ผู้เขียนขอย้อนอดีต พาผู้อ่านกลับไปยังเมื่อเกือบสิบปีก่อน ผู้เขียนเป็นนิสิตหลักสูตรเก่ารุ่นสุดท้ายของเอกภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ ที่ยังเรียนวิชา introduction to fiction (วรรณกรรมร้อยแก้วเบื้องต้น) และ introduction to poetry (กวีนิพนธ์เบื้องต้น) เนื่องจากเอกภาษาอังกฤษมีนิสิตเยอะ อาจารย์จึงมักแบ่งเด็กเป็นสองกลุ่มตามตัวอักษร กลุ่มแรกเรียน fiction เทอมแรก และเรียน poetry เทอมสอง กลุ่มที่สองสลับกัน ผู้เขียนอยู่กลุ่มหลังค่ะ ต้องเจอกับกวีนิพนธ์อังกฤษก่อน เมื่อเรียนวิชานี้ได้สองสัปดาห์ ดิฉันแทบจะร้องไห้ ดิฉันถามตัวเองว่า ทำไมเพื่อนบางคนรู้เรื่อง ทำไมมันลึกซึ้งอะไรขนาดนี้ ทำไมมันเขียนแค่สามบรรทัดเอง มันหมายความว่าอะไร มันสื่ออะไรเหรอ ทำไมมันไม่มีสัมผัส ฯลฯ
กว่าจะผ่านมาถึงวันนี้ก็ท้อเท้ออะไรกันมามากมาย จำได้ว่าตอนนั้นพิมพ์บ่นในไฮไฟว์ (โอ้โห บรมสมกัป) ของพี่คนหนึ่งที่เรียนปริญญาโทวรรณคดีเปรียบเทียบจนน้ำตาไหลออกมา บางทีก็เครียดจนนัดกับเพื่อนไปให้อาหารนกกับปลาในมหาวิทยาลัยด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าคุณรู้สึกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง เราคือเพื่อนกันค่ะ มันเป็นเรื่องปกติมากๆ ของการอ่านอยู่แล้ว อย่าเพิ่งคิดว่าตัวเองย่ำแย่อะไรขนาดนั้น อยากให้นึกไว้ว่ามันเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ค่ะ
เอาเป็นว่าวันนี้ ผู้เขียนจะลองให้คำแนะนำคนที่มีปัญหาอ่านไม่รู้เรื่องแล้วกันนะคะ แต่ขอใช้กับกรณีวรรณกรรมอย่างเดียวนะคะ (ตัวอย่างอาจจะเป็นวรรณกรรมอังกฤษนะคะ) ถ้าเป็นหนังสือปรัชญา ประวัติศาสตร์ อาจจะใช้หลักของผู้เขียนไม่ได้ทุกข้อค่ะ
คำแนะนำแรก ถามตัวเองก่อนค่ะว่าซื้อหรือหยิบหนังสือเล่มนี้มาทำไม
ลองย้อนถามตัวเองก่อนดีกว่าค่ะ ว่าหนังสือต่างๆ ที่คุณซื้อมานั้น คุณซื้อมาทำไม คุณอยากอ่านอะไร คุณอยากเจออะไร การพบเจอหนังสือที่อ่านไม่รู้เรื่องทั้งๆ ที่เราตั้งใจซื้อหนังสือเอง สำหรับผู้เขียนนั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดีนะคะ ผู้เขียนมองว่า คนส่วนใหญ่ที่เลือกซื้อหนังสือเองแล้วพอมาอ่านกลับมาไม่รู้เรื่อง คิดว่าหลายๆคนคงใช้ช่วงเวลานี้ย้อนรำลึกว่าเราซื้อหนังสือเล่มนี้มาทำไม บางคนอาจจะซื้อตามคำแนะนำของคนอื่น เช่น คนที่เราแอบปลื้ม ดาราที่เราชอบ หรืออีนังอาจารย์มิ่ง เป็นต้น บางคนอาจจะซื้อเพราะสนใจเรื่องราวที่อยู่หลังปก ท่าทางมันจะสนุกดี ไม่ได้ว่าอะไรนะคะ ถ้าเราจะอ่านตามคำแนะนำของคนอื่น หรือถูกหลังปกชักจูง ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ ที่มีอะไรบางอย่างมาจูงคุณออกจาก comfort zone คุณอาจจะอ่านนิยายแบบเดิม แบบที่คุณเข้าใจมันได้ย่อยมันได้มาตลอดชีวิต หรือเสพความรู้สึกแบบเดิมๆมาตลอดชีวิต จนกระทั่งมาเจอเล่มนี้ ทำให้คุณเจอกับของประหลาด เข้าใจไม่ได้ขึ้นมา ผู้เขียนมองว่านี่คือปรากฏการณ์ที่ปกติมาก เราอาจชอบลีโอนาร์โด ดิคาปริโอมากๆ ตามดูหนังทุกเรื่อง ซื้อหนังสือทุกเล่มที่เขาขึ้นปก จนมาเจอ The Great Gatsby แล้วได้เปิดโลกตัวเองให้กับการเขียนแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน ผู้เขียนคิดว่าการพบเจออะไรที่อยู่นอกเหนือตัวเราเป็นโอกาสที่ดีนะคะ การอ่านไม่รู้เรื่องนี่แหละคือประสบการณ์ของการเจอสิ่งใหม่ๆ ที่คุณจัดระบบไม่ได้
คำแนะนำต่อไป ถามตัวเองอีกข้อค่ะ “อ่านทำไม”
คนเรามีเหตุผลในการอ่านที่ต่างกัน เราอาจซื้อหนังสือตามคนนั้นคนนี้ เราอาจซื้อเพราะหลังปก แต่การซื้อของเราส่วนหนึ่งก็ต้องมาจากเหตุผลที่ว่าเราอ่านหนังสือทำไม บางคนอ่านเพราะอยากได้ความรู้ บางคนอ่านเพื่อความบันเทิง อ่านเป็นงานอดิเรก หรือบางคนอ่านเพราะอยากเรียนรู้กลวิธีการเขียน การนำเสนอประเด็นต่างๆ ด้วยวรรณกรรม บางคนอาจรู้สึกกำกวมเวลาเจอสิ่งที่ทำให้เรางุนงง อ่านไม่รู้เรื่อง แต่อยากให้ลองถามคำถามตัวเองดูว่าปกติเราอ่านหนังสือไปเพราะอะไร ถ้าเราไม่พร้อมจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่ได้คิดว่าจะต้องให้วรรณกรรมซับซ้อนยุ่งยากอะไร อ่านแล้วเหนื่อย ก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้าคุณจะเลิกอ่านหนังสือเล่มนั้น หรือคิดจะเลิกอ่านเมื่ออ่านไม่รู้เรื่อง อย่าไปคิดว่าเราโง่ เราไม่เก่ง วรรณกรรมนั้นอาจประพันธ์มาเลิศลอย แล้วเราก็ไม่ได้จะสนใจวรรณกรรมเป็นหลักอยู่แล้ว ไม่มีเวลาจะปีนขึ้นไป เราอาจจะพักก่อน หรือเราอาจจะไม่อ่านต่อ ไม่คิดจะอ่านอีก ผู้เขียนก็ไม่ว่าอะไรค่ะ ไม่อยากบังคับให้ใครอ่านหนังสือที่อ่านไม่ไหว ถ้าไม่มีใจแล้ว ไม่อยากอ่านจริงๆ หรือคิดว่า ฉันไม่อยากใช้เวลามาขบคิดอะไรมากขนาดนี้ อันนี้ไม่เป็นไร ตามสบายเลยค่ะ ถ้าใครมันจะดูถูกคุณว่า ว้ายโง่ อ่านอันนี้ไม่รู้เรื่อง ว้าย ฆ่ามันเลยค่ะ คือหมายถึง อย่าไปสนใจมันเลยค่ะ แต่ถ้าคุณไหว คุณยังอยากอ่านต่อ อยากรู้ ไปที่คำถามที่สามเลยค่ะ
คำแนะนำต่อไปค่ะ มีสองอย่างที่ต้องทำพร้อมกัน ถามตัวเองก่อนว่า “อ่านอะไรไม่รู้เรื่อง” จากนั้นต้อง ‘หาคู่’
เมื่อคุณผ่านคำถามสองข้อแรก จนตั้งปณิธานได้ว่าจะอ่านต่อไปนี่แหละ อยากจะรู้จักหนังสือเล่มนี้จริงๆ ก็ต้องถามก่อนว่าคุณอ่านอะไรไม่รู้เรื่อง การตอบคำถามข้อนี้ได้ จะนำไปสู่การหา ‘คู่’ มาอ่านด้วยที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพจนานุกรม คู่มือ บทวิจารณ์ เพื่อนที่อ่านด้วยกัน ตลอดจน นักวิจารณ์ ครูบาอาจารย์ต่างๆ
ทีนี้ลองตอบคำถามตัวเองนะคะ ว่าอ่านอะไรไม่รู้เรื่อง ผู้เขียนมีปัญหาการอ่านไม่รู้เรื่องมาให้ดูสองแบบค่ะ
ปัญหาแรกทีมักจะเป็นอุปสรรคทางการอ่านในด่านแรกของเราคือภาษาของตัวบทนั้นๆ ศัพท์อาจจะยากเกินไป แต่ถ้าปัญหาคือศัพท์ยากเกินไป พจนานุกรมก็น่าจะเอาอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่แค่นั้น ภาษาในโลกวรรณกรรมอาจจะเป็นภาษาที่ยอกย้อน ซับซ้อน หลอกให้เราตายใจ บางทีเขาอาจจะเล่นความหมายกับสิ่งที่เรารู้จักแล้ว ให้เรางุนงง หรือไม่ก็อาจจะเป็นภาษาของยุคสมัยที่แตกต่าง ที่ความหมายไม่เหมือนกับปัจจุบันแล้ว ขอยกตัวอย่างเรื่อง Pride and Prejudice ของ Jane Austen ที่หลายๆคนหลงใหลเพราะพี่ Matthew Macfadyen และ Keira Knigtley
ถ้าใครเคยอ่านเรื่อง Pride and Prejudice ก็จะรู้จัก Lady Catherine de Bourgh ป้าของ Mr. Darcy สุดหล่อขวัญใจสาวทั้งโลก เมื่อท่านป้ารู้เรื่องว่าหลานชายไปรักกับ Elizabeth Bennett แทนที่จะคบหาแม่ Ann de Bourgh ลูกสาวของท่านป้าที่อยากให้แต่งงานด้วย ท่านป้าก็นั่งรถม้า บุกมาถึงบ้าน Bennett ออกมาต่อว่าต่อขาน บอกว่า หลานฉันต้องแต่งงานกับลูกของ ‘gentleman’ เท่านั้น เธอเป็นใคร มารักกับหลานชายฉันได้ยังไง Elizabeth Bennett ก็ตอบว่าดิฉันก็เป็นลูก gentleman เหมือนกัน พ่อของดิฉันเป็นคนสุจริตค่ะ (Mr. Bennett เป็นเจ้าของที่ดินให้ชาวนาเช่าทำนา)
ถ้าเราแปลคำว่า gentleman แบบปัจจุบัน เราจะงงทันทีว่าสองคนนี้เขาหมายความว่าอะไรกันแน่ เรารู้จักคำว่า gentleman ในความหมายว่าสุภาพบุรุษ ประเภทที่เปิดประตูให้ผู้หญิงเข้าร้านอาหารก่อน อะไรพรรค์นั้น แต่คำว่า gentleman เดิมมีความหมายเกี่ยวข้องกับคำว่า gentry ที่แปลว่าชนชั้นปกครอง มีที่ดินกับยศถาบรรดาศักดิ์ สืบเนื่องมายาวนาน เพราะฉะนั้น ท่านป้าแคทเธอรีนจึงหมายความว่าดาร์ซีหลานเธอควรจะแต่งงานกับชนชั้นสูง ในขณะที่อลิซาเบธ เบนเน็ทเป็นลูกสาวนักธุรกิจ อลิซาเบธจึงไม่ใช่ลูกของ gentleman แต่แม่อลิซาเบธก็เล่นกับคำนี้ โดยแยกคำว่า gentle ที่แปลว่าอ่อนโยน กับ man ที่แปลว่าผู้ชาย ออกจากกัน ดังนั้น เมื่อเธอบอกว่า คุณพ่อเธอก็เป็นคนดี เป็นสุจริตชน เธอจึงกำลังเล่นนัยความหมายทางชนชั้น ชี้ให้เห็นว่าใครๆ ก็ gentle ได้ gentleman วัดที่นิสัย ศีลธรรมจรรยา หรือบุคลิกลักษณะ ไม่ใช่สายเลือด กรณีนี้ ผู้เขียนคิดด้วยซ้ำว่า คำแปลที่เหมาะกับคำว่า gentleman ในกรณีนี้ที่สุดน่าจะเป็นคำว่า “ผู้ดี” ซึ่งไม่ได้แปลว่าคนดีมีศีลธรรม (ถ้าใครสนใจการวิเคราะห์วรรณกรรมและความคิดเรื่องชนชั้น คุณอาจจะคิดไปถึงการเปลี่ยนความคิดเรื่องการสืบทายาท จากเดิมคือการรักษาเลือดบริสุทธิ์โดยการแต่งงานในวงศ์ตระกูล ไปสู่การแต่งงานเพราะรักใคร่ชอบพอกัน ความคิดเรื่องสายเลือด เรื่องเพศ อะไรทำนองนั้น)
ถ้าเราเจอกรณีแบบนี้จะทำยังไงดี เลิกอ่านวรรณกรรมโบราณเลยดีไหม อันนี้ก็ต้องกลับไปถามเหมือนเดิมว่าคุณยังอยากอ่านอยู่หรือเปล่า ถ้าอยาก ก็แนะนำให้ซื้อฉบับที่มีเชิงอรรถหรือคำอธิบายด้านหลัง
เพราะมันจะช่วยอธิบายให้คุณเข้าใจได้มากขึ้น (อาจจะต้องระวังบ้าง บางฉบับก็ดูจะชี้นำเกินไป) บางทีหาบทวิจารณ์อ่านในอินเทอร์เน็ตก็ได้ หรือไปค้นหนังสือเพิ่มเติมในห้องสมุด ถ้ามีโอกาส คุณอาจสอบถามอาจารย์ทางวรรณคดีก็ได้ค่ะ ถ้าเขาว่าง ไม่ติดธุระ อาจารย์หลายๆ ท่านก็ยินดีให้คำตอบค่ะ
ถ้าปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นกับวรรณกรรมร่วมสมัย ที่จะไม่มีเชิงอรรถมาอธิบายคุณแล้ว ก็คงต้องให้นักวิจารณ์ หรือครูบาอาจารย์ต่างๆ ช่วยให้คำตอบกับคุณ บางทีงานเสวนาเกี่ยวกับวรรณกรรม หรืองานประชุมวิชาการทางวรรณคดีอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีหนังสือที่คุณสนใจหรืองงๆอยู่ก็ไปเถอะค่ะ ส่วนใหญ่บุคคลภายนอกเข้าร่วมได้ ถ้าคุณกลัวเขินเวลายกมือถามในห้อง รบกวนถามอาจารย์ท่านนั้นหลังอาจารย์นำเสนอเสร็จก็ได้ค่ะ ผู้เขียนเชื่อว่าอาจารย์หลายๆ ท่านยินดีอธิบายสิ่งที่ท่านศึกษาให้คุณฟังแน่นอนค่ะ
ปัญหาการอ่านไม่รู้เรื่องในแบบที่สอง นอกเหนือจากกรณีภาษา คุณอาจจะอ่านรู้เรื่อง เข้าใจทุกคำ แต่คุณกลับงงว่าเรื่องมันเดินไปทางนี้ได้ยังไง เดินไปทางนี้ทำไม หรือทำไมมันไม่พูดแบบนี้ ทำแบบนี้ หรือคุณอาจจะไม่ได้อ่านไม่รู้เรื่องหรอก แต่คุณอาจจะตะหงิดๆ กับส่วนเล็กๆ น้อยๆ ของฉากนั้นฉากนี้ ทำไมตัวเอกต้องไปยืนคิดใต้ต้นไม้ต้นนี้ ทำไมคนนั้นชอบทำแบบนี้ตลอดเวลา หรือทำไมต้องเขียนแบบนี้ นี่ใครเล่าเรื่อง ทำไมกระโดดไปกระโดดมา สารพัดอย่างที่ชวนให้คุณอ่านวรรณกรรมหนึ่งเรื่องอย่างไม่ราบรื่น
ปัญหาข้อนี้ ผู้เขียนขอแจ้งให้เข้าใจก่อนว่า ทุกครั้งที่เราเปิดหนังสือวรรณกรรมหนึ่งเล่มอ่าน ไม่ว่าเราจะรู้จักผู้เขียนท่านนี้มาก่อนหรือไม่ก็ตาม คุณกำลังเข้าสู่ระบบภาษาใหม่ ความเข้าใจแบบใหม่ ตัวละครกลุ่มใหม่ พื้นที่ใหม่ มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คุณจะงุนงง และยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากพื้นที่วรรณกรรมนั้น ผู้เขียนหลายคนเห็นว่ามันไม่ใช่พื้นที่ของความจริง เป็นได้อย่างมากเพียงความจริงเสมือน ผู้เขียนหลายท่านจึงดัดแปลงภาษาปกติหรือ ‘ความจริง’ แบบปกติที่เรารู้จัก ให้แปลกประหลาด เพื่อให้เราฉุกคิด หรือเห็นอะไรใหม่ๆที่เราไม่เคยสังเกต หรือไม่เคยนึกถึง
วิธีแก้ปัญหานี้นอกจากจะพึ่งพาคู่ใจ คู่มือ คำอธิบายสารพัดอย่างแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะให้ลองทำดูคือการสังเกตอะไรที่คุณรู้สึกแปลกๆ ทั้งหลายนั่นแหละ ลองตอบคำถามว่า เหตุการณ์ประหลาดๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นตอนไหน และเกิดขึ้นทำไม
เหตุการณ์ประหลาดๆ ในเรื่องอาจเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงอะไรในสังคมหรือใจตัวละครหรือเปล่า อย่าลืมว่าพื้นที่ของวรรณกรรมนั้นคือพื้นที่ที่อะไรๆ ที่ไม่จริงเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นผู้เขียนอาจจะอยากสอดแทรกประเด็นบางอย่างเพื่อท้าทายความเป็นจริงที่พวกเรามองเห็น เพื่อให้เรามองเห็นสิ่งที่เราไม่เคยสังเกตมาก่อน สิ่งที่ผู้อ่านควรทำอาจลองใช้จินตนาการ ตอบคำถามเหล่านี้ดู ลองคิดดูว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นไปได้ได้อย่างไร แน่นอนว่าไม่มีคำตอบตายตัวค่ะ ต่างคนก็ต่างคิด ผู้เขียนหลายๆ คนก็ดีใจด้วยซ้ำที่มีคนคิดสิ่งที่เขาจัดวางไว้อย่างเป็นจริงเป็นจัง
ตัวอย่างที่จะยกให้เห็นคือตัวอย่างจากวรรณกรรมคลาสสิกของชาวเกย์ (ล่ะมั้ง) และเป็นหนังสือที่นักศึกษาของผู้เขียนขออ่านทุกครั้งเวลาจะสอนวิชาวรรณกรรมศตวรรษที่สิบเก้า นั่นคือ The Picture of Dorian Gray ของ Oscar Wilde สิ่งที่หลายๆคนจะงงนอกเหนือจากคำพูดเยอะๆ ที่ฟังดูขัดกันเองของอีตา Henry Wotton แล้ว (เช่น “การทำตัวตามธรรมชาติก็คือการวางท่านั่นแหละ” หรือ Being natural is simply a pose) หลายๆ คนอาจจะมึนกับความเป็นอมตะของ Dorian เอง ที่จู่ๆ ก็หน้าเด้ง อายุเท่าไรก็หน้าเหมือนเดิม (หลายคนคงบอก Dorian เขาคงมีครีมดี) แต่ภาพเหมือนของ Dorian กลับหน้าตาแย่ลงๆ เหี่ยวลงบ้าง ยับเยินบ้าง
ถ้าจะให้คำตอบเรื่องนี้จริงๆ จังๆ คงต้องมานั่งคุยกันเป็นชั่วโมงๆ ผู้เขียนไม่อยากให้คำตอบ แต่อยากให้สังเกตสองบทแรกของเรื่องนี้ดีๆ ก่อน บทที่ทั้ง Basil Hallward กำลังวาดภาพเหมือน Dorian Gray อยู่ แล้ว Henry Wotton ก็นั่งพล่าม กดดันอีตา Dorian Gray และ Basil ไปเรื่อยๆ แค่ตรงนั้นผู้อ่านคงสังเกตคำพูดของ Basil ที่เริ่มเจ็บปวดเมื่อ Wotton พยายามมีอิทธิพลต่อความคิด Dorian Gray จนทำลาย Dorian Gray คนเดิมที่เขาทั้งรักทั้งหลง Basil นั้นเริ่มมองว่าภาพเหมือน Dorian ที่ตัวเองวาดคือ Dorian ตัวจริง ใช้คำว่า you กับรูปภาพด้วยซ้ำ ส่วน Henry Wotton นั้นก็ใช้ Dorian Gray เป็นเครื่องทดลองการใช้ชีวิตให้เป็นศิลปะ แค่สองกรณีนี้ก็คงตอบได้แล้วว่า Dorian Gray ไม่ได้เป็นคนในสายตาสองคนนี้เลย (แม้พี่ Basil จะเริ่มมองเห็น ‘อะไรสักอย่าง’ ที่อยู่นอกเหนือมุมมองทางศิลปะที่เขามีต่อ Dorian) ถ้าอย่างนั้น ลองคิดดูสิคะ ว่าอะไรจะ ‘จริง’ กว่า ระหว่างภาพเขียนเหมือนจริงรูป Dorian กับ Dorian Gray ตัวจริงที่ใครๆก็มองว่าเป็นศิลปะอันงดงาม
แล้วลองคิดดูว่า คนที่เห็นว่าภาพนี้น่าเกลียดยับเยินมีแค่สองคนคือ Dorian กับ Basil และเป็นไปได้ด้วยว่า ต่างคนต่างเห็นคนละภาพ มีแต่ Dorian คนเดียวที่สั่งให้เอาภาพไปซ่อน ในขณะที่ Dorian เห็นว่าภาพน่าเกลียดน่ากลัวทุกครั้งหลังจากทำความผิด ส่วน Basil นั้นเปรียบเทียบว่าภาพที่เห็นนั้นเป็นเหมือนตัวเซเทอร์ (Satyr) สัตว์ประหลาดน่าเกลียดครึ่งคนครึ่งแพะที่มักเป็นตัวตลก แทนที่จะเป็นเทพบุตรกรีกแบบ Dorian ราวกับว่าความน่าเกลียดที่มองเห็นอาจจะเป็นการสะท้อนความผิดในใจบางอย่างของทั้งสองคน สำหรับ Dorian อาจจะเป็นผลร้ายที่มาจากการบูชาศิลปะและเสพความสุขแบบไร้ขีดจำกัด สำหรับ Basil ก็อาจมาจากการมองไม่เห็น Dorian เป็นอย่างอื่นนอกจากงานศิลปะสวยงาม และมีส่วนทำให้ Dorian กลายเป็นคนหมกมุ่นกับศิลปะจนเกินขอบเขต
นี่เป็นแค่การตีความของผู้เขียนคนเดียว ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็ยินดีแลกเปลี่ยนนะคะ การตีความของคนคนหนึ่งอาจไม่ได้มีถูกผิด แต่อาจจะมีความสมเหตุสมผลหรือไม่สมเหตุสมผล เวลาเถียงกันอาจจะเถียงกันแบบที่ว่า ถ้า x เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งนี้จริง ทำไมตอนจบถึงเป็นแบบนั้น ความสมเหตุสมผลก็มีได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะฟังดูน่าเชื่อแค่ไหน บทวิจารณ์หนังสือถึงมีมากมายไงคะ
สังคมนักอ่านคือตัวช่วยที่สำคัญมากๆ อีกหนึ่งตัวช่วย เดี๋ยวนี้อินเทอร์เน็ตมี ชุมชนนักอ่านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพจนักอ่านต่างๆ ของสำนักพิมพ์ต่างๆ หรือเว็บไซต์ที่รวมนักอ่านอย่าง Goodreads หรือ Librarything ด้วย เพื่อนนักอ่านเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้เราได้เห็นประเด็นต่างๆในเรื่องชัดเจนขึ้น ได้มาถกเถียงกัน จนกลายเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากสิ่งที่อ่าน ผู้เขียนไม่ได้อยากจะรับประกันว่าชุมชนนักอ่านจะทำให้เราได้เจอเพื่อนดีๆ ได้รับฟังความคิดดีๆ อย่างเดียว ทุกวงการก็มีคนสารพัดรูปแบบ แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่า แวดวงนักอ่านที่พยายามขบคิดกับหนังสือที่เราอ่านจะให้สิ่งดีๆ กับเรา อย่างน้อยก็ทำให้เรารับฟังความเห็นของคนอื่นเกี่ยวกับสิ่งที่เราเองก็รับรู้มา แต่ต่างมุมมอง และนี่คือสิ่งทีทำให้ผู้เขียนเห็นความสวยงาม (ที่อาจไม่ได้ดูสวยงามเท่าไร) ของแวดวงนักอ่าน
คำแนะนำสุดท้าย ‘ปลงและให้เวลา’
หากจนแล้วจนรอด คุณก็หาคำตอบให้กับความงุนงงของคุณไม่ได้ บางที ณ วันนี้ ณ เวลานี้ คุณอาจจะหาคำตอบไม่ได้ แต่เมื่อคุณเลิกคิดถึงสิ่งที่คุณงงๆ แล้วไปเดินเล่น สระผม ทำกับข้าว คุณอาจจะคิดออกขึ้นมาก็ได้ ไม่อย่างนั้น คุณอาจต้องรอประสบการณ์ชีวิตเข้ามาเปลี่ยนแปลงมุมมองของคุณ เหมือนกับตอนเด็กๆ คุณอาจจะชื่นชมหนังสือเล่มหนึ่งด้วยเหตุผลหนึ่ง เมื่อคุณโตขึ้น คุณอาจจะเกลียดมัน หรือไม่ก็ชอบมันด้วยเหตุผลที่ต่างกัน คุณคงต้องวางปัญหาที่ชวนให้ขบคิดเหล่านี้ลง คำตอบอาจจะโผล่ขึ้นมาก็ได้ แต่ถ้ามันไม่ปรากฏชึ้นมา ก็อย่าไปคิดมากเลยค่ะ ในโลกที่คุณต้องทำงานแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง (ลองคิดถึงอีเมลที่ลูกค้าส่งมาตอนสามทุ่มสิคะ) ไม่เหลือเวลาให้ขบคิดอะไรมากนัก และอาจจะไม่เหลือเวลาจะไปนั่งฟังใครพูดคุยอะไรเรื่องวรรณกรรม โดนงานกลบจนไม่ได้เป็นตัวเอง อย่าเอาคำว่า ‘อ่านไม่รู้เรื่อง’ มาทำลายตัวเองเลยค่ะ
แต่กระนั้น ผู้เขียนก็ยังเชียร์ให้คุณออกไปเจองานที่อ่านไม่รู้เรื่องบ้าง การเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราไม่เคยเจอหรือสิ่งที่เป็นอื่นจะช่วยลดอัตตาของเรา ผู้เขียนมองว่า การอ่านไม่รู้เรื่องของเราส่วนหนึ่งมาจากความพยายามจะจับสิ่งที่เราอ่านยัดเข้าไปในกล่องหรือวิธีคิดแบบใดแบบหนึ่งของเรามากจนเกินไป พอหนังสือที่เราอ่านมันล้นกรอบออกมา เราก็เริ่มอึดอัด โมโห หงุดหงิด หรือแม้แต่กระทั่งช็อก ผู้เขียนบางคนตั้งใจใส่องค์ประกอบบางอย่างเพื่อหลอกการอ่านหนังสือแบบนักสืบของเรา ที่ชอบแกะนั่นแกะนี่ เพื่อจะให้เราเจอสิ่งที่อ่านไม่ออก และตั้งคำถามกับวิธีการอ่านโลกของเราด้วยซ้ำ ว่าอ้าว เราคิดแบบนี้อย่างเดียวไม่ได้ มีคนอื่นที่คิดอีกแบบหนึ่ง หรือเราต้องรู้จักคิดอีกแบบหนึ่ง เราอาจต้องรู้จักทำตัว passive หรือไม่ทำตัวเป็นผู้กระทำ เจ้ากี้เจ้าการกับตัวบทมากเกินไป แต่ต้องปล่อยให้ตัวบทกระทำเรา ให้หนังสือคุยกับเรา ไม่ใช่พากย์ทับหนังสือ อย่างไรเสีย ผู้เขียนก็มองว่า คุณจะคิดแบบนี้ได้ ก็ต่อเมื่อคุณต้องมีเวลา มีจิตใจที่เข้มแข็งและเปิดกว้าง ในสังคมที่แทบจะกลบตัวเราให้หายไป
วรรณกรรมประเภทหนึ่งที่ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านหลายๆ คนได้ลองอ่านดู นั่นคือวรรณกรรมประเภทต่อต้านนิยายสืบสวนสอบสวน (Anti-detective) ผู้เขียนเชื่อว่าหลายๆ คนคงชอบงานแนวสืบสวนสอบสวนอยู่แล้ว เพราะสนุกตื่นเต้น ให้เราได้ลุ้นหาคำตอบอะไรบางอย่าง แต่วรรณกรรมประเภทต่อต้านนิยายสืบสวนสอบสวนจะคล้ายกันมาก เพียงแต่ว่า คุณอาจจะไม่ได้รู้คำตอบอะไรเลยในที่สุด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ถึงจุดนั้น เราอาจจะต้องถามตัวเราเองด้วยซ้ำว่าเราจะอยากรู้ไปทำไม ความอยากรู้ของเรามันมาจากไหน ความอยากรู้อาจจะมาจากทัศนคติของเราที่พยายามจะให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่เราคิดหรือเป็นไปตามกรอบคิดบางอย่างของเราเองก็ได้
“อ่านไม่รู้เรื่อง” บ้างก็ได้ค่ะ ไม่เป็นไร