ไม่กี่วันที่ผ่านมา ข่าวรายงานว่าอิเมลดา มาร์กอสในวัย 89 ปีถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกถึง 7 ข้อหา ข้อหาละ 6-11 ปี ในคดีติดสินบนและคอร์รัปชั่น ในช่วงทศวรรษ 70-80 สมัยที่เธอเรืองอำนาจภายใต้รัฐบาลสามี[1]ซึ่งทำให้โลกเพิ่งจะนึกขึ้นมาได้ว่านางยังมีชีวิตอยู่นี่หว่า
อิเมลดา มาร์กอส (Imelda Marcos) สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในยุคสงครามเย็นที่สิริโฉมงดงาม ภริยาประมุขแห่งฟิลิปปินส์ ที่โลกจับตามอง ปัจจุบันนางเป็นหม้ายและไม่สละสลวยอย่างแต่ก่อน ไม่ขยันออกสื่อ แต่ก็ยังคงมีอิทธิพลในแบบลับๆ
เรามาเตือนความทรงจำกันก่อนดีกว่าว่านางมีกรณียกิจอะไรกับใครบ้าง
ฟิลิปปินส์เริ่มรู้จักเธอจากการประกวดนางงามมะนิลาประจำปี 1954 แม้จะไม่ใช่ผู้ชนะ คว้ารางวัลลำดับที่สาม แต่ด้วยความไม่พอใจคำตัดสินของคณะกรรมการในครั้งนั้น เธอเข้าไปโวยวายประท้วงนายกเทศมนตรี จนต้องมีการมอบตำแหน่งใหม่ ‘The Muse of Manila’ (‘สาวคิดมากแห่งมะนิลา’) ด้วยความรำคาญ และทำให้ภาพของเธอไปปรากฏอยู่บนหนังสือพิมพ์ต่างๆ ทั่วกรุงมะนิลา
เธอพบรักกับเฟอร์ดินานด์ (Ferdinand E. Marcos) นักการเมืองหนุ่ม ตกลงรับคำขอแต่งงานภายใน 20 นาทีหลังจากพบกันครั้งแรก และจัดพิธีสมรสในอีก 11 วันต่อมา กลายเป็นตำนานแต่งงานสายฟ้าแลบที่ทุกคนพูดถึง จากนั้นเธอก็ติดตามสามีตลอดการหาเสียงเลือกตั้งครั้งแรก และช่วยหาเสียงอย่างขยันขันแข็ง และเธอนี่แหละถือเป็นอาวุธลับของเฟอร์ดินานด์ในการเรียกประชานิยม เพราะนางสวยสูงโปร่งและมีน้ำเสียงอ่อนหวานดึงดูดผู้คนให้เข้ามาฟังปราศรัยของสามีในช่วงหาเสียง และตำแหน่ง The Muse of Manila ก็ทำให้เธอเป็นที่สนใจ เมื่อใดก็ตามที่เธอไปช่วยสามีหาเสียง ผู้คนก็ต่างหลั่งไหลกันมาเพื่อรอดูเธอ มากกว่าที่จะมาฟังเฟอร์ดินานด์ปราศรัย[2]หนุ่มๆ หลายคนตกเหวเธอ
มีบันทึกว่า อิเมลดาคอยสืบรู้ข้อมูลของคนในหมู่บ้านต่างๆ ที่สามีจะเดินทางไปหาเสียง เธอจำชื่อของผู้นำชุมชนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้เฟอร์ดินานด์และคณะทำงานเข้าถึงชุมชนต่างๆ และสร้างความผูกพันได้อย่างง่ายดาย[3]
ในที่สุดในปี 1965 เฟอร์ดินานด์ มาร์กอสก็ได้เป็นประธานาธิบดี และเธอก็ได้เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ซึ่งตลอดช่วงสงครามเย็นรัฐบาลฟิลิปปินส์รับใช้สหรัฐฯ อย่างว่าง่าย ชนิดที่ว่ายอมขัดนโยบายหาเสียงของตัวเอง
ขณะเดียวกันก็รุงแรงกับประชาชนที่ประท้วง ใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนจริง สลายการชุมนุมการประท้วงในปี 1970 อ้างภัยคอมมิวนิสต์เพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามการเมือง ซึ่งหมายถึงหนังสือพิมพ์หรือใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ยิ่งมาร์กอสประกาศกฎอัยการศึกเพื่อให้ตนเองดำรงอำนาจต่อ เขาก็ยิ่งเอาใจอเมริกาเพื่อประคับประคองอำนาจของเขา
นักหนังสือพิมพ์ที่เขียนวิจารณ์และขุดคุ้ยประวัติวัยเยาว์ของอิเมลดา ไม่เพียงถูกตั้งข้อหาในฐานะเป็นคอมมิวนิสต์ และถือว่าเป็นศัตรูกับประธานาธิบดี[4]นางพยายามอย่างยิ่งที่จะปกปิดอดีตอันยากจนของตัวเอง
เนื่องจากพ่อของเธอเป็นสมาชิกของครอบครัวชนชั้นสูงเจ้าที่ดิน แต่ถูกลิดรอนสิทธิ์ไปในช่วงอเมริกาปกครองอาณานิคม ซ้ำสายทางพ่อเธอก็เป็นสมาชิกที่ยากจนที่สุดและไม่ประสบความสำเร็จแต่มีลูกมากรากดก อิเมลด้าเป็นลูกเมียน้อยจึงถูกกลั่นแกล้งโดยพวกพี่ๆ ลูกเมียหลวง ถูกขับไสให้เข้าไปอยู่ในอู่ซ่อมรถ ไม่มีที่นอน เธอกับน้องๆ นอนรวมกันบนพื้นไม้ที่วางพาดไว้บนพื้นดิน ปูรองด้วยลังกระดาษเพื่อใช้เป็นที่นอน[5]ชีวิตเธอระเห็จไปมา ต้องย้ายออกจากเมืองหลวงมะนิลาไปอยู่ที่สวนมะพร้าวในจังหวัดเลเต (Leyte) ที่เธอกลับมายังมะนิลาอีกครั้งก็เพื่อดูแลลุงของเธอซึ่งเป็นนักการเมือง[6]
นักหนังสือพิมพ์คนนึงที่พูดถึงความยากจนในวัยเด็กของอิเมลดาจนถูกบีบบังคับให้ถอนข้อความและกลั่นแกล้ง ถึงขั้นต้องลี้ภัยออกจากฟิลิปปินส์และไม่ได้กลับมาอีกแม้แต่จะมาเยี่ยมแม่ที่จะตายก็ตาม ซึ่งอิเมลดาก็ยังขยี้ด้วยการส่งข้อความไปเยาะเย้ย[7] [8]
ด้วยบารมีของสามี อิเมลดาได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญหลายตำแหน่ง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการตั้งถิ่นฐาน ที่ดูแลประชาชนในด้านประปา ไฟฟ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม การบริการทางการแพทย์ การศึกษา ระบบนิเวศน์ การกีฬาและนันทนาการ การสร้างชีวิตชีวาให้ชุมชน ถนน สะพาน การติดต่อสื่อสาร และอื่นๆ รวมทั้งเป็นผู้ว่าการกรุงมะนิลา
เธอแสดงตนเป็น ‘แม่’ แห่งชาติ สงเคราะห์คนยากคนจน เยี่ยมเยือนสลัมถิ่นทุรกันดารเป็นครั้งคราว ป่าวประกาศเป็นผู้มอบความรักความอบอุ่นให้กับคนยากจนเสมือนหนึ่งเป็นแม่ของพวกเขา นางไปไกลกว่านั้นนางบอกว่านางเป็นแม่ของคนทั้งโลกอีกด้วย[9]ด้วยความต้องการเป็นอุปการิณีงานศิลปะ อุปถัมภ์ศิลปาชีพของฟิลิปปินส์ นางสั่งให้สร้างกลุ่มอาคารเป็นเมืองขนาดใหญ่ให้เป็นศูนย์วัฒนธรรม เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณของชาวฟิลิปปินส์ ฟื้นฟูศิลปะการแสดงของชาติ[10]ด้วยบารมีแห่งเผด็จการ เธอสั่งให้สร้างนู่นนี่นั่นตามอำเภอใจเป็นการเร่งด่วน ตั้งแต่โรงภาพยนตร์แห่งมะนิลา ไปจนถึงวังขนาดใหญ่ที่ทำด้วยมะพร้าวเพื่อโชว์ให้เห็นว่ามะพร้าวก็สวยได้ (ใช่ๆ เหตุผลแค่นั้นจริงๆ)
ยิ่งหลังสามีเธอมีสัมพันธ์สวาทกับดาราฮอลลีวูดสาวจนเป็นที่รับรู้ของสาธารณชน[11] อิเมลดาก็ยิ่งสร้างฐานทางการเมืองให้ตัวเธอเอง[12] แต่ไม่ถึงขั้นแสดงออกว่าเธอจะแข่งขันทางการเมืองกับสามีอย่างเต็มตัว เพราะเธอรู้ดีว่าสิ่งที่ทำให้เธอมีอำนาจได้มากถึงขนาดนี้ ก็เพราะการยอมรับที่จะอยู่ภายใต้อำนาจของสามีของเธอนั่นเอง[13]และในที่สุดเธอก็ก้าวขึ้นมามีอำนาจในระดับที่เรียกว่าทัดเทียมสามี จนมีคำเรียกการปกครองของคนทั้งสองนี้ว่าเป็น ‘ผัวเมียจอมเผด็จการ’ หรือ ‘Conjugal dictatorship’
แม้นางจะถูกล้อเลียนและเกลียดชังถึงขั้นลอบสังหารเฉียดตายเส้นยาแดงผ่าแปด แต่ก็นั่นแหละนางโนสนโนแคร์ การใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยเพื่อความสวยงามของเธอโดยเฉพาะรองเท้าที่ถูกค้นพบในทำเนียบมาลากัญญังที่มีมากกว่าสามพันคู่กลายเป็นประเด็นที่โลกจดจำและคอยแซะ ถ้าไม่สัมภาษณ์เรื่องนี้ก็มักให้กล้องจับภาพรองเท้าที่นางสวมอยู่ขณะให้สัมภาษณ์ ซึ่งเธอออกมาแก้ในปี1976 ว่า “ดิฉันไม่ได้มีรองเท้าสามพันคู่เสียหน่อย ฉันมีแค่หนึ่งพันกับหกสิบคู่ย่ะ”[14]
ไม่เพียงรองเท้าเรือนพัน แต่โลกยังรู้จักเธอในฐานะภริยาประธานาธิบดีประเทศค่ายโลกเสรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงสงครามเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมของเธอ
ระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ในดินเนอร์สำคัญ จู่ๆ อิเมลดาก็ลุกขึ้นร้องเพลงท่ามกลางความตกตะลึงงงงวยของแขกเหรื่อกว่า 1,400 คน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ภรรยาของประมุขประเทศจะทำอะไรแบบนี้ ซ้ำยังเป็นการทำลายพิธีการทางการทูต แต่เธอมั่นใจของเธอเองว่า การร้องเพลงจะช่วยสร้างความประทับใจให้กับผู้นำประเทศในงานเหมือนกับที่เธอประสบความสำเร็จในการร้องเพลงคู่กับเฟอร์ดินานด์ในช่วงหาเสียงครั้งแรกมาแล้ว[15]
นับแต่นั้นมาและอีกหลายครั้ง เธอมักจะโนสนโนแคร์พิธีการทูต มารยาททางสังคม หรือแม้แต่ภาพลักษณ์ของเธอเมื่ออยู่ต่างประเทศ[16]ด้วยการไปปรากฏตัวในงานสำคัญต่างๆ ทั้งที่ไม่ได้รับเชิญ และไปแบบไม่แจ้งล่วงหน้า
เธอ ‘เชิญตัวเอง’ ไปงานสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีนิกสันในปี 1968 และประธานาธิบดีคาร์เตอร์ในปี 1976 เธออ้างกับทางการสหรัฐฯ ว่าเธอได้รับเชิญแล้ว แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบกลับไม่พบคำเชิญแต่อย่างใด[17]จนรายงานหนึ่งที่เผยแพร่โดยวิกิลีกส์กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาต้องพบกับเรื่องเดือดร้อนวุ่นวายที่สุด เมื่อเจอกับแขกคนหนึ่ง ไม่ใช่ใครที่ไหนนั่นก็คือ อิเมลดา มาร์กอสนั่นเอง เพราะนอกจากจะไปเยือนโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าเสมอ ซึ่งถือว่าผิดธรรมเนียมทางการทูต เธอยังมักเรียกร้องต่างๆ นานาและเข้าไปวุ่นวายในเรื่องละเอียดอ่อนทางการทูตเสมอ ซ้ำมักจะอาละวาดที่ทำเนียบขาวเมื่อไม่ได้ดั่งใจ
ในระหว่างที่โลกแบ่งออกเป็น2 ค่ายใหญ่ เธอในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง แห่งประเทศค่ายโลกเสรี และฟิลิปปินส์ก็ถือว่าเป็น ‘ลูกรัก’ ของอเมริกา แต่เธอกลับอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง ด้วยการไปพบ เหมา เจ๋อ ตุง และแสดงความเคารพต่อเหมา เจ๋อ ตุง ด้วยการเอามือของเขา วางไว้ที่หน้าผากของเธอ ซึ่งเป็นท่าทางการแสดงความเคารพอย่างสูงที่สุดของฟิลิปปินส์ เหมา ได้จับเอามือของเธอขึ้นมาจูบ เพื่อแสดงถึงการตอบรับความเคารพของเธอ เหตุการณ์ครั้งนี้เธอถึงขั้นกล่าวขึ้นว่าเป็น “จุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดสงครามเย็น”[18]
อิเมลด้าชอบอวดว่ามีความสนิทชิดเชื้อ คลุกคลีตีโมงเป็นการส่วนตัวกับบุคคลสาธารณะทั่วโลกโดยไม่สนอุดมการณ์และระบอบการเมือง เธอยังกล่าวถึงความภาคภูมิใจที่ฟิเดล คาสโตร ขับรถพาเธอไปท่องเที่ยวในเมือง พร้อมกับรำลึกถึงคำพูดของฟิเดลที่บอกเธอว่า เขาไม่เคยขับรถให้ใครนั่ง นอกจากแม่ของเขา หรือ การรำลึกถึงเพื่อนเก่าอย่างซัดดัม ฮุสเซน ที่เธอกล่าวว่าเธอรู้สึกเสียใจต่อการถูกประหารที่เธอไม่สามารถช่วยอะไรซัดดัมได้เลย
เท่ากับว่านางถูกใช้เป็น soft power ของรัฐบาลเผด็จการในการแสวงหาการยอมรับทางการเมืองจากโลกสากล รวมทั้งบุคลิก ‘ผู้หญิงๆ’ การทำตัวเมาท์มอย อ่อนหวาน สนิทสนมเป็นการส่วนตัวมากกว่าธรรมเนียมทางการฑูต
และอีกวีรกรรมวีรเวรที่เด็ดดวงของนางก็คือ คราวไปเที่ยวอังกฤษเป็นการส่วนตัวได้ร้องขอให้สถานทูตออกประกาศเป็นสาธารณะว่า ควีนเอลิซาเบธทรงมีพระราชประสงค์ในทำนอง ‘ร้องขอ’ ว่าจะพบอิเมลดา เมื่อได้เข้าเฝ้าเธอก็ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎที่ให้เข้าเฝ้าได้ครั้งละหนึ่งคน นางเรียกร้องผ่านไปยังสถานทูตให้ลูกชายได้เข้าเฝ้าด้วย ซึ่งท้ายที่สุดควีนเอลิซาเบธก็ยินยอม[19]ซึ่งเธอยังเคยกล่าวติดตลกในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ในปี 2010 ว่า “คุณรู้ไหม คุณยังไม่ออกพระนามพระราชินีของคุณว่าเอลิซาเบธเฉยๆ เลย พระราชินีของคุณเป็นเอลิซาเบธพระองค์ที่สอง แต่อิเมลดาน่ะ มีเพียงหนึ่งเดียวนะคะ”[20]
ยอมใจป้ามากค่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[2] Veronica Pedrosa. Al Jazeera. Imelda and Me
[3] Carmen Navarro Pedrosa. Imelda Marcos: The Rise and Fall of One of The World’s Powerful Women.Weidenfeld and Nicolson, 1987.
[4] News service report. Imelda Marcos changes tune on her childhood poverty. The Register-guard, Eugene, Oregon. 30/ 04/1990, p. 2A.
[5] Carmen Pedrosa. The Untold Story of Imelda Marcos. Tandem Pub,1969.
[6] www.biography.com/people/imelda-marcos; Marcos, Imelda Romualdez (2011). In L Rodger & J Bakewell. Chambers Biographical Dictionary. London, United Kingdom: Chambers Harrap.
[7] Carmen Pedrosa. The Untold Story of Imelda Marcos. Tandem Pub,1969.
[8] Veronica Pedrosa. Imelda and Me.
[9] Kyodo. Imelda Marcos to receive model mother award. Asian Political News. 10/05/1999.
[10] Imelda: The Documentary. (2003)
[11] The Marcos Diary: At the heart of dictator
[12] Sterling Seagrave. The Marcos Dynasty. Ballantine, 1988, pp. 225.
[13] Vincente L. Rafael. Patronage and Pornography: Ideology and spectatorship in the Early Marcos years.Comparative Studies in Society and History.Vol. 32, No. 2 (Apr., 1990), pp. 282-304.
[14] Carol Ramolran. Imelda Marcos: Style icon, for better and worse. Rappler.com.
[15] Imelda: The Documentary. (2003)
[16] ABC News London. Diplomat Fear Imelda Marcos Visit.
[17] www.wikileaks.org/plusd/cables
[18] Agence France Presse. Imelda Marcos at peace with herself, but not her critics.
[19] ABC News London. Diplomat Fear Imelda Marcos Visit.
[20] Kate McGeown. An audience with the one and only Imelda Marcos.