ตอนนี้ที่หอศิลป กรุงเทพฯ มีนิทรรศการ Spectrosynthesis II – Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia ที่บอกเล่าเรื่องราวอารมณ์ความรู้สึกและชีวิตของ LGBTQ และการดำรงอยู่ของความหลากหลายทางเพศภายใต้รักต่างเพศนิยมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่นๆ
นิทรรศการครั้งนี้จัดในกรุงเทพ ประเทศไทย เป็นครั้งที่ 2 ต่อจากที่จัดในไทเป ไต้หวันเมื่อปี พ.ศ. 2560 และมีชื่อภาษาไทยว่า ‘สัปตสนธิ’ งงล่ะสิว่าแปลว่าอะไร…แต่ไม่ใช่การปฏิสนธิแบบสัปดนนะ มันมาจากคำว่า ‘spectrum’ หรือ ‘สัปต’ ที่แปลว่าแสงเจ็ดสีหรือสีรุ้ง กับคำว่า ‘photosynthesis’ หรือ ‘สนธิ’ หรือ ‘การสังเคราะห์แสง’ สัปตสนธิจึงมีความหมายว่าการสังเคราะห์แสงสีรุ้งเพื่อสร้างสรรค์พลังงานบางอย่าง
ในนิทรรศการ ได้รวบรวมผลงานศิลปะโดยศิลปินถึง 59 ชีวิตจาก 15 ประเทศและเขตบริหารพิเศษ นอกจากงานเพนต์ของ สุดาภรณ์ เตจา ศิลปินจากประเทศไทย ที่ใช้สีผสมระหว่างฮอร์โมนเอสโตรเจน สเตียรอยด์ และเจลลดขนาดหน้าอกบนผืนผ้าลินิน เพื่อให้เห็นการประกอบสร้างของเพศสภาพเพศสรีระหนึ่งว่าต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง หรืองานที่ตีความใหม่ให้กับ holy family ของ Jef Carnay ศิลปินชาวฟิลิปปินส์ จากเดิมที่ประกอบด้วยพระกุมารเยซู พระนางมารีย์พรหมจารี และนักบุญโยเซฟ เปลี่ยนให้กลายเป็นครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของคู่รักเพศเดียวกัน คนผิวสี และคนที่ประกอบกรรมาชีพ
ในนิทรรศการยังมีการนำขนบประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม หัตถกรรมท้องถิ่น หอบเอามาผสมผสานกับการให้นิยามคุณค่าความหมาย LGBTQ ที่มักถูกมองว่าวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมดั้งเดิมมักกำหนดให้มีเพียง 1 เพศวิถี 2 เพศสภาพ คือแค่ชาย-หญิง กับรักต่างเพศนิยม ขณะที่ประเด็น LGBTQ ความหลายหลายทางเพศเป็นสำนึกสมัยใหม่เท่านั้น กลายเป็นว่าศิลปะช่วยกลืนกลายโลกเก่ากับโลกร่วมสมัยซึ่งกันและกัน เพื่อต่อสู้ ช่วงชิง คร่ำครวญ เสียดสีจิกกัด ไปจนถึงอยู่ร่วมกัน
แต่ดูเหมือนว่าในบรรดาผลงานจำนวนมากมายที่กลายเป็นแลนมาร์กจุดถ่ายรูปของนิทรรศการคือ ‘Portrait of Man in Habit’ โดย ไมเคิล เชาวนาศัย จากสหรัฐอเมริกา ที่นำเสนอรูปถ่าย ‘หลวงเจ๊’ ขนาดใหญ่ 152 x 102 เซนติเมตร เป็นรูปตัวไมเคิลเองห่มจีวรแบบพระภิกษุสงฆ์ทั่วไป อากัปกิริยาสำรวม ถือผ้าเช็ดหน้าสีชมพูลายการ์ตูน เขียนคิ้ว ติดขนตาปลอม บล็อกตาเข้ม ทาปากสี chocky pink ศิลปินต้องการตั้งประเด็นการกีดกันชายรักเพศเดียวกันบวชในพุทธศาสนาในไทย ที่ราวกับว่าคนรักเพศเดียวกันจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไมเคิล กล้าหาญชาญชัยนำศาสนามาตีความร่วมกับเรื่องเพศสภาพ-เพศวิถี ตั้งแต่สมัยเขาเรียนปริญญาโท เค้าเปลือยกายแสดงจินตลีลารอบไม้กางเขนที่ทำจากข้าว เพื่อผสมผสานระหว่างพระแม่โพสพกับพระเยซู ตะวันออก-ตะวันตก ชาย-หญิง และมนุษยชาติ ปีนั้นเป็นปี พ.ศ. 2539 ขณะที่วงการศิลปะไทยยังคงเป็นอนุรักษ์นิยมรับใช้สถาบันหลักของชาติที่รวมถึงสถาบันศาสนาด้วย โดยไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ราวกับว่ายังอยู่ในยุคศักดินาอุปถัมภ์ศิลปะ
เดิมที ไมเคิลเป็นนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนถึงชั้นปีที่ 3 เหลืออีกปีเดียวก็จะจบการศึกษาเหมือนวิถีชีวิตนิสิตนักศึกษาทั่วไป แต่เขาก็ได้ตัดสินใจลาออก แล้วหันไปศึกษาหาประสบการณ์ในศาสตร์ที่เขาชอบแทน เขาบินไปเรียนสถาบันศิลปะซานฟรานซิสโก (San Francisco Art Institute) สาขาภาพถ่าย และเรียนต่อระดับศิลปมหาบัณฑิต สาขาศิลปะแสดงสด (Performance) จากสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก (The Art Institute of Chicago)
ดังนั้นไมเคิลจึงมีผลงานศิลปะมากมายเกี่ยวกับ ศาสนา เพศสภาพเพศวิถี และชายรักเพศเดียวกัน (ประเด็นอื่นก็มีเยอะ) ถึงขนาดมีมากพอที่จะถูกนำมาศึกษาเป็นวิทยานิพนธ์ ซึ่งก็มีแล้ว คือ ‘เพศสถานะในงานศิลปะของไมเคิล เชาวนาศัย’ วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทมหาวิทยาลัยศิลปากร ของบารมี สมาธิปัญญา (ชื่อ-สกุลเก๋มาก) ในปี พ.ศ. 2555
ในธีสิสของบารมี สมาธิปัญญา เผยให้เห็นว่า ไมเคิลเป็นศิลปินอีกคนที่สนใจทั้งเรื่องศาสนา และเพศสภาพเพศวิถี เขาใช้งานศิลปะต่างๆ วิพากษ์หยอกเอินสังคมพุทธศาสนาแบบไทยๆ เช่นผลงาน ‘กระจก’ (2548) ของนิทรรศการ ‘อภิมหาอมตะ ร.ศ.223’ ที่นำพระพุทธเจ้ามาเป็นสัญลักษณ์แทนอัตตาของพุทธศาสนิกชนไทย แม้ว่าจะเป็นผู้สอนให้ละอัตตาก็ตาม และผลงาน ‘ไร้ชื่อ 2550’ (2550) ที่สะท้อนถึงสภาวะของพระรัตนตรัยในช่วงเวลานั้น
ขณะเดียวกันงานหลายชิ้นของขาก็บอกเล่า
ประเด็นความหลากหลายและความกำกวมที่เกี่ยวกับเพศ
เช่น ‘So Sorry for the inconveniences’ (2545) พอร์เทรตขาวดำของเขาเปลือยท่อนบน ไร้เสื้อผ้าอาภรณ์และวิกผม แต่ทาลิปสติกสีแดงเลือดนกที่สวยเด้งขึ้นมาจากภาพโทนสีเทา ไมเคิลพนมมือไหว้ยิ้มเผยให้เห็นฟัน โปสเตอร์ของเขาไม่ได้ติดตั้งโชว์เฉยๆ ยังเป็นโปสเตอร์ให้ผู้ชมสามารแต่งเติมสร้างสรรค์ขีดเขียนปฏิสังสรรค์กับผลงานได้ กลายเป็นการประกอบสร้างตัวตนร่วมกับผู้ชม ถูกนำมาใช้แสดงนิทรรศการ 3 ครั้ง ครั้งแรกในนิทรรศการ ‘ขออภัยในความไม่สะดวก’ ต่อมาจัดในงาน Under-construction ที่ Tokyo Opera City Art Gallery ปี พ.ศ. 2545 และอีกครั้งในเทศกาล Venice Biennale ครั้งที่ 50 ในปี พ.ศ. 2546
ผลงาน ‘Glad Day’ (2545) ในนิทรรศการเดี่ยวของเขาชื่อ ms@oas ไมเคิลยังคงเล่นกับความกำกวมลื่นไหลของเพศ ด้วยภาพถ่ายร่างกายของเขาที่เปลือยเปล่า แต่ลบอวัยวะแสดงเพศออกไปทั้งหัวนม และจู๋-จิ๋ม แต่ยังคงแต่หน้าจัดจ้านเช่นเดิม เขาแสดงอากัปกิริยาผายมืออย่างเปิดเผย มีอิสรภาพและปีติสุข Glad Day ของเขาเลียนมาจาก Glad Day ของ William Blake ที่เขาประทับใจ เขาตั้งใจจะล้อเล่นกับการตัดสินกำหนด ‘เพศ’ ด้วยเพศสรีระทางชีววิทยา
อีกครั้งในปี ค.ศ. 2548 ที่มีนิทรรศการ ‘อภิมหาอมตะ ร.ศ. 223’ ไมเคิลได้สะท้อนถึงสถานภาพทางเพศสภาพและเพศวิถีของทั้งผู้หญิง ชายรักเพศเดียวกัน รวมไปถึงการปีๆ เอาๆ ของรักต่างเพศนิยม เช่น ‘ฟลาวเวอร์’ งานสื่อผสมของเขาที่นำคำด่าผู้หญิง อย่าง ‘ดอกทอง’ มาให้ครุ่นคิด เช่นเดียวกับงานสีน้ำมันบนผ้าใบที่เล่นพยัญชนะวรรณยุกต์กับคำว่า “gayy์ ”, “H๋e” , “Ye็t” และ .”Quaวy”
นอกจากนี้ไมเคิลยังนำเสนอชุดภาพถ่าย ‘ผู้หญิงในเสื้อลายดอกกุหลาบ – Girl in A Rose Blous’ ที่เขาสวมวิกแต่งเป็นผู้หญิงในชุดลายกุหลาบพร้อมประดับเครื่องแต่งกายตามวัฒนธรรมศาสนาต่างๆ เช่น ฮิญาบของอิสลาม ห้อยสร้อยพระ เพื่อเป็นภาพแทนของอุบาสิกา ห้อยจี้ไม้กางเขนเพื่อเป็นตัวแทนของหญิงชาวคริสต์ และดาวเดวิดเพื่อเป็นตัวแทนของยิวศาสนิกชน เพื่อแสดงถึงเนื้อตัวร่างกายของเพศอันคลุมเครือภายใต้พันธนาการและการครอบงำของวัฒนธรรมศาสนาสากลที่เป็นผลผลิตจากชายเป็นใหญ่
ไม่เพียงแต่ภาพถ่าย การตีความความเควียร์และศาสนายังปราฏในจิตรกรรมชื่อ Three Ages of Woman (2553) ที่เป็นภาพของเขาด้วยเรือนร่างสตรีตาม 3 ช่วงเวลาต่างๆ จาก ‘ตูม’ ‘เต่งตึง’ มาสู่ ‘ต่องแต่ง’ ที่แต่ละช่วงวัย ดอกบัวที่ทัดหูนางก็ตูม เบ่งบานแล้วเหี่ยวเฉาไปตามกาลเวลาเช่นกัน กลายเป็นอีกงานที่นำความกำกวมของเพศสภาพของเขา สัมพันธ์กับหลักธรรมพื้นฐานทางศาสนาพุทธ
มากไปกว่านั้น เขายังพูดถึงการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ HIV ด้วยงาน “VIH” (2552) โดยผ่านอักษรย่อภาษาฝรั่งเศส VIH (HIV ในภาษาฝรั่งเศส VIH – Virus de la immunodeficiencia humana) เล่นคำกับคำว่า vie ที่แปลว่าชีวิต ในเทศกาลวัฒนธรรมฝรั่งเศส พ.ศ. 2552
อันที่จริง งานภาพถ่าย ‘หลวงเจ๊’ ไมเคิลใน Portraits of a Man in Habit#1 ที่จัดแสดงใน Spectrosynthesis II เป็นผลงานเก่าของเขาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 แล้ว ที่เคยจัดแสดงในนิทรรศการ ‘alien{gener}nation’ ที่ตกเป็นข่าวเกรียวกราว พุทโธเลี่ยนประท้วงโจมตีต่อต้านอย่างเกรี้ยวกราดโกรธแค้น จนผู้จัดนิทรรศการต้องม้วนภาพเก็บภายหลังจากเปิดนิทรรศการได้เพียงสัปดาห์เดียว แต่ด้วยวิญญาณศิลปินและขบถ ไมเคิลได้นำภาพ Portraits of a Man in Habits#2 มาติดตั้งแทน ที่เป็นภาพเขาสึกออกมาเป็นสมี ในอากัปสงบเสงียมแกมเศร้า ตาชำเลืองลงต่ำอย่างปลงตก นุ่งขาวห่มขาว สวมนาฬิกาผู้ชาย มือกำผ้าเช็ดหน้าสีน้ำเงินเป็นสีสัญลักษณ์ ‘ความเป็นชาย’ แต่ที่แซ่บกว่านั้นคือ ยังคงยืนกรานตัวตนของตนเองคือไม่ล้างเครื่องสำอางออก
การนำ Portraits of a Man in Habit#1 มาแขวนอีกครั้งในปี พ.ศ. 2562 แม้จะทิ้งช่วงห่างประมาณ 20 ปี จนศิลปินเขาทำงานกันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว หากแต่งานเก่าของเขาก็ยังคงสั่นคลอนโครงสร้างสังคมได้อยู่ จนกลายเป็นหมุดหมายประวัติศาสตร์ และบันทึกสถานการณ์ทางสังคมในยุคสมัยนั้นๆ ว่า ในช่วงเวลาหนึ่งโลกทัศน์และปฏิกิริยาสังคมเป็นเช่นไร มีวิวัฒนาการก้าวไปไกลแค่ไหน ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่ามันไม่ได้ไปไหนไกลเลย
คำถามที่ศิลปินตั้งไว้ในผลงานว่าทำไมกฎเหล็กพุทธไทยไม่ให้ตุ๊ดบวช แม้ว่าจะได้รับคำตอบแล้ว เพราะภายใต้สำนึกและเพดานความคิดความความอ่านเช่นนี้ แม้แต่พอร์เทรตพระตุ๊ดยังต้องถูกปลดเลย พอมาถึง พ.ศ. นี้ จะต่างกันตรงที่พุทโธเลี่ยนไม่ดิ้นทุรนทุรายรุนแรงเท่าเมื่อ 20 ปีก่อน จนถึงขั้นบีบบังคับให้ปลดรูปออก เพียงแต่คนที่ออกมาร่วมตั้งคำถามเช่นเดียวกับงานศิลปะ มักจะได้คำด่าอย่างโมโหโทโสมากกว่าคำตอบอย่างมีสติสตัง ยังคงใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาเช่นเคย และดำรงอยู่อย่างเปราะบาง เซนซิทีฟ แตะต้องไม่ได้เหมือนเดิม
ทำไมตุ๊ดบวชพระไม่ได้จึงกลายเป็นโจทย์ปัญหาที่ได้คำตอบแล้ว แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข
อ่านรายละเอียดข้อมูลวิทยานิพนธ์ได้ที่
บารมี สมาธิปัญญา. (2555). เพศสถานะในงานศิลปะของไมเคิล เชาวนาศัย. ปริญญาศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาทฤษฎีศิลป์ ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.