(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาตอนล่าสุดของอนิเมะ Attack on Titan)
ในขณะที่เนื้อหาใน Attack on Titan ดำเนินไปเรื่อยๆ ประเด็นทางด้านการเมืองที่เคยแทรกเป็นระยะๆ และผ่านเหตุการณ์ใหญ่มาแล้วก่อนหน้านี้ ก็ดูจะพัฒนาไปอย่างเข้มข้นมีลำดับขั้นเช่นกัน จึงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า อนิเมะเรื่องนี้กำลังเดินหน้าพูดถึงการเมืองและการใช้อำนาจอย่างเต็มอัตรา ไม่มีอ้อมค้อม ไม่มีซ่อนเร้น และมันสะท้อนถึงเรื่องราว เหตุการณ์ และสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกความจริงได้เป็นอย่างดี
เหมือนที่มีคำพูดกันว่า “งานศิลปะใดใด มักถูกหล่อหลอมและมีแรงบันดาลใจมาจากประวัติศาสตร์ ความรู้สึก หรือประสบการณ์จริง” นั่นเอง
หากจะเริ่มต้นพูดถึงการบูชาที่ตัวบุคคล (cult of personality) และวีรบุรุษ (hero) คงต้องพูดแบบไล่เรียงตั้งแต่เหตุการณ์แรกๆ จนถึงล่าสุดตามลำดับเรื่องราวก่อน โดยเริ่มจากการโกหกครั้งใหญ่ของอนิเมะเรื่องนี้ก่อน นั่นก็คือ ‘การล้างสมองชาวเกาะสวรรค์และราชาหุ่นเชิด’ และการทวงสิทธิ์อันชอบธรรมในบัลลังก์ ของ ‘ฮีสทอเรีย รีสต์’
แม้ว่าพลังอำนาจของไททันบรรพบุรุษ จะแข็งแกร่งถึงขั้นที่ว่าสามารถเปลี่ยนแปลงความทรงจำของลูกหลายยูมีร์ทุกคนที่อพยพมาอาศัยอยู่ในกำแพงได้ (ยกเว้นตระกูลเอเคอร์แมน) แต่นั่นไม่ใช่เพียงแค่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ละครลวงโลกครั้งนี้ประสบความสำเร็จจนทุกคนเชื่ออย่างสุดใจว่า พวกเขาคือมนุษยชาติกลุ่มสุดท้ายของโลก โดยมีไททันเป็นศัตรูตัวฉกาจเพียงหนึ่งเดียว ทำให้ต้องรวมกันเป็นหนึ่ง จนอยู่มาอย่างสุขสงบมาหลายยุค
แต่อย่างที่ได้พูดถึงไปแล้วในบทความเกี่ยวกับ กำแพงและ propaganda ว่า การหลอกลวงครั้งนี้จะต้องอาศัยปัจจัยสำคัญอื่นๆ ด้วย เช่น หน่วยสารวัตรทหารที่คอยปกปิดความเป็นจริง การควบคุมข่าวสาร รวมถึงการที่ตระกูลฟริตซ์เปลี่ยนนามสกุลเป็นรีสต์ที่คอยแอบดำเนินพิธีกรรมสืบทอดพลังไททันบรรพบุรุษอย่างลับๆ มาโดยตลอด เป็นต้น กับตัวแปรที่สำคัญที่สุด ‘หุ่นเชิดที่จะเป็นจุดศูนย์รวมของจิตใจผู้คน’
ใน Attack on Titan แม้ว่าเราจะไม่ได้เห็นบทบาทของกษัตริย์ฟริตซ์มากนัก นอกจากจะเห็นเขานั่งเท้าคางเงียบๆ เท่านั้น (โดยมีผู้เชิดตัวจริงที่เป็นผู้ตัดสินใจคอยปรึกษาหารือและสั่งการอยู่ใกล้ๆ นั่นก็คือ ‘ลอร์ดรีสต์’ และเหล่าทหารกับชนชั้นปกครองในกำแพงชั้นในสุด) แต่ดูเหมือนการที่มีราชวงศ์ฟริตซ์อยู่จะทำให้ทุกอย่างสงบสุขอย่างได้ผล นั่นก็เพราะการสร้าง ‘ความเป็นจริงที่เป็นศูนย์รวมจิตใจ’ ที่เหนียวแน่นนั่นเอง
ในหนังสือเล่มดังอย่าง Sepiens ของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) ที่ถูกยกย่องว่าเป็นหนังสือที่มนุษย์ทุกคนควรอ่าน ได้พูดถึงการสร้างความเป็นจริงเอาไว้ว่า ความเป็นจริงของโลกเรานั้นถูกแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- cognitive reality หรือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและเป็นไปด้วยตัวของมันเอง (ไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์) ไม่ว่าจะเป็น ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก ตกทางทิศตะวันตก, ไฟมีคุณสมบัติร้อน หรือเมื่อทำการปล่อยก้อนหินลงพื้น มันจะตกลงสู่พื้นดินด้วยแรงโน้มถ่วงโลก
- imaginative reality หรือความเป็นจริงที่เราจินตนาการขึ้น ที่เกิดจากการคิด การแต่งตั้ง และการยอมรับจนกลายเป็นสิ่งที่เข้าใจและยึดถือร่วมกันของมนุษย์ โดยมนุษย์เอง ไม่ว่าจะเป็น ศาสนา การเมือง ชนชั้น สังคม ตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ รวมถึงการยกย่องให้ผู้ที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขตรงกับความเป็นมนุษย์เท่ากันทุกประการ ให้อยู่สูงกว่ามนุษย์ทั่วไป เช่น เผ่ามังกรฟ้าในอนิเมะ One Piece
และ imaginative reality นี้เอง คือใจความสำคัญของลัทธิบูชาตัวบุคคล
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าหลายสงคราม หลายการทะเลาะเบาะแว้ง หรือแม้กระทั่งการรวมจิตรวมใจ เกิดขึ้นอย่างรุนแรง วงกว้าง ยืดเยื้อ และได้ผล นั่นก็เพราะว่ามนุษย์ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นจาก ‘ความเชื่อ’ มากกว่า ‘ความเป็นจริง’ ทำให้อะไรเหล่านั้นประสบความสำเร็จอย่างน่ากลัว และอาจนำไปสู่การเข่นฆ่ากันในนามของบุคคลผู้ถูกบูชาได้ เหมือนสงครามศาสนาในอดีตที่อ้างว่ากระทำในนามของพระเจ้า ทั้งหมดก็เพื่อความชอบธรรมของตนเองทั้งสิ้น
ฉะนั้นแม้ว่าราชาหุ่นเชิดจะไม่ได้มีบทบาทให้เราเห็น แต่ก็สามารถรับรู้ได้เองว่า การสั่งการผ่านราชาฟริตซ์ที่ถูกบงการโดยเหล่านักการเมืองและตระกูลรีสต์ในเรื่องนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่มีอาณาเขตเพียงแค่ในกำแพงและไม่มีการเข้าถึงข้อมูลอย่างกว้างขวาง ละเอียด และรวดเร็วได้ด้วยตัวเองเช่นนี้ (ใช่เพราะในโลกและยุคสมัยของ Attack on Titan ไม่มีอินเทอร์เน็ต) ประชาชนชาวกำแพงดูจะต้องการอะไรบางอย่างที่เป็นศูนย์รวมของจิตใจไม่น้อย
หลังจากที่ความจริงถูกเปิดโปง การรัฐประหารเกิดขึ้น และฮีสทอเรีย รีสต์ ผู้มีสิทธิ์โดยชอบธรรมตัวจริงได้เป็นราชินีแห่งเกาะสวรรค์ ทุกอย่างก็ดูจะเปลี่ยนไป ซึ่งเหมือนจะดีในทีแรก แต่แท้จริงแล้วทุกอย่างก็ยังคงเหมือนเดิม และไม่ได้เลวร้ายน้อยลงกว่าเดิมเลย
เพราะดูเหมือนว่าในโลกภายในชั้นกำแพงนี้ (เช่นเดียวกับโลกความจริง) อำนาจที่แท้จริงที่ยึดกับตัวบุคคลและถูกมองเป็นศูนย์รวม ในบางครั้งก็ไม่อาจสู้ ‘กำลัง’ ‘อาวุธ’ และ ‘จำนวน’ ได้ เป็นสาเหตุให้เหล่าสารวัตรทหารกับเหล่าผู้บัญชาการทหารมองว่า ฮีสทอเรีย รีสต์ ก็ไม่พ้นเป็นเพียงหุ่นเชิดที่พวกเขาสามารถที่จะบีบบังคับให้เธอกระทำการใดใด หรือทำการตัดสินใจครั้งสำคัญอะไรก็ได้ ไม่ต่างจากราชาฟริตซ์ปลอมๆ คนก่อน
สังเกตได้จากประโยคที่ตัวละครกลุ่มสารวัตรทหารในฉากนี้ของตอนที่ 69 พูดถึงราชินีฮีสทอเรียรีสต์ ในเชิงดูถูก และต้องการใช้เธอเป็นเครื่องมือ ก็พอบอกได้แล้วว่า ในการบูชาตัวบุคคลก็ยังมีกรณีที่ตัวบุคคลนั้นเป็นรองจากอำนาจที่แท้จริงอีกที
ทั้งสองเคส ของราชาหุ่นเชิดกับฮีสทอเรีย จึงนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจว่า “การบูชาตัวบุคคลนั้น แท้จริงแล้วเรากำลังบูชาใครหรืออะไรอยู่กันแน่?” เพราะการแทรกแซงและควบคุมอำนาจที่ได้ผลนั้น จะได้ผลชนิดที่ว่าเราไม่มีทางรู้คำตอบนี้ได้เลย เหมือนที่เรากับตัวละครหลักและชาวกำแพง เชื่ออีกอย่าง จนกว่าจะมีการเปิดเผยความจริงเกิดขึ้น
อีกเรื่องราวหนึ่งที่น่าสนใจในอีกฟากฝั่งของทะเล ในประเทศมาเลย์เองก็มี propaganda และการบูชาบุคคลประมาณนี้เช่นกัน นั่นก็คือ ‘เฮลอส’ วีรบุรุษปลอมๆ ที่กษัตริย์ฟริตซ์องค์ที่ 145 แต่งเรื่องราวหลอกๆ ขึ้นมาว่า ชายคนนี้ได้ร่วมมือกับตระกูลไทเบอร์ที่ถือครองพลังไททันค้อนสงคราม ในการขับไล่ตัวเขาเองไปยังเกาะสวรรค์ นี่เป็นการตอกย้ำว่า “มนุษย์มักต้องการเรื่องราวและต้องการวีรบุรุษในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเสมอ”
เพราะอะไรน่ะหรอ? เพราะสำหรับการที่จะเชื่อในเรื่องเรื่องหนึ่ง การมีเนื้อเรื่องและตัวละครฮีโร่มันดูน่าหลงใหลกว่าไงล่ะ
เมื่อสตอรี่ดูยิ่งใหญ่ มีการเชิดชูบูชาจริงๆ จังๆ มีการสร้างรูปเคารพเกิดขึ้น รวมถึงการการกล่าวขาน มีการยอมรับ มีการจดบันทึกและบอกต่อ เรื่องจริงบางส่วนที่ถูกบิดเบือนหรือแม้แต่เรื่องราวแต่ง (ซึ่งเข้าข่าย imaginative reality ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้) ก็สามารถกลายเป็นจริงใหม่ขึ้นมาได้ และความเป็นจริงนั้นไปแทนที่ความเป็นจริงของจริงจนนานวันเข้าได้กลายเป็น “ความเป็นจริงที่แท้จริงในสายตาของผู้คนจำนวนมาก” ในที่สุด
และในเคสล่าสุด ประเด็นร้อนที่มีการพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้หลังจากอีพีล่าสุดออนแอร์เมื่อวันก่อน นั่นก็คือการก่อการร้ายเพื่อปล่อยตัวเอเรนโดยกลุ่มผู้สนับสนุนเอเรน เยเกอร์ หรือกลุ่มเยเกอร์ (Yaegerists) ที่ก่อตั้งโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ เป็นกำลังสำคัญและสนับสนุนผู้นำอย่างสองพี่น้องเอเรนและซีค เยเกอร์ ในการทวงความยิ่งใหญ่ของชาวเอลเดียกลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยการปลุกไททันนับล้านในกำแพงให้ตื่นขึ้นมาเหยียบย่ำโลกให้จมตามแผนการ ‘พิภพคำราม’
นับตั้งแต่การค้นพบในตอนแรกๆ ว่าเอเรน เยเกอร์ เป็นมนุษย์ที่สามารถแปลงร่างเป็นไททันได้ จนไปถึงการเปิดเผยว่าเขาได้ถือครองอีกหนึ่งพลังที่เป็นชนวนสำคัญของสงครามใหญ่ครั้งนี้ นั่นก็คือ ‘พลังไททันบรรพบุรุษ’ ชื่อของเอเรนก็เป็นที่รู้จักในหมู่ทหารด้วยกันและชาวกำแพงมาอย่างยาวนาน ยิ่งเขามีบทบาทในขู่ทหารมาเลย์ที่เดินทางมาทางเรือ และการบุกโจมตีมาเลย์อันอุกอาจครั้งล่าสุด
มันยิ่งตอกย้ำว่า ถ้ามีใครซักคนแน่พอที่จะเป็นศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนในกำแพงจำนวนมากได้ เอเรนคือผู้ที่เหมาะสมที่จะเป็นคนนั้น ด้วยพลังที่เปรียบได้กับพระเจ้าของเขา
จะเห็นได้ว่าเอเรนไม่ได้เป็นตัวเอกสาย helpless ที่ต้องให้คนอื่นมาปกป้องและช่วยเหลือเหมือนเดิมอีกแล้ว เอเรนคนนี้ ไม่เพียงแต่พร้อมทำทุกอย่างเพื่อปกป้องบ้านเกิดและเพื่อนที่เติบโตมาด้วยกัน แต่เขาพร้อมที่จะทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว และใช้ประโยชน์จากการที่ผู้คนเทิดทูนบูชาเขาให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เขาต้องการ
เอเรนมีผู้นำการสนับสนุน คือ ‘ฟล็อค’
ในขณะที่ซีค มีผู้นำการสนับสนุนคือ ‘เยเลน่า’
ทั้งคู่ ต่างก็รู้สึกเทิดทูน และเคารพบูชาในพลังไททันอันยิ่งใหญ่ของสองพี่น้องเยเกอร์ จนเกิดความศรัทธา ไว้เนื้อเชื่อใจ และพร้อมที่จะกระทำการใดใดตามประสงค์และภายใต้นามของเอเรนและซีคอย่างไร้ข้อกังขา ไม่ว่าจะผิดหรือถูก ไม่ว่าจะสั่งให้ทำอะไร แม้กระทั่งสิ่งนั้นหมายถึงการเข่นฆ่า การเป็นกบฏต่อบ้านเกิดเมืองนอน รวมไปถึงการสละชีพก็ตาม
สิ่งที่ทำให้เคส imaginative reality ของกษัตริย์ฟริตซ์หุ่นเชิด, ราชินีของฮีสทอเรีย และตำแหน่งวีรบุรุษจอมปลอมของเฮลอส ต่างจากเคสของสองพี่น้องเยเกอร์ นั้น ก็คือ ตำแหน่งและบทบาทของทั้งสามเป็นเพียงความเป็นจริงที่มนุษย์สร้างขึ้นจนเกิดการยกยอตามๆ กันทั้งๆ ที่ทั้งสามคนมีคุณสมบัติตรงกับการเป็นมนุษย์ธรรมดาทุกประการ ในขณะที่ ‘พลังของสองพี่น้องมีอยู่จริง (ตามประเภทของ cognitive reality)’ และมันยกระดับพวกเขาจากการเป็นมนุษย์ธรรมดาอย่างสิ้นเชิงและเห็นได้ชัด
ฉะนั้นเมื่อนำมาผสมรวมกันกับการยกย่องให้สองพี่น้องเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะสั่นสะเทือนโลกใบนี้ (เข้าข่าย imaginative reality ที่ตามลำพังก็อันตรายอยู่แล้ว) นั่นทำให้การบูชาตัวบุคคลยิ่งนำไปสู่สถานการณ์ที่อันตราย และไม่สามารถหยุดยั้งหรือคาดเดาได้อีกต่อไป
ตอนล่าสุดของ Attack on Titan แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การบูชาตัวบุคคลนอกจากจะเหมือนการปิดหูปิดตาตัวเองและเดินตามทิศทางที่ถูกจับวางให้เดินแล้ว ยังสามารถนำมาซึ่งการกระทำอันก่อให้เกิดผลกระทบทางลบได้ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงมหาศาล โดยที่เจ้าตัวอาจไม่ได้ตระหนัก (หรือตระหนักแต่ไม่แคร์) เลยว่าเพียงเพื่อหรือในนามของคนคนหนึ่งที่ตัวเองเทิดทูนและเคารพบูชา พวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง และมันทำให้เพื่อนมนุษย์กี่คนต้องได้รับผลกระทบจากการกระทำนั้นๆ ของพวกเขา