การมาของ COVID-19 ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทั้งโลกไปโดยสิ้นเชิง บทความนี้จะพูดถึงแนวทางการควบคุมการระบาดของโรค และมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ในบริบทของประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ที่ต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
เมื่อวัคซีนยังไม่พร้อม เราก็เหลือตัวเลือกไม่มากในการรับมือกับโรค COVID-19 หนึ่งในหลักการสำคัญที่ใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก ก็คือ การรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing ภายใต้แนวคิดของการ ‘flatten the curve’ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ภาระทางสาธารณสุขจะไม่หนักอึ้งในคราเดียว ซึ่งความเข้มข้นของการใช้หลักการนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและลักษณะของการระบาดในแต่ละประเทศ ในการปฏิบัติจริง (ทั้งทำได้บ้าง ทำไม่ได้บ้าง) ก็มีตั้งแต่การรักษาระยะห่างทางกายภาพกับคนอื่น (เช่น การยื่นห่าง ๆ กันตอนรอรถไฟฟ้า แล้วก็พบว่าตัวเองกลายเป็นปลาทูยัดเข่งในอีก 5 นาทีถัดมา) การยกเลิกกิจกรรมสันทนาการ/กิจการที่ต้องมีการรวมกลุ่ม (ไว้ไปเจอกันใน TikTok) การปิดสถานที่ทำงาน (เจอกันใน Zoom) การปิดโรงเรียน (แต่ครูอาจจะต้องทำผลงานเพื่อส่งประเมินอยู่) การรณรงค์ให้อยู่บ้าน การห้ามนั่งทานอาหารในร้าน (แต่ยังไม่มีนโยบาย contactless delivery หรือการวางอาหารไว้หน้าประตู) รวมไปถึงการยกเลิก/ลดการขนส่งสาธารณะ
แต่คงจะไม่มีมาตรการไหนที่ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปได้มากกว่า การปิดเมือง (lockdown) โดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้กับประเทศไทย (ประเทศกำลังพัฒนาเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 22 ของโลก พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว มีคนรวยหลักร้อย มีคนจนหลักล้าน ความเหลื่อมล้ำทั้งทางรายได้ ทรัพย์สิน และที่ดินสูงไม่น้อยหน้าใคร มีปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันที่ดูธรรมดาเหมือนปัญหารถติด และมี sex worker ที่ไม่รู้ว่าจะไปรับเงินเยียวยาจากใคร)
แน่นอนว่าการปิดเมืองช่วยชะลอการระบาดของโรค แต่ในขณะเดียวกัน มันก็มีต้นทุนมหาศาล (บางคนบอกว่า การปิดเมืองมี trade-off แต่นั่นคือ false trade-off เพราะเศรษฐกิจจะดีไม่ได้ถ้านโยบายทางด้านสาธารณะสุขใช้ไม่ได้ผล และคนเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมาก) ที่ชัดเจนที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องของการทำงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเงินในกระเป๋า ขณะที่งานบางอย่างสามารถทำจากที่บ้านได้ ก็มีงานอีกหลายประเภทที่ต้องทำนอกบ้าน โดยเฉพาะแรงงานคอปกน้ำเงิน (blue-collar worker) ที่ต้องใช้ ‘แรงกาย’ ในการทำงาน ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ มักได้ค่าจ้างต่ำ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นกลุ่มคนจน
ขณะนี้ก็ได้มีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนพยายามคาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการระบาดนี้ หนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์ Robert Barro นักเศรษฐศาสตร์ประจำ Harvard University และคณะได้ใช้ไข้หวัดใหญ่สเปน (The Great Influenza Pandemic) ที่ระบาดเมื่อปี ค.ศ. 1918-1920 เพื่อทำนายผลกระทบของการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ สิ่งที่สำคัญที่ Barro และคณะเน้นย้ำก็คือว่า โรคระบาดไม่ได้เกิดขึ้นรอบเดียว แต่มีเพียงการระบาดซ้ำอยู่หลายปี โดยเหตุการณ์ที่แย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้น (worst-case scenario) คือ อัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ 2% ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 150 ล้านคน และยังทำให้ GDP ในแต่ละประเทศลดลงประมาณ 6% โดยเฉลี่ย
แต่คณะวิจัยก็ทิ้งท้ายไว้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะเปรียบเทียบไข้หวัดใหญ่สเปนกับ COVID-19 เพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงมาตรการที่ใช้เพื่อควบคุมโรคก็มีระดับที่ต่างกัน ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของ IMF และศาสตราจารย์ Warwick McKibbin แห่ง Australian National University พบว่า GDP โลก น่าจะหดตัวอยู่ที่ 2-3% สำหรับผลกระทบต่อความยากจน Andy Sumner และทีมนักวิจัยที่ UNU-WIDER พบว่า หากเศรษฐกิจโลกติดลบกว่า 20% อันเนื่องมาจากการระบาดของโรค COVID-19 ทั่วทั้งโลกอาจมี ‘คนจนใหม่’ เพิ่มกว่า 500 ร้อยล้านคน (แต่การคำนวณของคณะวิจัย ไม่ได้รวมนโยบายช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งอาจไปชดเชยกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ)
ซึ่งผลกระทบมีแนวโน้มรุนแรงมากกว่าในประเทศที่มีความยากจนและความเหลื่อมล้ำมากๆ ไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบปัญหาความยากจนเช่นกัน รายงานธนาคารโลกเมื่อต้นปี ระบุว่า ระหว่างปี พ.ศ.2558 – 2561 มีคนจนเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านคน ภายในระยะเวลาแค่ 3 ปี (คนจนในที่นี่ หมายถึง คนที่มีรายจ่ายน้อยกว่า 2,700 บาทต่อเดือน) ถ้าไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่ครอบคลุมคนกลุ่มนี้ การปิดเมือง ก็คือ การล็อกคนจนให้เป็นคนจนต่อไป
ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับชีวิตและทรัพย์สิน (ทั้งที่เกิดจากตัวไวรัส และที่เกิดจากมาตรการควบคุมการระบาด) สะท้อนความจำเป็นที่แต่ละประเทศต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ไทยก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 หรือที่เรารู้จักกันดี ในชื่อ มาตรการเยียวยา 5,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม (เช่น พนักงานในร้านทำผม สปา ผับ บาร์ วินมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น) ‘และ’ เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 (เช่น ธุรกิจถูกปิดชั่วคราว ถูกสั่งพักงาน เลิกจ้าง รายได้ลดลง เป็นต้น)
มาตรการเยียวยานี้มีหลักการที่ไม่ขี้เหร่ เพราะถือว่าให้ความสำคัญกับแรงงานนอกระบบที่มักถูกละเลย (จากการสำรวจเมื่อปี 2561 แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุด คิดเป็น 55% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ แต่แรงงานกลุ่มนี้มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐเฉกเช่นแรงงานในระบบ) ประเด็นมีอยู่ 2 ชั้นด้วยกัน
ชั้นที่ 1 รัฐบาลไม่รู้ว่าใครคือแรงงานนอกระบบ
และชั้นที่ 2 ไม่รู้ว่าใครคือคนที่ได้รับผลกระทบ
ท้ายที่สุด ก็ไม่รู้จะช่วยเหลือใครก่อนดี เมื่อมันยากที่จะพิสูจน์ว่าใครลำบากมาก ลำบากน้อย ใครนอกระบบ ใครในระบบ บางคนก็บอกว่า ทำไมถึงไม่เลือกแจกทุกครัวเรือนทั่วประเทศไปเลย ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า COVID-19 มาแบบไม่คาดคิด ไม่ได้มีการวางแผนเตรียมเงินสำรองไว้มากขนาดนั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ การที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา เศรษฐกิจมีขนาดเล็กกว่า เงินท้องพระคลังมีน้อย (แต่เงินสำรองต่างประเทศมีเยอะ) แถมยังเก็บภาษีไม่ค่อยจะได้ การเลือกแจกก็เป็นทางออกที่สมเหตุสมผล
แต่เมื่อเลือกแจก ก็เจอกับโจทย์ใหญ่ว่าจะแจกใคร เพราะว่ารัฐบาลไม่มีข้อมูลอะไรเลย (หรืออาจจะมี แต่อยู่กระจัดกระจาย) ก็เลยต้องเปิดให้มีการลงทะเบียน สถานการณ์ก็คล้ายๆ กับการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ในช่วงที่มีการระบาดของโรค จะให้ไปลงทะเบียนที่ธนาคารออมสินก็คงจะผิดหลักการของ social distancing และทำให้การควบคุมโรคแย่ลงกว่าเดิม รัฐบาลก็เลยให้ลงทะเบียนออนไลน์ ภายใต้สมมติฐานว่า คนไทยทุกคนมีโทรศัพท์มือถือที่มีอินเตอร์เน็ต 4G หน้าจอชัดแจ๋ว รับส่ง OTP ได้ และสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลได้อย่างทันท่วงที รู้ว่าต้องไปลงที่ไหน เมื่อไหร่ หมดเขตวันไหน แต่นั่น…ดูเหมือนจะไม่ใช่ลักษณะของผู้มีรายได้น้อย ที่รัฐควรให้ความสำคัญในลำดับแรกๆ ผลก็คือ มีคนจนจำนวนมากที่ลงทะเบียนไม่ได้ ต้องไหว้วานลูก หลาน ให้ช่วยลงทะเบียน ไม่นับรวมคนที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการเปิดให้ลงทะเบียน
คงจะดีไม่น้อย หากเรามีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ต้น ประชาชนก็คงไม่ต้องมานั่งพิสูจน์ความยากลำบาก ไม่ต้องมี certificate ความยากจนก่อนจะได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือแบบนี้ และการช่วยเหลือก็คงทำได้รวดเร็ว ดูอย่างประเทศที่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลคนจนที่ดีอย่างอินโดนีเซียและปากีสถานสามารถส่งเงินช่วยเหลือเร่งด่วน (emergency grant/extended social assistance) เข้าบัญชีที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียเวลาลงทะเบียนซ้ำ
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการลงทุนในเรื่องของฐานข้อมูลประชากร เราได้ยินคำว่า เศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) มาตั้งแต่วันแรกๆ นับตั้งแต่การยึดอำนาจ จะปฏิรูปนั่น จะปฏิรูปนี่ จะใช้ big data วิเคราะห์นั่น วิเคราะห์นี่ ตราบจนทุกวันนี้ ก็ยังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ใช้ได้จริง อย่างที่พูด พอมีเหตุการณ์/นโยบายอะไรสักอย่าง ก็เปิดรับสมัครแบบขอไปที วันหน้า ฟ้าใหม่ ค่อยลงทะเบียน รับ OTP กันใหม่ ก็ไม่รู้ว่ามีใครได้คำนวณต้นทุนซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นจากการเปิดรับลงทะเบียนแบบไม่รู้จบหรือเปล่า
ในขณะที่เรารณรงค์เรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม ความเพิกเฉยของรัฐบาลกลับบีบบังคับให้คนจนต้องออกมาต่อแถวเพื่อยื่นทบทวนสิทธิ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาท หน้ากรมประชาสัมพันธ์ ลองมองไปรอบตัวว่ามีรัฐบาลไหนในโลกนี้บ้างที่ปล่อยให้คนไม่มีจะกินมาเรียกร้องแรกแหกกระเชอ กินยาฆ่าตัวตาย กันถึงหน้าหน่วยงานราชการแบบนี้ ถ้าจะรับไม่ได้กับอะไรสักอย่างหนึ่ง ควรจะเป็นความผิดพลาดจากการออกแบบมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ไม่ใช่รับไม่ได้หรือหวั่นอ่อนกับการที่มีคนมากวาดข้าวของในตู้ปันสุข
ถ้าไม่มี COVID-19 รัฐบาลไทยก็อาจจะไปไม่รอดอยู่แล้ว ทั้งปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ไฟป่า ภัยแล้ง ทุจริตคอรัปชั่น การส่งออกตกต่ำ การใช้งบประมาณไปกับโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ รวมไปถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย ท่ามกลางวิกฤต เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลไม่หลงลืมแรงงานนอกระบบที่เป็นหัวใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็น่าเสียดายที่การบริหารจัดการที่ผิดพลาดทั้งในอดีตและในปัจจุบันส่งผลให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนต้องรอคอยเงินช่วยเหลือโดยไม่รู้อนาคต ในวันที่เรายิ้มแป้นให้กับความสำเร็จจากการล็อกดาวน์ ต้นทุนทางเศรษฐกิจอันแสนแพงที่คนจนต้องแบกรับ กลับต้องได้รับการพิสูจน์ยืนยัน…