สักพักนึงแล้วที่เราได้ยินข้อหา ’ชังชาติ’ นำมาใช้เล่นงาน ใส่ร้ายป้ายสี หรือใช้เป็นข้ออ้างทางการเมืองเพื่อสร้างภาพลบให้กับฝั่งตรงข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝั่งที่ ‘ไม่เอาด้วยกับประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ที่ดูจะโดนข้อหานี้บ่อยที่สุด และการตอบโต้ที่ตามมาให้เห็นกันได้บ่อยๆ ก็คือ “เราไม่ได้ชังชาติ เราชังพลเอกประยุทธ์และพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นคนละอย่างกับการชังชาติ” ผมเห็นด้วยครับว่าการเกลียดประยุทธ์ จันทร์โอชา และความชังชาติ หรือกระทั่ง ‘ต้านชาติ’ นั้นเป็นคนละเรื่องกัน เพราะประยุทธ์ ไม่ได้เท่ากับชาติ แต่พร้อมๆ กันไปผมก็คิดมาตลอดว่า การโดนเรียกว่า ‘ชังชาติ’ มันไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน ตรงกันข้าม สำหรับผมแล้วมันเป็นคำชมในฐานะที่แสดงถึงความก้าวหน้าเสียด้วยซ้ำ
เบื้องแรกเลยผมต้องอธิบายก่อนว่า การชังชาติ การต้านชาติ การรังเกียจความเป็นชาตินั้นไม่ใช่เรื่องอะไรใหม่เลยนะครับ แนวคิดเรื่องพวกนี้มีมาหลายร้อยปีแล้ว เราเรียกมันรวมๆ ว่า anti-nationalism หรือ ‘ต้านชาตินิยม’ หรือจะเรียกว่า การชังสำนึกร่วมของความเป็นชาติก็ได้ ซึ่งหนึ่งในคนที่นำร่องเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนเลย คือ ลูกพี่คาร์ล มาร์ซก์ เองนี่แหละ แต่เอาจริงๆ รูปแบบของการต้านชาตินั้นไม่ได้มีแค่สายวิพากษ์ ฝ่ายซ้ายแบบมาร์กซ์นะครับ มีมาหมดนั่นแหละ สายลิบเบอรัลเองก็มีเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นสาย internationalism, cosmopolitanism, regionalism และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าหากจะพูดกันให้ถึงที่สุดแล้ว จะบอกว่าเทรนด์ทางความคิดของโลกสมัยใหม่นั้น เอนเอียงไปที่ความชังชาติในฐานะเรื่องที่ถูกต้องและควรค่าแก่การเคารพนับถือ มากกว่าความรักชาติเสียด้วยซ้ำ
อย่างเมื่อปี ค.ศ. 2014 โรงเรียนประถมในสวีเดนเองก็เริ่มออกมาแบนการใช้ธงชาติสวีเดนในโรงเรียน เพราะเป็นการตอกย้ำอุดมการณ์ชาตินิยม หรือให้น้ำหนักกับการรักในชาติใดชาติหนึ่ง (ซึ่งในกรณีนี้คือชาติตัวเอง) มากจนเกินไป ซึ่งมันขัดกับทิศทางแบบสากลนิยม ในปี ค.ศ. 2018 โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกาก็เริ่มที่จะตั้งคำถามกับเพลงชาติของตนเอง และเรียกร้องให้แบนการร้องเพลงชาติ เพราะท่อนที่สามของเพลงนั้นมันล้าสมัยไปแล้ว และมีเนื้อความที่ ‘เหยียดชนชาติอื่น’ อยู่ด้วย กระแสคำถามแบบนี้ยังมีให้เห็นได้อีกมากโดยทั่วไป ที่เห็นได้บ่อยๆ ก็เช่น ควรจะหยุดร้องเพลงชาติในกิจกรรมการกีฬาได้แล้ว
จุดเริ่มต้นอันเป็นรากฐานสำคัญที่นับได้ว่าเป็นรูปธรรมที่สุดในการยืนหยัดและปักฐานความคิดแบบ ‘ชังชาติ’ หรือ anti-nationalism นี้ให้กลายเป็นคุณค่าสากลนั้น ผมคิดว่าปฏิเสธไม่ได้เลยที่จะต้องยอมรับในการเกิดขึ้นของสหประชาชาติ (United Nations) และสหภาพยุโรป (European Union) ที่เป็นหมุดหมายที่ยิ่งใหญ่และเป็นรูปธรรมที่สุดในการยืนยันความเป็นไปได้ของความคิดเรื่องนี้ (บางคนอาจจะเริ่มนับจาก League of Nations ด้วย แต่ผมคิดว่าอิทธิพลในระดับสากลจริงๆ นั้นน้อยเกินกว่าจะเคลมได้)
และอีกหนึ่งในต้นตอหลักสำคัญจริงๆ ที่สร้างคุณค่าร่วมสำคัญในระดับสากลของ ‘การชังชาติ’ นี้ ก็คือ ‘สงคราม ความรุนแรง และการกดขี่’ นั่นเอง
แนวคิดเรื่องสงครามกับความเป็นชาตินั้นเป็นเรื่องที่ศึกษากันมานานมากแล้วครับ หนึ่งในงานที่สำคัญที่สุดก็คืองานของ ชาร์ล ทิลลี่ (Charles Tilly) ที่ศึกษาประวัติศาสตร์เงื่อนไขการสร้างชาติของประเทศต่างๆ ในยุโรปในช่วงที่ยาวนานถึงหนึ่งพันปี! คือ ตั้งแต่ ค.ศ. 990 – 1992 ในหนังสือเล่มสำคัญของเขา Coercion, Capital, and European States โดยทิลลี่นั้นได้สำรวจเงื่อนไขการเกิดขึ้นและรักษาไว้ซึ่งความเป็นชาติจากสารพัดประเทศแทบจะครบทั้งยุโรป เพื่อจะสรุปคำอธิบายว่า กระบวนการในการสร้างชาตินั้นแบ่งได้เป็นสี่ส่วนใหญ่ๆ (แม้ทิลลี่จะใช้คำว่า state formation หรือการก่อตัวของรัฐ หากแปลแบบตรงตัว แต่ผมคิดว่างานของทิลลี่เองไม่ได้จะหมายถึงรัฐตรงๆ ตัว แต่ใช้แทนคำว่า national consolidated state หรือรัฐในฐานะศูนย์รวมของความเป็นชาติมากกว่า ส่วนนี้ดูได้จากบทสัมภาษณ์ที่ทิลลี่ได้ให้ไว้เองหนึ่งปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิตครับ[1]) โดยสี่ขั้นตอนที่ว่านี้ก็คือ
- การก่อสงคราม (war making) : อันเป็นกระบวนการเพื่อการกำจัดคู่แข่ง (rival) หรือภัยที่อาจจะมีขึ้นจากภายนอกพื้นที่การปกครอง (territory) <หมายเหตุ—ผมไม่ได้แปลคำว่า territory ว่า ‘พื้นที่เขตแดน’ โดยจงใจ เพราะอย่างที่อธิบายไป ทิลลี่ดูจะไม่ได้ต้องการสื่อถึงรัฐในมุมที่ใช้กันเกร่อตอนนี้ ที่เน้นถึงตัวเส้นพรมแดนเป็นจุดสำคัญ แต่เน้นไปที่พื้นที่ของการรวมสำนึกร่วมของอุดมการณ์อันเป็นแผ่นผืนเดียวกัน ที่เรียกว่า ‘ชาติ’ มากกว่า ฉะนั้นมันจึงไม่ได้จำเป็นที่จะต้องมีเส้นเขตแดนที่ชัดเป๊ะ ตามนิยมของรัฐสมัยใหม่ที่ใช้กันทั่วไปตอนนี้>
- การก่อรัฐ (state making) : อันเป็นกระบวนการเพื่อการกำจัดขู่แข่งหรือการต่อต้านภายในพื้นที่การปกครอง <ส่วนนี้จะเห็นได้ชัดขึ้นว่า ความหมายของการใช้คำว่า state หรือรัฐ ของทิลลี่นั้นไม่ได้เน้นไปที่ตัวเส้นเขตแดน แต่เป็นการเน้นไปที่การรวบรวม (consolidate) ความเหมือนและกำจัดความแตกต่าง เพื่อนำไปสู่การสร้าง ‘ชาติ’ มากกว่า ตามที่เค้าได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า รัฐของเค้า คือ national consolidated state>
- การป้องกัน (protection) : หรือขั้นตอนที่มีขึ้นเพื่อการกำจัดภัยอันอาจจะเกิดขึ้นกับประชากรของรัฐนั้นๆ (ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกก็ตามแต่)
- การสกัด (extraction) : ก็คือการหาทางประกันความมั่นคงของกลไกเพื่อที่จะทำให้ข้อหนึ่งถึงข้อสามนั้นเกิดขึ้นได้และคงอยู่ต่ออย่างต่อเนื่อง ขั้นตอนพวกนี้ก็ได้แก่พวกเรื่องการจัดเก็บภาษี การหารายได้เข้ารัฐ การค้าขาย ฯลฯ
เราจะเห็นได้ว่ารูปแบบการก่อตัวของความเป็นชาตินั้นมันไม่สามารถแยกขาดออกจากกลไกของความรุนแรงได้เลย ชาติ กับสงครามและการกำจัดกวาดล้างนั้นดูจะเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะว่าการเกิดขึ้นของความเป็นชาติที่ชัดเจนจำเป็นอย่างมากที่จะต้องสร้าง ‘ความเหมือน’ หรือความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างเป็นแผ่นผืนเหนียวแน่น แล้วอะไรเล่าที่จะทำให้เรารู้สึกตัวถึงความเหมือนได้? ก็ต่อเมื่อเราได้เจอกับสิ่งที่ชัดเจนว่า ‘ต่างจากเราและคนที่เป็นพวกของเรา’ นั่นเอง สมมติมีมนุษย์เพศชายสองคน ที่เกิดมาเคยเจอกันแค่นั้นไม่เคยเจอใครอื่นอีกเลย เค้าก็อาจจะรู้สึกว่าพวกเขาสองคน ‘ต่างกัน ไม่เหมือนกัน’ แต่หากอยู่ดีๆ วันหนึ่งพวกเขาเจอผู้หญิงเข้าเป็นครั้งแรก เขาเห็นถึงความต่างนี้ พวกเขาสองคนก็จะรู้สึกทันทีว่า ‘พวกเขาสองคนนั้นเป็นพวกเดียวกัน อยู่ในหมวดประเภทเดียวกัน มีลักษณะร่วมที่เหมือนกัน’ เพราะว่าผู้หญิง ‘ต่างจากพวกเขา’ ทำนองเดียวกันการที่เราเดินเที่ยวงานวัดแถวบ้าน เราก็อยู่ของเราไปไม่ได้รู้สึกว่าเหมือน หรืออยู่ในหมวดหมู่ กลุ่มเดียวกับคนอื่นๆ ที่มาเดินงานอะไรนัก แต่หากจู่ๆ มีฝรั่งผมบลอนด์ตาฟ้าหลุดเดินเข้ามาในงาน และทำให้เรารู้สึกได้ทันทีว่า ‘มีคนไม่เข้าพวกโผล่เข้ามา’ เราจะรู้สึกแปลกใจว่าตานี่โผล่มาได้ไงวะ ไม่ได้เข้าพวกเลย ‘ความเป็นพวก หรือความเหมือนก็จะเกิดขึ้นในทันที’ เมื่อเราได้เห็นความต่าง
เพราะฉะนั้นแล้ว กลไกสำคัญประการแรกของการสร้างชาตินั้นจึงเป็น ‘การสร้างความต่างและการสร้างความเป็นพวกเรา’ (otherness of self) ขึ้นมาก่อนนั่นเองครับ และเมื่อเราสร้างความต่างขึ้นมาแล้ว เพื่อจะประกันความอยู่รอดของ ‘ความเหมือน’ ที่รวบรวมมาได้ เราก็ต้องกำจัดพวกที่เรานับเป็น ‘ความต่าง’ ออกไปเสีย กลายเป็นสงครามอย่างที่ทิลลี่บอก พอสงครามจบลง เราก็มา ‘กรองความเหมือน’ ที่เราได้มาแต่แรกให้ ‘สะอาด บริสุทธิ์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น’ ด้วยการกำจัด ‘ความต่าง’ ที่เจือปนเข้ามา หรือเป็นความต่างในระดับรายละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ ‘ความเหมือนกันที่บริสุทธิ์ที่สุด’ และก็ต้องทำเช่นนี้วนไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพของความเป็นชาติ เพราะฉะนั้นแล้ว ความรักชาติ มันจึงเป็นเสมือนเครื่องมือในการ ‘กรอง’ นี้นี่เอง เพื่อทำให้ความเหมือน ความเป็นก้อนเดียวกันมันบริสุทธิ์ไร้การเจือปนมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยเองเคยชินและมีตัวอย่างมากมายกับเรื่องแบบนี้ครับ อย่าง มาตรา 112, พรบ.คอมพิวเตอร์, กฎหมายห้ามหมิ่นศาล, บังคับยืนตรงเคารพธงชาติ, บังคับให้ยืนก่อนภาพยนตร์ฉาย, ฯลฯ นี่เองคือกระบวนการกรองในนามความรักชาติ
และที่ทิลลี่ว่ามานั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องมากทีเดียวนะครับ เพราะหนึ่งในคำอธิบายที่ทรงพลังที่สุดของการรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรปนั้นก็คือ ‘ความเหม็นเบื่อและเอือมระอากับสงคราม’ นั่นเองครับ คือ ยุโรปนี่ถือว่ามีพื้นที่ทางกายภาพที่เล็กมากนะครับ เมื่อเทียบกับ ‘พื้นที่ทางอำนาจ’ ของพวกเขาเอง โดยเฉพาะในช่วงยุคกลางมาจนถึงสมัยใหม่ตอนต้น ว่าง่ายๆ ก็คือ มหาอำนาจ ‘เบียดกันอยู่’ ทำให้กลายเป็นภูมิภาคหนึ่งที่เกิดสงครามและการฆ่าฟันกันชนิดที่ถี่และยาวนานที่สุดในโลก สงครามโลกทั้งสองครั้งก็มียุโรปเป็นหนึ่งในที่ที่สาหัสที่สุดด้วย เพราะฉะนั้นความคิดที่จะหากลไกในการยุติสงครามนี้อย่างถาวรจึงเกิดขึ้น นั่นก็คือ ในเมื่อ ‘ความเป็นอื่น’ (otherness) มันนำมาซึ่งความวินาศสันตะโรมากนัก ก็ทำลายความเป็นอื่นแม่งเลยเสีย แล้ว ‘รวมกันเป็นก้อนเดียวเลยนี่แหละ’ ทำให้กลายเป็น ‘พวกเดียวกัน’ (one self) ด้วยกันทั้งหมด และก็ได้กลายเป็นจุดกำเนิดของหนึ่งในองค์กรระดับเหนือรัฐที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกครับ
แต่ถึงจุดนี้หลายคนอาจจะเถียงว่า กับคนทั่วๆ ไป NGO หรือนักกิจกรรมเคลื่อนไหว นักวิชาการ ก็อาจจะพูดแบบนี้ได้ แต่คนที่ทำงานในสภามันก็ต้องแสดงความรักชาติหรือเปล่าวะ? ผมคิดว่าไม่จำเป็นเลยครับ ตัวแทนของสกอตแลนด์เอง ในสภายุโรปหลังการลงประชามติ Brexit เอง ได้กล่าวในรัฐสภายุโรปเลยว่า สกอตแลนด์นั้นไม่ต้องการเป็นชาติอันโดดเดี่ยว พวกเขาต้องการจะเป็นประชากรของโลก ว่าอีกแบบก็คือ เขากำลังมีข้อเสนอที่ท้าทายจุดยืนแบบรักชาติหรือชาตินิยมกลางสภาเลย และนี่ไม่ใช่สิ่งใหม่ด้วยนะครับ นักการเมืองในสภาของหลายๆ ที่เองก็ให้ความเห็นลักษณะนี้กันมาโดยตลอดแล้วทั้งนั้น
ถ้าว่ากันอย่างถึงที่สุด ปัญหาระหว่างฮ่องกงกับจีนเองก็เป็นปัญหาเรื่องชาติมากกว่าปัญหาของรัฐ จะเรียกว่าเป็น ‘หนึ่งรัฐ สองชาติ’ ก็ว่าได้
กล่าวคือ ในแง่พรมแดนและเส้นแบ่งทางอำนาจการเมืองแล้ว ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของ ‘รัฐจีน’’ อย่างเหนียวแน่นแน่นอน แต่สำนึกร่วม อุดมการณ์ที่เหมือนกันอย่างเป็นปึกแผ่นของประชากรนั้นมันแยกออกเป็นสองแบบหลักๆ แบบหนึ่งคืออุดมการณ์ที่ถูกปลูกฝังมาโดยแผ่นดินแม่และพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างคลาสสิกของการสร้างความเหมือนอย่างสุดขั้ว ด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรมแม่มเรย) กับอีกฝั่งหนึ่งซึ่งคิดและเชื่อชนิดที่แทบจะตรงข้ามกับแบบที่แผ่นดินแม่อยากจะให้เชื่อทุกประการ ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้มันจึงเป็นการชนกันของ ‘ชาติ’ ไม่ใช่รัฐ แต่ปัญหาคือ ภายใต้กรอบคิดของความคิดแบบ ‘ชาตินิยม’ นั้น เค้าวาดหวังให้ใน ‘รัฐชาติ’ ควรจะมีได้แค่ หนึ่งรัฐ กับหนึ่งชาติ เพราะฉะนั้นหากมันจะมี ‘ชาติแบบอื่นแทรกมาในรัฐเดียวกัน มันก็จะต้องโดนกำจัดทิ้งไป ตามกระบวนการข้อที่สอง ของทิลลี่’ นั่นเอง
ผมเขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ‘ความรักชาติ’ นั้นมันไม่ใช่อะไรที่น่าจะอวดเบ่ง หรือน่ายกยอเลยครับ ว่ากันตรงๆ แล้ว มันล้าหลังและถดถอย หากจะต้องเทียบกันแล้ว ‘การชังชาติ’ ควรได้รับการยกย่องเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะกับชาติที่แสดงให้เราเห็นตลอดเวลาแบบชาติไทยที่ทั้งกดขี่ บั่นทอน เห็นแก่ตัว และสร้างภาระมากมายให้กับประชากร เหยีบยย่ำคนจนไม่มีทางจะไป ฐานะทางเศรษฐกิจแย่เกินกว่าจะคิดถึงการชังชาติได้ เพราะคิดว่าต้องพึ่งชาติตลอดเวลา เพราะเค้าไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะสู้ด้วยตัวเองไหว
ผมจึงคิดว่ามันสมควรแล้วที่เราจะต้องประกาศที่ยืนของ ‘การชังชาติ’ ในฐานะการชังชาติจริงๆ ไม่ใช่ชังประยุทธ์ ได้อย่างภาคภูมิใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.youtube.com