ผมได้ยินชื่อของ Eka Kurniawan ครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วจากการที่ Man Tiger นวนิยายเล่มหนึ่งของเขาไปปรากฏอยู่ใน Long List ของรางวัล The Man Booker International เคียงบ่าเคียงไหล่กับบรรดานักเขียนชั้นครูอย่าง Kenzaburo Oe และ Orhan Pamuk
ถึงแม้ Kurniawan จะไม่ได้ผ่านไปถึงรอบ Short List หากเพียงเท่านี้ก็เพียงพอจะดึงความสนใจจากนักอ่านทั่วโลกให้หันมาจับตานักเขียนชาวอินโดนีเซียคนนี้ ว่าอาจถึงคราวแล้วที่จะมีนักเขียนจากภูมิภาคอาเซียนคว้ารางวัลทางวรรณกรรมระดับโลกขึ้นมาสักคน อย่างที่ Pramoedya Ananta Toer อีกหนึ่งนักเขียนอินโดนีเซียผู้ซึ่งชื่อของเขาเคยถูกเอ่ยถึงอยู่บ่อยๆ บนเวทีรางวัลโนเบลในฐานะตัวเต็งตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จู่ๆ ชื่อของ Eka Kurniawan ก็ตกลงกลางสปอตไลต์ในฐานะคลื่นลูกใหม่ที่จะพัดพาวรรณกรรมอาเซียนสู่สายตาของชาวโลก
เขาน่าสนใจถึงขนาดที่ Benedict Anderson นักวิชาการผู้ล่วงลับ เจ้าของหนังสือ Imagined Communities ชื่นชมว่าเป็นนักเขียนอินโดนีเซียที่โดดเด่นที่สุดในปัจจุบัน จะเรียกว่าเป็นทายาทคนสำคัญของ Pramoedya ก็ย่อมได้
และเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Vengeance is Mine, All Others Pay Cash นวนิยายอีกเรื่องหนึ่งของ Kurniawan ก็เพิ่งวางจำหน่ายเป็นภาษาอังกฤษพอดี คอลัมน์สัปดาห์นี้ผมเลยขอหยิบยกนวนิยายของนักเขียนดาวรุ่งผู้นี้มาพูดถึงครับ
Beauty is a Wound, Man Tiger, และ Vengeance is Mine, All Others Pay Cash คือชื่อนวนิยายสามเล่มของ Kurniawan ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดย Beauty is a Wound คือนวนิยายลำดับแรกของเขาครับ ความน่าสนใจของงานเขียนชิ้นนี้อย่างแรกอยู่ที่ความหนาของมันซึ่งฉบับภาษาอังกฤษนั้นหนาร่วมห้าร้อยหน้า แถมยังตีพิมพ์ครั้งแรกในขณะที่ Kurniawan มีอายุเพียง 27 ปีเท่านั้น! Beauty is a Wound บอกเล่าประวัติศาสตร์อินโดนีเซียในหลายยุคสมัย เริ่มตั้งแต่ช่วงที่ดัตช์ยังตั้งอาณานิคม ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพญี่ปุ่นบุกยึดพื้นที่ ช่วงที่อินโดนีเซียประกาศอิสรภาพ และมาสิ้นสุดในช่วงกวาดล้างคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ ก่อนที่ซูการ์โนจะถูกยึดอำนาจในท้ายที่สุด
Beauty is a Wound คือนวนิยายที่ฉายภาพความทะเยอทะยานของ Kurniawan อย่างชัดเจนจากเจตนาที่หวังจะบอกเล่าประวัติศาสตร์ของชาติด้วยน้ำเสียงและวิธีการเล่าที่แตกกระสานซ่านเซ็นราวกับแม่น้ำที่แยกออกเป็นสาย
Dewi Ayu ตัวเอกของเรื่องคือโสเภณีลูกครึ่งอินโด-ดัตช์ ที่หลังจากที่ตายไปแล้วกว่ายี่สิบปี อยู่ๆ ในบ่ายวันหนึ่งเธอก็ลุกขึ้นจากหลุมศพ และเดินกลับบ้านไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ประหลาดดีไหมล่ะครับที่จู่ๆ ศพซึ่งควรจะนอนนิ่งอยู่ในหลุมก็เกิดนึกครึ้มตื่นขึ้นมาเสียง่ายๆ ซึ่งด้วยองค์ประกอบของเหตุการณ์ในเรื่องที่พิสดารเช่นนี้เองที่ทำให้นวนิยายเล่มนี้ถูกกล่าวถึงในฐานะหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวภาคอินโดนีเซีย ซึ่งก็ไม่ผิดแต่อย่างใดหากจะเรียกเช่นนั้นเพราะระหว่างที่ผมอ่าน Beauty is a Wound ก็จะสัมผัสถึงเงาของ Gabriel Garcia Marquez อยู่ตลอดเวลา อย่างตัวละครที่กินอุจจาระก็พาให้นึกถึงหญิงสาวที่ชอบกินดินของ Marquez หรือเมืองสมมติในเรื่องนี้ก็อาจเปรียบได้กับมาคอนโดแห่งอุษาคเนย์ไว้อย่างน่าสนใจ
สัจนิยมมหัศจรรย์ เองก็เป็นองค์ประกอบร่วมที่สำคัญในงานเขียนเรื่องต่างๆ ของ Kurniawan ซึ่งพ้นไปจาก Beauty is a Wound แล้ว Man Tiger ก็เล่นกับสภาวะซึ่งเหลื่อมล้ำอยู่ระหว่างความจริงกับโลกมายาได้อย่างน่าสนใจ มันเล่าเรื่องของเด็กหนุ่มที่ไปฆ่าชายคนหนึ่งอย่างอำมหิต สร้างรอยแผลเหวอะที่ลำคอเหยื่อราวกับไม่ใช่การกระทำของมนุษย์ เรื่องราวเปิดเผยให้เรารู้ว่าภายในใจของเด็กหนุ่มนั้นมีเสือขาวเพศเมียสถิตอยู่ และมันจะปรากฏตัวเมื่อเขาควบคุมความโกรธไว้ไม่ได้ ซึ่งนวนิยายเล่มนี้ได้ถ่ายทอดความเดือดดาล สับสน และหวาดกลัวในจิตของเด็กหนุ่มออกมาได้ซับซ้อนและน่าทึ่งทีเดียว
ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้อีกจุดหนึ่งคือ Kurniawan เลือกจะเปิดเผยไคลแมกซ์ของเรื่องตั้งแต่ประโยคแรก
นั่นคือบอกผลลัพธ์สุดท้ายที่จะเกิดขึ้นในเรื่องให้คนอ่านได้รู้ จากนั้นจึงสืบสาวราวเรื่องให้เราได้รับรู้ถึงที่มาของการฆ่าอันน่าสยดสยองว่าเป็นมาอย่างไร ซึ่งด้วยวิธีการเล่าที่ชาญฉลาด และการวางโครงสร้างไว้อย่างดี ทำให้หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกได้ไม่ต่างจากนวนิยายสืบสวนดีๆ เล่มหนึ่งเลยล่ะครับ
ส่วน Vengeance is Mind, All Others Pay Cash ก็เป็นอีกเล่มที่มีพล็อตประหลาดล้ำจนไม่รู้จะชื่นชมว่าอย่างไรดี เพราะนิยายเล่มนี้เล่าเรื่องของชายที่นกเขาของเขาไม่ขัน อ่านไม่ผิดครับ ตัวเอกของเรื่องหมกมุ่นและพยายามจะปลุกมันให้ตื่นเหมือนผู้ชายคนอื่นๆ แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ดูเหมือนจะไม่สำเร็จเสียที เพียงแต่ภายใต้พล็อตที่ฟังดูบ้าๆ บอๆ นี้ สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังคือการเปิดเผยให้เห็นถึงทัศนคติต่อเรื่องเพศในอินโดนีเซีย ทั้งการเทิดทูนความเป็นชาย และการกดทับเพศหญิงอย่างเป็นเรื่องปกติทั่วไป
สังคมอินโดนีเซียที่เล่าผ่านสายตาของ Kurniawan นั้นอัดแน่นอยู่ด้วยความรุนแรง และแรงกำหนัดอันเข้มข้น และบ่อยครั้งที่ตัวละครหญิงในเรื่องคือภาพแทนของสตรีที่ทำได้แค่จำยอมต่ออำนาจของเพศชายที่กดทับลงมา เหตุการณ์ป่าเถื่อนอย่างการข่มขืน หรือถ้อยคำหยาบคายปรากฏอยู่เสมอในนิยายทุกเรื่องของ Kurniawan และแม้หลายๆ ฉากจะชวนให้เบือนหน้าหนีขณะที่อ่าน กระนั้นในทางหนึ่งมันก็คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงที่ในสังคมหากกลับโดนกดเอาไว้ไม่ให้เผยเปิดออกมา
Kurniawan ถ่ายทอดน้ำเสียงของเขาผ่านการเล่าที่คล้ายกับมุขปาฐะ หรือนิทานปรัมปรา บอกเล่าถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ตำนานพื้นถิ่น หรือผีสางเทวดาต่างผลุบๆ โผล่ๆ ในโลกของเขาราวกับเป็นเรื่องสามัญธรรมดา
อินโดนีเซียที่ Kurniawan ถ่ายทอดออกมาในทางหนึ่งอาจคล้ายกับประเทศเหนือจริง หากในขณะเดียวกันที่ความประหลาดล้ำต่างๆ ประเดประดังอย่างไม่สิ้นสุด เราก็ยังสัมผัสได้ถึงความซับซ้อนของอินโดนีเซียซึ่งถมทับกันทั้งในประเด็นของเชื้อชาติ ศาสนา และการเมือง