ขณะนี้คุณกำลังอ่านบทความออนไลน์ขนาดไม่เกิน 200 กิโลไบต์ โหลดโคตรไว เปิดโคตรง่าย อ่านที่ไหนก็ได้ ไม่เสียเงินสักบาท ส่งตรงจากคนเขียนสู่คนอ่านผ่านสัญญาณในอากาศ สะดวกขนาดนี้ คิดว่ามันมีส่วนให้หนังสือตายไหม?
มองเผินๆ คอนเทนต์ดิจิทัลทั้งบทความออนไลน์ และ E-Book ดูจะชนะสิ่งพิมพ์ทุกทาง สะดวกสบาย ต้นทุนตํ่า ประหยัดทรัพยากรกระดาษ กระทบกับวงการหนังสือพิมพ์และนิตยสารอย่างรุนแรง แม้จะรวดเร็วแค่ไหนก็ไม่ทันใจเท่าความไวปีศาจของอินเทอร์เน็ต กด publish โพสต์ได้เลยทันใด ไม่ต้องรอเข้าโรงพิมพ์ ไม่ต้องผ่านสายส่งใดใด การเกิดขึ้นของ WordPress กระจายอำนาจการเล่าสู่ใครก็ได้ที่มีเรื่องจะเล่า แม้จะสั่นคลอน หวั่นไหว แต่กระนั้นอวสานสิ่งพิมพ์ก็ยังอีกห่างไกล ไม่มาถึงเร็วๆนี้
ขณะที่หลายคนยังถกเถียงกันต่อไปว่าดิจิทัลหรือสิ่งพิมพ์ดีกว่ากันจนหัวร้อน (สรุปให้ว่าดีกันคนละอย่าง) ในประเทศจีน มือถือมีส่วนให้ตลาดหนังสือนอกกระแสฟู่ฟ่าเติบโตอีกครั้ง
ความอ่อนล้าจากหน้าจอพาเรากลับไปสู่หนังสือ
ผู้คนคนเริ่มเบื่อชีวิตที่อยู่กับเพียงหน้าจอและรับข่าวสารข้อมูลทั้งวัน หลายคนเชื่อว่า ความเหนื่อยล้าจากหน้าจอ (Screen Fatigue) อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่หนังสือจะยังคงอยู่
จริงๆ แล้ว หนังสือไม่เคยตายเลยด้วยซํ้า ยอดขาย E-Book มีส่วนแบ่งประมาณ 30% ของตลาดหนังสือในอเมริกา ไม่เคยแทนที่หรือแซงหน้าหนังสือ (หลายแหล่งถกเถียงว่าเติบโตขึ้นหรือลดลงกันแน่ เพราะยากที่จะสรุปภาพตัวเลขรวมของทั้งอุตสาหกรรมได้แม่นยำ) รายได้หลักของ Amazon ไม่ใช่จากการขายหนังสือออนไลน์ด้วยซํ้า แต่เป็นค่าเช่าเซิร์ฟเวอร์ Cloud
the guardian รายงานว่า ในปี 2016 ที่สหราชอาณาจักร ยอดขาย E-book ตกลง 17% เพราะคนเริ่มหันกลับมาซื้อหนังสือเป็นเล่มมากขึ้น แท้จริงแล้ว E-book ไม่เคยฮิตในบ้านเราเลยด้วยซํ้า แม้จะสะดวกสบายบรรจุได้เป็นพันเล่มหรือสามารถย่อหนังสือเล่มใหญ่ให้เหลือไฟล์เล็กจิ๋ว แต่ปกติคนทั่วไปก็อ่านหนังสือกันปีไม่เกินร้อยเล่มอยู่ดี บทความในเน็ตและ E-book ขนาดไม่กี่กิโลไบต์ ไม่สามารถเติมเต็มชีวิตรักการอ่านได้สมบูรณ์ เรายังแสวงหาสิ่งของจับต้องสัมผัสได้ เหมือนพบกันในทินเดอร์อย่างไร สุดท้ายก็ไปเดทกันในชีวิตจริง
ขณะที่ Borders ร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ล่มสลายลงในปี 2011 เหลือ Barnes & Nobles ที่ต้องขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อดึงให้คนเข้าร้าน สมาคมผู้ค้าหนังสืออเมริกัน (The American Booksellers Association) รายงานว่าร้านหนังสือนอกกระแสขนาดเล็กในอเมริกายังเติบโตผิดหูผิดตาเข้าสู่ปีที่ 7 โดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์ และเชื่อว่ายังมีอนาคตสดใสรออยู่
สิ่งเดียวที่อินเทอร์เน็ตแพ้หนังสือเล่ม คือรสสัมผัส อินเทอร์เน็ตได้เข้ามาในชีวิตเราและเป็นเครื่องมือและช่องทางสำคัญที่จะส่งสัมผัสของหนังสือไปถึงมวลชน รวมถึงอีกหลายเหตุผลว่าทำไมอินเทอร์เน็ตจะทำให้สิ่งพิมพ์เติบโตต่อไป
5 เหตุผลที่อินเทอร์เน็ตจะช่วยให้หนังสือยังคงอยู่
- อินเทอร์เน็ตพาผู้คนไปพบชนเผ่าของตนเอง
LOST MAGAZINE เป็นความลงตัวระหว่างดิจิทัลและสิ่งพิมพ์ที่น่าศึกษา นิตยสารท่องเที่ยว เริ่มในปี 2013 พิมพ์ปีละเล่ม ผู้ริเริ่มคือคุณ Nelson Ng ชาวสิงคโปร์ที่ทำงานในประเทศจีน
เนลสันชวนเพื่อนๆ ในวงการออกแบบและโฆษณา มาเล่าประสบการณ์ที่การท่องเที่ยวได้เปลี่ยนชีวิต เน้นเล่าประสบการณ์ เช่น เดินทางข้ามสมุทรอยู่ในเรือสินค้า พบเรื่องร้ายแต่สนุกเสี่ยงตายสู้ชีวิต ค้นพบตัวเองแบบที่ทัวร์จัดหาให้ไม่ได้ เล่มแรกแทบจะเรียกว่าเป็นโปรเจกต์ส่วนตัวที่ชวนคนรู้จักที่มีประสบการณ์มาร่วมเขียน ตีพิมพ์ 4 สี 320 หน้า เย็บกี่อย่างดี โดยพิมพ์ 2 ภาษาในเล่มเดียว คือจีนและอังกฤษ
เนลสันอาจเริ่มทำด้วยความความฝันโรแมนติกส่วนตัว เมื่อตีพิมพ์เสร็จ รีบนำไปขายให้กับผู้จัดจำหน่ายที่สิงคโปร์ คำตอบที่ได้รับคือ “ไม่มีใครแคร์หนังสือของคุณหรอก” (Nobody gives a fuck about your magazine.) เมื่อโดนปฏิเสธไร้เยื่อใย และหนังสือก็ตีพิมพ์ออกมาแล้ว เขาเลยเลยลองเสาะหาช่องทางใหม่ๆ ที่ไม่ใช้ผู้จัดจำหน่ายส่งสู่ร้านหนังสือใหญ่ๆ
เขาเริ่มติดต่อวางขายตามร้านหนังสือนอกกระแส วางในร้านกาแฟ แกลลอรี่ขนาดเล็ก เขาพบว่าหนังสือที่เขาผลิต ไม่ต้องมีอยู่ทุกที่ ทุกเวลา แต่อยู่ถูกที่ ถูกเวลาต่างหาก ลูกค้าคนหนุ่มสาวชอบถ่ายรูปกับสิ่งของในร้านกาแฟ ก็จะหยิบหนังสือเขาเป็น Prop ถ่ายลง Instagram และพาหนังสือของเขาแพร่ไปสู่กลุ่มเป้าหมายโดยไม่เสียเงินซื้อสื่อ คนทั่วโลกส่งเรื่องการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนมุมมองชีวิตมาเยอะมาก จนต้องออก 2 เล่มต่อปี หากใครมีประสบการณ์ท่องเที่ยวที่เปลี่ยนชีวิต อยากเล่าชวนไปลงก็เชิญได้เลย เรื่องของคุณอาจได้เป็น 1 ใน 12 เรื่องที่ลงใน LOST เล่มต่อไป
เนลสันเชื่อว่า สิ่งสำคัญคือหาเผ่าของตัวเองให้พบและส่งไปถึงถูกกลุ่มคน หาผู้ติดตามของเราให้เจอ ใช้พลังของชุมชน เขาพูดว่า โลกอินเทอร์เน็ตและดิจิทัลไม่ได้เป็นศัตรูกัน อินเทอร์เน็ตคือเครื่องมือชั้นยอดที่จะส่งเสริมสิ่งพิมพ์ของเขาที่ไม่ได้ผลิตจากสำนักพิมพ์ใหญ่ เล่มแรกอาจจะเกิดจากเพื่อนที่เขารู้จัก แต่เล่มถัดๆ มาคนส่งเรื่อง 90% มาจากคนแปลกหน้าและได้สร้างมิตรกับพวกเขา การทำหนังสือเล่มนี้ยังพาเขาไปทำโปรเจกต์ร่วมกับแบรนด์ต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น the North Face เปิดโอกาสใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตจากเรื่องที่สนใจ สร้างชุมชนนักท่องเที่ยวในแบบของเขาขึ้นมาได้ จากการพิมพ์ 2 ภาษา (จีน-อังกฤษ) ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายหนังสือของเขาไปทั่วโลก
- เพียงมีมือถือ กดซื้อแล้วหยิบติดมือไป
ที่ประเทศจีนทุกคนดำรงชีวิตอยู่ใน Wechat และ Weibo ตลอดเวลา แต่ไม่ได้แปลว่าสิ่งพิมพ์จะซบเซาไร้หนทางในจีน เพราะไม่ว่าใครก็ตามที่มือถือในจีนจะสามารถมีร้านค้าออนไลน์ได้โดยไม่ผ่านผู้จัดจำหน่าย แค่เสียส่วนต่างให้แอปพลิเคชั่นนิดหน่อย ความเคลื่อนไหวที่เกิดในประเทศจีนมีส่วนให้วงการสิ่งพิมพ์นอกกระแสเติบโตในไม่กี่ปีมานี้คึกคักเป็นอย่างมาก
กรณีศึกษาเช่น นิตยสาร Jizazhi หรือ 假杂志 แปลว่า fake magazine นิตยสารภาพถ่ายศิลปะ ที่สามารถขายได้ 1,000 เล่มในสองวันแรก และ 1,600 เล่มในเวลา 7 วัน ทั้งที่ไม่ได้วางจำหน่ายที่ร้านหนังสือที่ไหนเลย ซื้อขายผ่านมือถือล้วนๆ แต่เพราะมีคนติดตามที่แข็งแรงเหนียวแน่น โลกออนไลน์สามารถส่งเสริมวัฒนธรรมของสิ่งพิมพ์นอกกระแสให้แข็งแรง เพราะไม่ต้องพึ่งพาการวางขายแบบเดิมเสมอไป
ที่งาน Art Book in China หรือ abc/F 2016 ที่เมืองหางโจว มีคนส่งหนังสือของตัวเองมาร่วมงานจากทั่วประเทศจีน คนที่ไม่สามารถเดินทางมาขายหนังสือด้วยตัวเอง ก็สามารถวาง QR Code ไว้คู่กับตัวหนังสือ ชอบเล่มไหน ผู้ซื้อก็สามารถสแกนจ่ายเงินผ่านมือถือ หยิบติดมือไปได้เลย และเงินก็เข้าสู่กระเป๋าของเจ้าของหนังสือทันใด ลดการภาระการจัดการด้านการฝากขาย ฝากวาง เมื่อผู้สร้างไม่สามารถไปขายได้ด้วยตนเอง
- แม้ตัวอยู่บ้านก็กดซื้อได้ทันใด ไม่โดนแดดลม
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดร้านค้าออนไลน์มากมาย แต่เราขอหยิบ Readery.co ร้านหนังสือออนไลน์ที่หลายคนคงคุ้นเคย Readery เริ่มมาจาก เน็ต นัฎฐกร ปาระชัย นักออกแบบ และ โจ วรรณพิณ นักเขียนบทภาพยนตร์ เพื่อนนักอ่านที่อยากแชร์ลิสต์หนังสือของตัวเองลงในเน็ต พัฒนาจนมาเป็นร้านหนังสือออนไลน์ที่เรารู้จัก ทำ Branding ชัดเจนและรู้ได้ถึงความใส่ใจในการหนังสือของเขา ส่งทันใจถึงบ้าน ทำให้เรารู้สึกร่วมกลุ่มคนรักหนังสือ แม้ไม่ได้หอบร่างออกจากบ้านไปถึงร้าน เพิ่มโอกาสให้ชาวบ้านชานเมืองอย่างเราให้พบปะหนังสือวรรณกรรมที่ร้านใกล้บ้านไม่มี
เมื่อคอนเทนต์ในเน็ตเข้ามาแย่งเวลาการอ่านของเรา หลายคนอาจคิดว่าวงการหนังสือเล่มคงอับเฉาน่าดู แต่ Readery ยังเติบโตดี โดยโตขึ้น 190.78% ในระยะเวลา 3 ปีที่ก่อตั้งมา
สถิติที่น่าสนใจจาก Readery:
คุณเน็ตแห่ง Readery เชื่อว่าการเข้ามาของ Online Content ไม่จะเป็น Minimore หรือ Fictionlog จะกระทบกับวงการในแง่ดี คือเพิ่มความหลากหลายของผู้ซื้อและผู้อ่าน และเพิ่มช่องทางการพบกันของผู้เขียนและผู้อ่านไปอีกทาง และสร้างโอกาสใหม่ๆ แถมบอกว่าถ้า The Matter เปิดฝั่ง Fiction คงจะสนุกแซบมาก
Readery ให้ความสำคัญกับ Branding มาก เพราะเป็นสิ่งที่ผู้อ่านรับรู้และสัมผัสได้ คุณเน็ตกล่าวว่า ถ้าเป็นการสื่อสารทางออนไลน์แล้ว ภาพและปกสำคัญมาก สำคัญเป็นอันดับแรกๆ เลยก็ว่าได้เพราะคน ‘เห็น’ ก่อนที่จะ ‘อ่าน’ ว่ามันคืออะไรยังไง
เมื่อถามว่าหาก Readery เป็นเพื่อนคนหนึ่ง Readery เป็นคนแบบไหน คุณเน็ตจึงส่งบุคคลิกภาพแบรนด์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกเริ่มทำโลโก้ Readery คือเพื่อนหน้าตาดีที่มีเสน่ห์เหมือน Kiko Mizuhara นี่เอง
ฉะนั้นไม่ต้องถามเลยว่า Branding สำคัญแค่ไหน คุณเน็ตตอบยํ้าเลยว่า สำคัญมาก Branding เป็นเรื่องของประสบการณ์ต่างๆ ที่ลูกค้ามีต่อ Readery เริ่มตั้งแต่การมองเห็น การอ่านเนื้อหาที่นำเสนอ การเลือกและสั่งซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ เรื่อยไปจนถึงบริการหลังการขาย เช่น หีบห่อ การจัดส่ง และการตอบคำถามพูดคุยกับลูกค้า นอกจากร้านออนไลน์และการสื่อสารบน Social Network คือสิ่งที่อยากส่งผ่านโดยวิธีการของ Branding ไปกับหนังสือ ไปจนถึงมือคนเปิดอ่าน แม้จะมี 2 คน พวกเขาก็แตกหน่อแบรนด์ไปทำหลายอย่างที่ส่งเสริมประสบการณ์การอ่าน ทั้งเสื้อยืด ถุงผ้า นอกจากนี้ยังจะทำบล็อกเพื่อเล่าเรื่องราวของหนังสือ และเล่าเรื่องหนังสือเพื่อส่งเสริมการขายอย่างใส่ใจ
Readery เป็นตัวแทนที่ดีของความคราฟท์ของโลกออนไลน์ ใส่ใจรายละเอียดในระดับ Pixel เพราะขนาดชุดตัวอักษรที่ใช้ในเว็บและสื่ออื่นๆ ของ Readery ได้พัฒนาขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ คือชุดอักษร Readery Slab และ Readery Loop นอกจากในโลกออนไลน์ พวกเขายังจัดกิจกรรมกระชับมิตรในโลกจริง คือจัด Event การนัดพบชื่อ Readrink ชวนมาอ่านหนังสือกันนอกจอและนอกบ้านนานๆ ครั้ง ตามธีมต่างๆ เปิดตัวหนังสือใหม่ๆ
มีร้านหนังสือที่ใส่ใจขนาดนี้ คงจะทำให้ผู้อ่านและผู้เขียนชื้นใจ หากใครสงสัยว่าหนังสือที่วางขายใน Readery มาจากไหน มี 4 ช่องทางดังนี้
- ใครๆ ก็ให้ดาวได้ ชุมชนคนอ่านแข็งแรง
คะแนนห้าดาว สิบเต็มสิบ A+ 100% ที่สำนักต่างๆ มอบให้ อาจไม่มีความหมายอีกต่อไปเมื่อประชาชนเป็นคนลงคะแนนเองได้แล้ว พันเสียงที่ชอบใจอาจมีนํ้าหนักกว่านักวิจารณ์ผู้ทรงคุณวุฒิไม่กี่เสียง ไม่ต่างจากคนดูหนังที่เช็กเรตติ้งจาก Rotten Tomatoes หรือ IMDB ก่อนซื้อตั๋ว ผู้อ่านหนังสือก็มี Goodreads เป็นที่พึ่งทางใจ
Goodreads เป็นระบบรีวิวหนังสือโดยมวลชนชนาดใหญ่ที่สุด (ซึ่ง Amazon ได้ซื้อไปแล้ว) เกิดเป็นชุมชนนักอ่านมารีวิวให้คะแนนหนังสือ ให้คะแนนเต็ม 5 ดาว แสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ ตั้งปณิธานได้ว่าเราจะอ่านกี่เล่มต่อปี สนใจเล่มไหนก็หยิบเข้า Wishlist ได้ไม่สิ้นสุด ทำให้เราเห็นว่าเพื่อนอ่านอะไรและติดตามชีวิตการอ่านของเพื่อนได้ บางครั้งก็ได้อ่านความเห็นที่น่าสนใจ ความนานาจิตตังที่มีต่อหนังสือ 1 เล่ม ขอสารภาพว่าหลายครั้งไปร้านหนังสือแล้วมีหลายเล่มที่อยากซื้อ เลือกไม่ถูก ก็มาเปิดแอบดูรีวิวใน Goodreads หน่อยให้อุ่นใจ แต่ก็ฟังหูไว้หูนะ เพราะเมื่อเราอ่านเองถึงจะรู้เองจริงๆว่าชอบไม่ชอบ
ผลพลอยได้ในโลกที่ทุกคนแสดงความคิด มีความเห็น ผู้สร้างคอนเทนต์ต่างๆ สามารถเก็บฟีดแบ็กได้โดยไม่ต้องเดา แล้วนำไปปรับปรุงต่อไปแบบไม่ต้องมโนคิดเองเออเอง แม้เจ็บหน่อยเวลาโดนด่าแต่ก็ต้องทำใจ
- ส่งเสริมการสำส่อนทางรสนิยม
อินเทอร์เน็ตก็มีด้านโรแมนติกเหมือนกันเพราะมันทำให้เราสำส่อน แหวกว่ายวนไปในมหาสมุทรข้อมูลที่ไม่มีวันแห้ง ในอดีตเราอาจจะเคยพบหนังสือใหม่ผ่านมุม Best Sellers ในร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป เวลานี้ที่ชีวิตดำรงอยู่ในอากาศของโลกออนไลน์ ใครๆ ก็แนะนำเราได้ หนังสือที่อยากอ่านไม่ลดหายไป กลับเพิ่มทวีเป็นลิสต์อนันตกาลไม่สิ้นสุด จนสงสัยว่าต้องมีอายุขัยกี่ปี ถึงจะเพียงพอกับทุกเล่มที่อยากอ่าน อินเทอร์เน็ตพาเราไปพบซอกมุมหลืบที่นอกเหนือจากที่เพื่อนเราแนะนำ พาเราออกนอกลู่นอกทางไปพบหนังสือที่หลากหลาย หากไม่มีเน็ต เราอาจไม่ได้พบรักกับนักเขียนที่เรารัก เราพบ Tim Kreider ผ่านเรียงความของเขาใน New York Times ติดตามสาวเศร้าชีวิตอับเฉาผ่านทวิตเตอร์ So Sad Today ก่อนเธอจะออกหนังสือภายใต้ชื่อเดียวกัน
ตลาดเปลี่ยนไปแล้ว คนอ่านก็เปลี่ยนไปแล้ว อาจจะไม่มีอีกแล้วหนังสือที่ทุกคนต้องอ่าน เพราะความชอบความสนใจได้ถูกกระจายแบ่งไปหลายๆ ส่วน มีทางเลือกที่หลากหลาย มีความเป็นไปได้ใหม่ๆ อีกมาก
อย่าหวั่นไหวกับเทคโนโลยี
ความวิตกกลัวในเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกล้บไปสมัยกรีกโบราณ โสกราติสเคยเตือนไว้ว่า “การเขียน(Writing) จะทำให้มนุษย์ความจำไม่ดี” แต่ไม่ว่าโสกราตีสจะชอบหรือไม่ การเขียนก็ยังดำรงอยู่ตลอดมา อินเทอร์เน็ตอาจทดแทนหนังสือไม่ได้ แต่ก็เป็นตัวกลางให้ผู้ผลิตเนื้อหาสามารถเชื่อมกับคนอ่านได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ไจไจบุ๊คส์ ก็เป็นหนึ่งในสำนักพิมพ์เล็กที่เราจับตามาดูมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง แม้จะออกหนังสือมาน้อยเล่มต่อปี แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพทั้งเนื้อและหน้าตา ใส่ใจทำทุกกระบวน แม้จะประกอบด้วยผู้สร้างเพียง 2 คนคือ ธนาคาร จันทิมา และณัฐกานต์ อมาตยกุล เราเลยถามว่า “วงการหนังสือยังดีอยู่ไหมในสายตาพวกเขา?”
“เรามองว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจ สำนักพิมพ์ทั้งหลาย ได้คิดค้นพลิกแพลงหาวิธีทำหนังสือออกมาให้น่าสนใจที่สุด พิมพ์จำนวนปกน้อยลง แต่พิมพ์ในระยะหวังผลมากกว่าเดิม นั่นทำให้เราเห็นความคึกคักทั้งในแง่การออกแบบดีไซน์ การผลิตโปรดักต์ส่งเสริมการขาย กิจกรรมในโลกออนไลน์ รวมถึงเวทีเสวนาต่างๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของนักอ่าน สำหรับเราคิดว่าเป็นบรรยากาศที่คึกคักในแง่คุณภาพ แต่ปริมาณเราตอบไม่ได้
“เรื่องเราจะสู้กับของฟรีได้ไหม ถ้าวัดเป็นตัวเลข อาจตอบแบบเสียงอ่อยว่าคงไม่ได้ เช่น เทียบเวลาที่เขาอยู่ในเฟซบุ๊กกับอ่านหนังสือเล่มก็ดูเหมือนจะแพ้ แต่ถ้าเราเอาตัวไปชนงัดข้อกันกับของฟรี เราก็ไม่ได้อะไรเลย เราเชื่อว่าคนยังต้องการหนังสือ จะเพื่อฟังเสียงกระดาษ หรือเพื่อครอบครอง หรือเพื่อความถนัด ของฟรีเป็นสื่อกลางที่ดีที่พวกเขาจะได้เห็น ได้ยิน ได้รู้จักเรา”
เวลานี้อาจเป็นโอกาสดีสุดๆ ที่สำนักพิมพ์เล็กๆ นิตยสารเล็กๆ จะผุดเกิดขึ้นมาเป็นตัวเลือกใหม่ๆ ทดลองอะไรใหม่ๆ เพื่อตัวแทนของเสียงที่หลากหลาย ไม่ว่าหนังสือเราจะทำมือ หรือสั่งพิมพ์ จะพิมพ์ด้วยเทคนิคคราฟท์แค่ไหน เปล่งเสียงออกไปและสนุกกับโอกาสที่อินเทอร์เน็ตมีให้ส่งไปถึงหูของผู้อ่านที่อยากฟังเรา
อ้างอิงข้อมูลจาก
lostmagazine.org
readery.co
www.forbes.com
www.theguardian.com
www.chicagotribune.com
unenlightenedenglish.com
www.readingdesign.org
Cover Illustration by erdy