ในปี 2014 เคยมีบทความของ เคน วาร์ฟ (Ken Wharfe) ในเซ็กชั่น Opinion ของหนังสือพิมพ์ The Guardian (ดูได้ที่ www.theguardian.com) ที่พูดถึง ‘การล่าสัตว์’ ของบุคคลสำคัญคนหนึ่ง
บุคคลสำคัญที่ว่าไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่คือเจ้าชายวิลเลียมแห่งราชวงศ์อังกฤษนั่นเอง
วาร์ฟ – คนเขียนบทความนี้ จริงๆ แล้วเคยทำงานในวังมาก่อน แต่กระนั้นเขาก็กล้าออกมา ‘วิพากษ์วิจารณ์’ สิ่งที่ถือได้ว่าเป็นโบราณราชประเพณีเก่าแก่ของราชวงศ์อังกฤษ คือการล่าสัตว์ เมื่อมีข่าวว่า เจ้าชายวิลเลียม (รวมถึงพระอนุชา) ออกไปล่าสัตว์ในสเปน และมีภาพทรงถือซากไก่ฟ้าที่ได้จากการล่า
วาร์ฟบอกว่า ก่อนหน้านี้ เจ้าชายวิลเลียมนั้นมีพระประสงค์ให้กำจัดงาช้างออกไปจากพระราชวังทั้งหลายให้หมด ทั้งยังเข้าร่วมการประชุม World Wildlife Symposium ในลอนดอนด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยที่สุด ก็ทรงใส่พระทัยกับเรื่องการอนุรักษ์ชีวิตสัตว์ป่าทั้งหลาย
แม้การล่าไก่ฟ้าจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเหมือนออกไปล่าช้างหรือแรดหายาก แต่วาร์ฟบอกว่า การที่เจ้าชายวิลเลียมยังคงทำสิ่งที่พระราชวงศ์อังกฤษทำสืบเนื่องกันต่อมา ก็แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เขาเรียกว่า Royal Obsession หรือความหมกมุ่นในการล่าสัตว์ ที่ราชวงศ์อังกฤษมีสืบเนื่องมานานหลายศตวรรษ
วาร์ฟเล่าว่า สมัยที่ทำงานอยู่ในวัง เขาเคยเข้าร่วมงานที่เรียกว่า November Shooting Party หรืองานล่าสัตว์เดือนพฤศจิกายน ซึ่งจัดโดยเจ้าฟ้าชายชาลส์ที่ซานดริงแฮมเป็นประจำทุกปี งานนี้เป็นงานใหญ่ มีแขกเหรื่อเข้าร่วมการล่ามากมาย โดยระหว่างการล่าจะมีตะกร้าใส่อาหารอย่างดีติดไปด้วย สิ่งที่ขาดไม่ได้ในตะกร้านั้นคือวอดก้าส้มที่ทำจากส้มเซวิล อันเป็นส้มซึ่งกษัตริย์แห่งสเปนพระราชทานมาให้ (สองราชวงศ์นี้มีประเพณีเรื่องการล่าสัตว์เหมือนกัน) แล้วจากนั้นก็ออกไปล่าสัตว์ต่างๆ ซึ่งก็มีตั้งแต่ไก่ฟ้าจนถึงกวาง
ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง The Queen อาจจำได้ว่าควีนเอลิซาเบธเองก็ทรงออกไปล่ากวางด้วยเหมือนกัน แต่ในฉากท้ายๆ พระองค์ตัดสินพระทัยไม่ยิงกวาง ซึ่งถ้าดูเผินๆ เราอาจรู้สึกแค่ว่าทรงเกิดสงสารกวางขึ้นมา แต่ที่จริงเรื่องนี้น่าสนใจมาก เพราะหนังเรื่อง The Queen สร้างขึ้นเพื่อบอกเล่าเหตุการณ์หลังเจ้าหญิงไดอาน่าสิ้นพระชนม์ และหลายคนอาจไม่รู้ว่า เจ้าหญิงไดอาน่านั้นทรง ‘รังเกียจ’ ประเพณีการล่าสัตว์นี้มาก วาร์ฟใช้คำว่าเจ้าหญิงไดอาน่านั้นเห็นว่าการล่าสัตว์เป็นเรื่อง Repugnant เลยทีเดียว ดังนั้น ฉากที่ควีนไม่ทรงลั่นกระสุนออกไปสังหารกวางแสนสวยตัวนั้น จึงเป็นฉากที่แสดงถึงแง่มุมทางจิตวิทยาที่ลึกซึ้งซับซ้อนแต่แนบเนียนอย่างยิ่ง ทั้งยังมีการเมืองภายนอกและการเมืองภายในครอบครัวผสมผสานกันด้วย
ทำไมต้องล่า : การล่ากลายเป็นเรื่องของชนชั้นสูงไปตั้งแต่เมื่อไหร่
เดิมทีเดียว การล่าเป็นเรื่อง ‘จำเป็น’ ต่อการอยู่รอดของสังคมมนุษย์ ยุคที่เรายังเป็นสังคมล่าหาของป่ากันอยู่ และสัญชาตญาณการล่านั้นก็ยังคงสืบทอดต่อมาจนถึงมนุษย์ยุคใหม่ เรื่องนี้เคยมีการศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียในซานตาบาร์บารา (ดูรายละเอียดได้ที่ www.theguardian.com) ที่บอกว่าการคัดเลือกตามธรรมชาติ ตามทฤษฎีของดาร์วิน ทำให้พันธุกรรมแบบนักล่ายังคงสืบเนื่องต่อมาจนถึงมนุษย์ยุคปัจจุบัน เพราะคนที่ล่าหรือฆ่าเป็น (หรือเป็น Hunter) ย่อมมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า
การล่าในอดีตจึงเป็นเรื่องของมนุษย์ทุกชนชั้น ทว่าการล่าแต่ละแบบมี ‘ความหมาย’ แตกต่างกัน ถ้าเป็นพรานทั่วไป การล่ามักเป็นไปเพื่อผลิตอาหารให้ตัวเองและชุมชน แต่จากภาพเก่าแก่อายุราว 3,400 ปี ก่อนคริสตกาล ในเมืองอูรุกยุคเมโสโปเตเมีย พบว่าภาพนั้นเป็นภาพกษัตริย์ออกล่าสิงโต ซึ่งเราจะเห็นได้เลยว่า สัตว์ที่ถูกล่าคือสิงโต จึงไม่ใช่การล่าเพื่อเอาเนื้อสัตว์มาเป็นอาหาร แต่เป็นการล่าเพื่อแสดง ‘อำนาจ’ บางอย่าง
ในโลกยุคปัจจุบัน การ ‘ล่า’ กับการ ‘ฆ่า’ กลายเป็นคนละเรื่องกัน ความซับซ้อนของสังคมและการปฏิวัติด้านอาหารครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้มนุษย์ยุคใหม่ไม่จำเป็นต้อง ‘ล่า’ อีกต่อไป มันอาจฟังดูโหดร้ายขึ้นก็ได้ เพราะการ ‘ฆ่า’ ที่ว่า คือการเลี้ยงสัตว์อย่างเป็นระบบ ภายใต้คำสวยหรูว่า ‘การผลิตอาหาร’ เพื่อเลี้ยงดูมนุษย์
การ ‘ฆ่า’ เพื่อผลิตอาหารแบบเป็นอุตสาหกรรมเกิดขึ้นหลังเกิดชนชั้นกลางได้ไม่นานนัก และมีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ คนในยุคปัจจุบันจึงแทบไม่จำเป็นต้อง ‘ล่า’ เพื่อนำมาเป็นอาหารอีกแล้ว การ ‘ล่า’ จึงยังหลงเหลืออยู่ในคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้น กลุ่มแรกคือคนที่ล่าเพื่อเป็นอาหาร คือกลุ่มคนยากไร้หรือคนในชนเผ่าที่มีวิถีชีวิตแบบเดิม กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังคงแนวคิดเดิมเหมือนสมัยเมโสโปเตเมีย นั่นคือ ‘ล่า’ เพื่อ ‘แสดงอำนาจ’ ซึ่งบางครั้งก็เป็นการล่าเพื่อสันทนาการ (Recreational Hunting)
การล่าเพื่อแสดงอำนาจเกิดขึ้นทั่วโลก นับตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ โรมันโบราณ จีนโบราณ ผ่านมาถึงยุคกลาง แล้วส่งต่อถ่ายทอดมาถึงการล่าของคนชั้นสูงยุคใหม่ ซึ่งเฟื่องฟูมากในศตวรรษที่ 19 โดยราชวงศ์อังกฤษ (อ่านรายละเอียดได้ที่ dailyhistory.org) ในช่วงนั้น อังกฤษยิ่งใหญ่มาก ครอบครองทั้งแอฟริกาและอินเดีย จึงทำให้เกิดการล่าสัตว์ใหญ่ต่างๆ เป็นอันมาก แต่ที่น่าสนใจมากก็คือการล่าสิงโต (และยังคงเป็นการล่าแบบเดียวกับภาพในยุคเมโสโปเตเมีย ซึ่งเป็นการล่าเพื่อแสดงอำนาจ ไม่ใช่ล่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร) โดยสิงโตยังถือเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของอังกฤษด้วย นอกจากราชวงศ์อังกฤษแล้ว กษัตริย์อื่นๆ ในยุโรป เช่น ไกเซอร์วิลเฮล์มที่สอง ก็ขึ้นชื่อว่าชอบการล่าด้วย
การล่าเพื่อแสดงอำนาจกับการล่าเพื่อสันทนาการนั้นมีหลายอย่างคาบเกี่ยวกันอยู่ ในยุคโน้น การล่าสัตว์มีลักษณะคล้ายๆ การออกรอบตีกอล์ฟในปัจจุบัน เพราะการออกล่าสัตว์ใช้เวลานานหลายวัน ผู้ออกล่าจึงเกิดความสนุกสนานและสนิทสนมไว้ใจกัน ว่ากันว่า ถ้าเป็นผู้มีอำนาจ อาจเกิดการล็อบบี้และตัดสินใจในนโยบายต่างๆ ระหว่างออกล่าสัตว์ไปด้วยกัน แต่เมื่อขึ้นศตวรรษที่ 20 แล้ว การล่าสัตว์แบบออกล่ากันนานๆ หลายๆ วัน เริ่มลดน้อยลง คนเริ่มหันมาล่าสัตว์เล็กมากขึ้น ยิ่งในอังกฤษหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว คนย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง เกิดการสร้างถนนและรางรถไฟ พื้นที่ถูกตัดแบ่งให้เล็กลง การล่าเพื่อสันทนาการเกิดง่ายขึ้น โดยเฉพาะการล่าสุนัขจิ้งจอกและไก่ฟ้า ซึ่งแม้คนทั่วไปจะล่าสัตว์เหล่านี้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ล่าเพื่อสันทนาการ
ในอังกฤษ ไก่ฟ้าถือเป็น Game Bird หรือสัตว์ที่ถูกล่าเพื่อสันทนาการชนิดหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเดินออกไปล่าไก่ฟ้าเพื่อสันทนาการได้ มักเป็นคนที่มีความรักชอบ มีฐานะ และมีเวลาว่างมากพอ อย่างน้อยก็มักเป็นคนชั้นกลางระดับบน ยิ่งการล่าสุนัขจิ้งจอกยิ่งแล้วใหญ่ เพราะการล่าสุนัขจิ้งจอกแบบเต็มรูปแบบถือเป็นกิจกรรมยามว่างของคนชั้นสูง เป็นกิจกรรมที่ใช้ทรัพยากรมาก ต้องไปกันเป็นขบวนใหญ่ ใช้ทั้งม้า สุนัข มีคนในตำแหน่งต่างๆ และต้องมีที่ดินของตัวเองที่กว้างใหญ่มากพอด้วย การล่าสุนัขจิ้งจอกนั้นคล้ายการล่าสิงโต คือไม่ได้ล่าเอามาเป็นอาหาร แต่เป็นการล่าเชิงสัญลักษณ์ คือช่วยกำจัดสัตว์ผู้ล่าให้กับชาวบ้าน พร้อมกับเป็นกิจกรรมสันทนาการไปด้วยในตัว การล่าสุนัขจิ้งจอกจึงกลายมาเป็นประเพณีที่มีระบบระเบียบของตัวเอง บางคนก็บอกว่าถึงขั้นเป็น ‘พิธีกรรมทางสังคม’ (Social Ritual) เลย เช่น ต้องมีการแต่งกายตามระเบียบแบบแผน ฯลฯ
นอกจากนี้ การล่าเพื่อแสดงอำนาจและเพื่อสันทนาการยังพัฒนาไปเป็นการ ‘แข่งล่า’ (เรียกว่า Trophy Hunting) คือล่าเพื่อให้ได้ถ้วยรางวัลด้วย โดยถือเป็นกีฬาอย่างหนึ่งที่เกิดในศตวรรษที่ 19 ในยุโรปตอนกลางและตอนใต้ ซึ่งอาจเป็นการล่าสัตว์ที่ขังเอาไว้หรือ ‘กึ่งขังกึ่งปล่อย’ (Semi-Captive Animals) แล้วปล่อยเข้าป่า จากนั้นก็ให้ผู้แข่งขันออกล่า เมื่อล่าได้ก็ถลกหนังหรือตัดหัวสัตว์กลับมารับรางวัล
การ ‘ล่า’ เพื่อสันทนาการและเพื่อแสดงอำนาจ – จึงมักเกิดขึ้นในหมู่คนชั้นสูง ซึ่งในปัจจุบันย่อมหมายรวมถึงคนรวยที่รักชอบในเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่แค่เหล่าราชวงศ์ที่ถูกกล่อมเกลาบ่มเพาะบทบาทอย่างในบทความของ เคน วาร์ฟ เท่านั้น
‘คนชั้นสูง’ ยุคใหม่คือใครบ้าง
ในสมัยโบราณ มนุษย์มีจำนวนไม่มากนัก การล่าเพื่อความบันเทิงเริงใจของคนชั้นสูงจึงไม่ได้ส่งผลต่อจำนวนสัตว์ป่าเท่าไหร่ ปัญหามาเริ่มจริงๆ ในศตวรรษที่ 20 เมื่อเกิดการล่าอีกแบบขึ้นมา เป็นการล่าของพรานที่ไม่ใช่คนชั้นสูง แต่ก็ไม่ใช่การล่าเพื่อหาอาหาร ทว่าเป็นการล่าเพื่อวัตถุดิบ เช่น ล่าช้างเพื่อเอางา ล่าเสือเพื่อเอาหนัง แล้วขายวัตถุดิบเหล่านี้ให้กับคนชั้นสูงอีกทีหนึ่ง เรียกว่าการล่าเพื่อการค้าหรือ Commercial Hunting
บทความนี้ (theconversation.com) เล่าถึงปัญหาการล่าเพื่อการค้าในอเมซอนไว้ว่า ในช่วงปี 1904- 1969 ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลื้อยคลานในอะเมซอน ถูกล่าไปราว 23 ล้านตัว (โดย 23 ล้านตัวนี้เป็นแค่การล่าเพื่อเอาหนังเท่านั้นจึงมีบันทึกไว้ ยังไม่ได้นับรวมการล่าอื่นๆ อีก) โดยสัตว์ที่ถูกล่ามากที่สุดก็คือเสือจากัวร์ เกิดยุคที่เรียกว่า Hunting Boom ขึ้นมาในระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การล่าแบบนี้ส่งผลกระทบต่อจำนวนและสายพันธุ์สัตว์ป่ามากที่สุด และแม้จะไม่ใช่การล่าโดยคนชั้นสูงโดยตรง แต่ก็เป็นการล่าเพื่อให้ได้สินค้าไปป้อนตลาดระดับบน หลายคนจึงบอกว่านี่คือการ ‘ล่าทางอ้อม’ ของคนชั้นสูงอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงยุคใหม่ การล่าไม่ใช่วิถีปฏิบัติทั่วไป (Norm) ของคนชั้นสูงเหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว เพราะกระแสอนุรักษ์และสิทธิของสัตว์มาแรงขึ้นเรื่อยๆ
แต่กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่าการล่าจะหายไป มันกลับเป็นเรื่องเย้ายวนใจและ ‘แพง’ มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย โดยเฉพาะการล่าสัตว์ขนาดใหญ่อย่างที่เรียกว่า Big-Game Hunting ซึ่งหลายคนน่าจะเคยเห็นภาพนักล่าร่ำรวยเหล่านี้ยืนยิ้มอยู่ข้างๆ ซากสัตว์มหึมาที่พวกเขาฆ่า
Big-Game Hunting ครั้งหนึ่งที่โด่งดังไปทั่วโลก ก็คือเมื่อหมอฟันชาวอเมริกันอย่างวอลเตอร์ พาล์มเมอร์ (Walter Palmer) ฆ่าสิงโตชื่อดังอย่าง เซซิล (Cecil) ในปี 2015 เขาจ่ายเงินมากถึง 50,000 เหรียญ (ราวหนึ่งล้านหกแสนบาท) เพื่อจ้างคนนำทางไปล่าสิงโต และได้ฆ่าเซซิล ซึ่งเป็นเหมือนดาราดังของอุทยานแห่งชาติ Hwange ในแอฟริกาใต้ไปโดยไม่รู้ตัว
การล่าแบบนี้จะพุ่งเป้าไปที่การล่าสัตว์ใหญ่ เช่น สิงโต ช้าง ควายป่า เสือโคร่ง (ในอินเดีย) เสือดาว แรด ควายไบซัน (ในอเมริกา) กวางมูส กวางเอลก์ (ในยุโรปเหนือ) ฯลฯ เพราะมันดูท้าทายกว่าการล่าสุนัขจิ้งจอกหรือไก่ฟ้าเป็นไหนๆ รวมทั้งให้ความรู้สึก ‘ผจญภัย’ อย่างปลอดภัยด้วย เพราะจ่ายเงินมหาศาลให้กับบริษัทที่รับจัดนำทางล่าสัตว์เหล่านี้แล้ว บริษัทเหล่านี้จึงต้องดูแลอย่างดีทั้งในเรื่องของความเป็นอยู่และการล่าให้สำเร็จ การล่าที่ว่านี้เป็นที่นิยมของนักล่ารวยๆ จำนวนมากจากทั่วโลก ทั้งอเมริกาและยุโรป แต่ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนพูดได้ว่ากำลังบูม – ก็คือนักล่าจากจีน
บริษัทหนึ่งที่กำลังโด่งดังคือ 52Safari International Hunting Club ซึ่งคนก่อตั้งเป็นคนอเมริกัน แต่เป็นบริษัทที่เปิดในประเทศจีน แล้วพาลูกค้าไปล่าสัตว์ในแอฟริกา โดยลูกค้าต้องจ่ายเงินอย่างต่ำที่สุดเกือบ 11,000 เหรียญ ต่อสองคน แต่โดยปกติแล้วลูกค้าส่วนใหญ่จะใช้จ่ายราว 15,500 เหรียญ (คือเกือบครึ่งล้านบาท) ขึ้นไป สำหรับการเดินทาง ‘ผจญภัย’ ไปล่าสัตว์ใหญ่นานเก้าวันในแอฟริกา โดยสัตว์เหล่านี้จะมีโควตาในการล่าจำกัด ทำให้ราคาแพง
สิ่งที่ทำให้นักอนุรักษ์ฯ ทั่วโลกเป็นกังวลกับนักล่าจากจีนก็คือ คนจีนที่มีฐานะดีมีจำนวนมากมายมหาศาล และแรงจูงใจในการล่านั้นก็ซับซ้อนกว่าแค่เพื่อสันทนาการหรือเพื่อแสดงอำนาจ แต่เป็นการล่าตามความเชื่อในสรรพคุณทางยาของอวัยวะสัตว์ด้วย บทความนี้ (time.com) ของ Time บอกว่าคนจีนชอบล่าแรดและตัวนิ่ม เพราะเชื่อว่านำมาทำเป็นยาอายุวัฒนะหรือยาโป๊วได้
‘ล่า’ ในโครงสร้างอยุติธรรมอัปยศ
ประวัติศาสตร์การล่าทำให้เราเห็นว่าการล่าเป็นเรื่องซับซ้อน มันเกิดขึ้นด้วยแรงจูงใจหลายแบบ ตั้งแต่ความหิวในอาหาร ความหิวในอายุวัฒนะ กระทั่งถึงความหิวในอำนาจ
การล่าเสือดำในป่าทุ่งใหญ่ น่าจะเกิดขึ้นจากแรงจูงใจในการล่าหลายแบบรวมกัน ตั้งแต่แรงขับแบบมนุษย์โบราณที่ฝังอยู่ในวิวัฒนการ การล่าเพื่อแสดงอำนาจ หรือการล่าเพื่อกิน และอาจเป็นการล่าเพื่อใช้อวัยวะของสัตว์เป็นยาอายุวัฒนะ แต่ปัญหาก็คือ มันเป็นการล่าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่ผิดกฎหมาย จึงก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์โกรธแค้นขนาดมหึมาในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน
หลายคน ‘กลัว’ ว่า ผู้ล่าตัวจริงในเหตุการณ์นี้อาจหลุดพ้นจากการลงโทษตามกฎหมาย เพราะเป็นคนมีอิทธิพลสูง แต่คำถามก็คือ ‘ความกลัว’ แบบนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร
ถ้าเราอยู่ในสังคมที่ ‘ความยุติธรรม’ ทำงานอย่างเสมอหน้ากัน เราจำเป็นต้องกลัวเกรงไหมว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอุทิศตัวพิทักษ์ป่าอย่างแข็งขันอาจเป็นอันตรายเพราะอิทธิพลมืดบางอย่างในอนาคต จำเป็นต้องกลัวเกรงไหม ว่าคนที่ทำผิดกฎหมายจะไม่ได้รับโทษที่ตัวเองทำ และจำเป็นต้องกลัวเกรงไหม ว่าจะมีใครต้องตกเป็น ‘แพะ’ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
‘ความกลัว’ ที่เกิดขึ้นและแปรเปลี่ยนไปเป็นความโกรธนี้ ไม่ได้บอกอะไรเราเลย นอกจากบอกว่า เรากำลัง ‘อยู่’ ในสังคมที่มีโครงสร้างอยุติธรรมอัปยศที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และความอยุติธรรมอัปยศนั้นก็ ‘ทำงาน’ อยู่ตลอดเวลา – ในรูปของอำนาจที่เรามองไม่เห็น ที่สำคัญ มันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเสียด้วย
การทำงานของอำนาจที่มองไม่เห็นในสังคมนี้ ทำให้สิ่งที่ถูก ‘ฆ่า’ เพราะโครงสร้างอันอยุติธรรมอัปยศ – ไม่ได้มีเพียงเสือดำตัวนั้นเท่านั้น แต่แท้จริงยังมีไก่ฟ้า สัตว์อื่นๆ ที่ถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ การทำลายสิ่งแวดล้อมหลายแห่งที่ถูกต้องตามกฎหมายในนามของการพัฒนา – ที่แท้จริงแล้วเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ ไล่เลยไปถึงชีวิตของบางคนที่สูญหายเพราะขัดแย้งกับผู้มีอำนาจ, ถูกสังหารโดยตรงโดยฆาตกรที่ไม่เคยได้รับโทษ, ตกเป็นแพะรับบาปชั่วชีวิต หรือถูกล่าแม่มดจนตายทั้งเป็นในหลายกรณี
การ ‘ฆ่า’ ในโครงสร้างอยุติธรรมอัปยศนี้ยังเลยไกลไปถึงการฆ่ากระทั่งสิ่งไม่มีชีวิตอีกหลายเรื่อง เช่น การฆ่าสิทธิที่จะได้รับ ‘โอกาส’ ที่เท่าเทียมกันในชีวิตโดยผ่านกลไกต่างๆ ที่รัฐสร้างขึ้น, การฆ่าสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการหรือบริการจากรัฐอย่างเสมอภาคกัน หรือกระทั่งการฆ่าสิทธิที่จะได้ ‘เลือก’ ตัวแทนของตัวเองเข้าไปใช้อำนาจ
หลายครั้ง – ก็เป็นเราเองที่ ‘สมยอม’ กับการฆ่าในบางเรื่องด้วย โดยเฉพาะการฆ่าในนามของความดีงามและอุดมการณ์บางอย่าง
คำถามก็คือ – เมื่อเราเห็นแล้วว่า เสือดำตัวนั้นถูกฆ่าด้วยฝีมือของผู้อยู่เหนือกว่าในโครงสร้างอยุติธรรมอัปยศนี้ เราจะเห็นเลยไกลไปถึงสิ่งอื่นๆ ที่ก็ถูกฆ่าโดยความอยุติธรรมอัปยศเดียวกันที่ฝังแน่นอยู่ในสังคมนี้ – ได้หรือเปล่า
นี่คือโอกาสอันดียิ่ง – ที่ผลของการล่าที่ผิดกฎหมายได้เปิดโปงให้เราเห็นร่วมกันถึงความซับซ้อนของการล่า และเห็นร่วมกันถึงความอยุติธรรมอัปยศของโครงสร้างสังคมที่เราอาศัยอยู่ – ในแบบที่เราอาจไม่ได้เห็นกันได้ง่ายๆ
อย่าปล่อยให้โอกาสแห่งการ ‘เห็น’ นี้ผ่านเราไปเปล่าๆ เลย