หากเกิดเป็นมนุษย์ชาวไทยและติดตามข่าวบ้างแม้แต่เพียงเล็กน้อย คงจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะพลาดไม่ได้ยินการใช้คำว่า “คนดี” ในบริบททางการเมือง โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีการโหมกระหน่ำใช้คำนี้อย่างหนักหน่วงมาก จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นทศวรรษแห่ง “คนดีโพลิติกส์” กันเลยทีเดียว
จากความฮอตฮิตที่ว่ามานี้เอง ทำให้ประเด็นเรื่อง “คนดี/ความดี” ถูกจับมาพูดถึงหรือดีเบตกันอยู่เนืองๆ โดยข้อถกเถียงที่เห็นได้บ่อยครั้งที่สุดก็คือ “ความดีคืออะไร? ใครคือผู้ตัดสินความดี? หรือความดีในทัศนะของใคร?” นั่นเอง อย่างการใช้มาตราฐานศาสนามาตัดสินความเป็นคนดีมันใช่หรือ? ถ้าคำสอนศาสนาขัดกัน จะนับว่าอย่างไร? อย่างพุทธนับถือศีลห้า ให้งดดื่มสุราเมรัย แต่คริสต์มองไวน์ในฐานะเครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์ที่แทนเลือดพระเจ้า แบบนี้แปลว่าพุทธผิด หรือคริสต์มั่วไหม? ฯลฯ เหล่านี้ เราพบกันเยอะแล้ว ฉะนั้นจะไม่พูดถึง
สิ่งที่ผมสนใจและอยากลองชวนให้ลองคิดกันดูนั้นคือตัว “โครงสร้างของคำอธิบาย หรือการพิจารณา” คนดีเหล่านี้ต่างหาก อธิบายแบบง่ายๆ เลยก็คือ การพิจารณา “คนดี” นั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธีการหลักๆ คือวิเคราะห์ที่ตัวคำว่า “ดี” หรือ “ตัวความดี” ที่ผูกติดอยู่กับ “คน” ซึ่งเป็นคำอธิบายหลักที่เห็นได้โดยทั่วไป ดังตัวอย่างที่ว่ามาในย่อหน้าแรกนั้น ก็คือวิธีพิจารณาแบบที่ว่านี้เอง คือ สนใจว่า “ตัวความดี” นั้นมันคืออะไร วิธีการพิจารณาแบบที่สองนั้นมีการพูดถึงค่อนข้างจะน้อยกว่า นั่นก็คือพิจารณาในส่วน “คน” ของคำว่า “คนดี” ซึ่งผมจะอภิปรายอีกทีหนึ่ง ตอนนี้กลับมาที่แบบหลักก่อน
ข้ออภิปรายหลักของคำว่า “คนดี” ที่เน้นอยู่กับส่วนของ “ตัวความดี” นั้น เป็นฐานการพิจารณาที่พูดกันมาเนิ่นนานแสนนานแล้ว ทั้งในทางศาสนาแทบทุกศาสนาที่โดยเนื้อหาหลักของคำสอนก็คือการอธิบายว่า “ทำตัวทำใจแบบไหนจึงจะนับว่าเป็นการกระทำอันดีงาม มีศีลธรรม” ทำแล้วจะพ้นทุกข์หรือไปเฝ้าพระเจ้าในโลกหน้าอะไรก็ว่ากันไป และในทางปรัชญาเองก็มีการอภิปรายมานานนมเช่นกัน แนวคิดเรื่อง Ethics ที่แปลเป็นไทยว่า “จริยศาสตร์” นั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ยุคของโสกราติสและเพลโต้ในกรีกโบราณเป็นอย่างน้อย แต่มาเฟื่องฟูเต็มที่ในยุคของอริสโตเติ้ล ถึงขนาดที่เรียกวิธีพิจารณาแบบนี้กันว่า Aristotelian Ethics กันเลย
อริสโตเติลได้อภิปรายในผลงานชิ้นสำคัญของเขาคือ Nicomachean Ethics (เล่มสอง) โดยได้เน้นการอภิปรายไปที่ความสำคัญและสัมพันธ์ของ 2 ประการ นั่นคือ คุณลักษณะอันดีพร้อม (Virtue/Excellent Character) กับการกระทำอันดีพร้อม (Virtue/Excellent Conduct) ว่ากันแบบหยาบๆ ง่ายๆ ก็คือ หากมนุษย์เรามีคุณลักษณะส่วนบุคคลที่ดีแล้ว มันจะนำมาซึ่งการกระทำที่ดีด้วย คือ จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ในเวลาที่มันใช่ ด้วยวิธีการที่มันถูกมันชอบ ตัวอย่างก็เช่น การที่เราเป็นคนที่มีคุณลักษณะที่กล้าหาญและรู้จักควบคุมตนอย่างมีเหตุมีผลนั้น เป็นสิ่งที่มีเกียรติและดีพร้อมในตัว จะส่งผลให้เมื่อเราต้องลงมือปฏิบัติแล้วเราจะปฏิบัติอย่างกล้าหาญแต่รู้จักควบคุมตนเองอย่างมีเหตุผล ซึ่งนับเป็นการกระทำที่ดี สิ่งนี้เองที่จะนำมาซึ่งความสุขในชีวิต หรือที่อริสโตเติลเรียกว่า “ยูไดโมเนีย” (Eudiamonia) โดยหลักๆ แล้วการปฏิบัติที่อริสโตเติ้ลเห็นว่า “ดี” นั้นก็คือการปฏิบัติแบบ “สายกลาง” (Act moderately) นั่นเอง ซึ่งก็อาจจะมีหลายคนเอาไปโยงกับพุทธได้ แต่ในทางหลักการก็มีความต่างกันในระดับรากฐานอยู่ (ซึ่งคนที่โยงก็พยายามไม่สนใจจะพูดถึงนัก) เช่น ฝั่งหนึ่งมองว่าเป็นการทำเพื่อสร้างความสุข ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งอธิบายว่าเป็นการทำเพื่อให้พ้นทุกข์หรือหลุดพ้นจากทุกข์ เป็นต้น ซึ่งมาจากคนละฐานคิดกัน
อย่างไรก็ดี เราจะเห็นได้ว่า “ความดี” ของอริสโตเติลนั้น มีลักษณะที่เป็นเรื่องของปัจเจกแต่ละบุคคลมากทีเดียว และมันคือการเน้นการอภิปรายบนฐานของ “ตัวความดี” หรือการกระทำอันนำมาซึ่งความดีเป็นหลัก โดยไม่ได้สนใจถึงตัว “คน” ที่กระทำออกมาเป็นพิเศษนัก
นอกจากอริสโตเติลแล้ว นักปรัชญาอีกคนหนึ่งที่พึงนึกถึงเมื่ออภิปรายเรื่องนี้ก็คือ Immanuel Kant นักปรัชญาชาวเยอรมันคนสำคัญของโลกในยุคตื่นรู้ (Enlightenment) และการอธิบาย “คนดี” ที่แยกขาดระหว่าง “ตัวความดี (การกระทำ)” ออกจาก “ผู้กระทำ” นั้นน่าจะเรียกได้ว่ามาถึงจุดพีกที่ชายคนนี้นี่เอง เราเรียกจริยศาสตร์แบบนี้ว่า Deontological Ethics ซึ่งมีการพยายามแปลไทยว่า “จริยศาสตร์เชิงกรณียธรรม” แต่ผมไม่ชอบคำแปลนี้เป็นอย่างมาก ก็จะขอเรียกว่า “จริยศาสตร์เชิงหน้าที่แห่งตัวการกระทำ” แล้วกันครับ จริงๆ คำนี้ไม่ได้เริ่มใช้โดยค้านท์หรอก คนแรกที่ใช้คือ Jeremy Bentham และเราใช้คำๆ นี้เรียกรวมๆ วิธีการพิจารณา “ความดี” ลักษณะที่จะอภิปรายต่อไปร่วมกัน โดยหัวหอกหลักของกลุ่มวิธีพิจารณาความดีแบบนี้ก็คือคานท์นี่แหละครับ
คานท์มองว่ากระบวนการตัดสินใจในการลงมือทำอะไรสักอย่างนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ แบบแรกเขาเรียกว่า Hypothetical Imperative หรือกฏคำสั่งแบบเป็นเงื่อนไข ก็คือ การกระทำที่อยู่บนฐานของ “If X, then Y” นั่นเอง เช่น ถ้าฉันคอแห้ง ฉันก็จะดื่มน้ำ, ถ้าฉันอยากรวย ฉันก็จะตั้งใจทำงาน, ถ้าฉันสอบได้คะแนนดี แม่ก็จะภูมิใจ เป็นต้น วิธีการมองแบบนี้เรียกอีกแบบนึงว่า “ผลของการกระทำนิยม” (consequentialism) คือ มองการกระทำบนฐานของความต้องการของตัวปัจเจก ที่ทำสิ่งหนึ่งโดยคาดหวังให้ได้ผลลัพธ์บางประการตามมา วิธีการกระทำแบบนี้ คานท์มองว่า “ไม่มีคุณค่าทางจริยศาสตร์แต่อย่างใด”
การกระทำแบบที่คานท์มองว่ามีคุณค่าในทางจริยศาสตร์นั้นเรียกว่า Categorical Imperative หรือกฏคำสั่งแบบเด็ดขาด การกระทำแบบนี้หากอธิบายแบบลดทอนความซับซ้อนแล้วก็คือ “การทำความดีเพื่อตัวความดีเอง” ไม่ได้สนใจผลลัพธ์อะไรที่จะได้มาจากการกระทำนั้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว พูดง่ายๆ ก็คือ ดูที่เจตนาแห่งการกระทำล้วนๆ เลยนั่นเองว่า ต้องมีเจตนาอันดีในการกระทำ (Good will) และเป็นการตัดสินใจลงมือบนฐานของเหตุผลที่จะทำความดีโดยตนเอง ไม่โยง ไม่เกี่ยว ไม่ยุ่งกับสิ่งหรือคำสอนอื่นๆ ที่มาสร้างความโน้มเอียงให้กับเรา (inclination) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์, คำสอนทางศาสนา, คำชม, ความสุขของเรา, ฯลฯ เจตจำนงอันดีแบบนี้เรียกว่า maxim ซึ่งจริงๆ มีเงื่อนไขแยกย่อยลงไปอีก เช่น ต้องเป็นการกระทำที่สามารถทำให้เป็นสากลได้ คือ เราทำกับเขาได้และทุกๆ คนก็พร้อมจะทำแบบเดียวกันกับเราได้ มันดีหมดกับทุกคน ว่าง่ายๆ คือ เป็นความดีแบบวัตถุวิสัย (Objective) เลยทีเดียว (เอาจริงๆ มีข้อวิพากษ์วิธีคิดในจุดนี้เยอะอยู่ แต่พื้นที่คงไม่พอหรอกนะครับ)
เช่น ผมเห็นคนจมน้ำ ผมก็รีบโดดลงไปช่วยคนๆ นั้นเลย เพราะมองว่า “การช่วยคนคือการกระทำที่ถูกต้อง” โดยไม่ได้สนใจว่าจะช่วยสำเร็จหรือไม่ เขาจะต้องมาชมผม หรือตอบแทนผมอะไรหรือไม่
แบบนี้แหละครับที่คานท์ชอบ หรือหากเอาแบบทันสมัยขึ้นมานิด อาจจะมองถึงการโพสต์สเตตัสเฟซบุ๊คก็ได้ครับ เพราะไม่กี่วันนี้มีคนโดนจับเพราะโพสต์สิ่งที่เขาเชื่อลงเฟซบุ๊กอีกแล้ว คือ หากเราเห็นว่าสภาวะที่กำลังเป็นอยู่นี้มันผิด และเรามี maxim ที่จะต่อต้านสภาวะอันเลวร้ายนี้ เราจึงโพสต์ประท้วงความเลวร้ายนั้นอย่างคมคายลงบนวอลล์เฟซบุ๊กของเรา แบบเปิดพับลิกไปเลย โดยเราไม่ได้สนใจว่าจะต้องมีคนมาไลค์มาแชร์กี่คน จะมีคนมาดึงโควตไปเพจวิวาทะหรือมิตรสหายท่านหนึ่งไหม หรือแม้แต่จะโดนจับไปเข้าคุกเข้าตารางหรือเปล่า เราโพสต์เช่นนั้นเพราะเราต้องการทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความถูกต้องโดยแท้จริง นั่นแหละคือ “ความดี” แบบที่คานท์เห็น แต่เป็นตลกร้ายในกรณีที่เกิดขึ้นที่ไทย คนที่โดนลากอุ้มไปนั้น โดนตราหน้าว่า “เลว” ซะงั้น
ในจุดนี้เองเราจะเห็นได้ว่าแม้แต่ในระดับวิธีการพิจารณาคำว่า “ความดี” ในระดับโครงสร้างมันยังมีความซับซ้อนของมันมากมายเลย อย่างไรก็ดี มันยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะแทบทั้งหมดที่ว่ามานั้น โดยเฉพาะคานท์ เป็นการอธิบายความดีบนฐานที่ปฏิเสธแนวคิดว่า The end justifies the mean. หรือมอง “กระบวนการ/จุดเริ่มต้น” สำคัญกว่าผลลัพธ์นั่นเอง แต่เสด็จพ่อชิเช็กไม่คิดเช่นนั้น ชิเช็กเชื่อว่าเราไม่อาจจะปฏิเสธ “ผลของการกระทำ” ได้ เพราะการปฏิเสธความสำคัญของตัว “ผลลัพธ์แห่งการกระทำ” ย่อมหมายถึง การปฏิเสธความรับผิดชอบของตนเองที่มีต่อการกระทำนั้นด้วย ถ้าเป็นแบบนั้น ต่อไปเราอ้างว่าเจตนาดี ทำดีเพื่อดีเท่านั้นก็จบแล้วงั้นหรือ? ต่อให้เจตนาดีจริงๆ แต่ผลลัพธ์ออกมาวินาศสันตะโรไปหมด ก็ยังนับว่า “ดีอยู่” เพราะเจตนาดีกระนั้นหรือ? นั่นคือคำถามของลุงชิเช็ก
อย่างเช่น ในประเทศกะลาแลนด์แห่งหนึ่ง (ประเทศสมมติ) มีทหารที่พูดโกหกพกลมว่าสนับสนุนประชาธิปไตยและรัฐบาลจากการเลือกตั้ง จะไม่มีวันขนกองกำลังมายึดอำนาจและทำการรัฐประหารโดยเด็ดขาด แต่แล้วสุดท้ายเขาก็ได้ทำในสิ่งที่เขายืนยันแล้วยืนยันอีกว่าจะไม่ทำ โดยบอกว่ากระทำด้วย “เจตนาอันดี” ไม่ได้หวังในลาภยศอะไรใดๆ ทั้งสิ้นเลย และพวกเขาเป็นทหารพวกเขาโกหกไม่เป็น (ย้ำอีกรอบพูดถึงประเทศสมมติแห่งหนึ่งชื่อ “กะลาแลนด์” ไม่มีอยู่จริงครับ) เราสมมติว่าทั้งหมดที่ทหารเหล่านี้ว่ามานั้นคือการพูดจากใจจริงเลย กล่าวคือ พวกเขาทำการรัฐประหารด้วยเจตนาอันดี มันเป็น maxim ของเขาเลย แต่หลังจากปกครองประเทศจากการยึดอำนาจได้แล้วก็นิรโทษกรรมให้ตัวเอง ประเทศอยู่ในสภาวะที่ย่ำแย่ เศรษฐกิจซบเซา มีการละเมิดกฎหมาย ไม่สนใจสิทธิมนุษยชน ควบคุมประชากรและสื่อแบบไม่สนใจความชอบธรรมใดๆ แต่แน่นอนพวกเขาก็ยังได้รับการเชิดหน้าชูตาต่อไปในสังคมในฐานะ “คนดี” เพราะพวกเขาทำทุกอย่างไปด้วยเจตนาอันดีกระนั้นหรือ? และพวกเขาไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เลยหรือ เพราะเราไม่ใส่ใจ “ผลของการกระทำ” เราสนใจแต่ที่เจตนาก็พอ เช่นนั้นหรือ? (ย้ำอีกที นี่ประเทศสมมติ)
เพราะฉะนั้นประเด็นการพิจารณาของสลาวอย ชิเช็ก จึงกลับมาสู่ข้อสรุปว่า อย่างไรเสียก็ไม่สามารถจะละทิ้ง “ผลของการกระทำ” ได้ ในการอภิปรายเรื่องความดี ผมก็คิดว่าน่าสนใจไม่น้อยทีเดียวหากเราจะลองนำมาพิจารณากับสภาวะรอบๆ ตัวเราดูกัน ว่าหากผสมทั้งคานท์และชิเช็กเข้าด้วยกัน แบบในตัวอย่างประเทศกะลาแลนด์ข้างต้นนี้ ทหารเหล่านั้นเพื่อพิสูจน์ maxim ของตน ว่าทำด้วยเจตนาดีจริงๆ และยังพร้อมรับผิดชอบกับผลที่ตามมาด้วยเนี่ย ตามตรรกะแล้ว พวกเขาหลังทำการยึดอำนาจแล้ว จะสมควรเอาตัวเองขึ้นศาลหรือเข้าคุกไหม ก็ลองน่าคิดดูนะครับ (ประเทศสมมติ ย้ำรัวๆ)
ทั้งนี้ทั้งนั้น ที่ว่ามาทั้งหมดคือการพิจารณา “คนดี” บนฐานของ “ตัวการกระทำ” เป็นหลักเลย ซึ่งมันเป็นคอนเซปต์ของโลกตะวันตกไงครับ มันอิงกับคำว่า Ethical man, Virtue manม Moral man อะไรพวกนี้ แต่ผมคิดว่าบางทีการถกเถียงกันหูดับตับไหม้กับเรื่องคนดีบนฐานที่ว่ามานี้ (รวมถึงข้อถกเถียงแทบทั้งหมดในไทยเลยด้วย) อาจจะไม่ครบนัก เพราะบริบทของคำว่า “คนดี” ในกรณีสังคมไทยนั้น ผมว่ามันก้าวข้ามเกินการพิจารณาที่ตัว “การกระทำ” แล้ว ไม่ว่าจะอภิปรายบนฐานความดีของศาสนา, แบบอริสโตเติล, แบบคานท์ หรือจนมาถึงชิเช็ก
เพราะการยอมรับว่าคนนั้นคนนี้เป็นคนดีหรือไม่ในสังคมไทยตอนนี้ ดูจะไม่สนใจตัวการกระทำอีกต่อไปแล้ว ไม่สนใจกระทั่งเจตนาอีกต่อไปแล้ว แต่สนใจที่ “ตัวคน” เสียมากกว่า
ที่ว่าแบบนั้นก็เพราะการกระทำแบบที่คานท์มองว่าดี ในสังคมไทยอาจจะโดนจับและตราหน้าว่าเลว โดนสังคมด่าว่าเลวได้ (แบบกรณีตัวอย่างเรื่องสเตตัสเฟซบุ๊กที่ยกไว้) หรือการกระทำแบบเดียวกันโดยคนๆ หนึ่งโดนหาว่าเลว แต่ถ้าเป็นอีกคนหนึ่งทำ ที่เหมือนกันเป๊ะๆ ลอกมาล้วนๆ นั้น กลับมองว่าดี หรือไม่ปริปากบ่นได้ มันจึงบอกกับเราได้ว่า เฮ้ย “ตัวการกระทำ” มันไม่เกี่ยวแล้วแหละ ซึ่งถ้ามันไม่อยู่ที่ตัวการกระทำ มันก็คงต้องอยู่ที่ “ตัวคน” แล้ว
การสนใจที่ตัวคนนั้น มีวิธีการพิจารณาที่ง่ายๆ มากครับ แต่คงต้องหาคำตอบกันเอง โดยเริ่มจากระบุก่อนว่าคนที่สังคมนี้ยอมรับว่าเป็น “คนดี” ทั้งหลายนั้นคือใคร กลุ่มไหน จากนั้นก็ลองนำไปสู่คำถามว่า “พวกเขาคือใคร? เขาเป็นคนของใคร?” เมื่อเราได้ภาพแล้วว่า “ใคร” ที่ว่าคือใครหรืออะไร ก็น่าจะนำมาสู่คำตอบว่าอะไรคือ “นิยามหรือภาพแทนตัวตนความดีของสังคมไทย” เพราะใครที่ว่านี้ ดูจะเป็นตัวแทนของ “ความดี” ที่ว่านั้น และเหล่าคนที่กระทำการเพื่อ “ความดี” นี้ จึงกลายเป็น “คนดี” ในสังคมไทยไปนั่นเองครับ ฉะนั้นคนดีในสังคมไทย จึงไม่ได้ถูกยอมรับผ่านตัวการกระทำของเขาเอง แต่ผ่าน “ตัวตนที่พวกเขา represent” ต่างหาก