ดิฉันเคยบอกเพื่อนฝูงหลายคนมากมายว่า “ไม่ต้องมาหรอกเชฟฟีลด์ (Sheffield) ไม่มีอะไรเลย”
เพื่อนของดิฉันท่านหนึ่งได้โทรศัพท์มาหาดิฉันตอนมาถึงที่นี่ใหม่ๆ เพื่อถามข้อมูลการใช้ชีวิตต่างๆ แล้วนางก็ทิ้งท้ายไว้ว่า “เดี๋ยวเจอกันที่เชฟฟีลด์นะ” ดิฉันรีบตอบกลับเลยว่า “ไม่ต้องมา มาทำไม ไม่มีอะไรหรอก” สิ่งที่ดิฉันรู้สึกตอนนั้น (และยังรู้สึกบางทีในตอนนี้) คือเมืองนี้ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ไม่ได้มีวังอะไรอยู่กลางเมือง มีโบสถ์หนึ่งหลังสวยงาม แต่ก็ไม่ได้มีอะไรชัดเจนมากไปกว่านั้น
ไม่ใช่แมนเชสเตอร์ (Manchester) ไม่ใช่ลิเวอร์พูล (Liverpool) ที่จะมีทีมบอลดังๆให้คนไปตามเชียร์ตามติ่ง (ถึงคนจะบอกกะเทยไม่รู้จักบอลอย่างดิฉันว่าทีม Sheffield Wednesday นั้นดังมากก็เถอะ หรือแม้แต่โศกนาฏกรรมฟุตบอลที่ฮิลซเบอะโร Hillsborough ก็เกิดขึ้นที่เชฟฟีลด์นี่แหละ) ไม่ใช่ยอร์ก (York) ที่จะมีบ้านเรือนอาคารปราสาทน่ารักๆ แบบยุคกลางอยู่มากมาย ไม่ใช่บาธ (Bath) ที่จะมีอาคารหินทรายสวยงามแบบนีโอคลาสสิกโรแมนติกสวยงาม แถมเชฟฟีลด์ยังเป็นเมืองที่สุดแสนจะเต็มไปด้วยเนิน มีแต่เนินขึ้นๆลงๆ จนบางที ณ จุดที่เราคิดว่าสูงสุดก็กลายเป็นจุดที่ต่ำสุดได้ ดิฉันก็แอบรู้สึกว่าเมืองนี้ไม่น่าจะมีอะไรให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชม ถ่ายรูป โพสต์ท่าต่างๆ
ตอนมาถึงใหม่ๆ ดิฉันเองก็กลัวจะเบื่อ ไม่มีอะไรให้เที่ยว ก็เลยออกไปเดินเล่น ทำกิจกรรมต่างๆ เช่นเข้าร่วมการสัมมนา หาร้านอาหารอร่อยๆ เดินดูนู่นนี่ เอาจริงๆ ที่นี่ก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น เมืองนี้ก็มีสวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ต่างๆ เก๋ไก๋ใช้ได้อยู่ มีเรื่องราวที่น่าศึกษาอยู่เหมือนกัน แม้เรื่องราวที่นี่อาจไม่ใช่ประวัติศาสตร์สวยงามแบบที่ทุกคนรู้จักกันก็ตาม (แต่สำหรับดิฉัน ประวัติศาสตร์ไม่เคยสวย)
วันหนึ่ง ดิฉันไปเข้าร่วมกิจกรรมอ่านบทละครเชคสเปียร์ของกลุ่มเชฟฟีลด์เชคสเปียร์ (Sheffield Shakespeare) ที่จัดโดย โทนี่ นักศึกษาปริญญาเอกสาขาวรรณคดีอังกฤษที่มหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์นี่แหละค่ะ พอไปถึง ก็นั่งอ่านบทเชคสเปียร์กัน เล่นเป็นตัวนั้นตัวนี้ เป็นกิจกรรมคลายเครียดที่ดีมาก (แต่ช่วงหลังๆไม่ได้ไปเพราะงานเริ่มเยอะ) เราได้เล่นเป็นขุนนางเล่นเกมการเมือง สวมอินเนอร์เมนเทอร์เดอะเฟซบ้าง ได้เล่นเป็นนักบวชที่ซื่อสัตย์ต่อนายตัวเองอย่างสุดแสน เหมือนได้ทิ้งตัวเองจากการเป็นนักศึกษาปริญญาเอกไปพักนึง
วันหนึ่ง เราเดินไปอ่านบทตามปกติ ร้านที่เราไปอ่านชื่อร้าน Mugen Tea House เป็นร้าน-ชากาแฟเล็กๆ มีหนังสือเยอะแยะให้อ่าน ทั้งวรรณกรรมป๊อป วรรณกรรมคลาสสิก หรือหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เราไปนั่งรอคนอื่นๆ ในกลุ่ม แล้วก็แหงนหน้าไปมองผนังร้านเห็นรูปภาพติดอยู่เต็มไปหมด แล้วเราก็อึ้งไป นี่มันรูปป๋าเอ็ดเวิร์ด คาร์เพนเทอร์ (Edward Carpenter) กับแฟน
เจ้าของร้านเดินเอาชามาเสิร์ฟเราเลยถาม “ขอโทษนะคะ ที่นี่เกี่ยวข้องอะไรกับเอ็ดเวิร์ด คาร์เพนเทอร์คะ” “อ๋อ เขาเคยมาเปิดร้านอาหารชื่อคอมมอนเวลธ์คาเฟ่ (Commonwealth Cafe) แถวนี้ค่ะ น่าจะอยู่ตรงเนอร์สเซอรี่ฝั่งตรงข้าม เผอิญกลุ่มเพื่อนเอ็ดเวิร์ด คาร์เพ็นเทอร์ (Friends of Edward Carpenter) เขาขอมาติดรูปแล้วก็ข้อความเป็นที่ระลึกน่ะค่ะ คาร์เพนเทอร์ก็อยู่เชฟฟีลด์นานมาก” พอเห็นเพื่อนดิฉันทำหน้างงก็พูดต่อ “คาร์เพนเทอร์เป็นนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเกย์ นักเคลื่อนไหวสายสังคมนิยม นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต่อต้านการชำแหละสัตว์ เป็นมังสวิรัติและเป็นนักเขียนค่ะ เขาอยู่ที่เชฟฟีลด์ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้าถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบค่ะ”
ดิฉันไม่แปลกใจหรอกที่เพื่อนดิฉัน ซึ่งเป็นเกย์อังกฤษ จะไม่รู้จักเอ็ดเวิร์ด คาร์เพนเทอร์ เพราะเขาเองก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากเท่าออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) นักเขียนชาวอังกฤษในศตวรรษที่สิบเก้าที่เคยถูกตัดสินจำคุกเพราะเป็นเกย์ แต่เชื่อไหมคะ ในปี ค.ศ. 1895 ปีที่ออสการ์ ไวลด์ถูกตัดสินจำคุก เอ็ดเวิร์ด คาร์เพ็นเทอร์ได้อยู่กินกับจอร์จ เมอร์ริล (George Merrill) ที่มิลธอร์ป (Millthorpe) บริเวณรอยต่อระหว่างเชฟฟีลด์และเชสเตอร์ฟีลด์ (Chesterfield) อย่างเปิดเผย และหลังจากนั้นไม่นาน
เขาได้เขียนหนังสือชื่อ The Intermediate Sex (อาจจะแปลไทยได้ว่า เพศระหว่างกลาง) เพื่อทำให้สังคมเข้าใจกลุ่มเพศหลากหลายด้วย ถึงแม้เขาจะไม่ดังเท่าไร แต่ในบรรดานักเคลื่อนไหวชาวอังกฤษนั้น คาร์เพนเทอร์ถูกเรียกว่าเป็น คุณปู่ของนักเคลื่อนไหวสิทธิเกย์ (Granddaddy of gay rights activists)
แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ สิ่งที่เปลี่ยนเอ็ดเวิร์ด คาร์เพนเทอร์คือสังคมเมืองเชฟฟีลด์ คาร์เพนเทอร์มาจากครอบครัวฐานะร่ำรวย ของเมืองโฮฟ (Hove) ทางใต้ เข้าเรียนด้านคณิตศาสตร์ที่เคมบริดจ์ (Cambridge) พอจบการศึกษาด้วยคะแนนอันดีเยี่ยมแล้ว เขาได้ตำแหน่งอาจารย์ที่ทรินิตี้ ฮอลล์ (Trinity Hall) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และตามกฎ จะต้องเข้าพิธีบวชตามนิกายแองกลิคัน เป็นนักบวชผู้ช่วย (curate) ประจำโบสถ์เซนต์เอ็ดเวิร์ดที่เคมบริดจ์
แต่เมื่อเขาได้อ่านกลอนของวอล์ท วิทแมน (Walt Whitman) กวีอเมริกันชื่อดังในยุคนั้น เขาได้รับแรงบันดาลใจให้ทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น จึงตัดสินใจสึกและลาออกไปเข้าร่วมขบวนการส่วนต่อขยายจากมหาวิทยาลัย (University Extension) ซึ่งเป็นขบวนการให้ความรู้แก่ชนชั้นแรงงานตามเมืองต่างๆในอังกฤษ โดยเฉพาะเมืองทางเหนือ ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม ที่เต็มไปด้วยคนงานไม่รู้หนังสือจำนวนมาก
คาร์เพนเทอร์ได้เดินทางมาสอนที่ลีดส์และเชฟฟีลด์ ได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติต่างๆ เกี่ยวกับโลกและสังคมจากคนงานที่เชฟฟีลด์แห่งนี้ จนคาร์เพนเทอร์ได้กลายเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือชนชั้นแรงงาน ต่อต้านสงคราม สนับสนุนการปลดแอกทางเพศ การเรียกร้องสิทธิสัตว์ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในตัวเมืองเพื่ออากาศบริสุทธิ์ด้วย
คราวนี้ ดิฉันก็เชิญผู้อ่านมาทำความรู้จักกับคาร์เพนเทอร์และเชฟฟีลด์ อยากชี้ชวนให้เห็นแนวคิดเกี่ยวกับเพศวิถีของกลุ่มเพศหลากหลายในสมัยนั้นที่อาจแตกต่างจากเพศวิถีแบบ ‘วิกตอเรียน’ ที่เราเคยได้ยินมา (ใครไม่เคยได้ยิน ดิฉันจะอธิบายให้ฟังด้วยค่ะ) รวมทั้งชี้ให้เห็นการเชื่อมโยงการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มเพศหลากหลายกับสิทธิด้านอื่นๆ รวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย
ถ้าใครเป็นชาวเพศหลากหลายและอยากมาสักการะบุคคลสำคัญที่ช่วยเรียกร้องสิทธิให้เราเป็นที่ยอมรับ ไม่ถูกหยามหมิ่นใดๆ หรือใครที่สนใจการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือสังคมนิยม (ซึ่งคาร์เพนเทอร์ไม่ได้แยกการเคลื่อนไหวเรื่องเพศวิถีกับสังคมนิยมออกจากกัน) ขอเชิญมาที่เชฟฟีลด์นะคะ เดี๋ยวจะพาไปเดินชมจุดที่คาร์เพนเทอร์เคยมาสอน มาเปิดร้าน รวมถึงพาไปดูบ้านคาร์เพนเทอร์ (อาจจะต้องนั่งรถบัสออกไปหน่อย) แล้วถ้าใครชอบหนังเกย์คลาสสิกอย่างมอริซ (Maurice) ก็ขอบอกเลยว่า นิยายต้นฉบับ ซึ่งเขียนโดย อี เอ็ม ฟอร์สเตอร์ (E. M. Forster) นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากคาร์เพนเทอร์และคู่ชีวิตของเขา
คำถามที่ง่ายที่สุดและอาจเป็นสิ่งที่หลายๆ คนกำลังงงตอนนี้คือ การเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งหมดที่คาร์เพนเตอร์ทำนั้นเชื่อมโยงกันอย่างไร และเกี่ยวข้องอะไรกับเชฟฟีลด์ เราก็คงต้องรู้จักเชฟฟีลด์และอังกฤษในสมัยศตวรรษที่สิบเก้าก่อน
เอาแบบคร่าวๆ ก่อนแลวกันนะคะ ดิฉันขออธิบายสิ่งที่หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินมากที่สุดเกี่ยวกับศตวรรษที่สิบเก้าของอังกฤษ นั่นคือเรื่องเพศวิถี ทุกคนคงเคยได้ยินว่า เพศวิถีแบบวิกตอเรียนนั้นเป็นสิ่งซ่อนเร้นและถูกกดทับ หรือไม่ก็อาจเคยทราบว่า เรื่องเพศถูกพูดถึงตลอดเวลา แต่เป็นไปในแบบที่พยายามควบ เช่นอยู่ในเอกสารทางการแพทย์บ้าง อยู่ในพระราชบัญญัติบ้าง หากขยายความต่อ ค่านิยมชาววิกตอเรียนตามแบบฉบับชนชั้นกลาง คือเรื่องเพศวิถีไม่ใช่เรื่องที่พึงพูดในที่สาธารณะ และเรื่องเพศถูกเชื่อมโยงกับศีลธรรมจรรยา อุดมคติทางเพศสำหรับชาววิกตอเรียนคือการแต่งงานมีครอบครัว
ผู้ชายมักจะถูกมองว่าเป็นฝ่ายเริ่มก่อนและเป็นฝ่ายที่มีอารมณ์ทางเพศ ส่วนผู้หญิงจะต้องเป็นฝ่ายรองรับอารมณ์นั้น ไม่ใช่แค่ไม่มีสิทธิ์เริ่มก่อน แต่ถูกมองด้วยว่าซ้ำว่าถ้าผู้หญิงคนนั้นเริ่มก่อน เธออาจป่วยหรือไม่ก็เป็นคนชั่วร้าย อาจเทียบเคียงได้กับสัตว์ป่าที่ไม่รู้จักควบคุมตัวเอง นอกจากนี้ การแต่งงานนั้นถือเป็นสิ่งสูงสุด ในครอบครัวแบบอุดมคติ ผู้ชายควรเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวและทำงานนอกบ้าน ส่วนผู้หญิงจะต้องดูแลครอบครัว เข้าโบสถ์ ทำการกุศล สอนศีลธรรมให้แก่ลูก เป็นเหมือนเทวดานางฟ้าในบ้าน (Angel in the House)
พูดมาขนาดนี้ก็คงรู้สึกได้ว่ากลุ่มเพศหลากหลายไม่น่าอยู่ได้ นอกจากจะถูกมองว่าไม่ผลิตลูกให้แก่สังคมและจักรวรรดิแล้ว ยังผิดกฎหมายด้วย ถ้าจับได้ก็อาจโดนฟ้องร้องจำคุกกันไป ในแง่หนึ่งเรืองเพศก็เหมือนเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ในอีกแง่ ก็กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงตลอดเวลา และเป็นที่สนใจของทุกคน
ภาพคร่าวๆ ของเพศวิถีในยุควิกตอเรียนจึงเหมือนเป็นยุคสมัยแห่งมารยาท เรียบร้อย แต่มีความกดดันเรื่องเพศสูง
เราอาจสึกว่าเพศวิถีแบบวิกตอเรียนนั้นล้าหลัง แต่คนวิกตอเรียนส่วนใหญ่ก็มองว่าพวกเขาก้าวหน้าในทุกๆด้าน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมและการค้า ที่ทำให้จักรวรรดิอังกฤษทรงอำนาจมาเป็นเวลายาวนาน ในยุควิกตอเรียนนั้น มีชุมชนอุตสาหกรรมเกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่สิบแปดส่งผลให้เกิดภาพของอังกฤษสองภาพคู่กัน นั่นคือภาพของแหล่งเสื่อมโทรมตามเมืองอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมาจากกลุ่มคนงานที่ย้ายมาจากท้องถิ่นของตัวเอง (เพราะไม่อาจทำกินบนที่ดินของตัวเองได้เลย ที่โดนกว้านไปหมด) มาอาศัยอยู่อย่างแออัดในพื้นที่สกปรกคับแคบ สภาพการทำงานและความเป็นอยู่ทำลายสุขภาพทั้งกายและจิต
นอกจากคนงานเหล่านี้จะเจอกับมลภาวะทั้งในโรงงานและนอกโรงงานแล้ว เขายังต้องเจอกับช่วงเวลาทำงานที่ยาวนานจนแทบไม่ได้พักผ่อน จากเดิมที่พื้นที่งานกับพื้นที่บ้านไม่ได้แยกจากกัน (เพราะทำนา เก็บเกี่ยวผลผลิตของตัวเอง พื้นที่งานคือพื้นที่บ้าน) เมื่อแยกแล้ว คนงานก็เหมือนมีสองร่างสองจิตใจ ร่างที่ทำงานและร่างที่บ้าน (ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไม่แปลกอะไร แต่ความคิดแบบนี้พึ่งจะเกิดก่อนยุควิกตอเรียนได้ไม่นานเอง) ร่างกายที่เมื่อยล้าก็อาจไม่ได้พักเพราะยังไม่หมดเวลางาน ชีวิตเหนื่อยโทรมของชนชั้นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนั้นกลายเป็นปัญหาและข้อถกเถียงในหมู่นักเขียนร่วมสมัย แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยการบริจาคและช่วยเหลือจากชนชั้นกลาง แต่คนเหล่านี้ช่วยเหลือเฉพาะชนชั้นแรงงานที่ทำตามค่านิยมชนชั้นกลางวิกตอเรียนเท่านั้น (ผู้ชายต้องรักครอบครัว ผู้หญิงต้องดูแลบ้านอย่าทำงาน ห้ามกินเหล้าเมายา ห้ามเอาใจออกห่างพระศาสนา)
ภาพชีวิตในแหล่งเสื่อมโทรมของชนชั้นแรงงานวิกตอเรียนนั้นขัดแย้งกับภาพห้างสรรพสินค้าอันโอ่อ่าในเมืองใหญ่ เต็มไปด้วยสินค้าสวยงาม (ที่พึ่งออกจากโรงงานที่คนงานเหนื่อยแทบขาดใจนั่นแหละ) ห้างสรรพสินค้าถือกำเนิดขึ้นในยุควิกตอเรียนเป็นครั้งแรก ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีร้านค้ามากมาย แต่ห้างสรรพสินค้าทำให้การซื้อของเป็น ‘ประสบการณ์’ ด้วยการจัดข้าวของประดับประดาให้สวยงาม ยิ่งอังกฤษมีอาณานิคมแผ่ไพศาลแทบทั้งโลก สินค้าก็มาจากทั่วสารทิศ การเดิน ‘ชอปปิ้ง’ ชมของสวยๆ งามๆ และเลือกซื้อกลับบ้านจึงถือกำเนิดขึ้นในยุคนี้ แต่ในเมื่อของสวยๆ งามๆ เหล่านั้นผลิตได้มากขึ้นโดยกระบวนการอุตสาหกรรม การเสพสินค้าอย่างรวดเร็วจึงถือกำเนิดไปด้วย (เกิดแฟชั่นที่มาไวไปไวขึ้น เพราะผลิตได้เร็วขึ้น) โลกของสินค้าจึงเป็นโลกแห่งความสวยงามและการอวดแสดง ทั้งสองภาพที่ได้เล่าไปนั้น เห็นได้ชัดว่า เป็นคนละด้านของเหรียญเดียวกัน นี่คือบริบทที่คาร์เพนเทอร์เขียนงานขึ้น
คาร์เพนเทอร์เป็นกวีชนชั้นกลาง เรียนจบเคมบริดจ์ แต่สุดท้ายได้แรงบันดาลใจจากกวีนิพนธ์ขอวอลท์ วิทแมน ผู้สนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมและการปลดแอกเกย์ในสหรัฐอเมริกา
บริบทที่ได้เล่าไปนั้น สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคาร์เพนเทอร์ทุกอย่าง เขาเคลื่อนไหวทางสังคมนิยมเพราะต้องการปฏิรูปชีวิตแรงงาน ต่อต้านจักรวรรดิเพราะมันก็คือกลจักรให้เกิดการใช้แรงงานไม่เป็นธรรม เคลื่อนไหวเรื่องเพศเพราะต้องการปลดแอกคนจากค่านิยมชนชั้นกลางเรื่องเพศวิถี อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะแหล่งเสื่อมโทรมเพิ่มขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรม
จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทั้งหมดที่พูดมานั้นเกิดขึ้นที่เชฟฟีลด์ค่ะ อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเชฟฟีลด์เป็นเมืองที่คาร์เพนเตอร์เดินทางมาเพื่อจะบรรยายและให้ความรู้บุคคลทั่วไป ตามโครงการส่วนต่อขยายของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แต่เชฟฟีลด์นั้นเป็นเมืองประหลาด ผิดเพี้ยนไปจากภาพเมืองอุตสาหกรรมอื่นๆ ถึงแม้ชีวิตคนงานจะเสื่อมโทรมทั้งทางกายและทางใจไม่ค่อยต่างจากเมืองอื่นๆ นัก แต่อลิสัน ทเวลส์ (Alison Twells) อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์แฮลลัม (Sheffield Hallam University) เสนอว่าเชฟฟีลด์นั้นเป็นเมืองที่ต่อต้านภารกิจการทำบุญ (philanthropy) ช่วยชนชั้นแรงงานของชนชั้นกลาง เพราะชนชั้นกลางเหล่านั้นคาดหวังว่าจะปรับเปลี่ยนชีวิตของชนชั้นแรงงานให้สุภาพเรียบร้อย ไม่เอาใจออกห่างพระศาสนา ตามแบบค่านิยมของตัวเองโดยไม่พยายามทำความเข้าใจสภาพชีวิตของชนชั้นแรงงานเหล่านั้น
ชนชั้นแรงงานในเชฟฟีลด์พยายามต่อต้านการเข้าสู่สังคมผู้ดี (polite society) และสร้างวัฒนธรรมมวลชนในแบบของตัวเอง ไม่ใช่แบบผู้ดี เชื่อกันว่าที่ชาวเชฟฟีลด์เป็นแบบนี้เพราะมีระบบความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับนายทุนที่ไม่เหมือนที่อื่น ถึงแม้จะมีกลุ่มเจ้าของธุรกิจที่ร่ำรวยมากๆ อยู่ อย่างคอมพานีออฟคัทเลอร์ส (Company of Cutlers) แต่ส่วนใหญ่แล้ว เส้นแบ่งระหว่างเจ้านายและลูกจ้างนั้นมีจุดที่พร่าเลือนเพราะหลายๆ ครั้งบางคนก็เป็นทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
นอกจากนี้ บรรดาช่างลับมีด ซึ่งถือเป็นประชากรแรงงานส่วนใหญ่ในเชฟฟีลด์ นั้นไม่มีระยะเวลาทำงานที่แน่นอน อย่างที่บอกว่าระยะเวลาทำงานถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนและทำลายสภาพจิตใจของแรงงาน เพราะถ้าทำงานตลอดอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพัก นอกจากจะเหนื่อยกายแล้ว จิตใจของตัวเองก็ถูกกดทับไม่ให้คิดเรื่องอื่นนอกจากงาน ลักษณะต่อต้านอำนาจและการแทรกแซงจากโลกภายนอกในเชฟฟีลด์นี้เอง ที่ทำให้คาร์เพนเทอร์คิดได้ว่าเขาต้องเรียนรู้เพิ่มเติมจากชนชั้นแรงงานทางเหนือเหล่านี้
คาร์เพนเทอร์จึงได้เข้าไปพูดคุยกับชาวเมือง และเริ่มให้ความรู้ชาวเมืองเกี่ยวกับการทำงานในรูปแบบใหม่ที่เห็นคุณค่าของตัวตนผู้ใช้แรงงาน คาร์เพนเทอร์ไม่ได้ยกเลิกการทำงานทั้งหมด แต่เน้นให้ทุกคนในสังคมได้รู้จักการทำงาน และเน้นการทำงานที่สมบูรณ์ในหนึ่งชิ้น เพื่อให้ผู้สร้างงานได้เห็นองค์รวมของสิ่งที่ผลิต (ไม่ใช่ทำแต่สิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ ตามคำสั่ง และไม่เห็นภาพรวม) การทำงานองค์รวมเหล่านี้ควรทำงานในลักษณะของการร่วมทุนแบบสหกรณ์ แบ่งปันกำไรกันในหมู่ผู้ผลิต แทนที่จะผลิตสิ่งที่ตัวเองไม่ได้คิดอะไรแล้วได้ค่าจ้างจากนายทุน
นอกจากนี้คาร์เพนเทอร์ยังเน้นย้ำการใช้ชีวิตเรียบง่าย เขาได้ขออาศัยอยู่กับชนชั้นแรงงานสองครอบครัว และได้ช่วยคนงานลงมือลงแรงทุกอย่างในบ้าน ช่วยเหลือทุกคนในบ้าน เขาเสนอว่าบ้านควรถูกสร้างขึ้นในรูปแบบที่ไม่ซับซ้อนและสะอาดตา เครื่องเรือนและอาหารไม่ควรซับซ้อน เสื้อผ้าควรมีเท่าที่จำเป็น คาร์เพนเทอร์กลายเป็นคนนำรองเท้าแตะแบบสานเข้ามาในอังกฤษเป็นคนแรกๆ เขาสนับสนุนให้คนใส่รองเท้าแตะกันมากขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย
ข้อเสนอเหล่านี้ของคาร์เพนเทอร์ชี้ให้เห็นว่า เขาต้องการให้ชนชั้นแรงงานเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น การผลิตงานขึ้นอย่างเป็นองค์รวมทำให้ชนชั้นแรงงานได้ฝึกคิดและวางแผนมากกว่าเป็นเครื่องจักร ชนชั้นแรงงานจะมีอำนาจและสิทธิ์ในการผลิตมากขึ้น
คาร์เพนเทอร์ได้เปิดคอมมอนเวลธ์ คาเฟ่ขึ้นเพื่อเผยแพร่แนวคิดและขายสินค้าราคาถูกให้แก่ชนชั้นแรงงาน เมื่อบิดามารดาของเขาเสียชีวิต เขาได้นำเงินมรดกซื้อที่และสร้างบ้านอยู่ในหมู่บ้านมิลธอร์ป (Millthorpe) บริเวณรอยต่อระหว่างเชฟฟีลด์และเชสเตอร์ฟีลด์ (Chesterfield) บ้านหลังนี้เองที่เป็นบ้านต้นแบบให้แก่บรรดานักคิดสังคมนิยมและชาวบ้านที่สนใจเข้ามาศึกษา แลกเปลี่ยนความรู้กันกับคาร์เพนเทอร์ ตัวบ้านแสดงให้เห็นการใช้ชีวิตเรียบง่ายและท้าทายการจัดบ้านแบบชนชั้นกลาง (เฟอร์นิเจอร์น้อย เปียโนอยู่ในห้องครัว ไม่ใช่ห้องรับแขก) มีนักคิดสายสังคมนิยมชาวอังกฤษแวะเวียนมาเยี่ยมไม่ขาดสาย
หลายคนอาจจะเกาหัวแกรกๆ หรือไม่ก็หาวอยู่ เพราะสงสัยว่า เอ๊ะ เดี๋ยวนะคะ แล้วตรงไหนคือเรื่องความหลากหลายทางเพศ อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าเชฟฟีลด์เป็นเมืองพิเศษในแง่ที่ว่าคนงานกับนายจ้างต่อรองกันอยู่เสมอ ระยะเวลาทำงานก็ไม่ชัดเจน แต่ความพิเศษของเชฟฟีลด์มันไม่ใช่แค่นั้นค่ะ คนงานเชฟฟีลด์แทบจะต่อต้านการทำตัวเป็น ‘ผู้ดี’ ในทุกรูปแบบ ไม่ต้องการคนมาขัดเกลาให้เป็นเหมือนกลุ่มชนชั้นกลางที่ชอบใจบุญกับชนชั้นแรงงานบางคน
คนที่นี่มีวัฒนธรรมแปลกอย่างหนึ่ง ซึ่งคาร์เพนเทอร์ได้เล่าไว้ในบันทึกว่า การแข่งวิ่งและการวิ่งวิกบากเป็นที่นิยมอย่างมาก ผมเองเคยเดินลงไปดูเขาแข่งกันตอนบ่ายๆ ช่วงหน้าร้อนอยู่หลายครั้ง เขาจัดแข่งวิ่งกันขึ้น และอาจเป็นธรรมเนียมเก่าแก่มาก่อน คือแทบจะเปลือยกายวิ่ง หรือวิ่งตามธรรมชาติโดยแท้ นักวิ่งจะสวมรองเท้าวิ่งน้ำหนักเบา และมีแถบผ้าที่แทบมองไม่เห็นแถบหนึ่งอยู่บริเวณหว่างขาเป็นเครื่องปกปิด ซึ่งนักวิ่งหลายคนก็เป็นผู้ชายและเด็กหนุ่มรูปร่างสัดส่วนดี ผลออกมาก็น่าสนใจทีเดียว
หลายคนอาจจะร้องว้ายๆแล้ว (ว้ายๆ นี่มันเมือง ‘ผู้’ ดี) มนุษย์วิกตอเรียนชนชั้นกลางตามแบบฉบับก็คงจะร้องว้ายๆ เช่นกัน ต๊าย บัดสีบัดเถลิง (เอามือปิดตาแต่แหวกนิ้วออกจะได้มองเห็น) คาร์เพนเทอร์ไม่ได้ค้นพบกระบวนการทำงานที่ดีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่เขาได้มายอมรับเพศวิถีของตนเองที่เชฟฟีลด์ด้วย หลายคนอาจบอกว่าแค่เด็กผู้ชายคาดเตี่ยวแข่งวิ่งกันไม่ได้แปลว่าพวกนั้นจะชอบผู้ชายซักหน่อย แต่คาร์เพนเทอร์นั้นก็มีคนรักที่นี่ และพบคู่ชีวิตของเขาที่นี่ด้วย
คาร์เพนเทอร์เคยคบหาและพูดคุยกับจอร์จ ฮูคิน (Geoge Hukin) ช่างลับมีดโกนคนหนึ่ง แต่ฮูคินตัดสินใจแต่งงาน คาร์เพนเทอร์อกหักผิดหวังในความรักแต่ก็ยินดีซื้อเตียงเป็นของขวัญวันแต่งงานให้ ฮูคินเขียนจดหมายขอบคุณถึงคาร์เพ็นเทอร์และกล่าวว่า ผมอยากให้คุณมานอนกับเราสองคนบ้างนะ เท็ด (ชื่อเล่นของคาร์เพนเทอร์) แต่ผมไม่รู้ว่าแฟนนี่เขาจะชอบสักแค่ไหน แล้วผมก็ไม่อยากจะไปบังคับเขาอยู่แล้วด้วย อย่างไรเสีย ผมก็คิดว่า จะดีแค่ไหนกัน ถ้าเราสามคนจะรักกันแล้วเราก็จะได้นอนด้วยกันบ้าง โดยที่ไม่ต้องรู้สึกว่าทำผิด
เฮเลน สมิธ (Helen Smith) นักประวัติศาสตร์อีกท่านเสนอว่า ในชุมชนที่มีชนชั้นแรงงานผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ในอังกฤษ ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างเพศเดียวกันถือเป็นการกระชับมิตรภาพให้แน่นแฟ้น เพศวิถีในเชฟฟีลด์จึงไม่แตกต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างนายจ้างในเชฟฟีลด์ กล่าวคือไม่เหมือนที่อื่นๆ ในอังกฤษ
การต่อต้านค่านิยมชนชั้นกลางนี้เองที่น่าจะทำให้เพศวิถีนั้นลื่นไหล ไม่เป็นไปตามกรอบระเบียบที่เรารู้จักยุคนี้มา
ในขณะที่ฮูคินชวนคาร์เพนเทอร์มานอนกับตัวเองและภรรยาที่บ้าน จอร์จ เมอร์ริล (George Merril) คู่ชีวิตของคาร์เพนเทอร์นั้นพบคาร์เพ็นเทอร์ในตู้รถไฟและ เมื่อรถไฟถึงที่สถานี เขาถึงกับทิ้งเพื่อน เดินตามไปหาคาร์เพ็นเทอร์เพื่อจะขอพูดคุยด้วยก่อนจะพบกัน (ทั้งสองอยู่ด้วยกันเป็นคู่ชีวิต และไม่มีใครมาตามจับตามฟ้อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนภายนอกส่วนใหญ่เข้าใจว่าเมอร์ริลเป็นเบ๊ของคาร์เพนเทอร์) เชฟฟีลด์จึงเป็นเมืองประหลาดในด้านเพศวิถี ที่ไม่ได้เกรงอกเกรงใจค่านิยมชนชั้นกลางเมืองหลวงเลยแม้แต่น้อย
คาร์เพนเทอร์จึงได้บุกเบิกเรื่องเพศวิถี ควบคู่ไปกับการเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสังคมนิยม ดิฉันมองว่าการเคลื่อนไหวทั้งสองรูปแบบนั้นเชื่อมโยงกันด้วยแนวคิดการแปลกแยก เพราะในระบบการผลิตแบบทุนนิยม แรงงานนั้นแปลกแยกจากสินค้า (ผลิตเองก็ไม่ได้ใช้เอง) และแปลกแยกจากตัวเอง (ตัวตนถูกแบ่งเป็นตัวตนในพื้นที่งานที่ต้องรับคำสั่งและตัวตนในพื้นที่บ้านที่ได้ปลดปล่อย) ผู้ใช้สินค้าก็แปลกแยกจากกลวิธีการผลิต เห็นแต่ราคาและสินค้าลอยเด่นเหมือนของวิเศษในห้างสรรพสินค้า ไร้ที่มาที่ไป ผู้คนก็แปลกแยกจากธรรมชาติ เพศวิถีที่ตัวเองต้องการก็ถูกกดทับเพราะจะถูกดูหมิ่น คาร์เพนเทอร์จึงเน้นย้ำเรื่องการกลับสู่ธรรมชาติของตัวตนมนุษย์และความเรียบง่าย ไม่ต้องปกปิดซ่อนเร้นใดๆ
แต่กระนั้น คาร์เพนเทอร์ก็ไม่ได้เน้นการกลับสู่ตัวตนอันเป็นอิสระของมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่เน้นการเข้าใจธรรมชาติและระบบนิเวศด้วย ซึ่งนั่นเป็นแบบอย่างที่ดีในการพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ใช่การกดเหยียดกันและกัน เพราะคาร์เพนเทอร์เองก็สนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่ออากาศบริสุทธิ์ และกินมังสวิรัติอีกด้วย จะเห็นได้ว่า เขาไม่ได้มองเห็นการเคลื่อนไหวเหล่านี้แยกขาดจากกัน แต่มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างกัน
การยอมรับตัวตนของกลุ่มเพศหลากหลายและความเท่าเทียมระหว่างเพศจึงเชื่อมโยงกับการปลดแอกกลุ่มชนชั้นแรงงานและการเรียนรู้ที่จะอยู่กับ ‘ธรรมชาติ’ มากกว่าจะไปกลบหรือซ่อนธรรมชาติด้วยเสื้อผ้าเทอะทะ ค่านิยมทางเพศ หรือการกดขี่บังคับของนายทุน
คาร์เพนเทอร์ได้ใช้พื้นที่บ้านที่มิลธอร์ปเพื่อพูดคุยกับนักเคลื่อนไหวและนักเขียน จนนักเขียนบางคนได้เรียนรู้และยอมรับเพศวิถีของตัวเองจากการพบเจอและอ่านหนังสือเพศระหว่างกลาง (The Intermediate Sex) ของคาร์เพนเทอร์ เช่นซีกฟรีด ซัสซูน (Siegfried Sassoon) และอี เอ็ม ฟอร์สเตอร์ (E. M. Forster) ข้อเสียอย่างเดียวสำหรับแนวคิดเรื่องเพศวิถีของคาร์เพนเทอร์คือ เขามองกลุ่มเพศหลากหลายเป็นความผิดปกติทางร่างกายชนิดหนึ่ง ตามแนวคิดที่เพิ่งก่อตัวในสมัยนั้น แต่คาร์เพนเทอร์นั้นก็พยายามแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่อาจผิดปกติทางร่างกายในลักษณะนี้ไม่ได้เป็นคนที่สมควรถูกลงโทษ ต่อต้านหรือเหยียดหยามเลย
คาร์เพนเทอร์เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ สู่ประชาธิปไตย (Towards Democracy) ซึ่งเป็นหนังสือรวมกลอนอันว่าด้วยอิสรภาพของมนุษย์ในสังคมรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นเมื่อการกดขี่ต่างๆ สิ้นสุดลง ในกลอนบทที่ชื่อ ‘ในห้องรับแขก’ (‘In the Drawing Room’) คาร์เพ็นเทอร์ได้เล่าถึงความไม่เป็นธรรมชาติของคนชนชั้นกลางในห้องรับแขกที่ต้องอึดอัดอยู่กับขนบธรรมเนียมที่บีบรัดและเสื้อผ้าที่หรูหรา จนเมื่อเขาได้นั่งรถไฟและสบตากับพนักงานชายผู้เติมถ่านหินในรถไฟ เขากำลังกินขนมปังกับชีสอยู่
คาร์เพนเทอร์บอกว่า “เพราะในชั่วขณะหนึ่ง ผมรู้สึกถึงความเป็นจริงที่ได้ฝังเหล็กในและหลั่งไหลเข้าสู่ผม” (For in a moment I felt the sting and torrent of Reality) และได้กล่าวภายหลังว่า “ในชั่วขณะหนึ่ง ผีดิบแวมไพร์ทั้งฝูง ผู้มีใบหน้าเรียบสนิทและเป็นอัมพาต ได้หนีหายไป แล้วคุณก็ได้ให้อกของธรรมชาติผู้เป็นมารดาแก่ผม ในยามที่ผมถูกคนอื่นปฏิเสธและอาจตายด้วยความอดอยาก” (How in a moment the whole vampire brood of flat paralytic faces fled away, and you gave me back the great breasts of Nature, when I was rejected of others and like to die of starvation.)
คาร์เพนเทอร์ได้เปรียบเทียบชนชั้นกลางในห้องนั่งเล่นที่เขาได้พบเจอว่าเป็นแวมไพร์ที่มีใบหน้าเป็นอัมพาต และมองเห็นว่าพนักงานชายคนนั้นเป็นตัวแทนของความเป็นจริงและความเรียบง่ายของธรรมชาติ การเล่าเรื่องการสบตาและการใช้ความเปรียบด้วยคำกริยาว่า ‘ฝังเหล็กใน’ และ ‘ถาโถม’ รวมไปถึงการเปรียบที่บอกว่าผู้ชายเป็นผู้มอบอกของธรรมชาติที่เปรียบเป็นมารดา แสดงให้เห็นลักษณะเพศวิถีแบบกลุ่มเพศหลากหลาย (ลองสังเกตคำว่าฝังเหล็กในและหลั่งไหล ที่อาจชวนให้นึกถึงอวัยวะเพศชาย
หรืออย่างน้อยก็ลองสังเกตคำว่า ‘ความเป็นจริง’ ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ความเรียบง่ายแต่ยังหมายถึงเพศวิถีที่ซ่อนเร้น) และยังทำลายเส้นแบ่งชายหญิงอีกด้วย (ผู้ชายมอบอกของมารดาให้แก่ผู้ชาย) ภาพพนักงานเติมถ่านในรถไฟจึงเหมือนเป็นจุดรวมของทั้งคุณค่าของความเรียบง่ายตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ถูกปรุงแต่ง คุณค่าของชนชั้นแรงงานผู้นำเสนอความเรียบง่าย และการยอมรับเพศวิถีของตัวคาร์เพนเทอร์เอง การยอมรับตัวตนทางเพศเกิดขึ้นพร้อมกับการเห็นคุณค่าและยอมรับคนต่างชนชั้นเป็นพรรคพวก
ปัจจุบันนี้ เชฟฟีลด์ก็ไม่ได้เป็นเหมือนสมัยที่คาร์เพนเทอร์อยู่มากนัก แต่สิ่งที่ยังอยู่คือจิตวิญญาณนักสู้และขบวนการเรียกร้องสิทธิทุกรูปแบบ
ล่าสุด เมื่อปีที่แล้ว เพิ่งจะประท้วงเรื่องการตัดต้นไม้กันไป (เพราะเทศบาลทำท่าจะตัดต้นไม้มากเกินเหตุและดูทุจริต) แถมนายกเทศมนตรีคนใหม่ (คนละคนกับคนที่เสนอเรื่องตัดต้นไม้) ยังเป็นคนโซมาเลีย และสังกัดพรรคอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือพรรคกรีน (Green Party) อีกด้วย
เพื่อนชาวเชฟฟีลด์ ซึ่งเรียนปริญญาเอกสาขาวรรณคดีอังกฤษกับดิฉันบอกว่า “ถ้าเจอคนเชฟฟีลด์ที่อยู่มานานๆ สักคน ลองถามเขาดูก็ได้ว่าเขาหรือครอบครัวเขาเคยไปประท้วงอะไรหรือเปล่า ต้องมีสักคนแหละที่เคย” ฟังดูน่ากลัว แต่นี่คือการพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมของคนเมืองนี้ โดยที่คาร์เพนเทอร์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเรียกร้องสิทธิทางเพศ การปลดแอกชนชั้นแรงงานและการเพิ่มพื้นที่สีเขียว อย่างที่ดิฉันบอกไปแล้วว่าคาร์เพนเทอร์ไม่ได้แยกการเคลื่อนไหวทั้งหลายออกจากกัน แต่มองเห็นองค์รวมและความเชื่อมโยง
ดิฉันคิดว่านักเคลื่อนไหวหลายๆ คนคงคิดเหมือนกันว่า การรวมตัวเคลื่อนไหวด้านใดด้านหนึ่งเป็นเรื่องดี แต่การได้ศึกษา และมองเห็นที่มาของปัญหาที่เราออกมาร่วมเคลื่อนไหวจะทำให้เราเข้าใจการเคลื่อนไหวกลุ่มอื่นๆ และมองเห็นปัญหาในมุมที่กว้างขึ้น
การเคลื่อนไหวสิทธิให้แก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงไม่ได้มีแต่มิติทางเพศ แต่มีมิติทางเศรษฐกิจและมิติของการเมืองเรื่องชาติ (“คุณต้องมีลูกเพื่อสืบทอดกิจการ” “คุณเป็นตุ๊ดเป็นทอมไม่ขอรับเข้าทำงานนะคะ” หรือ “คุณต้องมีลูกเพื่อให้ชาติมีประชากรที่จะพัฒนาชาติต่อไป”)
แม้แนวคิดของคาร์เพนเทอร์อาจถูกมองว่าโลกสวยหรืออาจตั้งคำถามได้ในแง่ของความเป็น ‘ธรรมชาติ’ แต่คาร์เพ็นเทอร์ก็เป็นนักเคลื่อนไหวคนสำคัญที่ชี้ให้เห็นที่มาที่ไปและโครงข่ายของอำนาจที่ไม่ได้กดขี่เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น การปลดแอกเพียงด้านเดียวจึงไม่อาจนำมาซึ่งการยอมรับและความเท่าเทียมอันยั่งยืน
อ้างอิงข้อมูลจาก
BBC. Sassoon’s Letters to Edward Carpenter. doi.www.bbc.co.uk Accessed 1 July 2018.
Carpenter, Edward. Towards Democracy. Swan Sonnenschein ; SClarke, 1907.
England, Historic. Millthorpe and Edward Carpenter | Historic England. historicengland.org.uk. Accessed 10 July 2018.
Friends of Edward Carpenter – Home. www.friendsofedwardcarpenter.co.uk. Accessed 10 July 2018.
Lodge, Guy. “Maurice at 30: The Gay Period Drama the World Wasn’t Ready For”. The Guardian, 19 May 2017. www.theguardian.com, theguardian.com.
Russell, Scarlet and Hardy, Catherine. “New exhibition reveals mandals were a hit with the Victorians”. Mail Online, 30 May 2014, www.dailymail.co.uk
SASSOON, Siegfried (1886-1967) | English Heritage. www.english-heritage.org.uk. Accessed 10 July 2018.
Taylor, Philip. Edward Carpenter Biographical Note. January, 1998. www.edwardcarpenter.net. Accessed 7 July 2018.
Tsuzuki, Chūshichi. Edward Carpenter 1844-1929: Prophet of Human Fellowship. Cambridge University Press, 2005.
Twells, Alison. “Iron Dukes and Naked Races: Edward Carpenter’s Sheffield and LGBTQ Public History”. International Journal of Regional and Local History, vol. 13, no. 1, January 2018, pp. 47–67. Taylor and Francis+NEJM, doi:10.1080/20514530.2018.1451446.
What a forgotten gay activist tells us about LGBTQ life in 19th century Sheffield | Sheffield Hallam University. www.shu.ac.uk. Accessed 5 July 2018.
Illustration by Waragorn Keeranan