แค่ได้ยินคำว่า ‘ภาษี’ ทุกคนก็พร้อมใจกันเบือนหน้าหนี ปีไหนที่จะต้องเสียภาษีแพงๆ เราก็โทษฟ้าดินประหนึ่งว่าโชคชะตากลั่นแกล้ง นั่นก็เป็นเพราะบางครั้งเราไม่รู้ว่าเงินที่เสียไป รัฐเอาไปทำอะไรบ้าง เรามีทัศนคติว่า ‘เงินเราจะสูญเปล่า’ จึงเป็นเหตุให้เราไม่อยากจะเสียภาษี ความเชื่อใจระหว่างรัฐกับประชาชนถูกบั่นทอนด้วยข่าวทุจริตของพนักงานรัฐ นักการเมือง และกลุ่มคนมีอำนาจ แต่จะดีกว่าไหม หากมี ‘โครงการการเก็บภาษีเฉพาะอย่าง’ โดยที่เรารู้ว่ารัฐจะเอาไปทำอะไร
ภาษีที่ว่านี้ มีชื่อเต็มๆ ว่า ‘ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ’ หรือ Earmarked Tax เป็นวิธีการสรรหางบประมาณสำหรับโครงการพิเศษ ข้อดีของมันคือ สามารถสร้างเสถียรภาพให้กับงบประมาณของโครงการ มั่นใจได้เลยว่าโครงการนี้มีงบประมาณเพียงพอ ง่ายต่อการวางแผนการดำเนินโครงการ ไม่มีความเสี่ยงจากการเพิ่มลดงบกลางของรัฐในปีถัดไป และข้อดีสุดๆ ของมันก็คือ คนที่เสียภาษีก็จะได้รู้ว่าเงินที่จ่ายไปนั้น เอาไปทำอะไรบ้าง
ประเทศไทยเอง ก็มีการเก็บภาษีประเภทนี้เช่นกัน โดยมี 3 หน่วยงานที่รับงบประมาณไป ประกอบด้วย สสส. ไทยพีบีเอส และกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ โดยได้รับเงินมาจากภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบ
แล้วภาษีจะช่วยการศึกษาอย่างไร? เราอาจเคยรู้กันมาว่า งบประมาณของรัฐในแต่ละปีมักทุ่มให้กับการศึกษาเป็นอันดับแรกอยู่แล้ว คำถามคือ ยังไม่พออีกหรือ?
ต้องขอตอบว่า พอสำหรับโรงเรียนที่มีเด็กนักเรียนเยอะ แต่ไม่พอสำหรับโรงเรียนเล็กๆ หรือโรงเรียนทางเลือก นั่นก็เพราะในปัจจุบัน งบประมาณที่แต่ละโรงเรียนได้รับขึ้นอยู่กับจำนวนเด็กในโรงเรียน ซึ่งเราก็รู้กันดีว่าในแต่ละจังหวัดจะมีโรงเรียนใหญ่ๆ หรือโรงเรียนประจำจังหวัดไม่กี่แห่งที่นักเรียนแย่งกันเข้า แล้วถ้านับรวมการบริจาคของผู้ปกครอง ซึ่งแน่นอนว่าโรงเรียนที่มีเด็กเยอะย่อมมีเงินบริจาคเยอะกว่าไปโดยปริยาย ผลก็คือ ทำให้โรงเรียนใหญ่ๆ เหล่านี้ได้รับเงินทุนสูงติดต่อกันทุกปี สามารถนำเงินไปซื้อคอมพิวเตอร์ดีๆ จ้างครูต่างชาติเจ๋งๆ ปิดท้ายด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมกับเด็กเพิ่มเติม ผู้ปกครองก็ต้องจ่ายเพราะอยากให้ลูกได้มีโอกาสเหมือนเด็กในเมืองหลวง
ในแง่เงินจัดสรรไปยังแต่ละโรงเรียน บางคนบอกว่า มันก็ถูกต้องแล้ว เพราะโรงเรียนที่มีเด็กเยอะกว่า ต้นทุนการจัดการโรงเรียนก็ต้องเยอะกว่า ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยๆ จะเอาเงินไปทำอะไรเยอะแยะ ก่อนอื่น เราก็ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า ต้นทุนในการบริหารจัดการโรงเรียนนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ต้นทุนผันแปร และต้นทุนคงที่
หากไม่แก้ไข โรงเรียนเล็กๆ ตามต่างจังหวัดจะไม่สามารถเก็บหอมรอมริบจนมีเงินมากพอที่จะไปลงทุนเพื่อพัฒนาปรับปรุงโรงเรียนได้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็จะคงอยู่ตลอดไป
ต้นทุนผันแปรคือต้นทุนที่เพิ่มหรือลดตามจำนวนเด็ก เช่น ขนาดโรงเรียน โต๊ะ เก้าอี้ อาหารกลางวัน รวมถึงไปคุณครู (โรงเรียนใหญ่ๆ ครูก็สอนกันคนละวิชา มีหมวดภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ขณะที่โรงเรียนเล็กๆ ครูคนเดียว สอนเหมาหมดตั้งแต่วิทย์ คณิต ศิลปะ รวมถึงพละ)
แต่ต้นทุนคงที่นั้น ไม่ว่านักเรียนจะสมัครเรียนกันเยอะหรือน้อยก็ต้องจ่ายอยู่ดี แล้วอะไรบ้างที่เป็นต้นทุนคงที่ เช่น การทำนุบำรุงห้องสมุด การสร้างห้องคอมพิวเตอร์ การดูแลสนามฟุตบอล รวมไปถึงการจ้างบุคลากรที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการศึกษา สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนที่โรงเรียนต้องแบกรับ ไม่ว่านักเรียนจะเยอะหรือน้อยก็ตาม
หากไม่แก้ไข โรงเรียนเล็กๆ ตามต่างจังหวัดจะไม่สามารถเก็บหอมรอมริบจนมีเงินมากพอที่จะไปลงทุนเพื่อพัฒนาปรับปรุงโรงเรียนได้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็จะคงอยู่ตลอดไป โรงเรียนประจำจังหวัดก็จะประจำจังหวัดอยู่อย่างนั้น ขณะที่โรงเรียนทางเลือกก็ไม่ได้เป็นตัวจริงสักที
ในอดีต ประเทศไทยเคยเก็บภาษีเพื่อการศึกษาเหมือนกัน คือ เงินศึกษาพลี และเงินช่วยการประถมศึกษา เงินศึกษาพลีเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 เสนอโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี โดยเก็บกับผู้ชายอายุ 18 – 60 ปี เสียคนละ 1 – 3 บาทต่อปี โดยเงินศึกษาพลีนี้ยกเลิกในปี พ.ศ. 2473 เหตุเพราะประชาชนยากจน โดยช่วงนั้นเป็นช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ (The Great Depression, 1929) ทำให้ประชาชนไม่สามารถจ่ายได้อีกต่อไป รวมถึงมีปัญหาเจ้าหน้าที่ยักยอกเงินดังกล่าว
ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 มีโครงการเงินช่วยการประถมศึกษาขึ้นมา เป็นการเก็บเงินเพื่อช่วยในโครงการสร้างโรงเรียนประถมศึกษา สาเหตุก็เป็นเพราะงบประมาณที่ได้รับในสมัยนั้นไม่พอกับค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงปริมาณและคุณภาพการศึกษา ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคือ ผู้ชายที่บรรลุนิติภาวะ เสียปีละ 1 บาท แต่เงินช่วยประถมศึกษานี้ก็ถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2494
ขณะที่ในปัจจุบัน กระทรวงการคลังก็มีมาตรการทางภาษีที่มาช่วยการศึกษาเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่การเก็บภาษี แต่เป็นมาตรการให้สิทธิประโยชน์หรือลดหย่อนให้กับคนที่สนับสนุนการศึกษา เช่น พ่อและแม่สามารถหักลดหย่อนการศึกษาของลูกได้ การบริจาคเงินให้กับสถานศึกษาของทางราชการ หรือการงดเว้นภาษีสำหรับเงินได้ของโรงเรียน เป็นต้น รวมถึงไปมาตรการด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จะมีการงดเว้นในการขายตำราเรียน การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของราชการและเอกชน เป็นต้น
สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเก็บภาษีประเภทนี้อย่างแพร่หลาย มีการบริหารจัดการโดยรัฐบาลท้องถิ่น จากข้อมูลพบว่าทุกรัฐมีการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ โดยเป้าหมายหลักของการจัดเก็บภาษีประเภทนี้คือ เพื่อสนับสนุนการศึกษาในขั้นปฐมภูมิและทุตยิภูมิ ซึ่งจะแตกต่างจากสมัยก่อนที่มักจะจัดเก็บภาษีเพื่อการพัฒนาการขนส่งและการบริหารจัดการของท้องถิ่น ทั้งนี้มีรัฐที่จัดเก็บภาษีเพื่อการศึกษาทั้งสิ้น 35 รัฐ โดยฐานภาษีส่วนใหญ่คือ ยอดขายสินค้าทั่วไป รองลงมาเป็นบุหรี่ นอกจากนั้นยังมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกันชีวิต และน้ำมันเชื้อเพลิง
การเก็บภาษีเช่นนี้ แต่ละรัฐจะเก็บภาษีเพื่อการศึกษาไม่เท่ากันและมีวิธีการเก็บที่แตกต่างกัน เช่น รัฐยูทาห์ใช้ภาษีรายได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดเพื่ออุดหนุนการศึกษาระดับ K-12 (อนุบาลถึงมัธยม 6) ขณะที่รัฐมิชิแกนและเทนเนสซีใช้เพียงร้อยละ 32.5 และ 23 ของภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ตามลำดับ ขณะที่รัฐที่ใช้ยอดขายสินค้ามาเป็นทุนในการสนับสนุนการศึกษาที่น่าสนใจคือ รัฐแอละแบมา ซึ่งใช้ 40% ของยอดขายเบียร์มาเป็นเงินทุนโรงเรียนรัฐและการศึกษาขั้นสูงในรัฐ หรือกรณีของรัฐมิชิแกนที่ใช้รายได้ทั้งหมดจากภาษีการโอนอสังหาริมทรัพย์ในการสนับสนุนการศึกษาระดับ K-12
จะเป็นไปได้ไหมที่ประเทศไทยจะเก็บภาษีเพื่อการศึกษาบ้าง?
หากต้องการทำ คำถามแรกที่เจอคือ จะเก็บอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด และใช้ฐานภาษีอะไรในการเก็บ ซึ่งคร่าวๆ อาจจะมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ
- แบ่งมาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น ต่อไปนี้ 10 ใน 100 ของภาษีที่คุณเสีย จะถูกโอนเข้าไปให้กับกองทุนเพื่อการศึกษา ซึ่งอย่างน้อย เราก็ภูมิใจได้ว่า ในแต่ละปี เรามีส่วนช่วยพัฒนาการศึกษาไทยแล้วไม่มากก็น้อย
- เก็บจากสินค้าบางประเภท อาจจะเป็นบุหรี่ เบียร์ หรือสินค้าฟุ่มเฟือย เพราะสินค้าเหล่านี้ไม่ใช่สินค้าจำเป็น ดังนั้นจึงไม่กระทบกับสวัสดิการของประชาชนมากนัก หรืออาจจะเป็นภาษีการใช้ 4G ทุกวินาทีที่คุณเล่นอินเทอร์เน็ต คุณจะเสียภาษีเพื่อการศึกษา โดยคิดเป็นสัดส่วนจากค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
คำถามต่อมาที่เราต้องเจอก็คือ เมื่อรู้แล้วว่าเงินที่เราจ่ายให้รัฐ ไปถูกโอนอย่างตรงไปตรงมาให้กับเด็กในโรงเรียนชนบท ที่ขาดโอกาสและทรัพยากร เราจะอยากเสียภาษีเพิ่มขึ้นหรือเปล่า? หรือความรู้สึกของเรายังเหมือนเดิม…