หลังจากเลื่อนแล้ว เลื่อนอีก ต่อเวลาแล้ว ยื้อกันสุดๆ แล้ว ในที่สุด วันที่ 31 มกราคม 2020 ก็จะเป็นวันสุดท้ายของสหราชอาณาจักร ที่จะอยู่กับ EU แล้วซึ่งผลของ Brexit นี้ถือเป็นการจบความสัมพันธ์ 47 ปีที่มีร่วมกันในสหภาพนี้ จนอาจเปรียบได้ว่า เหมือนการหย่าร้างของคู่รัก
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา สมาชิกรัฐสภายุโรป (MEP) ได้ลงมติรับรองข้อตกลงBrexit ของรัฐบาลอังกฤษ โดยมีผู้เห็นชอบ 621 เสียง คัดค้าน 49 เสียง และงดออกเสียง 13 เสียง และในเวลา 23.00 น. ของอังกฤษ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาออกจาก EU นั้น บอริส จอห์นสัน นายกฯ ของอังกฤษเอง ก็จะปล่อยคลิปวิดีโอ ซึ่งส่งสัญญาณว่า ต่อจากนี้ คือ ‘รุ่งอรุณแห่งยุคใหม่’ และรัฐบาลของเขาเองก็เตรียมการในช่วงต่อไปด้วย
แต่ถึงแม้เราจะเปรียบการจากลานี้ เหมือนการหย่าร้าง แต่ Brexit และการก้าวออกจาก EU กลับไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้น ทั้งยังเป็นเสมือน ‘ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูและการเปลี่ยนแปลงในระดับชาติ’ ของสหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักรหลัง 31 มกราคม : ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน
หลังจากวันที่ 31 มกราคมนี้ แม้ว่าจะถือว่าสหราชอาณาจักร จะออกจาก EU แล้ว แต่ก็ถือว่าเข้าสู่ช่วง 11 เดือนแห่งการเปลี่ยนผ่าน โดยสหราชอาณาจักรยังคงต้องจ่ายเงินให้กับ EU เหมือนเดิม และกฎหมายของ EU ส่วนใหญ่จะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป รวมถึงการเดินทางอย่างเสรีจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม
แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนไป และเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ สหราชอาณาจักรจะออกจากสถาบันทางการเมืองและหน่วยงานของสหภาพยุโรปทั้งหมด โดย ส.ส.ของอังกฤษจะไม่มีที่นั่งในรัฐสภายุโรปอีก เช่นเดียวกับที่ตัวแทนรัฐบาลอังกฤษเองไม่ต้องเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ EU แล้ว ซึ่งหากผู้นำ หรือบอริส จอห์นสัน อยากเข้าร่วม จำเป็นต้องได้รับการเชิญพิเศษจาก EU รวมถึงแผนก Brexit ที่เป็นทีมจัดเจรจาระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรปก็จะปิดตัวลง และธงของอังกฤษเองก็ถูกปลดออกจากหน้าสภา EU ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
ส่วนหนังสือเดินทางของสหราชอาณาจักร จะเปลี่ยนจากสีน้ำเงินแบบเดียวกัน กับของประเทศสมาชิก EU กลายเป็นสีแดงไวน์ โดยจะเริ่มออกสีแดงไวน์ในช่วงกลางปีนี้ และการออกจาก EU ยังทำให้ต่อจากนี้ เยอรมนีจะไม่สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหราชอาณาจักรได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญของเยอรมนีไม่อนุญาตให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เว้นแต่ว่าจะเป็นประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งโฆษกกระทรวงยุติธรรมเยอรมันกล่าวกับสำนักข่าว BBC ว่า “ข้อยกเว้นนี้ไม่สามารถใช้งานได้อีกหลังจาก Brexit”
ถึงอย่างนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ การเดินทาง การใช้ใบขับขี่ พาสปอร์ตของสัตว์เลี้ยง และบัตรประกันสุขภาพยุโรป ยังสามารถใช้ได้ รวมถึงยังสามารถทำงาน และอยู่อาศัยใน EU ได้อยู่ในช่วงนี้ แต่ถึงอย่างนั้น ชาวอังกฤษเองก็ต้องเตรียมตัวสำหรับปีหน้า ซึ่งการเดินทางของสัตว์เลี้ยงอาจจะต้องใช้เวลาการวางแผนล่วงหน้าถึง 4 เดือน การขับรถเองก็ต้องใช้เอกสารประกัน
Brexit ไม่ใช่จุดสิ้นสุดความสัมพันธ์
ตั้งแต่การทำประชามติ ถึงการออกจากจาก EU ในวันนี้ สหราชอาณาจักรใช้เวลาไปกว่า 2 ปีครึ่ง มีการเปลี่ยนตัวนายกฯ เปิดเจรจา และการเลื่อนเส้นตายมาแล้วหลายครั้ง จนเมื่อ บอริส จอห์นสัน นายกฯ คนปัจจุบัน ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม ทำให้เขาได้เสียงส่วนใหญ่ที่สามารถออกกฎหมาย จัดการกับข้อตกลง Brexit ได้
แต่ถึงอย่างนั้น การหย่าร้างนี้ ก็ไม่ใช่การหย่าขาด เพราะ 11 เดือนต่อจากนี้ เป็นเวลาที่สหราชอาณาจักรตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีถาวรกับสหภาพยุโรป ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องพูดคุย และเจรจาถึงทิศทางความสัมพันธ์ในอนาคต ทั้งการบริการทางการเงิน ความร่วมมือด้านความปลอดภัย และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจอห์นสันก็ได้สัญญาว่าเขาจะไม่ขยายระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงนี้ให้เกินกว่าปี 2020
ในช่วงเวลา Brexit นี้ อัวร์ซูลา แกร์ทรูท ฟ็อน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้ขอบคุณชาวอังกฤษที่มีส่วนในสหภาพยุโรปและทำให้มันแข็งแกร่งขึ้น ทั้งเธอยังระบุว่า “มันเป็นเรื่องราวของเพื่อนเก่าและการเริ่มต้นใหม่ในตอนนี้ ดังนั้นมันจึงเป็นวันแห่งอารมณ์ แต่ฉันก็ตั้งตารอที่จะก้าวไปอีกขั้น” พร้อมเธอยังบอกว่าการเจรจาที่จะเกิดขึ้นจะ ‘ยุติธรรม’ แต่แต่ละฝ่ายต่างก็จะต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเอง
ซึ่งหลังจากนี้เอง เราจะเห็นภาพรัฐบาลอังกฤษก็จะเดินหน้าพูดคุยกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกี่ยวกับการกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่สำหรับการซื้อและขายสินค้าและบริการ ซึ่งการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างอังกฤษ และประเทศอื่นๆ นั้น ถือเป็นสิ่งที่ผู้สนับสนุน Brexit ยืนยันว่า ทำให้ประเทศมีอิสระในการกำหนดนโยบายการค้าของตนเอง ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรด้วย แต่ถึงอย่างนั้น สหราชอาณาจักรเอง ก็ต้องหารือข้อตกลงการค้ากับ EU ใหม่เช่นกัน
แต่ถึงอย่างนั้น หากสหราชอาณาจักรไม่มีการตกลงและให้สัตยาบันการค้าภายในสิ้นปี สหราชอาณาจักรจะต้องเผชิญกับ อัตราภาษีศุลกากรสำหรับการส่งออกไปยัง EU ที่สูงขึ้น ซึ่งอาจะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าบางประเภท รวมไปถึงความร่วมมือต่างๆ กับ EU ทั้งในเชิงกฎหมายที่จะเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นด้วย
ดังนั้น แม้จะก้าวออกจาก EU ในนามแล้ว แต่ความท้าทายของรัฐบาลอังกฤษเองก็ยังคงมีอยู่ในตลอดระยะเวลา 11 เดือนนี้ ที่จะต้องหาข้อตกลงจากการเจรจาให้ได้ ทั้งยังต้องรับมือกับกระแสในประเทศอย่างสกอตแลนด์ ที่มีแนวโน้มอยากจะทำประชามติแยกตัวจากสหราชอาณาจักรอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มแรงกดดันทางการเมืองต่อรัฐบาลอังกฤษที่ต้องการแยกตัวจาก EU อีกด้วย
อ้างอิงจาก