เมื่อวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา ศิลปินกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตปริศนาชื่อดังชาวอังกฤษ ที่รู้จักกันในฉายา แบงก์ซี (Banksy) ได้อัพโหลดวิดีโอบันทึกปฏิบัติการลักลอบทำผลงานกราฟฟิตี้ชิ้นใหม่ขึ้นในรถไฟใต้ดินลอนดอนลงในอินสตาแกรมส่วนตัวของเขา โดยในวิดีโอแสดงภาพแบงก์ซีปลอมตัวเป็นพนักงานทำความสะอาด เข้าไปพ่นกราฟฟิตี้รูปหนู อันเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว ที่กำลังเข้าไปป่วนอยู่ในขบวนรถไฟใต้ดิน มีทั้งหนูสวมหน้ากากอนามัยจนมิดหน้า และหนูลอยเท้งเต้งด้วยร่มชูชีพที่ทำจากหน้ากากอนามัย หนูบางตัวจามออกมาเป็นน้ำมูกสีเขียว หนูบางตัวถือขวดเจลฆ่าเชื้อเขียนตัวหนังสือชื่อแท็กของแบงก์ซีบนประตูตู้โดยสารรถไฟใต้ดิน
เมื่อรถไฟจอดป้าย บนผนังสถานีรถไฟตรงกันข้ามยังมีสเปรย์สีเขียวพ่นว่า “I get lockdown” (ฉันถูกกักตัว) ก่อนที่ประตูรถไฟจะเลื่อนปิดลงจนเห็นคำว่า “But I get up again” (แต่ฉันก็ลุกขึ้นได้อีกครั้ง) บนประตู ซึ่งสองประโยคนี้ดัดแปลงมาจากเนื้อเพลงในเพลงฮิต Tubthumping ของวงดนตรีสัญชาติอังกฤษ Chumbawamba นั่นเอง ผลงานกราฟฟิตี้ล่าสุดของแบงก์ซีที่มีชื่อว่า “If you don’t mask – you don’t get.” ในครั้งนี้แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับการรณรงค์ให้ผู้โดยสารรถไฟใต้ดินสวมหน้ากากและใช้เจลแอลกอฮอลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
แต่ไม่ทันที่แฟนๆ ชาวลอนดอนจะได้ตามไปดูผลงานชิ้นล่าสุดของแบงก์ซีในรถไฟใต้ดินลอนดอน มันก็ถูกพนักงานทำความสะอาดรถไฟใต้ดินลอนดอนลบทิ้งไปจนเหี้ยนเสียก่อน เหตุเพราะพนักงานเหล่านั้นไม่รู้ว่านี่คืองานของแบงก์ซี และที่สำคัญ การคมนาคมลอนดอน (TfL) เอง ก็มีนโยบายเข้มงวดในการห้ามพ่นกราฟฟิตี้ในรถไฟใต้ดินลอนดอนอีกด้วย ทางตัวแทนการคมนาคมลอนดอนยังออกมาแถลงการณ์ว่า พวกเขาขอบคุณความรู้สึกห่วงใยของแบงก์ซีที่กระตุ้นให้ผู้คนสวมหน้ากากในช่วงที่มีวิกฤตการณ์การระบาดระดับโลกตอนนี้ ซึ่งผู้โดยสารส่วนใหญ่ของเครือข่ายการขนส่งของเราก็ปฏิบัติกันอยู่แล้ว แถมยังยื่นข้อเสนอให้แบงก์ซีทำผลงานชิ้นใหม่ที่ส่งสารของเขาให้ผู้โดยสารในพื้นที่เหมาะสมกว่านี้
ก่อนหน้านี้ แบงก์ซีก็เคยไปพ่นกราฟฟิตี้บอมบ์นิทรรศการของศิลปินกราฟฟิตี้รุ่นพี่ผู้ล่วงลับอย่าง ฌอง-มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat) บนผนังอาคารของศูนย์ศิลปะ Barbican ในกรุงลอนดอน ซึ่งมีนโยบายอันเข้มงวดในการห้ามพ่นภาพกราฟฟิตี้ที่บนผนังอาคาร และมักจะลบออกอย่างรวดเร็ว แต่แทนที่จะลบภาพกราฟฟิตี้ของแบงก์ซีออกจากผนังตึก ทางศูนย์ศิลปะ Barbican กลับติดแผ่นพลาสติกใสหรือเพล็กซิกลาสทับบนภาพเพื่อป้องกันมือดีหรือศิลปินกราฟฟิตี้คนอื่นมาวาดทับให้ภาพเสียหายทันทีทันควันกันเลยทีเดียว! (อะนะ)
อันที่จริงการลบ ทำลาย หรือเก็บกวาดทิ้งขว้างผลงานศิลปะของศิลปินชื่อดังระดับโลกโดยไม่ตั้งใจ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดในวงการศิลปะ เพราะหลายต่อหลายครั้งที่คนทั่วๆ ไป หรือแม้แต่คนในวงการศิลปะเองก็แยกไม่ค่อยออก ว่าอันไหนเป็นงานศิลปะร่วมสมัยหรืออันไหนเป็นขยะกันแน่?
ยกตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ.2015 Where shall we go dancing tonight? (2015) ผลงานศิลปะจัดวางของศิลปินคู่หูชาวอิตาเลียน ซารา โกลด์ชมิด (Sara Goldschmied) และ เอลีโอนอรา คิอารี (Eleonora Chiari) ที่จำลองสภาวะหลังปาร์ตี้เลิกในห้องแสดงงานของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Museion (Museum of Modern and Contemporary Art of Bozen) ในอิตาลี ที่เต็มไปด้วยขวดแชมเปญเปล่า, ก้นบุหรี, กระดาษสีกระจัดกระจายเกลื่อนกลาดไปทั่วพื้นห้อง เพื่อเสียดสีลัทธิบริโภคนิยม, สุขนิยม, และการคอร์รัปชันของนักการเมืองสังคมนิยมอิตาเลียนในยุค 1980 ถูกพนักงานทำความสะอาดของพิพิธภัณฑ์เก็บกวาดผลงานโยนทิ้งลงถังขยะจนเหี้ยน เพราะเข้าใจผิดว่าห้องนี้น่าจะเพิ่งจัดปาร์ตี้กันอย่างเละเทะหนักหน่วงมาเมื่อคืน เลยจัดการเก็บกวาดและทำความสะอาดจนเกลี้ยงห้องซะอย่างงั้น!
เคราะห์ยังดีที่ขยะ (หรืออันที่จริง “งานศิลปะ”) เหล่านั้น ยังอยู่ในห้องเก็บขยะของพิพิธภัณฑ์ จึงสามารถนำกลับมาจัดแสดงใหม่ได้เกือบทั้งหมด (ยกเว้นขวดแชมเปญที่แตกไปแล้ว) โดยใช้ภาพถ่ายนิทรรศการที่ถ่ายเก็บเอาไว้เป็นตัวช่วยในการจัดวางผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาใหม่
เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับผลงานของศิลปินชาวอังกฤษจอมอื้อฉาวอย่าง เดเมียน เฮิร์สต์ (Damien Hirst) ในหอศิลป์ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 2001 เมื่อพนักงานทำความสะอาดเห็นผลงานศิลปะจัดวางของเฮิร์สต์ ที่ประกอบด้วยที่เขี่ยบุหรี่ที่มีก้นบุหรี่กองพูน ขวดเบียร์เปล่าๆ ระเกะระกะ บรรดาแก้วกาแฟที่มีกาแฟเหลืออยู่ครึ่งแก้ว และกองหนังสือพิมพ์เกลื่อนพื้นห้องแสดงงาน แล้วคิดว่าพวกมันเป็นขยะที่เหลือจากปาร์ตี้เมื่อคืน เลยเก็บกวาดทิ้งไปจนหมด
“เมื่อฉันมองเห็นของพวกนี้ ฉันไม่คิดเลยสักนิดว่ามันเป็นงานศิลปะ สำหรับฉัน มันดูไม่เหมือนงานศิลปะเลยแม้แต่น้อย ฉันเลยเก็บกวาดมันลงถุงขยะแล้วเอามันไปโยนทิ้ง” พนักงานทำความสะอาดผู้เข้าใจผิดกล่าว
ส่วน เดเมียน เฮิร์สต์ เจ้าของผลงานที่ตั้งใจแสดงถึงความยุ่งเหยิงในสตูดิโอของศิลปินชิ้นนี้ กลับรู้สึกขบขันและทึ่งกับความเข้าใจผิดของพนักงานทำความสะอาดในเหตุการณ์ครั้งนี้
หรือผลงานศิลปะจัดวาง My Bed (1998) ของ สาวแสบแห่งวงการศิลปะอังกฤษ เทรซี เอมิน (Tracey Emin) ที่ประกอบด้วยเตียงนอนสกปรกยับยู่ยี่และเศษขยะอย่างขวดเหล้า ซองบุหรี่ หลอดเจลหล่อลื่น ถุงยางใช้แล้ว และชุดชั้นในเปื้อนเลือดประจำเดือนวางทิ้งระเกะระกะ ก็เคยถูกพนักงานทำความสะอาดของพิพิธภัณฑ์เก็บกวาดจนสะอาดเรี่ยมเร้เรไรมาแล้ว
หรือในปี ค.ศ. 2004 ส่วนหนึ่งของผลงาน Recreation of First Public Demonstration of Auto-Destructive Art (2004) ของศิลปินชาวเยอรมัน กุสตาฟ เม็ตซ์การ์ (Gustav Metzger) ที่เป็นถุงขยะใส่กระดาษใช้แล้วและกระดาษแข็งเหลือทิ้งจนเต็ม ถูกพนักงานทำความสะอาดเอาไปทิ้งโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ วันรุ่งขึ้นเม็ตซ์การ์ก็นำถุงใส่ขยะใบใหม่ (ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของผลงานที่จำลองจากผลงานในปี ค.ศ. 1960 ของเขา ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิกฤตศรัทธาและความเสื่อมถอยในสังคมมนุษย์) มาจัดแสดงแทน หลังจากนั้นก็ไม่มีพนักงานคนไหนกล้าเอาไปทิ้งอีก
หรือผลงานในปี 1980 ของศิลปินชาวเยอรมันระดับตำนาน โจเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys) อย่าง Badewanne (Bathtub) หรืออ่างอาบน้ำที่บรรจุไขมันและผ้าพันแผลเอาไว้ภายในจนเต็ม ที่แสดงในหอศิลป์ที่เยอรมนี ก็ถูกพนักงานทำความสะอาดผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์สองคน ยกออกไปทำความสะอาดจนเอี่ยมอ่องอรทัยซะอย่างงั้น
รวมไปถึงผลงานของ มาร์ก ควินน์ (Marc Quinn) ศิลปินชาวอังกฤษจอมฉาวอีกคน อย่าง Self (1991) ประติมากรรมรูปศีรษะมนุษย์สีแดงสดที่หล่อแบบขึ้นจากหัวศิลปินโดยใช้เลือดของตัวศิลปินเอง ซึ่งต้องแช่แข็งรักษาอุณหภูมิในตู้แช่เย็นที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษเพื้อป้องกันไม่ให้มันละลาย ควินน์ทำผลงานชิ้นนี้ขึ้นใหม่ในทุกๆ 5 ปี และวางแผนจะทำผลงานชุดนี้ออกมาอย่างต่อเนื่องไปจนวันที่เขาตาย โดยเขาวางแผนเอาไว้ว่าผลงานชิ้นสุดท้ายในชุดนี้จะถูกหล่อขึ้นจากเลือดจำนวนสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ในร่างกายของเขาหลังจากที่เขาได้สิ้นชีวิตไปแล้ว
เรื่องของเรื่องก็คือ ในช่วงปี ค.ศ.2002 มีข่าวลือว่าผลงานประติมากรรมเลือด Self ชิ้นแรกสุดที่ควินน์ทำขึ้นในปี ค.ศ.1991 ที่นักสะสมและนักค้างานศิลปะชื่อดังอย่าง ชาร์ลส แซทชี่ (Charles Saatchi) เจ้าของหอศิลป์ชื่อดัง Saatchi ซื้อไปในราคา 13,000 ปอนด์ หรือราวห้าแสนบาทในเวลานั้น มีอันต้องละลายกลายเป็นกองเลือดไร้ราคา เหตุเพราะ ไนเจลลา ลอว์สัน (Nigella Lawson) เชฟรายการโทรทัศน์ชื่อดังซึ่งเป็นภรรยาของแซทชี่ (ในเวลานั้น) เรียกช่างรับเหมามาซ่อมห้องครัวที่บ้าน แล้วช่างที่ว่าดันไปถอดปลั๊กตู้แช่เย็นออกโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ จนกระทั่งเห็นของเหลวสีแดงไหลออกมานองพื้นรอบๆ ตู้แช่เย็นนั่นแหละ ถึงได้รู้ว่าหายนะบังเกิดขึ้นแล้ว
แต่ภายหลัง ปี ค.ศ.2003 แซทชี่ยุติข่าวลือนี้ด้วยการนำผลงานชิ้นนี้ออกมาแสดงในแกลเลอรีใหม่ของเขาในลอนดอน สรุปแล้วเราก็ไม่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นแค่ข่าวลือจริงๆ หรือว่าตาแซทชี่แกแอบไปซื้อผลงานอีกชิ้นมาใหม่เพื่อกู้หน้าตัวเองหรือเปล่าน่ะนะ!
เหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้คนในวงการศิลปะอย่างเรากลับมาขบคิดและใคร่ครวญว่า ที่เป็นแบบนี้เพราะคนทั่วๆไป ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะกันเท่าไหร่ หรือเป็นเพราะงานศิลปะร่วมสมัยนั้นดูใกล้เคียงกับขยะและรอยเลอะเทอะเปรอะเปื้อนจนแยกไม่ออกกันแน่?
อ้างอิงข้อมูลจาก