คำเตือน: บทความนี้เล่าเรื่อง The Vampyre ของจอห์น วิลเลียม โพลิโดรี
เอาจริงๆ ดิฉันว่ามันตลกที่ทุกครั้งที่ดิฉันไปลอนดอน ดิฉันต้องไปบริเวณแถวๆ ย่านโซโฮ (Soho) หรือโซโห
นักท่องเที่ยวไทยหลายๆ คนก็ย่อมรู้จักที่นี่ดี เพราะอยู่ไม่ไกลแหล่งช้อปปิ้งอย่าง พิคาดิลลี เซอร์คัส (Picadilly Circus) หรือ โคเวนต์ การ์เดน (Covent Garden) นักท่องเที่ยวหลายชาติรู้จักย่านนี้เป็นอย่างดีเพราะเป็นย่านโรงละคร ใครอยากดูละครเพลงอย่าง The Phantom of the Opera หรือ Les Miserables ก็ต้องมาย่านนี้ ทั้งสองเรื่องนี้เล่นที่โรงละครเดิมมามากกว่ายี่สิบปีแล้ว หรือละครใหม่ๆ อย่าง The Cursed Child ภาคต่อของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็เล่นในย่านนี้ด้วย
นอกจากนี้ หลายๆ คนก็จะรู้จักย่านนี้เพราะอยู่ไม่ไกลจากย่านร้านอาหารจีนที่โด่งดัง ค่อนข้างใหญ่โตคึกคัก มีร้านอาหารชื่อดังอย่างร้านโฟร์ซีซั่น (Four Seasons) ซึ่งทุกคนก็จะชื่นชอบลิ้มลองเป็ดย่างจนต่อคิวยาวเหยียด บางคนก็ไปลองเบอร์เกอร์แอนด์ลอบสเตอร์ (Burger and Lobster) ซึ่งอยู่ไม่ไกล
หนอนหนังสือก็ไม่ควรพลาด เพราะไม่ไกลจากย่านคนจีนก็มีร้านหนังสือเก่ามากมาย มีทั้งหนังสือมือสองราคาย่อมเยา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนวนิยาย เป็นจนถึงตำราวิชาการ หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรก และหนังสือเก่าราคาหลายหมื่น เลยออกไปไม่ไกล ก็ยังมี ร้านฟอยลส์ (Foyles) ร้านหนังสือใหญ่หกชั้นอลังการ ให้เลือกซื้อกันตาแฉะ ถ้าใครเป็นสายบันเทิงเถิดเทิง หรืออยากพบเจอชาวหลากหลายทางเพศต่างๆ มีร้านนั่งดื่ม ร้านขายของ โรงมหรสพที่กลุ่มหลากหลายทางเพศหลายๆ คนชื่นชอบมากมาย
ถึงแม้หลายๆ คนจะเห็นว่าดิฉันเป็นคนตะกละ (ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรจากความเป็นจริง) แต่ดิฉันมาร้านหนังสือที่นี่บ่อยกว่าร้านอาหาร การเดินทางมาร้านอาหารหรือช้อปปิ้งซื้ออาหารส่วนใหญ่ดิฉันก็มากับเพื่อนฝูง ประกอบกับชาวไทยหลายท่านก็ไม่ได้ปลื้มอาหารฝรั่งมังค่ามากนัก ยิ่งอาหารอังกฤษด้วยแล้ว (แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่อร่อยไปเสียหมดนะคะ ขอยืนยัน) อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าดิฉันจะได้รับประทานอาหารหรือไม่ แต่ดิฉันจะแวะไปร้านหนังสือ เพื่อซื้อหนังสือกลับมาดองที่บ้านเสมอ ครั้งละเล่มสองเล่มสามเล่มสี่เล่ม กลายเป็นว่าดิฉันก็ผูกพันกับย่านนี้ไปแล้ว ทุกครั้งที่มาลอนดอนเป็นต้องเข้าไปเดินดูข้าวของ
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ดิฉันเดินเข้าไปในตรอกซอกซอย เดินดูของไปเรื่อยเปื่อย ระหว่างทางไปร้านหนังสือ ดิฉันก็ไปเจอกับป้ายป้ายหนึ่งเข้าให้ เป็นป้ายที่ทำให้ฉันนึกขึ้นได้ว่า เมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน มีนักเขียนคนหนึ่งเกิดและเสียชีวิตที่นี่ เขาคือ จอห์น วิลเลียม โพลิโดรี (John William Polidori) นักเขียนลูกครึ่งอังกฤษอิตาเลียน ผู้เขียนเรื่องสั้น The Vampyre (สะกดด้วยตัว y ตามแบบเก่านะคะ) เมื่อปี ค.ศ. 1819 หรือเมื่อสองร้อยปีที่แล้วนี้เอง คุณอาจจะรู้จักแวมไพร์จากเรื่องอื่นมานับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นในหนังสือหรือภาพยนตร์ แต่ก่อนอื่น
ดิฉันอยากให้ทุกคนหลับตา นึกภาพแวมไพร์ค่ะ
ถ้านึกแล้ว อยากถามว่าคิดเหมือนกับดิฉันหรือเปล่า ดิฉันเห็นภาพผู้ชาย สวมเสื้อคลุมสีดำ ผ้าคลุมไหล่สีดำหางยาวลากพื้น ดูเป็นผู้ดี เป็นขุนน้ำขุนนางมีฐานะ แต่ว่าผิวขาวซีด แยกเขี้ยวเปื้อนเลือด ถ้าคุณเห็นภาพทำนองนี้ คุณก็ต้องยอมรับว่า นี่คืออิทธิพลของวรรณกรรมเรื่อง The Vampyre ของโพลิโดรีค่ะ ถึงแม้คุณจะรู้จักแดรกคูลา (Dracula) มากกว่า แต่ แดรกคูลาก็มาจากโพลิโดรีอีกที
ชีวิตอันน่าเศร้าของโพลิโดรี ผู้เสียชีวิตในวัย 25 ปีเท่านั้นเอง เกี่ยวพันกับพื้นที่โซโฮอย่างน่าสนใจ ช่วงชีวิตของโพลิโดรีนั้นคือช่วงเวลาที่พื้นที่โซโฮกำลังเปลี่ยนแปลงจากเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของขุนนางผู้ดีมีเงิน สู่ที่อยู่อาศัยของผู้ลี้ภัยทางการเมือง จนกลายเป็นย่านโรงละคร ร้านอาหาร จากย่านที่อยู่อาศัยของชนชั้นขุนนาง กลายเป็นย่านร้านค้าของชนชั้นกลางระดับล่าง กลายเป็นย่านที่ ‘ผู้ดี’ ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเก้าไม่อยากจะเข้ามาย่างกรายอีก
เดิมโซโฮในยุคกลางเป็นทุ่งกว้างที่เรียกกันว่าทุ่งนักบุญไจลส์ (St Giles Field) มีสถานอภิบาลนักบุญไจลส์ (Hospital of St Giles) ตั้งอยู่ เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่แปด (Henry VIII) ปฏิรูปศาสนา จากนิกายคาทอลิกเป็นนิกายแองกลิคัน โบสถ์วิหารคาทอลิกต่างๆ ถูกยุบ ถูกหลวงยึดพื้นที่ ณ ตอนนั้น ทุ่งนักบุญไจลส์ถูกยึดเป็นของหลวง และกลายเป็นพื้นที่ล่าสัตว์ของบรรดาขุนน้ำขุนนาง ชื่อโซโฮ นั้นเชื่อกันว่ามาจากคำตะโกนส่งสัญญาณกันยามล่าสัตว์ หลังจากนั้น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทางฝั่งหลวงก็ปล่อยพื้นที่โซโฮให้นายทุนเช่า แปลงพื้นที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย สร้างจากอิฐและหิน กลายเป็นพื้นที่ของ ขุนน้ำขุนนาง นักการทูต เจ้าหน้าที่ทหาร และพ่อค้าวาณิช
แต่ก็ใช่ว่าพื้นที่อยู่อาศัยบริเวณนี้จะเป็นของชาวอังกฤษแต่อย่างเดียว แต่ยังเป็นพื้นที่ของผู้ลี้ภัยชาวกรีซและชาวฝรั่งเศสด้วย ชาวกรีซอพยพหนีภัยจากจักรวรรดิออตโตมัน ส่วนชาวฝรั่งเศสเป็นพวกอูเกอโนต์ (Huguenot) นับถือศาสนาคริสต์แบบโปรเตสแตนต์ หนีการไล่ล่าจากรัฐฝรั่งเศสซึ่งเป็นคาทอลิก กล่าวคือ พื้นที่โซโฮไม่ใช่พื้นที่ของชนชาติใดชาติหนึ่ง หรือแม้แต่ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง พื้นที่โซโฮเป็นทั้งที่อยู่อาศัยชองขุนนางและโรงช่างของช่างศิลป์จากฝรั่งเศส ปะปนกันในพื้นที่เดียว
พื้นที่โซโฮ ณ ตอนนั้นจึงกลายเป็นพื้นที่ของความหลากหลาย แต่ ณ ช่วงเวลาที่โพลิโดรีเกิดนั้นเอง (ค.ศ. 1795) คือช่วงเวลาที่โซโฮเริ่มเสื่อมความนิยมในหมู่ชนชั้นขุนนาง เพราะไม่ชอบความแออัดจอแจ อีกทั้งยังรับคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมไม่ค่อยได้
กาเอตาโน โพลิโดรี (Gaetano Polidori) พ่อของจอห์น โพลิโดรี มาอาศัยอยู่ในย่านนี้ เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ในชีวิต หลังจากทำงานเป็นเลขานุการให้แก่นักแสดงชื่อดังของอิตาลีและย้ายไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส ดิฉันไม่ทราบจุดหมายชัดเจนของเขาว่าเดินทางมายังอังกฤษเพราะอะไร แต่ก็พอตอบได้ว่า เขาอาจลี้ภัยการเมืองจากอิตาลี ณ ช่วงเวลาที่ออสเตรียเป็นใหญ่ในแคว้นทอสกานา หรือทัสกานี ซึ่งเป็นแคว้นบ้านเกิดของเขา นโปเลียนเองก็ทำทีท่าว่าจะสนใจดินแดนทางตอนเหนือของอิตาลีด้วย
กาเอตาโนมีความรู้ทางกฎหมาย รู้หลายภาษา เมื่ออยู่อังกฤษ ได้ทำงานเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียน แปลวรรณกรรมอังกฤษที่มีชื่อเสียงเป็นภาษาอิตาเลียนมากมาย แถมยังเปิดโรงพิมพ์เล็กๆ ของตัวเอง เพื่อตีพิมพ์งานเขียนของตัวเองและลูกหลานอีกด้วย กาเอตาโนได้แต่งงานกับ แอนน์ มาเรีย เพียร์ซ (Anne Maria Pierce) และมีลูกชายคือ จอห์น วิลเลียม โพลิโดรี และลูกสาวคนโต ฟรานเซส โพลิโดรี (Frances Polidori) ในขณะที่ลูกชายคนโตผลิตงานวรรณกรรมด้วยตนเอง ลูกสาวคนเล็กได้แต่งงานกับชายชาวอิตาเลียนผู้อพยพมายังอังกฤษอีกคน และให้กำเนิด ดันเต กาบริเอล รอสเซตติ (Dante Gabriel Rossetti) วิลเลียม ไมเคิล รอสเซตติ (William Micheal Rossetti) และ คริสตินา รอสเซตติ (Christina Rossetti) กวีและนักวิจารณ์คนสำคัญของอังกฤษ กล่าวได้ว่าครอบครัวนี้คือครอบครัวของศิลปินและนักวิชาการโดยแท้
น่าเศร้าที่จอห์น โพลิโดรี ไม่ได้มีชีวิตอยู่ทันเห็นหลานเป็นกวี
น่าเศร้าที่ผลงานที่ดังที่สุดของลูกชายคนโตไม่ได้พิมพ์ที่โรงพิมพ์ของพ่อ
ลูกชายคนโตคนนี้ พ่อส่งไปเรียนหนังสือไกลถึงที่เมืองแอมเพิลฟอร์ธ (Ampleforth) ทางตอนเหนือของอังกฤษ จากนั้นก็ได้เรียนต่อแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ (Ediburgh) ในสก็อตแลนด์ (ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 วิทยาลัยการแพทย์ของเอดินเบอระเจริญกว่าอังกฤษมาก และมีมาก่อนอังกฤษด้วย) จอห์น โพลิโดรีได้เขียนสารนิพนธ์เรื่องการเดินละเมอและสำเร็จการศึกษาเมื่ออายุสิบเก้าปี อ่านไม่ผิดหรอกค่ะ สิบเก้าจริงๆ ไม่ว่าจะมาตรฐานสมัยนี้หรือสมัยนั้น โพลิโดรีก็ถือว่าเป็นเด็กอัจฉริยะ
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่า โพลิโดรีคงจะได้ไอเดียเรื่องผีดูดเลือดมาจากนิทานผสมกับพวกอาจารย์ใหญ่อะไรต่างๆที่เขาศึกษากันแน่ๆเลย เปล่าเลยค่ะ มันเริ่มจากตรงนี้ต่างหาก มันเริ่มจากการที่เขาได้งานเป็นหมอประจำตัวของผู้ดีคนหนึ่ง ไม่ใช่ผู้ดีธรรมดาๆ นะคะ แต่เป็นผู้ดีคนดัง กวีมือหนึ่ง ปากคอเราะร้าย แถมยังเป็นที่เล่าลือกันว่าเป็นเจ้าเสน่ห์ เป็นคนเจ้าชู้ กวีคนนี้ดังด้วยฝีมือ ฝีปาก และข่าวฉาวมากมายสารพัด
คนคนนั้นชื่อ จอร์จ กอร์ดอน ลอร์ด ไบรอน (George Gordon, Lord Byron) ค่ะ
นักเรียนวรรณคดีหลายๆ คนก็คงจะเคยได้ยินชื่อไบรอนกันมาบ้าง รู้จักกันดีมาจนถึงทุกวันนี้ว่ามีความดังประมาณซุปเปอร์สตาร์ขี้เหวี่ยง แต่ชอบทำตัวมีเสน่ห์ ดูลึกลับ (ไบรอนเองก็ตั้งใจเล่นกับการนำเสนอตัวเองนะคะ เล่นไปตามกระแสด้วย) ทั้งนี้ทั้งนั้น ชีวิตไบรอนเองก็มีมิติมากกว่าจะบอกว่าเป็นเสือผู้หญิง ขี้เหวี่ยง ขี้เหล้าเมายา หรืองมงายเพ้อเจ้ออะไรใดๆ แต่ในที่นี้ดิฉันไม่ขอพูดมากแล้วกันค่ะ เอาเป็นว่า ณ ช่วงเวลาที่โพลิโดรีได้ทำงานเป็นแพทย์ประจำตัวไบรอนนั้น ไบรอนกำลังมีปัญหารุมเร้าหลายด้าน
ถ้าไม่พูดถึงสุขภาพแล้ว ไบรอนกำลังมีข่าวฉาวเรื่องการหย่าร้างกับ แอนน์ อิซาเบลลา มิลแบงค์ (Anne Isabella Milbanke) หรือ แอนนาเบลลา (Annabella) ด้วยความที่ไบรอนมีอารมณ์ฉุนเฉียว โมโหร้าย เธอจึงขอแยกทางกับไบรอน เมื่อไบรอนพยายามตามขอคืนดี แอนนาเบลลาได้บอกแก่ทนายของเธอว่าเธอสงสัยว่าไบรอนคบหากับพี่สาวนาม ออกัสตา ลูกคนละแม่กับไบรอน จนสุดท้ายชีวิตคู่ของไบรอนกับแอนนาเบลลาจบลงด้วยการแยกทางตามกฎหมาย แต่ ณ ตอนนั้น ข่าวลือเรื่องไบรอนกับออกัสตาได้สะพัดไปเสียแล้ว ไบรอนเองต้องการหนีเจ้าหนี้และหนีสังคมที่คอยประณาม ไบรอนจึงตัดสินใจเดินทางไปยุโรป และพาหมอประจำตัวอย่างโพลิโดรี ซึ่งไบรอนเรียกว่า “พอลลีดอลลี” (Pollydolly) ไปด้วย
ถ้าทุกคนยังจำบทความแฟรงเกนสไตน์ที่ดิฉันเขียนไปเมื่อโกฏิปีก่อนได้ คุณอาจจะเริ่มคุ้นๆ แล้วว่า ไบรอนกับโพลิโดรีจะไปเจอกับ เพอร์ซี เชลลี (Percy Shelley) แมรี กอดวิน (Mary Godwin) (หรือภายหลัง แมรี เชลลี (Mary Shelley) ) และ แคลร์ แคลร์มอนต์ (Claire Clermont) ขออนุญาตเล่าเหตุการณ์ตรงนี้สั้นๆ อีกรอบ (และขออนุญาตเพิ่มรายละเอียดเล็กน้อย) สามคนนี้ก็เดินทางหนีมายุโรปเช่นกัน ทั้งเพอร์ซีและแมรี เชลลีก็หนีคำครหาเรื่องคบหากันตั้งแต่ภรรยาของเพอร์ซี เชลลียังมีชีวิต ส่วนแคลร์ ซึ่งเป็นญาติของแมรี ก็ขอตามมาด้วยสาเหตุที่สันนิษฐานกันไว้หลายประการ อาจเป็นเพราะเธออยากพบพวกแคลร์มอนต์ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นต้นตระกูลของเธอ หรืออาจเป็นเพราะเพอร์ซี เชลลีอยากให้เดินทางไปกันเป็นกลุ่ม อารมณ์ประมาณรวมพลขบถ หรืออาจจะเป็นเพราะเชลลีก็ชอบแคลร์ด้วย แมรีเองไม่อยากขัดขืนอะไรมาก เพราะแคลร์ช่วยให้เธอกับเพอร์ซีได้พบเจอกัน แอบคอยส่งสารให้กันไปมา
เอาเป็นว่าสามสหายก็เดินทางข้ามมายังฝรั่งเศส ไปสวิตเซอร์แลนด์ และเจอไบรอนกับโพลิโดรีโดยบังเอิญ ฟ้าดินก็เหมือนจะวิปริตเพราะเกิดภูเขาไฟทัมโบรา (Tambora) ที่อินโดนีเซียระเบิด ปล่อยควันและฝุ่นสู่ชั้นบรรยากาศจนเกิดอากาศหนาวเฉียบพลันในหน้าร้อน เมื่อฟ้าดินเป็นใจ หรือโชคชะตาลิขิตให้เหล่านักเขียนสามคน และหมอที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนอีกหนึ่งคนได้รวมตัวกัน หรือจะอะไรก็แล้วแต่ การท้าเขียนเรื่องสยองขวัญจึงเกิดขึ้น แมรี เชลลีได้รังสรรค์แฟรงเกนสไตน์ ส่วนไบรอนได้เริ่มเขียนงานสั้นๆ ว่าด้วยชายที่อาจฟื้นคืนจากความตายได้ขึ้นมา ส่วนโพลิโดรีก็ได้อิทธิพลจากเค้าโครงเรื่องนั้น นำมาต่อยอดเป็น The Vampyre แต่ว่าเขาเองก็ได้เขียนร่างแรกของนวนิยายขนาดยาวชิ้นเดียวของเขาชื่อ เออร์เนสตัส เบิร์ชโทลด์ อีดิปุสสมัยใหม่ (Ernestus Berchtold, or The Modern Oedipus) ซึ่งว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองของสวิตเซอร์แลนด์และการมีสัมพันธ์ทางเพศกับคนในครอบครัว
ท่ามกลางนักเขียนสามสี่คน โพลิโดรีนั้นเป็นมือใหม่ และเหมือนจะถูกนักเขียนคนอื่นหยอกล้ออยู่บ่อยๆ เอาจริงๆ แมรี เชลลีไม่ได้มีปัญหากับเขามากนัก เธอเรียกโพลิโดรีว่า ‘โพลิโดรีผู้น่าสงสาร’ (Poor Polidori) เพราะเดี๋ยวก็หกล้มหกลุกอยู่ตลอด โพลิโดรีดูจะเข้ากับเธอได้มากที่สุด เพราะเขาได้สอนภาษาอิตาเลียนให้เธอ และได้ไปนั่งเรือชมทะเลสาบเจนีวากับเธอด้วย แต่กับเชลลีและไบรอน เขาไม่ค่อยจะลงรอยด้วยนัก (ถึงแม้เขาและเชลลีจะสนใจวิทยาศาสตร์เหมือนกัน)
สิ่งหนึ่งที่ทำให้โพลิโดรีขัดแย้งกับนักเขียนอีกสองคนที่เหลือคือศาสนาที่เขานับถือ โพลิโดรีนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ทำให้โพลิโดรีแสดงความเห็นต่างเสมอเมื่อมีข้อถกเถียงทางปรัชญา ในสายตาของโพลิโดรี ไบรอนนั้นเป็นเหมือนเป็นแรงบันดาลใจ แต่ในขณะเดียวกันโพลิโดรีก็หมั่นไส้ไบรอน เพราะโพลิโดรีก็หยิ่งทะนงและรับคำวิจารณ์ไม่ได้อยู่หลายครั้ง จนกลายเป็นเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน ในที่สุด เมื่อสุขภาพของไบรอนดีขึ้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไบรอนและโพลิโดรีนั้นแย่ลง ไบรอนได้เลิกจ้างโพลิโดรี และทั้งสองก็แทบไม่ได้เจอกันอีกเลย
ขออนุญาตหมุนเข็มนาฬิกาเดินหน้าสักราวๆ สามปี จากหน้าร้อนใน ค.ศ. 1816 สู่วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1819 เฮนรี โคลเบิร์น (Henry Colburn) บรรณาธิการนิตยสาร New Monthly Review ซึ่งกำลังจะเจ๊งไม่เจ๊งแหล่ ได้ตีพิมพ์เรื่องสั้นชื่อ The Vampyre by Lord Byron ฟังตรงนี้คงคิดว่า แหม หนึ่งเมษา อำล่ะสิ ไบรอนไม่ได้เขียนเรื่องนี้ใครๆ ก็รู้ เปล่าค่ะ เปล่าเลย อีตาเฮนรี โคลเบิร์นแกไปได้ต้นฉบับเรื่องนี้มาจากผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง แกรู้ว่าคนเขียนคือโพลิโดรี แต่ในเมื่อไบรอนกำลังดังมากๆ ใครจะไปสนใจนักเขียนอิตาเลียนโนเนมแบบโพลิโดรี โคลเบิร์นเลยหาทางเอาตัวรอดโดยการตีพิมพ์เรื่องนี้โดยอ้างว่าไบรอนเป็นผู้เขียน
ต่อมา โพลิโดรีออกมาแย้งและชี้แจงว่างานชิ้นนี้เป็นของเขา เขาเขียนขึ้นจากร่างที่เขียนไว้เมื่อไปสวิตเซอร์แลนด์กับเหล่านักเขียนเพราะมีเลดี้คนหนึ่งขอให้เขาเขียนให้ แล้วเขาก็ทิ้งต้นฉบับเอาไว้ จากนั้น ต้นฉบับก็ตกไปถึงมือโคลเบิร์น ให้โคลเบิร์นได้ใช้หากินว่าเป็นงานที่ไบรอนเขียนถึงตัวเองในแบบแฟนตาซี ณ ตอนนั้นผู้คนสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับไบรอนอยู่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ เลดี้ แคโรไลน์ แลมบ์ (Lady Caroline Lamb) ผู้คบหากับไบรอนก่อนจะถูกปฏิเสธ (เหตุการณ์นี้เกิดก่อนไบรอนแต่งงาน) ได้เขียนนวนิยายชื่อ เกลนาร์วอน (Glenarvon) เพื่อเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของเธอกับไบรอนและโจมตีไบรอนผ่านงานเขียนชิ้นนี้
ด้วยความสนใจในเรื่องราวของไบรอนนั้นสูงมาก เรื่องสั้นเรื่องแวมไพร์ของโพลิโดรีจึงได้ติพิมพ์แล้วตีพิมพ์อีกหลายรอบ กลายเป็นละครเวทีและแปลเป็นภาษาต่างประเทศด้วย ในขณะที่โคลเบิร์นกำลังระเริงกับเงินทองที่ตัวเองได้มาเป็นกอบเป็นกำ อลาริก วัตส์ (Alaric Watts) รองบรรณาธิการวารสาร New Monthly Review ได้ขอลาออก หลังจากทราบว่าต้นฉบับไม่ใช่ของไบรอน ฉบับที่พิมพ์ต่อมานั้น โคลเบิร์นได้เขียนข้อความประกอบว่า The Vampyre by Lord Byron told by Dr. John Polidori (เรื่องแวมไพร์ โดยลอร์ดไบรอน เล่าโดยดร. จอห์น โพลิโดรี) ข้อความนี้ฟังดูเหมือนจะให้เครดิตโพลิโดรี แต่ก็เปล่าเลย ไบรอนเป็นเจ้าของเรื่องอยู่ดี ที่สำคัญ ทุกคนก็คิดไปแล้วว่านี่คือเรื่องของไบรอน ยิ่งไปกว่านั้น มีคนเชื่อด้วยว่าไบรอนเป็นแวมไพร์
ไบรอนเองไม่พอใจแน่ๆ ที่เห็นคนเข้าใจผิด ไบรอนเลยชี้แจงและตีพิมพ์งานแวมไพร์ที่ไม่สมบูรณ์ของเขา ซึ่งมีอิทธิพลต่อแวมไพร์ในฉบับของโพลิโดรี แต่งานของไบรอนนั้นเล่าเพียงแค่ว่า ชายหนุ่มสองคนเดินทางเที่ยวตุรกี ขณะที่ผ่านสุสาน ชายหนุ่มคนหนึ่งเริ่มป่วย แทนที่จะรีบไปหาหมอ ชายหนุ่มที่ป่วยได้ขอให้ชายหนุ่มอีกคนจัดพิธีฝังศพให้ที่สุสานแห่งนี้ และขอให้ให้ปฏิญาณกับเขาว่า เมื่อถึงวันที่กำหนด (ในเรื่องไม่ได้บอกว่าวันไหน) เขาจะต้องกลับมาที่หลุมนี้อีกครั้ง เรื่องจบแค่นี้
ในขณะที่แวมไพร์ในฉบับของโพลิโดรีนั้นเริ่มจากตัวละครอย่าง ออเบรย์ (Aubrey) ผู้หลงใหลในวรรณกรรมและความงามธรรมชาติ กับ ลอร์ด รูธเวน (Ruthven) ซึ่งเป็นชื่อที่โพลิโดรีได้มาจากบรรพบุรุษของลอร์ดเกลนาร์วอนในนวนิยายของแลมบ์ ลอร์ดรูธเวนเป็นชายหนุ่มเนื้อหอมที่หญิงสาวต่างหลงใหล ออเบรย์ (ผู้ชายนะคะ) ได้เดินทางไปต่างประเทศกับลอร์ดรูธเวนและได้เห็นว่าลอร์ดรูธเวนทั้งผลาญทรัพย์ใครก็ตามที่มาข้องแวะด้วย แถมยังล่อลวงหญิงสาวต่างๆ มากมายรายทาง ใครก็ตามที่ได้คบหากับลอร์ดรูธเวนต้องประสบพบเจอกับหายนะ (เอ๊ะ ทำไมคุ้นๆ)
จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้แยกทางกับลอร์ด รูธเวน ออเบรย์เดินทางมายังกรีซ ในขณะที่ชาวบ้านเตือนออเบรย์ว่ามีแวมไพร์อยู่ในป่าบริเวณที่ออเบรย์ออกไปสำรวจซากปรักหักพัง ออเบรย์ไม่ได้สนใจและสุดท้ายถูกแวมไพร์จับไป ถึงแม้ออเบรย์จะไม่ถูกแวมไพร์ทำร้ายเพราะพวกชาวบ้านช่วยไว้ได้ทัน แต่ออเบรย์ล้มป่วย ณ ตอนนั้นลอร์ดรูธเวนได้กลับมาพยาบาลดูแลออเบรย์จนหายป่วย ทั้งคู่ออกเดินทางด้วยกันอีกครั้ง แล้วลอร์ดรูธเวนก็ได้รับบาดเจ็บจากอาวุธของโจรป่า ออเบรย์พยายามรักษา แต่ลอร์ดรูธเวนรู้ดีว่าถึงคราวตาย เขาได้ให้ออเบรย์สาบานว่า อย่าได้ให้ใครรู้เด็ดขาดว่าเขาตายที่นี่ อย่าได้เล่าให้ใครต่อใครฟังอีกว่าเขาได้ทำชั่วทำเลวอะไรบ้าง ออเบรย์สาบานตามนั้น
เมื่อรูธเวนสิ้นใจ ออเบรย์เดินทางกลับอังกฤษ และเดินทางไปร่วมงานเต้นรำกับน้องสาว ออเบรย์มองเข้าไปในฝูงชนแล้วนึกขึ้นได้ว่าที่นี่เป็นที่แรกที่เขาเจอลอร์ดรูธเวน ทันใดนั้นเอง เขาก็ได้ยินเสียงกระซิบที่หูว่า “จำคำสาบานของแกไว้ จำไว้” ณ ตอนนั้นเอง เขาเห็นลอร์ดรูธเวนท่ามกลางฝุงชน เขาพยายามจะเตือนทุกคน แต่เขาเหมือนถูกสาปให้พูดเรื่องนี้ออกมาไม่ได้ พอจะพูดก็นึกคำไม่ออก พูดไม่ถูก พูดไม่ได้ ออเบรย์กลายเป็นคนคุ้มคลั่ง เสียสติ เมื่อน้องสาวออเบรย์จะแต่งงาน ออเบรย์ในทีแรกดีใจที่น้องสาวจะได้แต่งงานกับเอิร์ลแห่งมาร์เดน (Earl of Marsden) แต่พอออเบรย์เห็นรูปเอิร์ลแห่งมาร์สเดนในจี้สร้อยคอของน้องสาว ออเบรย์ก็คุ้มคลั่งอีกครั้ง เพราะนั่นคือใบหน้าของลอร์ดรูธเวน เรื่องจบลงตรงที่ออเบรย์ไม่อาจห้ามใครได้ และน้องสาวของออเบรย์ก็ต้องสังเวยแวมไพร์ในที่สุด
เราคงพอดูออกว่างานชิ้นนี้โพลิโดรีเขียนมาเล่นงานไบรอน ให้ไบรอนเป็นลอร์ดรูธเวน ผู้ทรงเสน่ห์และชั่วร้าย แต่กระนั้นเอง ด้วยความโด่งดังของกระแสความสนใจไบรอน และความขี้ตู่หลอกลวงของโคลเบิร์น ทำให้แวมไพร์ตนอื่นๆ นับจากงานชองโพลิโดรีมีลักษณะเป็นขุนน้ำขุนนางชาวตะวันตกผู้ทรงเสน่ห์กันหมด และที่สำคัญ แวมไพร์ยังหน้าตาเหมือนคน ปลอมตัวแฝงตนเข้ามาอยู่กับคนได้สบายๆ อีกด้วย
งานเกี่ยวกับแวมไพร์ก่อนหน้านี้มักจะเชื่อมโยงกับดินแดนบริเวณกรีซและตุรกี หรือยุโรปตะวันออก เพราะเชื่อกันว่าตำนานแวมไพร์แพร่หลายมาจากที่นั่น เวลาตัวละครแวมไพร์ปรากฏตัวก็จะไม่สวยงาม หรือทรงเสน่ห์ แต่จะเป็นผีร้ายน่าเกลียดน่ากลัวแทน ตัวละครลอร์ดรูธเวนของโพลิโดรีจึงเป็นการปูทางให้ เคาน์เตสเมอรคัลลา (Countess Mircalla) จากเรื่อง คาร์มิลลา (Carmilla) ของ โจเซฟ เชริดาน เลฟฟานู (Joseph Sheridan Le Fanu) หรือ แดรกคูลา จากเรื่อง แดรกคูลา ของ แบรม สโตเกอร์ (Bram Stoker) หรือแม้แต่ เอ็ดเวิร์ด คัลเลน (Edward Cullen) จาก ทไวไลท์ (Twilight) ซึ่งหลายคนอาจจะเห็นว่า “ก็คนธรรมดานี่” แต่บ้านและการศึกษาของเอ็ดเวิร์ด (ประกาศนียบัตรจบการศึกษาเต็มบ้านไปหมด) ก็เป็นจุดหมายปลายทางที่ชนชั้นกลางอเมริกาใฝ่ฝัน เป็นชนชั้นปัญญาชนผู้ร่ำรวย ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีโพลิโดรี (และไบรอน)
สิ่งหนึ่งที่ดิฉันเห็นว่าน่าสนใจและเกี่ยวพันกับโพลิโดรีและย่านโซโฮคืออคติที่คนอังกฤษมีต่อคนต่างชาติในสมัยนั้น ในกรณีของโพลิโดรีคืออิตาลี ในแง่หนึ่ง อิตาลีเป็นแรงบันดาลใจให้กวียุคนั้นมากมาย กวีหลายคนเขียนงานอิงประวัติศาสตร์อิตาลีเยอะมาก (เพอร์ซีและแมรี เชลลีก็เขียน) แต่ในขณะเดียวกัน ความชิงชังคนอิตาเลียนเพราะนับถือคริสต์นิกายคาทอลิก (ซึ่งถูกมองว่างมงาย ไม่พัฒนา ฟุ้งเฟ้อ) ได้ทำให้วรรณกรรมสยองขวัญยุคแรกๆ ของอังกฤษ (ซึ่งเป็นช่วงที่โพลิโดรีเกิดและเรียนหนังสือ) มีฉากอยู่ที่อิตาลีแทบทั้งหมด เนื้อเรื่องก็จะว่าด้วยดยุคผู้โหดเหี้ยม ผีสางนางไม้ หรือนักบวชเจ้าเล่ห์
เพื่อนดิฉัน ซึ่งทำปริญญาเอกเกี่ยวกับวรรณกรรมกอธิกในสมัยนั้นได้ตั้งข้อสังเกตว่า งานกอธิกในสมัยนั้นเวลาจะมีฉากอยู่ที่อิตาลีจะต้องหลอกผู้อ่านว่านี่คือเรื่องจริง นี่คืองานที่คัดลอกมาจากบันทึก มาจากผนังโบสถ์โบราณอะไรก็ว่าไป ราวกับจะต้องการตอกย้ำภาพของอิตาลีว่าเป็นดินแดนของการต่อสู้แก่งแย่งชิงดีและไม่มีความสงบสุข ณ ช่วงเวลาที่งานเหล่านั้นตีพิมพ์ อิตาลีก็ยังไม่เป็นชาติจริงๆ เป็นรัฐเล็กรัฐน้อย ตกเป็นของสเปนบ้าง ฝรั่งเศสบ้าง ออสเตรียบ้าง แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีขบวนการปลดแอกชาติอิตาลีเกิดขึ้นเลย กวีและนักเคลื่อนไหวหลายคนได้หาทางรวมแคว้นต่างๆ ของอิตาลีขึ้นผ่านการต่อรองกับมหาอำนาจต่างๆ
ณ ช่วงเวลานั้น โพลิโดรีก็ได้เจอกวีชาตินิยมอิตาเลียนที่ปิซา เมืองบ้านเกิดของพ่อเขาด้วย แถมยังไปทะเลาะกับทหารออสเตรียที่โรงละครอีก (แต่โชคดีที่มีคนช่วยไว้ ชื่อ ลอร์ด ไบรอน) ดิฉันเองเลยพยายามมองว่า เรื่องสั้นเรื่องนี้ของโพลิโดรีคือการเอาคืนคนอังกฤษในช่วงที่กระแสชาตินิยมของอิตาลีกำลังก่อร่างสร้างตัว ในเมื่อคนอังกฤษชอบเขียนว่าอิตาลีเป็นดินแดนของภูตผีหรือความโหดร้าย โพลิโดรีเลือกให้ผีร้ายมาอยู่ท่ามกลางคนอังกฤษแทน
แต่กระนั้นเอง ความทรงสเน่ห์ของลอร์ดรูธเวนก็อาจสะท้อนความต้องการการยอมรับในสังคมอังกฤษของลูกหลานผู้อพยพอย่างเขา เหมือนว่าการเป็นคนอังกฤษเป็นสิ่งที่ผู้อพยพปรารถนาจะเป็น แต่ติดอยู่ตรงกลาง นี่ไม่น่าจะเป็นประสบการณ์ของโพลิโดรีเพียงคนเดียว แต่ยังเหมือนกับผู้อพยพคนอื่นๆ ในโซโฮที่ต้องเผชิญหน้าและเล่นไปกับภาพเหมารวมต่างๆ ที่คนอังกฤษยัดเยียดให้ แต่ก็ปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอังกฤษ
โซโฮกลายเป็นย่านที่ขุนนางหรือชนชั้นกลางบางกลุ่มไม่อยากย่างกรายเข้ามา เพราะเป็นย่านที่มีวัฒนธรรมผสมผสานหลายชาติ มีธุรกิจภาคบริการ ซึ่งถือเป็นธุรกิจแบบใหม่ (เช่นร้านอาหารนานาชาติ) มีการค้าบริการทางเพศ ด้วยลักษณะสังคมที่ชวนให้คนเก็บกด ความ ‘น่ารังเกียจ’ จึงกลายเป็นสิ่งที่ได้รับการพูดถึงบ่อยๆ ในงานวรรณกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมสยองขวัญ ราวกับว่าพื้นที่โซโฮคือพื้นที่ที่ต้องปราบปราม แต่ก็น่าปรารถนา เย้ายวนให้เข้ามามอง ไม่ได้ต่างจากแวมไพร์
งานชิ้นอื่นๆ ของโพลิโดรีก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากเท่ากับแวมไพร์ ซึ่งเขาได้แต่ค่าเรื่อง แต่ไม่ได้ค่าลิขสิทธิ์
โพลิโดรีจึงไปประกอบอาชีพแพทย์ตามวิชาความรู้ที่เล่าเรียนมาที่นอร์ริช (Norwich) แต่หลังจากประสบอุบัติเหตุรถม้าชน จนร่างกายของโพลิโดรีไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ โพลิโดรีตัดสินใจกลับไปยังบ้านของพ่อที่โซโฮ พยายามจะศึกษากฎหมายต่อ แต่แล้ววันหนึ่ง โพลิโดรีก็ใช้ยาเกินขนาด และเสียชีวิตในวัย 25 ปี บางคนกล่าวว่าโพลิโดรีเสพยาเกินขนาดโดยไม่ได้ตั้งใจ บางคนมองว่าโพลิโดรีตั้งใจฆ่าตัวตาย เพื่อจะหนีหนี้พนันบ้าง แต่บ้างก็ว่าเขาหมดหวังที่จะเป็นนักเขียนแล้ว (ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ชันสูตรได้บันทึกว่าโพลิโดรีเสียชีวิตด้วย “การมาเยือนของพระผู้เป็นเจ้า” (Death by Visitation of God))
ประวัติศาสตร์ของโซโฮนั้นเต็มไปด้วยความหลากหลาย และเต็มไปด้วยเรื่องราวของคนหลากเชื้อชาติที่ผู้ดีอังกฤษในคริสตศตวรรษที่สิบแปดและสิบเก้ารังเกียจ แถมยังเป็นพื้นที่สำคัญของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมบริโภคนิยม ซึ่งเปลี่ยมโฉมหน้าการผลิตงานศิลปะและวรรณกรรมต่างๆ สู่วรรณกรรม/ศิลปะแบบป๊อป
ในปัจจุบันย่านนี้เต็มไปด้วยผับบาร์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ร้านอาหารนานาชาติจากทั้งเอเชียและยุโรป ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและเพศวิถีนั้นถูกนำเสนอว่าเป็นผีดูดเลือดมาเนิ่นนานแล้วในวรรณกรรมอังกฤษ ทั้งเคาน์เตสเมอร์คัลลาและแดรกคูลาก็ล้วนมาจากดินแดนตะวันออก/ยุโรปตะวันออก ทั้งคู่ยังมีลักษณะชวนให้นึกถึงชาวหลากหลายทางเพศ แถมยังชวนให้นึกถึงความสกปรกแปดเปื้อนในชาติพันธุ์อันบริสุทธิ์ (แวมไพร์นอกจากฆ่าคนแล้วยังเปลี่ยนคนให้เป็นแวมไพร์ได้)
ถึงแม้นวนิยายและภาพยนตร์ว่าด้วยแวมไพร์จะปราบแวมไพร์เหล่านี้ให้สิ้นซาก แต่เอาจริงๆ แวมไพร์ทุกตนก็เหมือนลอร์ด รูธเวน ผู้ฟื้นคืนจากความตายได้เสมอ ผีร้ายที่คนอังกฤษมองว่าเป็นอันตรายทั้งหลายทั้งแหล่ยังคงใช้ชีวิต ขายของหาเงินให้อังกฤษ และในขณะเดียวกันยังท้าทายคนที่หลงใหลคลั่งไคล้ในมายาภาพของจักรวรรดิ อย่างน้อย วรรณกรรมเกี่ยวกับแวมไพร์จากปลายปากกาโพลิโดรี ชาวโซโฮ ซึ่งทรงอิทธิพลอย่างมหาศาล ก็ไม่ใช่ผลงานจากฝีมือของคนอังกฤษ ‘บริสุทธิ์’ แต่เป็นลูกครึ่งอังกฤษ-อิตาเลียน