หมายเหตุ: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์ Dracula 2020 และมังงะ Happiness
เรื่องราวของ ‘แวมไพร์’ -ผีดิบที่มีชีวิตชั่วนิรันดร์ด้วยการดื่มกินเลือด- ถูกบอกเล่ามาแล้วหลายครั้งหลายครา ไล่ตั้งแต่ภาพยนตร์ Dracula (1958) ที่นำแสดงโดย คริสโตเฟอร์ ลี, เกม Castlevania ของค่ายโคนามิ หรือแฟรนไชส์ Twilight อันโด่งดังทั้งฉบับนิยายและภาพยนตร์ ดังนั้นเมื่อต้นปี 2020 ที่เน็ตฟลิกซ์ปล่อยซีรีส์ Dracula ออกมา คำถามแรกจากผู้ชมคือมันยังเล่ามุมมองใหม่ๆ อะไรได้อีก? น่ายินดีว่าคำตอบดูเหมือนจะใกล้เคียงคำว่า ‘ได้’
Dracula ฉบับปี ค.ศ.2020 สร้างโดย BBC One ของอังกฤษ เป็นซีรีส์ความยาว 3 ตอน ทว่าแต่ละตอนนั้นมีความยาวถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ดังนั้นจึงเหมือนดูหนังไตรภาคมากกว่าซีรีส์ ความน่าสนใจคือแต่ละตอนนั้นนำเสนอด้วยรูปแบบที่ต่างกันไป ตอนแรกเป็นหนังสยองขวัญโกธิคแบบที่เราคุ้นชินจากแดร็กคูลาเวอร์ชั่นก่อนๆ ตอนที่สองกลายเป็นหนังสืบสวนเมื่อแดร็กคูลาอยู่บนเรือโดยสารแล้วมีคนค่อยๆ ตายไปทีละคน ส่วนตอนสามนั้นเหวอสุด เพราะเป็นโลกยุคปัจจุบันที่แดร็กคูลาเล่นทินเดอร์เป็น (!?) (ตัวอย่างซีรีส์)
ในเมื่อการเป็นตีความใหม่แบบยุค 2020 ท่านเคาต์แดร็กคูลาจึงมีความลื่นไหลทางเพศสภาพ ประเภทที่พูดคำหวานกับสาวงามในฉากหนึ่ง แต่ฉากถัดมาก็แอ๊วหนุ่มหล่อหน้าตาดี (แคลส์ แบง (Claes Bang) ที่เราคุ้นหน้ากันจากเรื่อง The Square เล่นได้อย่างมีจริตจะก้านสุดๆ) นอกจากนั้นเงื่อนไขการดูดเลือดของแดร็กคูลายังถูกกำหนดว่านอกจากของเหลวสีแดงแล้ว สิ่งที่แดร็กคูลาจะได้จากอีกฝ่ายคือความทรงจำ สติปัญญา และองค์ความรู้ต่างๆ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาสามารถ ‘ปรับตัว’ ได้กับโลกที่เปลี่ยนไป แถมยังรู้จักการ ‘เข้าสังคม’ จนอยู่รอดมาได้หลายร้อยปี
อย่างไรก็ดี จุดที่น่าสนใจที่สุดของ Dracula 2020 คือการพูดถึง ‘การตาย’ ในตอนจบ ซีรีส์เฉลยว่าสิ่งที่ท่านเคาต์หวาดกลัวที่สุดคือการเผชิญหน้ากับความตายอย่างตรงไปตรงมา ความเข้าใจที่ว่าแดร็กคูลาหวาดกลัวแสงอาทิตย์และไม้กางเขนเป็นเพียง ‘มายาคติ’ ที่ผู้คนสร้างขึ้นมาและตัวเขาเองก็เลือกเชื่อตามนั้นไปด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องสำรวจว่าอะไรกันแน่ที่จะทำให้เขาตายจริงๆ นั่นเป็นสาเหตุที่แดร็กคูลาหลงใหลการดื่มกินเลือดของลูซี่ สาวติดโซเชียลผู้ไม่เกรงกลัวความตาย (เรื่องตลกร้ายคือลูซี่ไม่กลัวตาย แต่เธอทนไม่ได้กับความอัปลักษณ์ที่ทำให้เซลฟี่ออกมาไม่สวย!)
เอาเข้าจริงแล้ว ท่านเคาต์กับมนุษย์ยุคนี้ก็กลัวตายไม่ต่างกัน ความหวาดกลัวสูงสุดของผู้คนยุคนี้คือ ‘มะเร็ง’ ดังนั้นซีรีส์จึงกำหนดให้ ดร.โซอี้ ผู้ต่อกรกับแดร็กคูลา (ดอลลี่ เวลส์ (Dolly Wells) แสดงได้ดีจนน่ากราบ) กำลังจะตายด้วยมะเร็ง หากแต่เธอไม่รู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงต่อการต้องจากโลกนี้ไป ผีดิบที่กลัวตายกับหญิงสาวผู้ไม่กลัวตายจึงกลายเป็นเคมีเข้าคู่เติมเต็มกันและกัน ในตอนจบท่านเคาต์จึงยอมโอบรับความตายอย่างเต็มใจด้วยการดูดเลือดจากโซอี้ เลือดของมนุษย์ที่เป็นมะเร็งทำให้เขาดับสูญในที่สุด
บทสรุปของ Dracula 2020 สร้างความอึ้งตะลึงกับผู้ชมเป็นอย่างมาก ทั้งที่แดร็กคูลาตบตีกับ ดร.โซอี้ มาทั้งเรื่อง แต่ตอนจบทั้งคู่กลับมีความสัมพันธ์คล้ายคนรักแบบเดียวกับ ดร.ฮันนิบาล เลคเตอร์ กับ นักสืบ แคลริซ สตาร์ลิง ท่านเคาต์ดูมีความเห็นอกเห็นใจที่จะช่วยให้โซอี้พ้นทุกข์จากโรคร้าย (บางทีเขาอาจจะได้คอนเซ็ปต์ Empathy มาจากการดูดเลือดแม่ชีอกาธาผู้เป็นบรรบุรุษของโซอี้) ส่วนโซอี้ก็ช่วยให้แดร็กคูลาพ้นจากวังวนแห่งความอมตะ ฉากสุดท้ายที่ทั้งคู่นอนกอดกันแล้วกลายเป็นพระอาทิตย์สีเพลิงจึงงดงามอย่างน่าประหลาด
นอกจาก Dracula 2020 แล้ว มังงะเรื่อง Happiness (2015-2019) ของ ซูโสะ โอชิมิ (Shūzō Oshimi) (เจ้าของผลงาน The Flowers of Evil หรือ ‘รักโรคจิต’) ก็พูดเรื่องแวมไพร์ได้น่าสนใจเช่นกัน เช่นเดียวกับผลงานก่อนหน้าของโอชิมิที่เปิดเรื่องเหมือนจะเป็นการ์ตูนเกี่ยวกับเด็กมัธยมปลายทั่วไป แต่แล้วโอคาซากิ—พระเอกของเรื่อง—กลับถูกผีดิบลอบทำร้าย จนต้องกลายเป็นสิ่งมีชีวิตกระหายเลือด โดย Happiness ฉบับแปลภาษาอังกฤษเพิ่งออกตอนจบเมื่อธันวาคม ค.ศ.2019
ในขณะที่ท่านเคาต์ใน Dracula 2020 เป็นพวกชอบเข้าสังคมและผูกมิตร (เพื่อหลอกใช้ประโยชน์) กับคนอื่นไปทั่ว เหล่าแวมไพร์ใน Happiness ต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ พวกเขาไม่ได้ภูมิใจในความอมตะเลย หากแต่ต้องกลายสภาพเป็นสิ่งมีชีวิตไร้ค่าที่ประทังชีวิตด้วยเลือดของผู้อื่น โอคาซากิที่ไม่อยากทำร้ายคนรอบข้างจำใจต้องบอกลาครอบครัวและหายเข้าไปในซอกหลืบสังคม หากติดตามผลงานของโอชิมิ จะพบว่านี่คือธีมที่ปรากฏในผลงานของเขาเสมอ เรื่องของหนุ่มสาวชีวิตน่าเบื่อที่แสวงหาความตื่นเต้นไม่ปกติ ทว่าเมื่อข้ามเส้นไปสู่ความไม่ปกติได้สักพัก พวกเขาก็จะดั้นด้นกลับไปเป็นคนปกติ หากแต่มันสายเกินไปแล้ว
โครงสร้างของ Happiness อาจมีความประหลาดอยู่บ้าง เรื่องดำเนินไปอย่างเชื่องช้า บางช่วงพระเอกหายตัวไปประมาณสามเล่มได้ แต่สิ่งที่ผู้เขียนชอบคือแม้จะว่าด้วยแวมไพร์ มันกลับเน้นความสำคัญของ ‘ความเป็นมนุษย์’ อยู่เสมอ เหล่าแวมไพร์เมื่อใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ก็จะหลงลืมว่าตัวเองเคยเป็นมนุษย์ แต่เพราะโอคาซากิยังหลงเหลือจิตใจที่ดีงาม ทำให้ผีดิบตนอื่นๆ ระลึกได้ถึงความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ก่อให้เกิดกลุ่มแวมไพร์ใฝ่ดีที่เลือกจะไม่ฆ่าเหยื่อและดื่มเลือดในปริมาณพอเพียง หากแต่สภาพการเป็น ‘ชายขอบ’ ของสังคมก็ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
ปริศนาชิ้นใหญ่ของ Happiness คือคำถามว่า ‘ความสุข’ ตามชื่อเรื่องคืออะไรกันแน่ เหล่าแวมไพร์ที่ต้องใช้ชีวิตยาวนานหลายร้อยปีผ่านทั้งความสูญเสียและเจ็บปวดมากมายดูเป็นอะไรที่ห่างไกลกับคำว่าความสุขอย่างที่สุด แม้แต่คำตามของผู้เขียนในเล่มสุดท้ายยังยอมรับว่าเขาเองก็ไม่ทราบว่าความสุขคืออะไร เช่นนั้นแล้วมันอาจเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงหรืออาจต้องใช้เวลาตามหาไปทั้งชีวิต แม้แต่แวมไพร์ที่มีเวลาไม่สิ้นสุดก็อาจทำไม่สำเร็จ