นรกของชิทแชทมีอยู่จริง
เมื่อพบคนที่ไม่คุ้น เพื่อนเก่าที่ไม่ค่อยได้คุย เริ่มทำงานที่ใหม่ ไปงานแต่ง เจอคนที่รู้จักห่างๆ ฯลฯ จะเกิดอาการคิดอะไรไม่ออกเลย ทักทายว่าเป็นไงบ้าง สบายดีไหม ทำอะไรอยู่ เกิดบทสนทนาเบาๆ พอให้เราเชื่อมต่อกันแบบไม่ค่อยติดและมีแนวโน้มจะหยุดแค่นั้น นรกของคนที่คุยไม่เก่งคือการต้องติดอยู่ในบทสนทนาที่มีไปอย่างนั้นเอง ไม่แน่ใจว่าระหว่างการคุยเบาๆ ผิวเผินที่เก้อเขิน หรือความเงียบที่อึดอัด (Awkward Silence) อะไรทรมานใจกว่ากัน
‘Small Talk’ คือห้วงการคุยเล็กๆ น้อยๆ บทสนทนาเบาๆ ไม่เป็นธรรมชาติ โดยที่ไม่มีประเด็นสำคัญอะไร ทักทายกันตามมารยาทผิวเผิน และเขินๆ
จะว่าไป Small Talk ไม่ใช่ปัญหาของโลกนี้แต่อย่างใด เพราะเป็นฟังก์ชั่นสำคัญในการดำรงอยู่ในสังคมกับมนุษย์คนอื่นบนโลก เรียกได้ว่าเป็น ‘สารหล่อลื่นทางสังคม (Social Lubricant)’ ที่สำคัญ ในชีวิตประจำวัน เราอาจไม่เริ่มต้นการสนทนาและความสัมพันธ์ด้วยการทักกันว่า “ตายแล้วไปไหน ชีวิตหลังความตายมีจริงไหม” ตั้งแต่แรกพบ แต่ว่าจะทำยังไงให้มันไต่ระดับพาไปถึงเรื่องที่คุยสนุกและลึกขึ้น ไม่ใช่เพียงผิวเผินที่เราจะรู้จักกันมากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องรู้จักหรือคุยลึกซึ้งกับทุกคนบนโลก แต่หากเราอยากจะคุยจะทำยังไง
เราจะคุยลึกๆกันไปทำไม คนที่มีความสุขคุยลึกมากกว่าชิทแชท
‘งานวิจัยแอบฟังความสุข (Eavesdropping on Happiness)’ โดย Matthias Mehl ในมหาวิทยาลัย Arizona ทดลองให้นักศึกษา 79 คน (ชาย 32 คน|หญิง 47 คน ) ติดที่อัดเสียง 30 วินาทีในทุก 12.5 นาที เป็นเวลา 4 วัน เหมือนเป็นไดอารีเสียงในของแต่ละวันของพวกเขา จนได้คลิปเสียงมาเกือบ 24,000 อัน
เมื่อนำเสียงที่บันทึกไว้มาจำแนกวิเคราะห์ นักวิจัยแบ่งประเภทการคุยตามสาระที่คุย คือ
- คุยเบาๆ (Small Talk) เรื่องสภาพอากาศทั่วๆ ไป หรือรายการทีวี ประมาณ 18% ของชีวิต
- คุยสาระสำคัญ (Substantive talk) การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีความหมาย 36% เช่น ถกกันเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง ถกกันเรื่องชีวิตต่างๆ
อื่นๆ คือเสียงที่ระบุไม่ได้
คนที่มีความสุขกว่า (โดยวัดจากความพึงพอใจในชีวิตและมาตรวัดอื่นๆ) มีแนวโน้มที่จะคุยสาระสำคัญเยอะกว่า คิดเป็น 45.9% ของการคุยทั้งหมดในชีวิตของเขา และคุยเล็กๆ เพียง 10% ของการคุยในชีวิต แต่มันคงไม่ง่ายขนาดว่าถ้าทุกคนเปลี่ยนมาคุยลึกๆ ตลอดเวลาแล้วโลกจะมีความสุขกันหมด แต่การเพิ่มการคุยลึกๆ ในชีวิตประจำวันอาจจะทำให้คนพึงพอใจในชีวิตมากขึ้นได้
การสนทนาช่วยเยียวยา การถูกรับฟังทำให้สบายใจและรักษามนุษย์ หลายคนจึงยอมจ่ายเงินเพื่อได้รับการบำบัดด้วยการพูดคุยกับนักบำบัดผู้ฝึกการฟังมาอย่างดีและไม่ได้ฝึกกันง่ายๆ มันเป็นการเชื่อมต่อติดกับมนุษย์คนอื่นในพื้นที่และเวลาช่วงหนึ่ง ได้สัมผัสเห็นหน้าและเห็นปฏิกิริยาฉับพลัน
คุยพบหน้าเชื่อมสัมพันธ์ได้ดีกว่าส่งข้อความ
ไม่ว่าเฟสบุ๊กหรือทวิตเตอร์จะพาเราไปพบเพื่อนใหม่ที่ถูกใจเหมือนในฝัน การคุยกันทำความรู้จักพูดคุยต่อหน้าก็ยังเชื่อมสัมพันธ์ได้ดีที่สุด
Sherry Turkle นักจิตวิทยาผู้ศึกษาเรื่องปฏิสัมพันธ์มนุษย์ที่เปลี่ยนไปเมื่อมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาตั้งแต่ยุคแชทรูมมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวถึงปรากฏการณ์ใหม่ที่หลายๆ คนส่งหาข้อความหากันตลอดเวลา เชื่อมต่อกันเสมอ แต่กลับไม่สามารถพาตัวเองไปร่วมบทสนทนาข้างหน้าได้ เราหลบเลี่ยงการสื่อสารต่อหน้าด้วยการส่งข้อความหากันจนเคยชิน ข้อความทำให้เราไม่ต้องเผชิญหน้า ไม่ต้องสบสายตา แสดงสีหน้าอารมณ์ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งยุ่งเหยิงและคาดเดาไม่ได้
นักเรียนมัธยมคนหนึ่งบอกเธอว่า “สักวันหนึ่ง..สักวันหนึ่ง….แต่ไม่ใช่ตอนนี้ ผมอยากจะเรียนรู้การสนทนากับคนอื่น” (Someday, someday but certainly not now, I would like to learn to have a conversation.) เธอพบว่าหลายๆ คนประสบปัญหาไม่ถนัดการคุยเท่าพิมพ์หากัน และหวังว่าจะทดแทนการพูดคุยต่อหน้าได้ อย่างน้อยสิ่งที่ต้องการสื่อก็ไปถึงเมื่อกด Send มีเวลาคิดโดยไม่ต้องโต้ตอบกลับไปทันใด อุ่นใจมากกว่า
เรากลัวการเผชิญหน้า เราบอกเลิกและขอโทษกันผ่านข้อความเพราะมันง่ายกว่า หลายครั้งที่เราถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นกันดุเดือดแทบเขียนเรียงความผ่านคอมเมนต์เฟสบุ๊ก ส่งอีโมติคอนหัวใจ ดวงอาทิตย์ และสายรุ้งให้แก่กัน ในทวิตเตอร์หลั่งไหลด้วยกระแสแห่งความรู้สึกนึกคิด เหตุใดเมื่อพบหน้ากลับนิ่งงัน เก้อเขิน ไม่รู้จะคุยอะไรกันดี
งานวิจัยจิตวิทยาเรื่องการสื่อสารแบบต่างๆ ที่ส่งผล
ต่อความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน พบว่าการสนทนาซึ่งหน้า
(face-to-face conversation) สร้างความผูกพันระหว่างเพื่อนได้ดีเป็นอันดับ 1
อันดับ 2 คือ คุยผ่าน Video Call
อันดับ 3 คือ คุยผ่านเสียง
อันดับ 4 คือ คุยผ่าน Text ข้อความ
ไม่ว่าเราจะรักเทคโนโลยีแค่ไหน คุยซึ้งสบตาอาจเชื่อมโยงเราได้ดีกว่าเท็กซ์หมื่นคำและสติกเกอร์ที่ส่งหากัน ความลำบากของการคุยต่อหน้าคือ มันเกิดขึ้นแบบ Real-time ควบคุมได้ยาก และแก้ไขไม่ได้ ในโลกออนไลน์เราแก้ไข ลบ ปรับเปลี่ยนข้อความได้ตามที่เราต้องการ ในโลกออนไลน์เราสามารถแสดงตัวตนเป็นคนฉลาด นิสัยดี ตลก มีรสนิยม มีอารมณ์ขัน แต่การสนทนาจริงๆ ที่เกิดขึ้นนั้นออกแบบและวางแผนได้ยาก
เกมไพ่คุยเปิดใจ ไม่ต้องรอแอลกอฮอล์และเวลาตี 3
การสนทนาลึกๆ ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่บางทีก็อาจเปลี่ยนมุมมองของชีวิตได้เลย บางคนอาจจะไม่ถนัด รู้สึกว่าตัวเองคุยไม่เก่ง แต่เราหาตัวช่วยได้ นอกเหนือจากการชวนกินเหล้าหรือรอช่วงเวลาดึกๆ ที่ลึกซึ้ง
‘High on Life’ คือ โปรเจ็กต์เกมไพ่ของ Glow Story พยายามสร้างตัวช่วยกลไกที่พาไปสู่การคุยลึกๆ มาสู่ชีวิตได้ง่ายขึ้น ด้วยการคิดเกมผลัดกันถาม จุดเริ่มต้นโดย นภัส มุทุตานนท์ (บี๋) และ นันทินี ต้นศรีสกุล (นัน) ได้ดูคลิปคนคุยกันผ่านรายการ {THE AND} โดยช่อง Skin Deep มีชุดคำถามลึกๆ ให้ มีกล้องส่องให้เห็นปฏิกิริยาของสองฝั่งที่เกิดขึ้นต่อหน้า Real-time
ทั้งคู่สงสัยว่าชีวิตประจำวันของเราจะมีคำถามแบบนี้เพิ่มขึ้นมาอีกได้ไหม ทุกคนมีคนที่เรารู้จักผิวเผินในชีวิต หรือมีคนที่สนิทแต่เรากลับไม่เคยคุยถึงเรื่องลึกๆ ในใจของเขาเพราะไม่มีสถานการณ์เอื้ออำนวย จึงนำมาพัฒนาเป็นโปรเจ็กต์ไพ่ High On Life ประกอบด้วยชุดคำถามที่มีตั้งแต่ตลกๆ ง่ายๆ อุ่นเครื่อง ประเภทคิดว่าตัวเองเป็นสัตว์อะไร ไปจนกระทั่งถามจริงจังวนผลัดกันถามในวง มีไพ่ฟังก์ชันอื่นๆ เช่น ใช้ไพ่หัวใจกับคำตอบที่ชอบ ใช้ไพ่อาวุธเพื่อถามกลับ และใช้ไพ่เพื่อขอไม่ตอบคำถามนี้ หลังจากผลัดกันตอบ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะถามต่อขุดให้ลึกไปอีกได้จนพอใจ เล่นแต่ละครั้งเปลี่ยนบริบทก็จะได้คำตอบและเรื่องราวในวงสนทนาที่ต่างกันไป
ตัวอย่างคำถาม
-
- หากเลือกได้ว่าจะพบคนและพูดคุยกับใครก็ได้หนึ่งคน คุณอยากจะพบใคร (ตัวละครหรือคนจริงๆ ก็ได้)
- รู้สึกว่า ‘มีชีวิต’ ที่สุดตอนไหน
- นึกถึงคนที่ไม่ได้เจอมานาน ใครคือคนที่คุณอยากเจอที่สุดก่อนตาย
- ‘Soundtrack’ ของชีวิตคุณคือ
- คิดว่าตัวเองเป็นสีอะไร เพราะอะไร
โปรเจ็กต์นี้อยู่ในขั้นทดลอง หากอยากลองเล่น ก็ติดต่อมาได้ที่ Glow Story
นอกจากนี้ ยังมีการเล่นเพื่อส่งเสริมการสนทนาอื่นๆ เช่น ‘เกมไพ่ไขชีวิต’ ผลิตโดย โครงการความตายพูดได้ ของเครือข่ายพุทธิกา ทำให้คนได้สนทนาคุยเรื่องความตายและชีวิตกันมากขึ้น หากเล่นกันในครอบครัวหรือวงเพื่อนอาจทำให้เราได้รู้บางเรื่องที่ไม่เคยคุยกัน เช่น “หากคุณป่วยหนัก มีเวลาเหลืออยู่ 6 เดือน จะบอกให้ใครทราบบ้าง” พัฒนามาจากเกม My Gift of Grace หรือจะลองเอาคำถาม ‘36 คำถามที่จะทำให้คนตกหลุมรักกัน’ มาคุยเล่นกับเพื่อนและคนอื่นๆ เป็นตัวช่วยให้เรามีบทสนทนาดีลึกขึ้นหากเราต้องการ
สัญญาณแห่งการคุยไม่สนุก ทุกข์แห่งการสนทนา
- บทสนทนาไม่สมดุล เช่น ฝั่งหนึ่งพูดมากไปจนไม่ฟัง หรืออีกฝั่งฟังมากแต่เงียบแบบไม่มีสัญญาณตอบกลับ
- คุยเรื่องผิวเผิน ดินฟ้าอากาศตามมารยาทแต่ไม่ขยับขยายไปต่อ
- คุยกับคนที่ไม่สนใจ ไม่ตั้งใจฟัง ล่อกแล่ก หรือทำอย่างอื่นไปด้วย
- พูดถึงแต่คนดังที่เขารู้จัก (Name Dropping) เหมือนจะอวด ทั้งที่ไม่ได้ถาม
- คุยกับคนพูดถึงแต่ตัวเอง ความสนใจของตัวเอง หรือจุดยืนของตัวเอง แต่ไม่ค่อยตั้งใจฟัง
- พยายามสร้างความประทับใจด้วยการเล่นมุกซํ้าๆ จนฝืนและไม่ตลก
- ระบายอารมณ์เป็นหลัก ไม่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญ
คำถามไม่สำคัญเท่าความสนใจฟัง
คำถามที่ดีนั้นมีความหมายและแสดงถึงความใส่ใจ แต่ความตั้งใจฟังนั้นสำคัญกว่า บางทีการสนทนาอาจเริ่มจากคำถามกว้างๆ ง่ายๆ แต่สิ่งที่สำคัญคือการขุดต่อ ถามต่อ ที่ลึกไปจากสิ่งที่พูด หลีกเลี่ยงการคำถามปลายปิดที่ตอบ Yes/No เพราะมันอาจไม่นำเราไปต่อ
เทคนิคการขุดจาก Brandon Stanton ช่างภาพผู้สร้างบล็อก Humans of New York ที่เดินออกไปรอบเมืองเพื่อถ่ายรูปผู้คน และชวนคุยเพื่อหาเรื่องราวชีวิตของเขา คนบนถนนต่างมีเรื่องราวที่น่าสนใจ เคล็ดลับของเขาคือเริ่มจากคำถามง่ายๆ กว้างๆ ทั่วไป คำถามที่เขาใช้บ่อย คือ ตอนนี้ชีวิตกำลังเจออุปสรรคอะไร (What’s your biggest challenge?) และอะไรคือคำแนะนำในชีวิตที่คุณอยากบอกคนอื่น (What’s your life advice?)
ฟังดูเป็นคำถามทั่วไป หากเราเดินดุ่มๆ ไปถามคนบนถนน “อยากแนะนำอะไรให้กับคนอื่นบนโลก” คำตอบที่คาดเดาได้คือเขาอาจจะตอบเซฟๆ กว้างๆ ที่ป้องกันตัวเองว่า “อ๋อ ก็มองโลกในแง่ดีไง” ซึ่งอาจจะเป็นคำตอบธรรมดาสุดๆ ฟังแล้วจะหลับ แต่ถ้าเราขุดต่อว่า “แล้วเหตุการณ์ไหนในชีวิตที่ทำให้คุณมองโลกในแง่ดีได้ยากที่สุด” อาจนำพาไปสู่การคุยที่ล้วงลึกขึ้นไปอีกได้ และอื่นๆ อีกมากมายที่ขุดลงไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด ผู้คนมักไม่สนุกที่จะเล่าว่าชีวิตตัวเองทำอะไรอยู่เท่าเล่าว่าเขาอยากทำอะไรต่อไปในชีวิต สนใจอะไร มีความหวังอะไรลึกๆ ผ่านอะไรมา เหตุการณ์ไหนที่ทำให้เขาเชื่อแบบนั้น
Celeste Headlee นักจัดรายการวิทยุและนักสัมภาษณ์ ผู้พูด TEDx เรื่อง ‘10 ways to have a better conversation’ เตือนไว้ว่า “ถ้าอยากบอกจุดยืนของตัวเอง การเขียนผ่านเฟสบุ๊กหรือบล็อกอาจจะดีกว่า ไม่มีใครมาขัดแน่นอน เมื่อเราเลือกที่จะคุยสนทนากับคนตรงหน้า กฎสำคัญคือต้องฟังและพร้อมจะแลกเปลี่ยน ไม่ใช่เอาเรื่องราว ความเชื่อ หรือจุดยืนของเราไปโยนใส่เขา”
ปัญหาการคุยไม่สนุก อาจไม่ได้เกิดจากการสนใจคนละเรื่อง เห็นไม่ตรงกัน เชื่อคนละอย่าง หรือไม่ชอบหน้า หากตัดอคติที่มีต่อเขาออกไปก่อน การคุยกันลึกๆ อาจไม่ใช่สนามต่อสู้ว่าใครแพ้ใครชนะ ใครโง่กว่า ใครฉลาดกว่า ต่อให้ไม่ชอบหน้าก็อาจจะไม่ใช่อุปสรรค
ถ้าเราลองฟังว่าทำไมเขาคิดไม่เหมือนเรา ความเห็นไม่ตรงกันก็สนุกได้ คนที่ต่างจากเรา อาจมีบางจุดร่วมกันก็ได้
ก่อนที่จะเป็นนักเล่าที่ดีหรือสร้างบทสนทนาที่ดีได้ต้องตั้งใจฟังให้ได้ก่อน เราต้องออกจากตัวเองให้ได้ สังเกตคนอื่นอย่างตั้งใจ อาจมีคนเขียน How To ต่างๆ มากมายที่ช่วยให้ดูเหมือนตั้งใจฟัง เช่น สบสายตา พยักหน้า ยิ้มให้ ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านี้อาจไม่ความหมายเลย หากเราไม่ได้สนใจจริงๆ คนที่คุยกับเราเขาสัมผัสได้
ความแปลกหน้าไม่ใช่อุปสรรค ความไม่รู้จักกลายเป็นข้อดี
การไม่รู้จักกันก็ไม่ใช่อุปสรรคเลยที่จะคุยลึกๆ กับใครที่ยังไม่รู้จัก สำหรับ Humans Of New York คิดว่าสถานะคนแปลกหน้ากลับเป็นเรื่องดีที่จะทำให้คนเปิดใจ ข้อดีของคนแปลกหน้าคือยังไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับเราเลย จึงไม่มีการคาดเดา ไม่มีความคาดหวัง ไม่มีอคติของความรู้จักคลุกคลีกันมา นี่อาจเป็นเหตุที่คนเราเปิดใจคุยกับบาร์เทนเดอร์หรือจิตแพทย์มากกว่าเล่าความลับให้คนใกล้ชิดฟัง เพื่อนที่เรารู้จักก็อาจจะมีเรื่องราวซ่อนอยู่หากเราตั้งใจฟังเขามากขึ้น อย่าเพิ่งคิดว่าคนๆ นี้ไม่มีอะไรน่าสนใจหรอก หรือคุยไม่รู้เรื่องแน่ๆ
สนใจคนตรงหน้า อย่าเล่นมือถือ
หลายคนอาจรู้สึกว่า เราได้มาถึงช่วงชีวิตที่วิวัฒนาการจนคุยไป เล่นมือถือพร้อมสบตาฝั่งตรงข้ามไปได้สบายมากไม่เห็นจะยากเลย
ผลวิจัยโดยให้คนถูกสุ่มมาคุยกันใน topic ที่หลากหลายและถูกสังเกตห่างๆ โดยนักวิจัย พบว่าการมีอยู่ของมือถือในวงสนทนา ไม่ว่าจะวางอยู่เฉยๆ หรือถืออยู่ จะทำให้ประเด็นการสนทนาคุยเรื่องง่ายๆ เบาๆ มากกว่า เพราะรู้ว่าอาจถูกขัดขวางได้ทุกเวลา บทสนทนาที่ไม่มีมือถืออยู่ใกล้จะมีความใส่ใจ เห็นอกเห็นใจกันมากกว่าและไปต่อได้ลึกกว่า จนมีคำเล่นๆที่เรียก ‘Phubbing’ เกิดจากการรวมคำของ Phone (มือถือ) + Snub (เมินเฉย) แปลว่าการเมินเฉยต่อคนที่อยู่ตรงหน้าเพื่อสนใจมือถือมากกว่า
แต่ถึงมือถือจะทำให้การคุยไม่ลึก มันก็อาจช่วยให้บทสนทนามีประเด็นหลากหลายและกว้างขึ้น เช่นเราอาจจะพูดถึงคนในโลกออนไลน์ที่ไม่รู้จัก เพลงที่เพิ่งฟัง หนังที่เพิ่งดู หรือประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเปิดมือถือประกอบการสนทนาเพื่อให้อีกฝั่งเห็นภาพแบบทันใดไม่ต้องกลับบ้านไปเสิร์ช ไม่แน่ใจข้อมูลก็ Fact Check หาหลักฐานได้อย่างไวๆ ไม่พูดลอยๆ
อย่าเพิ่งถอดใจ เราอาจได้พบอะไรใหม่ๆ จากคนที่เราไม่อยากคุย
วิธีตัดบทความเก้อเขินของ Small Talk แบบที่ฮิตและสบายใจสุด คือการบอกว่า “เอ้อ ไว้วันหลังนัดกันนะ” ซึ่งส่วนมากมักจะไม่เกิดขึ้นหรอก เราได้ทำการกด Snooze มิตรภาพความสัมพันธ์เอาไว้ก่อน อย่างน้อยเราก็ยังแคร์เขาว่ามีความหวังจะต่อกันติดในวันหน้า แม้วันนี้อาจยังไม่พร้อมคุยด้วยเหตุผลต่างๆ
สมัยวัยรุ่นเราอาจเคยโทษโลกว่าทำไมการสนทนาถึงไม่สนุกเลย อย่าลืมว่าทุกการสนทนาที่เกิดกับเรา เราไม่ใช่เพียงผู้ถูกกระทำที่ต้องรอฟังหรือตั้งรับอยู่ฝ่ายเดียว แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของผู้เล่น เรามีส่วนผลักดันว่าจะให้มันมีทิศทางอย่างไร ลองสำรวจตัวเองว่าตั้งใจฟังมากพอหรือยัง คนที่เรารู้จักผิวเผินอาจมีเรื่องราวดีๆ มาเล่าให้เราฟัง แต่ก็อย่าเสียใจหากได้พยายามแล้วมันไม่ไปต่อจริงๆ
ไม่ใช่ทุกคนบนโลกพร้อมเปิดใจคุยลึกๆ กับเรา และไม่ใช่ทุกวันที่จะได้คุยลึกๆ เพราะมันต้องใช้ความสนใจ เวลา และพลังงานมากๆ
โลกไม่ถูกแบ่งเป็นคนที่คุยเก่งและคุยไม่เก่ง อย่าคิดว่าตัวเองพูดไม่เก่ง ชวนคุยไม่เป็นแล้วจะไม่มีสิทธิมีบทสนทนาที่สนุก การฟังก็เหมือนทักษะอื่นๆในชีวิตที่ฝึกฝนได้ ไม่มีคู่มือใดบนโลกจะสอนให้เราตั้งใจฟังได้ถ้าเราไม่ได้ใส่ใจจะฟัง แต่รางวัลอันหอมหวานของมันก็คือการเชื่อมต่อกันติดแบบที่ Internet Connection จะทำอย่างไรก็ไม่อิ่มใจเท่า
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.facebook.com/GlowYourStory