จะเป็นอย่างไรถ้าทหารต้องมาล่าทหารด้วยกันเอง? D.P. ย่อมาจาก Deserter Pursuit หรือที่แปลไทยได้ว่า ‘หน่วยล่าทหารหนีทัพ’ นืคือซีรีส์พล็อตน่าสนใจเรื่องใหม่แกะกล่อง (มาซักพัก) ความยาว 6 ตอนจบของ Netflix ที่นำเสนอแง่มุมเกี่ยวกับด้านมืดในค่ายทหารและการเกณฑ์ทหารของประเทศเกาหลีใต้ได้อย่างน่าสนใจ
เรื่องนี้สร้างมาจากเว็บตูนสุดฮิตของเกาหลี ‘D.P. Dog’s Day’ ของ คิมโบทง (Kim BoTong) ที่มีผู้อ่านเกิน 10 ล้านคน
เรื่องราวของ D.P. จะเกี่ยวกับ อันจุนโฮ รับบทโดย จองแฮอิน (Jung HaeIn) จาก Prison Playbook ทหารเกณฑ์สายเลือดร้อนผู้มีนิสัยรักความถูกต้อง ที่ได้มาเข้าหน่วย D.P. เพื่อออกไปข้างนอกเป็นทหารนอกเครื่องแบบตามจับเหล่าทหารหนีทัพกับ ฮันโฮยอล รับบทโดย คูคโยฮวาน (Koo KyoHwan)จาก Ashin of the North และ Peninsula และได้พบได้เจอ ได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติหน้าที่ว่าเหตุผลใดที่ทำให้บางคนถึงคิดหนีทหารแม้ว่ามันจะผิดกฎหมายก็ตาม
ในการสร้างเรื่องราวสำหรับภาพยนตร์และโทรทัศน์ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือบทดั้งเดิมและบทดัดแปลง ทีนี้อย่างที่ทราบกันดีว่าเกาหลีใต้บังคับให้ชายทุกคนเกณฑ์ทหาร 2 ปีแบบไม่มีข้อยกเว้น (หรืออย่างมากสุดก็ยกเว้นเพียงวง BTS กับนักกีฬาเหรียญทอง และมีแพลนเลื่อนผ่อนผันให้กับโปรเพลเยอร์อีสปอร์ตเกม LoL ฉายา ‘พระเจ้า’ อย่าง Faker เนื่องมาจากความคิดที่ว่า ไม่ต้องจับปืนก็รับใช้ชาติได้) ความเป็นจริงตรงนี้เองที่ถูกนำมาใช้เป็นเนื้อเรื่องของซีรีส์เรื่องนี้ ซีรีส์ที่ดัดแปลงจากเว็บตูนที่ดัดแปลงหรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงอีกที
และไม่เพียงแต่เป็นการพูดถึงการเกณฑ์ทหารในประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น ซีรีส์ D.P. เป็นเหมือนตัวจุดประกายให้นำมาพูดถึงถกเถียงกันแบบจริงๆ จังๆ และมองไปยังประเทศต่างๆ ที่ยังใช้ระบบนี้อยู่ ซึ่งบทความนี้จะทำหน้าที่พาผู้อ่านกลับไปมองหลังดูจบว่าซีรีส์เรื่องนี้สะท้อนบอกอะไรเราบ้าง
(เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์เรื่อง D.P)
ซีรีส์ D.P. จริงแค่ไหน?
ก่อนที่จะมาพูดถึงเนื้อเรื่อง สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้พล็อตคือแม้จะเป็นเรื่องแต่งและไม่ได้สร้างจากเรื่องจริงก็ตาม แต่มันได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงอยู่ดี เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการเกณฑ์ทหารและหน่วยล่าทหารหนีทัพนี้มีอยู่จริง
เมื่อพูดถึงการเกณฑ์ทหาร คำนี้ถูกวางป้ายโชว์หราไว้ด้านหน้าว่าเป็นการ ‘รับใช้ชาติ’ หรือ ‘ทำเพื่อชาติ’ พร้อมกับประโยชน์ว่า การทำแบบนี้ดีแค่ไหน ได้อะไรบ้าง แต่ในขณะเดียวกันด้านหลังป้ายมีการเขียนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตั้งมากตั้งมาย และข้อความหลายบรรทัดบนพื้นที่หลังป้ายนั้นก็ได้แก่ ความรุนแรง การทุจริต การใช้อำนาจเกินควร การริดรอนสิทธิเสรีภาพเกินจำเป็น การบูลลี่รังแกการกดขี่ทหารผู้น้อยโดยทหารยศที่ใหญ่กว่าสูงกว่า การตัดโอกาสชีวิต และ ฯลฯ หรือเรียกแบบไม่อ้อมค้อมว่า ‘ความเน่าหนอนอีกมากมายหลายอย่างที่ยากเกินจะแก้’
ทำให้จากการการศึกษาของมหาลัยยอนเซ ระบุว่าในปี ค.ศ.1993 มีทหารเกณฑ์มากถึง 129 นายที่ฆ่าตัวตายเนื่องมาจากความเครียดและวิตกกังวลที่ได้รับระหว่างการเกณฑ์ทหาร และในปี ค.ศ.2019 ตัวเลขนี้ลดเหลือ 62 คนซึ่งน้อยกว่ายุคนั้น 2 เท่า แต่ถึงกระนั้น 1 คนก็คือชีวิตคน การเฝ้าระวังและตรวจสอบในเรื่องนี้เสมอจึงถูกให้ความสำคัญอย่างมากสำหรับการเกณฑ์ทหารของเกาหลีใต้ในยุคปัจจุบัน
ส่วนหน่วย D.P หน่วยนี้เป็นหน่วยที่ถูกนับเป็น ‘ตำรวจทหาร’ ที่ตามจับคนหนีทหารเหมือนในเรื่องเลย คิมโบทงผู้เขียนเว็บตูนเองก็เขียนมาจากประสบการณ์ที่ตัวเองเคยอยู่หน่วยที่ว่านี้ด้วยเช่นกัน
ในการแสดงเรื่องนี้ คูคโยฮวาน นักแสดงผู้รับบทคู่หูตัวเอก ไม่เพียงแต่ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาระหว่างการเกณฑ์ทหาร 2 ปีของเขาก่อนที่จะมาเซ็นสัญญารับบทในซีรีส์เรื่องนี้ แต่ยังมีโอกาสได้เจอกับคนของหน่วย D.P. และรู้รายละเอียดการปฏิบัติงานของหน่วยนี้จากปากทหารคนนั้นอีกด้วย นอกจากนี้ คนในกองถ่ายบางคนเองก็เป็นทหารก่อน D.P. จริงๆ มาก่อน ทำให้ผู้กำกับได้เรียนรู้อะไรๆ เพิ่มไปด้วยระหว่างการถ่ายทำ
“ผมนายทหาร อันจุนโฮ ครับ!
ผมนายทหาร อันจุนโฮ ครับ!”
มาที่ส่วนของเนื้อเรื่อง เรื่องราวเปิดมาอย่างตราตรึงปน เห้ย เปิดมาแบบนี้เลยหรอ ด้วยฉากที่มีเสียงขานดังฟังชัดของชื่อ ‘อันจุนโฮ’ ตามด้วยการผลักและตะปูที่ตอกติดผนังอยู่ด้านหลังของนายทหารในเรื่อง
ฉากเปิดนี้ไม่เพียงเปิดมาได้แบบฉุดกระชากลากถูให้คนดูมาสนใจอย่างรวดเร็ว แต่ยังเป็นการพูดถึงตัวปัญหาที่ขับเคลื่อนเรื่องราวทั้งหมดอย่างการใช้ลำดับขั้นรังแกข่มเหงผู้อื่น ได้แบบสั้น กระชับ เข้าใจง่ายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ซึ่งปัญหานี้เองที่ทำให้ทหารเกณฑ์ชายเกาหลีใต้หลายคนเลือกจะหนีและไปเสี่ยงเอาดาบหน้าแม้รู้ว่า ผิดกฎหมายและหากถูกจับกลับมาคงแย่กว่าเดิมก็ตาม จนถึงบางคนที่เลือกหนีปัญหาด้วยการจบชีวิต
ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายอย่างการซ้อมจนเลือดออก ให้ทำท่าฝึกความอดทน หรือทำตามคำสั่งใดๆ ก็ตามที่ไม่รู้ทำไปทำไม แต่เป็นความต้องการและความบันเทิงของทหารรุ่นพี่หรือผู้ที่ยศสูงกว่า รวมถึงการพูดจากระแทกกระทั้นเย้ยหยันดูถูกความเป็นมนุษย์ ถูกนำเสนอให้เห็นเป็นระยะๆ ตลอดทั้งเรื่อง สิ่งนี้แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘คนกับตำแหน่ง/ยศ’ และ ‘คนกับทรงผมเครื่องแบบ’ ได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ว่าได้สวมสองสิ่งนี้แล้วมันนำไปสู่อำนาจ และอำนาจนั้นบ่อนทำลาย (corrupt) ผู้ใช้มันได้เสมอ
และสาเหตุนึงที่ทำให้ซีรีส์เกาหลีเป็นการจัดงานนิทรรศการโชว์อะไรเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนกว่าชาติอื่นๆ คือวัฒนธรรมการเข้าถึงเนื้อถึงตัวด้วยความที่เรามักจะเห็นประจำ ตั้งแต่หนังซีรีส์แนวตลกโปกฮาที่ตัวละครตบหัวกันเป็นว่าเล่น ไปจนถึงการใช้กำลังแบบซีเรียสอย่างในซีรีส์เรื่องนี้
การออกแบบคาแรคเตอร์ตัวเอกแบบอันจุโฮนับว่าเอื้อต่อการเล่าเรื่องเป็นอย่างมาก ข้อแรกคือมันมีความเป็นเทรนด์ประมาณหนึ่งที่ตัวเอกซีรีส์เกาหลียุคใหม่จะไม่ใช่พระเอกจ๋า แต่เป็นแนวห่ามๆ ตรงๆ ห้าวๆ เหมือนตัวเอกในอนิเมะ (นั่นแหละที่ทำให้มีมิติ) อันจุนโฮรวมถึงตัวเอกยุค modern-Korean drama อื่นๆ มีบุคลิกที่ซับซ้อน สะท้อนวัยเด็กที่ก่อร่างสร้างตัวมาเป็นเขาหรือเธอในปัจจุบัน รวมไปถึงการต่อต้านระบบใดระบบหนึ่ง และความต้องการสะท้อนประเด็นอะไรบางอย่างมาจากข้างในตัวเอง
ความเท่ของอันจุนโฮจึงไม่ใช่หน้าตากับบุคลิกที่ดูขรึม แต่เป็นการที่ตัวละครนี้ยังคงมีความเป็นตัวเองไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนๆ ถึงขั้นทำอะไรบางอย่างที่ทำให้เราคนดูต้องอึ้งไปตามๆ กัน
อีกทั้งตัวละครนี้ในค่ายทหาร ยังสะท้อนได้ดีถึงการที่คนคนหนึ่งมีทางเลือกว่าจะเป็นคนอย่างไร ปฏิบัติตัวอย่างไรได้เช่นกัน อันจุนโฮ เป็นคนที่ซื่อตรงและมีจิตใจดีงาม แม้ว่าเขาโตมาในครอบครัวที่พ่อซ้อมแม่ ตบตีแม่ ซึ่งจริงอยู่ที่ความเกรี้ยวกราดผ่านหมัดของเขาคือวิธีการสื่อสารอย่างหนึ่ง แต่อันจุนโฮเป็นคนประเภทที่ต่อให้โดนมาเยอะแค่ไหนและแม้จะได้เป็นรุ่นพี่ก็ตาม เราจะรู้ได้ทันทีว่าเขาไม่ได้เอาความเจ็บแค้นที่ถูกกระทำไปลงกับรุ่นน้องต่อ
นี่สะท้อนถึงอะไร? มันเป็นการสะท้อนว่าจริงอยู่ที่ระบบบางระบบอาจดูเน่าหนอน แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนในระบบจะต้องเน่าหนอนตาม
นอกจากนี้ตลอดทั้งเรื่องจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าตัวละครหนึ่งดูเก๋าดูกร่างขนาดไหน ก็จะมีอีกตัวละครหนึ่งมาข่มมาด่ามาสั่งให้เขาหงอยได้เสมอ และตัวละครที่ตามมาก็โดนข่มโดยตัวละครชั้นสูงกว่าอีกที ซึ่งดูเหมือนว่าซีรีส์ D.P. จะใช้การถึงเนื้อถึงตัวที่แทรกอยู่ในหนังซีรีส์เกาหลี มาทำให้จุดนี้ชัดไปอีกขั้น และเน้นย้ำพอยต์ตรงนี้ด้วยการใช้คำหยาบถี่ๆ รวมถึงคำพูดแรงๆ เสมอ (พากย์ไทยยิ่งเน้นตรงนี้เข้าไปอีก)
การใส่เครื่องแบบทำให้ทหารหรือตำรวจแตกต่างจากปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป แต่เหนือปลาเล็กยังมีปลาใหญ่ เหนือปลาใหญ่ยังมีปลาใหญ่กว่า เช่นเดียวกัน อาชีพในเครื่องแบบนี้เองในขณะที่มีการปลูกฝังให้รักใครสามัคคีกลมเกลียวผ่านการลงโทษและการใช้ชีวิตที่ (เหมือน) ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน การสั่งสอนให้รู้จัก ‘ที่ต่ำที่สูง’ อย่างชัดเจนเกินไป หรือใช้กฎจิตวิทยาแห่งการไม่ได้อะไรมาง่ายๆ ทำให้ระบบลำดับขั้นในหมู่ทหารตำรวจยังคงสืบต่อไปตราบเท่าที่มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่
และแน่นอน การพูดถึงระบบนี้เรากำลังพูดถึงแง่งามในด้านมืดของมัน และทุกคนรู้ถึงการมีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น การซ้อมหนักรุ่นน้องทหารจนเสียชีวิตบ้าง อาหารกลางวันที่โดนกินงบจนไม่เหลืออะไรบ้าง ปัญหามาเฟียในค่ายทหารบ้าง รวมไปถึงการเกณฑ์ทหาร itself ที่น่าตั้งคำถามเสมอว่า ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน และหากเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจแล้วให้สวัสดิการดีๆ ไปเลยจะดีกว่านี้รึเปล่า?
“หากไม่มีการเกณฑ์ทหาร
ก็จะไม่มีคนหนีทหารไม่ใช่หรอครับ?”
ประโยคสั้นๆ นี้ถามคำถามไปยังการเกณฑ์ทหารและการมีตัวตนอยู่ของหน่วย D.P. ได้ราวกับเป็นอัปเปอร์คัทเสริมพลังในเกม Street Fighter ยังไงอย่างงั้น
คนที่ถูกเขาจับแต่ละคน มีเหตุเป็นของตัวเองที่จะหนี ไม่ว่าจะเป็น การถูกซ้อมหนักเกินไปจนร่างกายและจิตใจไม่ไหว ต้องการทำในสิ่งที่อยากทำและอยากให้สำเร็จลุล่วงก่อนถึงจะเคลียร์พอที่จะกลับมาได้ หรือแค่ไม่อยากเกณฑ์ (ซึ่งก็เข้าใจได้) เป็นต้น
แน่นอนว่าเหตุผลที่อันจุนโฮตัดสินใจเข้าหน่อย D.P. เพราะเขาทำสิ่งที่เขาต้องทำ และต่อให้เขาไม่ทำก็มีคนมาทำแทนเขาอยู่ดี ฉะนั้นมันดีกว่าถ้าเขาที่มีความมุ่งมั่นว่าจะทำงานนี้เพื่อคนที่หนีที่ทหารจริงๆ มี อำนาจที่จะใช้ตำแหน่งในหน่วย D.P. นี้ไปในทางที่ถูกที่ควรได้
สิ่งที่อันจุนโฮได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับคนดูคือความน่ากลัวของอำนาจและความเลวร้ายที่แฝงอยู่ในระบบอำนาจทหาร การบังคับอย่างไม่มีทางเลือกและการเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่าที่สามารถทำอะไรได้แต่ไม่ทำเพราะต้องการปิดข่าวและรักษาภาพลักษณ์ ยิ่งเป็นการผลักดันให้เกิดเหตุการณ์แย่ๆ สถานการณ์หนักๆ บ่อยขึ้นไปอีก จนอดคิดไม่ได้ว่าอะไรสำคัญกว่ากันระหว่างชีวิตคนกับภาพลักษณ์ของทัพ? มนุษยธรรมกับความดีงามที่เคลือบหน้า?
และที่สำคัญที่สุด การที่มีคนเสียชีวิตจากการเกณฑ์ทหารเป็นการรับใช้ชาติยังไง?
หมาที่จนตรอก
เคยได้ยินคำประมาณนี้บ้างมั้ย? ที่ว่า “ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าคนที่ไม่มีอะไรจะเสีย”
ในตอน 5 มีบทสนทนาหนึ่งที่พูดถึงเรื่องนี้ได้ชัดเจนมาก เป็นบทสนทนาที่ตัวละครหัวหน้าหน่วย D.P. อย่าง ปาร์คบอมกู รับบทโดย คิมซองกยุน (Kim SungKyu) กับอันจุนโฮตัวเอกของเรา
“เคยเลี้ยงหมามั้ย? ถ้าเกิดหมามันกัดเจ้าของ มันต้องถูกฉีดยาตาย การให้อภัยหมาที่กัดคนมันยากมากนะ มันอาจกัดซ้ำอีกก็ได้ แต่ถ้าเกิดมันกัดเจ้าของเพราะไอเวรนั่นเขวี้ยงก้อนหินใส่แล้วทำร้ายมัน หมาจะไม่คิดบ้างหรอว่ามันไม่แฟร์”
“จะบอกว่าสิบตรีโจซอกบงเป็นหมางั้นหรอครับ?” อันจุนโฮถามกลับ
“พวกเราก็ไม่ต่างกันหรอก” พัคบอมกูตอบ
ตั้งแต่แรกไม่ว่าจะมองเห็นหรือไม่ เห็นชัดไม่ชัด ซีรีส์ D.P. ได้ใส่ระเบิดเวลาให้เราเห็นมาตลอด นั่นก็คือตัวละครสิบตรีโจซอกบงหรือทหารรุ่นพี่ที่ดูจะไม่มีพิษมีภัยที่สุดในเรื่อง แต่ก็เหมือนในหนัง The Dark Knight ที่อัยการ Harvey Dent กลายเป็นวายร้าย Two Face ไม่มีอะไรแย่ไปกว่าการที่คนที่ดีสุดกลายเป็นคนที่เลวร้ายอีกแล้ว เมื่อนั้นโลกจะสูญสิ้นศรัทธาในความดีงาม
แม้ซีรีส์เรื่องนี้จะครอบไปด้วยอำนาจแห่งการบูลลี่เต็มขั้น เราจะได้เห็นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงระบบด้วยตนเอง โดยมีตัวละครไม่กี่ตัวที่เราจะเห็นได้ว่ามีความเป็นตัวของตัวเอง มีความมั่นคง ไม่คล้อยตาม และพยายามต่อต้านต่อสู้กับอำนาจใหญ่ที่ครอบอยู่นี้เสมอ นั่นคือตัวละครอันจุนโฮ กับสิบตรีโจซอกบง ที่คนหลังได้พูดกับตัวเอกไว้ว่า “ทำตัวดีๆ กับพวกหน้าใหม่ด้วยนะ”
โจซอกบงเป็นโอตาคุ เป็นแฟนคลับวงไอดอล และชื่นชอบในการวาดรูป มีลูกศิษย์ลูกหาที่เขาหมายจะปลุกปั้นให้เข้ามหาลัย หรือก็คือเป็นคนธรรมดานึงที่รู้สึกโอเคกับชีวิตของตัวเอง จนกระทั่งการเกณฑ์ทหารได้เปลี่ยนเขาไปทีละเล็กละน้อย จากโจซอกบงที่แสนดี หลังจากที่โดนรังแกซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากทหารรุ่นพี่ การถูกกดขี่มาก่อน ทำให้เกิดเป็นวงจรอย่างไม่สิ้นสุด รุ่นพี่รังแกรุ่นน้อง รุ่นน้องขึ้นมาเป็นรุ่นพี่และรังแกรุ่นน้องต่อ
ซึ่งมันก็ได้เปลี่ยนให้เขากลายเป็นคนหัวรุนแรงจนไปกดขี่รุ่นน้อง ลามไปถึงระเบิดโทสะด้วยความ “ไม่ไหวแล้วโว้ย” จนสุดท้ายได้กลายเป็นคนหนีทหารที่อันจุนโฮจะต้องไปตามจับซะเอง นำไปสู่จุดจบที่ค่อนข้างจะแตกสลายจนทำให้หลายคนรู้สึกซึมทั้งความรู้สึกและน้ำตาได้
และสิ่งสุดท้ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือคำถามที่ซีรีส์ทิ้งไว้ว่า กว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง?
ทำไมถึงต้องให้มีเรื่องแบบไหนเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลง?
มันจะต้องเกิดขึ้นอีกกี่ครั้งหรืออีกกี่ชีวิตที่ต้องถูดสังเวยหรือถูกทำลายกว่าทุกอย่างจะดีขึ้น?
ทำไมถึงต้องรอให้เกิดเรื่องถึงค่อยมาทำดีสร้างภาพ?
คนทำอะไรได้ทำไมถึงไม่ทำ?
เมื่อไหร่ที่ความบ้าคลั่งนี้จะจบลง? (end credit สะท้อนตรงนี้ได้เป็นอย่างดี)
โลกนี้ไม่มีอะไรแฟร์อยู่แล้ว แต่ทำไมบางระบบถึงต้องมาตอกย้ำอีกว่ามันไม่แฟร์ยิ่งกว่าเดิม?
และทำไมความยุติธรรมถึงถูกนำมาเสิร์ฟบนจานช้ากว่าความอยุติธรรม ทั้งที่มันสะกดสั้นกว่าแท้ๆ?
การเห็นไฟลุกไม่เข้าไปดับทั้งที่ได้แต่ปล่อยให้ลุกอย่างนั้น เท่ากับเห็นด้วยที่ไฟลุก และเช่นกัน เหมือนกับเคสล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นในบ้านเรา ที่น่าตั้งคำถามว่าหากตำรวจ 9 นายรู้ว่าตำรวจไม่ดี 1 นายกระทำผิดและใช้อำนาจโดยมิชอบภายใต้เครื่องแบบและตำแหน่งแห่งความไว้วางใจจากประชาชน แต่ยังปล่อยให้ลอยนวลไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คำถามคือเรามีตำรวจไม่ดีกี่คนกันแน่?
สิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็เห็นจะเป็นเคสนั้นกับซีรีส์เรื่องนี้เป็นเพียงภาพเหตุการณ์ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกมากที่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นไปแล้วแต่เรายังไม่รับรู้และไม่ถูกนำมาตีแผ่พูดถึง