เวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 จากที่อยู่นิ่งๆ และดูท่าจะสามารถควบคุมให้อยู่ภายในจีนกับเอเชียได้ กลับกลายเป็นการระบาดระลอกใหม่ ซ้ำเติมให้โรคนี้กลายเป็นวิกฤตระดับโลกอย่างแท้จริง เมื่อประเทศที่มีผู้ติดเชื้อน้อยนิดหลายประเทศกลับกลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อหลักพัน จนเกิดความโกลาหลไปทั่วโลก
สมรภูมิรอบใหม่อยู่ที่ประเทศซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น ‘จีน’ แห่งยุโรปอย่างอิตาลี หากย้อนกลับไป วันที่ 31 มกราคม อิตาลียังเพิ่งมีผู้ติดเชื้อเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนเพียงแค่ 3 คน แต่ ณ วันนี้ อิตาลีก็มีตัวเลขผู้ติดเชื้อถึงหมื่นคนในที่สุด ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินหลัก 100 คนต่อวัน จนผ่านทะลุหลัก 500 คนไปแล้ว
กลายเป็นประเทศเดียวนอกจากจีนที่มีมาตรการ ‘ชัตดาวน์’ เริ่มจากแคว้นภาคเหนือ ในแคว้นลอมบาร์เดีย ซึ่งมีเมืองเอกอย่างมิลาน และแคว้นเวเนโต ซึ่งมีเมืองเอกอย่างเวนิส ไปสู่การชัตดาวน์ทั้งประเทศ กลายเป็นการ ‘ปิดกั้นพื้นที่’ ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรป
คำถามสำคัญก็คืออะไรทำให้อิตาลีผิดพลาดมหันต์
จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก
และทำให้วิกฤต COVID-19 ลากยาวต่อไปจนยังไม่รู้จุดจบ
เรื่องมันเริ่มต้นที่แคว้นลอมบาร์เดีย หลังชายวัย 38 ปีคนหนึ่ง คาดว่าติดเชื้อจากเพื่อนที่เพิ่งเดินทางกลับจากจีน ในรอบแรกหมอวินิจฉัยว่า ชายคนนี้ป่วยเป็น ‘ไข้หวัด’ ธรรมดา จึงรักษาโดยใช้วิธีการเดียวกับไข้หวัดทั่วไป ไม่มีห้องแยกเชื้อความดันลบ บุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้ป้องกันตัวเองในระดับเดียวกับผู้ป่วย COVID-19 คนอื่นๆ เหตุเพราะชายคนดังกล่าวไม่ได้มีประวัติเดินทางไปจีน และโรงพยาบาลในแคว้นลอมบาร์เดียเอง ก็ไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับ COVID-19 แม้แต่น้อย
ผลก็คือเมื่อวินิจฉัยว่าเป็นหวัด และเมื่อโรงพยาบาลแรกรักษาไม่หาย เขาก็เปลี่ยนโรงพยาบาลไปรักษาที่โรงพยาบาล Codogno ที่ชายคนนี้ นำเอา COVID-19 แพร่ต่อไปยังคนไข้คนอื่นๆ ในวอร์ดเดียวกัน บุคลากรสาธารณสุข และเพื่อนที่อยู่รอบตัว
แต่นั่นยังไม่จบ เพราะเมื่อสืบลึกลงไป ชายคนนี้ เริ่มติดเชื้อ COVID-19 ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม วันเดียวกับที่จีนปิดอู่ฮั่น ห้วงเวลาเกือบ 1 เดือน เขาปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นไปทั่วแคว้นลอมบาร์เดีย ในที่สุด ‘ฝี’ ก็แตกในอีก 1 เดือนถัดมา วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ผู้ป่วยในอิตาลีเพิ่มอย่างรวดเร็วจาก 3 ราย เป็น 16 ราย และเริ่มเลวร้ายไปกว่านั้น เมื่อมีผู้หญิงวัย 77 ปี เสียชีวิตในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรวจพบในภายหลังว่าเกิดจากโรค COVID-19
ในเวลานั้น ไม่มีใครรู้ว่า หญิงชราคนดังกล่าวเสียชีวิตด้วยโรคนี้ ในเวลาต่อมาถึงจะค้นพบว่าผู้เสียชีวิต มีเชื้อ COVID-19 อยู่ในร่างกาย
และเมื่อค้นพบการติดต่อของ COVID-19
ก็เดินทางไปไกลแล้ว
ไม่ใช่แค่ในอิตาลีอย่างเดียว
แต่ยังไปทั่วยุโรป
ส่งผลให้ประเทศข้างเคียงอย่างสเปน เยอรมัน และฝรั่งเศส ประเทศข้างเคียง มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงถึงหลักพันคน
แคว้นลอมบาร์เดียนั้นไม่ใช่พื้นที่ธรรมดา หากแต่จีดีพีของอิตาลี กว่า 20% คือผลผลิตจากแคว้นนี้ แน่นอนรายได้สำคัญของแคว้นมาจากสิ่งที่เชิดหน้าชูตาประเทศนี้มาโดยตลอดอย่าง ‘การท่องเที่ยว’ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเริ่มต้นระบาดของ COVID-19 ในแคว้นนี้ได้กลายเป็นหายนะสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบแล้ว และกำลังจะลามต่อไปอย่างรวดเร็ว หากไม่ลงมือทำอะไร
หลังจากฝีแตก ลอมบาร์เดียก็ถูกประกาศให้เป็น Red Zone ทันที ส่วนเวเนโตแคว้นข้างๆ ถูกประกาศให้เป็น Yellow Zone เพื่อจัดการกักกันและควบคุมโรคผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยทั้งหมดทันที
วันแรกที่ประกาศ Red Zone และ Yellow Zone นั้นนายกรัฐมนตรี จูเซปเป คอนเต (Giuseppe Conte) ยังเชื่อว่าจะสามารถจัดการได้ เพราะในวันนั้น มาตรการที่เข้มงวดอย่างการปิดโรงเรียน งดการแข่งกีฬา และนัดหยุดงาน เริ่มบังคับใช้ทันที
นับเป็นครั้งแรกในรอบ 1 เดือน หลังจากจีนปิดมณฑลหูเป่ย
ที่ประเทศในทวีปยุโรปจะตื่นตัวมากขนาดนี้
แต่นั่นก็สายเกินไปแล้ว
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ตัวเลขผู้ป่วยด้วย COVID-19 ของอิตาลี อยู่ที่ 20 คน หนึ่งวันถัดมา ผู้ติดเชื้อกลายเป็น 79 คน ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 445 คน หนึ่งอาทิตย์หลังจากนั้น ทั้งประเทศก็มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 1,684 คน และสองอาทิตย์เศษนับจากวันแรก จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มเป็นกว่า 8,000 ราย กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้ออันดับหนึ่งนอกจีน นำ ‘เกาหลีใต้’ ที่เริ่มอยู่ตัวไปแล้วแบบไม่เห็นฝุ่น จนเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน
อิตาลีกลายเป็นประเทศที่ ‘เอาไม่อยู่’ เมื่อการระบาดของ COVID-19 กำลังขยายวงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นในยุโรป ส่งให้อิตาลี จากที่เคยเป็น ‘คนป่วย’ ของยุโรป จากตัวเลขหนี้สาธารณะที่สูงลิ่ว และดัชนีชี้วัดด้านเศรษฐกิจที่เปราะบาง กลายเป็นคนป่วยจริงๆ จนเปลี่ยนประเทศที่สวยงามแห่งนี้ไปตลอดกาล
ย้อนกลับไปมอง 2 ปีที่ผ่านมา ระบบสุขภาพของประเทศนี้ไม่ได้ขี้เหร่ ค.ศ.2018 บลูมเบิร์กจัดอันดับประเทศที่มีระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของโลก ให้อิตาลีได้อันดับ 4 เป็นรองเพียง ฮ่องกง สิงคโปร์ และสเปน ในขณะที่ไทยได้อันดับที่ 27 ขณะเดียวกันประเทศนี้ก็เป็นประเทศที่ประชากรมีสุขภาพดี มีอายุขัยเฉลี่ยมากถึง 83.4 ปี มากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก (ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 49)
คำถามก็คือ แล้วอะไรทำให้อิตาลี ‘เป๋’ ขนาดที่ทำให้อัตราการระบาดของโรคติดต่อ ไปได้ไกลขนาดนั้น เอาเข้าจริงหากย้อนกลับไปยังเดือนมกราคม ช่วงเดียวกับที่จีนประกาศปิดอู่ฮั่น รัฐบาลอิตาลียังสามารถตั้งรับได้ดี มีการตั้ง ‘ทีมเฉพาะกิจ’ ขึ้นมาตั้งแต่ 1 เดือนล่วงหน้า ก่อนจะมีการระบาดใหญ่ในประเทศ รวมถึงยังตัดสินใจแบน ไม่ให้ไฟลท์จากจีนสามารถเข้าออกอิตาลีได้ตามปกติ
ปัญหาก็คือ COVID-19 นั้นมาถึงอิตาลีก่อนล่วงหน้าแล้ว โดยไม่มีใครสังเกตทัน เพราะระยะฟักตัวที่อยู่ในร่างของ ‘โฮสต์’ นั้น ไม่ได้แสดงอาการ หรือหากแสดงก็อาจแสดงน้อยมากจนไม่มีใครสังเกต
กว่าฝีจะแตก
โรคนี้ก็ติดต่อกันไปไกลแล้ว
Le Repubblica หนังสือพิมพ์ของอิตาลี ยังรายงานว่า ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้วโรงพยาบาล Codogno (โรงพยาบาลเดียวกับที่มีการติดต่อของ COVID-19 ไปยังผู้ป่วยอีกหลายราย) มีเคส ‘ปอดบวม’ มากผิดปกติ ความน่ากลัวก็คือวอร์ดของโรงพยาบาลนี้ อาจมีผู้ป่วย COVID-19 ตั้งแต่ก่อนที่จีนจะพบว่าสามารถติดต่อได้ ‘คนสู่คน’ ด้วยซ้ำไป แต่โรงพยาบาลกลับคิดว่าอาการปอดบวมที่พวกเขากำลังรักษาคือ ไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นปกติตามฤดูกาล
กรณีศึกษาอีกอย่างคือ การระบาดในอิตาลีจำนวนมากเกิดขึ้นจาก ‘ตัวกลาง’ ชั้นดีอย่าง ‘บุคลากรทางการแพทย์’ ซึ่งไม่รู้ตัวว่ากำลังรับมือกับโรคอะไรอยู่ และพาโรคนี้ติดต่อไปยังคนไข้อีกหลายคน เพราะตอนแรกทุกคนต่างคิดว่า “พื้นที่นี้ห่างไกลจากการระบาดในเอเชียมาก แนวทางตั้งรับหลายอย่างจึงหละหลวม”
ประกอบกับระบบ National Health Service หรือ SSN ของอิตาลีเอง แม้จะขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพสูง เมื่อเทียบกับมาตรฐานยุโรปประเทศอื่นๆ แต่เมื่อถึงเวลาวิกฤต กลับไม่เป็น Single Command หลายครั้งที่ ‘รัฐบาลกลาง’ ต้องการสั่งอะไร แต่รัฐบาลท้องถิ่น ไม่สนใจทำตาม ก็เกิดความขัดแย้งได้ เพราะทั้ง 2 เลเวลของรัฐบาล ล้วนใช้โครงสร้างของ SSN ร่วมกัน
เมื่อเกิดปัญหา
คนทำงานจึงไม่รู้ว่าจะฟังใครดี
แน่นอนเมื่อถึงเวลาที่เกิดการระบาดใหญ่ ปัญหาเดียวกับ ‘อู่ฮั่น’ ก็เกิดขึ้น นั่นคือระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข ทั้งจำนวนเตียง จำนวนหมอ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ไม่สามารถรองรับกับผู้ป่วยจำนวนมากขนาดนั้นได้ จนมาค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อรัฐบาลขีดเส้น Red Zone, Yellow Zone และกระหน่ำตรวจเชื้อคนในโซนที่เกี่ยวข้องจนสามารถจำกัดวงได้ในระดับหนึ่ง
ใน Red Zone อย่างลอมบาร์เดียนั้น นอกจากรัฐบาล จะไหว้วานให้แพทย์และพยาบาลที่เกษียณอายุกลับมาทำหน้าที่ ช่วยดูแลผู้ติดเชื้อแล้ว ผู้ว่าแคว้นยังขอให้นักเรียนพยาบาล ซึ่งกำลังจะจบการศึกษาปีนี้ เข้ามาทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย เสมือนเป็น ‘ภาวะสงคราม’ ที่ให้นักเรียนทหารเข้ารบก่อน พร้อมทั้งขอให้โรงพยาบาลเอกชน ช่วยทำหน้าที่ดูแลคนไข้ที่ล้นทะลักโรงพยาบาลรัฐในแต่ละวัน กลายเป็นเรื่องใหม่ ที่ SSN ไม่เคยเจอมาก่อน
ท่ามกลางความอลหม่านร้อยแปดประการ ก็ยังมีบางสิ่งที่ประเทศนี้สามารถทำได้ดี นั่นคือการ ‘ตรวจเชื้อ’ ซึ่งตลอด 2 อาทิตย์เศษที่ผ่าน รัฐบาลสามารถตรวจผู้ติดเชื้อได้มากกว่า 42,000 คน แม้จะไม่ได้ดีเท่าเกาหลีใต้ ที่ตรวจได้วันละประมาณ 10,000 คน
แต่เมื่อเทียบกับมาตรฐานยุโรปประเทศอื่นนั้น
ก็ถือว่าทำได้สูงกว่ามาตรฐาน
และทำให้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อสูงไปด้วย
ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกก็คือ จะทำอย่างไรให้ยอดผู้ป่วยที่สูงขึ้นแต่ละวันนั้นลดลงไปถึงอัตราคงที่ แบบเดียวกับที่จีนทำสำเร็จ และทำอย่างไร ให้อัตราผู้เสียชีวิต ที่อิตาลีเคยยืนยันก่อนหน้านี้ว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุไม่ต้องเพิ่มมากขนาดนี้ เพราะเมื่อประเทศนี้ป่วยหนัก ทั้งยุโรปก็ป่วยหนักไปด้วย…
ประสบการณ์ของอิตาลีสอนให้รู้ว่า การระเบิดของโรคนี้สามารถเริ่มต้นได้ทุกเมื่อ เกิดขึ้นได้ทุกที่ และไม่ว่าจะมีระบบสาธารณสุขที่ดีแค่ไหน มีบุคลากรที่พร้อมเพียงใด แต่ COVID-19 จะหาช่องโหว่ของการเตรียมความพร้อมได้เจอเสมอ โดยเฉพาะเมื่อโชคไม่เข้าข้าง
สิ่งสำคัญก็คือ ในภาวะวิกฤตรัฐบาลทุกระดับต้องจัดระบบเตรียมพร้อมให้ได้มากที่สุด ระบบ Single Command ต้องแม่น และไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีแผนสำรองไว้ตลอดเวลาเพื่อจัดการในเวลาที่คับขัน
เรื่องนี้สะท้อนได้ดีว่า การมั่นใจตัวเอง และมั่นใจระบบสาธารณสุขมากเกินไป ในที่สุด ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เมื่อถึงเวลาของการระบาดจริง…