“There’s some kind of implication that the audience for this film is either too stupid to pick up on how bad it is. Or that they’ve been tricked.”
มาร์ธา เชียร์เรอร์
ผู้เชี่ยวชาญละครเพลงจาก King’s College London
รุ่นน้องวัยปลายยี่สิบคนหนึ่งเพิ่งได้ดูหนังเรื่อง The Sound of Music เป็นครั้งแรก เขาตั้งคำถามกับผมว่า – นี่คือ ‘หนังดี’ ของคนสมัยก่อนโน้นจริงหรือ เพราะมันทั้งยืดยาด แลดูโฆษณาชวนเชื่อหลายอย่าง และมีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาด
เมื่อได้ฟังอย่างนั้น รุ่นพี่อีกคนหนึ่งดูเคืองๆ เล็กน้อย ที่มี ‘เด็กเมื่อวานซืน’ มาท้าทายหนังโปรดในวัยเด็กของตัวเอง รุ่นพี่คนนี้อายุห่างจากรุ่นน้องน่าจะเลยสามสิบปีได้ เขาพยายามอธิบายกับรุ่นน้องคนนั้นว่า The Sound of Music เป็น ‘หนังดีตลอดกาล’ อย่างไร
และแล้ว -ไม่ผิดคาด, คนจากสอง Generations นี้ก็ทะเลาะกัน
ถ้าจำไม่ผิด ผมดู The Sound of Music ครั้งแรกตอนอายุต่ำกว่าสิบขวบ และประทับใจกับหนังเรื่องนี้มากแม้ว่าจะฟังอะไรไม่ออกเลย เข้าใจเนื้อหาของหนังได้สัก 50% เท่านั้น แต่ก็เพลิดเพลินไปกับเพลงเพราะและตื่นตาตื่นใจไปกับฉากอลังการแสนสวย
ด้วยความที่หนังเรื่องนี้เป็นเหมือน ‘ค่ามาตรฐาน’ ของคนรุ่นก่อนโน้น (รวมถึงรุ่นผมด้วย) คือทุกคนจะต้องเคยดูกันตั้งแต่ยังเด็ก แล้วก็ถือเป็นเรื่องปกติที่แต่ละคนจะออกปากชื่นชม เพราะสิ่งที่เราได้ดูในวัยเด็ก มักจะ ‘เซ็ต’ ค่าอะไรบางอย่างในตัวเราเอาไว้โดยที่เราไม่รู้ตัว จึงไม่มีใครติติงหนังเรื่องนี้เลย มันเป็นเหมือนมาตรฐานอย่างหนึ่งในชีวิต คล้ายๆ รสชาติอาหารของแม่ที่โดยทั่วไปแล้วไม่มีใครติ และไม่มีใครคิดด้วย – ว่าโลกนี้จะมีใครมาติรสมือแม่หรือรสนิยมในการดูหนังเรื่องนี้ มันจึงกลายเป็นหนังที่ ‘ขึ้นหิ้ง’ และสำหรับหลายคน The Sound of Music แทบจะเป็นสถาบันอัน ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ที่แตะต้องวิจารณ์ไม่ได้ด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตาม คำถามของรุ่นน้องทำให้ผมฉุกใจคิดถึงประเด็นนี้ และลองกลับไปลองค้นดูว่า มีใคร ‘ไม่ชอบ’ The Sound of Music บ้างหรือเปล่า
คำตอบก็คือมี!
ที่จริง The Sound of Music เป็นหนังและละครเพลงที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเล่นครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ปีนี้จะครบ 53 ปี ที่หนังเรื่องนี้ออกฉายครั้งแรก แต่ก็เพิ่งมีการนำกลับมาฉายใหม่อีกครั้งในอเมริกา ไม่ใช่ฉายทางสตรีมมิ่งนะครับ แต่เป็นการนำหนังเข้าโรงกันเลยทีเดียว ทำให้นักวิจารณ์หนังในโลกตะวันตกหลายคนต้องเขียนถึง
และนั่นเอง – ที่ทำให้ผมอ่านเจอคำวิจารณ์รุนแรงถึงหนังเรื่องนี้อย่างที่ยกมาไว้ข้างบนสุด
ดร.มาร์ธา เชียร์เรอร์ (Martha Shearer) เป็นผู้เชี่ยวชาญละครเพลง (Musicals Expert) จาก King’s College London เคยพูดไว้ (ดูได้จากบทความนี้ www.theguardian.com) ในทำนองที่ว่า – ต้องมีนัย (implication) อะไรบางอย่างอยู่ในหนังแน่ๆ ถึงทำให้ผู้ชมชอบหนังเรื่องนี้ คือถ้าไม่ ‘โง่’ เกินไปจนไม่รู้ว่าหนังมันห่วยแค่ไหน (too stupid to pick up on how bad it is) พวกเขาก็ต้องถูกหลอก (Tricked)
The Sound of Music ออกฉายครั้งแรกในวันที่ 2 มีนาคม 1965 และประสบความสำเร็จในด้านรายได้อย่างสูงต้ังแต่ต้น เป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดในปี 1965 และหลังจากนั้นก็กลายเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลต่อเนื่องมาอีกห้าปี แซงหน้าหนังอย่าง Gone with the Wind แถมยังได้รางวัลออสการ์อีกห้าตัว รวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย
หลายคนอาจเข้าใจว่า เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ ผลักดันให้ The Sound of Music กลายเป็นภาพยนตร์ที่แทบไม่มีใครกล้าแตะต้องหรือเอ่ยถึงในแง่ลบ แต่ที่จริงแล้ว The Sound of Music ถูกนักวิจารณ์ ‘สับเละ’ มาตั้งแต่ต้น
นักวิจารณ์หนังยุคโบราณอย่าง บอสลีย์ โครว์เธอร์ (Bosley Crowther) วิจารณ์ไว้ในนิวยอร์กไทม์ส (ดูที่นี่ www.nytimes.com) หลังหนังออกฉายใหม่ๆ ว่าเป็นหนังที่ห่วยมาก เขาใช้คำว่า cosy-cum-corny เป็นหนังที่พยายามเล่นท่าง่าย คือเห็นว่าละครเพลงประสบความสำเร็จก็เลยเอามาทำเป็นหนัง แต่กลับมีจุดอ่อนเต็มไปหมด เขาวิจารณ์บทบาทของมาเรียในหนังเอาไว้ร้ายกาจรุนแรงว่าตกจมอยู่ใต้น้ำหนักของความโรแมนติกอันไร้สาระจนไร้ชีวิต
โดยรวมๆ แล้ว เสียงวิจารณ์ The Sound of Music มีด้วยกันสองแบบใหญ่ๆ แบบแรกก็คือเป็นหนังที่ ‘หวานเลี่ยน’ เกินไป (ฝรั่งใช้คำว่า Sugary หรือ Sugar-Coated คือเคลือบน้ำตาลคลุมเอาไว้จนหวานเอียน) ตัวอย่างเช่น พอลลีน คาเอล (Paline Kel) เคยเขียนวิจารณ์ The Sound of Music เอาไว้ว่าเป็น ‘คำโกหกเคลือบน้ำตาลที่ผู้คนอยากกิน” และเป็นหนังที่ก่อให้เกิด “การกดขี่อิสรภาพทางศิลปะในภาพยนตร์ที่หนักหน่วงที่สุด” พอหนังโด่งดัง ก็เลยมีผลให้เธอถูกไล่ออกจากที่ทำงานเดิม คือนิตยสารผู้หญิงชื่อ McCall’s แต่ตอนหลัง เธอย้ายมาทำงานวิจารณ์หนังให้กับ The New Yorker และกลายเป็นหนึ่งในนักวิจารณ์หนังที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา
นักวิจารณ์จาก New York Herald Tribune อย่าง จูดิธ คริสต์ (Judith Crist) และวอลเตอร์ เคอร์ (Walter Kerr) ก็ไม่ชอบหนังเรื่องนี้เพราะความ ‘หวาน’ ของมัน โดยวิจารณ์ว่าไม่ได้เคลือบน้ำตาลเฉพาะเนื้อหาของเรื่องเท่านั้น แต่กระทั่งเพลงในเรื่องก็อาจจะเข้าข่ายเพลงที่หวานเลี่ยนและ ‘เอาใจตลาด’ มากเกินไป พูดง่ายๆ ก็คือไปติติงที่ตัวเพลงอันถือเป็นหัวใจของหนังเรื่องนี้เลยทีเดียว
ที่หลายคนอาจประหลาดใจก็คือ แม้แต่นักแสดงนำในหนังเรื่องนี้อย่างคริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ ที่เล่นเป็นพระเอก ก็ยังไม่ชอบหนังเรื่องนี้ เขาเรียกหนังเรื่องนี้ว่า The Sound of Mucus และร่ำลือกันว่าก่อนจะเข้าฉากเขาต้องดื่มเหล้าให้กรึ่มๆ เสียก่อนถึงจะเล่นได้ (แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าเล่นแข็งทื่ออยู่ดี)
คำวิจารณ์อีกแนวหนึ่งก็คือ The Sound of Music เป็นหนังที่ไม่ตรงต่อประวัติศาสตร์
ซึ่งไม่ใช่เรื่องข้อผิดพลาดที่เกิดจากการดัดแปลงต่างๆ นะครับ แต่เรื่องที่นักวิจารณ์หลายคนเห็นว่า ‘สาหัส’ เอามากๆ ก็คือการที่หนังเรื่องนี้สร้าง ‘จิตสำนึกที่ผิดพลาด’ (False Conciousness) ให้กับผู้ชม โดยเฉพาะผู้ชมที่เป็นผู้เยาว์
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ หนังทำให้เรารู้สึกว่าปัญหาเรื่องนาซีบุกออสเตรียนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรนักหนา การที่พี่เลี้ยงเด็กเอาผ้าม่านมาตัดชุดให้เด็กๆ หรือพาเด็กๆ ไปร้องเพลงสนุกสนานนั้น เป็น ‘ปัญหา’ (สำหรับพ่อ) ที่ใหญ่โตไม่น้อยหน้าการที่นาซีบุกออสเตรียด้วยซ้ำไป คือคนที่วิจารณ์แบบนี้บอกว่าหนังให้น้ำหนักกับเรื่องราวสองอย่างนี้เท่าๆ กัน ทั้งที่ในระดับโลกแล้ว สองเรื่องนี้มีขนาดของนัยสำคัญแตกต่างกันราวแบคทีเรียกับดวงอาทิตย์ แต่ก็ถูกโต้กลับว่า – ก็จะเอาอะไรกับหนังที่มีเป้าหมายเพื่อความสนุกสนานบันเทิงเล่า นี่เป็นหนังเพลงนะ แล้วในความรู้สึกของตัวละครที่เป็นเด็ก การฝ่าฝืนกฎของพ่อกับการที่นาซีบุกประเทศตัวเองอาจ ‘ใหญ่’ พอๆ กันก็ได้
แต่นักวิจารณ์อีกฝ่ายก็ตอบกลับมาว่า สภาวะที่หนังสร้างขึ้น ก็คือการสร้าง Hopeless Pretense of Reality หรือเป็นการสร้าง ‘ความจริงเสแสร้งที่น่าสิ้นหวัง’ ขึ้นมา โดยเฉพาะฉากท้ายๆ ที่พี่เลี้ยงเด็กจัดการรับมือกับนาซีด้วยวิธีการและบรรยากาศเดิมๆ เหมือนการจัดการกับเด็กๆ และกัปตัน คือเอาความมั่นใจในตัวเองแบบที่ใช้จัดการกับเด็กไปจัดการกับนาซี แถมยังประสบความสำเร็จด้วย ซึ่งแม้ในแง่หนึ่งเราจะรู้ว่าเป็นไปเพื่อความบันเทิง แต่ในอีกแง่หนึ่ง – หาก ‘สาส์น’ นี้ซึมลึกลงไปในจิตใต้สำนึกของผู้ชมที่เป็นผู้เยาว์, ก็อาจเป็นเรื่องอันตรายได้เหมือนกัน
ผู้กำกับอย่างโรเบิร์ต ไวส์ (Robert Wise) ตอบโต้คำวิจารณ์เหล่านี้โดยบอกว่า นักวิจารณ์จากฝั่งตะวันออก (คือฝั่งนิวยอร์ก) รวมไปถึงเหล่าหนังสือพิมพ์ปัญญาชนทั้งหลายพยายามจะ ‘ทำลาย’ หนังเรื่องนี้ แต่ถ้าไปดูหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและผู้คนธรรมดาๆ ทั่วไป จะพบว่าพวกเขากลับต้อนรับหนังเรื่องนี้อย่างดี ดังนั้น ถ้ามองในอีกด้านหนึ่ง เราจะเห็นได้เลยว่า The Sound of Music บรรลุวัตถุประสงค์ของมันในอันที่จะสร้างความบันเทิงให้ผู้คน และคนส่วนใหญ่ในสังคม (อย่างน้อยก็ยุคนั้น) ก็ปรบมือต้อนรับหนังเรื่องนี้อย่างถล่มทลายด้วย
อย่างไรก็ตาม มาร์ธา เชียร์เรอร์ บอกด้วยว่า หนังเรื่องนี้ ‘เป่าหู’ (Manipulate) เราตั้งแต่ต้น ด้วยการให้แม่ชีออกมาร้องเพลงตั้งคำถามในตอนต้นเรื่องเลยว่า เราจะเลือกสนุกไปกับสปิริตสนุกสนานมีชีวิตชีวาของมาเรีย หรือว่าเราจะประณามเธอดีที่แหกกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่เป็นผู้ฝึกหัดเป็นนางชีที่มีระเบียบเรียบร้อย แน่นอน คนส่วนใหญ่ย่อมเลือกอยู่ข้างมาเรียมากกว่ากฎเกณฑ์ในอารามนางชีอยู่แล้ว
ในอีกด้าน นีล แบรนด์ (Neil Brand) ซึ่งเป็นนักแต่งเพลงและผู้สื่อข่าวอีกคนหนึ่งบอกว่า The Sound of Music เป็นความสำเร็จสูงสุดของฮอลลีวู้ดในฐานะมืออาชีพ (Hollywood Professionalism of the Highest Order) ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นเพราะการเลือก ‘เป่าหู’ (Manipulate) คนดูได้ถูกที่ถูกเวลาถูกจังหวะหนังนี่แหละ
จึงเป็นไปได้เช่นกันที่มนุษย์เราจะสนุกหรือยินดีปรีดาไปกับการถูก Manipulate ซึ่งเอาเข้าจริง เชียร์เรอร์ก็เห็นด้วย เธอบอกว่า – การยอมรับให้ได้เสียก่อนถึงระดับความ ‘งี่เง่า’ (Ridiculous) ของหนังเรื่องนี้ คือเงื่อนไขในการสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินให้กับการรับชม
แบรนด์บอกด้วยว่า ละครหรือหนังเพลงนั้นเป็นเรื่องราวประเภทที่ถ้าคนชอบก็ชอบไปเลย ถ้าคนไม่ชอบก็ไม่ชอบไปเลย เพราะมันประหลาดมากที่อยู่ๆ คนในชีวิตจริงจะลุกขึ้นมาร้องเพลงหรือเต้นรำโต้ตอบกัน และในหมู่นักวิจารณ์ที่เห็นว่าตัวเองเป็นปัญญาชนทั้งหลายนั้น มีแนวโน้มที่จะไม่ค่อยยอมรับหนังประเภทหนังเพลงและหนังกระแสหลักอยู่แล้ว โดยเฉพาะหนังที่มีลักษณะ ‘เป็นหญิง’ อย่าง The Sound of Music
ในหนังสือ A Problem like Maria: Gender and Sexuality in the American Musical ของ Stacy Wolf ซึ่งเป็นหนังสือเก่า (ดูรายละเอียดที่นี่ www.amazon.com) ผู้เขียนสำรวจบทบาทของ ‘ผู้หญิงแกร่ง’ (Strong Women) ในหนังเพลงหลายเรื่อง โดยผ่านแว่นแบบ Lesbian Feminist โดยผู้เขียนบอกว่า บทบาทของนางเอกใน The Sound of Music นั้น มีลักษณะที่เรียกว่า Delicious Queerness หรือมีความเป็น ‘เควียร์’ ที่ ‘เอร็ดอร่อย’
ตัวละคร ‘มาเรีย’ ที่เป็นนางเอก มีลักษณะเป็นแบบ Androgynous คือเป็นเพศไหนก็ได้ (หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือไร้เพศ) ไม่ได้มีความเย้ายวนทางเพศใดๆ เลย มาจากสำนักนางชี ตัดผมสั้น และมีความเป็นทอมบอยซ่อนอยู่ในตัวปะปนไปกับความเป็นหญิงผ่านเสียงเพลง แต่ขณะเดียวกันก็ซุกซนก๋ากั่นเหมือนเด็กๆ หนังขับเน้นไปที่ความมั่นใจในตัวเองของนางเอก ซึ่งเป็นฐานการ ‘ขบถ’ ของผู้ท่ีมีอำนาจน้อยกว่า (คือเป็นแค่พี่เลี้ยงเด็กที่เป็นลูกกำพร้า) ต่อผู้มีอำนาจมากกว่า (คือกัปตันซึ่งเป็นทหารเรือที่ร่ำรวย) แต่นักวิจารณ์บางคนก็บอกว่า นี่เป็นการขบถที่ ‘สุภาพ’ มากๆ และสุดท้ายก็ลงเอยพบรักและแต่งงานกับคนที่ตัวเองขบถด้วยอยู่ดี
จะเห็นได้ว่า The Sound of Music อันเป็นหนังเพลงที่แทบทุกคนรู้จัก เอาเข้าจริงแล้วเราสามารถ ‘ดู’ และ ‘ตีความ’ มันได้หลากหลายไม่รู้จบ ตามแต่ใครจะใช้ต้นทุนแบบไหนมามอง
แต่ก็เพราะความหลากหลายในการตีความนี่แหละ จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเลย ที่เราจะเห็นการทะเลาะกันของคนสองรุ่นว่าด้วย The Sound of Music ในแบบ ‘จะเป็นจะตาย’ เพราะคนที่อยู่ต่างยุคต่างสมัยกัน ย่อมมองเห็นถึงคุณค่าความงามที่แตกต่างกัน
เอาเข้าจริง การได้ถกเถียงกันเป็นสิ่งดีเสมอ เพราะมันช่วยเปิดโลกทัศน์ และพาเราเข้าไปสู่พรมแดนกาลเวลาใหม่ๆ ที่โดยตัวเอง – เราไม่อาจหวนกลับสู่อดีตหรือพุ่งสู่อนาคตด้วยการเกิดให้เร็วขึ้นหรือช้าลง, เพื่อไปเรียนรู้อารมณ์ความรู้สึกของคนที่มีอายุแตกต่างจากเรามากๆ ได้
The Sound of Music ไม่ใช่หนังศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ของใคร
และในโลกที่มีวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ – ก็ไม่ควรมีอะไรเป็นอย่างนั้นด้วย