รัฐประหารส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ?
ในฐานะประชาชนคนไทย ประเทศที่ได้รับรางวัลรัฐประหาร ‘มากที่สุด’ อันดับ 4 ของโลก คำถามนี้คงตอบได้ไม่ยากว่ารัฐประหารไม่น่าจะเป็นผลดีนักต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะนับตั้งแต่รัฐประหารครั้งล่าสุด เศรษฐกิจไทยก็ดูจะซึมๆ เนือยๆ แถมยังได้รับขนานนามว่า ‘คนป่วย’ แห่งเอเชีย และมีแนวโน้มว่าประชากรไทยส่วนใหญ่จะเข้าวัยเกษียณก่อนที่เราจะก้าวสู่ ‘ประเทศรายได้สูง’
แน่นอนครับว่ากลุ่มคนรักทหารคงเห็นต่างออกไป สำหรับเขาและเธอ การรัฐประหารคงไม่ต่างจากการที่พระเอกขี่ม้าขาวมากวาดล้างนักการเมืองโกงออกจากแผ่นดินไทย
แม้ที่ผ่านมาคณะรัฐประหารอาจไม่มีผลงานทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น แต่สาเหตุก็เพราะ ‘มรดก’ ความเลวร้ายที่นักการเมืองทิ้งเอาไว้ และหากไม่ได้คณะรัฐประหารเข้ามากอบกู้ เศรษฐกิจไทยอาจเลวร้ายกว่านี้อีกหลายสิบเท่า
ข้ออ้างดังกล่าวนับว่าฟังขึ้น เพราะทางเดียวที่เราจะรู้อย่างแน่นอนว่าการรัฐประหารส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย คือการเปรียบเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยใน 2 มิติ คือ 1.โลกจริงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาทำรัฐประหาร กับ 2.โลกในฝันที่รัฐบาลพลเรือนยังคงแข็งแรงมั่นคง
วิธีดังกล่าวคงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ (ถ้าเป็นไปได้ผมคงหาทางย้ายมิติไปแล้ว!) แต่เป็นไปได้ในทางสถิติ เพราะประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่มีการรัฐประหาร แถมหลายประเทศก็ไม่ได้มีการรัฐประหารเพียงครั้งเดียว เราจึงสามารถใช้เครื่องมือทางสถิติวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ว่าโดยเฉลี่ยว่ารัฐประหารนั่นส่งผลอย่างไรต่อการพัฒนาเศรษฐกิจกันแน่
ธรรมชาติของการรัฐประหาร
นักวิชาการมักอ้างอิงรัฐประหาร 18 บรูว์แมร์ (18 Brumaire) เมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ.1799 เป็นการรัฐประหารครั้งแรกในโลกสมัยใหม่ ปฏิบัติการดังกล่าวนับเป็นการวาง ‘วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ’ ในการทำรัฐประหารให้กับเหล่านายพลรุ่นหลังทั่วโลก รัฐประหาร 18 บรูว์แมร์เปรียบเสมือนจุดจบของการปฏิวัติฝรั่งเศส การยึดอำนาจครั้งนั้นนำโดยนายพลสุดป็อปปูลาร์นโปเลียน โบนาปาร์ต
อำนาจของนโปเลียนขึ้นสู่จุดสูงสุดหลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวบอำนาจมาอยู่ในมือท่านผู้นำ มอบอำนาจให้เขาสามารถแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด ตามมาด้วยการ ‘ปฏิรูปสถาบันตุลาการ’ ที่เปลี่ยนศาลให้เป็นเพียงสถาบันที่ทำตามคำสั่งเขาเท่านั้น
ผ่านมาสองร้อยกว่าปี ประเทศแถวนี้ก็ยังอุตส่าห์นำมาใช้เป็นโมเดล!
การรัฐประหารมักเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพสังคมที่มีความขัดแย้งระหว่างสองฝักฝ่าย เหล่านายพลหรือฝ่ายความมั่นคงผู้มีสายสัมพันธ์แนบชิดกับชนชั้นนำก็มักเกิดอาการอดรนทนไม่ได้ สำคัญตัวคิดว่าตนจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาโดยเข้ายึดสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น สนามบิน สถานีโทรทัศน์ และรัฐสภา แล้วจึงเข้าจับกุมตัวเหล่าผู้ทรงอิทธิพลที่อยู่คนละฝั่ง ก่อนจะประกาศยึดอำนาจต่อสาธารณะ กล่าวโทษความล้มเหลวต่างๆ นาๆ ของอดีตรัฐบาล แล้วให้คำสัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาพร้อมคืนความสุขให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด
หลายคนคงคิดว่าย่อหน้าข้างต้นผมเขียนถึงประเทศไทย แต่เปล่าเลยครับ ประเทศไทยเป็นเพียงหนึ่งใน 94 ประเทศที่เผชิญกับความพยายามรัฐประหารทั้งหมด 457 ครั้งนับตั้งแต่ พ.ศ.2493 ถึง พ.ศ.2553 การรัฐประหาร ‘ราวครึ่งหนึ่ง’ ประสบความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลซึ่งบางส่วนมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน และจำนวนไม่น้อยเป็นรัฐบาลเผด็จการขั้วตรงข้าม
รัฐประหารขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจ?
น่าแปลกใจที่นักวิชาการบางสำนัก เช่น เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิก กลับมองว่าการยึดอำนาจโดยผู้นำเผด็จการอาจส่ง ‘ผลดี’ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยให้เหตุผลว่านักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งจากระบอบประชาธิปไตยมีแนวโน้มที่จะ ‘ตอบสนอง’ ต่อความต้องการของประชาชนในปัจจุบัน นโยบายจึงเป็นสไตล์ลด แลก แจก แถม เพื่อหวังคะแนนนิยมแก่ตนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ในขณะที่การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของผู้นำเผด็จการนั้นไม่ยึดโยงกับประชาชน จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะ ‘ปฏิรูป’ ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญซึ่งอาจไม่ถูกต้องตรงใจกับประชาชนมากนัก แต่เป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งในระยะยาว
หลายคนอ่านข้อเสนอดังกล่าวแล้วอดไม่ได้ที่จะคล้อยตาม แต่หากฉุกใจสักนิดแล้วนึกถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเหนือกว่าประโยชน์ส่วนรวมสักหน่อย ก็จะสรุปได้ทันทีว่าทฤษฎีนี้เป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ ของฝ่ายขวาผู้ไม่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย หวังใจฝากฝังอนาคตไว้ที่เผด็จการผู้การุณย์ (benevolent dictator) ซึ่งข้อมูลเชิงประจักษ์ดูจะสวนทางอย่างสิ้นเชิง
เอริก เมเยอร์สสัน (Erik Meyersson) อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์จาก Stockholm School of Economics ประเทศสวีเดน ศึกษาเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จระหว่าง พ.ศ.2493 ถึง พ.ศ.2553 โดยมีการรัฐประหารราว 1 ใน 4 ที่เป็นการช่วงชิงอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
การศึกษาชิ้นนี้พบว่า รัฐประหารในประเทศเผด็จการกับรัฐประหารในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะส่งผลแตกต่างกันในเชิงการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐประหารในประเทศประชาธิปไตยจะทำให้อัตราการเติบโตของจีดีพีต่อหัว (GDP per capita) ลดลงราว 1-1.3%ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเวลานับทศวรรษ ในขณะที่การรัฐประหารในประเทศเผด็จการส่งผลบวกเล็กน้อยต่อสภาพเศรษฐกิจในระดับที่ไม่มีนัยสำคัญ
นอกจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว การยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนยังส่งผลให้การลงทุนลดลง จำนวนปีที่เด็กๆ อยู่ในโรงเรียนน้อยลง จำนวนเด็กแรกเกิดเสียชีวิตเพิ่มขึ้น สถานะทางการคลังระหว่างประเทศอ่อนแอ และมีหนี้สาธารณะพอกพูน
ถ่วงกระบวนการปฏิรูปประเทศโดยการหักลบค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา สุขภาพและการบรรเทาความยากจน แต่กลับนำไปเพิ่มงบประมาณทหารทดแทน
ทหารทำรัฐประหารไปทำไม?
แดรอน อาซีโมกลู (Daron Acemoglu) นักเศรษฐศาสตร์สถาบันผู้โด่งดังมองว่าการทำรัฐประหารเป็นเพียงการสร้างฐานที่มั่นของชนชั้นนำ (elite entrenchment) ที่ชะลอกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย เปลี่ยนกลไกทางกฎหมายและสถาบันให้บิดเบี้ยวจนส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยความเสียหายเหล่านั้นจะยังคงอยู่ แม้ว่าคณะรัฐประหารจะเปิดทางให้มีการเลือกตั้งตามปกติแล้วก็ตาม
ในทางกลับกัน อาจารย์อาซีโมกลูเพิ่งเผยแพร่การศึกษาชิ้นใหม่หมาดชื่อว่า ‘ประชาธิปไตยคือปัจจัยให้เกิดการเติบโต (Democracy Does Cause Growth)’ วิเคราะห์ข้อมูล 184 ประเทศทั่วโลกโดยได้ข้อสรุปว่า
เศรษฐกิจของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้นจะเริ่มต้นอย่างช้าๆ แต่ถ้าประชาชนสามารถอดทนจนผ่านไป 10-15 ปี ประเทศดังกล่าวจะร่ำรวยกว่าประเทศเผด็จการเล็กน้อย สำหรับประเทศใดที่อดทนได้ถึง 25 ปี ก็จะร่ำรวยกว่าประเทศเผด็จการเฉลี่ยถึง 20%
เหตุผลสำคัญก็เพราะรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยปฏิรูปเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า มีการลงทุนในภาคเอกชนสูงกว่า เผชิญความไม่สงบทางการเมืองน้อยกว่า สนับสนุนด้านการศึกษาและระบอบสาธารณสุขมากกว่า นี่คือการใช้จ่ายเพื่อสร้าง ‘ทุนมนุษย์’ ที่จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว
เหตุผลเบื้องหลังก็ตรงไปตรงมา เพราะนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้อง ‘ตอบสนอง’ ต่อความต้องการของประชาชนเพื่อหวังว่าตนเองหรือพรรคของตนจะได้รับเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งในสมัยหน้า ขณะที่ผู้นำเผด็จการที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารไม่ได้ยึดโยงใดๆ กับประชาชน อีกทั้งยังไม่มีสถาบันคอยตรวจสอบถ่วงดุล ย่อมต้องให้ความสำคัญอันดับหนึ่งกับการตอบแทน ‘เครือข่ายชนชั้นนำ’ ที่ผลักดันตนเองให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง
น่าเสียดายที่คนไทยจำนวนไม่น้อยยังคงหลงงมงายโดยหวังให้ ‘เผด็จการผู้การุณย์’ เข้ามาแก้ไขปัญหาที่สั่งสมในยุคสมัยที่ปกครองด้วยนักเมืองคอร์รัปชันผู้สร้างความแตกแยกในสังคม แต่การเรียกร้องให้มีการรัฐประหารก็ไม่ต่างจากการทำสัญญากับปีศาจ ที่แม้เปลือกนอกจะสามารถสร้างความสงบได้ชั่วคราว แต่สิ่งที่ประชาชนต้องจ่ายคือการก้าวถอยหลังทั้งในแง่ประชาธิปไตยและการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระยะยาว
แล้วเราจะอยู่กันไปแบบนี้จริงๆ หรือ?
อ่านเพิ่มเติม
- Political Man on Horseback Coups and Development
- Democracy Does Cause Growth
- Political Regimes and Economic Growth