางกลับกัน ถ้ากฎหมายที่ว่านี้ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวด ทื่อตรงเกินไป ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการตีความ ก็อาจเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและจำกัดความคิดสร้างสรรค์ก็เป็นได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ Art & Agenda: Political Art and Activism โดย Silke Krohn,
en.wikipedia.org/wiki/Richard_Prince,
บทสัมภาษณ์ศิลปิน อราม บาร์ธอลล์ โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
en.wikipedia.org/wiki/Aram_Bartholl
Illustration by Manita Boonyong