ล่วงเข้าเดือนมิถุนายน พ.ศ.2563 วิกฤต COVID-19 ยังคงอยู่กับโลกมนุษย์ เศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งไทยมีทีท่าจะซึมยาว เราเริ่มเห็นตัวเลขการคาดการณ์ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากหลายสำนักในประเทศ ซึ่งก็ล้วนแต่คาดว่าจีดีพีปี ค.ศ.2020 จะติดลบระหว่าง 5-9 เปอร์เซ็นต์ นักเศรษฐศาสตร์บางท่านคาดการณ์ว่าอาจติดลบเป็นเลขสองหลักเลยทีเดียว
วิกฤตครั้งนี้กระทบผู้คนและธุรกิจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีสายป่านสั้นกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ในประเทศไทย เอสเอ็มอีทั้งหมดไม่เคยเป็น ‘ฐานกว้าง’ ของเศรษฐกิจได้เลยในแง่รายได้ แต่เกี่ยวข้องกับประชากรจำนวนมหาศาล ซึ่งถ้านับรวมเกษตรกรรายย่อยเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ อย่างที่ควรนับด้วยแล้ว ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็คือ คนส่วนใหญ่ของประเทศนั่นเอง
เอสเอ็มอีสำคัญอย่างไรต่อการสร้าง ‘เศรษฐกิจไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ (inclusive economy) ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และถ้าหากเราปล่อยให้เอสเอ็มอีล้มหายตายจากไปมากๆ ปล่อยให้ธุรกิจหลายตลาดถูกครอบงำโดยผู้เล่นน้อยรายมากขึ้น บริษัทขนาดใหญ่ใช้อำนาจเหนือตลาดได้อย่างสะดวกโยธินมากขึ้น ผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นใด ทำไมเราถึงต้องสนใจเรื่องนี้กันด้วย
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า เกมที่ช่วยฉายภาพและตอบคำถามข้างต้นได้อย่างแจ่มชัดรวมถึงกระตุกต่อมคิดที่สุดเกมหนึ่งคือ ‘Stardew Valley’ เกมปลูกผักเลี้ยงสัตว์ชิลๆ แต่สุดแสนจะดูดวิญญาณชื่อดัง ผลงานเดี่ยวของ ‘ConcernedApe’ เอริก บาโรน (Eric Barone) นักพัฒนาเกมวัยสามสิบเศษชาวอเมริกัน เขาค่อยๆ พัฒนาเกมนี้ด้วยใจรักระหว่างทำงานประจำเป็นพนักงานเดินตั๋วหนังในโรงภาพยนตร์ สี่ปีผ่านไปหลังจากที่วางขายครั้งแรกผ่านเว็บ Steam ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2016 Stardew Valley ก็มีให้เล่นสำหรับแพลตฟอร์มทุกรูปแบบ ขายได้แล้วกว่า 10 ล้านก๊อบปี้ และเอริกก็พัฒนาเกมอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ละแพทช์มีการเพิ่มเติมเนื้อเรื่อง ตัวละคร และระบบใหม่ๆ เข้ามาอย่างไม่ขาดสาย
เรียกได้ว่าซื้อเกมนี้ครั้งเดียว
เล่นไปได้ตลอดชีวิตไม่รู้เบื่อ
ทัศนคติของผู้ออกแบบเกมต่อระบบทุนนิยมเผยให้เห็นตั้งแต่ฉากเปิดเกม Stardew Valley กล้องแพนให้เห็นห้องทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ คอกทำงานแบบเดียวกันหมด ทุกคนนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ใต้แสงไฟนีออน พนักงานบางคนตายคาโต๊ะจนเป็นโครงกระดูกไปแล้วแต่ไม่มีใครใยดี ตัวเราในเกมนั่งเงื่องหงอยซึมเซาหน้าโต๊ะทำงาน ดึงลิ้นชักออกมาเปิดอ่านจดหมายจากคุณปู่ผู้ล่วงลับไปไม่นาน ตัดสินใจลาออกจากงานไปเริ่มต้นชีวิตใหม่เป็นชาวไร่ในชนบท มุ่งหน้าสู่ Pelican Town หมู่บ้านเล็กๆ ริมทะเล ที่ซึ่งปู่ได้มอบไร่รกร้างผืนหนึ่งให้เป็นมรดก
ความ ‘ฟิน’ ของการเล่น Stardew Valley ที่เด่นชัดที่สุดก็คือการแปลงผืนดินรกร้าง เต็มไปด้วยหิน วัชพืช และป่าที่คืบคลานเข้ามา ให้กลายเป็นฟาร์มผักและปศุสัตว์ชั้นยอด ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เวลา (ทำให้เกมนี้ก็ไม่เหมาะสำหรับคนใจร้อน) แต่ใครก็ตามที่เคยเล่น ‘เกมปลูกผัก’ อย่างซีรีส์ Harvest Moon มาก่อนจะรู้สึกคุ้นเคยและเพลิดเพลินกับการหมดเวลาแต่ละวันในเกมไปกับการหักร้างถางพง ปลูกพืชพันธุ์ใหม่ๆ และคอยรดน้ำให้มันเติบโต เรามีวิธีหาเงินในเกมนี้มากมายนอกเหนือจากการปลูกผัก (ซึ่งมีมากมายหลายชนิด บ่อยครั้งแปรรูปได้ ตั้งแต่ถั่วเขียวไปจนถึงองุ่นสำหรับหมักทำไวน์) ไม่ว่าจะเป็นการตกปลาในแม่น้ำและทะเลไปขาย ขุดแร่จากถ้ำ (บางครั้งก็ต้องสู้กับมอนสเตอร์ด้วย) ไปขาย ลงทุนทำปศุสัตว์ เลี้ยงไก่ วัว แพะ ฯลฯ หรือแม้แต่คราฟต์ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน
Stardew Valley ครบเครื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการทำฟาร์ม ในเกมมีระบบฤดูกาล โดยดินฟ้าอากาศจะส่งผลต่อทั้งผลผลิตและอีเวนต์ต่างๆ ในเกม เกมจะเซฟอัตโนมัติทันทีที่เราเข้านอน หัวใจของ Stardew Valley คือการจัดการเวลาอย่างเหมาะสม เพราะหนึ่งวันในเกมมีเวลาไม่กี่ชั่วโมงสำหรับการทำงานประจำวันในฟาร์ม หนึ่งปีแรกในเกมนี้ ‘อืด’ ไม่ใช่น้อย เมื่อฟาร์มของเรายังเดินได้ไม่เต็มที่ เราจะหมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการหาทางปรับหลายขั้นตอนการทำฟาร์มให้เป็นอัตโนมัติเพื่อทุ่นเวลา เช่น หาของมาคราฟต์หัวฉีดน้ำแบบฝอย (sprinklers) จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินรดน้ำเองทุกแปลง เมื่อเราซื้อ หรือประกอบเครื่องจักรทุ่นแรงได้ เราก็จะมีเวลามากขึ้นไปทำในสิ่งสนุกกว่าและน่าทำมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายพูดคุยกับสมาชิกชุมชน หาเพื่อนใหม่ ทำเควสต์ ทำภารกิจต่างๆ หรือเดินทางไปสำรวจเหมืองที่อยู่อีกด้านของแผนที่
ในเมื่อการจัดสรรเวลาอย่างเหมาะสม
เป็นหัวใจของ Stardew Valley
และกิจกรรมแทบทุกอย่างในเกมต้องออก ‘แรง’ (energy) ซึ่งถ้าหมดแรงเราก็จะเหนื่อย ไม่สามารถทำอะไรได้อีก การออกแบบกิจกรรมต่างๆ ในเกมให้ได้สมดุลระหว่างภารกิจที่ให้ผลลัพธ์ระยะสั้น กับภารกิจที่ให้ผลลัพธ์ในระยะยาว จึงเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการทำให้เกมสนุกไม่น่าเบื่อ ในแง่นี้ Stardew Valley สามารถวางสมดุลได้อย่างลงตัวมากๆ (ไม่ต่างจากสมดุลในเกม Forager ซึ่งผู้เขียนก็ชอบมากเช่นกัน) ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถเปิดทีวีในเกมเพื่อดูพยากรณ์อากาศวันพรุ่งนี้ ใช้ข้อมูลนี้ในการวางแผนกิจกรรมวันนี้และวันพรุ่งนี้ได้ ถ้าหากเรารู้ว่าวันนี้แดดดีแต่พรุ่งนี้จะฝนตก เราก็อาจเลือกรดน้ำพืชผักในแปลงเสียวันนี้ เอาแรงพรุ่งนี้ไปสำรวจเหมืองลึกแทน เพราะพรุ่งนี้เทวดาจะรดน้ำพืชผักแทนให้
Stardew Valley เต็มไปด้วยกิจกรรมน้อยใหญ่ เทศกาลเฉพาะฤดูกาล ปริศนาลี้ลับ รวมถึงตัวละครมากมายให้คบหาและเอาใจ มีแม้กระทั่งระบบ ‘ของขวัญ’ ที่ตัวละครแต่ละคนมีความชอบและความชังไม่เหมือนกัน ดอกไม้ป่าอาจเป็นสิ่งที่คนนี้โปรดปราน แต่คนโน้นรังเกียจ ถ้าระดับมิตรภาพระหว่างเรากับคนสมาชิกหมู่บ้านคนไหนเพิ่มสูงขึ้นมากๆ เราอาจคบหาเป็นแฟน และเมื่อเวลาผ่านไปก็อาจไปไกลถึงขั้นแต่งงานอยู่กินกันได้
เพลิดเพลินขนาดนี้ บางคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจสงสัยว่า แล้วเกมนี้ ‘พูด’ อะไรเกี่ยวกับธุรกิจขนาดย่อมและธุรกิจขนาดใหญ่ตรงไหนกัน ?
Stardew Valley อาจเป็นเกมปลูกผักที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ไปแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เกมนี้เป็น ‘มากกว่าเกม’ ก็คือ การใส่บริษัทยักษ์ใหญ่นาม โจจา (Joja Company) เข้ามาในเกม
โจจาคือบริษัทที่ตัวเราในเกมลาออกตอนต้นเรื่อง แต่ต่อให้มาใช้ชีวิตในชนบทแล้ว เราก็หนีไม่พ้นเงื้อมเงาของโจจา เมื่อบริษัทตัดสินใจขยายกิจการเข้ามาในหมู่บ้าน Pelican Town เปิด Joja Mart ห้างสะดวกซื้อแสนสบายที่มีทุกอย่างครบครัน และปรับเปลี่ยนศูนย์ชุมชน (community center) อันรกร้างไม่มีใครใช้งานให้กลายเป็นโกดังสำหรับเปลี่ยนถ่ายสินค้า สมาชิกในหมู่บ้านบางคนตัดสินใจเปลี่ยนงานไปเป็นพนักงานของโจจา แน่นอนว่าเพื่อแสวงหารายได้ที่มั่นคงกว่าเดิม ตัวเราในเกมก็ได้ประโยชน์จากร้านสะดวกซื้อยี่ห้อโจจาเช่นกัน เพราะเราได้ซื้อของมากมายรวมถึงเมล็ดพันธุ์ด้วย
ปัญหาก็คือหมู่บ้านนี้มีร้านโชห่วยแล้ว ชื่อร้านของปิแอร์ (Pierre) เรา (คนเล่น) เป็นเพื่อนของปิแอร์ไปแล้ว และก็แน่นอน ปิแอร์ไม่สามารถแข่งขันกับราคาต่ำเตี้ยมหาศาล (เพราะได้ประหยัดจากขนาด – economies of scale) ของร้านโจจาได้ ไม่ต่างจากสถานการณ์ที่โชห่วยต้องเผชิญในชีวิตจริง
Pelican Town เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่ร่ำรวยอะไร มีธุรกิจท้องถิ่นเพียง 6 ร้านเท่านั้น ได้แก่ร้านตีเหล็กของคลินท์ ร้านขายอุปกรณ์ตกปลาของวิลลี่ คลินิกของฮาร์วีย์ โรบินช่างไม้ โชห่วยของปิแอร์ และบาร์ของกัส ทุกกิจการล้วนแต่จ่ายภาษีบำรุงท้องถิ่น การมาถึงของยักษ์ใหญ่อย่างโจจานอกจากจะบีบบังคับให้ปิแอร์ต้องปิดกิจการไปแล้ว ยังทำให้ท้องถิ่นขาดภาษีด้วย เพราะเราไม่เคยเห็นลูวิส นายกเทศมนตรี Pelican Town เก็บภาษีจากโจจาเลยแม้แต่สลึงเดียว
สิ่งที่เกิดขึ้นในเกมสอดคล้อง
กับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความจริง
บริษัทขนาดใหญ่เวลาขยายเข้าไปในชุมชนมักไม่เสียภาษีให้กับท้องถิ่น เสียแต่ภาษีที่จ่ายเข้ารัฐบาลกลาง บางบริษัทอ้างว่าชุมชนท้องถิ่นจะได้ประโยชน์จากการได้บริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ในราคาที่ถูกลง ซึ่งประโยชน์นั้นมีค่ามากกว่าเงินที่จะได้รับจากการเก็บภาษีท้องถิ่น (จากกิจการในชุมชนที่ปิดตัวลงไปแล้ว) ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายเมืองในอเมริกาและอีกหลายประเทศก็คือ ผู้ประกอบการขนาดจิ๋วและลูกจ้างที่ต้องตกงาน เพราะการมาถึงของบริษัทยักษ์ใหญ่จะถูกสถานการณ์บังคับให้ไปทำอย่างอื่นที่ได้เงินน้อยลง หรือจำใจไปทำงานกับบริษัทขนาดยักษ์ ได้รับค่าจ้างน้อยนิดเพราะไม่มีอำนาจต่อรอง ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นก็เก็บภาษีได้น้อยลง มีทรัพยากรน้อยลงที่จะพัฒนาชุมชนเพื่อความอยู่ดีมีสุขของทุกคน
เราไม่ได้เห็นปรากฏการณ์นี้ใน Stardew Valley แต่เราเห็นนัยค่อนข้างชัดเมื่อปิแอร์ไม่เพียงแต่กลุ้มใจจากยอดขายที่ลดลง (เพราะคนแห่กันไปซื้อของในโจจาที่ราคาถูกกว่า) เริ่มเครียดและกังวลว่าครอบครัวของเขาจะกลายเป็นคนจน แต่โจจายังส่งจดหมายถึงปิแอร์ เชิญชวนให้เขาไปทำงานในร้านสะดวกซื้อด้วยค่าแรงเพียงชั่วโมงละ 5G เท่านั้น (สินค้าที่ถูกที่สุดในร้านโจจาคือวอลล์เปเปอร์ยี่ห้อโจจา ราคา 20G แปลว่าปิแอร์ต้องทำงานถึงสี่ชั่วโมงจึงจะซื้อเจ้านี่ได้)
บริษัทโจจารู้อยู่แล้วว่าการเข้ามาใน Pelican Town จะถูกชาวบ้านบางส่วนต่อต้าน ดังนั้นแผนการของบริษัทก็คือ เสนอว่าจะพัฒนาชุมชนอย่างรวดเร็ว (รถบัสจะได้กลับมาวิ่งอีกรอบแล้วนะ!) และมอบโอกาสให้คนในชุมชนมีส่วนแบ่งในกำไรจากธุรกิจ ตัวเราในเกมสามารถไปสมัครสมาชิกและร่วมลงทุนกับบริษัทได้ วิธีนี้โจจาจะได้ขยายกิจการ เรา (และสมาชิกคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน) จะได้สาธารณูปโภคที่เสียหายกลับคืนมา แถมยังได้ซื้อสินค้าในราคาถูกด้วย
ฟังเผินๆ ดูดี แต่ Stardew Valley เสนอทางเลือกที่ทำยากกว่า แต่อาจทำให้เราและชุมชนมีความสุขมากกว่าในระยะยาว
หลังจากที่รู้ว่าบริษัทโจจาจะเข้ามาทำธุรกิจ เราจะได้พบกับบรรดา จูนิโม (Junimos) ภูติน้อยพิทักษ์ธรรมชาติ พวกเขาอาศัยแบบหลบๆ ซ่อนๆ ในศูนย์ชุมชนรกร้าง ที่ซึ่งเด็กๆ ชอบใช้เล่นซ่อนแอบ ถ้าหากเราสามารถรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรชนิดต่างๆ ที่มีความหลากหลายไปมอบให้กับผองภูติน้อยจูนิโม เราก็จะได้ประโยชน์โภชน์ผลจากพลังของพวกเขา มากกว่าประโยชน์จากการเดินสายร่วมทุนกับโจจาหลายเท่า ไม่ว่าจะเป็นของเล็กๆ อย่างเค้ก (เอาไปมอบให้เป็นของขวัญแด่ชาวบ้านคนอื่น ทำให้รักเรามากขึ้น) ไปจนถึงอุปกรณ์หลายชนิดที่ช่วยให้ทำฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สาธารณูปโภคต่างๆ ที่เคยสึกหรอพังทลายก็จะฟื้นคืนชีพได้เช่นกัน ไม่ต่างจากถ้าเราไปร่วมทุนกับโจจา เพียงแต่จะใช้เวลาและเงินมากขึ้นเท่านั้น
การเดินสายจูนิโมบังคับให้เราใช้เวลาและความสังเกตมากขึ้น ใส่ใจกับเพื่อนร่วมชุมชนและความเป็นอยู่ของพวกเขามากกว่าถ้าเดินสายโจจา ศูนย์ชุมชนจะได้รับการฟื้นฟูเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน ได้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมและเทศกาลต่างๆ แทนที่จะกลายเป็นโกดังเก็บสินค้าของบริษัทขนาดยักษ์
อย่างไรก็ดี การเดินสายจูมิโนทำให้เราต้องสำรวจหุบเขานี้อย่างช่างสังเกตสังกามากขึ้น เอ็นจอยชีวิตมากขึ้นก็จริง ทว่าเราก็จะยังอยากหาทางปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรให้เป็นอัตโนมัติเพื่อทุ่นแรงอยู่ดี ทั้งต้องพึ่งพาสารเคมีเร่งโต ถางวัชพืชทำฟาร์มเพื่อไม่ให้เสียเนื้อที่อย่างเปล่าประโยชน์ ในเมื่อทุกตารางเมตรเป็นเงินเป็นทอง และผู้ประกอบการขนาดจิ๋วอย่างปิแอร์ก็มีความทะเยอทะยาน เขาอยากขยายกิจการโชห่วยไปชุมชนอื่น เราเองก็อยากปรับปรุงให้ฟาร์มมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยากได้กำไรต่อหน่วยมากขึ้นจากการลงแรง
สุดท้าย Stardew Valley ไม่ได้เสนอว่าเราควรหลีกหนีจากทุนนิยมไปให้พ้น เพราะแม้แต่เศรษฐกิจในชุมชนระดับรากฐานที่สุดก็ยังเป็นเศรษฐกิจระบบตลาด แต่เกมสื่อเป็นนัยๆ ว่า ความลับอาจอยู่ใน ‘สมดุล’ ของทุกสิ่ง สมดุลระหว่างงานกับชีวิต สมดุลระหว่างการตั้งหน้าทำเงินกับการสานสัมพันธ์กับผู้คน สมดุลระหว่างการชื่นชมอุปกรณ์ทุ่นแรงในฟาร์มกับการหยุดชื่นชมน้ำค้างยามเช้าและเสียงไก่ขันยามอาทิตย์อุทัย สมดุลระหว่างสิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้ กับสิ่งที่เราต้องการ
ความลับของชีวิตอาจอยู่ในการปลูกต้นบลูเบอร์รี่เรียงเป็นแถวสวยงาม 20 ต้น เพื่อจะเอา 19 ต้นไปขาย แต่เก็บต้นสุดท้ายไว้เป็นของขวัญให้กับสาวที่เราแอบติดใจ อยู่ในการเก็บฟักทองหรือไข่ไก่ลูกสุดท้ายไว้ให้กับเด็กน้อยหรือเพื่อนบ้านในชุมชน อยู่ในการหมักเบียร์เกินไปหนึ่งถังเพื่อเก็บไว้เอ็นจอยกับเพื่อนๆ
Stardew Valley บอกเราโดยไม่ต้องบอกตรงๆ ว่า ปัญหาของบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากที่ทำตัวอย่างโจจานั้นไม่ได้อยู่ที่การแสวงกำไร หากแต่อยู่ที่การตั้งเป้ากำไรเป็นสรณะ ยึดมั่นในกำไรก่อนชีวิตของผู้คน ก่อนชีวิตของชุมชน