ในคำพิพากษาคดี In the matter of X (A Child) (No.3) Sir James Munby ผู้พิพากษาศาล High Court ประธานแผนกคดีครอบครัวอังกฤษ ได้เตือนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในเคสของ X ว่า หาก X ซึ่งเป็นเด็กสาวอายุ 17 ปีที่มีความผิดปกติทางพฤติกรรมและพยายามฆ่าตัวตายนับครั้งไม่ถ้วน ถูกปล่อยตัวจากสถานพินิจ โดยที่รัฐยังไม่สามารถจัดหาเตียงผู้ป่วยในในโรงพยาบาลให้ X ได้และไม่มีหน่วยงานใดรับตัว X ไปดูแลรักษาต่อ การที่ X สามารถฆ่าตัวตายสำเร็จจะทำให้ ‘มือของพวกเราเปื้อนเลือด (we will have blood on our hands.)’
คำพิพากษาของผู้พิพากษา Munby ในคดีนี้วิพากษ์ความบกพร่องในด้านทรัพยากรของระบบสาธารณสุขอังกฤษที่ไม่สามารถจัดหาการบำบัดรักษาที่เหมาะสมและเพียงพอแก่ผู้ป่วยทางจิตที่นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงทัศนคติที่ว่าการรักษาสุขภาพของประชาชน ซึ่งรวมถึงสุขภาพจิต เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดหาบริการที่เพียงพอเหมาะสมให้แก่ประชาชนของตน ไม่ใช่เรื่องของความ ‘อ่อนแอก็แพ้ไป’ หรือเรื่องว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาป
เรื่องของ X
X เป็นเด็กสาวอายุ 17 ปี ที่ถูกกักตัวอยู่ในสถานพินิจแห่งหนึ่งหลังถูกตัดสินลงโทษจากการกระทำผิดเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง ในระหว่างที่อยู่ในสถานพินิจ X มีพฤติกรรมอยากฆ่าตัวตายและได้พยายามฆ่าตัวตายมาหลายครั้ง อาการของ X รุนแรงมากจนถึงขั้นที่ต้องมีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอดเวลาและปรับสภาพให้สภาพแวดล้อมของ X ไม่มีวัตถุที่จะใช้ทำร้ายตัวเองได้ แพทย์จิตเวชวินิจฉัยว่า X มีอาการความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบอารมณ์ไม่คงที่ (Emotionally Unstable Personality Disorder : EUPD) ประกอบกับอาการซนสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) แต่อาการของ X ไม่ได้มีผลถึงขั้นทำให้ X สูญเสียความสามารถในการตัดสินใจ
ปัญหาก็คือทางสถานพินิจต้องปล่อยตัว X เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ใช่แพทย์หรือพยาบาลและไม่สามารถรักษาอาการของ X ได้ หาก X พยายามทำร้ายร่างกายหรือใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถให้ยาสลบแก่ X ได้ และทำได้เพียงมัดตัว X ไว้เท่านั้น ในระหว่างไม่ถึง 6 เดือนที่ X อยู่ที่สถานพินิจ มีเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องมัดตัว X ถึง 127 ครั้ง แพทย์จิตเวช เจ้าหน้าที่ของสถานพินิจ ผู้พิทักษ์ (guardian) ของ X รวมทั้งบุคลากรอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเคสของ X เห็นพ้องตรงกันว่า X ต้องได้รับการรักษาในสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิตประเภท low security unit
แต่ทาง NHS หรือระบบประกันสุขภาพของอังกฤษ ไม่สามารถหาเตียงให้ X ได้ และหากต้องปล่อยตัว X ไปทั้ง ๆ ที่ไม่มีสถานที่ที่จะรับตัว X ไปดูแลต่อ เจ้าหน้าที่สถานพินิจมีความเห็นว่า X คงจะฆ่าตัวตายสำเร็จภายใน 24-48 ชั่วโมงแรกแน่นอน
ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากทั้ง NHS และหน่วยงานท้องถิ่น (local authority) ก็พยายามอย่างเต็มที่เพื่อหาเตียงในสถานพยาบาลหรือหาทางเลือกอื่นในการดูแล X แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นที่ตอบสนองต่อความต้องการของ X และเตียงที่ว่างอยู่ก็มี waiting list กว่า 6 เดือน
เดิมศาลได้สั่งให้หน่วยงานหาสถานที่ที่จะสามารถรับดูแล X เป็นการชั่วคราวในระหว่างที่รอเตียงและมาเสนอต่อศาลเพื่ออนุมัติ แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้นก็มีความจำเป็นที่ศาลต้องมีคำพิพากษาในคดีนี้เพื่อกำหนดรายละเอียดของการดูแลรักษาที่ X ต้องได้รับจากรัฐ
ความเห็นของผู้พิพากษา
ในคำพิพากษา[1] ที่แทบไม่มีเนื้อหากฎหมาย แต่เต็มไปด้วยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลเกี่ยวกับความขาดแคลนทรัพยากรในระบบ NHS และความอัดอั้นตันใจของผู้พิพากษา Munby ในเรื่องนี้ ผู้พิพากษาได้กล่าวในย่อหน้าที่ 36 ถึง 39 ว่า
“สภาพการมีอยู่ – ศาลไม่อาจใช้คำว่า ‘มีชีวิตอยู่’ – ของ X นั้นชวนให้ตกใจอย่างยิ่ง
(แม้ทุกอย่างที่ทำจะเป็นไปเพื่อการรักษาไว้ซึ่งชีวิตของ X แต่) การปฏิบัติเช่นนี้สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรี และสวัสดิภาพของเธอหรือ
คดีนี้แสดงให้เห็นถึง ความบกพร่องอันน่าอดสูและน่าละอายใจยิ่งของประเทศนี้ใน
การจัดบริการการรักษา จัดหาที่อยู่ และบริการสนับสนุนอื่น ที่เหมาะสมให้แก่เด็กและเยาวชนซึ่งประสบปัญหาลักษณะเดียวกันกับ X ที่นับวันจะยิ่งมีเพิ่มขึ้น แม้ในเราจะอยู่ในยุคสมัยเศรษฐกิจรัดเข็มขัด เราก็ยังเป็นประเภทรวยที่สุดประเทศหนึ่ง เด็กและเยาวชนคืออนาคตของเรา X ก็เป็นส่วนหนึ่งในอนาคตของเรา ช่างเป็นเรื่องอัปยศในประเทศซึ่งอ้างว่ามีอารยธรรม เมตตาจิต และคุณความดีพื้นฐานของมนุษย์
ที่ผู้พิพากษาต้องเผชิญกับปัญหาเช่นในคดีนี้และต้องกล่าวความเห็นออกมาในลักษณะนี้
[…] นานมาแล้วในปี 1910 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า “สภาพจิตใจและความรู้สึกของสาธารณชนต่อการปฏิบัติเกี่ยวกับอาชญากรรมและอาชญากรเป็นบททดสอบอารยธรรมของประเทศเสมอมา” ในสมัยปัจจุบัน หลักการที่ว่าถูกขยายความจนกลายเป็น
“มาตรวัดหนึ่งของสังคมที่มีอารยธรรมคือการวัดว่าสังคมนั้นดูแลกลุ่มคนที่อ่อนด้อยที่สุดของตัวเองดีเพียงใด”
หากเราทำให้ X และคนอื่นในวิกฤติที่คล้ายคลึงกันได้ดีที่สุดแค่นี้ เรา ระบบ สังคม หรือรัฐก็ดี จะมีสิทธิใดมากล่าวอ้างว่าเรามีอารยธรรม คำตอบของคำถามนี้ควรทำให้เรารู้สึกละอายใจ สำหรับตัวศาลเอง ซึ่งตระหนักดียิ่งถึงความไร้ซึ่งพลังอำนาจของศาล – การที่ไม่สามารถช่วย X ได้มากกว่านี้ –
ศาลรู้สึกละอายใจและอับอาย ละอายใจในฐานะมนุษย์ พลเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐคนหนึ่ง อับอายในฐานะผู้พิพากษาประธานแผนกคดีครอบครัวและหัวหน้าระบบยุติธรรมในคดีครอบครัว ที่ไม่สามารถช่วย X ได้มากกว่านี้
หากเรา ระบบ สังคม และรัฐไม่สามารถจัดหาสถานที่ที่ให้การสนับสนุนและให้ความปลอดภัยซึ่ง X ต้องการอย่างยิ่งได้ภายในช่วง 11 วันก่อนที่เธอจะถูกปล่อยตัวนี้ และหากนี่เป็นผลให้เธอสามารถปลิดชีพตัวเองได้สำเร็จ เช่นนั้นแล้ว ศาลคงได้แต่กล่าวพร้อมเน้นย้ำด้วยความเศร้าใจว่า มือของพวกเราจะเปื้อนเลือด”
นอกจากนี้ ผู้พิพากษา Munby ยังกล่าวถึงหน้าที่ของรัฐตามอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐาน (European Convention of Human Rights and Fundamental Freedoms) ว่า X มีสิทธิในชีวิต (right to life ตามมาตรา 2) สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี (inhuman or degrading treatment) สิทธิได้รับความเคารพในชีวิตส่วนตัวและชีวิตครอบครัว (respect to private and family right ตามมาตรา 8) ซึ่งรัฐบาลอังกฤษมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองตามพันธกรณีดังกล่าว เป็นที่น่าสนใจว่าแม้คำพิพากษาของผู้พิพากษา Munby จะถือว่ามีความดราม่า แต่ก็เป็นความดราม่าที่อิงกับคุณค่าอย่างสิทธิมนุษยชนและไม่มีมิติด้านศาสนามาเกี่ยวข้อง (secular) แม้คำพิพากษาจะตั้งอยู่บนฐานของการสนับสนุนให้ X มีชีวิตต่อและขัดขวางการฆ่าตัวตายของ X เช่นเดียวกันกับหลักศาสนาก็ตาม
บทบาทของ NHS
เรื่องของ X แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของ National Health Service หรือ NHS ในการดูแลสุขภาพของประชาชน NHS เป็นระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลถ้วนหน้าของสหราชอาณาจักรที่ให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับบริการส่วนใหญ่ (นอกจากการเสียภาษีปกติ) ในประเทศที่ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลถ้วนหน้าได้หยั่งรากฝังลึกในจิตสำนึกของประชาชนแล้วเช่นอังกฤษ (NHS ก่อตั้งเมื่อปี 1948) ย่อมเป็นเรื่องปกติที่คำครหาในเคสของผู้ป่วยทางจิตเช่น X จะตกอยู่กับภาครัฐที่จัดบริการได้ไม่ดีพอ แม้นับแต่รัฐบาลของ Margaret Thatcher แนวคิดนำในอังกฤษจะเปลี่ยนจากรัฐสวัสดิการเป็นเสรีนิยมใหม่ แต่ NHS ก็ยังคงเป็นเศษเสี้ยวของรัฐสวัสดิการที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในอังกฤษปัจจุบันและยังคงเป็นสถาบันที่สำคัญไม่เสื่อมคลาย
ผู้พิพากษาทราบดีว่าการที่โรงพยาบาลมีเตียงไม่พอไม่ใช่ความผิดของเจ้าหน้าที่ตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ได้เป็นคนตัดสินใจในเรื่องการจัดหาทรัพยากรในระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ‘คนอื่น’ (รัฐบาลนั่นเอง)
ถึงอย่างนั้น NHS ก็ประสบปัญหามาตลอด เพราะมักเป็นเป้าของนักการเมืองในการหาเสียงในฐานะที่เป็นบริการพื้นฐานจากภาษีประชาชน นักการเมืองมักหาแนวทางปฏิรูป NHS ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของความคุ้มค่าของงบประมาณที่จัดสรรให้ แต่ในช่วงหลังผลลัพธ์มักเป็นการจัดงบประมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยจำนวนผู้สูงอายุและผู้ป่วยทางจิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงหลัง สัดส่วนงบประมาณของ NHS ต่อ GDP ลดลงต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะได้เพิ่มจำนวนเงินงบประมาณให้ก็ตาม[2]
ในคำตัดสิน ผู้พิพากษา Munby ก็ดูเหมือนจะเข้าใจปัญหาของเจ้าหน้าที่ NHS ที่ต้องบริหารจัดการภายในข้อจำกัดทางทรัพยากรที่มีอยู่ โดยได้กล่าวถึงความพยายามอย่างเต็มที่ของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องว่าเป็น “ความพยายามอย่างแข็งขันที่แทบไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด (an account of concerted effort producing virtually nothing by way of effective outcome)” และแม้จะได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องหาสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับ X แต่ก็ “เหมือนศาลยืนพูดอยู่คนเดียวกลางทะเลทรายซาฮารา (I might as well have been talking to myself in the middle of the Sahara)”
ผู้พิพากษาทราบดีว่าการที่โรงพยาบาลมีเตียงไม่พอไม่ใช่ความผิดของเจ้าหน้าที่ตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ได้เป็นคนตัดสินใจในเรื่องการจัดหาทรัพยากรในระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ‘คนอื่น’ (รัฐบาลนั่นเอง) ถึงแม้ในคำพิพากษาจะไม่มีการว่ากล่าวรัฐบาลโดยตรง แต่ผู้พิพากษาก็สั่งให้สำเนาคำพิพากษาไปยัง CEO ของ NHS รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ล่าสุด วันรุ่งขึ้นหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษา NHS ก็สามารถหาเตียงให้ X ได้[3] ต้องถือว่ายาแรงจากท่านผู้พิพากษา Munby บวกกับพลังจากสื่อที่ตีข่าวได้ผลทันใจสำหรับ X แต่จะมีผลระยะยาวในแง่ของการแก้ไขปัญหาของ NHS หรือไม่ คงมีแต่เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มได้ที่ In the matter of X (A Child) (No. 3) [2017] EWHC 2036 https://www.judiciary.gov.uk/wp-content/uploads/2017/08/x-a-child-no-3-2017-ewhc-2036-fam-20170803.pdf และคดีของ X ก่อนหน้า In the matter of X (A Child) (No. 2) [2017] EWHC 1585 http://www.bailii.org/ew/cases/EWHC/Fam/2017/1585.html
[2] https://www.theguardian.com/society/2016/jan/20/nhs-funding-falling-behind-european-neighbours-kings-fund-research
[3] https://www.theguardian.com/society/2017/aug/04/nhs-finds-hospital-bed-for-teenager-at-risk-of-suicide