วันที่ 23 ตุลาคม ถือเป็นวันสำคัญของประเทศฮังการี พวกเขาเฉลิมฉลองการกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยปลดแอกตัวเองจากสหภาพโซเวียตและระบอบคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ.1989 โดยครั้งหนึ่งในช่วงสั้นๆ ของประวัติศาสตร์ ฮังการีเคยพยายามจะแปรสภาพระบอบการเมืองของตัวเองเป็นประชาธิปไตย แต่สุดท้ายความพยายามในครั้งนั้นซึ่งมีคนหนุ่มสาวเข้าร่วมจำนวนมากกลับจบลงที่การล้อมปราบและความตาย
แม้ความหวังจะถูกเหยียบย่ำจมธุลีดิน สุดท้ายสิ่งที่คนหนุ่มสาวต้องการก็ประสบความสำเร็จ แม้มันจะใช้เวลานานไปเสียหน่อย แต่ก็คุ้มค่ากับการรอคอย
1.
ฮังการีเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในยุโรปกลางไม่มีทางออกทางทะเล ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ เยอรมันนาซี และถูกกองทัพแดงสหภาพโซเวียตยึดครองเพื่อให้เป็นปราการป้องกันภัยจากสหรัฐอเมริกาที่มีบทบาทในการฟื้นฟูยุโรป มีการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในประเทศ
ตอนนั้นฮังการีเปรียบเหมือนเมืองหน้าด่านของโซเวียต และเป็นส่วนหนึ่งของกติกาสัญญาวอร์ซอที่มีประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปที่รายล้อมสหภาพโซเวียตเป็นสมาชิก โดยกติกาสัญญานี้มีขึ้นมาเพื่อต่อกรกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งมีประเทศประชาธิปไตยในยุโรปและสหรัฐอเมริกาจับมือกันให้มั่น ตกลงกันไว้ว่า หากมีสงครามในยุโรป พวกเขาจะรบเคียงข้างกันในการยันกับคอมมิวนิสต์
ภายใต้การยึดครอง คนฮังการีต่างอึดอัดกับโซเวียตมาก พวกเขามีผู้นำที่ไม่ได้เลือกเองมาคุม แถมผู้นำคนนี้ยังใช้อำนาจดุดันฟังคำสั่งจากโซเวียต มีการก่อตั้งองค์กรตำรวจลับขึ้นมาและสร้างบรรยากาศความกลัวในสังคมฮังการี ทั้งการไล่ล่าจับกุมผู้เห็นต่างคัดค้านพรรคอย่างต่อเนื่อง
คนในชาติไม่มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นหรือการพูด
แม้กระทั่งการฟังเพลงจากตะวันตกก็มีสิทธิ์โดนจับได้
ไม่เพียงการปกครองเท่านั้น โซเวียตยังคงกองทัพจำนวนมากในฮังการี แถมยังสูบทรัพยากร ทำให้คนฮังการีมีฐานะยากจนความเป็นอยู่ย่ำแย่ ความพยายามกลืนฮังการีโดยโซเวียต ยังดำเนินการด้วยการบังคับให้ภาษารัสเซียเป็นภาษาประจำชาติ ชื่อถนน ชื่อโรงเรียนที่เป็นชื่อตามภาษาฮังการีอันเป็นเอกลักษณ์ ก็ถูกสั่งเปลี่ยนให้เป็นชื่อภาษารัสเซียทั้งหมด แม้กระทั่งศาสนา ซึ่งคนฮังกาเรียนจำนวนมากนั้นเคร่งศาสนาคริสต์มาก แต่ตามตำราของคอมมิวนิสต์นั้น ศาสนาจะมีไม่ได้ ผิดหลักการ นั่นจึงทำให้โบสถ์คาทอลิกในฮังการีหลายแห่งต้องปิด ผู้นำทางศาสนาถูกจับกุมคุมขัง
การกดขี่แบบนี้ เป็นฟืนสุมความไม่พอใจให้คนฮังการีทั้งหลาย เมื่อถึงจุดที่โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตตายในปี ค.ศ.1953 ทางนิกิต้า ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ผู้นำคนใหม่ขึ้นมา เขาดูมีท่าทีผ่อนคลายกว่าผู้นำคนเก่า ทำให้คนหนุ่มสาวฮังการีตัดสินใจว่าพอกันที!! แล้วจึงมีการนัดหมายแสดงพลังกันในมหาวิทยาลัยและตามโรงเรียน ก่อนออกมาประท้วงระบอบการปกครองในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1956 หรือ 3 ปีหลังโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) เสียชีวิต
การประท้วงนี้รับรู้ไปถึงโซเวียต พวกเขาตัดสินใจผ่อนคลายสถานการณ์ โดยการเปลี่ยนตัวผู้นำซ้ายจัด ไปเป็นผู้นำคนอื่น ซึ่งก็ไม่ได้รับความนิยม และการประท้วงยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่อง นักเรียนนักศึกษาลงถนนก่อการประท้วง โดยมีแรงงานกรรมกรอันเป็นชนชั้นหลักของพรรคคอมมิวนิสต์ให้การสนับสนุน ไม่เพียงเท่านั้นกองทัพฮังการีก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ด้วย
เรียกได้ว่าคนฮังการีได้ตกลงฉันทามติร่วมกันว่าจะปลดแอกชาติจากการยึดครองของโซเวียต เป็นเอกราชดังที่เคยเป็นมาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
ชนชั้นนำโซเวียตได้เห็นการประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ.1956 อันเป็นจุดเริ่มต้นในการลุกฮืออย่างแท้จริงของฮังการี ในตอนนั้นคณะกรรมการนำพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตตัดสินใจเปลี่ยนตัวผู้นำทางการเมืองอีกครั้ง โดยคราวนี้แต่งตั้ง อิมเร นาจ (Imre Nagy) ซึ่งได้รับความนิยมจากคนฮังการี และดูเป็นสายเสรีนิยมมากกว่าเป็นผู้นำแทน
เอกราชของฮังการีดูเหมือนจะอยู่ไม่ไกลแล้ว
2.
อิมเรเป็นคอมมิวนิสต์ เขาเกิดในมหาอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี เป็นทหารไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้รับบาดเจ็บที่ขา แถมโดนจับโดยกองทัพรัสเซียภายใต้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 (Nicholas II) ถูกส่งเข้าค่ายกักกัน ณ ที่นั่นอิมเรได้รู้จักและสมาทานตัวเป็นมาร์กซิสม์ เข้าร่วมรบกับกองทัพแดง และถูกส่งตัวมายังฮังการี เพื่อก่อตั้งรวบรวมคนเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ระหว่างนั้นเขาก็ไปกลับโซเวียตและฮังการีอยู่เป็นประจำ ด้วยประวัติแบบนี้ อิมเรแทบจะเป็นคนที่โซเวียตมั่นใจมากว่าจะเป็นสาวกพรรคที่ดี เพราะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตมาอย่างยาวนาน
ความมั่นใจนี้จึงทำให้อิมเรถูกส่งมายังฮังการีเพื่อทำงานกับผู้นำพรรค และได้รับความนิยมจากคนหนุ่มสาวอย่างมากมาย นั่นทำให้โซเวียตแต่งตั้งเขาเป็นผู้นำประเทศ ทันทีที่ได้รับการแต่งตั้ง อิมเรประกาศกฎอัยการศึกเพื่อใช้อำนาจนี้ในการเร่งนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองเป็นจำนวนมาก พร้อมสัญญาว่าจะปฏิรูปประเทศอย่างเร่งด่วน
เพียงวันที่ 28 ตุลาคม รถถังโซเวียตก็เริ่มถอนทัพออกจากประเทศฮังการี ซึ่งตอนนั้นตัวอิมเรมั่นใจมากกว่าสหรัฐอเมริกาจะให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของฮังการี ด้วยความเชื่อนี้ทำให้อิมเรเร่งทำการปฏิรูปหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยอย่างชอบธรรม จะมีกระบวนการยุติธรรมที่น่าเชื่อถือ กองทัพโซเวียตต้องถอนทัพจากฮังการีไปทั้งหมด ชาวนาจะสามารถมีที่ดินเป็นของตัวเองได้
และข้อสุดท้ายคือ
ฮังการีจะถอนตัวเองจากกติกาสัญญาวอร์ซอว์
และประกาศตัวเป็นกลางในช่วงสงครามเย็น
ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
พลันที่อิมเรประกาศข้อเสนอเหล่านี้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ข้อปฏิรูปที่จะถอนตัวจากสนธิสัญญาวอร์ซอว์นั้นได้สร้างความไม่พอใจให้กับสหภาพโซเวียตเป็นอย่างยิ่ง คณะกรรมการบริหารพรรคได้กดดันให้ครุชชอฟต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเป็นการเร่งด่วน เพราะหากฮังการีถอนตัวไปแล้ว มันจะทำลายแนวป้องกันโซเวียตในยุโรปตะวันตกทันที ซึ่งจะสร้างความอ่อนแอต่อสหภาพโซเวียต ที่สำคัญอาจทำให้ชาติคอมมิวนิสต์อื่นๆ ตัดสินใจทำตามฮังการี นั่นจะทำให้บริวารคุมไม่อยู่และเปิดทางให้อเมริกาและชาติตะวันตกเข้าประจันหน้าถึงพรมแดนโซเวียตได้
เหตุผลทั้งหมดนี้ ทำให้ครุสชอฟเปลี่ยนใจปฏิเสธข้อเสนอของฮังการี ถึงตรงนี้เขารู้ว่าความมั่นคงของโซเวียตต้องมาก่อนชาติอื่นๆ ดังนั้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน รถถัง 6 พันคันของกองทัพแดงได้เคลื่อนผ่านพรมแดนฮังการีในทันทีพร้อมข้ออ้างว่าต้องการมาดูแลการถอนทัพ และดูแลคนรัสเซียในฮังการี แต่ใครๆ ก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องโกหกชัดๆ คนฮังการีจึงออกมาต่อต้านและการกวาดล้างเริ่มต้นขึ้น จากข้อมูลพบว่าการล้อมปราบของโซเวียตทำให้มีคนฮังการีเสียชีวิตกว่า 30,000 คน ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ 2 แสนกว่าคน
คนหนุ่มสาวและกองทัพฮังการี เพื่อนร่วมชาติพยายามต่อกรกับกองทัพโซเวียตอันมหึมามหาศาล สุดท้ายถูกกวาดล้างอย่างน่าเจ็บปวด ตัวอิมเรเองถือเป็นผู้ต้องหารายสำคัญหมายเลข 1 ที่โซเวียตต้องจับกุมตัวให้ได้ เขาจึงพยายามขอลี้ภัยไปยังสถานทูตยูโกสลาเวีย แต่ถูกจับตัวได้ก่อน สหภาพโซเวียตจับกุมตัวเขาและเปลี่ยนผู้นำคนใหม่ที่ลบล้างข้อเสนอปฏิรูปที่คนฮังการีได้ฝันใฝ่แค่ไม่กี่วันในทันที
อิมเรถูกศาลไต่สวน โดนตั้งข้อหาล้มล้างการปกครอง โซเวียตถือว่าการปฏิรูปของเขานั้นไปไกลเกินกว่าที่จะรับไหว 2 ปีหลังความฝันของคนฮังการีเกิดขึ้นถึงชีวิตที่ดีกว่า มันก็จบลงด้วยโทษประหารชีวิตของอิมเร เขาถูกแขวนคอต่อหน้าคนฮังการี โดยมือถูกมัดไพล่หลัง ปิดฉากชีวิตนักปฏิรูปอย่างเศร้าสร้อย
3.
คำถามก็คือ ทำไมอิมเรถึงกล้าและแสดงความมั่นใจเต็มเปี่ยมเสนอปฏิรูปประเทศขนาดนั้น ในเรื่องนี้นักประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่า ตัวอิมเรประเมินสถานการณ์ผิดว่า สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ พร้อมทั้งชาติตะวันตกผู้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจะสนับสนุนฮังการีในการเปลี่ยนผ่านระบอบ แต่พลันที่โซเวียตยกทัพบุก ชาติเสรีนิยมเหล่านี้กลับนิ่งเฉย ไม่ส่งกองทัพมาช่วยเหลือ ด้วยเหตุผลสำคัญก็คือ ทุกประเทศไม่อยากก่อสงครามอีกแล้ว
มันจึงมีเพียงเสียงประณามจากประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight Eisenhower) อดีตผู้บัญชาการกองทัพสัมพันธมิตรที่รบชนะนาซี พูดเพียงว่า “ผมรู้สึกเช่นเดียวกับราษฎรฮังการี” แต่ไม่มีการลงมือทำอะไรต่อเหตุการณ์รุกรานนี้เลยเพราะมัวแต่ไปสนใจการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้ายของอเมริกา
ความน่าเจ็บใจยิ่งขึ้นไปอีกของคนฮังการีก็คือ ตอนนั้นทุกชาติในโลกต่างพร้อมใจกันปิดตาไม่สนใจเหตุการณ์นี้ แต่ไปสนเรื่องการที่อังกฤษกับฝรั่งเศสส่งกองทัพบุกคลองสุเอซแทน แถมเพื่อนบ้านฮังการีอย่างออสเตรีย ประเทศเคยร่วมมหาอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ก็ดันประกาศตัวเองเป็นกลางในสงครามเย็น ทำให้ชาตินาโต้ทั้งหมดไม่สามารถส่งทหารทะลวงผ่านไปช่วยฮังการีได้ อีกทั้งตัวครุชชอฟก็ได้ขู่อังกฤษกับฝรั่งเศสว่า ถ้ามาช่วย จะถล่มด้วยจรวด
ที่สุดแล้วชาติในยุโรปตะวันตกทั้งหมดจึงไม่พร้อมจะเปิดฉากรบกับโซเวียต ทำได้เพียงคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อโซเวียตซึ่งไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้นตราบเท่าที่โซเวียตยังดูดทรัพยาการจากชาติคอมมิวนิสต์รายล้อมตัวเองเช่น ฮังการีเป็นต้น
การรุกรานครั้งนี้ จึงมีเพียงคนฮังการีที่พ่ายแพ้เพียงเพราะฝันว่าจะมีประเทศที่ดีกว่านี้
4.
กว่าจะได้เป็นประชาธิปไตยกันจริงๆ นั้น คนฮังการีก็ต้องรอถึงปี ค.ศ.1989 พลันที่สหภาพโซเวียตใกล้ถึงกาลอวสาน สงครามเย็นใกล้ปิดฉาก ถึงตรงนี้นักการเมืองไม่ว่าจะระบอบไหน ก็ต้องอ่านสถานการณ์ออก เมื่อเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมไปไม่รอด คนไม่พอใจ ออกมาแสดงการประท้วงและพอกันทีกับระบอบนี้อีกครั้ง ในที่สุดผู้นำของฮังการีก็ทำการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จโดยไม่เสียเลือดเสียเนื้อเลย
ความใฝ่ฝันที่คนฮังการีร่วมกันหวัง ในที่สุดก็เป็นจริงเสียที แม้จะใช้เวลา 33 ปีก็ตาม โดยการประกาศเปลี่ยนระบอบนั้นเกิดขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคม ตรงกันกับเหตุการณ์การลุกฮือของคนฮังการีพอดิบพอดีด้วย
ที่สำคัญคือ ร่างอิมเรและสหายนักปฏิรูปที่ถูกประหารชีวิตจำนวน 3 คนได้รับการขุดขึ้นมาฝังไว้อย่างสมเกียรติวีรชนของชาติที่แม้จะต้องตาย แต่ชื่อเสียงก็ยั้งยืนยง เป็นอมตะยิ่งกว่าผู้นำก่อนและหลังอิมเรเสียอีก
คนหนุ่มสาวฮังการีที่เคยลงถนน ประท้วงจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัย ในตอนที่ฮังการีเปลี่ยนผ่านตัวเองสำเร็จ พวกเขาได้กลายจากคนยุคใหม่เป็นคนยุคชราไปเสียแล้ว แม้เพื่อนหลายคนล้มตาย หายจาก ลี้ภัย แต่การได้เห็นประเทศเป็นเอกราช เป็นประชาธิปไตยนั้น มันเหมือนความฝันที่เคยสัมผัสตอนหลับ ตอนนี้มันเป็นจริงในตอนตื่นเรียบร้อยแล้ว
สรุป
ชัยชนะและความสำเร็จของคนฮังการีนั้น เป็นเรื่องที่น่ายกย่องมากกับการต่อสู้ต่อกรกับกองทัพแดง คำเปรียบเปรยที่ว่า เราแพ้ได้หลายครั้ง แต่อีกฝ่ายแพ้ได้แค่ครั้งเดียว ดูเหมือนจะเป็นจริง เพราะพลันที่โซเวียตหมดสภาพหมดอำนาจ การเปลี่ยนระบอบของฮังการีก็ง่ายดายเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ดีในตอนนี้ ผู้นำของฮังการีคนปัจจุบันกลับมีท่าทีสนิทสนมกับรัสเซียอดีตลูกพี่เดิม แถมเขายังยกย่องการรุกรานฮังการีโดยสหภาพโซเวียต สั่งย้ายรูปปั้นอิมเร ทั้งๆ ที่เขาเองก็เคยเป็นสาวกในวีรชนคนนี้
เหตุการณ์นี้จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องพึงตระหนักว่า การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยนั้น เราชนะเพียงครั้งเดียวเพื่อเปลี่ยนระบอบก็จริง แต่หากจะรักษาระบอบประชาธิปไตยให้ยืนยงสถาพรในประเทศนั้น เราจำเป็นต้องชนะอีกหลายครั้ง
ไม่อย่างนั้นชัยชนะครั้งเดียวที่เราได้มา มันจะสูญเปล่า นี่จึงเป็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่มีให้เราเรียนรู้และจดจำว่า การล้อมปราบกวาดล้างอาจทำให้ทุกอย่างสยบสงบได้ก็จริง แต่สุดท้ายปลายทางประวัติศาสตร์มันจะต้องดำเนินไปดังที่คนในสังคมนั้นต้องการจะเป็น