เมื่อวาน (21 กรกฎาคม) ข่าวการฆ่าตัวตายของ Chester Bennington นักร้องนำวง Linkin Park ทำให้แฟนๆ ของวงนี้โศกเศร้าเสียใจไปทั่วโลก ในตอนนี้ มีการรายงานข่าวการเสียชีวิตของเขาในรายละเอียดมากแล้ว ซึ่งผมจะขออนุญาตไม่กล่าวซ้ำในที่นี้ แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ในเวลาไม่นานนัก สังคมไทยก็กลับมาวิพากษ์วิจารณ์การเสียชีวิตครั้งนี้ด้วยมุมมองและกรอบแบบเดิม คือมุมมองเรื่อง ‘บาป-บุญ-ธรรมะ’ โดยมีดารานักแสดงสองคนที่พูดในเรื่องนี้พร้อมๆ กัน แม้จะแตกต่างในรายละเอียดและวิธีการตีความบ้าง แต่ก็ยังเป็นกรอบนี้
คุณพล่ากุ้ง (วรชาติ ธรรมวิจินต์) โพสท์ผ่านเพจเฟซบุ๊กว่าเป็นความเห็นส่วนตัวที่ “ไม่น่าทำแบบนี้ด้วยประการทั้งปวง ไม่เคารพการตัดสินใจของคุณ (เชสเตอร์) แม้แต่นิดเดียว” โดยให้เหตุผลว่า คนเบื้องหลังเดือดร้อน – มันเป็นเรื่องส่วนรวม – เพื่อนลำบาก – (มีการอีดิตเพิ่มว่า) เข้าใจว่าเป็นโรคซึมเศร้า แต่ตนไม่เคยเป็นเลยไม่รู้ว่าดำดิ่งขนาดไหน แต่หากเทียบกับการที่ตนเคยเครียดสุดๆ ในชีวิต ก็ยังไม่เลือกการฆ่าตัวตาย – พร้อมใช้แฮชแท็กกำกับว่า #บาปสุดๆ
หลังจากที่มีการวิจารณ์ถึงความไม่เข้าใจโรคซึมเศร้าของคุณพล่ากุ้ง คุณพล่ากุ้งก็ออกมาโพสท์อีกสเตตัสตอนบอกว่า “ผมแค่อยากบอกว่าการฆ่าตัวตายมันบาป” “การฆ่าตัวตายไม่ใช่จุดจบทางเดียว” ซึ่งก็ยังไม่พ้นจากกรอบเดิมๆ นัก
ในขณะเดียวกัน นอกจากคุณพล่ากุ้งแล้ว คุณอุ๋ย บุดด้าเบลส ก็ออกมาทวีตวิจารณ์ว่า “RIP CHESTER ชื่อเสียง เงินทอง ก็ไม่สามารถเติมเต็มจิตใจมนุษย์ได้อย่างแท้จริง” แล้วก็มีคนค้านกลับว่า “เขาป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ต้องพบแพทย์ ชื่อเสียง เงินทอง เติมเต็มสารสื่อนำประสาทได้หรือคะ”
—
การทดลองทางความคิดเรื่อง กล่องแมลงของวิกเกนสไตน์ (Beetle in a Box – Private Argument, Wittgenstein) พยายามชวนให้เราฉุกคิด ฉงนสงสัย ด้วยการเปรียบเทียบที่ตั้งคำถามขึ้นมาในใจว่า – “เราเคยเข้าใจความเจ็บปวดของคนอื่นจริงๆ หรือ”
ลองจินตนาการว่าคนทุกคนบนโลก ถือกล่องไว้คนละใบหนึ่ง กล่องนั้นใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แต่ไม่ว่ากล่องจะมีรูปร่างลักษณะต่างกันอย่างไร ทุกคนก็บอกว่า ในกล่องของตนมีสิ่งที่เรียกว่า “แมลง” (beetle) ด้วยกันทั้งนั้น ความแปลกประหลาดก็คือ ไม่มีใครเคยได้รับอนุญาตให้มองลอดเข้าไปในกล่องของคนอื่นเลยสักครั้ง แต่ละคนจะมองได้แค่ภายในกล่องของตนเองเท่านั้น
ถึงเราจะไม่เคยเห็นแมลงของคนอื่น ทุกๆ คน ก็สามารถพูดถึงเจ้าแมลงเต่าทองได้เหมือนกับรู้ความหมายซึ่งกันและกัน ว่าคำว่า “แมลงเต่าทอง” นี้หมายถึงอะไร ราวกับว่าคำว่า “แมลง” นี้เกิดความหมายร่วมกันในสังคม โดยที่ไม่ต้องมีใครใส่ใจว่าแมลงของใครจะหน้าตาเป็นอย่างไร
หนึ่งในการตีความของกล่องแมลงของวิกเกนสไตน์คือการบอกว่า “เราไม่สามารถเข้าใจได้หรอก ว่าการเป็นคนอื่นนั้นเป็นอย่างไร และเราก็ไม่สามารถรับรู้ประสบการณ์ใดๆ ในฐานะคนอื่นได้จริง”
หากเราลองเปลี่ยนคำว่า “แมลง” เป็นคำว่า “ความเจ็บปวด” (pain) หรืออารมณ์ความรู้สึกอื่นๆ ดู เราก็จะเห็นได้ว่าภาษาที่เราใช้สื่อสารซึ่งกันและกันนั้นมันล่อลวง และชวนให้เข้าใจผิดอย่างไร เราต่างพูดถึงความเจ็บปวดของคนอื่น โดยเทียบกับความเจ็บปวดของตนเอง หรือเทียบจากท่าทางสัญลักษณ์ภายนอก (ตั้งแต่ “มันดูเครียดๆ ว่ะแก” ไปจนถึงเสียงร้องโอดโอย) แต่เราก็ไม่เคยมีสิทธิ์มุดเข้าไปดูในกล่องของคนอื่นว่าเขามีแมลงเต่าทองรูปร่างลักษณะเดียวกับเราจริงไหม แท้จริงแล้ว “แมลงi” หรือ ความเจ็บปวดของเขาอาจเป็นสิ่งที่แตกต่างออกไปเลยก็ได้ เช่นเดียวกับคำว่า ‘ความทุกข์’ หรือ ‘ความเครียด’
การที่คุณพล่ากุ้งโพสท์บอกว่า ‘ผมไม่เคยเป็นโรคซึมเศร้า ผมเลยไม่เข้าใจว่ามันดำดิ่งขนาดไหน’ นั้นจึงเป็นความฉงนสงสัยที่ถูกต้องแล้วตามแนวคิดนี้ แต่ประโยคต่อมาเมื่อเขาเทียบการเป็นโรคซึมเศร้า กับภาวะเครียดของตนเอง (ที่ ‘ฉันยังผ่านมาได้เลย ยังไม่ฆ่าตัวตายเลย’) นั้นเขากลับล้มล้างประโยคก่อนหน้าไปเสียหมดสิ้น เพราะโรคซึมเศร้า กับความเครียดสุดๆ ของเขา อาจไม่สามารถเปรียบกันได้นัก
เมื่อข้อสรุปมาจบด้วยคำพิพากษาที่เขาใช้คำว่า “บาป” ก็ไม่แปลกที่สังคมจะโต้เขากลับด้วยความรุนแรงทัดเทียมกัน
ในบางความหมายแล้ว การแสดงออกของคุณอุ๋ย (“RIP CHESTER ชื่อเสียง เงินทอง ก็ไม่สามารถเติมเต็มจิตใจมนุษย์ได้อย่างแท้จริง”) อาจถูกเข้าใจว่าเป็นการถม-สำทับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าโพสท์ของคุณพล่ากุ้งก็ได้
ประโยคที่ว่า “ชื่อเสียง เงินทอง ไม่สามารถเติมเต็มจิตใจมนุษย์ได้อย่างแท้จริง” อาจทำให้หลายคนเข้าใจว่าคุณอุ๋ยกำลังพูดว่าเดิมที ใครคนใดคนหนึ่งไขว่คว้าชื่อเสียง เงินทอง แต่เมื่อพบว่ามันไม่ได้ ‘ให้’ อะไรอย่างที่คิด ใครคนนั้นจึงหาทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งอันที่จริงแล้ว สองสิ่งนี้ (ชื่อเสียง เงินทอง, การฆ่าตัวตาย) อาจไม่ได้มีส่วนสัมผัสเกี่ยวข้องกันใดๆ ก็ได้
คำถามก็คือ ทำไมเมื่อเกิดเหตุสลดอย่างการฆ่าตัวตาย เราจึงมักพุ่งไปหาข้อสรุปหรือข้อคิดอย่างเช่น “เห็นไหมลูก ถึงเขามีพร้อมทุกอย่างแต่เขาก็ยังฆ่าตัวตาย ความสำเร็จทางโลกไม่ได้เติมเต็มจิตใจ“ “การฆ่าตัวตายเป็นบาป” ฯลฯ ซึ่งอาจง่ายเกินไป และละเว้นข้อเท็จจริงของโรคซึมเศร้า หรือละทิ้งเงื่อนไขของสถานการณ์ที่แตกต่างกันกันไปในแต่ละบุคคลไปทั้งหมด
เหล่านี้ช่างเป็นข้อสรุปที่ดู ‘ถูกเสมอ’ ‘ชนะเสมอ’ และดูขรึมขลังด้วยอารมณ์แบบศาสนา แต่เมื่อพิจารณาจากบางมุม ก็อาจพบว่าในขณะเดียวกัน ภายใต้ท่าทางที่ดูเข้าอกเข้าใจโลกนั้น ก็คือความไม่พยายามที่จะเข้าใจอะไรก่อนออกมาวิจารณ์เลย
___
เพิ่มเติม 14.30 น. ปัจจุบัน อุ๋ย บุดด้าเบลส ได้ลบทวีตดังกล่าว พร้อมกับขอโทษ โดยบอกว่า “ไม่ทราบว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้า” และพล่ากุ้ง โพสท์สเตตัสขอโทษและ “ยอมรับในความไม่รู้” แล้ว