ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ดูเหมือนสังคมไทยจะหยิบมาเป็นเรื่อง ‘ดราม่า’ กันได้หมด ตั้งแต่ป้ายเข้าห้องน้ำห้างหรู, การเปิดตัวห้างหรูเอง, สายเดี่ยวของลูกสาวนักการเมือง ไปจนถึงสิทธิที่จะสนับสนุนเผด็จการ
เห็น ‘ดราม่า’ เหล่านี้แล้ว บางทีก็เบื่อจนต้องถอนใจส่ายหน้า แต่หลายคนก็พยายามลากจูงผมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหลายดราม่า ด้วยการหลังไมค์มาขอให้แสดงความคิดเห็นกับเรื่องดราม่าต่างๆ นานา
ก็ได้ครับ มาแสดงความเห็นว่าด้วย ‘ดราม่า’ ก่อนก็แล้วกัน
ผมคิดว่า ‘ดราม่า’ นั้นไซร้ ก็คืออาการ ‘ตะแบง’ ของคนสองขั้วสองข้าง (น่าแปลก, ที่มักจะไม่ค่อยเกินสองขั้วสองข้างเท่าไหร่) หรือบางครั้งก็เป็นข้างเดียวที่ไม่ยอมฟังเหตุฟังผลของอีกข้าง ยังคงดื้อรั้นดันทุรังราวกับเป็นโคถึก วิ่งตะบึงแหกรั้วลวดหนามเข้าไปในสนามเพลาะ จะเจอกับระเบิดตายวันตายพรุ่งเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แถมยังไม่ฟังคำเตือนของคนอื่นเขาเสียอีก
ที่สำคัญ พอมีคนทักท้วง ก็มักตอบกลับด้วยอาการ ‘มั่นหน้า’ สุดประมาณ เชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองคิด ทำ และเชื่อนั้น ถูกต้องที่สุดแล้ว แต่เมื่อจนด้วยเหตุผล หลายครั้งจึงตอบกลับด้วยคำหยาบ และ ‘ตรรกะ’ ที่ ‘ทุพพลภาพ’ อย่างสิ้นเชิง และบางคราวก็นำไปสู่สภาวะเกลียดชังจนถึงขั้นถล่มกันด้วย Hate Speech ก็มี
ดราม่าก็เลยเกิดขึ้น
แต่คุณรู้ไหมครับ ว่าจริงๆ แล้ว การใช้คำว่า ‘ดราม่า’ นั้น ไม่ค่อยจะถูกต้องสักเท่าไหร่ ถ้าจะให้ถูก ต้องบอกว่า Dramatic ซึ่งหมายถึงแสดงอารมณ์กับเรื่องนั้นๆ มากเกินควร จนจริงๆ แล้วควรจะเรียกว่า ‘เมโลดราม่า’ (Melodrama หรือ Melodramatic) เสียมากกว่า
ที่จริวแล้วคำว่าดราม่านั้น ความหมายดั้งเดิมของมันจริงๆ คือการแสดงละคร คำว่า Drama มาจากภาษากรีก แปลว่า Action ซึ่งก็คือ ‘การแสดง’ นั่นเอง หมายถึงการแสดงในโรงละครโดยเหล่านักแสดงบนเวทีที่มีผู้ชมคอยชมอยู่
ดังนั้นในความหมายนี้ ดราม่าจึงเกิดขึ้นไม่ได้หรอกนะครับ ถ้าไม่มี ‘ผู้ชม’ มาคอยรองรับ การฟาดหัวฟาดหางอยู่ตามลำพังคนเดียวโดยไม่มีใคร ‘เห็น’ ก็เหมือนแมวในกล่องของชโรดิงเจอร์ ไม่มีใครรู้หรอกว่ามีแมวอยู่ในนั้นจริงหรือเปล่า
สมัยก่อน แมวในกล่องไม่มีความสามารถจะทำให้คนเห็นได้นะครับ ว่าตัวมันอยู่ในกล่องจริงหรือเปล่า แต่ในสมัยใหม่นี้ โลกอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้แมวสามารถ ‘อาละวาด’ ได้ บางตัวก็ทำให้กล่องขยับ แต่บางตัวก็ถึงขั้นฉีกกล่องเสียขาดกระจุย ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะมันแค้นเคืองกล่องนักหนาหรอกนะครับ แต่เพราะมันแค่อยากออกมาให้ ‘ผู้ชม’ ได้เห็นต่างหากเล่า เพราะถ้าปราศจากเสียซึ่ง ‘ผู้ชม’ แล้ว ดราม่าก็ย่อมไม่อาจเป็น ‘การแสดง’ ไปได้
ที่จริงแล้ว ดราม่าแบ่งออกได้เป็นสามแบบใหญ่ๆ คือดราม่าที่เป็นโศกนาฏกรรม (Tragedy), สุขนาฏกรรม (Comedy) และดราม่าประเภทเสียดสีล้อเลียน (Satyr) แต่ที่มาจริงๆ ของดราม่านั้นยังไม่เป็นที่รู้แน่ชัดหรอกนะครับ ว่าใครริเริ่มเล่นกันขึ้นมาก่อน ที่รู้แน่ๆ ก็คือมีนักแสดงชาวกรีกชื่อเธอพิส (Thespis) เป็นผู้คิดค้นวิธีแสดงแบบพูดแทนที่จะร้องเพลง และใช้วิธี ‘เลียนแบบ’ คนอื่น คือสวมบทบาทเป็นตัวละครอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง จนกระทั่งกลายมาเป็นดราม่าอย่างที่เรารู้จักกัน
นอกจากดราม่ากรีกแล้ว ยังมีดราม่าแบบโรมัน ดราม่าของโลกตะวันออกอย่างอินเดีย จีน และญี่ปุ่น รวมไปถึงการคลี่คลายมาสู่ดราม่าแบบอังกฤษ ในสไตล์ของเชคสเปียร์ ซึ่งว่ากันว่าสืบทอดความเป็นกรีกและโรมันมาไม่น้อยทีเดียว
นักเขียนบทละครชาวเยอรมันอย่างกุสตาฟ ฟรายถาก (Gustav Freytag) เคยวิเคราะห์ดราม่าของกรีกโรมันและดราม่าแบบเชคสเปียร์เอาไว้ว่ามี ‘โครงสร้าง’ หลักๆ อยู่ห้าอย่างด้วยกัน
อย่างแรกก็คือการปูพื้น (Exposition) หรือการเปิดเรื่องให้เห็นความเป็นไปต่างๆ เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจเนื้อหาของเรื่องก่อน จากนั้นจึงตามด้วยการเกิดเหตุการณ์ (Rising Action) ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องต่างๆ นานาที่เริ่มต้นขึ้นหลังการปูพื้นเรื่องแล้ว จากนั้นก็ค่อยๆ พาผู้ชมไปจนถึงส่วนที่สาม ซึ่งก็คือจุดสุดยอด (Climax) ของเรื่อง คำว่าจุดสุดยอดนั้นหมายถึงจุดพลิกผัน จุดที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะดีหรือร้ายกับตัวละคร ถ้าเป็นละครสุขนาฏกรรมหรือตลก อะไรๆ อาจย่ำแย่มาจนถึงตอนนี้ แล้วก็จะค่อยๆ คลี่คลายดีขึ้น แต่ถ้ากลับกันเป็นโศกนาฏกรรม สิ่งดีๆ ก็อาจมาถึงจุดพลิกผันของมันก็ได้
จากนั้นจึงถึงช่วงที่เรียกว่า Falling action เมื่อความขัดแย้งระหว่างตัวเอกกับตัวร้ายเปิดปมขึ้นมา จะเกิดการแพ้ชนะกันก็ตรงนี้ เรียกได้ว่าเป็นผลลัพธ์สุดท้ายของดราม่าทั้งเรื่อง เพื่อจะเดินไปถึงตอนจบที่อาจเป็นการไขปัญหา (Resolution) หรือหายนะ (Catastrophe) ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นดราม่าแบบไหน
เราจะเห็นว่า ‘ดราม่า’ ในปัจจุบันนั้น มี ‘โครงสร้าง’ ของละครแบบที่ว่าครบบ้างไม่ครบบ้าง ส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะได้ ‘เสพดราม่า’ ตอนที่เรื่องมันดำเนินมาถึงไคลแมกซ์หรือเกือบๆ จะไคลแมกซ์แล้ว แล้วก็ต้องไปนั่งจดๆ จ้องๆ คลิกย้อนดูว่า ‘พื้นเรื่อง’ แต่เดิมมันเป็นอย่างไร ใครทะเลาะกับใคร สาเหตุมันเป็นอย่างไร แล้วนำทางมาสู่จุดสุดยอดได้อย่างไร
จากนั้นถ้าดราม่ายังไม่จบ เราก็มักจะ ‘เสพต่อ’ ด้วยการติดตามเรื่องว่า Falling Action ถัดมาจะเป็นอะไรบ้าง ใครจะแพ้ใครจะชนะ ใครจะเชียร์มวยข้างไหน ถ้าเป็นในละคร ตัวละครจะแพ้หรือชนะก็ขึ้นอยู่กับผู้เขียนบท แต่ใน ‘ดราม่า’ แบบใหม่ ตัวละครสามารถ ‘ดิ้น’ ได้ตามแรงเชียร์ของโซเชียลมีเดีย ยิ่งเห็นว่าทำท่าจะแพ้ ก็จะยิ่งดิ้นรนทำ Falling Action ต่างๆ เพื่อให้เกิดผลแพ้ชนะตรงใจตัวเองมากขึ้น
ตรงจุดนี้นี่เองครับ ที่ก่อให้เกิดความ ‘แวร็งงงส์’ (หรือจริงๆ ก็คือการ ‘ตะแบง’ เข้าข้างตัวเอง) ขึ้นมาใน ‘ดราม่า’ เรื่องต่างๆ เพราะผู้เล่นอยากผลักดันให้ตนเป็นผู้ชนะ
จากดราม่าก็เลยกลายไปเป็น ‘เมโลดราม่า’ เข้าให้!
ส่วนคำว่า ‘เมโลดราม่า’ (Melodrama) มีความหมายพาดพิงถึงการแสดง (หรือดราม่า) ประเภทที่ทั้งพล็อตและตัวละครนั้นมีความ ‘เกินจริง’ (Exaggerations) ในหลายด้านหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษา พฤติกรรม หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องเรื่อง อย่างเช่น เกิดเหตุบังเอิญบังเอิ๊ญบังเอิญไม่รู้จักกี่อย่าง เพื่อให้ในที่สุดแล้วนางเอกมาได้กับพระเอก
คำว่าเมโลดราม่านั้น จริงๆ แล้วมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า mélodrame ซึ่งมาจากภาษากรีกว่า Melos อันแปลว่าดนตรีหรือ Music ในระยะแรกก็คือเทคนิคการแสดงอย่างหนึ่งที่รวมเอาบทพูดเข้ากับดนตรีสั้นๆ เพื่อเร้าอารมณ์ เรียกว่าพูดปุ๊บก็มีดนตรีมาสลับฉากปั๊บ ทำให้คำพูดที่พูดออกมานั้นมีความ ‘แรงในอารมณ์’ มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความ ‘แรง’ ที่ว่า ความ ‘ซับซ้อน’ ของตัวละครก็ย่อมต้องลดลงด้วย ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะความแรงจะทำให้ตัวละครฉูดฉาด เห็นชัดเจนว่าเป็นฝ่ายดีฝ่ายชั่ว เป็นตัวร้ายหรือพระเอก ละครแบบเมโลดราม่ามักจะมีตัวละครชัด ประกอบไปด้วยฝ่ายดีกับฝ่ายชั่ว โดยอาจมีตัวสอดแทรกอื่นๆ เข้ามา ความง่าย ฉูดฉาด และ ‘แรง’ นี้ ทำให้เป็นที่นิยม ยิ่งเมื่อได้ดนตรีมาเสริมอารมณ์ ก็ยิ่งทำให้เมโลดราม่าเป็นที่นิยมในคนวงกว้างเข้าไปอีก ในเมโลดราม่า เราจะเห็นเลยว่าใครดีใครชั่วล้วนๆ ใครชั่วก็มักจะชั่วมาตั้งแต่ต้นจนจบ ใครดีก็แสนดีแสนงามอยู่อย่างนั้นไม่มีเปลี่ยนแปลง จุดสุดยอดหรือ Climax ของละครแบบนี้มักไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสำนึกของตัวละครมากเท่ากับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เพื่อนำไปสู่ตอนจบที่ ‘คนดี’ เป็นผู้ชนะ ประมาณว่าธรรมะย่อมชนะอธรรมอยู่วันยังค่ำนั่นเอง
คำถามที่เกิดขึ้นตรงนี้ก็คือ แล้วใครคือ ‘คนดี’ ใครคือผู้สถาปนา ‘ความดี’ ให้เราเล่า
แน่นอน – ‘คนดี’ ย่อมต้องคือเรานี่แหละ ส่วนคนชั่ว, ก็แกไง
วิธีคิดแบบ ‘เมโลดราม่า’ ก็คือการหาขวานยักษ์มา ‘ผ่า’ โลกออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งดำ – คือซีกศัตรูตัวร้าย อีกซีกหนึ่งขาว – คือซีกความดีแสนอำไพ – คือฝ่ายตัวกูของกู
เราเรียกวิธีคิดแบบนี้ว่าขั้วตรงข้ามแบบขาวดำ ซึ่งยิ่งขาวจัดดำจัด ก็ยิ่งผ่านเข้ามาหาเราได้ง่ายขึ้น แน่นอน ‘ดราม่า’ ย่อมเข้ามาหาเราผ่าน ‘ผัสสะ’ ทั้งห้า อันได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส แล้วก็ก่อให้เกิด ‘อารมณ์’ ขึ้นมา
ปกติแล้ว เวลาเกิด ‘ดราม่า’ แรกทีเดียวเราจะไม่ผลีผลามเข้าข้างใดข้างหนึ่ง จนกว่าเราจะแน่ใจแล้วว่า ข้างที่เราจะเลือกนั้นถูกต้อง อีกข้างหนึ่งผิดมหันต์ ซึ่งในหลายกรณีเราเห็นได้ชัดนะครับ ว่ามีฝ่ายที่ผิดกับถูกอยู่จริงๆ แต่ในหลายกรณี เรื่องบางเรื่องก็สลับซับซ้อนจนเกินกว่าที่เราจะรู้ถึง ‘ความจริง’ ได้ ว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ ‘ปากคำ’ และ ‘วิธีคิด’ ของคนแต่ละฝ่ายนั้นมันคืออะไร
เราไม่มีทางรู้เลยว่า ทั้งสองฝ่ายพูด ‘ความจริง’ อย่างที่มันเป็นจริงออกมา – หรือต่างก็เก็บงำความจริงบางอย่างไว้ แล้ว ‘พ่น’ ออกมาแต่ ‘ความจริง’ ที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตัวเองกันแน่,
แต่กระนั้น- หลายคนก็เลือกที่จะเชื่อ และเลือกที่จะ ‘เลือกข้าง’ ตามความเชื่อนั้น เลือกกระโดดเข้าไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่งเพื่อร่วมกระพือ ‘ดราม่า’ ให้ ‘แรง’ ขึ้น
คำถามก็คือเพราะอะไร?
ในหนังสือ ‘500 ล้านปี ของความรัก’ ของ ชัชพล เกียรติขจรธาดา ตอนหนึ่งเล่าถึงการทดลองเรื่อง ‘อารมณ์ลวง’ ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก โดยศาสตราจารย์สแตนลีย์ แชคเตอร์ และเจอโรม ซิงเกอร์ เปิดรับอาสาสมัครเข้าทดสอบผลของวิตามินตัวใหม่ตัวหนึ่ง แต่แท้จริงแล้ว การทดลองนั้นไม่เกี่ยวกับวิตามินนั้น มันคือการทดลองดูว่า ถ้าคนเราได้รับสารอะดรีนาลินโดยไม่รู้ตัวเข้าไป จนทำให้ร่างกายเกิดอาการ ‘ตื่นตัว’ ขึ้นมา จะเกิดผลอย่างไร
อะดรีนาลินคือสารที่หลั่งออกมาเมื่อเราเกิดความกลัว ทำให้หัวใจเต้นแรง พร้อมสู้ หรือไม่ก็พร้อมวิ่งหนี จึงพูดได้ว่า ในแง่หนึ่ง- มันคือสารของการ ‘เลือกข้าง’ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการวิวัฒนาการของมนุษย์ อะดรีนาลินทำให้เรารอดจากเสือมาได้เพราะมันจะทำให้สมรรถภาพของร่างกายเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะสู้หรือหนี เราจะทำได้ดีกว่าสภาวะปกติ
แต่ถ้าทำกลับข้างกัน โดยฉีดอะดรีนาลินเข้าไปก่อนล่ะ อะดรีนาลินจะไปมีผลต่ออารมณ์ของเราอย่างไร
ผลการทดลองน่าทึ่งมากครับ เพราะพบว่าถ้าร่างกายของเราเกิดอาการ ‘ตื่นตัว’ จากอะดรีนาลินแล้ว เราจะ ‘พร้อม’ ตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัวมากกว่าปกติ ถ้าคนรอบตัวเรายิ้มแย้มแจ่มใส เราก็จะคึกคักตื่นตัว แต่ถ้าคนรอบข้างเราเคร่งเครียดโกรธเกรี้ยว เราก็จะเป็นอย่างนั้นไปด้วย ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะสมองนั้นคุ้นเคยกับการหา ‘สาเหตุ’ ที่ทำให้ร่างกายหลั่งอะดรีนาลินออกมา (เช่น เจอเสือ) แต่พอมีอะดรีนาลินสูงโดยไม่มีสิ่งเร้าภายนอก สมองก็เลยไป ‘คว้าจับ’ เอาสิ่งที่เห็นมาปะติดปะต่อเข้า ทำให้เราเกิด ‘อารมณ์ลวง’ ขึ้นมาได้
ผู้เขียนบอกว่า นี่คือ ‘กลไก’ ในการทำงานของ ‘จิตวิทยาเบื้องหลัง’ การปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ซึ่งน่าเชื่อไม่น้อยว่าอาจรวมไปถึงเรื่อง ‘ดราม่า’ แบบที่เรากำลังพูดถึงอยู่ด้วยเช่นกัน!
เมื่อได้ยินเสียงปี่กลองประโคม (เช่นได้ยินเสียงดนตรีดังๆ เสียงกลองตึงๆๆ หรือเห็นคนกำลังทะเลาะกัน) อะดรีนาลินมักจะหลั่งออกมา ‘เตรียมพร้อม’ เอาไว้ก่อนแล้ว ในสมัยก่อน เสือเชื่อมโยงกับการหลั่งอะดรีนาลินทันที แต่ในปัจจุบัน ความระทึกใจเมื่อได้เห็นดราม่าแล้วทำให้อะดรีนาลินหลั่งนั้น จริงๆ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเราด้วยซ้ำ เพราะเราจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวก็ได้ (โดยเฉพาะ ‘ดราม่า’ ในอินเทอร์เน็ต) แต่เมื่อร่างกายเกิด ‘ตื่นตัว’ ขึ้นมาแล้ว และเรายังคงอ่าน ‘ดราม่า’ นั้นต่อไป ไม่ช้าก็เร็ว สมองจะ ‘คว้าจับ’ เหตุผลบางอย่างที่สอดรับกับ ‘ต้นทุนเดิม’ ของเรา แล้วทำให้เราเกิดอาการ ‘เลือกข้าง’ กระโจนเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับ ‘ดราม่า’ นั้นๆ ขึ้นมา
ผลก็คือ ‘ดราม่า’ ยิ่ง ‘ดราม่า’ เข้าไปใหญ่ เพราะมี ‘ตัวผู้ชม’ ที่กระโดดเข้าไปเป็น ‘ตัวผู้เล่น’ (และในขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็น ‘ตัวผู้ชม’ อยู่ด้วย) ซึ่งยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ ‘ดราม่า’ นั้นก็จะยิ่งเข้มข้น สนุกสนาน และชวนให้ ‘เสพติด’ มากขึ้นเท่านั้น
พอเสพติดแล้ว ก็จะยิ่งอยากเสพมากขึ้นเรื่อยๆ!
ไม่มีใครรู้หรอกครับ ว่าอาการเสพติด ‘ดราม่า’ ของเราจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ที่รู้แน่ๆ ก็คือ ด้วยความช่วยเหลือของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ‘ดราม่า’ ใหม่ๆ จึงถือกำเนิดขึ้นได้ทุกวัน มีเรื่องใหม่ๆ ให้เราติดตาม ได้ออกความเห็น ได้วิพากษ์วิจารณ์ ได้ด่าคนอื่นเพื่อจุดประสงค์ในการบอกคนอื่นว่าฉันเป็นคนดีกว่า-ทุกวัน
เชคสเปียร์-ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาคือ ‘เจ้าพ่อแห่งดราม่า’ เคยเขียนเอาไว้ว่า
If you can look into the seeds of time,
And say which grain will grow and which will not,
Speak then to me, who neither beg nor fear
Your favours nor your hate.
ในสุดยอดละครโศกนาฏกรรมอย่าง ‘แม็คเบธ’ ปราชัยคือมีชัย และทรามกับงามสังวาสกันอยู่ในมวลอากาศ ไม่มีใครแบ่งแยกได้อีกต่อไป ว่าอะไรคือทรามและอะไรคืองาม
ไม่มีเส้นขีดแบ่ง!
หากวันหนึ่ง สังคมไทยมีความสามารถในการเสพ ‘ดราม่าที่แท้จริง’ มากกว่าการเสพ ‘เมโลดราม่า’ คือเห็นได้ว่า อะไรคือการแสดง และไม่ได้ยึดติดกับมันจนสมองต้องหลั่งอะดรีนาลินออกมาช่วยให้กระเหี้ยนกระหือรือ บางทีวันนั้น สภาวะ ‘ดราม่า’ ไม่รู้แล้วของเราอาจบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง
แต่จะเป็นเมื่อไหร่
กระทั่งเชคสเปียร์ก็ไม่น่าจะตอบได้หรอกครับ!