เนื่องจากเป็นนักเขียนใหม่ของ The MATTER ฉันต้องยื่นเอกสารข้อมูลต่างๆ เพื่อให้การจ่ายค่าตอบแทนเป็นไปโดยสะดวก หนึ่งในนั้นคือสมุดบัญชีธนาคาร ด้วยความที่ไม่มีสมุดบัญชีของธนาคารนี้ จึงเดินทางไปเปิดบัญชีอยู่ที่สาขาถนนหน้าเมือง จ.ขอนแก่น คิดว่าจะเป็นครึ่งชั่วโมงที่ชิลล์ๆ ในยามบ่ายพอคั่นเวลาทำงานของตุ๊ดฟรีแลนซ์อย่างฉัน แต่ไม่นึกเลยว่าการไปธนาคารเอกชนจะรู้สึกเหมือนไปให้ตำรวจสอบปากคำ
ฉันจึงขอเอาความเดือดดาลจากประสบการณ์นี้มาแปลงเป็นอาวุธ เพื่อเสนอเหตุผลว่า ทำไมเราควรเปิดทางเลือก ‘คำนำหน้า’ ตามกฎหมายให้กว้างขวางกว่าระบบสองเพศที่กำกับชีวิตของเรามาตั้งแต่เกิด
บทความนี้เล่าจากความรู้สึกของคนคนหนึ่งที่เพศไม่ลงกล่องหญิงหรือชาย จงใจไม่ใช้คำที่เฉพาะเจาะจงตามขนบวิชาการอย่างเพศภาวะ เพศสรีระ เพศสถานะ เพศวิถี ฯลฯ เพราะเชื่อว่า ขอเพียงท่านเปิดใจต่อคำว่า ‘เพศ’ ความเข้าใจในรายละเอียดทั้งหลายย่อมตามมาได้อย่างไม่ยากเย็น
คนสถานะกำกวม
“หน้าไม่เหมือนเลย” พนักงานธนาคารก้มดูบัตรประชาชนของฉัน ละสายตามามองฉันที่นั่งอยู่ตรงหน้า แล้วกลับไปเพ่งดูบัตรในมืออีกเป็นนาน
ฉันในบัตรประชาชนไว้ผมยาวประบ่า ผิวอ่อน ไม่ใส่แว่นสายตา โกนหนวด และสวมเสื้อคอกว้างเปิดครึ่งไหล่
ฉันที่อยู่ต่อหน้าพนักงานธนาคารไว้ผมสั้น ผิวเข้ม ใส่แว่นสายตา ไม่โกนหนวด และสวมเสื้อคอวี
“คนเดียวกันหรือเปล่า” นางถาม
“คนเดียวกันสิ” ฉันตอบทันที ว่าแล้วก็ถอดแว่น แหวกคอเสื้อออกให้เหมือนรูปในบัตรแบบกึ่งประชด
ไม่มีคำตอบโต้จากพนักงานธนาคาร เธอเพียงชายตามองมาแวบเดียว เธอก้มดูบัตรอีกรอบ แล้วลุกเดินไปอีกฝั่งหนึ่งของห้อง ยื่นบัตรประชาชนของฉันให้พนักงานธนาคารอีกคนหนึ่งดู ถามเสียงดังลอยข้ามระยะสิบเมตรมาถึงหู “หน้าเหมือนกันมั้ยอะ?”
เมื่อเพื่อนร่วมงานนางตอบว่า “เหมือนๆ” พนักงานคนนั้นจึงเดินกลับมาดำเนินการเปิดบัญชีของฉันต่อ
ฉันรู้สึกเหมือนถูกตบหน้า และพร้อมกันนั้นก็รู้สึกเหมือนไม่มีตัวตน
ก่อนหน้าที่จะเกิดฉากนี้ ฉันนั่งกรอกเอกสารต่างๆ ของทางธนาคาร ซึ่งก็ทำให้สมองมึนมากพอควร เพราะต้องเลือกคำนำหน้า และกาช่องเพศอยู่หลายต่อหลายจุด
ฉันกรอกไปหมดทุกอย่าง แต่เว้นพวกคำนำหน้าและเพศไว้เพราะรู้สึกยังไม่พร้อมนำเสนอเพศตัวเองตามบัตรประชาชน การจะทำเช่นนั้นได้ต้องรวบรวมกำลังภายในเสียก่อน
ฉันถามพนักงานธนาคารว่า คือเราไม่ใช่ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จะเป็นไปได้ไหมถ้าชื่อบัญชีธนาคารของเราจะละคำนำหน้า แล้วเขียนชื่อ-นามสกุลไปเลย คนเขาจะได้ไม่ต้องเห็นคำนำหน้าตามกฎหมายของฉันเวลาทำธุรกรรม สามารถใช้เป็น ‘พีระ’ หรือ ‘คุณพีระ’ แทนได้ไหม ไม่ต้อง ‘นายพีระ’
ดูเป็นคำถามหลุดโลกสำหรับทางธนาคาร พนักงานธนาคารสองคนปรึกษากันแล้วบอกฉันว่า ไม่ได้ค่ะ เป็นระเบียบของทางเรา
ประสบการณ์นี้ทำให้ฉันรู้สึกแปลกแยกเต็มที่ เป็นปัญหาตอกย้ำซ้ำเติม เพราะทุกๆ วันก็ไม่ถูกมองเห็นอยู่แล้วโดยครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และคนรู้จักทั่วไป แล้วยังต้องมาเจอกฎระเบียบศักดิ์สิทธิ์นี่อีก เลยเว้นให้พนักงานกรอกข้อมูลที่เหลือเอง
หลังจากที่ถูกพนักงานบอก “ชายค่ะ” กดดันให้ฉันเร่งกาเลือกเพศที่มีเพียงชายหรือหญิง ตอนที่ฉันนั่งมองแบบฟอร์มหน้าหนึ่งอยู่
ใครสับสนทางเพศ
แน่ละเรื่องการตรวจดูรูปในบัตรประชาชนเทียบกับหน้าจริงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่เฉพาะเจาะจงเพศ
ท่านอาจมองเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องของสถานะกำกวม เหมือนกับสถานะทางการงานที่กำกวมของฟรีแลนซ์ที่พนักงานธนาคารมีหน้าที่ต้องจับให้มั่นคั้นให้ลงกล่อง ว่าที่อยู่ที่ทำงานคืออะไร ถ้าไม่ได้ทำงานประจำที่นี่จะมาเปิดบัญชีที่นี่ทำไม ฯลฯ
แต่เพศสถานะของฉันมัน ‘กำกวม’ เพราะสายตาของสังคม ซึ่งสถานะ ‘กำกวม’ ของคนอย่างฉันเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยระบบการกะเกณฑ์จัดแบ่งคนของรัฐและเอกชน ระบบที่ตีตราคนอย่างฉันว่า ‘สับสนทางเพศ’
ถึงเพศของฉันจะไม่มีชื่อที่ระบุได้เป็นที่ยุติ จะเรียกว่า ‘นอนไบนารี่’ จะเรียกว่า ‘เจนเดอร์เควียร์’ จะเรียกว่า ‘เพศที่สาม’ หรือจะเรียกว่า ‘ตุ๊ด’ ก็แล้วแต่ แต่ฉันไม่ได้สับสนทางเพศ สังคมต่างหากที่สับสนทางเพศว่าจะต้องมีแค่เพศนั้นเพศนี้ ไม่ว่าสองเพศ สามเพศ หรือสิบแปดเพศ
ท่านอาจมองว่าเรื่องที่ฉันเล่าไปเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดอนาคตประเทศด้านต่างๆ แถมคนไร้รัฐตั้งมากมาย บัตรประชาชนก็ไม่มี เปิดบัญชีธนาคารก็ไม่ได้ จะมาจริงจังอะไรมากมายกับเพศบนบัตรของคุณ (ราวกับว่าไม่มีความหลากหลายทางเพศในหมู่คนไร้รัฐ) ฯลฯ แต่ก่อนฉันก็อาจคล้อยตามแนวคิดทำนองนี้
แต่ความเดือดดาลอั่งเอ้าอยู่ข้างในจนรู้สึกว่าอายุสั้นลงนั้นทำให้ฉันต้องมาคิดใหม่ ก็ ‘เรื่องเล็กน้อย’ แบบนี้ไม่ใช่เหรอที่บั่นทอนจิตใจเราลงทีละน้อยๆ จนมาวันหนึ่งที่เราเกิดคำถามว่าจะมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ไม่เห็นหัวเราต่อไปทำไม เพราะแม้กระทั่งตัวตนของเราเองยังกำหนดไม่ได้ นับประสาอะไรกับอนาคตของประเทศชาติ
เมื่ออยู่ต่อหน้าแบบฟอร์มที่มีให้เลือกกาเพียง ‘ชาย’ หรือ ‘หญิง’ หลายๆ ครั้งคนที่ไม่เข้าพวกชายหญิงอย่างฉัน จึงต้องยอมจำนนต่อกรอบที่คับแคบ ยอมหันหน้าตามเสียงเรียกเพศที่ไม่ใช่ตัวตนของเรา
ใช่ว่าสังคมไม่รู้ว่าเรามีตัวตน แต่ตัวตนของเราเป็นตัวตนที่ถูกปฏิเสธและกีดกันจนไม่มีตัวตน
ทุกครั้งที่ฉันขึ้นรถทัวร์ของนครชัยแอร์ไป-กลับกรุงเทพฯ จะมีโฆษณาประกาศบนจอเสมอๆ ว่ารับสมัครพนักงานต้อนรับบนรถโดยสาร ‘เพศชายหรือหญิง’ อายุระหว่างเท่านี้ๆ ปี วุฒิการศึกษาเท่านี้ขึ้นไป
ฉันรู้สึกเสมอมาว่า การใช้คำว่า ‘เพศชายหรือหญิง’ แสดงถึงการที่บริษัทรู้อยู่แก่ใจว่ามีคนเพศหลากหลายกว่านั้น แต่ก็เลือกจะกีดกันด้วยการระบุเพียงสอง ถ้าบริสุทธิ์ใจจริงทำไมไม่ใช้คำว่า ‘เพศใดก็ได้’ เสียเลยล่ะ?
คำนำหน้านอกระบบสองเพศ
ในภาษาอังกฤษ คำนำหน้าไม่ระบุเพศ ‘Mx.’ (อ่านว่า ‘มิกซ์’) ถูกบรรจุลงไปในพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับออกซ์เฟิร์ดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2558 ตัวอย่างประโยคของคำนี้ก็ช่างเข้าประเด็นพอดิบพอดี
ธนาคารกำลังวางแผนจะประกาศใช้คำนำหน้า ‘Mx’ เป็นทางเลือกสำหรับใครก็ตามที่รู้สึกว่าไม่เข้าพวกกับการเป็น Mr, Mrs, Miss, หรือ Ms ด้วยสาเหตุทางเพศสถานะที่ไม่ถูกระบุ
ในภาษาไทย การเปิดทางเลือกให้หญิงที่จดทะเบียนสมรสแล้วหรือหย่าร้างสามารถใช้คำนำหน้า ‘นางสาว’ ต่อไปได้ตามสมัครใจนั้น เกิดขึ้นเมื่อสิบปีที่แล้วด้วยพ.ร.บ.คำนำหน้านามหญิง พ.ศ.2551ถึงทุกวันนี้กลายเป็นเรื่องปกติ สังคมสามารถเรียกอดีตนายกฯ ว่า “นางสาวยิ่งลักษณ์” โดยไม่รู้สึกผิดแปลกแต่อย่างใด
พระราชบัญญัตินี้ ตอนยังเป็นฉบับร่างใช้ชื่อว่า ‘คำนำหน้านามบุคคล’ และมีเนื้อหากว้างขวางกว่า คือระบุว่าผู้ชายข้ามเพศ (ภาษากฎหมายใช้คำว่า “หญิงที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นชาย โดยผ่านการรับรองจากแพทย์”) และผู้หญิงข้ามเพศ สามารถใช้คำนำหน้านามตามเพศที่เป็นจริงของตนได้ แต่กระนั้นเนื้อหานี้ก็ยังไม่ครอบคลุมคนที่ไม่ได้ต้องการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงร่างกาย แต่รู้สึกแปลกแยกจากเพศตามบัตรประชาชนอยู่ดี
เปลี่ยนคำนำหน้าได้ยังไม่พอ แต่ต้องมีทางเลือกคำนำหน้าที่เป็นกลางทางเพศ ซึ่งภาษาไทยก็มีคำว่า ‘คุณ’ อยู่แล้ว หรือถ้าจะให้คิดแบบสร้างสรรค์ ฉันก็ขอเสนอคำว่า ‘นาม’ เป็นคำนำหน้านามที่ไม่ระบุเพศแทน
อยู่กับโลกความเป็นจริง
เท่าที่เคยพยายามอธิบายเพศของตัวเองให้กับคนที่ไม่ได้มีความหลากหลายทางเพศฟัง ฉันเคยเจอคำว่า ‘โลกความเป็นจริง’ ที่โยนกลับมาว่ายังไงฉันก็ถูกมองเป็นผู้ชายอยู่ดี ทำให้ฉันมาคิดต่อว่า ‘โลกความเป็นจริง’ นี้เป็นของใครบ้าง
บทความปี 2550 “เปลี่ยนคำนำหน้านามในโลกของความเป็นจริง” เสนอว่าปัจเจกและรัฐที่ยึดระบบสองเพศมาตลอด ควรพยายามปรับตัวเข้าหาโลกความเป็นจริงที่ไม่ได้มีแค่สองเพศด้วย ความงุนงงและอาการทำตัวไม่ถูกเมื่อเจอความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่ในหมู่คนทำงานเคลื่อนไหวด้านนี้ด้วยกันเองก็ตาม เราสามารถมองมันเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้การอยู่กับโลกความเป็นจริงที่นับรวมประสบการณ์ของคนอื่นๆ ไปด้วย เพื่อให้ ‘โลกความเป็นจริง’ ของคนในสังคมจะโน้มเข้ามาบรรจบกันได้ในที่สุด กลายเป็นความเคยชิน ความสามัญธรรมดา
บทความดังกล่าวเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมคือ เวลากรอกเอกสารต่างๆ ควรให้ผู้กรอกมีทางเลือกแบบไม่ระบุคำนำหน้านาม และแบบที่สามารถระบุเพศเองได้
ทำไมความเป็นจริงตามบัตรประชาชน ถึงมีอำนาจกำหนดอะไรๆ มากมาย แม้จะไม่ใช่เรื่องของทางราชการก็ตาม
อย่างในวงการสื่อมวลชนเอง ทำไมจึงต้องมีขนบระบุคำนำหน้า นาย/นาง/นางสาว ของแหล่งข่าว จนราวกับว่าหากละคำนำหน้า อาจทำให้ความน่าเชื่อถือของข้อเท็จจริงลดลง เพศของคนอย่างฉันไม่อาจมีสถานะเป็นข้อเท็จจริงหรือ? สื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอโลกความจริงที่มิใช่แต่ความจริงของรัฐด้านเดียวมิใช่หรือ?
ธนาคารเอกชนต้องยึดมั่นถือมั่นอยู่กับระบบสองเพศของรัฐ เพราะพื้นฐานมาจากการที่รัฐมองประชากรเป็นผู้สืบพันธุ์อย่างนั้นหรือ? การเชื่อมฐานข้อมูลลูกค้ากับหน่วยงานรัฐตามนโยบาย ‘พร้อมเพย์’ (เพ ภาษาลาวแปลว่า พัง) ยังไม่พออีกหรือ? บริษัทห้างร้านควรทบทวนนโยบายเรื่องการระบุเพศ เพื่อเข้าสู่ภาวะของ #บริการทุกระดับประทับใจ ที่แท้จริง
ฉันกลับจากธนาคารพร้อมสมุดบัญชีธนาคารชื่อขึ้นต้นว่า ‘นาย’ ตามบัตรประชาชน
เช้าวันถัดมา ฉันได้รับอีเมลจากธนาคาร ขึ้นต้นจดหมายว่า “เรียน คุณ พีระ… เรื่อง แจ้งผลอนุมัติการสมัครใช้บริการ…”
นึกอยากเรียกฉันเป็นคุณเมื่อไหร่ พวกเธอก็เรียกได้นี่