ไม่ทันข้ามคืนหลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีปากกรรไกรชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายน ปี 2016 ชนิดช็อกสายตาคนทั้งโลก ชาวอเมริกันเรือนหมื่นทั่วประเทศก็ออกมารวมตัวกันบนท้องถนน หลายคนตะโกนด่าทอคนที่พวกเขาไม่ได้เลือก บางคนระบายอารมณ์แค้นจนเกิดเป็นจลาจลย่อมๆ ประปรายหลายเมือง มิใยที่ ฮิลลารี คลินตัน ผู้ท้าชิงที่ปราชัย บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดี พร้อมด้วยบรรดาผู้นำพรรคเดโมแครตคนอื่นๆ จะออกมากล่าวปลอบประโลมและขอให้อยู่ในความสงบก็ตามที
ผู้ประท้วงจำนวนมากไม่โทษระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่อยากแสดงออกว่าเขาไม่ชอบประธานาธิบดีคนใหม่ พวกเขาประกาศว่าจะเป็น ‘ฝ่ายค้านที่จงรักภักดีต่อระบบ’ (loyal opposition) นั่นคือ จับตาตรวจสอบการใช้อำนาจของทรัมป์อย่างเข้มข้น ไม่ใช่เรียกรถถังหรืออำนาจนอกระบบใดๆ มาโค่นเขาลงจากอำนาจ
เหตุผลหนึ่งที่ชาวอเมริกันจำนวนมากเกลียดทรัมป์และรู้สึกวิตกกังวลกับอนาคตของประเทศภายใต้ประธานาธิบดีคนนี้ คือ ทรัมป์ไม่เพียงแต่มีนิสัยเอะอะมะเทิ่ง พูดก่อนคิดหรือเรียกเป็นภาษาบ้านๆ ว่า ‘ปากเสีย’ เท่านั้น แต่เขายังแสดงทัศนคติที่อันตรายหลายประการ โดยเฉพาะทัศนคติ ‘เหยียด’ (racist) คนหลายกลุ่มที่ไม่ใช่ผู้ชายผิวขาวอย่างเขา ตั้งแต่คนผิวดำ ผู้หญิง มุสลิม ชาวเม็กซิกัน ฯลฯ
ถึงแม้ว่าทรัมป์จะกล่าวปฏิเสธ (ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ ใครบ้างจะอยากยอมรับว่าตัวเองมีนิสัยเหยียดคนอื่น?) สำนักข่าวหลายค่ายก็รวบรวมตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทรัมป์ ตลอดจนอาณาจักรธุรกิจของเขา มีพฤติกรรมที่ส่อว่า ‘เหยียด’ อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สมัยที่เขาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารเคยถูกฟ้องถึงสองคดีในทศวรรษ 1970 ข้อหากีดกันคนผิวดำไม่ให้มาเช่าอพาร์ตเม้นท์ ด้วยการโกหกว่าไม่มีห้องว่าง พอทรัมป์มาทำธุรกิจคาสิโนก็บอกว่า “คนผิวดำมีสันดานขี้เกียจ” (ทัศนคติเหยียดที่ฝังรากลึกมากมักจะตั้งอยู่บนความเชื่อใน ‘การเหมารวม’ หรือ stereotype ทำนองนี้ว่าเป็นความจริง และทุกคนเป็นแบบนี้หมด) ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทคาสิโนของทรัมป์ก็เคยถูกทางการปรับเป็นเงิน 200,000 เหรียญสหรัฐในปี 1992 เพราะผู้จัดการยอมย้ายดีลเลอร์ผิวดำไปโต๊ะอื่น ตามคำขอของนักพนันกระเป๋าหนัก
ในเมื่อการเหยียดเป็นทัศนคติที่สร้างปัญหาหลายอย่างให้กับคนที่ถูกเหยียดในชีวิตจริง บางครั้งส่งผลถึงชีวิต สื่อที่ตอกย้ำหรือค้ำจุนทัศนคติดังกล่าวจึงย่อมจะถูกเพ่งเล็งหรือต่อต้าน โดยเฉพาะจากคนที่เคยประสบภัยจากทัศนคติแบบนี้ และคนที่เกลียดการเหยียดทุกรูปแบบ
เกมคอมพิวเตอร์ ในฐานะสื่อที่ทรงอิทธิพลในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ จึงหนีไม่พ้นที่จะถูกเพ่งเล็งจากสังคมเช่นกัน
ในประวัติศาสตร์อันแสนสั้น มีน้อยเกมที่จะตกเป็นเป้าการโจมตีเรื่องการเหยียดผิวและการตีตราเหมารวมมากเท่ากับซีรีส์ Grand Theft Auto ย่อว่า GTA เกมซิ่งแหลก-แหกด่าน-อันธพาลครองเมืองจากค่าย Rockstar Games ผู้จุดกระแสเกม ‘โลกเปิด’ หรือ open world ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การมอบอิสรภาพสูงมากให้กับคนเล่น
Grand Theft Auto V เกมล่าสุดในซีรีส์ ออกปี ค.ศ. 2013 ทำสถิติเกมที่ขายดีที่สุดเร็วที่สุด เพียงสามวันทำรายได้ถล่มทลายกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นับถึงวันนี้ขายไปแล้วกว่า 70 ล้านก๊อปปี้ ขึ้นทำเนียบเกมที่ขายดีที่สุดในโลก
วางจำหน่ายได้ไม่นาน เกมเมอร์หลายคนก็เริ่มสังเกตว่า ตัวละครที่เราคุมไม่ได้ (non-player character ย่อว่า NPC) ในเกมนี้จำนวนมากแสดงทัศนคติเหยียดผิวอย่างชัดเจนต่อแฟรงคลิน (Franklin) ตัวละครผิวดำที่เราเป็นคนควบคุม (เกมนี้มีตัวละครสามตัวให้เลือกเล่น แฟรงคลินเป็นคนผิวดำคนเดียว อีกสองคนผิวขาว) ไม่เว้นแม้แต่ตำรวจ
ตำรวจบางคนในเกมนี้จู่ๆ จะปรี่เข้ามาทำร้ายร่างกายแฟรงคลินอย่างไม่มีเหตุผล บางทีแฟรงคลินจะถูกทำร้ายร่างกายโดยคนเดินถนนผิวขาว พอตำรวจมาถึง แทนที่จะจับคนที่มาทำร้าย กลับบอกให้แฟรงคลินยกมือขึ้น เรา (คนที่เล่นเป็นแฟรงคลิน) คิดว่าไม่เป็นไรน่า เราไม่ได้พกอาวุธ แต่พอยกมือขึ้นอย่างว่าง่าย ตำรวจดันตะโกน “เขามีปืน!” แล้วก็เปิดฉากยิงเราดื้อๆ
กรณีแบบนี้ไม่เกิดกับตัวละครผิวขาวอีกสองคนที่เราควบคุมได้ และยูทูบก็มีตัวอย่างของ ‘การสันนิษฐานว่าทำความผิดบนพื้นฐานของสีผิวอย่างเดียว’ หรือ racial profiling ทำนองนี้มากมาย คลิปที่กลายเป็นไวรัลและจุดประกายวิวาทะอย่างกว้างขวาง คือคลิปสั้นความยาวไม่ถึง 30 วินาที อัพโหลดโดย scudpunk ซึ่ง ณ วันนี้มีคนดูไปแล้วกว่า 1.5 ล้านครั้ง
ในคลิปนี้ แฟรงคลินเพียงแต่เดินเข้าไปทักทายตำรวจผิวขาว NPC คนหนึ่งว่า “เฮ้ หมวด ดูแลความปลอดภัยให้เราหน่อยนะ”
แค่นี้เอง ตำรวจก็ชักปืนออกมา ตะโกน “เฮ้ย! เกินไปแล้ว! มึงคิดว่ามึงเป็นใครวะ?!?” แล้วยิงเขาทิ้งต่อหน้าต่อตา
รายการ Game Theory (ไม่เกี่ยวอะไรกับคอลัมน์นี้ ชื่อบังเอิญเหมือนกันเฉยๆ) ในยูทูบ พยายามทดสอบสมมุติฐานที่ว่า ‘ตำรวจใน GTA V เหยียดผิว’ ด้วยการทดลองอย่างเป็นระบบ โดยให้ตัวละครคุมได้ทั้งสามคนประพฤติตนแบบเดียวกันต่อหน้าตำรวจในเกม แล้วบันทึกว่าเกิดอะไรขึ้น ผลการทดลองปรากฎว่า แฟรงคลินถูกตำรวจเล่นงานเท่ากับเทรเวอร์ (Trevor) แต่น้อยกว่า ไมเคิล (Michael) ตัวละครผิวขาวที่เราคุมได้อีกสองคน แต่มันก็พิสูจน์อะไรไม่ได้เพราะสุ่มข้อมูลมาเพียง 15 ตัวอย่าง (แต่บอกได้ว่ามีคนสนใจประเด็นนี้มากขนาดไหน – คลิปดังกล่าวของ Game Theory มีคนดูไปแล้วกว่า 6.3 ล้านครั้ง)
บางคนคิดในแง่ดีว่า Rockstar Games อาจจะตั้งใจโค้ดทัศนคติเหยียดผิวเข้าไปในเกม เพื่อสร้างประสบการณ์การเล่นที่ ‘สมจริง’ มากที่สุด เพราะใครๆ ก็รู้ว่า แคลิฟอร์เนียตอนใต้รวมถึงมหานครลอสแองเจลิส ซึ่งถูกใช้เป็นฉากในเกมนั้น ในความเป็นจริงก็มีปัญหาตำรวจเหยียดผิว ความรุนแรงจากแก๊งอันธพาล ค้ายาเสพติด ฯลฯ มากมาย ถ้าตำรวจในเกมนี้ไม่มีใครเหยียดผิวเลย มันจะสมจริงได้อย่างไร?
แต่ทีมผู้ออกแบบออกมาปฏิเสธเรื่องนี้อย่างแข็งขัน คนเล่นเลยต้องล่าถอยไปตั้งข้อสังเกต ตั้งทฤษฎีสมคบคิดกันต่อไป
อันที่จริง GTA V ไม่ใช่เกมแรกในซีรีส์นี้ที่จุดประกายการถกเถียงเรื่องการเหยียดและการเหมารวม ก่อนหน้านี้เกม Grand Theft Auto III ก็ตกเป็นเป้าโจมตีในเรื่องเดียวกัน เพราะภารกิจแรกที่ให้ตัวละครผิวดำทำคือ… ขโมยรถจักรยาน
หลายคนบอกว่า ทำแบบนี้เท่ากับตอกย้ำการเหมารวมหรือ stereotype ที่ว่า ‘คนผิวดำขี้ขโมย’
แต่ในขณะที่หลายคนถกเถียงกันว่า GTA เหยียดผิวจริงหรือเปล่า เกมเมอร์อีกจำนวนไม่น้อยก็ยักไหล่แล้วถามว่า แล้วไง?
ซีรีส์นี้ทั้งซีรีส์ให้เราทำอะไรๆ มากมายที่สังคมไม่ยอมรับ ตั้งแต่ขโมยรถ ขับรถชนคนตาย ยิงคน ยิงตำรวจ ปล้นร้านค้า ฯลฯ แล้วทำไมใครถึงต้องรู้สึกแย่เป็นพิเศษถ้ามีการเหยียดผิวในเกม ในเมื่ออาชญากรรมเหล่านี้ดูแย่กว่ากันเยอะ? เรากำลัง ‘หน้าไหว้หลังหลอก’ อยู่หรือเปล่า? หมกมุ่นกับ ‘ความถูกต้องทางการเมือง’ หรือ political correctness เกินเลยไปหรือไม่?
การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ทำให้เรามีแนวโน้มที่จะ ‘เหยียด’ คนอื่นมากขึ้นจริงหรือ ในเมื่อเกมก็คือเกม?
งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2012 จากมหาวิทยาลัยมลรัฐโอไฮโอ ตอบว่า “ได้” !
การทดลองนี้นำโดย ดร. แบรด บุชแมน (Brad Bushman) ให้นักศึกษาผิวขาวจำนวน 126 คน (ในจำนวนนี้ 60% เป็นผู้ชาย) เล่นเกมแอ๊กชั่น Saints Row 2 เป็นเวลา 20 นาที โดยที่นักวิจัยสุ่มเลือกตัวละครให้ ว่าจะเล่นเป็นคนผิวขาวหรือผิวดำในเกม นักศึกษาต้องเล่นตามเป้าหมายที่ถูกกำหนดมา เช่น แหกคุก ทำร้ายผู้คุมที่มาขวาง หรือพยายามหาโบสถ์และพยายามไม่ทำร้ายใครเลย จากนั้นผู้วิจัยก็ถามคำถามซึ่งถูกออกแบบมาวัดทัศนคติต่อคนผิวดำ และพบว่าคนที่ควบคุมตัวละครผิวดำมีทัศนคติเชิงลบต่อคนผิวดำมากกว่าคนที่เล่นเป็นตัวละครผิวขาวมาก เช่น เชื่อว่าคนผิวดำมีแนวโน้มที่จะ ‘ก่อความรุนแรง’ มากกว่าคนผิวสีอื่น
อย่างไรก็ดี งานวิจัยชิ้นนี้ยังมีข้อโต้แย้งมากมาย โดยเฉพาะในเมื่อผู้วิจัยใช้วิธีทดลองแบบเชื่อมโยงโดยนัย หรือ Implicit Association Test (IAT) ซึ่งพยายามศึกษาบทบาทของจิตใต้สำนึก ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่า ยังไม่ชัดเจนว่า IAT มีความสัมพันธ์กับการเหยียดผิวและการเหมารวมในโลกจริงหรือไม่ พูดอีกอย่างคือ มันเป็นวิธีทดสอบที่น่าสนใจ แต่ยัง ‘พิสูจน์ความคิดเชิงลบที่เกี่ยวกับสีผิว’ ไม่ได้ และโดยรวมยังไม่สามารถคาดการณ์พฤติกรรม ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ
ผู้เล่นที่ควบคุมตัวละครผิวดำอาจแสดงทัศนคติเชิงลบหลังจากเล่นเกมเพราะเขามีทัศนคติเชิงลบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เกมไม่ได้ทำให้ความคิดของเขาเปลี่ยนแปลงไป หรือทำให้เหยียดผิว ‘มากขึ้น’ แต่อย่างใด
วิทยาศาสตร์ที่ศึกษาผลกระทบของเกมต่อพฤติกรรมของมนุษย์ยังคงต้องพัฒนาไปอีกไกล แต่วิวาทะและการโต้เถียงเรื่องการเหยียดผิวใน GTA V ก็ทำให้เห็นว่า เราสามารถเอาฐานคิด (preconceptions) ต่างๆ ของเราใส่เข้าไปในเกมเวลาเล่น โดยที่ตัวเองไม่รู้ตัวได้ขนาดไหน อีกทั้งนักออกแบบเกมวันนี้จำเป็นจะต้องขบคิดถึงประเด็นอื่นๆ อีกมากมายนอกเหนือจาก ‘ความสนุก’ และ ‘ความสมจริง’ ในยุคที่กราฟฟิกของเกมสมจริงขึ้นเรื่อยๆ และ virtual reality กำลังจะกลายเป็นกระแสหลัก
ในฐานะคนเอเชียที่เซ็งจนชินแล้วกับการเหมารวม ‘คนเอเชีย’ และ ‘ผู้หญิง’ ในเกมส่วนใหญ่ ผู้เขียนเห็นว่าการเหมารวมที่น่าเบื่อหน่ายเหล่านี้ (ไม่ว่ามันจะมีส่วนซ้ำเติมพฤติกรรมเหยียดคนในโลกจริงหรือไม่) สามารถปลาสนาการไปได้ง่ายๆ หรืออย่างน้อยก็บรรเทาเบาบางลงได้ ด้วยการให้ค่ายเกมทั้งหลายเพิ่มความหลากหลายทั้งทางสีผิว เชื้อชาติ และเพศในทีมออกแบบ แทนที่จะให้ผู้ชายผิวขาวชนชั้นกลางเป็นแกนหลักอย่างที่แล้วมา
ดีไซเนอร์จะได้สามารถก้าวข้ามการเหมารวมจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง ไปมองเห็นตัวตนที่แท้จริงของคนอื่น.