หลายปีก่อน ผมเคยไปร่วมงานเสวนาว่าด้วยภาพยนตร์แห่งหนึ่ง วิทยากรได้เอ่ยนาม ‘จำรัส สุวคนธ์’ พร้อมกล่าวถึงทำนอง ช่างน่าเสียดายเหลือเกิน ไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวของเขาผู้นี้ ทั้งๆ ที่เป็นดาราภาพยนตร์และพระเอกคนสำคัญยุคแรกเริ่มของเมืองไทย ฟังเช่นนั้น ผมพลันหวนนึกถึงเอกสารและหนังสือเก่าๆ จำนวนไม่น้อยซึ่งเคยผ่านตาแล้วพบชื่อจำรัสซ้ำบ่อย นั่นล่ะ จึงนำมาสู่ความพยายามเรียบเรียงเนื้อหาจนกลายเป็นตัวอักษรปรากฏเบื้องหน้าคุณผู้อ่าน
ใครกันเล่า จำรัส สุวคนธ์?
เขาคือนักแสดงภาพยนตร์ชายคนสำคัญช่วงปลายทศวรรษ 2470 ถึงต้นทศวรรษ 2480 สังกัดอยู่บริษัทภาพยนตร์ไทยเสียงศรีกรุงของ มานิต วสุวัติ ค่ายหนังที่เริ่มพยายามสร้างภาพยนตร์ให้มีเสียงแทนที่ภาพยนตร์เงียบซึ่งแพร่หลายในสังคมไทยในช่วงทศวรรษ 2460 เป็นต้นมา โดยเน้นจัดสร้างภาพยนตร์ที่มีเสียงเพลงประกอบ
เดิมที จำรัส สุวคนธ์ หาใช่นักแสดงระดับพระเอก เขาปรากฏตัวครั้งแรกในฐานะผู้ร่วมแสดงประกอบภาพยนตร์ เลือดชาวนา ออกฉายเมื่อเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2479 ความที่เขาเป็นคนน้ำเสียงไพเราะกังวาน มีลักษณะเสียงสูงแบบเทเนอร์ (Tenor) จึงได้ร้องเพลงชื่อ ‘ตะวันยอแสง’ แทรกไว้ในหนังดังขึ้นต้นท่อนแรกว่า
ดู ซิดู โน่นซี สุรีย์ศรี กำลังยอแสง
เหลือง สลับแดง แฝงแสง อยู่ดูรอน รอน
งาม จริงยิ่งงาม ชมยิ่งงาม ยามจากจร
สี สอด สลับซับซ้อน ตอนจะลับเหลี่ยม ภูผา
ลม พัด สะบัดช่อจำปีจำปา หอม กลิ่นบุปผา
ลม พา พัดมารอน รอน…
บังเอิญว่าบทเพลงข้างต้นถูกนำไปร้องต่อติดปากกันไม่น้อย และจำรัสได้กลายเป็นที่จดจำของผู้ชมจนก้าวสู่ความเป็นดาราส่องแสงขึ้นมาฉับพลันจากการแสดงหนังเป็นเรื่องแรก (ภายหลัง เสนีย์ เสาวพงศ์ยังนำเอาเพลงนี้ไปเขียนรำลึกถึงไว้ในหนังสือของเขาด้วย)
นับแต่นั้น จำรัสก็ได้รับการส่งเสริมให้แสดงเป็นพระเอกในภาพยนตร์ เริ่มจากกำหนดให้เขาแสดงคู่กับนางเอกสาวที่กำลังมีชื่อเสียงอย่าง มานี สุมนนัฏ ในภาพยนตร์รักระคนตลกขบขันเรื่อง กลัวเมีย (พุทธศักราช 2479) พอเข้าโรงฉายก็ทำรายได้ถล่มทลายให้กับบริษัทภาพยนตร์ไทยเสียงศรีกรุงทันที ชื่อของจำรัส สุวคนธ์จึงขึ้นแท่นพระเอกเนื้อหอมยอดนิยมแห่งสยาม อีกทั้งจำรัสและมานียังกลายเป็นดาราคู่ขวัญ ซึ่งถือเป็นคู่แรกของเมืองไทยเลย ก่อนที่ต่อมาภายหลัง แวดวงบันเทิงจะดาษดื่นไปด้วยดาราคู่ขวัญชายหญิงมากมาย อย่างเช่น ถ้าในปัจจุบันนี้ ก็ย่อมมิพ้น ณเดชน์ และญาญ่า
ทางบริษัทภาพยนตร์ไทยเสียงศรีกรุงมีหรือจะรอช้า ตัดสินใจลงทุนสร้างภาพยนตร์ให้จำรัส สุวคนธ์เป็นพระเอกแสดงคู่กับนางเอกนามมานี สุมนนัฏอีก ภาพยนตร์เรื่องนั้นทางค่ายศรีกรุงตั้งใจมากยอมลงทุนเงินเยอะและใช้เวลาสร้างกว่าครึ่งปี ชื่อเรื่องว่า เพลงหวานใจ ออกฉายเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2480 ในฐานะพระเอกรูปหล่อเสียงดี จำรัสร้องเพลงประกอบเสียจนหวานวาบเข้าไปในหัวใจผู้ชมที่ได้รับฟัง หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างถึงที่สุดในยุคนั้น
คำว่า ‘หวานใจ’ ในช่วงทศวรรษ 2470 และต้นทศวรรษ 2480 นี้ อาจินต์ ปัญจพรรค์เล่าว่าเกิดจากเมื่อหนังฝรั่งเข้ามาเมืองไทยถี่ๆ นั้น ชื่อหนังและชื่อเพลงมีคำว่าสวีตฮาร์ต (sweetheart) หรือ หวานใจ บ่อยๆ จึงกลายมาเป็นถ้อยคำใช้เรียกแทนคนรัก กระทั่ง ไม้ เมืองเดิม เจ้าของผลงาน แผลเก่า ต้นตำรับแห่งอ้ายขวัญอีเรียมแห่งทุ่งบางกะปิ สมัยเขาเพิ่งเขียนนวนิยายเรื่องแรกๆ โดยใช้นามปากกาอื่น ก็เคยใช้คำว่า ‘หวานใจ’ มาเขียนถึงกรณีหญิงรักหญิงของแม่สาวชาววัง หรือหากจะเรียกในอีกคำที่หลายคนคุ้นเคยก็คือการ ‘เล่นเพื่อน’ โดยใช้ถ้อยคำเรียกขานพวกเธอว่า ‘แม่หวานใจกันเอง’ ซึ่งนวนิยายเรื่องนั้นต้องรองรับเสียงด่าถล่มเสียยับเยิน
จำรัสและมานี คงจะเป็นคู่ขวัญกันไปอีกนาน ถ้ามานีไม่ตัดสินอำลาวงการภาพยนตร์ไปแต่งงานมีครอบครัวภายหลังแสดงภาพยนตร์เรื่อง หลอกเมีย คู่กันอีกหนในปีพุทธศักราช 2481 เธอหายหน้าไปจากแวดวงบันเทิง ขณะที่จำรัสยังคงเนื้อหอมโลดแล่นในแวดวงนี้ไปเรื่อยๆ ตราบกระทั่งสื่อบันเทิงทั้งหลายหยุดชะงักลงในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2
สละ ลิขิตกุล ผู้เป็นนักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าเคยเขียนพาดพิงถึงเพื่อนร่วมเที่ยวเตร่เชิงเพลย์บอยอย่าง จำรัส สุวคนธ์ โดยเล่าการที่พระเอกภาพยนตร์หนุ่มชักชวนเขาไปเที่ยวบาร์เฉลิมกรุง อีกครั้งในคราวที่จำรัสได้รับเชิญให้ไปร้องเพลงในงานวันเกิดคหบดีผู้ครองบรรดาศักดิ์คุณหลวงรายหนึ่ง ณ บ้านฝั่งธน สละก็ติดสอยห้อยตามไปด้วย งานนั้นมีความแปลกประหลาดนัก จัดขึ้นบริเวณสวนของทนายความเลื่องชื่อคนหนึ่ง ห้ามคนในออกและห้ามคนนอกเข้า แขกที่มางานล้วนเป็นผู้ชาย ห้ามผู้หญิงและเด็กล่วงล้ำเด็ดขาด ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อถึงประตูหน้างานจะต้องถอดเสื้อผ้าทั้งหมดฝากไว้ตรงห้องพักแล้วเดินโทงๆ เข้าไป ทั่วทั้งงานแลเห็นแต่คนเปลือยกาย จัดผู้หญิงสาวๆ สวยๆ ไว้คอยบริการดูแลแขก พวกเธอทุกคนล่อนจ้อนเช่นเดียวกัน ถือถาดแก้วเหล้าเดินบิดไปบิดมากลางแสงไฟสลัวๆ ส่งเสียงหัวเราะคิกคัก ขณะที่จำรัสต้องไปยืนเปล่าเปลือยจับไมโครโฟนร้องเพลงต่อหน้าแขกในงาน ท่ามกลางนักดนตรีนั่งบรรเลงเพลงปราศจากเสื้อผ้า ครั้นถึงดึกดื่นเลยเที่ยงคืนไปแล้ว งานวันเกิดกลับยิ่งวิตถารมากขึ้นด้วยการให้สาวๆ ล่อนจ้อนป่ายปีนต้นมะพร้าว พวกแขกผู้ชายตบมือส่งเสียงร้องเกรียวกราว ใช้ไฟฉายส่องดูด้านล่างของพวกเธอ หากสาวใดปีนไม่ไหวตกลงมาก็มีคนคอยรับ ส่วนมากสาวๆ จะปีนกันได้ไม่เกินหนึ่งเมตร แม้สละมิได้ระบุว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อใด กระนั้นตามความเห็นของผม คงเป็นช่วงก่อนหน้าสงครามหรือไม่เกินก่อนสิ้นสุดสงคราม โลกครั้งที่ 2
จำรัส สุวคนธ์ยังเป็นพระเอกนักร้องเพลงสากลที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสำหรับนักฟังวิทยุ ซึ่งยุคนั้นคือสื่อบันเทิงหมาดใหม่ เพราะเพิ่งจะปรากฏในสังคมไทยช่วงต้นทศวรรษ 2470 ราวๆ ปีพุทธศักราช 2472-2473
ครั้นพอคนเริ่มหลงใหลวิทยุแล้ว ทางผู้จัดก็จำเป็นต้องหานักร้องมาร่วมถ่ายทอดการกระจายเสียงเนืองๆ ‘ศุกรหัศน์’ หรือจมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) บอกเล่าไว้ในรายการ ‘รอบเมืองไทย’ ของมูลนิธิ ก.ส.ม. ช่วงต้นปีพุทธศักราช 2501 ว่า
“คราวหนึ่ง ม.ล. ทองอยู่ เสนีย์วงศ์ เจ้าของคณะละครวิทยุศุภลักษณ์ นำละครดนตรีสมัยใหม่มาส่ง ตรวจบทอนุมัติแล้ว คณะนั้นมีคุณจำรัส สุวคนธ์ นักร้องหมายเลข ๑ เวลานั้นเป็นพระเอก กับคุณสมจิตต์เป็นนางเอก คุณเกษม มิลินทจินดา เป็นคนคลอปิอาโน พอเปิดฉากก็ร้องเพลงสากล ๑ เพลง แล้วเจรจา เพลงที่ส่งตรวจไว้มีบทประพันธ์ราวๆครึ่งหน้า ร้องอย่างนานก็ราว ๕ นาที แต่วันนั้นคุณจำรัส สุวคนธ์ ร้องเสียเกือบ ๒๐ นาที หม่อมหลวงทองอยู่หัวเสีย พวกเจ้าหน้าที่ก็รำคาญเพราะเพลงยาวไป ได้ความว่าเนื้อร้องคือบทประพันธ์กับบทเจรจา เขาพิมพ์ไว้ติดกันไม่ย่อหน้าคั่น คุณจำรัสนึกว่า บทเจรจาเป็นคำร้องไปด้วย ก็ร้องเรื่อยไป เพราะเพลงสากลสมัยนั้นเรียกว่าทำนองลอยลม ร้องอย่างไรก็ได้ ฟังให้มีชาปมีแฟลตเป็นเพลงฝรั่งก็พอ เจ้าหน้าที่ไปถามคุณเกษมว่า ทำไมคลอปีอาโนไปได้ คุณเกษมตอบว่าเขาลอยลมมา ผมก็ลอยลมไป…”
มิหนำซ้ำ เสริมเข้าอีกถึงกรณีที่แฟนๆ สาวๆ ทางวิทยุได้มาแสดงความคลั่งไคล้จำรัสกันถึงหน้าสถานีเลยทีเดียว
“…พูดถึงคุณจำรัส สุวคนธ์ ถ้าอยู่มาได้ถึงยุคนี้ก็คงรวย สมัยนั้นพอเสียงคุณจำรัสออกอากาศ แฟนทั้งสาวทั้งแก่มาคอยรับอยู่หน้าสถานีคับคั่ง บางคราวคุณจำรัสต้องหนีออกทางด้านหลังห้องส่งเพราะทนแฟนรบเร้าไม่ไหว ผู้เล่าค่อนข้างเห็นใจ เพราะยังรู้สึกว่าเสียงดีจริงๆ ฉลาดร้อง แล้วก็รูปงามอย่างที่เรียกกันสมัยนี้ว่าหล่อเอาจริงๆ เป็นพระเอกของภาพยนตร์เสียงศรีกรุง…”
จำรัส สุวคนธ์ ยังคงถูกเอ่ยถึงอยู่บ้างในปัจจุบันด้วยฐานะพระเอกภาพยนตร์และนักร้องเสียงเสน่ห์ แต่อีกบทบาทสำคัญหนึ่งของเขาซึ่งแทบจะไม่ค่อยมีใครล่วงรู้เลยคือ เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญด้วย
จำรัสทำงานประจำหนังสือพิมพ์ในเครือบริษัทศรีกรุง ทั้งหนังสือพิมพ์ ศรีกรุงและ สยามราษฎร์ สละ ลิขิตกุลนอกจากจะเป็นเพื่อนร่วมเที่ยวร่วมเมาหัวราน้ำก็ยังเป็นเพื่อนร่วมทำงานด้านน้ำหมึกกับจำรัส ให้เหตุผลที่พระเอกภาพยนตร์ก้าวสู่วิถีนักหนังสือพิมพ์ว่า
“สมัยนั้น ปีหนึ่งๆ มีภาพยนตร์ของบริษัทภาพยนตร์ไทยเสียงศรีกรุงออกมาเพียงเรื่องเดียว ไม่ได้มีภาพยนตร์ไทยออกมาเป็นครอกๆ เหมือนอย่างทุกวันนี้ เมื่อจำรัสว่างงานจากการแสดงเป็นตัวพระเอกในภาพยนตร์แล้ว คุณมานิต วสุวัติจึงให้จำรัสมาทำงานหนังสือพิมพ์ อันเป็นบริษัทเครือเดียวกัน เพื่อเก็บตัวไว้ไม่ให้จำรัสไปไหนโดยทางอ้อม เมื่อถึงคราวจำรัสจะสร้างภาพยนตร์ จำรัสก็ต้องละงานหนังสือพิมพ์ไปแสดงเป็นพระเอก”
คอลัมน์ประจำที่จำรัสเขียนในหนังสือพิมพ์คือรายงานความเป็นไปในพระนครประเภทที่เรียกว่า ‘ข่าวสังคม’ เป็นต้นว่า คนดังในสังคม ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เช่น พระเอกหนุ่มคนไหนควงแม่สาวคนไหนไปกินข้าวที่ภัตตาคารไหน ตลอดจนกิริยาท่าทางกระซี้กระซิกของพวกเขาพวกเธอ เป็นต้น ซึ่งในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ยึดถือกันว่าต้นตำรับของผู้เริ่มเขียนข่าวแบบนี้ ได้แก่นักเขียนสำนวนสะวิงอดีตนักเรียนฟิลิปปินส์อย่าง วิตต์ สุทธเสถียร ที่เขียนในช่วงกลางๆ ทศวรรษ 2480 จวบจนทศวรรษ 2490 แต่สละ ลิขิตกุลกลับยืนยันว่าคนแรกสุดไม่พ้นจำรัส สุวคนธ์ และคอลัมน์แบบนี้เกิดขึ้นในหนังสือพิมพ์ศรีกรุงก่อนที่อื่นๆ ผมเองยังตามหาหลักฐานมาชี้ชัดตรงจุดนี้ไม่ได้ ขอเก็บเป็นการบ้าน ถ้าพบเมื่อใดจะรีบมาเขียนเล่าสู่คุณผู้อ่านให้แจ่มกระจ่างเชียวครับ
อย่างไรก็ดี จำรัสเขียนคอลัมน์ ‘ข่าวสังคม’ อยู่ได้มิทันนาน มานิต วสุวัติเจ้าของหนังสือพิมพ์ก็ออกคำสั่งให้หยุดเขียน เพราะมีคนเขียนมาติติงทางกองบรรณาธิการเยอะแยะ ทำนองว่าข่าวแบบนี้ไปสร้างความร้าวฉาน ทำให้ผัวเมียทะเลาะกัน หย่ากันไปหลายคู่แล้ว
ชีวิตของจำรัส สุวคนธ์เห็นจะบันเทิงสำเริงสำราญไปอีกนานโข ถ้าเงื้อมเงาแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มาเยี่ยมกรายเมืองไทย และอย่างไม่คาดนึกว่าพระเอกหนุ่มรูปหล่อเสียงดีที่เรืองโรจน์ในต้นทศวรรษ 2480 จะมาสิ้นบุญเอาช่วงปลายทศวรรษเดียวกัน
วาระสุดท้ายของจำรัส สุวคนธ์เป็นสิ่งที่น่าเศร้า และคนรุ่นหลังๆ ไม่ค่อยทราบเท่าไหร่ สละ ลิขิตกุล เปิดเผยว่า “จำรัสตายเพราะโรคหัวใจ (วาย)” ซึ่งศพของอดีตพระเอกภาพยนตร์รูปหล่อนั้น “…นำไปบำเพ็ญกุศลที่วัดไตรมิตร มีคนไปงานศพเขามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกหนังสือพิมพ์รุ่นๆ เดียวกัน”และในงานศพ มีผู้หญิงสาวๆ สวยๆ ไปร่วมอาลัยกันหลายคน พวกเธอพากันร้องไห้ในแบบที่ “ร้องชนิดปล่อยโฮ โฮ ไม่อับอายใคร” อันที่จริง ตอนพระเอกหนุ่มยังมีชีวิตอยู่ เขามีสาวๆ มาติดพันมากมาย แต่กลับไม่ปรากฏเธอคนใดที่เขาร่วมเคียงคู่อย่างจริงจังเลย
ขณะที่เลียว ศรีเสวก เจ้าของนามปากกา ‘อรวรรณ’ ให้ข้อมูลว่า จำรัส สุวคนธ์ ถึงแก่มรณกรรมในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้น ซึ่งเขาไปนอนป่วยในโรงพยาบาลศิริราชแล้วเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดลงอย่างฉิวเฉียด อาจเป็นไปได้ที่อดีตพระเอกภาพยนตร์รู้สึกตกใจจนเสียชีวิต
อ้อ! ผมควรจะอธิบายเสริมสักหน่อยครับ บริเวณใกล้โรงพยาบาลศิริราชรวมถึงฝั่งตรงข้ามอย่างท่าพระจันทร์ถือเป็นพื้นที่ถูกเครื่องบินมาทิ้งระเบิดรุนแรงในค่ำคืนหนึ่ง ทั้งๆ ที่ปกติแล้วท่าพระจันทร์เป็นแหล่งสำหรับหลบภัยลูกระเบิด คนไทยสมัยนั้นเชื่อว่าบริเวณนี้ต้องปลอดภัยแน่ๆ เพราะว่าอยู่ใกล้โรงพยาบาลศิริราช เลยมีคนมารวมตัวกันจำนวนมาก แต่ที่ไหนได้ครับ คืนหนึ่ง ท่าพระจันทร์ได้ถูกทิ้งระเบิดทิ้งเต็มๆทำให้มิแคล้วมีคนตายเยอะ ครูเวส สุนทรจามร นักแต่งทำนองเพลงให้กับวงดนตรีสุนทราภรณ์หลายเพลง เฉกเช่น บุพเพสันนิวาส, พรหมลิขิต และริมฝั่งน้ำ ได้เล่าย้อนความหลังไว้ว่า
“ตามปกติเมื่อเสียงหวอดังขึ้น ข้าพเจ้าจะไปนอนที่โป๊ะท่าพระจันทร์ และที่ท่าพระจันทร์นี่คนส่วนมากมักจะไปหลบกันอยู่ เพราะคิดกันว่าข้าศึกคงไม่มาทิ้งระเบิดในบริเวณนี้ เพราะท่าพระจันทร์ตั้งอยู่ตรงข้ามกับโรงพยาบาลศิริราช ข้าศึกคงไม่มาทิ้งระเบิดแน่ แต่ที่ไหนได้ พอเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่ท่าพระจันทร์ คนที่มาหลบอยู่ที่นี่ก็ตายนับเป็นร้อยๆ นับว่าตายกันเป็นประวัติการณ์ บังเอิญคืนนั้นข้าพเจ้าได้หลบไปนอนที่เมืองมิน จึงรอดตายไปอย่างหวุดหวิด”
เมืองมิน ก็คือ มีนบุรี ระยะทางห่างไกลไปจากพระนครพอดูทีเดียว กระนั้น สองหูของครูเวสกลับแว่วยินเสียงระเบิดดังสนั่นไปถึงที่นั่น อีกกรณีสะเทือนใจคือเรื่องของทองอยู่ เพื่อนร่วมวงดนตรีกับครูเวส เขาเป็นมือไวโอลิน พำนักอยู่แถวท่าพระจันทร์ ครั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดลงมากลางดึกคืนนั้น เพื่อนๆในวงดนตรีจึงพากันออกตามหา แต่ไม่พบเลย ไปเจอศพอีกทีที่สุขศาลา ยศเส ใบหน้าหายไปครึ่งซึก มันสมองเละ สิ่งที่เพื่อนๆ จำได้เพราะใต้คางมีรอยด้าน เนื่องจากทองอยู่เล่นไวโอลิน เขาต้องใช้คางหนีบไว้เสมอ คางเลยมีรอยด้านนั่นเอง
น่าจะคืนเดียวกันกับที่ครูเวสหลบภัยไปเมืองมีนแหละครับ มรณกรรมของ จำรัส สุวคนธ์ ได้บังเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าโรงพยาบาลศิริราชจะรอดพ้นจากลูกระเบิด หากบ้านของจำรัสซึ่งเคยพักพิงอย่างเดียวดายเป็นประจำตั้งอยู่ตรงท่าพระจันทร์ ก็ยากจะไม่ปรากฏร่องรอยเสียหายเลย
ครับ จำรัส สุวคนธ์ พระเอกภาพยนตร์ที่ทุกวันนี้อาจไม่ค่อยมีใครรู้จักเท่าใดนัก แต่จะปฏิเสธได้ล่ะหรือว่าในวันวานช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาคือชายผู้สร้างความสุขให้คนไทยด้วยบทบาทการแสดงและเสียงครวญขับขานบทเพลง โดยเฉพาะเขาเป็นขวัญใจของสาวๆ ชาวพระนครมากมาย ก็ไม่แปลกหรอกที่ท้ายสุด กระทั่งเรือนร่างไร้วิญญาณของเขายังกระตุกหยาดน้ำแห่งหัวใจให้หลั่งรื้นขอบตาผู้หญิงจำนวนมิน้อยรายทีเดียว!
อ้างอิงข้อมูลจาก
- กาญจนาคพันธุ์. ยุคเพลงหนังและละครในอดีต. กรุงเทพฯ: เรืองศิลป์, 2518
- ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ นายเวส สุนทรจามร ณ เมรุวัดตรีทศเทพ กรุงเทพมหานคร วันอังคารที่ 12กรกฎาคม 2526เวลา 17.00 น. ม.ป.ท. : ม.ป.พ. , 2526.
- ประวัติย่อของภาพยนตร์เสียงศรีกรุง.พระนคร : สุรัสน์การพิมพ์, 2505
- ’รงค์ วงษ์สวรรค์. พูดกับบ้าน.พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ฟรีฟอร์ม, 2553
- วิจิตรมาตรา, ขุน. หลักหนังไทย.นครปฐม: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), 2555
- สละ ลิขิตกุล.“ทำมาหากินกับหนังสือพิมพ์.” ใน ชาวกรุง(สิงหาคม 2521). หน้า 82-86
- เสนีย์ เสาวพงศ์. ดิน น้ำ และดอกไม้.กรุงเทพฯ: มติชน, 2533
- อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์” เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ เสวกโท จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม 20 มกราคม 2511. พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุราชวิทยาลัย,2511
- อรวรรณ. สู่เมืองเสือ. กรุงเทพฯ: ประพันธสาส์น,2519
- อาจินต์ ปัญจพรรค์. แด่ เหม เวชกร.กรุงเทพฯ: โอเลี้ยง 5 แก้ว, 2512
- อาจินต์ ปัญจพรรค์. โอ้ละหนอน้ำหมึก.กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า,2544.