LGBTQ ในสังคมไทยดูเหมือนจะมีพื้นที่ และได้รับการยอมรับมากขึ้น จนหลายๆ คนมองว่ามันเป็นเรื่องปกติและไม่จำเป็นต้องมาพูดถึงกันอีกแล้ว แต่ในหลายๆ วงการ ตัวตนของ LGBTQ กลับไม่เคยมีภาพถ่ายทอดออกมาให้เห็น จนเราไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าจะเป็นยังไง
สำหรับวงการฮิปฮอปนั้นที่กำลังกลับมามีกระแสอีกครั้งจากรายการแข่งขันถึงสองรายการอย่าง Show me the money และ The Rapper แต่คำถามก็คือในวงการนี้มีพื้นที่ของ LGBTQ แค่ไหน ยิ่งถ้ามองดูฮิปฮอปในอดีตยังมีเพลงที่ชื่อ ‘กระทวย’ ของแร็ปเปอร์ดาจิมซึ่งเป็นเพลงพูดในสิ่งที่ไม่ดีให้กลับ transgender ที่เป็นหนึ่งใน LGBTQ อยู่เลย
Young MATTER จึงชวน ‘ชูการ์’ ทักษิณ ราชคำ หรือทุกคนรู้จักกันดีใน Sugar bubble แรปเปอร์จาก Squad Record ที่เริ่มเป็นกระแสจากการเข้าร่วมแข่งขันในรายการ Show me the money ทั้งซีซั่น 1 และซีซั่น 2 แต่ในซีซั่นแรกชูการ์ยังไม่ได้ come out ว่าตัวเองเป็นหนึ่งใน LGBTQ แตกต่างกับซีซั่นล่าสุดที่ประกาศตัวตนอย่างชัดเจน จึงสงสัยว่า LGBTQ ในวงการนี้จะเป็นยังไง และทำไมเขาถึงเลือกเปิดเผยตัวตนของตัวเองในซีซั่นล่าสุด
ทำไมถึงเข้ามาอยู่ในวงการฮิปฮอป
อย่างแรกก็คือเราชอบแร็ปก่อนครับ อยากรู้ว่าแร็ปมันคืออะไร มันคือแนวทางเพลงแบบไหน มันคือสไตล์อะไร ก็เลยสนใจจะศึกษา จึงรู้ว่าแร็ปมันคือส่วนหนึ่งของฮิปฮอปครับ ก็เลยได้เข้ามาอยู่ในวงการฮิปฮอป ซึ่งสเน่ห์ของมันไม่ใช่แค่แร็ปอย่างเดียว ฮิปฮอปมันมีทั้ง graffiti มีทั้ง b-boy มีทั้งแร็ปซึ่งมันมีองค์ประกอบหลายอย่างที่น่าสนใจ ทำให้เรารู้สึกว่าอยากจะศึกษามัน ก็เลยเริ่มศึกษาแล้วก็ฝึกเองผ่านการดูยูทูป ฝึกแร็ปที่บ้านให้พ่อฟังบ้าง ให้หมาแมวที่บ้านฟังบ้าง เวลาฝึกก็ศึกษาผ่านยูทูปฟังแนวที่เราสนใจ แล้วก็มา adapt ให้เหมาะสมกับตัวเรา จากนั้นผมได้เริ่มเข้ามาในวงการด้วยการแข่ง show me the money ss1 ครับ ก็มาลองประกวดแล้วก็ผ่านเข้ารอบ จนช่วง ep.2 ที่มีการแข่ง ring of fire ที่ต้องแร็ป 1 นาทีบนบีท ซึ่งปรากฏว่าคลิปที่ออกไปได้แอร์ไทม์และความสนใจเยอะมาก ทำให้ยอดวิวทะลุล้านแล้วก็เลยเริ่มเป็นที่รู้จัก
อยากให้แร็ปเปอร์เป็นอาชีพหลักเลยมั้ย
คือตอนนี้ผมทำหลายอย่างมาก การเป็นแร็ปเปอร์ก็คือหนึ่งในนั้น ผมก็ต้องดูในอนาคตว่าสามารถเลี้ยงครอบครัวได้มั้ย ถ้าทำได้ผมก็คงจะยึดอาชีพนี้ครับ แต่ถ้าทำไม่ได้มันก็จะเป็นสิ่งที่เราชอบแล้วเราก็ทำไปเรื่อยๆ ดีกว่า เพราะนอกจากแร็ปเปอร์ ผมก็อยากเขียนหนังสือนิยายครับ ผมเขียนนิยายอยู่แล้วก็รู้สึกว่าอยากให้เรื่องที่ตัวเองแต่งมันได้ทำเป็นเล่มจริงๆ จังๆ ซักครั้งครับ
ชื่อ sugar bubble มาจากไหน
ชูการ์นี่คือชื่อเล่นครับ ส่วน bubble เป็นตัวละครจากหนังเรื่อง Valerian มันเป็นเอเลี่ยนที่เล่นโดย Rihanna ครับ คือ bubble เนี่ยมันมีความสามารถในการแปลงร่าง เปลี่ยนชุด แล้วก็เป็นนางโชว์ด้วย ซึ่งเราก็รู้สึกว่ามันมีจริตความกะเทย แล้วเรากำลังหาชื่อที่เป็น a.k.a ไปแข่ง เราก็เลยเอามารวมกับชื่อเล่นเราจนกลายเป็น sugar bubble ซึ่ง sugar bubble มันก็คือตุ๊ดคนนึงครับ ที่อยากจะโชว์ อารมณ์เหมือนนางโชว์ที่พัทยา เวลาอยู่บนเวทีก็จะมีพลังแล้วก็ชอบเอนเตอร์เทนคนดูครับ
ระหว่าง sugar bubble กับ sugar ในชีวิตจริงมีความแตกต่างกันมั้ย
ค่อนข้างต่างครับ เพราะ sugar bubble เนี่ยจะมีจริตค่อนข้างเยอะแบบผู้หญิง มีวิธีการพูด มีถ้อยคำต่างๆ ที่ดูรู้เลยว่าแบบเป็น LGBTQ แต่พอเรามาใช้ชีวิตด้านนอกเนี่ย คนเขาไม่ได้รู้จักเราทุกคน ซึ่งเราก็มีพาร์ทของเราที่ถูกเลี้ยงแบบพ่อคนเดียวครับ ซึ่งมันก็จะเป็นอีกตัวตนนึงที่มีนิสัยอีกแบบนึงก็อาจจะเงียบกว่าหน่อย พูดน้อยกว่าหน่อย มีความเป็นผู้ชายมากกว่าหน่อย ซึ่งเราก็ชอบแบบนี้ แล้วไม่เคยสับสนเลย หลายๆ คนอาจจะงง แต่ผมรู้สึกว่าทั้งสองตัวตนนั้นมันก็คือตัวเรา แค่ด้านนึงอาจจะเด่นออกมาในแต่ละแบบเท่านั้นเอง ซึ่งสุดท้ายมันก็คือตัวเราอยู่ดี บางทีเราอยากเอา sugar bubble มาเล่นเราก็เป็นในชีวิตประจำวันได้เหมือนกันครับ
เคยต้องพยายามฝืนตัวเองให้ active เวลาเจอแฟนคลับมั้ย
ไม่เคยครับ เพราะเราคิดว่าอย่างน้อยเขาจะได้รู้ว่าเราก็มีบุคลิกแบบนี้ด้วยนะ ให้เขาได้รับรู้ เพราะเราไม่สามารถปั้นหน้าให้ active ได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว บางทีเราเหนื่อยมาก เราก็เลยแสดงตัวตนของเราออกไปเลย เพราะเราเชื่อว่าถ้าคนจะชอบเรา เขาต้องชอบที่เราเป็นตัวตนของเราครับ ไม่ว่าจะด้านใดด้านนึงก็ตาม เขาก็ต้องเห็นแล้วโอเค แต่เราก็ไม่ได้เปลี่ยนไปขนาดนั้น ไม่ถึงขั้นว่าแบบเราหยิ่งใส่ เราก็ยิ้ม เราก็คุยกับเค้าเหมือนเดิมแค่มันไม่ได้มีพลังมากมายเหมือนบนเวทีเท่านั้นเอง
มีใครเป็นไอดอลในเรื่องของการแร็ปบ้าง
ไอดอลผมมีหลายคนมากครับ ถ้าค่อนข้างมีชื่อเสียงก็อย่างเช่น nicki minaj ที่เป็นแร็ปเปอร์ของอเมริกา แต่ถ้าในทางเกาหลีก็จะเป็น CL หรือ เยจี fiesta ที่เคยแข่ง unpretty rapstar 2 ครับ เพราะเรารู้สึกว่าเขามีความดุที่แบบไม่แพ้แร็ปเปอร์ผู้ชายเลย สไตล์การแร็ปก็มีเอกลักษณ์ที่ฟังแล้วรู้ว่าใครแร็ป แล้วก็มีการเปลี่ยนช่องเสียงได้หลายแบบ จะเซ็กซี่ก็ได้ จะร้องก็ได้ จะดุก็ได้ ซึ่งก็มีความคล้ายตัวตนของ sugar bubble ที่สไตล์การแร็ปค่อนข้างลื่นไหลและมีความ hybrid ครับ มันเป็นการเอาสไตล์ต่างๆ ของแต่ละประเทศ แต่ละแนวมายำรวมๆ กัน แล้วก็จะได้โฟลวที่ไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านเท่าไหร่ บางทีก็ฝรั่งบ้าง เกาหลีบ้าง ซึ่งเป็นสไตล์ที่แร็ปเปอร์ในไทยยังไม่ค่อยเอามาใช้กันเท่าไหร่ นอกจากนี้บางทีก็จะมีการแต่งเนื้อเพลงที่แทรกภาษาเกาหลีหรือภาษาญี่ปุ่นเข้าไปด้วย เพราะเราชอบ k-pop แล้วเราก็ดูอนิเมะญี่ปุ่นค่อนข้างเยอะ พอเอามาใส่ในเนื้อเพลงของเรามันก็จะสร้างความโดดเด่นให้ sugar bubble ด้วยครับ
รายการ show me the money ทีไปประกวดทั้งสองซีซั่น เราแสดงออกต่างกันยังไงบ้าง
ซีซั่น 1 มันเป็นการแข่งครั้งแรกในชีวิตเราด้วย แล้ว ณ ตอนนั้นมันก็เป็นช่วงสับสนของชีวิตเราด้วยครับ เรายังไม่มั่นใจกับตัวเองเลยว่าชอบอะไรกันแน่ เป็นเพศไหนกันแน่ ทำให้เราไม่สามารถแสดงตัวตนของเราได้เต็มที่ครับเพราะตอนนั้นเพิ่งจะม.4 เอง แต่พอเรามาเป็นซีซั่น 2 เนี่ย เราเหมือนมาประกาศความภูมิใจของเราแล้ว คนรับรู้แล้วถึงตัวตนของเราอย่างชัดเจนแล้ว เราเลยรู้สึกว่าชอบซีซั่น 2 มากกว่าที่เราเป็นตัวเองได้เต็มที่
ทำไมซีซั่น 1 ถึงไม่กล้าเป็นตัวเอง
ตอนนั้นมีความกลัวครับ เพราะเอาจริงๆ ตอนนั้นยังมีแฟนเป็นผู้หญิงอยู่เลย แล้วก็ไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าตัวเองชอบอะไรกันแน่ แล้วก็กลัวเรื่องครอบครัวด้วยเพราะว่าตอนนั้นที่บ้านยังไม่รู้ แล้วก็กลัวเรื่อง feedback เวลารายการปล่อยออกไป กลัวคนไม่ชอบ กลัวโดนเหยียด กลัวโดนว่าเพราะมันเป็นการแข่งขันครั้งแรก ทำให้ตอนนั้นมันแพนิกกับการแสดงออกของเรา เราเลยตัดสินใจมาแข่งซีซั่นสองอีกครั้งเพื่อมาประกาศตัวตนที่แท้จริงของ sugar bubble ว่าเป็นแบบไหน เราไม่ได้คาดหวังเลยว่าจะต้องเข้ารอบลึกหรืออะไรเลย แค่อยากให้คนรู้ว่าเราภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นแล้ว แล้วเราก็จะไม่เก็บอีกต่อไปแล้ว
มันต่างกับซีซั่นหนึ่งที่เรามาประกวดเพราะว่าแค่อยากเอาสิ่งที่เราฝึกมา ตั้งใจซ้อมมาลองดูในชีวิตจริงว่าจะเป็นยังไง มัน work มั้ย เพราะตอนนั้นไม่เคยแข่งอะไรเกี่ยวกับแร็ปเลย ก็อยากพิสูจน์ว่าสิ่งที่ตัวเองทำมาคนจะชอบบ้างมั้ย จะมี feedback ยังไงบ้าง ทำให้เราเกิดความกลัวว่าคนจะไม่ชอบ แล้วก็ยังไม่กล้าเป็นตัวเอง
กระแสตอบรับของคนดูทั้งสองซีซั่นเป็นยังไง
ก็ดีครับ มีการแชร์แล้วก็รีทวิตคลิปที่ผมไปประกวดเยอะมาก ซึ่งตอนนั้นก็ตกใจมาก เพราะไม่คิดว่าจะมีคนชอบมากขนาดนี้ มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรู้จัก sugar bubble ครับ แต่ก็มีคอมเมนต์แย่ๆ เยอะพอสมควร แบบ เป็นก็บอกเถอะ เกย์แร็ปบ้าง สายเหลืองมาแร็ปบ้าง โดนบูลลี่เรื่องหน้าตาด้วย ก็โดนค่อนข้างจะเยอะ แล้วพอหลังจบซีซั่นผมก็มีปัญหาจากทั้งคอมเมนต์ คนภายนอก และครอบครัวทำให้เราอยากเลิกแร็ปไปเลย แต่ผมยังโชคดีที่หลายๆ คนที่สนับสนุนผมที่ชอบเรายังอยู่กับเราและให้กำลังใจมันเลยพอจะกลบส่วนนั้นไปบ้าง แล้วพวกคอมเมนต์แย่ๆ ที่กระทบเรา ที่จริงต้องขอบคุณพ่อที่สอนมาค่อนข้างชัดเจนว่า อะไรที่มันทำให้เรารู้สึกลบ หรือรู้สึกแย่เนี่ยบางทีเราก็ควรจะไม่ต้องสนใจหรือใส่ใจมันมาก ทำให้เราพยายามไม่ได้โฟกัสไปที่ความคิดเห็นที่เป็นด้านลบ แล้วไปโฟกัสกับคนที่ชอบเรามากขึ้น แล้วก็กลับมาแร็ปครับ
พอมา ซีซั่นสองก็ได้รับ feedback ที่ดีครับ คนยินดีกับความชัดเจนของเรา เขาสนับสนุนกับความเป็นตัวเองของเราเต็มที่ แต่มันก็มีกระแสลบ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคนที่เป็น LGBTQ เหมือนกันครับ ส่วนใหญ่จะเป็นคอมเมนต์ที่มาจากที่เขาไม่ชอบเรา ไม่ใช่เพราะว่าเราทำงานได้ออกมาไม่ดี หรือแร็ปแย่แล้วมันดันผ่าน แต่มันแค่เขาไม่ชอบเรา เขาก็เลยว่าเรา ซึ่งเราก็เคยเจอพวกคอมเมนต์ไม่ดีมาเยอะแล้ว เลยสามารถปล่อยวางได้ พยายามบอกกับตัวเองว่าอะไรที่มันรกสมองเราก็ไม่ต้องใส่ใจมันมาก เพราะถ้าถามว่าอ่านคอมเมนต์มั้ย เราอ่านตลอด เพราะเราคิดว่าอาจจะได้เจอคอมเม้นที่เขาติเพื่อให้เราพัฒนา ให้เรา active ตัวเองมากขึ้น เราอ่านทุกคอมเมนต์เลย แต่มันขึ้นอยู่กับแค่ว่าคอมเมนต์นั้นมันน่าใส่ใจมั้ย
การที่เรา come out ออกมาในวงการฮิปฮอปมีปัญหาอะไรบ้างมั้ย
ไม่มีปัญหาอะไรเลยครับ เพราะว่าแร็ปเปอร์ในวงการของไทยเนี่ย ให้เกียรติเรามากๆ รู้ว่าเราเป็นยังไงแล้วก็ให้เกียรติทั้งด้านคำพูด การกระทำ ไม่เล่นมุกที่มันทำให้เราลำบากใจ หรือแบบแตะเนื้อต้องตัว ซึ่งเรารู้สึกดีมาก เพราะตอนแรกเรากลัวมาก เพราะไม่รู้ว่า come out ออกไปแล้วผลตอบรับมันจะเป็นยังไง อย่างตอนแรกๆ คนที่รู้มันมีแต่เพื่อนเรา ซึ่งเพื่อนเราเขาปรับตัวให้เข้ากับเราได้เพราะเขาเป็นเพื่อนเรา แต่เรากลัวว่าคนที่เราไม่ได้รู้จักจะมองเราเปลี่ยนไป แต่ก็ปรากฏว่าเขาไม่ได้มองเราเปลี่ยนไป แต่ปฏิบัติอย่างให้เกีรยติเราครับ แต่การ come out มันก็ต้องแลกกับการที่คนเขาจะจำ character ของ sugar bubble เนื่องด้วยเวลาเราอยู่บนเวทีกับเวลาเราใช้ชีวิตปกติเนี่ยมันค่อนข้างต่างกัน ทั้งกริยา คำพูดคำจา น้ำเสียง หรือการแต่งตัว ซึ่งพอคนจำภาพลักษณ์บนเวทีเรามา เขาก็เลยคิดว่าเวลาเราใช้ชีวิตประจำวันจะเหมือนกัน ทำให้หลายๆ คนอาจจะงงว่าทำไมเราเป็นแบบนี้ เห็นบนเวทีเป็นแบบนี้นี่นา
กับที่บ้านตอนนี้พอเรา come out แล้วโอเคมั้ย
ที่บ้านผมจะเป็นบ้านที่รู้กันแต่ไม่พูด คือเค้าก็รู้ว่าเรามาทางนี้ชัดเจน แต่เวลาอยู่บ้านเราก็เป็นเหมือนเดิม ยังเป็นลูกเขาเหมือนเดิม แค่อาจจะมีความเรียบร้อยมากขึ้น เป็นผู้ชายมากขึ้น คีพลุคให้เขาหน่อยแต่ก็ยังเป็นตัวเองอยู่ และเขาก็รับรู้และให้เกียรติเรามากๆ อย่างเช่นช่วงก่อนที่จะ come out เค้าก็จะพูดเรื่องแต่งงานบ่อย หรือมีลูก ดูแลครอบครัว แต่ว่าตอนนี้เค้าก็พูดเรื่องอื่นแทนครับ แล้วเวลาเดินห้างเห็นชุดผู้หญิง เครื่องสำอางเขาก็จะสะกิดเราบ้าง พาเราไปเดินดูบ้าง ซึ่งมันเป็นการกระทำให้เราเห็นว่าเขาโอเคกับเรา ซึ่งมันดีมากกว่าแค่การพูดให้ฟัง
พอเราเป็น LGBTQ เรามีอุปสรรคในการแต่งเพลงมั้ย? การเลือกใช้สรรพนามแบบไหน มีเนื้อหาอะไรที่แต่งได้บ้าง
ผมมองในมุมกลับกันนะ มันเป็นข้อได้เปรียบของผมด้วยซ้ำที่เราสามารถจะไปทางไหนก็ได้ แบบเพลงนี้เราอยากเป็นผู้หญิงเราก็สามารถแต่งได้ เพลงนี้เราอยากเป็นผู้ชายเราก็สามารถแต่งได้ การปรับน้ำเสียง การเลือกสไตล์แร็ปแบบไหน เราก็ใช้ได้ มันมีความ hybrid มากครับ เพราะว่าบางทีผู้ชายหรือผู้หญิงเนี่ยเขาอาจจะมีแนวทางในการแต่งที่ค่อนข้างเฉพาะ ทั้งการเลือกใช้น้ำเสียงหรือสไตล์ ในขณะที่เราสามารถไปทางไหนก็ได้ ซึ่งมันเป็นเอกลักษณ์ที่ดีของเราที่จะให้คนรับรู้ แล้วคนฟังจะได้ลุ้นได้ด้วยว่าแบบแนวเพลงต่อไปหรือสไตล์ต่อไปที่เราจะทำหรือปล่อยออกมาเนี่ยจะเป็นแนวไหน หรือออกมายังไง
อยากแต่งเพลงเกี่ยวกับวัฒนธรรมหรือเรียกร้องสิทธิของ LGBTQ บ้างรึเปล่า
อยากนะครับ แต่ผมคิดว่ายังไม่ใช่ในตอนนี เพราะว่าผมรู้สึกว่าตอนนี้มันมีความงงมากๆ คอมเมนต์ด้านลบที่ผมเจอส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาจากผู้ชายหรือผู้หญิง แต่มันมาจากพวกเดียวกันที่จะมีทั้งเหยียด ทั้งด่า มันเลยทำให้ผมรู้สึกว่าไม่อยากแสดงออกถึงความภูมิใจในวงการและความเป็น LGBTQ ให้เต็มที่ แต่ผมมาเพื่อประกาศตัวตนของผมมากกว่า ผมแค่มาสร้างภาพลักษณ์ให้ทุกคนเห็นว่าในวงการฮิปฮอปมันมีแร็ปเปอร์ที่เป็น LGBTQ ของไทยแล้วนะ เรารู้สึกว่าพวกเดียวกันเองยังบูลลี่กันอยู่เลย ผมเลยรู้สึกว่าการที่อยากทำเพลงแสดงออกถึงวัฒนธรรม LGBTQ มันยังไม่ใช่ตอนนี้ ผมอยากให้รักกันมากกว่านี้ก่อนครับ
เคยโดนเหยียดเพราะเป็น LGBTQ มั้ย
ผมรู้สึกว่ามันกลายเป็นเรื่องปกติของผมเลย ผมรู้สึกว่าผมไปทางไหนผมก็โดนเหยียด บางทีผมแค่เดินมา เขาเคยเห็นเรา มาเรียกเรา ‘อีตุ๊ด’ เลยก็มี หรือในคอมเมนต์ก็จะมีคำพูดแบบพ่อแม่เลี้ยงยังไงให้มาเป็นแบบนี้ แร็ปยังงี้มันก็ไม่น่าดูเท่าผู้หญิงหรอก สายเหลืองบ้าง นอกจากนี้บางทีเข้ามาแตะเนื้อต้องตัวเราเลยก็มีซึ่งบางทีมันล้ำเส้นเกินไปมันก็มี แล้วเราก็เจอมาบ่อยเหมือนกัน แบบบางคนเห็นผมเล่นกับเพื่อนแบบสกินชิพกันอยู่แล้ว แล้วกลายเป็นขาก็คิดว่า เราโอเคที่จะเล่นแบบนั้นกับทุกคนซึ่งมันไม่ใช่เลย เรามีพื้นที่มีระยะของเรา ขนาดเพื่อนบางคนยังไม่อยากให้ใครไปแตะเนื้อต้องตัวเลย
คิดว่าอะไรที่ทำให้คนตีกรอบเพศที่สาม
ผมคิดว่ามาสื่อสำคัญมากเลยนะครับ ผมคิดว่าสื่อควรที่จะมีการเลือกเนื้อหาในการนำเสนอที่ดีกว่านี้ อย่างในยูทูปบางคนก็สร้างคอนเทนต์เพื่อเน้นยอดไลก์หรือกระแสมากจนเกินไป แล้วพอคนอื่นเห็นว่ามันได้รับความนิยมก็มีการผลิตซ้ำจนบางทีคนก็เลยมีค่านิยมแบบนั้นครับ
การที่เราเป็น sugar bubble ที่ค่อนข้างร่าเริงและเอนเตอร์เทนคนเก่ง กำลังไปสร้าง stereotype ให้คนกลุ่มเดียวกันมั้ย
เรื่องที่พวกเรามีพลัง ชอบเอนเตอร์เทนคือเราโดนเหมารวมกันมานานอยู่แล้วอะครับ บางทีมันเหมือนเราโดนบังคับไปแล้วว่าพอเป็นแบบนี้ต้องตลกนะ ต้องมีพลังนะ ต้องเอนเตอร์เทนนะ ซึ่งมันเป็นการถูกวางไว้แล้วว่าเราต้องเป็นแบบนี้ ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นแบบนี้ บางคนเขาก็เรียบร้อย บางคนเขาอาจจะมีความเป็นผู้ชายสูง ผมรู้สึกว่าการแสดงออกไปมันก็คือภาพของคนคนนึงมากกว่าภาพของคนทั้งหมดในสังคม มันเป็นแค่รสนิยมทางเพศที่ไม่ได้มีผลอะไรกับบุคลิกของเราเลยมากกว่าครับ ทุกคนแตกต่างกันอยู่แล้วครับ ไม่ควรมีการเหมารวม
แล้วอยากให้คนเข้าใจเรายังไง
สิ่งที่อยากให้เข้าใจก็คือตัวตนของผมจริงๆ ครับ บางทีหลายๆ คนจำภาพลักษณ์บนเวทีเรา แล้วคิดว่าเราเป็นแบบนั้นตลอดเวลา ซึ่งมันไม่ใช่ นั่นคืองานของเรา เราเอนเตอร์เทนคุณให้แฮปปี้ มีความสุข แต่พอลงมาเราก็อยากได้เซฟโซนที่เราจะมีความสุข มีเส้นของเรา เราก็แค่ขอให้คุณเคารพ หรือให้เกียรติเราในฐานะเพื่อนมนุษย์ เราเข้าใจว่าเขาไม่ได้ผิดหรอกที่จะจำภาพลักษณ์แบบนั้นมา เพราะเห็นเราแบบนั้น แต่เราแค่อยากให้เกียรติเราในชีวิตจริงด้วย เราอาจจะไม่ได้ร่าเริง หรือตลกตลอดเวลา เพราะฉะนั้นคำพูดคำจาหรือกริยาที่ทำใส่เราเราขอแค่แบบ เคารพกันบ้าง มาคุย ทักทายกันได้ แต่แค่การเข้าหาเราในตอนที่เราใช้ชีวิตประจำวัน เราก็อยากได้พื้นที่ของเราครับ นอกจากนี้เรื่องเพศคือ ถึงเราจะเป็น LGBTQ ซึ่งจริงๆ ก็แค่รสนิยมทางเพศของเรา แต่ที่เหลือเราก็เป็นคนเหมือนกับคุณ ไม่ต้องกลัวมีปัญหาอะไรเลย
แต่ประเด็นที่เราอยากให้เข้าใจคือเราไม่อยากให้สร้างกรอบหรือ stereotype เราว่า พอเราเป็น LGBTQ แล้วเราต้องเป็นยังงี้ คือเราเจอหลายครั้งมากกับการ stereotype เราแล้วเราไม่โอเคเลยอย่างเช่น เขาคิดว่าแบบเราเป็นแบบนี้เราจะต้องซื้อกิน หรือหาเซ็กซ์แบบ one night stand ซึ่งเราก็รู้สึกว่าบางทีเราก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น ทำไมต้องยัดเยียดให้เราเป็นแบบนั้นด้วย หรือบางทีเราใช้โทนเสียงหรือแสดงออกที่มีความเป็นผู้ชายมากขึ้น เขาก็ไม่เข้าใจแล้วก็ล้อเลียน ซึ่งเราไม่โอเคตรงนี้ เราคิดว่าเราสามารถแสดงออกยังไงก็ได้และอยากให้คนทำความเข้าใจมากกว่าว่า มันแค่รสนิยมทางเพศ ไม่ได้แสดงออกถึงการบุคลิกของเราเลย