บทความสัปดาห์นี้จริงๆ แล้วเป็นส่วนเสริมหลังจากที่ผมได้ไปเสวนาในงาน Doc+Talk ซึ่งจัดขึ้นหลังจากฉายสารคดีเรื่อง Tokyo Idols จบ เป็นการเสวนาเกี่ยวกับวงการไอดอล ร่วมกับป๊อกกี้ เจ้าของหนังสือ 12-4-48 ว่าด้วยการตามรอยวง AKB48 ในการเสวนาก็มีประเด็นที่คุยกันมากมาย แต่ที่คุยจบแล้วตัวผมเองยังรู้สึกว่าไม่จบ ยังอยากคุยต่อ เพราะคิดว่ามีแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่กลายมาเป็นหัวใจหลักของวงการไอดอลในปัจจุบัน นั่นก็คือ ‘งานจับมือ’
ขออธิบายเรื่องการจับมือสั้นๆ ให้กับผู้อ่านที่อาจจะไม่เคยร่วมงานจับมือหรือไม่รู้จักมาก่อน งานจับมือมักจะหมายถึงกิจกรรมที่ให้แฟนๆ ได้ไปจับมือกับไอดอลที่ตัวเองชอบ โดยวิธีการเข้าร่วมก็มักจะมาจากการซื้อซีดี แล้วเอาบัตรจับมือที่แถมมาไปต่อคิวจับมือกับไอดอลที่เราชอบ แล้วส่วนใหญ่ก็จะแบ่งเป็นสองแบบคือ แบบรายคน คือต้องเลือกเมมเบอร์ที่อยากจับด้วย กดสั่งซีดีว่าจะเอากี่แผ่น แล้วถ้ายอดคนสั่งเยอะ เขาก็จะแรนดอมว่าใครได้กี่แผ่น พอวางขายก็จะส่งแผ่นมาให้ บัตรแบบแรกนี้จะได้จับมือนานหน่อยประมาณ 8-10 วินาที และจะแบ่งเวลาจับชัดเจน ไม่ต้องเสียเวลารอ อีกแบบคือ แบบทั่วไป หรือที่เรียกว่าแบบทั่วประเทศ ที่แค่ซื้อซีดีก็จะได้บัตรจับมือมา แบบนี้ซื้อกี่แผ่นก็ได้ แผ่นหนึ่งได้ประมาณ 3 วินาที บางคนก็เลยกดเต็มสูบซื้อมาหลักร้อยแผ่น แต่ข้อเสียคือ ต้องไปรอคิวเอา โดยเฉพาะคนอยากจับนานๆ ต้องไปรอรอบที่เขาให้รวบบัตรจับมือได้ ไม่ต้องวน ถ้าเป็นเมมเบอร์ดังๆ คิวอาจจะยาวเหยียดรอจนเงกได้ แต่ก็ไม่ต้องรอลุ้นว่าจะซื้อได้กี่แผ่นเหมือนแบบแรก
แน่นอนว่าวงที่ทำให้การจับมือเป็นที่แพร่หลายก็คงต้องยกให้ AKB48 ที่เอาการจับมือมาเป็นจุดขายของวงด้วยธีม ‘ไอดอลที่คุณไปพบได้’ (บวกกับการมีเธียเตอร์ไว้โชว์ของตัวเอง) จนในญี่ปุ่นเรียกการขายซีดีพ่วงบัตรจับมือหรือบริการอื่นเช่นการถ่ายรูปคู่กับไอดอลที่ชอบว่า AKB商法 หรือกฎหมายพานิชย์ AKB ไปเลยทีเดียว แต่จริงๆ แล้วแนวทางการจับมือกับแฟนๆ ก็มีจุดเริ่มต้นจาก Live Idol หรือเรียกอีกอย่างว่า Idol ใต้ดิน/อินดี้ ที่จัดให้มีการจับมือกับแฟนๆ เพื่อสร้างความสนิทสนม อากิโมโตะ ยาซุชิ โปรดิวเซอร์ของ AKB48 จึงเอาแนวทางนี้มาใช้ และสร้างความสำเร็จได้เป็นอย่างมาก จนเรียกได้ว่าทุกวันนี้ งานจับมือกลายเป็นมาตรฐานของวงการไอดอลไปเรียบร้อยแล้ว ขนาดวงที่อยู่มานานอย่าง Morning Musume พอเข้าช่วง Platinum หรือยุคที่เน้นการแสดงสด ไม่ได้ออกทีวีเยอะเหมือนเก่า ก็ยังหันมาเริ่มงานจับมือเช่นกันจากที่แต่ก่อนแทบไม่เคยมี (จะมีก็แค่ช่วงอีเวนต์พิเศษเท่านั้น)
งานจับมือ คือหนึ่งในสิ่งที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของไอดอล จากที่แต่เดิมในยุค 70-80s ที่ไอดอลมีความพรีเมียม เป็นดอกไม้ในที่สูงเกินเอื้อม เมื่อเปลี่ยนเข้าสู่ยุค AKB48 ที่จุดประกายให้เกิดยุคสงครามกลางเมืองของไอดอล งานจับมือก็ทำให้ไอดอลกลายเป็นกลุ่มบุคคลที่เข้าถึงได้ง่าย สัมผัสได้ และมีตัวตนอยู่จริง
มองในแง่ดี งานจับมือก็ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับแฟนๆ สร้างความแน่นแฟ้น ฐานแฟนมั่นคง บางคนอาจจะคิดว่างานจับมือคงมีแต่โอตาคุใส่แว่น ตัวอ้วน ไปยืนปาดเหงื่อหน้าไอดอล (ภาพจำโอตาคุจากสื่อต่างๆ มักจะออกมาในรูปแบบนี้) แต่จริงๆ แล้ว ก็มีคนมากมายหลากหลาย ไม่ใช่แค่แฟนคลับชาย แฟนคลับหญิงก็ไม่น้อย บางทีก็มีเด็กๆ มากับครอบครัว หรือผู้พิการก็จะได้โอกาสจัดคิวให้เข้าจับมือได้ก่อน
อย่างตัวผมที่เคยไปร่วมงานของ Nogizaka46 ก็จัดว่าบรรยากาศดีเหมือนกันครับ เจอแฟนเพลงหญิงแต่งคอสตูมแบบเดียวกับเครื่องแบบของวงมาเต็มยศเลยก็มี (จริงๆ เป็นงานจับมือเดี่ยวสั่งลาของ Hashimoto Nanami ไอดอลคนโปรดของตัวผู้เขียนเอง) แน่นอนว่าการบินข้ามประเทศเพื่อเวลาจับมือสั้นๆ แค่ 8 วินาที ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระ แต่การได้บอกความในใจกับคนที่เราชื่นชอบ แล้วเขาตอบกลับมาว่า “ขอบคุณค่า” เป็นภาษาไทย นี่มันเหมือนได้ยาทิพย์ชนิดที่ว่า เป็น 8 วินาทีที่มีค่าเกินกว่าจะตีเป็นตัวเลขได้ และแฟนๆ หลายคนก็คิดกันแบบนั้นล่ะครับ ไม่แปลกใจที่มีไอดอลกล่าวไว้ว่า “งานจับมือ คือหนังสั้น 8 วินาที ของคนสองคน” (ไม่ค่อยแน่ใจคำพูดชัดๆ นะครับ) ซึ่งหลายคนก็สนุกกับการคิดว่า จะใช้ 8 วินาทีที่ว่าอย่างไรดี ไม่แปลกใจที่หลายต่อหลายคนไปงานจับมือแล้วติดใจจนต้องไปซ้ำแล้วซ้ำอีก
แน่นอนว่านั่นคือภาพลักษณ์ในแง่ดี แต่ในขณะเดียวกัน แนวทางการขายซีดีพ่วงบัตรจับมือก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมญี่ปุ่นไม่น้อยเช่นกัน ตั้งแต่คนร่วมวงการเพลงด้วยกันที่ออกมาวิจารย์ว่าเป็นการสร้างยอดขายเทียมจากการขายสินค้าพ่วงมากกว่าที่จะเป็นการสู้กันด้วยการทำเพลงจริงๆ ตัวอย่างก็ตอนที่ยอดขายซิงเกิลรวมทั้งหมดของ AKB48 แซงวงร็อคที่โด่งดังมานานอย่าง B’z จนกลายเป็นประเด็นดราม่าถึงขนาดที่คนร่วมวงการอย่างวง Golden Bomber พูดออกมาว่า “B’z น่ะ ขายซีดี แต่ที่ AKB48 ขายน่ะคือบัตรจับมือ” (แต่ที่ฮาคือ Golden Bomber ก็เป็นวงเอาฮา ไม่ได้เล่นดนตรีเองด้วยซ้ำ)
นอกจากนั้นก็ยังลามไปถึงปัญหาอื่นเช่น เพราะซื้อสินค้าแบบเดียวกันเป็นจำนวนมาก สุดท้ายเก็บแค่ไม่กี่แผ่นก็พอ แล้วที่เหลือก็ต้องทิ้งสิครับ ซึ่งการทิ้งขยะของญี่ปุ่นก็เรื่องมากไม่เบา กระดาษทิ้งวันนี้ พลาสติกทิ้งอีกวัน สุดท้ายก็มีคดีเอาซีดีไปทิ้งในป่า โดนจับกลายเป็นเรื่องเป็นราวอีก
เอาจริงๆ เรื่องดราม่าเกี่ยวกับการขายพ่วงนี่ก็มีให้อ่านเรื่อยๆ แต่รอบนี้อยากจะชวนไปมองอีกส่วนคือ เรื่องของตัวสมาชิกในวง แทนบ้าง
ตามที่เขียนไปเบื้องต้นว่า งานจับมือก็มีแง่มุมดีๆ อยู่ แต่เมื่อมองกลับอีกทางแล้ว สำหรับตัวไอดอลเอง มันก็ไม่ใช่เรื่องที่สบายอะไรเลย แน่นอนว่าก็มีหลายคนเป็นนักจับมือมือโปร สามารถตกแฟนๆ (ภาษาญี่ปุ่นใช่คำเดียวกับการตกปลา) เพิ่มได้มาก เรียกได้ว่าใครไปจับแล้วก็อยากไปอีก แต่แน่นอนว่าทุกคนไม่ใช่อย่างนั้น ทุกวันนี้ การเป็นไอดอลไม่ใช่หมายถึงการร้องเพลง การเต้น การออกรายการวาไรตี้ แต่หมายถึงการต้องพยายามสร้างจุดเด่นจุดขายให้กับสินค้าที่มีชื่อว่า ‘ตัวตน’ ของตัวเองให้ได้ คนที่เก่งตรงนี้ก็สบายไป แต่คนที่ไม่เก่งก็กลายเป็นความเครียด แม้จะร้องหรือเต้นเก่งแค่ไหน แต่ถ้ายอดคนมาจับมือน้อย ก็สร้างความเครียดให้กับตัวเมมเบอร์ได้โดยทันที
ตัวอย่างที่น่ายกขึ้นมาตอนนี้คือ Ikoma Rina อดีตเซนเตอร์เดี่ยว 6 ซิงเกิลของ Nogizaka46 ซึ่งเยอะที่สุดในวงแล้ว และเพิ่งประกาศจบการศึกษาไปหมาดๆ แม้จะได้โอกาสเป็นเซนเตอร์เยอะ แต่เจ้าตัวก็ยอมรับว่าจำเป็นต้องพยายามหาจุดขายของตัวเองจริงๆ และก็มีปัญหาว่าเจ้าตัวเป็นคนที่ถนัดกับการตั้งสมาธิทำอะไรสักกอย่างเป็นเรี่องๆ ไป แต่การที่ต้องมาซ้อมเต้น ร้องเพลง รับงานเล่นละคร แล้วยังต้องมาจับมืออีก ก็กลายเป็นความเครียดที่ไอดอลต้องเจอไปโดยปริยาย
นั่นคือตัวอย่างกรณีที่ประสบความสำเร็จในงานแต่ก็ยังหนักใจกับการจับมือ แต่ที่หนักกว่าคือ คนที่ไม่ได้รับความนิยม งานก็น้อย แล้วยังดึงคนมาจับมือไม่ได้อีก ตัวอย่างในวงเดียวกันก็คือ Wada Maaya เมมเบอร์วงที่ได้ฉายาว่าเป็นคนบื้อที่น่ารัก แต่ว่าในงานจับมือครั้งแรกของวงที่เปิดโอกาสให้คนร่วมงานเลือกจับมือกับเมมเบอร์ที่ชอบหลังจากเมมเบอร์ได้พรีเซนต์ตัวเองไปแล้ว ฟังดูเหมือนจะดี แต่ที่น่ากลัวคือ นี่เป็นการประชันผลงานกันต่อหน้า และแถวจับมือของ Wada ก็มีคนมาแค่คนเดียวเท่านั้น กลายเป็นเรื่องช็อกสำหรับเธอ และทำให้เธอกลัวการจับมือมาโดยตลอด ทุกวันนี้เวลาเปิดรอบจับมือ จำนวนรอบของเธอก็น้อยมากๆ กลายเป็นแผลในใจของเธอไป ที่ดีหน่อยคือ หนึ่งเดียวตั้งแต่ครั้งแรกคนนั้นก็ยังมาจับมือกับเธออยู่เรื่อยๆ นะครับ
ไม่ใช่แค่ปัญหาความเครียด แต่ยังยาวไปถึงเรื่องความปลอดภัยและสวัสดิภาพของตัวไอดอล เพราะที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นงานที่เข้าถึงเนื้อต้องตัวในระยะประชิดได้ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา แม้จะพยายามป้องกันเรื่องความปลอดภัยกันเป็นอย่างดีแล้ว แต่สุดท้ายคนมาเยอะขนาดนั้นก็ต้องมีหลุดมาบ้าง เอากรณีที่น่ากลัวสุดก็ตอนที่เกิดเรื่องกับ AKB48 ที่มีคนร้ายเอาเลื่อยเข้าไปฟันตัวเมมเบอร์ (สื่อญี่ปุ่นใช้คำว่า แฟน แม้เจ้าตัวจะบอกว่า ไม่ได้รู้จักเมมเบอร์ แค่อยากก่อเรื่อง แต่กว่าจะเข้าไปได้ก็ต้องรู้ระบบระดับนึงล่ะครับ) แต่เมมเบอร์ที่ได้รับบาดเจ็บก็กลายเป็นกลัวงานจับมือ จนสุดท้ายก็ต้องแกรดฯ ออกจากวงไป นี่ก็เป็นกรณีที่น่าจะร้ายแรงที่สุดแล้ว จนทำให้มีการถกกันว่า งานจับมือยังเหมาะหรือจำเป็นแค่ไหน
หลายครั้งก็ไม่ต้องถึงกับทำร้ายร่างกายหรอกครับ แต่เป็นการทำร้ายจิตใจด้วยวาจาที่น่ากลัวกว่า ยกตัวอย่างก็เช่นในงานจับมือที่เกียวโตของ Nogizaka46 ได้มีคนไปด่าเมมเบอร์ (ถ้าจำไม่ผิดคือ Eto Misa เป็นหลัก) ว่ามาจับมือกับเธอมันน่าเบื่อ แล้วโวยวาย สุดท้ายก็โดนตำรวจหิ้วตัวไป น่าเป็นห่วงว่าต่อไปจะมีใครทำอะไรแบบนี้อีกแค่ไหนกัน เพราะต่อให้พยายามป้องกันความปลอดภัยแค่ไหน ก็ยังมีโอกาสหลุดไปได้ แถมคำพูดนี่ไปห้ามไม่ได้ด้วย
ยิ่งนับวัน ‘งานจับมือ’ ก็เหมือนจะเป็นหนึ่งเดียวกับ ‘ไอดอล’ ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็นั่นล่ะครับ หลังจากข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับสวัสดิภาพและสภาพจิตของสมาชิกวง ก็ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของตลกญี่ปุ่นในรายการทีวีว่า “ถ้าจับมือไม่ได้ หรือไม่จับมือ แล้วยังจะเป็นไอดอลได้อยู่มั้ย?” มันก็ชวนให้ขบคิดต่อไปได้ไม่น้อยนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก