เมื่อเร็วๆ นี้ มีเรื่องฮือฮาในวงการศิลปะร่วมสมัย โดยมีที่มาจากนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะชุดล่าสุดของศิลปินชื่อดังชาวอังกฤษอย่าง เดเมียน เฮิร์สต์ (Damien Hirst) ที่มีชื่อว่า The Veil Paintings ส่วนเรื่องที่ฮือฮากันก็คือ ผลงานในนิทรรศการนี้ เป็นผลงานที่เฮิร์สต์เป็นคนลงมือทำขึ้นด้วยมือตัวเองล้วนๆ แต่เพียงผู้เดียวเชียวนะเออ!
ถามว่าศิลปินทำงานด้วยตัวเอง มันน่าตื่นเต้นตรงไหนเหรอ?
ก็ต้องเท้าความก่อนว่า พ่อยอดชายนายเฮิร์สต์เขาเป็นศิลปินในแนวคอนเซ็ปชวล (Conceptual Art) ที่ให้ความสำคัญกับความคิดมากกว่าสุนทรียะหรือความงาม และปฏิเสธความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งของงานศิลปะ รวมถึงปฏิเสธค่านิยมที่ว่าศิลปะต้องทำขึ้นจากทักษะอันเลิศล้ำชำนาญของศิลปินแต่เพียงผู้เดียวอย่างสิ้นเชิง ศิลปินในแนวทางนี้จึงมักจะไม่ลงมือทำงานด้วยตัวเอง หากแต่จ้างช่างในโรงงานผลิต หรือให้ผู้ช่วยและทีมงานเป็นคนทำผลงานขึ้นมาแทน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปินอย่างเดเมียน เฮิร์สต์ ที่ทำงานแหวกขนบธรรมเนียมเดิมๆ ของวงการศิลปะแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ด้วยการเอาซากศพฉลามแช่ในแทงก์กระจกใสใส่ฟอร์มาลีน หรือเอาซากศพวัว, แกะ, แพะ, หมู มาผ่าซีกดองฟอร์มาลีนในตู้กระจก หรือหล่อแบบจากหัวกระโหลกของคนจริงๆ เอามาฝังเพชร หรือการเอาซากหัววัววางจมกองเลือดให้แมลงวันไต่ตอมหนอนชอนไชให้เห็นกันจะจะในตู้กระจก และทำอะไรอุตริพิลึกพิลั่นอีกมากมายหลายอย่างในนามของศิลปะ หรือแบบเบาๆ หน่อย ก็วาดภาพแพทเทิร์นจุดสีบนพื้นขาว หรือวาดภาพแนวนามธรรมด้วยการเทสีลงบนเฟรมผ้าใบที่กำลังหมุนติ้วอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้เขาก็ไม่ได้เป็นคนลงมือลงแรงทำด้วยตัวเองแต่อย่างใด (จริงอยู่ ที่เฮิร์สต์เคยวาดจุดสีลงบนภาพสักยี่สิบสามสิบจุด พอหอมปากหอมคอ แล้วก็ปล่อยให้ทีมผู้ช่วยของเขาวาดอีกพันกว่าจุดที่เหลือในหลายร้อยภาพให้อยู่ดี)
แต่กับผลงานชุดล่าสุดของเขาในนิทรรศการที่ว่านี้ เฮิร์สต์เป็นผู้ลงมือวาดภาพจำนวน 24 ชิ้น ด้วยตัวเองทั้งหมด โดยไม่มีผู้ช่วยแต่อย่างใด ซึ่งถ้าใครไม่เชื่อ เขาก็มีวิดีโอบันทึกการทำงานของตัวเองเป็นหลักฐานเอาไว้ด้วยแหละนะ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เฮิร์สต์วาดภาพด้วยตัวเอง ก่อนหน้านี้ในปี 2012 เขาก็เคยแสดงนิทรรศการภาพวาดที่เขาลงมือวาดด้วยตัวเองทั้งหมด ในหอศิลป์ ไวท์ คิวบ์ (White Cube Gallery) กรุงลอนดอน ซึ่งก็โดนนักวิจารณ์สับเละ ทั้งยังแขวะว่าเฮิร์สต์ไม่ใช่จิตรกรในทุกแง่มุมโดยสิ้นเชิง แม้จะเป็นแบบขำๆ ก็ไม่มีทาง (จริงๆ ก็ว่ากันเกินไป เพราะเราดูแล้วมันก็ออกจะสวยอยู่ไม่น้อย แถมหนึ่งในภาพวาดชุดนี้ก็ยังถูกนำไปเป็นภาพปกหนังสือ On the Origin of Species ของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ในวาระครบรอบ 150 ปี เลยด้วย) ซึ่งดูเหมือนตัวเฮิร์สต์เองก็หาได้แคร์เสียงวิจารณ์แต่อย่างใด
อันที่จริงในปี 2009 เขาก็เคยประกาศเอาไว้ว่า ศิลปะคอนเซ็ปชวล และ มินิมอลลิสม์ นั้นได้ถึงทางตันอย่างสิ้นเชิงแล้ว และเขาคิดว่างานจิตรกรรมหรือการวาดภาพเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ศิลปินยุคนี้ควรจะทํากัน
แต่ในปี 2017 เฮิร์ตส์ก็จัดงานแสดงศิลปะแนวคอนเซ็ปชวลครั้งยิ่งใหญ่ที่เมืองเวนิส อิตาลี อย่าง Treasures from the Wreck of the Unbelievable ที่เขาและบริษัท Science Ltd ของเขาทุ่มทุนสร้างถึง 65 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นงานที่เอะอะมะเทิ่งและบ้องตื้น รวมถึงอาจเป็นจุดอัปปางในวิชาชีพของเขา บ้างก็ว่ามันเป็นนิทรรศการที่เลวร้ายที่สุดของวงการศิลปะร่วมสมัยในรอบสิบปีที่ผ่านมาอย่างไม่ต้องสงสัย (แต่อย่างไรก็ดี ผลงานในนิทรรศการชุดนี้ก็ถูกนักสะสมซื้อไปในราคาแพงกว่าต้นทุนอย่างมากมายมหาศาลอยู่ดี)
จนมาในปี 2018 นี่แหละ ที่เฮิร์ตส์ตัดสินใจเปลี่ยนวิถีการทำงานศิลปะของตัวเองอย่างสิ้นเชิง ด้วยการกลับไปหาอะไรที่เบสิกอย่างการวาดภาพด้วยมือของเขาเอง โดยก่อนหน้านี้เขาโพสต์วิดีโอลงอินตราแกรมส่วนตัวของเขา ซึ่งภาพที่เห็นเป็นอะไรที่ไม่มีใครคาดคิดว่าเขาจะทำ มันเป็นภาพของเฮิร์สต์สวมเสื้อยืดสีดำ เนื้อตัวเสื้อผ้าเปื้อนสี ยืนอยู่หน้าเฟรมผ้าใบวาดรูปขนาดมหึมาที่เต็มไปด้วยรอยจุดหลากสีสันอย่าง ชมพู, เหลืองแก่, เหลืองมะนาว, แดงสด ฯลฯ มือถือพู่กันจุ่มสีในถังแตะแต้มลงบนผ้าใบ
เฮิร์สต์กล่าวว่าเขาได้แรงบันดาลใจในการทำผลงานชุดนี้จากงานจิตรกรรมพ้อยติลลิสม์* ของ เซอรา และงานของจิตรกรโพสต์–อิมเพรสชันนิสม์ (Post-Impressionism) ชาวฝรั่งเศสอย่าง ปีแยร์ บอนาร์ (Pierre Bonnard) โดยเขาเขียนลงในอินสตาแกรมว่า
“ผมหลงรักบอนาร์ และสีสันของเขาตลอดมา ผมเคยไปดูงานแสดงของเขากับ เดอ โกนิง ที่ศูนย์ศิลป์ปอมปิดู (Centre Georges Pompidou) ในปารีส ตอนผมเป็นนักเรียน งานของพวกเขาทำให้ผมคลั่งไปเลย
*พ้อยติลลิสม์ (Pointillism) จิตรกรรมผสานจุดสี คือเทคนิคการวาดภาพที่ใช้จุดสีเล็กๆ หลากสีสันผสมผสานรวมตัวขึ้นมาเป็นภาพ เมื่อมองด้วยตา ซึ่งพัฒนาขึ้นในปี 1886 โดยจิตรกรโพสต์–อิมเพรสชันนิสม์ชาวฝรั่งเศสอย่าง ฌอร์ฌ เซอรา (Georges Seurat) และ ปอล ซินยัค (Paul Signac)
ผมเรียกภาพวาดชุดใหม่ที่ผมทำว่า The Veil Paintings (ภาพวาดผ้าคลุมหน้า) มันเหมือนภาพวาดนามธรรมขนาดใหญ่ของบอนาร์ ผมลองเล่นกับขนาดของมันดู และภาพขนาดใหญ่ก็สมบูรณ์แบบมากๆ ใครเล่าจะไม่รักสีสัน และแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบหมู่มวลดอกไม้ ส่วนที่เหลือก็ช่างแม่งเหอะ”
เฮิร์สต์โพสต์วิดีโอการวาดภาพของตัวเองลงในอินสตาแกรมของเขาหลายครั้ง ซึ่งจะว่าไป ท่วงทีลีลาในการวาดภาพของเขาในสตูดิโอ ที่เราเห็น ก็ดูละม้ายคล้ายกับเป็นศิลปะการแสดงสดอยู่เหมือนกัน ดังเช่นในวิดีโอตัวหนึ่งที่เฮิร์สต์ยืนห่างจากเฟรมผ้าใบ มือถือพู่กันยาวเฟื้อย จุ่มสีในถัง และสะบัดซัดสีลงบนผ้าใบ ราวกับกำลังทำงานจิตรกรรมแบบแอ็กชั่น เพนติ้ง* ก็ไม่ปาน
*แอกชั่น เพนติ้ง (Action Painting) ประเภทหนึ่งของงานจิตรกรรมในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ Abstract Expressionism ที่แทนที่จะใช้วิธีการจับพู่กันวาดภาพตามปกติ พวกเขากลับใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายแทบทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น แขน ไหล่ ขา ฯลฯ สำแดงท่วงทีในการใช้สีสันสร้างภาพให้ปรากฏขึ้นมา ด้วยการตวัด, สะบัด, สาด, เทสีใส่ผืนผ้าใบ บ้างก็เอาสีใส่ลูกโป่งแล้วปาใส่ผืนผ้าใบบนผนัง บ้างก็เทสีใส่ตัวแล้วไถลตัวใส่หรือวิ่งชนผืนผ้าใบก็ยังมี ด้วยวิธีการเช่นนี้ จิตรกรแอ็กชั่น เพนติ้งเชื่อว่ามันจะเป็นหนทางถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและแรงกระตุ้นภายในของพวกเขาลงบนผืนผ้าใบได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด ศิลปินที่โด่งดังในแนวทางนี้ก็มี แจ็กสัน พอลล็อค (Jackson Pollock), ฟรันซ์ ไคลน์ (Franz Kline), ฟิลลิป กัสตัน (Philip Guston), ลี เครสเนอร์ (Lee Krasner) และ วิลเลิม เดอ โกนิง (Willem de Kooning) เป็นอาทิ
“ผมใช้เวลาหนึ่งปีในสตูดิโอ เพื่อวาดภาพชุดนี้ทั้งหมดอย่างเอาเป็นเอาตาย จนเนื้อตัวเปรอะเปื้อนสีไปหมด มันเป็นหนทางใหม่ในการทำงานสำหรับผม เพราะที่ผ่านๆ มา การวาดภาพของผม ผมก็แค่วาดภาพสองภาพแล้วก็หยุด จะกลับมาทำอีกก็ต่อเมื่อผมมีอารมณ์อยากทำเท่านั้น”
ศิลปินผู้เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับนักวิจารณ์ที่คอยถามไถ่ว่า เขามีหน้าเซ็นชื่อตัวเองลงบนงานที่ทำโดยผู้ช่วย ตอนนี้กลับป่าวประกาศว่าเขาทำงานด้วยตัวเอง (แล้วนะโว้ย!)
เฮิร์สต์ยังบอกอีกว่า พื้นผิวของภาพวาดเหล่านี้ทำให้เขานึกถึงขนมหวานที่เป็นก้อนน้ำตาลหลากสีสันสดใสในถุง ที่เขาเคยได้จากคุณยายตอนเด็กๆ
“สำหรับภาพวาดชุดนี้ ผมแค่คิดว่า ช่างแม่งวะ! ผมแค่ต้องการกลับไปหาความรู้สึกดั้งเดิมเกี่ยวกับสีสัน ลืมแพทเทิร์นและระบบระเบียบอะไรออกไปให้หมด ผมแค่ต้องการเฉลิมฉลองสีสันและความยุ่งเหยิงด้วยวิธีที่ยิ่งใหญ่เท่านั้นเอง”
แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะตื่นเต้นและหลงใหลได้ปลื้มไปกับภาพวาดชุดใหม่ของเฮิร์สต์กันหมด เพราะนอกจากนักวิจารณ์ศิลปะจะลับปากกาเตรียมรอสับผลงานของเขาแล้ว ผลงานชิ้นนี้ยังโดนข้อหาก๊อปปี้แรงบันดาลใจมาจากงานของคนอื่นอีกด้วย
เรื่องของเรื่องก็คือ ชุมชนพื้นเมืองชาวอะบอริจิน ใน นอร์ทเทิร์น เทอริทอรี ออสเตรเลีย ที่มีชื่อว่า ยูโทเปีย (Utopia) ออกมากล่าวหาว่า ภาพวาดชุดใหม่ของ เดเมียน เฮิร์สต์ นั้นน่าจะหยิบฉวยแรงบันดาลใจจากผลงานของจิตรกรพื้นเมืองของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของ เอมิลี เคม แคงเวรี (Emily Kame Kngwarreye) และ พอลลี เองเกล (Polly Ngale) ศิลปินคนสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะพื้นเมืองร่วมสมัยของชนเผ่าอะบอริจิน โดยไม่ให้เครดิต
ภาพวาดที่เรียกว่า ‘ภาพวาดลายจุดทะเลทราย’ เป็นภาพวาดลายจุดของภูมิทัศน์ทางอากาศที่วาดจากความทรงจำของศิลปินพื้นเมืองด้วยความอุตสาหะเหล่านี้ เปรียบเสมือนการถ่ายทอดวัฒนธรรมแห่งทะเลทรายลงบนผืนผ้าใบเพื่อให้คนรุ่นหลังในชุมชนเรียนรู้อดีตของพวกเขา
บรอนวิน แบนครอฟต์ (Bronwyn Bancroft) ศิลปินพื้นบ้านและคณะกรรมการศูนย์กฎหมายศิลปะของชุมชน กล่าวว่า เธอเชื่อว่าเธอเห็นลักษณะของภาพวาดลายจุดทะเลทรายในผลงานชุดใหม่ของเฮิร์สต์อย่างชัดเจน
“ศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างเฮิร์สต์ แค่กล่าวว่าผลงานชุดใหม่ของเขาได้แรงบันดาลใจจากศิลปะพ้อยติลลิสม์ และโพสต์–อิมเพรสชันนิสม์ โดยไม่ได้อ้างอิงถึงขบวนการศิลปะของชาวอะบอริจิ้นเลยแม้แต่น้อย จริงอยู่ที่คุณไม่สามารถจดลิขสิทธิ์สไตล์ทางศิลปะ แต่มันก็มีสิ่งที่เรียกว่าลิขสิทธิ์ทางจริยธรรม ฉันคิดว่าอย่างน้อยที่สุด เดเมียน เฮิร์สต์ น่าจะประกาศให้โลกรู้ว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากขบวนการศิลปะของชาวอะบอริจิ้นมา”
ซึ่งในเรื่องนี้ ทางโฆษกของเฮิร์สต์ก็ออกมาแถลงว่าเขาเคยไม่รู้จักผลงานหรือศิลปินเหล่านี้แต่อย่างใด แต่เขาเองก็มีความเคารพต่อความสำคัญของคุณค่าทางศิลปะในทุกวัฒนธรรมอยู่แล้ว
และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เฮิร์สต์ถูกกล่าวหาว่าหยิบฉวยแรงบันดาลใจมาจากผลงานของคนอื่น ก่อนหน้านี้เขาถูก จอห์น ลีเคย์ (John LeKay) ศิลปินชาวอังกฤษ กล่าวหาว่าขโมยความคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประติมากรรมกระโหลกฝังเพชร ที่ลีเคย์กล่าวว่าตนเป็นคนคิดไอเดียนี้ขึ้นมาก่อน
“พอผมได้ข่าวว่าเขาทํางานนี้ ผมรู้สึกเหมือนถูกชกเข้าที่ท้อง เมื่อผมเห็นภาพงานชิ้นนี้ทางอินเทอร์เน็ต ผมรู้สึกว่ามันมีความคิดของผมอยู่ในนั้น มันเป็นอะไรที่ช็อกมาก” ลีเคย์กล่าว
ลีเคย์กล่าวว่าเขาเป็นเพื่อนกับเฮิร์สต์ ระหว่างปี 1992 และ 1994 แถมยังเคยแสดงงานร่วมกัน เขายังกล่าวอีกว่า เฮิร์สต์ได้ไอเดียในการทํางานศิลปะซากศพอันอื้อฉาวของเขามาจากแคตตาล็อกของบริษัทขายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ Carolina Biological Supply ที่เขาให้เฮิร์สต์เป็นของขวัญ
“คุณไม่มีทางนึกออกเลยว่าเขาได้ไอเดียจากแคตตาล็อกเล่มนี้ขนาดไหน… ผมอยากให้เดเมียน ออกมายอมรับความจริง และบอกต่อสาธารณชนว่าจอห์นเป็นแรงบันดาลใจให้กับงานหัวกระโหลกของเขา และมีอิทธิพลต่องานอีกหลายชิ้นของเขาอย่างมากมายแค่ไหน”
ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น ก็คงไม่มีใครรู้แน่ชัด นอกจากเจ้าตัวและคู่กรณีนั่นแหละนะ
นิทรรศการ The Veil Paintings เปิดแสดงที่หอศิลป์กาโกเซียน (Gagosian Gallery) ในลอสแอนเจลิส ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 14 เมษายน 2018
ในวันเปิดงานคับคั่งไปด้วยบรรดาอภิมหาเศรษฐีนักสะสม เหล่าขาใหญ่ในแวดวงศิลปะ, ไฮโซ, เซเลบ, นางแบบ, ร็อกสตาร์, สถาปนิกชื่อก้อง และศิลปินชื่อดังมากหน้าหลายตา
ที่สำคัญ ตัวแทนจากบริษัท Science Ltd ของเฮิร์สต์ ยืนยันหนักแน่นว่าเขาทำผลงานชุดนี้ทั้งหมดด้วยตัวเองในสตูดิโอที่ลอนดอน โดยไม่มีผู้ช่วยแม่แต่คนเดียว และยังกล่าวอีกว่า นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผลงานชุดใหม่ของเขาที่แม้จะมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร แต่กลับเปี่ยมความรู้สึกอบอุ่นคุ้นเคยและใกล้ชิดกับตัวศิลปินอย่างเฮิร์สต์ มากกว่าผลงาน ภาพวาดจุดสี ที่ผลิตในจำนวนมาก หรือผลงานศิลปะแห่งความตายของเขา
ผู้อำนวยการหอศิลป์กาโกเซียนยังกล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วที่นักสะสมงานศิลปะย่อมต้องการผลงานสดใหม่ของศิลปินระดับแบรนด์เนมอย่างเดเมียน เฮิร์สต์ ยิ่งได้รู้ว่าศิลปินลงมือทำงานเหล่านั้นด้วยตัวเอง ยิ่งถือเป็นจุดขายที่ดีงามอย่างยิ่งจริงๆ
ซึ่งก็แน่นอนว่าผลงานจิตรกรรมที่ทำด้วยน้ำมือของเฮิร์สต์ จำนวน 24 ชิ้น ตั้งแต่ขนาดเล็กที่มีราคาภาพละ 500,000 เหรียญสหรัฐ ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่มีราคาสูงถึง 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ในนิทรรศการนั้น ขายหมดไม่เหลือหลอ
หลายคนอาจะมองว่าการที่ศิลปินคอนเซ็ปชวล อย่าง เดเมียน เฮิร์สต์ หันมาทำงานวาดรูปด้วยตัวเองนั้นเป็นเพราะเขาหมดมุกหรือไอเดียตีบตัน แต่บางคนก็อาจมองว่าเป็นอะไรแบบสูงสุดคืนสู่สามัญ หรืออาจมองว่าเป็นการขบถต่อความเป็นขบถของคอนเซ็ปชวลอาร์ตอีกที
แต่ดูจากการที่ผลงานในนิทรรศการล่าสุดของเขาที่ถูกขายจนหมดเกลี้ยงแล้ว ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า เอาเข้าจริงๆ ต่อให้ศิลปินจะพยายามลดความศักดิ์สิทธิ์ ความสูงส่งของศิลปะ หรือลดความวิเศษวิโสเหนือชาวบ้านชาวช่องของศิลปินลงสักแค่ไหน ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่เรียกกันว่า Aura (แปลง่ายๆ ว่า ‘บารมี‘) ของศิลปิน ก็ยังเป็นอะไรที่จำเป็นต่องานศิลปะอยู่ดีนั่นแหละ เพราะถ้าเป็นศิลปินโนเนม หรือชาวบ้านร้านตลาด คนธรรมดาสามัญออกมาวาดภาพอะไรแบบนี้บ้าง ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครมาซื้อบ้างหรือเปล่า ว่าไหมครับ?
อ้างอิงข้อมูลจาก