และแล้วเย็นวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ปฏิบัติการช่วยเหลือทีมฟุตบอล ‘ทีมหมูป่า’ 13 คน ซึ่งประสบภัยติดถ้ำหลวง จ.เชียงราย มาแล้วสิบกว่าวัน ก็ลุล่วงอย่างงดงาม สมาชิกทีมหมูป่าทุกคนทยอยออกมาจ ากถ้ำและถูกนำตัวไปโรงพยาบาลอย่ างปลอดภัย ด้วยความกล้าหาญ ทุ่มเท เสียสละ และความช่ำชองของนักดำน้ำในถ้ำระดับโลก ‘หน่วยซีล’ ของกองทัพเรือไทย ผู้ว่าฯ เชียงราย อาสาสมัครมากมายหลายพันคนทั้งไทยและเทศ ชาวบ้านกว่า 5 หมู่บ้านผู้ยอมเสียสละที่นาตนเองเป็นพื้นที่รับน้ำในการสูบน้ำออกจากถ้ำหลวง
ทั้งหมดนี้ดำเนินไปท่ามกลางการร่วมลุ้น ร่วมหวัง ร่วมส่งกำลังใจของคนทั้งโลก
‘คนทั้งโลก’ ปกติเป็นคำที่นักเขียนหลายคน (อย่างน้อยก็คนนี้) ใช้สวยๆ เพื่อสื่อว่า ‘คนจำนวนมาก’ โดยไม่ค่อยคิดอะไรมาก แต่ในกรณีนี้ ‘คนทั้งโลก’ มีความหมายตามนั้นจริงๆ เพราะปฏิบัติการถ้ำหลวงเป็นข่าวที่สื่อยักษ์ระดับโลกหลายค่ายให้ความสนใจ เกาะติดใกล้ชิดและพาดหัวอย่างต่อเนื่องนานข้ามสัปดาห์ ทั้ง CNN, BBC, ABC, The Guardian, Al Jazeera และอีกมากมาย ซึ่งเมื่อดูความสนใจของผู้เสพสื่อ ถ้าวัดโดยสถิติ Google Trends และโซเชียลมีเดียใหญ่อย่าง Twitter คำว่า ‘คนทั้งโลก’ ในกรณีนี้ก็ไม่เกินจริงแต่อย่างใด
ทำไมคนและสื่อทั่วโลกถึงให้ความสนใจกับปฏิบัติการกู้ภัยในถ้ำหลวง? ผู้เขียนคิดว่ามีเหตุผลหลายข้อ แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ “น้องๆ มีเสน่ห์ชวนให้คนรัก” ดังที่นักการเมืองบางคนโพสเฟซบุ๊ก (แบบดูปลอมๆ ชอบกล ราวกับกำลังพยายามเอาใจฐานเสียงมากกว่า) ถึงแม้ประโยคนี้จะเป็นความจริง หากแต่ปัจจัยสำคัญที่สุดน่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า กรณีนี้แสดงให้เห็น ‘มนุษยธรรม’ (humanity) และ ‘ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน’ (solidarity) ชนิดที่เป็นสากลจริงๆ ชนิดที่ทำให้หัวใจพองโต สามารถเปลี่ยนคนที่มองโลกในแง่ร้ายที่สุดให้กลับมามีความหวังกับมนุษยชาติได้อีกครั้ง ดังที่ เจย์ พารินี (Jay Parini) นักเขียนชาวอเมริกัน สรุปในบทความเรื่อง “Why we can’t stop watching the Thai cave rescue” (ทำไมเราถึงละสายตาจากการกู้ชีพในถ้ำไทยไม่ได้?) ความบางตอนว่า
“ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งที่ความพยายามนี้สร้างแรงบันดาลใจคือข้อเท็จจริงที่ว่า ทีมกู้ภัยมาจากหลายชาติ ทั้งอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น (และประเทศอื่นๆ) มาร่วมกับทีมดำน้ำของไทย และประเทศอื่นช่วยเสริมในด้านที่พวกเขาเชี่ยวชาญ ความพยายามร่วมกันครั้งนี้สำคัญในเชิงสัญลักษณ์ มันสะท้อนโลกที่เป็นไปได้ที่คนจะมาทำงานอย่างสร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อเป้าหมายเดียวกัน อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง
“ในถ้ำในไทยแห่งนี้ ไม่มีสีผิว ไม่มีความแตกต่างทางศาสนา หรือคำถามเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่มีใครกำลังเอาธงชาติมาพันตัวเองหรือตั้งคำถามกับวิทยาศาสตร์ตรงหน้า นี่เป็นโอกาสที่หายากมากๆ ที่เราได้เห็นว่าเราสามารถทำอะไรที่มีเดิมพันสูงอย่างน่ากลัวได้ขนาดไหน ถ้าทุกคนทำงานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทำงานอย่างไม่เห็นแก่ตัวเพื่อสิ่งสำคัญ การชูให้สวัสดิภาพของเด็กๆ มาก่อนเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เราทุกคนล้วนแต่เคยทำผิดพลาดมาแล้วทั้งนั้น และบางครั้งก็ต้องใช้หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด”
‘หมู่บ้าน’ ในที่นี้หมายถึงโลกทั้งใบ
มนุษยธรรมกับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เกี่ยวอะไรกับ Dying Light เกมซอมบี้ในดวงใจของผู้เขียน และคิดว่านี่คือเกมเอาตัวรอดจากซอมบี้ที่ ‘ดีที่สุด’ เท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์เกม ?
เพื่อตอบคำถามนี้ ผู้เขียนคิดว่าเราต้องพยายามตอบคำถามอีกคำถามหนึ่งก่อน–ทำไมเราถึงชอบดูหนังซอมบี้ และเล่นเกมซอมบี้กันอย่างจริงจังคลั่งไคล้ โดยเฉพาะตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เปิดฉากเป็นต้นมา ?
ดักลาส รัชคอฟ (Douglas Rushkoff) นักเขียนในดวงใจคนหนึ่งของผู้เขียน และนักสังเกตผลกระทบของไอทีต่อชีวิตมนุษย์ มองว่าเหตุผลหลักคือ เราชอบอ่าน/ดู/เล่นเกมซอมบี้เพราะมันเป็นวิธีที่เราพยายามรับมือกับโรควิตกกังวลในชีวิตวันนี้
รัชคอฟบอกว่า ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตในโลกที่ ‘ออน’ (on) ตลอดเวลา ทุกคนเชื่อมต่อถึงกันได้ในเวลาจริงผ่านอุปกรณ์ต่อเน็ตและโซเชียลมีเดียทุกรูปแบบ ไม่เคยมีอะไร ‘ออฟ’ (off) อีกต่อไปแล้ว โลกแบบนี้ที่เรารู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นตลอดเวลารอบตัวเรา เราเชื่อมต่อกับโลกขนาดนี้หมายความว่า เราจะแยกแยะไม่ค่อยออกอีกต่อไปแล้วระหว่าง ‘เหตุ’ และ ‘ผล’ ของเรื่องต่างๆ และมองไม่เห็น ‘ต้นตอ’ และ ‘เป้าหมาย’ และดังนั้น เมื่อเราไม่อาจสัมผัสโลกแบบ ‘เกิดสิ่งนี้ แล้วค่อยเป็นสิ่งนั้น’ เราจึงโหยหาห้วงเวลาที่ ‘เดี๋ยวนี้’ (now) สิ้นสุด เราได้มีช่วงเวลาพักผ่อนและสงบสุขเสียที
แต่รัชคอฟบอกว่าปัญหาคือ เราถลำลึกเกินไปแล้วในโลกของการเชื่อมต่อ โลกที่ ‘ออน’ ตลอดเวลา จนการถอดปลั๊กและดึงตัวเองออกจากเสียงอึกทึกของสังคมไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป เพราะเราจนปัญญาที่จะเลือก (ลองนึกดูว่าวันนี้ยากขึ้นเรื่อยๆ ขนาดไหนที่เราจะไม่ใช้มือถือ ไม่เข้าเน็ตชั่วคราว)
ในจินตนาการโลกแตกที่ฝูงซอมบี้ครองเมือง ไม่มีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ไม่มีรถไฟ รถเมล์ บิลค่าไฟฟ้า และเราก็ไม่ต้องไปทำงานหรือจ่ายภาษี รัชคอฟบอกว่า “มีแต่คุณกับครอบครัวของคุณบนเนิน พร้อมปืนลูกซอง ฝูงซอมบี้ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาจากขอบฟ้า มันผ่อนคลายนะในบางระดับ”
แถมเรายังสามารถระบายอารมณ์กับซอมบี้ ไม่ต้องไปลงกับครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือออกไปซิ่งตามถนน
เกมซอมบี้ โดยเฉพาะเกมแนวแอคชั่นที่ให้เราเผชิญหน้ากับฝูงซอมบี้ตรงๆ หลบหนีหรือหาวิธีฆ่ามันอย่างสร้างสรรค์ได้ในหลากหลายรูปแบบ จึงเป็นวิธีระบายอารมณ์ที่ได้ผลอย่างยิ่ง
แล้วทำไมซอมบี้ถึงได้รับความนิยมมากกว่าสัตว์ประหลาดหรืออสูรร้ายอื่นๆ ที่ก็ออกมาเฮฮาไล่ล่ามนุษย์ในวันโลกแตกได้เหมือนกัน ทำไมไม่ใช่ผีดิบดูดเลือด (แวมไพร์) มนุษย์หมาป่า วิญญาณชั่วร้าย มนุษย์ต่างดาว ธานอส หรือ ฯลฯ ?
ผู้เขียนคิดว่าคำตอบหนึ่งคือ ซอมบี้ครั้งหนึ่งเคยเป็น ‘มนุษย์’ เหมือนกันกับเรา ยิ่งมนุษย์ถูกกัดแล้วกลายเป็นซอมบี้ ยิ่งเราเห็นฝูงซอมบี้ทวีจำนวน จึงเท่ากับว่ามนุษย์เหลือน้อยลงเรื่อยๆ บนโลก สื่ออารมณ์โลกแตกสิ้นหวังที่สถานการณ์เลวร้ายลงได้อีก ได้อย่างชนิดที่ไม่มีสัตว์ประหลาดตัวอื่นตัวไหนทำได้ อีกทั้งการที่ซอมบี้เคยเป็นมนุษย์ ยังทำให้สามารถเปรียบเทียบได้ชัดๆ ตลอดเวลาว่า เรายังทำตัว ‘ดีกว่า’ ซอมบี้อยู่ไหม ยังหลงเหลือ ‘ความเป็นมนุษย์’ อยู่บ้างหรือเปล่า (และจริงๆ แล้วความเป็นมนุษย์ยังความหมายอะไรอยู่) – นี่คือเหตุผลที่โลกแตกแบบซอมบี้เป็น ‘พื้นหลัง’ (background) อันรุ่มรวยในการสร้างเรื่องราวสมจริงที่ขับเน้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และสำรวจประเด็นความเป็นมนุษย์ ดังเช่นในเกม The Last of Us และซีรีส์ Walking Dead (ทั้งการ์ตูน ซีรีส์โทรทัศน์ และซีรีส์เกมชื่อเดียวกัน)
ความที่ซอมบี้เคยเป็นมนุษย์เหมือนเรามาก่อน ก็ทำให้มันเป็นพื้นหลังของเกมแนวเอาตัวรอด (survival game) อย่าง Dying Light ได้ดีมากเช่นกัน เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่า ‘คนธรรมดา’ ที่ไม่ได้เก่งกาจอะไรนัก ก็มีโอกาสเอาตัวรอดได้ในยุคโลกแตกที่ซอมบี้บุก
เพราะซอมบี้แต่ละตัวอ่อนแอและไม่มีความสามารถอะไรมาก (ยกเว้นถ้าเจอซอมบี้กลายพันธุ์ระดับ ‘บอส’ ตัวบึ้ก) วิ่งก็ช้า ว่ายน้ำไม่เป็น ปีนกำแพงก็ไม่ได้ (ยกเว้นซอมบี้จำพวกตัววิ่งหรือ Virals ใน Dying Light) หลอกล่อก็ง่ายดาย แค่ทำเสียงดังให้มันหันไปดู ทั้งหมดนี้ทำให้เราสามารถตีซอมบี้หัวแบะด้วยอุปกรณ์ประจำวันอย่างเช่นค้อนหรือประแจ หรือจุดประทัดล่อมันไปทางอื่น แล้วปีนกำแพงหนีไปได้อย่างไม่ยากเย็น (แต่ตื่นเต้นพอดู)
ถ้าเจอแวมไพร์ มนุษย์หมาป่า ธานอส ฯลฯ เราต้องมีอาวุธวิเศษ หรือพลังพิเศษเหนือมนุษย์อะไรสักอย่างเท่านั้นถึงจะจัดการมันได้ แต่กับซอมบี้ เราแค่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ หมั่นพลิกแพลงวิธีใช้ทรัพยากร อดทน และพยายามวิ่งเร็วกว่าเดิมอีกหน่อยเท่านั้นเอง นี่คือเหตุผลที่เกมซอมบี้ทำให้เรา ‘โดน’ ได้ไม่ยาก จินตนาการว่าเราใส่รองเท้าของมนุษย์ส่วนน้อย ‘ผู้อยู่รอด’ ในเกมได้ไม่ยาก เพราะพวกเขาก็เป็นคนธรรมดาเหมือนกันกับเรา
Dying Light ดูเผินๆ ไม่ต่างจากเกมแอคชั่นทั่วไป แต่เล่นไปไม่ถึงสิบนาทีก็จะพบความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของมันทันที เพราะไม่มีเกมไหนก่อนหน้านี้ที่ผสมกลไกการเอาตัวรอด กลไกการต่อสู้ เข้ากับกลไกวิ่ง-ปีนกำแพง-กระโดดข้ามหลังคา (parkour) เข้าด้วยกันได้อย่างกลมกล่อมขนาดนี้มาก่อน
เราต้อง ‘เอาตัวรอด’ ในเกมนี้เพราะมีเซฟเกมอัตโนมัติแค่ไฟล์เดียว เหมือนกับเกมเอาตัวรอดทั่วไป ที่สำคัญคือไม่สามารถใช้กลยุทธ์วิ่งบุกตะลุยไปข้างหน้า ใช้ขวานอันเดียวจามซอมบี้หัวแบะทั้งเกมได้ ถึงแม้ว่าซอมบี้ตัวเดียวหรือแม้แต่ 2-3 ตัวอาจไม่อันตรายอะไร แต่มันจะมารุมเราเป็นฝูงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งซอมบี้หลายชนิดก็ไม่ได้เป็นซอมบี้ธรรมดา แต่กลายพันธุ์เป็นชนิดพิเศษ เช่น พ่นพิษ วิ่งเร็วและปีนป่ายได้ ระเบิดตัวตาย (ให้เราตายตาม) ส่งเสียงร้องบาดแก้วหู มีค้อนทุบกัมปนาททำให้เราเสียหลัก ฯลฯ แถมอาวุธที่เราเก็บได้ซึ่งหลายอย่างดัดแปลงมาจากของใช้ประจำวันก็มีวันหมดอายุ ซ่อมได้อย่างมาก 3-6 ครั้งแล้วต้องหาใหม่
ในเกมนี้กว่าจะเจอปืนกระบอกแรก ผู้เขียนก็ท่องโลกไปแล้วกว่าสิบชั่วโมง ปืนยิงไกลได้ก็จริงแต่มีความเสี่ยงเพราะมันเสียงดัง ยิงเมื่อไหร่ฝูงซอมบี้จะเฮโลเข้ามาหาเราทันที
ยังไม่นับว่าภารกิจบางครั้งต้องทำตอนกลางคืน มองทางแทบไม่เห็น แถมมีซอมบี้พิเศษคือ Volatile ที่อันตรายสุดขีดและหากินเฉพาะตอนกลางคืน แต่ในทางกลับกัน เวลาที่เราทำอะไรๆ ตอนกลางคืน ก็จะได้ค่าความสามารถเพิ่มเป็นสองเท่าของตอนกลางวัน สร้างแรงจูงใจให้เสี่ยงภัยในยามวิกาล (ไม่นับว่าเร้าใจกว่าตอนกลางวันมาก!) แถมศัตรูที่เราต้องสู้ก็ไม่ได้มีแต่ซอมบี้เท่านั้น แต่มีมนุษย์ด้วยกันด้วย – มือปืนรับจ้างและพรรคพวกของ ไรส์ (Rais) อดีตนายพลที่กลายมาเป็นเจ้าพ่อคุมเมือง (เนื้อเรื่องใน Dying Light จัดว่าพอใช้ได้แต่ไม่ถึงกับตราตรึงอะไรนัก)
ทั้งหมดนี้หมายความว่า การเอาตัวรอดใน Dying Light คือการหาวิธีเอาตัวรอดจริงๆ ไม่ใช่ลุยเดี่ยวเหมือนพระเอกหนังบู๊ ซึ่งก็เป็นข่าวดีที่เกมนี้สร้างสุดยอด ‘โลกเปิด’ (open world) ที่ให้โอกาสเอาตัวรอดมากมาย ตั้งแต่การหลบซอมบี้ตามซอกมุม หลังคา หรือในบ้านเรือน หลอกล่อให้ซอมบี้ตามมาจนตกน้ำ ใช้กับดักเสาไฟ รั้ว หรือรถ (ถ้าอัพเกรดทักษะนี้) ช็อตซอมบี้ด้วยไฟฟ้า ขว้างเตาก๊าซใส่แล้วยิงธนูคลอกซอมบี้ด้วยไฟ เขวี้ยงระเบิดขวดใส่ ฯลฯ
เมืองเฮอร์ราน (Herran) ในเกมถูกสร้างอย่างสมจริงและน่าสำรวจทุกซอกมุม ตั้งแต่สลัม ย่านการค้า ไปจนถึงวังเก่า (หน้าตาเมืองนี้คล้ายกับเมืองอิสตันบูล (Istanbul) ประเทศตุรกี) ค้นข้าวของหาเสบียงได้แทบทุกตึก ระบบการเคลื่อนที่แบบ parkour ก็ลื่นไหล (และลื่นไหลกว่าในซีรีส์ Assassin’s Creed) มาก ไม่นับเหตุการณ์แบบสุ่ม (dynamic events) ที่เกิดเป็นระยะๆ เช่น ช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกันจากเงื้อมมือซอมบี้ ไปพักคุยเล่นกับบรรดาผู้รอดชีวิต แย่งชิงเสบียงที่เครื่องบินมาหย่อนให้ (airdrop) จากพวกไรส์ กิจกรรมเหล่านี้ โลกเปิดที่สำรวจได้อย่างไม่น่าเบื่อ บวกกับภารกิจหลักและภารกิจรองอีกมากมายที่เดินเรื่องไปข้างหน้า และความเสี่ยงทุกนาทีที่ซอมบี้จะโผล่มาจากไหนไม่รู้ ทำให้การอยู่ในโลกของ Dying Light รื่นรมย์และตื่นเต้นอย่างยิ่ง
แต่สิ่งที่ทำให้ Dying Light เป็นมากกว่าเกมซอมบี้เจ๋งๆ อีกหนึ่งเกม คือโหมด co-operative multiplayer ของมัน (ย่อว่าco-op) โหมดนี้ให้เล่นกับผู้เล่น (ที่เป็นมนุษย์จริงๆ) คนอื่นอีก 3 คนแบบช่วยกันเล่น ถ้าเจอของ ผู้เล่นแต่ละคนจะได้ของเหมือนกัน ทำให้ไม่ต้องแย่งกัน และถ้าใครคนใดคนหนึ่งทำภารกิจล่วงหน้าไปมากกว่าผู้เล่น Host (เจ้าภาพเกม) ที่กำลังเล่นด้วยกัน เซฟเกมของผู้เล่นที่เป็น ‘แขก’ (Guest) คนนั้นก็จะไม่เซฟ จะเซฟก็ต่อเมื่อทั้งกลุ่มได้ทำภารกิจไปไกลกว่าเซฟ (ส่วนตัว) ของตัวเอง
เป็นระบบที่มีเหตุผลและคิดมาดีมาก เพราะสร้างแรงจูงใจให้ ‘ช่วยกันเล่น’ จริงๆ
โหมด co-op ของ Dying Light ทำให้ผู้เขียนได้ ‘เพื่อนใหม่’ หลายคนระหว่างเล่น เพื่อนที่อยู่ข้ามโลกและเป็นคนแปลกหน้าล้วนๆ ที่เพียงแต่เลือกมาจอย (join) เกมที่ผู้เขียนกำลังเล่นอยู่ เพียงเพราะเปิดโหมด co-op นี้ทิ้งไว้ (เราเลือกได้ว่าจะเปิดแบบ public คือให้ใครก็ได้เข้ามาเล่นด้วย หรือ private คือเฉพาะคนที่เราเชิญเข้ามา)
เพื่อนใหม่หลายคนมาฆ่าซอมบี้ด้วยกันโดยไม่พูดพล่ามทำเพลง แต่ผู้เขียนประทับใจ melmalmervzziผู้เล่นคนแรกที่เข้ามาเล่นด้วยกันเป็นพิเศษ เขาเป็นใครจากไหนก็ไม่รู้ ชื่อจริงชื่ออะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าระหว่างที่ผู้เขียนเหลือกระเป๋ายา (medkit) เพียงชุดเดียว พลังชีวิตร่อแร่ใกล้ตาย (จริงๆ ตายในเกมนี้ก็ไม่เป็นไร แต่จะเสียค่าประสบการณ์หรือ survivor point ค่อนข้างมากโดยเฉพาะถ้าตายตอนกลางวัน ทำให้อัพเลเวลได้ช้าลง) จู่ๆ ก็เจอชายแปลกหน้าในชุดโรงพยาบาล เลเวล 43 (ซึ่งสูงมาก ผู้เขียนเล่นเป็นร้อยชั่วโมงยังได้แค่ 23) มาช่วยฆ่าซอมบี้กระเจิดกระเจิงด้วยธนูเพลิงและดาบอาบยาพิษ
ผู้เขียนทักแชทในเกมไปหลายหน แต่ melmalmervzzi ไม่ตอบ เขา (เธอ?) เพียงแต่ติดสอยห้อยตามผู้เขียนระหว่างทำภารกิจแรกๆ ในเกม ดังนั้นก็แน่นอน เวลาเจอฝูงซอมบี้เซซังครวญครางเข้ามา ผู้เขียนจะรีบปีนหลังคารถหรือบ้านที่อยู่ใกล้ที่สุด รอให้องครักษ์ผู้ใจดี ‘จัดการ’ ให้เรียบวุธ แล้วค่อยออกเดินทางต่อ (แหงสิ ยังอยู่เลเวล 2 อาวุธกระจอก และยังเล่นไม่ค่อยเป็น)
นานนับชั่วโมงผ่านไป เมื่อผู้เขียนได้ทำความรู้จักกับไรส์ และกลับถึงฐานหลัก (Tower) โดยสวัสดิภาพ เพื่อนแปลกหน้าก็ออกจากเกมไป แต่ก่อนหน้านั้นเขาทักแชทมาด้วยประโยคสั้นๆ ประโยคแรกและประโยคเดียวตั้งแต่ ‘รู้จัก’ กันมา ว่า
“I love introducing newbies to Herran. Good luck!” (ผม (ฉัน?) ชอบแนะนำพวกมือใหม่ให้รู้จักเมืองเฮอร์ราน โชคดีนะ!)
(หลังจากที่เกมออกมาเป็นปี ทีมออกแบบก็ใจดีเพิ่มโหมด multiplayerใหม่ให้ดาวน์โหลดฟรี ชื่อ ‘Be the Zombie’ โหมดนี้ให้เราเล่นเป็นซอมบี้ตัวใหม่ชื่อ Night Hunter ไปโจมตีผู้เล่นคนอื่นตอนกลางคืน โหมดนี้ให้แข่งกันสนุกๆ โดยที่ถ้าแพ้ก็ไม่เสียค่าประสบการณ์แต่อย่างใด)
การได้สัมผัสถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแบบนี้ ร่วมแรงร่วมใจกันเอาตัวรอดในโลกที่แตกสลาย คือเสน่ห์ของ Dying Light ซึ่งยังมีคนเล่นทั่วโลกมากถึงครึ่งล้านคนต่อสัปดาห์ และขายไปแล้วกว่า 13 ล้านชุด
ในบทวิเคราะห์ว่าทำไมเราถึงชอบซอมบี้ ดักลาส รัชคอฟ ทิ้งท้ายว่า การมองซอมบี้ว่าเป็นวิธีรับมือกับโรควิตกกังวลของเรานั้นมีปัญหาเหมือนกัน เพราะถ้าเราเปรียบเทียบตัวเองกับซอมบี้ ไม่ว่าจะมองหาความเป็นซอมบี้ในตัวเรา หรือความเป็นมนุษย์ในซอมบี้ เราก็จะพบว่ามนุษย์กำลัง ‘ลดทอนคุณค่า’ ของตัวเองลง ในโลกที่ตัวเลขและคอมพิวเตอร์หลายครั้งดูจะมีค่ามากกว่าเรา– หรือพูดอีกอย่างคือ เรานั่นแหละที่กำลังกลายเป็นซอมบี้