ในฐานะอดีตเด็กนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เฝ้าตามอ่านดราม่า ‘#เกียมอุดม’ อยู่ห่างๆ และในใจก็ค่อนข้างเอาใจช่วย เชียร์น้องๆ นักเรียนรุ่นปัจจุบันไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะหลายเรื่องที่น้องๆ เค้าเล่ามา ผมเคยประสบพบเจอเองบ้างอยู่ จึงรู้ว่ามันจริง แต่ตอนแรกที่เห็น แม้ใจจะเชียร์ก็มีความอ้ำอึ้งที่จะพูดถึงอยู่บ้าง เพราะว่ากันตามตรงลักษณะของปัญหาและข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นนั้น หากพูดในมุมของบริบทที่ประเทศไทยเป็นอยู่แล้ว มันพอจะพูดได้ว่าเป็นข้อเรียกร้อง เป็นดราม่าแบบหอคอยงาช้างระดับหนึ่ง หรือจะพูดว่าเป็น first world problem (ปัญหาแบบโลกที่หนึ่ง) ในบริบทของสังคมไทยก็อาจจะพอได้ (แม้โลกที่หนึ่งจริงๆ เค้าจะไปดราม่ากันเรื่อง ‘ไกล’ กว่านี้มากแล้วก็ตาม)
ที่ว่าปัญหาโลกที่หนึ่งระดับนึงก็เพราะว่ามันยังเป็นความจริงที่บางโรงเรียนในไทยยังไม่มีอาหารจะให้เด็กกิน ยังไม่มีหนังสือ หรือห้องเรียนให้เด็กเรียนอยู่เลย บางที่เอาไข่บูดมาแจกเด็ก บางที่เอาฉี่ให้เด็กดื่มรักษาโรค ฉะนั้นในมุมนี้ผมจึงรับทราบดีว่าดราม่าเกียมอุดมนั้นเป็น ‘ดราม่าโลกที่หนึ่งแบบไทยๆ’ มากในเซนส์นี้ แต่พร้อมๆ กันไป แม้มันจะมีความหอคอย แต่ผมก็คิดว่ามันมีค่าแก่การพูดถึง และนำมาขบคิดกัน เพราะไม่ใช่ว่าการมีปัญหาหนักหน่วงล้าหลังอยู่ จะทำให้เราคิดหาทางพัฒนาให้ ‘ก้าวหน้า’ ขึ้น พร้อมๆ กันไปด้วยไม่ได้
หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าดราม่า #เกียมอุดม นี้เริ่มเรื่องอะไรยังไง ผมเลยจะขอเล่าแต่พอสังเขปมากๆ นะครับ คือ จุดเริ่มต้นมันดูเป็นอะไรที่ ‘หอคอย’ มากทีเดียว คือ อาจารย์และโรงเรียนเตรียมฯ นั้นพยายามให้นักเรียนของโรงเรียน ‘เลิกการสั่งแกร็บฟู้ด’ (GrabFood) เข้ามากินเป็นอาหารกลางวัน เพราะมันทั้งวุ่นว่ายและอันตรายที่จะมีคนแปลกหน้าจากภายนอกเข้าออกโรงเรียน โดยบอกให้นักเรียนนั้นกินข้าวที่โรงอาหาร ไม่ก็ห่อข้าวมากินเอง ได้ยินแบบนี้ บอกตรงๆ ผมก็คิดว่ามันก็ถูกต้องนะครับ เพราะพูดในฐานะคนที่มีโอกาสได้สอนหนังสือบ้าง หากสอนๆ อยู่ๆ แล้วคนเรียนวิ่งเข้าวิ่งออกไปรอเอาอาหารจากแกร็บฟู้ดที่มาส่งเรื่อยๆ นอกจากจะรบกวนคนที่เรียนในห้องเองแล้ว มันยังทำลายสมาธิคนสอนด้วย เช่นนั้นแล้ว มันก็เข้าใจได้ทีเดียวที่โรงเรียนจะพยายามให้หยุด อันนี้ผมคิดว่าเข้าใจได้มากๆ ครับ
อย่างไรก็ตาม การให้เหตุผลของทางโรงเรียนที่ดูฟังขึ้นมากๆ ถูกตีตกอย่างไม่มีชิ้นดีจากทางฝั่งนักเรียน ว่าข้ออ้างเรื่องความปลอดภัยนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะทุกวันนี้ทางโรงเรียนก็ปล่อยให้ทัวร์จีนยกขโยงเข้ามาเดินเที่ยวในโรงเรียนอยู่แล้ว ซึ่งหากจริง ข้ออ้างเรื่องคนส่งแกร็บฟู้ดก็ฟังไม่ขึ้นแน่ๆ แหละครับ เรียกได้ว่าปากว่าตาขยิบเลยทีเดียว แต่รุ่นผมยังไม่มีเคสนี้ เลยไม่แน่ใจว่าจริงแท้แค่ไหน และไม่พอฝั่งนักเรียนยังอธิบายต่ออีกว่าเดี๋ยวนี้โรงอาหารเหลือแค่สองโรงกับเด็กหลายพันคน ซึ่งมันไม่เพียงพอเลย ไม่ต้องนับความไม่ได้มาตรฐานอีกหลายอย่าง เช่น นกพิราบบุกยึดที่เก็บจานข้าว หรืออาหารนั้นรสหวานจัดจนเบาหวานจะแดกกันแทบทุกร้าน รวมถึงอาจารย์ชอบแซงคิวทั้งที่ตัวเองสามารถซื้ออาหารได้ทุกเวลา ในขณะที่นักเรียนโดนจำกัดเวลาซื้ออาหารอีกต่างหาก ทำให้สรุปแล้วพวกเขาก็ต้องหาทาง ‘รับมือกับความเฮงซวยนี้ด้วยตัวเอง’ ก็ไปจบที่แกร็บฟู้ด จุดนี้ผมคิดว่าปฏิเสธลำบากทีเดียวครับ เพราะสมัยที่ผมเรียนก็เป็นแบบนี้แล้ว ขนาดตอนนั้นมีโรงอาหารมากกว่าสองโรง และได้ยินมาอยู่ว่าร้านอาหารเจ้าเด็ดๆ ทยอยลาจากโรงเรียนไปมากแล้ว
อย่างไรก็ดี ผมก็ยังคิดว่าการสั่งแกร็บฟู้ดเป็นอะไรที่ไม่เวิร์กอยู่ดีนะครับ และทางแก้นั้นทุกคนก็คิดได้อยู่แล้วว่าคือ การจัดพื้นที่สำหรับทานอาหารให้มันมากขึ้น ดีขึ้น ทั้งในแง่คุณภาพและรสชาติ ก็เท่านั้น แต่เรื่องมันไม่ได้จบแค่อาหารครับ หลังจากเกิดดราม่านี้ขึ้นมา ก็มีการเอาเรื่องอื่นๆ มาแฉอีกมาก เช่น เรื่องการคุกคามทางเพศ (หลักๆ คือทางวาจา) ต่อนักเรียนหญิง (มีกระทั่งบอกว่า “จิ๋มยาว” กันด้วยนะครับ) การบังคับให้พนมมือไหว้พระ และกล่าวหานักเรียนที่ไม่นับถือศาสนาว่าเป็นเพียงการทำตามเทรนด์ตามแฟชั่นเท่านั้น การบังคับรูปแบบของกระเป๋า การวิ่งเก็บรอบ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่พอเกิดการแฉขึ้นมา ทางโรงเรียนไม่เพียงไม่คิดจะอธิบายหรือหาทางแก้อย่างชัดเจน แต่กลับมีนโยบายให้อาจารย์มาสั่งนักเรียนว่า “ห้ามไลค์และแชร์โพสต์ใดๆ เกี่ยวกับดราม่า #เกียมอุดม ออกไป”
ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งเหมือนกับการราดน้ำมันลงกองเพลิง
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ผมคิดว่าเกิดขึ้นกับโรงเรียนรัฐหลายที่แน่ๆ ครับ อย่างสมัยมัธยมต้น ก่อนที่ผมจะไปโรงเรียนเตรียมนั้น ผมก็เรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัด สิ่งที่ต้องเจอนั้นก็ลักษณะนี้แหละ แย่กว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะในหมู่โรงเรียนรัฐด้วยกันแล้ว โรงเรียนเตรียมนี่ถือว่า ‘ผ่อนคลาย’ พอสมควรแล้วทีเดียว เช่น การเข้าแถวนั้นไม่ต้องเข้าหน้าเสาธงกลางแดดร้อนๆ แต่ให้ยืนเข้าแถวหน้าห้องเรียน หรือผมไม่ต้องตัดเกรียนขาวสามด้าน แต่ตัดรองทรงสูงได้ (เว้นแต่ไปเรียน รด. ก็ต้องโดนทหารเฆี่ยนให้ตัดอยู่ดี) เพราะฉะนั้นหลายคนจึงอาจจะรู้สึกกับดราม่า #เกียมอุดม ว่า “มึงจะอะไรกันนักหนา?” “ที่มึงเจอน่ะเบาแล้ว” ฯลฯ คือ หากจะพูดกันในเชิง ‘เปรียบเทียบ’ (comparative study) ผมไม่เถียงเลยครับ ผมคิดว่าที่โรงเรียนเตรียมเจอนั้นเบากว่าที่หลายๆ แห่งเจอแน่ๆ กระทั่งได้บอกแต่แรกว่าหากจะมีคนมองว่านี่คือปัญหาแบบหอคอยก็ไม่ผิด แต่ ‘นั่นมันไม่ได้ทำให้ความเฮงซวยที่เกิดขึ้นนี้หมดลง หรือกลายเป็นเหตุอันพอทำใจให้เกิดขึ้นได้’ ตรงกันข้ามเลย มันยิ่งบ่งยิ่งฟ้องกับเราให้เห็นภาพความสาหัสของความเป็นไปของระบบการศึกษาไทย ว่า แม้แต่ในโรงเรียนรัฐบาลอันดับต้นๆ ของประเทศ (อันดับหนึ่งก็เคลมได้) สภาพความไร้เสรีภาพและความ ‘หลงงมงายในอำนาจตัวเองของคนเป็นครู’ ยังขนาดนี้ แล้วโรงเรียนอื่นที่ ‘เข้มงวดยิ่งกว่า’ จะขนาดไหนกัน? ผมคิดว่านี่ต่างหากคือคำถามสำคัญที่มาคู่กับดราม่านี้
แม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีมากมายหลายเรื่องและหลายระดับ แต่ผมของดเว้นไม่พูดเรื่องที่ชัดๆ อยู่แล้วและพูดกันไปมากแล้วอย่างการคุกคามทางเพศนะครับ เพราะมันชัดเจนอยู่แล้วถึงความย่ำแย่ของสิ่งที่ได้กระทำออกมาหากเหตุการณ์ตามที่นักเรียนว่าไว้นั้นจริง แต่ผมขอข้ามไปพูดเรื่องข้อเรียกร้องอื่นๆ อย่างการไม่ต้องพนมมือ การไม่ควรมีการสอนพุทธศาสนาแล้ว (หากมีก็เป็นแค่วิชาเลือก ไม่ใช่วิชาบังคับ) หรือแม้กระทั่งการจะพยายามดันให้ใช้แกร็บฟู้ดได้ก็ตามที ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มีความน่าสนใจในฐานะข้อเสนอและการตั้งคำถามต่อสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ (แม้กรณีการสั่งแกร็บฟู้ดผมจะไม่ได้เห็นด้วยนักก็ตาม แต่ในแง่ข้อเสนอผมคิดว่ามันน่าสนใจครับ) ที่ผมคิดว่ามันสำคัญก็เพราะว่ามันสะท้อนอย่างชัดเจนว่าตัวนักเรียนเองเข้าใจคอนเซปต์เรื่องเสรีภาพ และมีวุฒิภาวะต่อระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมากกว่า ‘อาจารย์และผู้บริหารโรงเรียน’
มีภาษิตละตินคำหนึ่งครับที่ผมชอบมากๆ ว่าไว้ว่า “Ubi dubium ibi libertas” ที่แปลคร่าวๆ พอได้ว่า “ที่ใดมีคำถาม ที่นั่นมีเสรีภาพ” แต่ผมอยากอธิบายอย่างงี้ครับว่า คำว่า ‘คำถาม’ ในที่นี้มันไม่ใช่พวกคำถามแบบ “ขออนุญาติไปห้องน้ำได้ไหมครับ?” “ขอปรึกษาเรื่องศึกษาต่อได้ไหมครับ?” “ช่วยอธิบายส่วนนี้เพิ่มหน่อยได้ไหมครับ?” ไม่ใช่เลยครับ จริงๆ คนหนึ่งที่อธิบายส่วนนี้ไว้ดีมาก คือ สลาวอย ชิเช็ก นักปรัชญาชาวสโลวีเนียชื่อก้องโลกที่หลายๆ คนเคยได้ยินชื่อกันบ่อยๆ นั่นเอง ชิเช็กอธิบายว่าเราจะพิสูจน์การมีอยู่ของ ‘เสรีภาพ’ ได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อเราเอาตัวเข้าไปจ่อที่เส้นพรมแดนของการ ‘ตั้งคำถาม/เสนอ/เรียกร้องที่ปริ่มจะไม่ได้’ แล้วสามารถเปลี่ยนให้มันกลายเป็น ‘ได้’ (กลับตาลปัตรสภาพของมัน) เท่านั้นที่มันจะสะท้อนความมีเสรีภาพของสังคมนั้นๆ ฉะนั้นการที่เราพูดว่าที่ใดมีคำถาม ที่นั่นมีเสรีภาพ มันจึงไม่ใช่คำถามแบบ “ห้องน้ำอยู่ไหน?” ที่ไม่ได้เข้าไปจ่อหรือท้าทายเส้นของความ ‘ได้/ไม่ได้’-‘ต้องห้าม/ไม่ต้องห้าม’ เลย (จะเรียกว่าเส้นความเป็น ‘ขบถ’ ของสังคมนั้นๆ ก็คงพอได้) คำถามอย่างห้องน้ำอยู่ไหน? มันเป็นเพียงคำถามที่ ‘อนุญาติให้ถามได้อยู่แล้วแต่ต้น’ คือสิ่งที่กรอบใหญ่คาดหวังให้เราถาม เป็นเพียง ‘อิสระที่ทำได้ภายในกะลา’ เท่านั้น ว่าง่ายๆ ก็คือ มันกลายเป็น ‘ของปกติธรรมดา’ ไป
ตรงกันข้าม ข้อเรียกร้องของนักเรียนเตรียมอุดมนั้น ไม่เพียงท้าทายขนบของระเบียบตัวโรงเรียน มันยังท้าทาย มันยังขบถต่อกรอบอันเป็น ‘กะลาใหญ่’ ของสังคมไทยด้วย
ซึ่งนี่แหละครับคือความสำคัญของปัญหาแบบโลกที่ 1 หรือการเรียกร้องของคนบนหอคอย คือ ไม่ใช่ว่าเหล่าคนบนหอคอยจะไม่เข้าใจนะครับว่า ‘กระทั่งสิทธิและเสรีภาพในกะลาที่ควรจะมีอยู่แล้ว มันยังมีไม่สมบูรณ์เลย’ (อย่าง เด็กขาดแคลนอาหารกลางวัน, ไม่มีที่เรียน, ฯลฯ) แต่พร้อมๆ กันไป การขยับขอบของกะลาให้มัน ‘กว้างออกไป’ ให้พรมแดนของสิทธิและเสรีภาพมีทางเลือกได้มากขึ้น ทำให้สิ่งซึ่งเคยถูกมองว่า ‘น่าหวาดเสียว กลายเป็นเพียงเรื่องปกติธรรมดาในสังคมได้มากขึ้น’ นั่นทำให้ปริมาณของสิทธิและเสรีภาพในองค์รวมเพิ่มขึ้นด้วย การตั้งคำถามและข้อเรียกร้องของนักเรียนเตรียมในฐานะนักเรียนในโลกหอคอยของโรงเรียนรัฐนั้นจึงเป็นการ ‘ต่อสู้เพื่อขยายฐานของเสรีภาพอันพึงจะเป็นระดับพื้นฐานมีมากขึ้น’ เป็นการต่อสู้คนละเวทีกับ ‘การต่อสู้เพื่อให้สิ่งที่ควรจะดีได้แล้วมันดีสักที’ แบบที่โรงเรียนที่ขาดแคลนกำลังต่อสู้ แต่ทั้งสองเวทีนี้ต่างสำคัญโดยตัวมันเองทั้งสิ้น
แน่นอนว่าปัญหาของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาในสังคมไทยก็คือ การทำตัวเป็นสถาบันมากจนเกินไป พยายามจะสร้างความภูมิใจในลักษณะองค์รวมของตัวสถาบันมากกว่าตัวปัจเจก ความมั่นใจและความภูมิใจที่ขาดไปในฐานะปัจเจกนี้สำคัญมาก เพราะมันส่งผลให้คนคลั่งสถาบันที่ตัวเองสังกัดอยู่ และขาดความมั่นใจในการจะลุกขึ้นยืนเพื่อจะยืนยันในสิ่งที่ตนเองในฐานะปัจเจกเชื่อหรือคิด หรือหากมีใครสักคนทำแบบนั้น ก็จะถูกมองในฐานะตัวประหลาดเอาได้
ผมจำได้ดีตอนผมเรียนอยู่ชั้น ม.6 ที่เตรียมอุดม มีการเชิญ ‘พระอาจารย์มาสอน’ แกก็พยายามจะสอนอะไรพุทธๆ นั่นแหละ จำได้ว่ามีตอนหนึ่งแกถามนักเรียนในคลาสว่า “นักเรียนรู้ไหมว่าอะไรเคลื่อนที่เร็วที่สุด” ผมก็เลยตอบแกไปว่า “แสง” แกตอบว่านั่นอาจจะจริงในทางวิทยาศาสตร์ แต่มีสิ่งที่ไวยิ่งกว่าแสง นั่นคือ “ความคิด” ผมเลยคิดในใจว่า “จั๊ดง่าวละ!” แล้วยกมือประท้วงว่าไม่จริง เพราะระบบประสาทในร่างกายมนุษย์และการสั่งการของสมองนั้นทำงานผ่านกระแสไฟฟ้า (nerve impulse) เพราะฉะนั้นยังไงๆ ความคิดก็ไม่เร็วกว่าแสงแน่ๆ แล้วผมก็บอกไปว่าแกมั่วแล้ว ปรากฎว่าแกก็เมินผมไปเลย แถมเพื่อนๆ ในห้องก็ดูจะมองผมเป็นตัวประหลาดว่า มึงมาบ้าเปรี้ยวอะไรของมึง
ที่ผมเล่ามานี้ เพื่อจะบอกว่า ผมดีใจมากที่วันนี้นักเรียนรุ่นนี้ลุกขึ้นสู้อย่างพร้อมเพียงกัน พวกเขาเข้าใจหลักการของสิทธิและเสรีภาพ ไม่ได้มองว่านี่คือเรื่องแปลกประหลาดอะไรแล้ว ทั้งยังพร้อมจะยืนยันในสิ่งที่ตัวเองคิดตัวเองเชื่ออย่างเข้มแข็งด้วย โลกหมุน คนรุ่นใหม่หมุน แต่เหล่าอาจารย์บางคนต่างหากที่แช่นิ่งอยู่กับที่ หลายคนดูจะยังคงเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ เป็นดั่งพ่อแม่คนที่สอง เป็นผู้มีพระคุณที่นักเรียนลูกศิษย์พึงให้ความเคารพ เหมือนดังที่เพลง ‘ปิ่นหทัย’ ที่พวกเขาภาคภูมิใจได้ว่าไว้ว่า “คิดถึงพระคุณ อาจารย์ยิ่งใด เป็นปิ่นหทัย ให้ร่มเย็นใจเสมอมา” แต่มันคือพระคุณอะไรกันแน่? ครูบาอาจารย์ก็คือข้าราชการที่ได้รับเงินเดือนจากภาษีประชาชนมาเพื่อทำหน้าที่สอนนักเรียน ส่งมอบความรู้พื้นฐานเพื่อจะได้เป็นกำลังให้ประเทศต่อไปได้ นั่นคือหน้าที่ของที่ถูกว่าจ้างมาด้วยเงินภาษีของประชาชนบวกกับค่าเทอมที่ต้องจ่ายให้โรงเรียนไป นี่คือการแลกเปลี่ยนที่สมบูรณ์แล้ว ไม่มีอะไรที่ติดค้างต่อกัน นักเรียนลูกศิษย์เองไม่มีภาระใดๆ โดยเฉพาะทางจิตใจที่จะต้องเคารพหรือคิดว่าเป็นพระคุณอะไรกับครูบาอาจารย์เลย นี่ไม่ใช่ ‘ฟังก์ชั่นหน้าที่ของคนเป็นครู’
หากจะมีใครทำตัวควรค่าแกการเคารพ ควรค่าแก่การนับถือเป็นพระคุณแล้วล่ะก็ นั่นคือ คูณสมบัติและผลงาน ‘ส่วนบุคคล’ ของอาจารย์คนนั้นๆ เป็นปัจเจกไป ที่ทำตัวควรค่าแก่การเคารพของเด็ก ครูบาอาจารย์ไม่มีสิทธิเรียกร้องหรือคาดหวังความเคารพเชื่อฟังอะไรเหนือไปกว่าที่กลไกในช่วงเวลาการเรียนการสอนกำหนด หากยังไม่สำนึกและเข้าใจในเรื่องเบื้องต้นแบบนี้ และนำตัวเองผูกกับความยิ่งใหญ่ในมโนของบทบาททางอาชีพของตนเอง ผูกตัวเองอยู่กับความยิ่งใหญ่อุปโลกน์ของตัวสถาบันแล้วล่ะก็ คุณครูก็เป็นได้เพียง ‘ปิ่นปักกะลา’ ให้มันปักหลักอยู่กับที่เท่านั้นแหละครับ