ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ความขัดแย้งยังคงไม่จบสิ้น โลกยังคงถูกแบ่งเป็นสองขั้ว ที่ไม่ใช่จากฝ่ายอักษะและฝ่ายสัมพันธมิตรอีกต่อไป แต่เป็นฝ่ายโลกเสรีซึ่งนำโดยประเทศสหรัฐอเมริกาและฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งนำโดยสหภาพโซเวียต ที่พยายามมุ่งแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วยการนำกองกำลังเข้าครอบครองยุโรปตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นประเทศโปแลนด์ ฮังการี โรมาเนีย และเยอรมนี เป็นต้น
ประเทศเยอรมนี ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ คือประเทศเยอรมนีตะวันออก และประเทศเยอรมนีตะวันตก ทางฝั่งประเทศเยอรมนีตะวันตกนั้นได้รับความช่วยเหลือจากประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และประเทศฝรั่งเศส โดยมีการปกครองแบบประชาธิปไตย ส่วนประเทศเยอรมนีตะวันออกอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตด้วยระบอบคอมมิวนิสต์
ถึงแม้ว่าประเทศเยอรมนีผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบลงด้วยการฆ่าตัวตายของฮิตเลอร์ ผู้คนนับล้านต้องพลัดถิ่น ชาวเยอรมันมากถึง 8.8 ล้านคนต้องเสียชีวิต สถาบันส่วนใหญ่ของประเทศเยอรมนีต้องพังทลายลง และประชาชนในประเทศเยอรมนีที่ยังเหลืออยู่ต้องใช้ชีวิตอย่างอดอยาก
แต่ความเป็นอยู่ของทั้ง 2 ฝั่งนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง ทางฝั่งประเทศเยอรมนีตะวันตกนั้นแทบจะเรียกได้ว่าอยู่อย่างอิสระ และได้รับการดูแลอย่างมีมนุษยธรรมจากฝ่ายโลกเสรี ส่วนทางฝั่งประเทศเยอรมนีตะวันออกกลับต้องอยู่อย่างดิ้นรน ถูกควบคุมทุกย่างก้าวดั่งผู้ร้ายในเรือนจำ ยังไม่นับความทรงจำอันโหดร้ายจากกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตที่ไล่ฆ่าข่มขืนเด็กและสตรีชาวเยอรมันนับแสนคน หลังจากที่พวกเขาบุกมาถึงประเทศเยอรมนีในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2
ความวุ่นวายและการต่อสู้ดิ้นรนในประเทศเยอรมนีตะวันออกนี้ ทำให้ระหว่างปีค.ศ.1945 ถึงค.ศ.1961 มีชาวเยอรมันตะวันออกราว 3.6 ล้านคนตัดสินใจหลบหนีออกจากประเทศ ซึ่งมันคือราว 20% หรือ 1 ใน 5 ของประชากรประเทศเยอรมนีตะวันออกทั้งหมด
ตัวเลขการหลบหนีที่มหาศาลนี้ทำให้สหภาพโซเวียตเริ่มวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นผลให้ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1961 นิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียต สั่งให้รัฐบาลเยอรมันตะวันออกเริ่มทำการปิดพรมแดนไปยังประเทศเยอรมนีตะวันตกอย่างคุมเข้มและโหดร้ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายใน 2 สัปดาห์ มีการสร้างรั้วลวดหนามระหว่างพรมแดนประเทศเยอรมนีตะวันออกและตะวันตก ตามด้วยการสร้างกำแพงกั้นระหว่างกรุงเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตก เป็นที่รู้จักกันในนาม ‘กำแพงเบอร์ลิน’ พรมแดนเต็มไปด้วยทหารพร้อมอาวุธ พวกเขายังได้รับคำสั่งให้ป้องกันการรุกล้ำชายแดนทุกวิถีทาง ดังนั้นทหารจึงยิงเข้าใส่ทุกคนที่พยายามหลบหนีออกจากเขตปกครองโดยไม่ลังเล สิ่งนี้ทำให้ชาวเยอรมันตะวันออกไม่สามารถออกไปไหนได้อีกต่อไป
ถึงแม้จะมีชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ก็ยังมีชาวเยอรมันตะวันออกราว 150,000 คนพยายามข้ามพรมแดนเหล่านี้ไปในช่วงตั้งแต่ปีค.ศ.1961 ถึงค.ศ.1988 บางส่วนถูกจับกุม บางส่วนถูกฆ่า และมีผู้ประสบความสำเร็จสามารถหลบหนีไปได้ประมาณ 40,000 คน
และ 8 คนในจำนวนนั้น พวกเขาสามารถหลบหนีเข้าสู่ประเทศเยอรมนีตะวันตกด้วยการใช้บอลลูนอากาศที่สร้างขึ้นเองทั้งหมดในการข้ามพรมแดน มันเป็นความสำเร็จและความพยายามที่เกิดจากสองครอบครัวที่สิ้นหวังในประเทศและต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขา แรงบันดาลใจครั้งสำคัญนี้ทำให้บริษัทวอลต์ดิสนีย์ต้องนำเรื่องราวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ทันทีหลังจากเกิดเรื่องราว
ผู้คนต่างเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘บอลลูนแห่งอิสรภาพ’
ในปีค.ศ.1974 เพเทอร์ ชเตรลซิค (Peter Strelzyk) และกึนเทอร์ เว็ทเซล (Günter Wetzel) ทั้ง 2 คนพบกันครั้งแรกขณะทำงานที่โรงงานพลาสติกในเขตท้องถิ่นของเมืองบาด ลีเบนสไตน์ ในประเทศเยอรมนีตะวันออก พวกเขากลายเป็นเพื่อนกันอย่างรวดเร็วจากแนวคิดที่เหมือนกันว่าการเมืองและสังคมในประเทศเยอรมนีตะวันออกนั้นเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน
“ในประเทศเยอรมนีตะวันออก พวกเราอาจจะมีความสุขในเรื่องส่วนตัวบางเรื่อง แต่เรากลับไม่มีความสุขกับชีวิตในสาธารณะเลย นั่นเป็นเพราะว่าเราไม่สามารถแสดงความรู้สึกของพวกเราได้”
กึนเทอร์ กล่าว
“เราพบเจอแต่โฆษณาชวนเชื่อและการโกหกอย่างไม่หยุดยั้งของรัฐบาล เราไม่มีอิสระที่จะอ่านสิ่งที่เราพอใจ ไม่มีอิสระในการพูดสิ่งที่เราคิด หรืออิสระในการเดินทางไปทุกที่ที่ไม่ใช่ประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ”
เพเทอร์ กล่าวด้วยความรู้สึกหงุดหงิดกับความหน้าซื่อใจคดของรัฐบาลประเทศเยอรมนีตะวันออก
ด้วยสิ่งเหล่านี้ทำให้ กึนเทอร์ และ เพเทอร์ ตกลงเห็นพ้องร่วมกันว่าพวกเขาจะต้องออกจากประเทศเยอรมนีตะวันออกให้จงได้ และในเดือนมีนาคม ค.ศ.1978 ทั้ง 2 จึงร่วมกันคิดแผนการหลบหนี แต่พวกเขาไม่ได้ไปกันแค่ 2 คน เพราะยังมีครอบครัวซึ่งเป็นภรรยาและลูกๆ ของพวกเขาไปด้วย รวมทั้งหมดแล้วเป็น 8 คน
ในทีแรกพวกเขาคิดจะสร้างเฮลิคอปเตอร์ แต่สุดท้ายก็ต้องล้มเลิกมันไป เพราะพวกเขาไม่สามารถหาเครื่องยนต์ที่มีกำลังมากพอที่จะยกทั้งหมด 8 คนขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยความปลอดภัย
จนในที่สุดพวกเขาก็มีไอเดียหนึ่งขึ้นมา ไอเดียที่จะมีแรงยกมากพอและนำพาพวกเขาทั้งหมดไปสู่อิสรภาพได้อย่างราบรื่น นั่นคือ บอลลูนอากาศร้อน (Hot air balloon)
หลักการของบอลลูนอากาศร้อนจะอาศัยหลักการแรงลอยตัวที่เรียกว่า “Principle of buoyancy” ของอาร์คีมิดิส (Archimedes) ซึ่งบอลลูนนั้นจะสามารถลอยตัวขึ้นไปในอากาศได้ ด้วยการทำให้ความหนาแน่นของอากาศภายในบอลลูนมีน้อยกว่าความหนาแน่นของอากาศภายนอกรอบๆ บอลลูน ด้วยการใส่ความร้อนเข้าไปด้านในลูกบอลลูน
หลังจากการศึกษาค้นคว้าเบื้องต้นเกี่ยวกับบอลลูนอากาศร้อน กึนเทอร์ และ เพเทอร์ ก็ตระหนักว่าพวกเขาจะต้องสร้างบอลลูนที่มีขนาดใหญ่มากพอที่จะมีแรงยกผู้ใหญ่ 4 คนและเด็ก 4 คนได้อย่างปลอดภัย เมื่อคำนวณน้ำหนักแล้ว จำนวนคนบวกสัมภาระรวมถึงถังบรรจุก๊าซและเครื่องพ่นไฟที่ใช้ในการสร้างลมร้อน น่าจะมีน้ำหนักรวมทั้งหมดประมาณ 1,650 ปอนด์ (ประมาณ750 กิโลกรัม)
เป็นเวลากว่า 18 เดือนที่ครอบครัวเว็ทเซล และชเตรลซิค ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยไม่หยุดพักเพื่อสร้างบอลลูนต้นแบบตัวแรก เพเทอร์ ชเตรลซิค และกึนเทอร์ เว็ทเซล ทำหน้าที่สร้างแท่นบรรจุก๊าซ และเครื่องพ่นไฟ ในขณะที่ เพตรา เว็ทเซล (Petra Wetzel) และ ดอริส ชเตรลซิค (Doris Strelzyk) ภรรยาของทั้ง 2 คน ทำหน้าที่เย็บบอลลูน ด้วยการนำผ้าที่พวกเขาพอจะหาได้ ไม่ว่าจะเป็นผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน และผ้าอื่นๆ ที่พวกเขาเจอระหว่างทาง มาเย็บรวมกันเป็นผ้าใบบอลลูนขนาดใหญ่พอตามที่คำนวณเอาไว้แล้วว่าจะสามารถยกพวกเขาข้ามเขตแดนที่เต็มไปด้วยรั้วกั้นแน่นหนาไปได้อย่างราบรื่น
28 เมษายน ค.ศ.1978 พวกเขาพร้อมแล้วสำหรับการบินทดสอบครั้งแรก กึนเทอร์ และ เพเทอร์ แอบนำบอลลูนไปวางไว้ในทุ่งหญ้าอันห่างไกลเมืองที่ลับตาผู้คน จากนั้นพวกเขาก็เปิดเตาบรรจุก๊าซและใช้เครื่องพ่นไฟนำอากาศร้อนเข้าไปในบอลลูนผ้าที่เย็บด้วยภรรยาของพวกเขา แต่แล้วความผิดพลาดก็เกิดขึ้น ผ้าที่ใช้ทำบอลลูนนั้นมีเนื้อผ้าที่ไม่ละเอียด มันทำให้มีรูที่มีขนาดใหญ่เกินไปในตัวเนื้อผ้าจนไม่สามารถกักเก็บลมร้อนไว้ได้ เมื่อทั้ง 2 คนจุดไฟขึ้น บอลลูนที่เหมือนจะตั้งขึ้นได้สักพักจึงห่อเหี่ยวลงมากระทบกับไฟจากเครื่องพ่นไฟ จนในที่สุดบอลลูนก็ถูกเผาจนไม่เหลือซาก การทดสอบครั้งแรกเป็นไปด้วยความล้มเหลว
แต่กึนเทอร์ และ เพเทอร์ ไม่ได้ย่อท้อแต่อย่างใด เพราะความผิดพลาดมักเป็นหนทางไปสู่สิ่งที่ถูกต้องอยู่เสมอ พวกเขาปฏิเสธที่จะยอมแพ้ และตั้งใจแน่วแน่ที่จะสร้างบอลลูนอากาศร้อนตัวใหม่ที่จะไม่มีข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับตัวแรกนี้อีกต่อไป
กึนเทอร์ และ เพเทอร์ กลับไปที่ห้องทำงานลับ ทั้ง 2 คนยืนมองดูกระดานดำที่เต็มไปด้วยภาพการออกแบบและการคำนวณแรงยกที่พวกเขาเขียนขึ้นมาเพื่อหาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการทดสอบการบินครั้งแรก ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้คือผ้าที่ใช้ในการทำบอลลูน มันต้องมีความละเอียดมากพอที่จะสามารถกักเก็บความร้อนไว้ได้จนทำให้บอลลูนสามารถยกตัวขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่กึนเทอร์ และ เพเทอร์ ไม่รู้เลยว่าผ้าแบบไหนที่จะเหมาะสมที่สุด พวกเขาไม่อยากเสียเวลากับการล้มเหลวไปนานมากกว่านี้ เพราะสิ่งที่ทั้ง 2 คนทำมันผิดกฏหมายซึ่งอาจจะถูกจับและถูกสังหารได้ทุกเมื่อ
หลังจากนำผ้าหลายๆ ชนิดมาทำการทดลอง ในที่สุดพวกเขาก็ได้ผ้าที่เหมาะสมที่สุดเท่าที่จะหาได้ นั่นคือ Taffeta หรือผ้าแพรแข็งที่ใช้สำหรับตัดชุดราตรีของสุภาพสตรีนั่นเอง ผ้านี้ประกอบไปด้วยโพลีเอสเตอร์หรือไนล่อนที่มีความละเอียด มันยังถูกใช้เป็นซับในเสื้อผ้าพิเศษต่างๆ เช่นเสื้อกีฬา หรือเสื้อกันฝน เป็นต้น
กึนเทอร์ และ เพเทอร์ ซื้อผ้าแพรแข็งขนาด 900 ตารางเมตร จากร้านค้าในเมืองไลพ์ซิก โดยทั้ง 2 คนบอกเจ้าของร้านว่าพวกเขานั้นเป็นวิศวกรจากสโมสรพายเรือและจะนำผ้านี้ไปใช้ทำผ้าใบสำหรับการสร้างเรือใบ จากนั้นพวกเขาก็นำผ้าแพรแข็งนี้ไปให้ภรรยาของพวกเขารีบเย็บเพื่อนำบอลลูนขึ้นสู่ท้องฟ้าให้ได้เร็วที่สุด
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1979 เป็นเวลา 3 เดือนหลังจากความพยายามครั้งแรก ครอบครัวเว็ทเซล และ ชเตรลซิค จำนวน 8 คน ก็พร้อมแล้วสำหรับการหลบหนี ทั้งหมดมายังทุ่งหญ้าในที่ลับตาห่างจากเมืองบาด ลีเบนสไตน์ ไปไม่ไกล เวลาที่ไม่คอยท่าทำให้มันไม่มีการทดสอบลองขึ้นบินอีกต่อไป เมื่อพวกเขาพ่นไฟเอาอากาศร้อนใส่ในบอลลูน ผ้าบอลลูนมันก็พองตัวขึ้นอย่างสมบูรณ์พร้อมที่จะขึ้นสู่ท้องฟ้า ทั้งหมดรีบขึ้นบอลลูนอย่างรวดเร็ว จากนั้นกึนเทอร์ และ เพเทอร์ ก็เร่งไฟให้แรงขึ้น จนบอลลูนยกตัวขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างสวยงาม มุ่งหน้าไปยังทิศใต้สู่ประเทศเยอรมนีตะวันตก
บอลลูนลอยตัวขึ้นสูงสู่ก้อนเมฆที่ปกคลุมไปทั่วท้องฟ้า มันทำให้ความชื้นในก้อนเมฆเข้าไปซึมในตัวผ้าบอลลูนจนทำให้ผ้านั้นมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ และแม้พวกเขาจะเร่งไฟเพื่อเพิ่มความร้อนมากแค่ไหน แต่ในที่สุดบอลลูนก็ค่อยๆ ร่วงลงมาสู่พื้น จนมาลงจอดก่อนถึงชายแดนฝั่งเยอรมนีตะวันตกเพียงแค่ 180 เมตรเท่านั้น ทั้งหมดไม่มีเวลาเก็บบอลลูน พวกเขาต้องทิ้งมันไว้และหนีเอาตัวรอดก่อนที่ตำรวจและทหารจากฝ่ายเยอรมนีตะวันออกจะมาพบพวกเขาเข้า
จากนั้นไม่นานตำรวจก็เข้ามายังบอลลูนที่ 2 ครอบครัวได้ทิ้งเอาไว้ มีการสืบเสาะค้นหาผู้ที่กระทำผิดนี้อย่างจริงจัง ตำรวจพยายามค้นหาเบาะแสและสอบถามประชาชนใกล้เคียงว่าใครกันที่พยายามจะหลบหนี และคนเหล่านั้นจะต้องเจอกับโทษรุนแรงที่ไม่สมเหตุสมผลที่แลกมาด้วยชีวิต มีการออกประกาศในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเพื่อค้นหาบุคคลที่เป็นเจ้าของบอลลูนลำนี้ รวมถึงมีการให้รางวัลสำหรับผู้ที่แจ้งเบาะแสจนสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ กึนเทอร์ และ เพเทอร์ ไม่มีเวลาแล้ว พวกเขาถอยหลังไม่ได้ และต้องสร้างบอลลูนทั้งหมดขึ้นมาใหม่อย่างรวดเร็วก่อนที่จะถูกจับได้
เป็นเวลากว่า 2 เดือนที่ครอบครัวเว็ทเซล และ ชเตรลซิค เร่งสร้างบอลลูนพร้อมแท่นบรรจุก๊าซและเครื่องพ่นไฟขึ้นมาใหม่จากศูนย์หลังจากที่ต้องจำใจทิ้งอันเก่าเพื่อหลบหนีไป
ในที่สุดพวกเขาก็พร้อมแล้วที่จะเดินทางอีกครั้ง
มันคือการเดินทางครั้งสุดท้ายที่ถอยหลังไม่ได้อีกต่อไป
คืนวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1979 มันเป็นคืนท้องฟ้าสว่างไสวไร้ก้อนเมฆจนมองเห็นดวงดาว พร้อมกับลมอันรุนแรงที่กำลังพัดลงสู่ทิศใต้ไปยังประเทศเยอรมนีตะวันตก ทุกอย่างดูจะเป็นใจและสมบูรณ์ที่สุดสำหรับการปล่อยบอลลูนในการหลบหนีครั้งสุดท้ายของครอบครัวเว็ทเซล และ ชเตรลซิค พวกเขาตัดสินใจแล้วว่าคืนนี้จะเป็นคืนที่พวกเขาจะไปจากประเทศอันเลวร้ายแห่งนี้ให้จงได้ ทั้ง 2 ครอบครัวขับรถออกจากเมืองบาด ลีเบนสไตน์ พร้อมกับบอลลูน ไปยังชายแดนให้ใกล้ที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่มีใครเห็น และรอเวลาที่เหมาะสมในการนำบอลลูนขึ้นสู่ท้องฟ้า
เวลา 02:26 น. ของวันที่ 16 กันยายน ค.ศ.1979 ครอบครัวเว็ทเซล และ ชเตรลซิค ทั้ง 8 คน ก็ได้ขึ้นบอลลูน มันยกตัวขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างสมบูรณ์ ไม่มีเมฆที่ขัดขวางอีกต่อไป ลมด้านบนที่พัดลงทิศใต้อย่างรุนแรงทำให้บอลลูนของพวกเขาพัดไปสู่จุดหมายที่เป็นอิสรภาพได้เร็วยิ่งขึ้น แต่ไม่กี่นาทีหลังจากวิ่งขึ้น ไฟที่ออกมาจากเครื่องพ่นไฟในบอลลูนในยามค่ำคืน มันทำให้มีชาวบ้านหลายคนมองเห็นมันได้อย่างชัดเจน แต่ชาวบ้านไม่รู้ว่ามันคือเพื่อนของพวกเขาหาใช่ศัตรูที่จะมารุกรานไม่ ชาวบ้านบางส่วนจึงได้โทรศัพท์แจ้งตำรวจเกี่ยวกับวัตถุบินได้ที่ไม่ทราบชื่อกำลังลอยมุ่งหน้าไปยังชายแดน
ตำรวจที่ได้รับแจ้งเหตุ จึงได้รุดมายังที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งโทรแจ้งหน่วยที่อยู่บริเวณชายแดนให้สาดไฟที่มีทั้งหมดขึ้นไปบนฟ้าเพื่อตามหาวัตถุลึกลับนั่น ครอบครัวเว็ทเซลและชเตรลซิคทั้ง 8 คนไม่สามารถผิดพลาดได้อีกต่อไปดั่งเช่นครั้งที่ผ่านๆ มา ถ้าพวกเขาลอยมาตกยังบริเวณประเทศเยอรมนีตะวันออกดังเดิม พวกเขาจะต้องหนีไม่พ้นการโดนจับพร้อมทั้งรับโทษอย่างสาหัสแน่นอน
ท้องฟ้าบริเวณชายแดนเยอรมนีตะวันออกที่เคยมืดมิด บัดนี้มันส่องสว่างแสบตาดั่งกลางวันจากแสงไฟภาคพื้นที่ส่องหาวัตถุลึกลับนั่น แต่ไม่ว่ามันจะสว่างแค่ไหน ก็ไม่สามารถมองเห็นบอลลูนอากาศร้อนของครอบครัวเว็ทเซล และชเตรลซิค ที่กำลังลอยล่องข้ามชายแดนไปเรียบร้อยแล้ว
ครอบครัวเว็ทเซล และชเตรลซิค มองเห็นแนวแสงไฟค้นหาสาดส่องลับหลังไป นั่นทำให้พวกเขาคาดการณ์ได้ว่าบอลลูนได้นำพาพวกเขาข้ามพรมแดนมาเรียบร้อยแล้ว แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาจะต้องไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้มั่นใจว่ามันได้เข้ามายังประเทศเยอรมนีตะวันตกแล้วจริงๆ
28 นาทีหลังจากขึ้นบินมา ก๊าซโพรเพนที่ใช้ทำอากาศร้อนในบอลลูนก็หมดลง บอลลูนได้ร่วงตกลงมากระแทกกับพื้นอย่างรวดเร็ว ทุกคนไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร ยกเว้น กึนเทอร์ เว็ทเซล ที่ขาบาดเจ็บจากการลงจอดที่รุนแรงนี้ พวกเขาตกลงที่ทุ่งหญ้าที่มีทิวทัศน์รอบด้านแปลกตาไปจากที่เคยเห็น แสงไฟสีแดงและสีเหลืองที่ติดสลับกันระยิบระยับไม่เหมือนไฟในประเทศเยอรมนีตะวันออก รวมถึงฟาร์มที่มีขนาดเล็กแตกต่างจากฟาร์มในประเทศเยอรมนีตะวันออกซึ่งล้วนแต่มีขนาดใหญ่
รถตำรวจคันหนึ่งขับเข้ามาหาพวกเขา เพเทอร์ และ กึนเทอร์ มองเห็นว่าเป็นรถยี่ห้อออดี้พร้อมสัญลักษณ์ตราประเทศเยอรมนีตะวันตก เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คนลงจากรถและเดินมาหาพวกเขา
“นี่คือตะวันตกใช่หรือไม่?” เพเทอร์ และ กึนเทอร์ ถามตำรวจ 2 คนนั้นเพื่อความมั่นใจ
“ใช่แล้ว” ตำรวจตอบกลับทันทีเพเทอร์ และ กึนเทอร์ จึงเรียกครอบครัวของพวกเขาเข้ามาโผกอดร่วมกันอย่างมีความสุข บอลลูนของพวกเขาลงจอดใกล้กับเมืองไนลา ในประเทศเยอรมนีตะวันตก และอยู่ห่างจากชายแดนไปเพียง 10 กิโลเมตร
รายชื่อผู้หลบหนีทั้ง 8 คน
ครอบครัว ชเตรลซิค
1.เพเทอร์ ชเตรลซิค วัย 37 ปี
2.ดอริส ชเตรลซิค ภรรยาของเพเทอร์ ไม่ทราบอายุ
3.แฟรงค์ ชเตรลซิค เด็กชายวัย 15 ปี
4.แอนเดรียส ชเตรลซิค เด็กชายวัย 11 ปี
ครอบครัวเว็ทเซล
5.กึนเทอร์ เว็ทเซล วัย 24 ปี
6.เพตรา เว็ทเซล ภรรยาของกึนเทอร์ ไม่ทราบอายุ
7.เพเทอร์ เว็ทเซล เด็กชายวัย 5 ปี
8.แอนเดรียส เว็ทเซล เด็กชายวัย 2 ปี
หลังจากข่าวการหลบหนีครั้งนี้ออกแพร่หลายไปทั่วโลก ประเทศเยอรมนีตะวันออกก็ได้เพิ่มกำลังพลที่ชายแดนในทันที อีกทั้งยังปิดสนามบินขนาดเล็กทั้งหมดที่ใกล้กับชายแดน ถังก๊าซโพรเพนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องลงทะเบียนทุกครั้งที่ซื้อ ผ้าจำนวนมากที่เหมาะสำหรับการสร้างบอลลูนถูกยกเลิกห้ามขายอีก รวมถึงมีการห้ามประชาชนส่งจดหมายส่วนตัวไปยังต่างประเทศ
อีริช และ มาเรีย ชเตรลซิค น้องของ เพเทอร์ ชเตรลซิค ไม่ทราบเรื่องการหลบหนีครั้งนี้เลย แต่พวกเขาถูกตำรวจจับกุม 3 ชั่วโมงหลังจากการลงจอดบอลลูนของพี่ชายพวกเขา ทั้ง 2 คนรวมถึงสามีของมาเรียถูกตั้งข้อหา ‘ช่วยเหลือและสนับสนุนการหลบหนี’ หลังจากถูกจำคุกอยู่ 2 ปีครึ่ง ทั้ง 3 คนก็ได้รับการปล่อยตัวในที่สุด จากความช่วยเหลือขององค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
ส่วน 2 ครอบครัวที่หลบหนีไปได้ พวกเขาตัดสินใจตั้งรกรากในเมืองไนลา เมืองที่พวกเขาลงจอด กึนเทอร์ ทำงานเป็นช่างยนต์ ส่วนเพเทอร์ เปิดร้านซ่อมทีวีในเมือง และหลังจากการรวมชาติของประเทศเยอรมนีในปีค.ศ.1990 พวกเขาก็กลับไปยังบ้านเกิดและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
การหลบหนีของพวกเขาโด่งดังและเป็นแรงบันดาลใจ จนดิสนีย์มาขอนำเรื่องราวมาสร้างภาพยนตร์ในทันที ชื่อว่า Night Crossing ซึ่งออกฉายในปี ค.ศ.1982 และยังมีภาพยนตร์เรื่อง Balloon สร้างโดยทีมงานสัญชาติเยอรมันซึ่งออกฉายในปีค.ศ.2018 ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในเยอรมัน ฟิล์ม อวอร์ด สาขาลำดับเสียงยอดเยี่ยม
เพเทอร์ ชเตรลซิค เสียชีวิตในปีค.ศ.2017 ในวัย 74 ปี จากอาการเจ็บป่วยที่เรื้อรังมานาน
บอลลูนของพวกเขายังคงถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Haus der Bayerischen Geschichte ที่เมืองเรเกนสบวร์ก ประเทศเยอรมนี
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ Popular Mechanics ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1980 หน้า100 -103