สังคมไทยเป็นสังคมอาวุโสนิยม ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์คนที่ ‘มาก่อน’ ซึ่งหมายถึงอายุแก่กว่า แม้ไม่ถึงขั้นเป็นเรื่อง ‘ต้องห้าม’ แบบ Taboo เสียทีเดียว แต่กระนั้นก็เป็นเสมือนกฎลับๆ ที่ค้ำคอคนรุ่นหลังกว่า—ว่าอย่าริทีเดียวที่จะวิจารณ์คนที่ ‘สูง’ กว่า แม้สูงกว่าแค่วันเวลาที่ผ่านมาของชีวิตก็ตามที
ในหลายแวดวง โดยเฉพาะแวดวงข้าราชการ ความอาวุโสอาจหมายถึงตำแหน่งหน้าที่ที่สูงกว่าด้วยซ้ำ ไม่ว่าความสามารถจะเป็นอย่างไรก็ตามแต่
ดังนั้น ในสังคมทั่วๆ ไป จึงไม่ต้องพูดถึงคนดังๆ ทั้งหลาย ยิ่งได้รับการยอมรับนับถือมาก่อนว่าเป็นนักคิดนักเขียนของสังคม การวิพากษ์วิจารณ์จะถูกมองไปถึงขั้นลบหลู่ดูหมิ่น หรือกระทั่งไม่รู้ว่าอะไรดีชั่วด้วยซ้ำไป
แต่ในโลกตะวันตก วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ ‘ยักษ์’ หรือ ‘ผู้มาก่อน’ ในวงการต่างๆ นอกจากจะถือเป็นเรื่องปกติแล้ว ยังเป็นเรื่อง ‘จำเป็น’ อีกด้วย เพราะเมื่อเวลาผ่านไป หลักการ ความคิด อุดมคติ คุณค่า ฯลฯ ก็เปลี่ยนไป สิ่งที่เคยมีอิทธิพลอย่างสูงต่อสังคมในยุคหนึ่งจึงอาจไม่ได้มีคุณค่าแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่ถ้าปราศจากการตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์ ก็อาจมีคนอีกไม่น้อยที่ยังหลงติดอยู่ในกับดักแห่งอดีต จนมองไม่เห็นอาการ ‘พ้นสมัย’ หรือ ’หมดอายุ’ ของชุดความคิดบางอย่างได้ ยิ่งถ้าชุดความคิดนั้นๆ อยู่ในหัวของผู้อาวุโสที่มีอำนาจและอิทธิพลต่อสังคม ก็จะส่งผลให้เกิดความ ‘หนืด’ ในการก้าวไปข้างหน้าได้ไม่น้อย เพราะอิทธิพลเก่าๆ เหล่านั้นยังหน่วงรั้งเอาไว้
การวิจารณ์เป็นเรื่องจำเป็น เพราะมันคือการย้อนกลับไป ‘ตรวจสอบ’ ว่าสิ่งที่เราเคยเห็นว่าก้าวหน้าในยุคหนึ่ง แท้จริงแล้วมันมีข้อบกพร่องผิดพลาดอย่างไรบ้างไหม
แต่แน่นอน เราจะเห็นการวิพากษ์ใน ‘ยุคใหม่’ ที่เหวี่ยงข้างไปอีกแบบ โดยเฉพาะในบางสื่อที่อาจวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำรุนแรง แต่ถ้อยคำรุนแรงยังไม่เป็นปัญหาเท่ากับเป็นการวิจารณ์โดยไม่เข้าใจข้อจำกัดและบริบทของยุคสมัยที่ความคิดเก่าๆ ก่อเกิด หลายคนเกิดอาการคาดคั้นเอาเป็นเอาตายกับผู้สร้างงานในอดีตที่ไม่เป็นไปตามคุณค่าหรืออุดมคติของยุคใหม่ จนก่อให้เกิดผลลบและรอยร้าวรุนแรง จากที่คิดว่าจะรื้อสร้าง—ก็อาจกลายเป็นการทำลายไปได้
ที่จริงแล้ว ถ้าคนรุ่นหลังที่ทำหน้าที่วิจารณ์และตรวจสอบคนรุ่นก่อนเข้าใจหลักการวิจารณ์ที่ดีได้ และคนถูกวิจารณ์ก็เข้าใจได้เหมือนกันว่าการถูกคนรุ่นหลังวิจารณ์เป็นเรื่องที่ควรทำด้วย สังคมของเราก็คงจะก้าวไปข้างหน้าได้รวดเร็วและมั่นคงกว่านี้
หลายคนอาจบอกว่า—ไหน, ยกตัวอย่างมาให้ดูหน่อย ว่างานวิจารณ์คนรุ่นก่อนที่ดีมันเป็นอย่างไร และก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างไรบ้าง
ก็เลยอยากยกตัวอย่างการวิจารณ์งานเขียนของเฟมินิสต์คนสำคัญที่สุดในโลกคนหนึ่งขึ้นมาให้ดูกัน
เฟมินิสต์คนที่ว่า มีชื่อว่า เบ็ตตี้ ฟรีแดน (Betty Fredan)
เธอเขียนหนังสือเล่มสำคัญอันเป็นหมุดหมายของเฟมินิสม์คลื่นลูกที่สอง เล่มที่มีชื่อว่า Feminine Mytique ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1963 และก่อให้เกิดคลื่นสั่นสะเทือนสังคม ผู้หญิงเริ่มรู้สึกว่าตัวเองต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม โดยฟรีแดนพูดถึงปัญหานี้ว่าเป็น The problem that has no name เพราะปัญหาเรื่องผู้หญิงในยุคโน้น ยังไม่มีใครตระหนักว่ามันคือปัญหา ผู้หญิงต้องติดขังอยู่ในความเป็นเมียและแม่ ไม่สามารถจินตนาการถึงชีวิตแบบอื่นได้ โดยเฉพาะชีวิตของการออกมาทำงานนอกบ้าน
หนังสืออย่าง Feminine Mystique จึงเป็นเหมือนหนังสือศักดิ์สิทธิ์ เป็นคัมภีร์ของเฟมินิสต์ในยุคโน้น เพราะมันคือหลักไมล์และแรงบันดาลใจ ทำให้เฟมินิสม์ได้ก้าวต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ใช่—ปัจจุบันที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เมื่อคราวที่หนังสือเล่มนี้มีอายุครบ 50 ปีหรือกึ่งศตวรรษเมื่อปี ค.ศ.2013 มันถูกหยิบมา ‘อ่านใหม่’โดยคนจำนวนมาก และผู้คนก็เริ่มย้อนกลับไปตั้งคำถามกับหนังเล่มนี้ (รวมถึงตัวฟรีแด—ผู้เขียนด้วย) ว่ามันมีอะไรที่จำเป็นต้องวิพากษ์วิจารณ์กันหรือไม่
บทความใน The Atlantic โดยแอชลีย์ เฟตเทอร์ส (Ashley Fetters) ได้สรุปรวมข้อบกพร่องของ Feminine Mystique เอาไว้ 4 เรื่องใหญ่ๆ ด้วยกัน
เรื่องแรกก็คือ แม้จะเป็นหนังสือที่เรียกร้องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ แต่มันกลับเป็นหนังสือที่มีความ ‘เหยียดผิว’ (racism) และ ‘เหยียดชนชั้น’ (classism) อยู่ในตัวไม่น้อย
ที่จริงเรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1984 แล้ว เมื่อเฟมินิสต์อีกคนหนึ่ง (เห็นไหม – เฟมินิสต์ก็วิพากษ์ตรวจสอบกันเอง) ที่เลือกใช้นามปากกาโดยไม่ได้นำด้วยตัวอักษรใหญ่ว่า เบล ฮุคส์ (beel hooks) ลุกขึ้นมาโจมตี Feminine Mystique ว่ามันเหยียดผิว
เบล ฮุคส์ เป็นเฟมินิสต์ผิวสีที่บอกว่า แม้หนังสือเล่มนี้จะจุดประกายให้เกิดเฟมินิสต์คลื่นลูกที่สอง แต่มันไม่ได้พูดถึงปัญหาของผู้หญิงที่เป็นสากลทั้งหมด แต่สนใจเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่ ‘แม่’ และ ‘เมีย’ ที่เป็นผู้หญิงผิวขาวชนชั้นกลางเท่านั้น โดยฮุคส์บอกว่า ฟรีแดนเขียนราวกับว่า ในโลกนี้นั้น ผู้หญิงผิวสีอื่นๆ และอยู่ในชนชั้นอื่นๆ ไม่ได้มีตัวตนอยู่เลย ตัวอย่างเช่น ในช่วงนั้น จริงๆ แล้วมีผู้หญิงออกมาอยู่ในตลาดแรงงานแล้วมากถึงหนึ่งในสาม แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงผิวสี หรือทำงานประเภทใช้แรงงาน ไม่ได้สังกัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง แต่ฟรีแดนก็ไม่ได้เรียกร้องให้กับผู้หญิงเหล่านี้ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตได้มากเท่ากับผู้หญิงแม่บ้านผิวขาวชนชั้นกลาง
อีกคนหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ฟรีแดนย้อนกลับไปในอดีต ก็คือแดเนียล โฮโรวิตซ์ (Daniel Horowitz) ซึ่งเขียนงานเกี่ยวกับฟรีแดนและหนังสือของเธอโดยตรง
เขาพบว่า ตอนที่หนังสือออกนั้น ฟรีแดนอ้างและโปรโมตหนังสือโดยใช้จุดขายว่าตัวเธอเป็นเพียงแม่บ้านธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้คำเรียกร้องในหนังสือสมจริง แต่แท้จริงแล้ว โฮโรวิตซ์พบว่า ฟรีแดนไม่ได้เป็นแค่แม่บ้านธรรมดาๆ คนหนึ่ง จากการค้นคว้าของโฮโรวิตซ์ ฟรีแดนเคยเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ในมหาวิทยาลัย และหนังสือพิมพ์ของฝ่ายซ้าย เธอเป็นนักข่าว เขียนงานเรียกร้องการจ่ายค่าแรงให้เท่าเทียมกันมานานแล้ว ดังนั้น เธอจึงไม่อาจเป็น ‘ภาพตัวแทน’ แม้กระทั่งกลุ่มแม่บ้านผิวขาวชนชั้นกลางได้เหมือนที่กล่าวอ้างในหนังสือ เพราะจริงๆ แล้วเธอคือนักหนังสือพิมพ์ฟรีแลนซ์ที่เดินทางไปทำข่าวตามที่ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เธอจึงไม่ใช่แม่บ้านอย่างที่กล่าวอ้างไว้ในหนังสือ
ประเด็นถัดมาก็คือ หนังสือ Feminine Mystique นั้น ใช้ข้อมูลไม่น้อยจากนักวิชาการคนดังสองคน คือ มาร์กาเร็ต มีด (Margaret Mead) ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยา กับอัลเฟร็ด คินซีย์ (Alfred Kinsey) ที่ศึกษาเรื่องคนรักเพศเดียวกัน แต่ปรากฏในภายหลังว่า ข้อมูลที่ทั้งมีดและคินซีย์นำเสนอนั้น มีความบกพร่องในทางวิชาการ ซึ่งแม้ฟรีแดนจะไม่อาจล่วงรู้ได้ในตอนที่เธอเขียน แต่เมื่อเวลาผ่านมา ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยในความน่าเชื่อถือของหนังสือเล่มนี้
อลัน วูลฟ์ (Alan Wolfe) นักเขียนอีกคนหนึ่งบอกว่า การที่หลักฐานต่างๆ มันบกพร่อง ย่อมทำให้เกิดคำถามอันไม่น่าสบายใจนักกับหนังสือเล่มนี้ เพราะเท่ากับว่ามันวางอยู่บนรากฐานที่ไม่อาจทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้
ตัวอย่างเช่น มาร์กาเร็ต มีด ยอมรับต่อมาภายหลังว่าข้อมูลบางส่วนของเธอท่ีเธอไปเก็บมาจากชาวพื้นเมืองนั้น เป็นข้อมูลที่ ‘ถูกหลอก’ มา คือชาวพื้นเมืองบอกความจริงเป็นตรงกันข้าม ซึ่งฟรีแดนก็นำมาใช้เพื่อสนับสนุนว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องการประกอบสร้างทางสังคม (social construction) แม้สิ่งที่ฟรีแดนเสนอจะถูกหรือผิดอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อมันวางตัวอยู่บนฐานที่ผิดแล้ว ก็ย่อมสั่นคลอนความน่าเชื่อถือไปไม่น้อย
หรือในกรณีของคินซีย์ที่ฟรีแดนนำข้อมูลมาใช้ ก็พบว่าคินซีย์มีวิธีเก็บข้อมูลที่ไม่ค่อยจะถูกต้องเท่าไหร่ คือเขาเก็บข้อมูลจากนักโทษและคนทำงานในบาร์เท่านั้น ทว่านำมาสรุปว่าคนอเมริกันเป็นเกย์จำนวนมากกว่าที่คิด แต่โดยหลักการแล้วคนสองกลุ่มนี้ไม่อาจเป็นตัวแทนของคนทั้งหมดได้ ซึ่งฟรีแดนก็นำข้อมูลเหล่านี้มาใช้
แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ฟรีแดนนำข้อมูลของคินซีย์มาใช้ โดยตอนหนึ่งพูดถึงความรักเพศเดียวกันหรือ homosexuality ว่ามันแพร่หลายกระจายตัวไปในสังคมอเมริกาโดยเป็นปัญหาใหญ่ เพราะสุดท้ายแล้วมันจะเป็นที่มาอันชั่วร้ายของความแปดเปื้อนทางวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าความเป็นผู้หญิงนั้นจะช่วยเหลือเรื่องนี้ได้
โดยสรุปก็คือ หนังสือเล่มนี้มีปัญหา 4 ด้าน ได้แก่มันมีอาการเหยียด (โดยไม่รู้ตัว) มีการโปรโมตที่ผิดที่ผิดทาง ใช้ข้อมูลที่มีที่มาไม่น่าเชื่อถือ และสุดท้ายคือมีอาการ homophobia หรือหวาดกลัวรักร่วมเพศ แฝงเร้นอยู่
การที่ฟรีแดนถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ต่อมาเธอออกมายอมรับความผิดพลาดของตัวเองในการประชุมหนึ่ง โดยเธอประกาศสนับสนุนสิทธิของคนรักเพศเดียวกันโดยเฉพาะเลสเบี้ยน เพื่อเป็นการลบล้างและประกาศว่าสิ่งที่เธอเคยคิดในยุคสมัยหนึ่งนั้น แท้จริงแล้วมันผิด และเธอก็ต้องการจะแก้ไขให้ถูกต้อง
ตัวอย่างของเบ็ตตี้ ฟรีแดน เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ เรื่องเดียว ที่ทำให้เราเห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์คนที่ ‘มาก่อน’ และอาจถูกมองว่าเป็น ‘ไอดอล’ หรือเป็น ‘ยักษ์ใหญ่’ ในวงการนักคิดนักเขียนอะไรก็ตาม
ชุดความคิดที่ถูกตรวจสอบแล้วพบว่าผิดพลาด ย่อมพังทลายไป เปิดทางให้เกิดการสร้างสรรค์ชุดความคิดใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับยุคสมัยมากกว่าเดิม แต่ชุดความคิดที่ทนทานต่อการตรวจสอบ (ที่ไม่ใช่การ ‘ตะแบง’ คิดว่าตัวเองถูก) จะยิ่งทรงพลังมากขึ้น และพร้อมก้าวเดินไปสู่อนาคตร่วมกับสังคมยุคใหม่
ที่จริงแล้ว คนเขียนบทความอย่างแอชลีย์ เฟตเทอร์ส คือแฟนตัวยงของฟรีแดน เธอยอมรับว่าหนังสือของฟรีแดนเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนความคิดของเธอตั้งแต่วัยรุ่น แต่กระนั้นเธอก็กล้ามากพอที่จะท้าทายไอดอลของตัวเอง (ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็คือการท้าทายและตรวจสอบตัวเอง) อย่างแข็งแกร่งด้วยมุมมองในโลกอีกยุคสมัยหนึ่งด้วย
แต่การตรวจสอบที่เกิดขึ้น ไม่ได้แปลว่าคนทั้งคู่จะต้องเกลียดชังกัน ทว่ามันคือกระบวนการที่ช่วยให้มนุษยชาติค่อยๆ เติบโตและมีสติปัญญาร่วมไปด้วยกัน
ถามว่า – เราทำอย่างนี้ในสังคมไทยได้ไหม?