วันก่อน เพื่อนชาวอเมริกันที่ทำงานในญี่ปุ่นแชร์ข่าวเอาฮาว่าบริษัทญี่ปุ่นเจ้าหนึ่งเปิดตัวโซเชียลเน็ตเวิร์กแพลตฟอร์มใหม่ชื่อว่า FaxBook โดยสามารถเชื่อมต่อกับผู้ใช้แฟกซ์คนอื่นได้ด้วยการส่งข้อความจากคอมพิวเตอร์เข้าเครื่องแฟกซ์ของเพื่อน และรับแฟกซ์ของเพื่อนเข้าคอมพิวเตอร์ได้ แถมยังแซะได้อย่างแสบสันว่า เป็นบริการที่มุ่งเป้าไประดับโลก ตั้งแต่ฮอกไกโดถึงโอกินาว่า ประหนึ่งว่า นั่นล่ะโลกของชาวญี่ปุ่นเขา
แต่พอกลับมาคิดอีกที มันก็ชวนให้สนใจว่า ทำไมชาวญี่ปุ่นถึงยังได้หลงไหลการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ควรจะตกยุคหรือไปแล้วอย่างเครื่องแฟกซ์อยู่ ตอนที่ผมทำงานที่โรงเรียนภาษาญี่ปุ่น ก็ได้รับส่งแฟกซ์แจ้งงานจากทางญี่ปุ่นประจำ ทั้งๆ ที่ข้อความที่ส่งมานั้นจะยาวแค่ประมาณสองบรรทัดเท่านั้น แต่กลับต้องเสียค่าโทรระหว่างประเทศ แถมฝ่ายรับก็ต้องเปลืองหมึกเปลืองกระดาษอีก
ทุกวันนี้เวลาติดต่องานกับชาวญี่ปุ่น บางทีเวลาได้ยินประโยคว่า “ส่งแฟกซ์ให้ด้วย” ก็สะดุ้งเพราะความจุกจิกทุกที ทำให้ทุกวันนี้ที่บ้านผมเองก็ต้องมีเครื่องแฟกซ์ไว้พร้อมรับงานด่วนนี่ล่ะครับ ขนาดสมัยที่ต้องขอวีซ่าไปญี่ปุ่น มีครั้งหนึ่งที่ผมจำวันผิด ทำให้ต้องยื่นขอด่วน ศูนย์รับยื่นวีซ่ายังบอกว่า “ให้ทางญี่ปุ่นส่งแฟกซ์มาช่วยยืนยัน” ครับ เมลไม่ได้ ต้องแฟกซ์…
พอคิดดีๆ จะว่าไป ในวงการบันเทิงญี่ปุ่นก็ได้ยินเรื่องการใช้แฟกซ์บ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ SMAP แยกวง ทางค่ายก็แจ้งสื่อผ่านทางแฟกซ์ ตอนที่นาริมิยะประกาศออกจากวงการบันเทิง (อ่านตอน สื่อศาล) ก็ประกาศผ่านทางแฟกซ์ไปทางสื่อ แถมยังเป็นแฟกซ์ที่เขียนด้วยลายมือตัวเองด้วย ขนาดแก๊งยากูซ่าที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นอย่างแก๊งยามากุจิกุมิ เวลาที่เขาไล่สมาชิกแก๊งออก ก็ยังส่งแฟกซ์ไปถึงตำรวจเพื่อแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการด้วย (มีอะไรจะได้ไม่ต้องมาวุ่น) ดูเหมือนว่าแฟกซ์จะเป็นหนึ่งในเครื่องสื่อสารสำคัญของชาวญี่ปุ่นจริงๆ
เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วด้วยกัน ก็น่าทึ่งว่าประเทศญี่ปุ่นที่มีภาพลักษณ์ความล้ำสมัย แสงไฟวิบวับ อะไรก็เหนือชาวบ้านเขา มีเทคโนโลยีแปลกๆ ให้ได้อึ้ง ก็ชวนงงว่า ทำไมยังยึดติดกับเทคโนโลยีที่โบราณอนาล็อกขนาดนี้ ซึ่งเอาเจริงๆ เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติทั้งหลายอึ้งกับสังคมญี่ปุ่นนี่ล่ะครับ
เท่าที่ไล่อ่านดูความเห็นหลายๆ ทาง ข้อที่น่าสนใจมากที่สุด ก็คงเป็นเรื่องของอายุของประชากร บวกกับปริมาณของบริษัทระดับ SME ที่มีเยอะมากในญี่ปุ่น ซึ่งถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีเทคโนโลยีก้าวไกลแค่ไหน แต่ในระดับบุคคลแล้ว หลายคนก็ยังติดอยู่กับยุคอนาล็อก และถึงจะบอกว่ามีผู้สูงอายุมาก แต่เอาจริงๆ แล้ว คนอายุเกิน 45 บางคนยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัลได้ มือถือก็ยังใช้ดัมบ์โฟนแบบเดิมอยู่ บางบ้านก็ไม่มีคอมพิวเตอร์ ทำให้การสื่อสารแบบอนาล็อกยังจำเป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบริษัทเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ในญี่ปุ่นเป็นบริษัทขนาด SME ซึ่งหลายบริษัทก็เป็นบริษัทของคนสูงวัย ดังนั้น เครื่องมือในการติดต่อสื่อสารที่สำคัญของพวกเขาก็คือ แฟกซ์ นี่ล่ะครับ
ซึ่งเจ้าแฟกซ์ก็สำคัญถึงขนาดที่ว่า จากการสำรวจในปี 2011 บริษัทญี่ปุ่น 100% มีเครื่องแฟกซ์เอาไว้ใช้ในสำนักงาน ส่วนในครัวเรือนทั่วไป ก็มีถึง 45% เลยทีเดียว ซึ่งเขาก็ให้เหตุผลว่า สะดวกดี มีแค่เบอร์บ้านกับเครื่องแฟกซ์ก็ติดต่อกันได้แล้ว ไม่ต้องซื้อคอมพิวเตอร์ (ซึ่งอาจจะไม่ได้ใช้งานอย่างอื่น) ไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และยังสามารถเซ็นเอกสารส่งไปมาได้อย่างง่ายดายด้วย ทำให้การติดต่อประสานงานส่วนใหญ่กระทำผ่านทางแฟกซ์ ซึ่งบริษัทใหญ่ทั้งหลายก็ต้องยอมทำตามด้วย เพราะยังไงเขาก็ต้องติดต่อบริษัทย่อยพวกนี้ ตัวอย่างเช่นบริษัทรถยนต์เจ้าใหญ่ ก็ต้องอาศัยบริษัทรายเล็กเหล่านี้เป็นซัพพลายเออร์ ผลิตชิ้นส่วนย่อยๆ ให้ด้วยเช่นกัน แต่ก็ยังมีบริษัทเจ้าใหญ่ที่พยายามสวนทาง นั่นคือ Softbank ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเจ้าใหญ่ ที่แบนการใช้แฟกซ์เพราะต้องการเป็นบริษัท Paperless (แต่ที่น่าสนใจคือ Softbank ไม่เหมือนกับ KDDI ที่ให้บริการทั้งมือถือและเบอร์บ้าน ทำให้อาจจะไม่เห็นค่าของแฟกซ์ก็ได้)
ส่วนในบริษัทใหญ่ แม้จะมีพนักงานรุ่นใหม่ และพยายามเอาระบบต่างๆ มาใช้ แต่สุดท้ายก็ยังคงต้องมีแฟกซ์ไว้อยู่ดี จากความเคยชินของคนยุคเบบี้บูมและโชวะที่ยังอยู่ในบริษัทนั่นล่ะครับ เพราะหลายครั้งบริษัทญี่ปุ่นก็เลือกแนวทางที่ทำให้ทุกคนทำงานด้วยกันได้ แม้จะเป็นเรื่องลำบากของเด็กรุ่นใหม่ในบริษัท แถมด้วยนิสัยขององค์กรแบบญี่ปุ่น การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่น่ากลัวเอามากๆ กว่าจะขยับตัวทำอะไรได้แต่ละอย่างก็ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
บางบริษัทก็กลัวการ ‘ออนไลน์’ เหลือเกิน เพราะกลัวเรื่องข้อมูลรั่วไหล ถึงเลือกที่จะเปิดช่องติดต่อกับภายนอกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงเลือกส่งแฟกซ์แทนที่จะส่งเมล
แถมต้องการเก็บข้อมูลเป็น Hard Copy ไว้ด้วย ดังนั้น แฟกซ์ ก็คือคำตอบของบริษัทญี่ปุ่นไปซะอย่างนั้น ก็ไม่แปลกที่กลายเป็นว่า บริษัทที่ผลิตแฟกซ์เจ้าใหญ่ทุกวันนี้คือบริษัทที่มีฐานจากญี่ปุ่นทั้งนั้น (Sharp, Ricoh, และ Brother)
เอาจริงๆ แล้ว ไม่ใช่แค่แฟกซ์ที่น่าทึ่งนะครับ แต่ในสังคมญี่ปุ่นก็ยังมีการใช้โทรเลขอยู่จนถึงทุกวันนี้ จริงอยู่ที่ถ้ามีเรื่องด่วนอะไร เราสามารถแชตไปถามเพื่อน หรือถ้าด่วนจริงๆ ก็โทรบอกได้ ในยุคที่โทรศัพท์มือถือเป็นของปกติ และชาวญี่ปุ่นยังมีโทรศัพท์บ้านกันเยอะ แล้วทำไมยังต้องการโทรเลขที่เชื่องช้ากว่า? (ตอนผมเด็กๆ เคยเรียนเรื่องการย่อความเพื่อส่งโทรเลขในวิชาภาษาไทยด้วย)
เหตุผลง่ายๆ คือ ธรรมเนียมครับ ทุกวันนี้ แทบไม่มีใครใช้โทรเลขเพื่อการส่งข่าวด่วนกันแล้วล่ะครับ แต่ชาวญี่ปุ่นก็ยังใข้โทรเลขในพิธีการต่างๆ คือ แสดงความยินดีที่จบการศึกษา แสดงความยินดีที่แต่งงาน และแสดงความเสียใจในพิธีศพ ซึ่งแทนที่จะโทรบอก หรือเขียนจดหมาย เขาก็เลือกส่งโทรเลข ที่คงเร็วสุดในอดีตแล้ว และก็ทำมาจนถึงปัจจุบันจนเป็นธรรมเนียมไป
มันเป็นพิธีรีตอง เพราะเป็นรูปลักษณ์จับต้องได้จริงๆ ทุกวันนี้ตามวาระต่างๆ ที่ว่ามา ก็ยังมีการส่งโทรเลขกันอยู่ ที่ฮาไปกว่าคือ ถ้าเราอยู่ต่างประเทศ แล้วอยากจะส่งโทรเลขในพิธีการเหล่านี้ให้เพื่อนที่อยู่ญี่ปุ่น ก็สามารถสั่งทางเว็บได้ ซึ่งสั่งแล้วเขาก็จะเอาโทรเลขไปส่งที่บ้านเพื่อนเราอีกที ก็ตลกดีนะครับ มีดิจิทัลมาเพื่อเป็นทางเชื่อมต่อไปหาอนาล็อก
ก็ไม่รู้ว่า ต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน กว่าแฟกซ์และโทรเลขจะหายไปจากญี่ปุ่น ซึ่งซักวันมันก็คงหายหมดเมื่อเปลี่ยนยุคสมัยจริงๆ ตอนนี้จึงยังอยู่ในช่วง เปลี่ยนผ่านเท่านั้น เพียงแต่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ใช้เวลายาวนานเหลือเกิน