จากณัฏฐพล ทีปสุวรรณ สู่ ตรีนุช เทียนทอง ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถูกเปลี่ยนผ่านมาแล้วเดือนกว่า นับตั้งแต่ 29 มีนาคม 2564 ที่ตรีนุชได้เข้ารับตำแหน่งนี้
การขึ้นรับตำแหน่งนี้เป็นที่จับตามองกันอย่างมาก หลังช่วงปีที่ผ่านมา มีประเด็นร้องเรียนให้ปฏิรูปในระบบการศึกษามากมาย และยังมีการประท้วงเคลื่อนไหวโดยกลุ่มนักเรียนทั้งหลาย ทั้งเรื่องของกฎระเบียบที่ล้าหลัง ละเมิดสิทธิมนุษยชน หลักสูตรการเรียนการสอนที่จำกัดให้เด็กอยู่ในกรอบ
ธรรมเนียมปฏิบัติของระบบการศึกษาไทย เรามักมีป้ายไวนิลต้อนรับหรือแสดงความยินดีให้กับนักเรียนคนโน้นคนนี้กันอยู่เสมอ The MATTER เลยขอทำภาพแสดงผลงานรวมของตรีนุช เพื่อให้เห็นถึงทิศทางและแนวโน้มของระบบการศึกษา ภายใต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ คนใหม่กัน
เตรียมเปิดเว็บไซต์ครูพร้อม
ก่อนจะเปิดภาคการเรียนใหม่ ตรีนุช เตรียมจัดกิจกรรมเพิ่มทักษะให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ตั้งแต่วันที่ 17-31 พฤษภาคม หรือก็คือ เป็นเวลา 11 วัน ผ่านทางเว็บไซต์ ‘ครูพร้อม’ เพื่อเด็กจะได้เรียนรู้ต่อเนื่องไม่หยุดชะงักลง
และหลังจากเปิดเทอมในวันที่ 1 มิถุนายน จะเป็นการจัดการเรียนรู้ 5 รูปแบบ คือ On-site เรียนที่โรงเรียน, On-air เรียนผ่าน DLTV, On-demand เรียนผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ, On-line เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต, On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน พร้อมระบุว่า สามารถเข้าได้ตามความสมัครใจไม่ใช่การบังคับ แต่ก็มีครูหลายคนออกมาแสดงความเห็นในโลกออนไลน์ว่า ทางโรงเรียนบังคับให้เข้าไปร่วมกิจกรรมอยู่ดี
ขณะที่ ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.แพร่ มองว่า การจัดอบรมนี้ใช้เวลานานเกินไป และแต่ละโรงเรียนก็มีปัญหาและสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน จึงควรปรับตามบริบทของโรงเรียน อีกทั้งภาระของครูเองก็มีค่อนข้างมากอยู่แล้ว ทำให้ครูอาจจะแบ่งเวลามาติดตามการอบรมตามช่วงเวลาที่กระทรวงกำหนดได้ยาก
ให้ติวเตอร์มาอบรมครู รับมือเปิดเทอมช่วง COVID-19
กระทรวงศึกษาเตรียมจัด อบรมออนไลน์ ‘สร้างทางเลือกการศึกษา ก่อนเปิดภาคเรียน ฝ่าวิกฤตโควิด-19’ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับครู บุคลากรทางการศึกษา ระหว่างวันที่ 12 – 28 พฤษภาคมนี้ โดยมีวิทยากร ติวเตอร์ชื่อดัง มาร่วมสร้างแรงบันดาลใจ สร้างแนวทางการเรียนรู้ก่อนเปิดเทอม
ประเด็นนี้ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แย้งว่า ภาคการกำหนดนโยบายขาดความเข้าใจเรื่องการศึกษาและไม่อยู่บนฐานการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ปฏิรูปนิยม และมนุษยนิยมใหม่ ซึ่งเป็นหัวใจของการศึกษากระแสหลักที่มีคุณภาพทั่วโลก รวมทั้งระบุ อยู่ใน พ.ร.บ.การศึกษาฉบับปัจจุบัน
“กิจกรรมตามนโยบายนี้ สะท้อนชุดความคิดที่ยังติดอยู่ในโลกของการศึกษา 100 ปีที่แล้ว ที่คิดว่าต้องหาวิธีถ่ายทอดอธิบาย วิเคราะห์ให้ฟัง มองงานสอนเป็นงานเชิงเทคนิค วิธีการมากกว่าการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน”
อ.อรรถพลยังกล่าวด้วยว่า การอบรมแบบฟังอย่างเดียวให้ได้ชุดความรู้นั้น เป็นสิ่งที่หลายประเทศได้ยกเลิกไปนานแล้ว และปรากฏการณ์นี้ยังสะท้อนเรื่องใหญ่ที่สำคัญในการพัฒนา ครู คือการขาดการเชื่อมต่อยึดโยง กับสถาบันเตรียมครู อย่างคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นปัญหาทั้ง 2 ฝั่ง
ทางกระทรวงศึกษาธิการมองไม่เห็นคุณค่า ไม่ศรัทธา เชื่อมั่น มองไม่เห็นทั้งความพร้อมที่มีอยู่ และการเปิดให้สาธารณะเข้าถึงได้ จากสถาบันครุศึกษาในระดับสถาบัน ขณะที่สถาบันครุศาสตร์ศึกษาต่างๆ ก็ทำตัวห่างเหิน ไม่แสดงภาวะผู้นำทางการศึกษา ไม่กระตือรือร้นมากพอที่จะร่วมรับผิดรับชอบกับสถานการณ์ปัญหาทางการศึกษา ลอยตัวจากความล้มเหลวของระบบมาอย่างยืดเยื้อเรื้อรังยาวนาน
อีกทั้ง อ.อรรถพล มีข้อเสนอ 3 แนวทางสำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอม ดังนี้
- สนับสนุนให้ทุกโรงเรียนจัดประชุมออนไลน์ ถอดบทเรียนการทำงานในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งครูทุกคนมีประสบการณ์ตรง และลงมือแก้ปัญหามาแล้ว จึงควรแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเองกับครูที่ดูแลนักเรียนในบริบทเดียวกัน ให้เวลาครูได้คุย หารือ ได้พัก ได้เตรียมตัวสอน จะดีกว่าบังคับให้เปิดหน้าจอเช็คชื่ออบรมออนไลน์
- ให้นักเรียนได้พัก ได้เล่นสนุกตามใจก่อนเปิดเทอม หรือ ให้โรงเรียนประสานงานกับนักเรียนล่วงหน้าว่าไม่มีงาน ไม่มีการบ้าน ให้เล่นเต็มที่ แต่ฝากให้เขียนสั้นๆ หรือวาดอะไร เตรียมมาเล่าให้เพื่อนและครูฟังในวันแรกที่ได้เปิดเทอม
- หารือด่วนกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และเครือข่ายสถาบันครุศึกษา เชิญชวนผู้นำองค์กรของกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หารือร่วมกันแบ่งพื้นที่ดูแลสนับสนุนงานของครู ในช่วงต้นของการเปิดเทอม อาจทำในรูปแบบออนไลน์แพลตฟอร์ม ให้เรียนรู้สนับสนุนยึดโยงกันระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โดยอาจเริ่มจากมหาวิทยาลัยที่ส่งนิสิต นักศึกษาลงฝึกสอน ต้องร่วมสนับสนุนงานโรงเรียนนั้น และโรงเรียนใดที่ไม่ใช่พื้นที่ฝึกงาน ก็ควรจัดโซนพื้นที่ ระดมพลังช่วยสนับสนุนกันทั้งหมด
ตั้ง คกก.ปรับปรุงวิชาประวัติศาสตร์ จริยธรรม และหน้าที่พลเมือง
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตรีนุชเปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการได้หารือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถึงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะประเด็นการปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ จริยธรรม และหน้าที่พลเมือง โดยจะเน้นให้เด็กไทยคิดวิเคราะห์หลายแง่มุม ไม่เน้นท่องจำแล้วนำไปสอบ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังให้ความสำคัญและอยากให้เด็กไทยเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ด้วย
นอกจากนี้ ทางกระทรวงศึกษาฯ ยังฝากให้ อว.ปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครู เพื่อให้สอดรับกับหลักสูตรฐานสมรรถนะใหม่ด้วย
เลิกจ้างครูวิทย์-คณิต 1,964 คน เพราะไม่ได้เตรียมงบให้ดำเนินโครงการต่อ
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวมีการดำเนินงาน 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2561-30 กันยายน 2562
- ระยะที่ 2 วันที่ 1 กันยายน 2562-30 กันยายน 2563
- ระยะที่ 3 วันที่ 1 กันยายน 2563- 30 กันยายน 2564
จึงถือว่าโครงการนี้จะสิ้นสุดการดำเนินงานในวันที่ 30 กันยายนนี้ ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงมีหนังสือแจ้งให้กลุ่มบุคลากรกลุ่มดังกล่าวได้รับทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 7 เดือน เพื่อให้เตรียมตัว เพราะ สพฐ.ไม่ได้เตรียมงบประมาณให้ดำเนินโครงการต่อในปี 2565 เนื่องด้วยต้องใช้งบประมาณถึง 200 ล้านบาท แต่ สพฐ.เตรียมจัดสรรเงินจ้างไว้เฉพาะกลุ่มอัตราจ้างทั่วไป ซึ่งใช้งบฯ ปีละ 2,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น หากเจียดงบฯ มาจ้างบุคลากรในโครงการนี้อีกจะทำให้ สพฐ.ไม่มีงบฯ เพื่อไปพัฒนาในด้านอื่นๆ
อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การเลิกจ้างกลุ่มครูอัตราจ้างโครงการดังกล่าวจะทำให้ สพฐ.ขาดครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นั้น ยืนยันว่าเราไม่ขาดครู เพราะโครงการนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ต้องการเสริมทักษะผู้เรียนให้เก่งวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ไม่ได้เกิดเพราะการขาดครูแต่อย่างใด
เตรียมตั้ง Mr.-Miss หรือตู้แดง ประจำโรงเรียน
ความปลอดภัยในรั้วโรงเรียน เป็นอีกประเด็นที่ถูกเรียกร้องอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งตรีนุชกล่าวว่า จะเน้นความปลอดภัยในสถานศึกษาครอบคลุมทุกมิติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม และในปีการศึกษา 2564-2565 จะเป็นปีแห่งความปลอดภัยในสถานศึกษา
กระทรวงศึกษาฯ ระบุว่า ความปลอดภัยในสถานศึกษาจะแบ่งเป็นภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ อุทกภัย ภัยจากการใช้ความรุนแรง เช่น การลงโทษ การใช้คำพูด การล่วงละเมิดทางเพศ ภัยจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และภัยจากโรคระบาด โดยกระทรวงจะสร้างเครือข่ายสถานศึกษาปลอดภัย พร้อมกับจัดทำคู่มือโรงเรียนปลอดภัย แผนผังการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ
อีกทั้ง จะจัดตั้ง Mr. และ Miss หรือตู้แดงประจำโรงเรียน หากนักเรียนคนใดรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความปลอดภัยในสถานศึกษาสามารถแจ้งเรื่องมาที่ตู้ดังกล่าวได้ จะมีผู้รับเรื่องติดต่อช่วยเหลือโดยไม่เปิดเผยข้อมูล
จะฉีดวัคซีนให้ครูก่อนเปิดเทอม
กระทรวงศึกษาธิการเตรียมฉีดวัคซีน COVID-19 ให้ครูและบุคลากรในโรงเรียนกว่า 600,000 คน ทั้งภาครัฐและเอกชน ก่อนเปิดเทอม ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ เพราะโรงเรียนถือเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยง
สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นำเสนอเรื่องขอฉีดวัคซีนให้ครู ยื่นต่อ ศบค.ชุดเล็ก ซึ่งทาง ศบค.ชุดเล็กเห็นด้วย และให้กระทรวงศึกษาฯ นำเสนอจำนวนผู้ที่จะฉีดต่อกรมควบคุมโรค ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่ประสานงานกับกรรมการที่จัดสรรวัคซีน
“แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้จัดทำรายชื่อเพื่อนำไปลิงก์กับแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม เพื่อหลีกเหลี่ยงการทับซ้อนกันของรายชื่อที่มีอยู่แล้วในหมอพร้อมตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่โซนสีแดงเข้ม” สุภัทรกล่าว
ปลัดกระทรวงศึกษาฯ กล่าวด้วยว่า ไทยกำลังมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มช่วงปลายเดือนนี้ เท่าที่ทราบข้อมูลจาก ศบค. คือ มี Sinovac เพิ่มมา 1.5 ล้านโดส และ AstraZeneca จะเข้ามาเร็วกว่ากำหนดการเล็กน้อย จำนวน 3.2 ล้านโดส เพื่อกระจายการฉีดไปทั่วประเทศ
นี่คือผลงานที่สะท้อนแนวทางของระบบการศึกษาไทยในอนาคต
อ้างอิงจาก