ในยุคนี้การรับชมหนังอินดี้สามารถทำได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะผ่านช่องทางออนไลน์ หรือทางโรงภาพยนตร์ทางเลือกที่มีอยู่หลายโรง ทำให้ในช่วงหลังทางโรงภาพยนตร์หลายๆ แห่ง มักจะนำภาพยนตร์มาจัดเข้าชุดแล้วแล้วฉายในลักษณะนิทรรรศการภาพยนตร์บ่อยขึ้น ซึ่งหลายๆ ครั้งก็มักมีการเสวนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ที่ถูกจัดฉายด้วย
อย่างในงานเทศกาล LGBT+ Film Festival 2018 ก็นำเอาหนังที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งในแบบโฟกัสให้ตัวเอกเป็นตัวละครหลากหลายทางเพศโดยตรง และในแบบที่ตัวละครหลักไม่ได้เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่มีความเกี่ยวข้องกับตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศ เฉกเช่นเดียวกับมุมหนึ่งของคนในสังคมที่มีโอกาสพบเจอมาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ในงานเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้มีประเด็นสัมนาประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นก็คือ ‘บทบาทของหนังเพศทางเลือกในสังคมไทย’ ที่ชวนมาพูดคุยกันว่าภาพยนตร์ LGBTQ ให้ประโยชน์อะไรกับสังคมไทยบ้าง โดยได้ คุณนุชชี่ – อนุชา บุญวรรธนะ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง อนธการ , มะลิลา กับ คุณกอล์ฟ – ธัญญ์วาริน ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก, Insects In The Backyards แมลงรักในสวนหลังบ้าน มาร่วมกันถกในประเด็นดังกล่าว ซึ่ง The MATTER ได้มีโอกาสไปร่วมงานครั้งนี้ จึงขอสรุปการพูดคุยในวันนั้นมาให้ผู้อ่านได้ติดตามกัน
จุดเริ่มต้นในการทำหนัง LGBTQ ของสองผู้กำกับ
ปัจจุบันนี้คนดูหนังหลายคนมองว่าทั้ง คุณนุชชี่ – อนุชา บุญยวรรธนะ และคุณกอล์ฟ – ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เป็นผู้ชำนาญด้านการกำกับหนัง LGBTQ แต่ทั้งสองก็บอกว่าพวกเขาไม่ใช่คนเริ่มทำภาพยนตร์แนวนี้เป็นกลุ่มคนแรก อย่างในยุคก่อนหน้านั้นก็มีภาพยนตร์อย่าง ฉันผู้ชายนะยะ, เพลงสุดท้าย, พรางชมพู หรือ สตรีเหล็ก ฯลฯ ที่บอกเล่าชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาก่อนแล้ว
ถึงอย่างนั้นทางคุณกอล์ฟ ก็มองว่างหนังไทยที่เคยดูในยุคก่อนหน้านั้นมีแต่การกำหนดบทบาทของตัวละคร LGBTQ แบบชัดเจนไปเลย ไม่ค่อยมีหนังที่แสดงชีวิตธรรมดาเท่าไหร่นัก รวมไปถึงตัวของคุณกอล์ฟก็ไม่ได้เรียนภาพยนตร์โดยตรง แต่เรียนคณะมนุษยศาสตร์กับด้านภาษามา ตัวเขาจึงอยากจะบอกเล่าเรื่องราวของ LGBTQ ในแง่มุมที่มีความเป็นมนุษย์ มีมิติมากกว่าการเป็นกะเทยตลก กะเทยแข่งกีฬา หรือหนังที่ขาดความเข้าใจชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศ จนกลายมาเป็นจุดเริ่มในการสร้างหนังสั้นเรื่อง แหวน ไปในที่สุด
ส่วนคุณนุชชี่ เรียนมาในสายหนังโดยตรงและเริ่มทำการสร้างภาพยนตรสั้นมาตั้งแต่เข้าเรียนปี 1 กระนั้นเจ้าตัวกล่าวว่าไม่ได้ตั้งใจจะทำหนังที่บอกเล่าเรื่อง LGBTQ เพียงแค่บอกเล่าจากเรื่องที่ใกล้ตัวเองที่สุดก่อน เลยบอกเล่าเรื่องราวของ LGBTQ เป็นหลัก ก่อนที่คุณนุชชี่จะเล่าว่า นักวิจารณ์เคยบอกว่าหนังที่เธอกำกับมักเป็นหนัง LGBTQ ที่เล่าเรื่องทางเพศกับฉากรักที่มีความรักความสวยงามปนมาด้วย (อย่างฉากของหนังเรื่อง มะลิลา ที่มีฉากร่วมรักของพระเอกสองคนที่เต็มที่แฝงด้วยความรักความสัมพันธ์ของทั้งคู่) และคุณนุชชี่เองมองว่าในยุคที่ตัวของคุณนุชชี่กับกอลฟ์เริ่มทำหนังสั้น เป็นช่วงที่เทคโนโลยีในการทำหนังเริ่มจับต้องได้ง่ายขึ้น เลยมีคนสร้างหนังที่เล่าเรื่องราวเฉพาะทางมากขึ้น หนัง LGBTQ จึงเฟื่องฟูขึ้น
ส่วนนักแสดงที่มาเล่นในหนังของทั้งคู่ ช่วงแรกๆ ตัวผู้กำกับต้องลงมาเล่นเอง อย่างในกรณีของคุณกอล์ฟนั้นถือว่าส่วนหนึ่งเป็นการท้าทายตนเองเพราะเจ้าตัวเคยเล่นละครโทรทัศน์มาก่อน ด้านคุณนุชชี่นั้นต้องมาเล่นบทนำเองเนื่องจากบทบาทที่คุณนุชชี่เขียนขึ้นมานั้นไม่มีคนที่กล้าจะเล่นด้วยเหตุผลต่างๆ นานา
กว่าภาพยนตร์ LGBTQ จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา ‘มากขึ้น’ ในสังคมไทย
หลังจากให้บอกเล่าว่าผู้กำกับทั้งสองคนมาทำงานกำกับภาพยนตร์ได้อย่างไร คุณเอิร์ธ ออสการ์ ผู้ดำเนินรายการของการสนทนาช่วงนี้ก็เสริมว่าสิ่งที่ผู้กำกับทั้งสองท่านทำหนังในมุมมอง LGBTQ เองมากกว่าเดิม ด้วยหนังกระแสหลักทั้งหลายในยุคก่อนหน้า เช่นในช่วงยุค 1980 หนังจะบอกเล่าในมุมมองของผู้ชาย หรือแบบ Masculine ที่ยังเชื่อว่าตัวละคร LGBTQ มีความชิงชังตัวเอง และมีความเชื่อว่าไม่มีรักแท้ในชุมชน LGBTQ สุดท้ายตัวละครมักจบด้วยโศกนาฏกรรม แต่ในยุคเดียวกันฝั่งฮอลลีวูดจะเริ่มทำหนังแนว New Queer Cinema ในลักษณะเดียวกับหนังกะเทยนรก ของคุณกอล์ฟ หรือ Scarlet Desire ของคุณนุชชี่ ที่ไม่ได้เล่าเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของ LGBTQ แต่เลือกเสนอเรื่องอื่นมากขึ้น
จุดนี้ทางคุณนุชชี่ ค่อนข้างเห็นด้วย เธอมองว่าหนังไทยในยุค 1980-2000 บอกเล่าเรื่อง T – Transgender หรือ กะเทย มากกว่า แต่ยังไม่ค่อยสนใจเรื่อง LGB หรือ Q ซึ่งนี่สะท้อนกลับมาถึงงานกำกับของคุณนุชชี่ ทั้ง Scarlet Desire หรือ ตามสายน้ำ ที่พยายามหานักแสดงชายมารับบทแล้ว แต่นักแสดงส่วนใหญ่ก็จะเกิดความกลัวว่า ถ้าในอนาคตไปทำงานอื่นๆ เขาอาจโดนคลิปหนังเหล่านี้กลับมาทำร้ายชีวิตของพวกเขาในภายหลังได้ แม้ว่าหนังจะไม่ได้มีหนังฉากจูบจริง รวมถึงช่วงถ่ายทำนั้นคือช่วงปี 2004 ที่สังคมเริ่มคุ้นเคยกับ LGBTQ แล้วก็ตามที กระนั้นเมื่อเวลาผ่านมาสิบปี ณ ตอนถ่ายทำเรื่อง อนธการ ในปี 2014 กลับได้ดาราวัยรุ่นที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงมารับบทบาทเป็นเกย์ ซึ่งนักแสดงและทีมงานก็รู้สึกว่าไม่ใช่เป็นการถ่ายทำหนังที่เน้นภาพเกย์แต่อย่างใด
ฝั่งคุณกอล์ฟนั้นในหนังเรื่องแหวนที่เป็นเรื่องแรก ก็ทั้งเล่นเอง กำกับเอง หาคนใกล้ตัวมารับบทสมทบ จึงไม่มีปัญหาใดนัก แต่หลังจากที่หนังได้รับรางวัลแล้วทำการถ่ายทำเรื่องที่สองอย่าง เปลือก ก็มีคนเสนอตัวมาว่าอยากจะรับแสดงเรื่องนี้ จนถึงขั้นต้องมีการคัดเลือกตัวแสดงขึ้นมา กระนั้นเมื่อข้ามมาทำหนังใหญ่ อย่างเรื่อง It’s Get Better ไม่ได้ขอให้มารัก ประมาณปี 2012 ดาราชายกลับรู้สึกกริ่งเกรงที่จะรับบทนำ แม้ว่าตัวละครในเรื่องจะเป็นสาวข้ามเพศและแสดงนำด้วยนักแสดงหญิง (เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) ก็ตามที
จากนั้น คุณนุชชี่ ได้ตั้งประเด็นว่า คนต่างจังหวัดจะยอมรับเรื่อง LGBTQ ได้มากกว่าหรือไม่ ซึ่งทางคุณกอล์ฟเห็นว่าจะสังคมเมืองกรุงหรือต่างจังหวัดก็มองเรื่อง LGBTQ ได้ใกล้เคียงกัน เพียงแค่ถ้าต้องมาทำการแสดง ต้องมีภาพที่ถูกบันทึก สังคมบ้านเราจะเชื่อว่าภาพที่บันทึกแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตจะเป็นจริง และยิ่งอาชีพดาราที่ต้องขายภาพลักษณ์จึงยิ่งต้องระมัดระวังมากขึ้น
คุณนุชชี่จึงแปลกใจเล็กน้อยว่า จริงๆ ดารานักแสดงน่าจะเปิดใจมากขึ้นหลังจาก รักแห่งสยาม ออกฉายในปี 2007 แล้ว ทำไมถึงยังมีความกลัวจะรับบทบาทกันอยู่ ซึ่งคุณเอิร์ธกับผู้ชมในงานมองว่า อาจเป็นผลพวงมาจากการมาถึงของหนัง Broke Back Mountain (2005) ที่ทำให้หนังแสดงภาพลักษณ์ของ LGBTQ ที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่สังคมจะคุ้นเคยกับการตีความว่าตัวละครตัวหนึ่งจะต้องรับบทเป็น ‘ผู้หญิง’ แต่ใน Broke Back Mountain นั้นตัวละครในเรื่องเป็นผู้ชายมีไลฟ์สไตล์แบบชายแท้ นั้นหลงรักกันจนมีอะไรกัน
อีกส่วนที่คุณนุชชี่ชวนตั้งคำถามจากทุกคนก็คือ น่าจะเป็นกระแสซีรีส์แนว Y ที่ทำให้นักแสดงกับคนดูยอมรับและคุ้นชินกับ หนัง LGBTQ ซึ่งในห้องสัมนาเห็นว่าจุดเริ่มต้นของกระแสนั้นน่าจะมาจากภาพยนตร์ พี่ชาย My Bromance (2014) ที่สุดท้ายถูกพัฒนาเป็นซีรีส์ คุณเอิร์ธจึงย้อนความไปถึงหนัง รักแห่งสยาม ว่า ณ ตอนที่ฉายครั้งแรกก็เจอนักวิจารณ์กับคนดู ออกมาแสดงความเห็นรับไม่ได้ ทั้งๆ ที่ในปีเดียวกันมี เพื่อน…กูรักมึงว่ะ ออกฉายในปีเดียวกัน
ถ้าสรุปโดยคร่าว ก็พอบอกได้ว่า ดารานักแสดงไทย รวมถึงคนดูชาวไทย เพิ่งมาเริ่มคุ้นชินกับหนังที่มีตัวละครเป็น LGBTQ ราวๆ ในช่วงปี 2014 แต่ในช่วงเวลาไม่นานนี้กลับสามารถทำให้คนเข้าใจได้ว่า การแสดงเป็นบุคคลหลากหลายทางเพศในหนังนั้นเป็นเพียงการแสดง มิหนำซ้ำยังทำให้นักแสดงหลายคนคิดว่าการข้ามมารับบทบาทในลักษณะนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการแสดงของพวกเขาอีกด้วย อาจเป็นเวลาที่ยาวนาน แต่ก็ถือว่าเป็นการรอที่คุ้มค่าก็ได้
จุดประสงค์ในการทำหนังของผู้กำกับทั้งสองคน
ในช่วงก่อนหน้านี้ มีจังหวะหนึ่งที่ คุณกอล์ฟกับคุณเอิร์ธยังพูดถึงว่าหนัง LGBTQ ของไทยยังบอกเล่าในเชิงมุมมอง LGBTQ ที่เป็นแบบ Heterosexual มากกว่า คือ ตุ๊ดยังต้องแต่งหญิง, ทอมต้องอยากแมน, รับต้องสาวอ้อนแอ้นกว่ารุก ฯลฯ ส่วนหนังของคุณกอล์ฟจะมีตัวละครที่มีความลื่นไหลทางเพศ มากกว่านั้น ดังเช่น ตัวละครใน Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้าน ที่ตัวเอกเป็นผู้ชายแต่งหญิงที่แต่งงานแล้วกับผู้หญิงแต่ยังมีอารมณ์ทางเพศกับผู้ชาย
คุณกอล์ฟย้ำว่าเพราะสังคมเราถูกสะกดจิตด้วยคำว่าเครื่องเพศ เมื่อเรามี ‘จู๋’ เราต้องเป็นผู้ชาย เราต้องมีบทบาท เป็นพ่อ เป็นผู้นำครอบครัว แต่ถ้าเรามี ‘จิ๋ม’ เราต้องเป็นแม่ เป็นเมีย กลายเป็นว่าความเป็นมนุษย์ไปอยู่ที่อวัยวะเพศแทน และการสะกดจิตนั้นไม่ได้หยุดแค่ผู้หญิงหรือผู้ชาย อย่างในกรณีกอลฟ์กับคุณเอิร์ธในวัยเด็กที่ถูกคนอื่นเรียกว่า ตุ๊ด หรือ กะเทย คือหากไม่ใช่ผู้ชายก็แปลว่าก็ต้องอยากแปลงเพศเป็นผู้หญิง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วพวกเขาอาจไม่ได้อยากแปลงเพศ และนั่นก็เป็นเพียงการพยายามจัด Category ให้รสนิยมทางเพศของมนุษย์ไม่มีวันจบสิ้น คุณกอล์ฟเลยพูดถึงความลื่นไหลทางเพศที่ใครคนหนึ่งมีความสัมพันธ์ทางเพศทั้งกับผู้หญิง, ผู้ชายและกะเทยได้ แล้วก็ไม่แปลกถ้าเขาจะกลับมารักผู้หญิงได้ ซึ่งตัวคุณกอล์ฟมองว่านี่ไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคม แต่เราจะกล้าพูดถึงมันไหม นั่นจึงทำให้คุณกอล์ฟสร้างหนังที่บอกเล่าความลื่นไหลทางเพศอยู่
และ คุณกอล์ฟยังต่อยอดจากที่คุยกันว่าทำไม คนส่วนหนึ่งไม่โอเคกับ รักแห่งสยาม แต่โอเคกับ เพื่อน…กูรักมึงว่ะ โดยหยิบเอาประสบการณ์จากการนำหนังของตัวเองไปฉายในประเทศและเจอคนมาขอบคุณที่ทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะมันตรงกับชีวิตของผู้ชมคนดังกล่าว เพราะฉะนั้นแม้ว่าหนังอาจไม่เหมาะกับบางคน แต่ก็ยังเติมเต็มชีวิตของคนอีกหลายคนได้อยู่ รวมถึงยังสามารถเปิดโลกให้คนที่ยังไม่รู้ได้รับรู้ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่เพศชายเพศหญิง (คุณกอล์ฟยังกล่าวว่า การที่หนังของเขามีความลื่นไหลทางเพศสูงอาจเป็นเหตุทำให้คนตัดสินใจเซนเซอร์แบนหนังก็เป็นได้)
คุณนุชชี่ ถือโอกาสบอกเล่าประสบการณ์จากการที่ได้ไปฉายภาพยนตร์ในหลายๆ ประเทศ ซึ่งตัวเองได้เจอความไม่เข้าใจ LGBTQ ของแต่ละประเทศนับตั้งแต่จุด ต.ม. ที่มึนงงกับการแต่งตัวของเธอ รวมไปถึงการตอบรับจากผู้ชมในบางประเทศที่มีความก้าวหน้าทางแนวคิด LGBTQ ที่ไม่มากนักอย่าง อินเดีย และ เกาหลีใต้ ที่มีคำถามว่าทำไมหนัง (มะลิลา) ถึงใช้ตัวละครที่เป็นเกย์ในการเล่าเรื่อง หรือทำไมตัวหนังนั้นถึงไม่มีการต่อสู้กับสังคมเพื่อสิทธิของตนเองทั้งๆ ที่มีตัวละครนำเป็นเกย์ ซึ่งนี่ทำให้คุณนุชชี่คิดว่า มันจำเป็นไหมที่ตัวคุณนุชชี่เองจะทำหนังให้คนที่ไม่เข้าใจ LGBTQ ขนาดนั้น
ทั้งนี้ทั้งสองคนเห็นพ้องในเรื่องการยอมรับเพศสภาพ และการแต่งงานของคนเพศเดียวกันอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรมี และถ้าถามว่าพวกเขายังจะทำหนัง LGBTQ ต่อไปไหม เขาก็เชื่อว่าพวกเขาก็ควรจะทำต่อไปเพราะในตอนนี้ โลกเราในแต่ละที่ก็ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน และคุณกอล์ฟยังได้บอกว่าเป้าหมายของเขาอยากจะให้เส้นการทำหนังเลือนลางลงให้ได้เพราะหนัง LGBTQ ในปัจจุบันยังโดนแบ่งกลุ่มอยู่ แต่หวังว่าสักวันหนึ่งหนังน่าจะเดินทางไปถึงจุดที่บอกเล่าความรักและชีวิตของใครคนใดได้อย่างปกติโดยไม่ต้องแปะป้ายใดๆ ไว้
ก้าวต่อไป ที่ผู้กำกับทั้งสองอยากไปถึง
เมื่อประเด็นสักครู่นี้จบลง ทางคุณนุชชี่ก็บอกเล่าเรื่องราวที่เขาได้มาจากการเดินทาง ตัวคุณนุชชี่บอกว่าอาจต้องขยับออกจากการทำหนัง LGBTQ แล้ว เพราะมีคนทำหนังท่านหนึ่งที่มีชื่อในการทำ LGBTQ มาบอกกล่าวว่าตัวเขาไม่เคยมองว่าตัวหนังที่ทำเป็นหนังเป็น LGBTQ เลย แม้ว่าผลงานสร้างชื่อจะเป็นแนวนั้น คำพูดนี้ทำให้คุณนุชชี่รู้สึกว่าบางทีหนังเรื่องต่อไปของเขาอาจจะเป็นหนังที่ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวละครหลากหลายทางเพศอีกด้วย ซึ่งถ้าคำนึงถึงเรื่องโปรดักชั่นที่ต้องใหญ่ขึ้น ก็อาจต้องขยับไปทำหนังกระแสตลาดมากขึ้น
ทางด้านคุณกอล์ฟ กลับบอกว่าจริงๆ ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นผู้กำกับหนัง LGBTQ เพราะทำหนังใหญ่มา 9 เรื่องมีแค่ 3 เรื่องที่เป็น LGBTQ แต่หนังอื่นๆ เป็นเนื้อหาธรรมดา และหนัง LGBTQ ที่กอลฟ์ทำ ก็ไม่ได้บอกเล่าการต่อสู้ใดๆ เพื่อสิทธิของเพศทางเลือก อย่าง Inscets in the Backyard ก็เล่าเรื่องกะเทยมีเมีย มีปัญหาชีวิต หรือ It’s Get Better ที่เล่าเรื่องกะเทยที่ถูกความเชื่อทั้งหลายบีบให้ตัวละครไปมีลูกมีเมีย แต่คนนอกมองว่าเป็นการทำหนังเรียกร้องหรือตามหาสิทธิความเท่าเทียม ซึ่งตัวคุณกอล์ฟนั้นเพียงแค่เล่าเรื่องว่าตัวละครต่างๆ โดนบีบคั้นจากสังคมโดยรอบเท่านั้น
จากนั้น คุณเอิร์ธ ได้ตั้งคำถามว่า หนัง LGBTQ ควรพัฒนาบทบาทไปเป็นรูปแบบไหน ซึ่งฝั่งคุณกอล์ฟ ยังแสดงความเห็นในทางเดิมกับช่วงก่อนหน้านี้ว่า ในตอนนี้หนังและซีรีส์ LGBTQ เป็นการบอกเล่าชีวิตจากแง่มุมอื่นๆ ที่ยังมีคนเชื่อว่าไม่มีจริง และคุณกอล์ฟคาดหวังว่าหนัง Block Buste น่าจะบอกเล่าความหลากหลายของมนุษย์มากขึ้น ถึงอย่างนั้นก็เข้าใจว่าหนังกระแสหลักจะมีตัวละครหลากหลายทางเพศน้อยลงเนื่องจากซีรีส์คนแสดงหรือหนังโรงเล็กที่มีช่องทางนำเสนอมากขึ้น จึงไม่แปลกที่หนังใหญ่มากๆ อาจจะคุยเรื่องนี้น้อยลง
ฝั่งคุณนุชชี่เห็นด้วยในส่วนที่สื่อบันเทิง LGBTQ ไปงอกเงยในช่องทางอื่นมากขึ้น แต่เมื่อกลุ่มคนที่เป็นผู้ชมหลักของหนังกับซีรีส์หลากหลายทางเพศมีช่องทางดูใหม่แล้ว ตัวคุณนุชชี่จึงมีความไม่แน่ใจว่าแล้วภาพยนตร์ LGBTQ จะทำหน้าที่อย่างไร ให้กับกลุ่มคนที่ยังไม่ได้เข้าใจเรื่องหลากหลายทางเพศมากขึ้น
แล้วช่วงสัมนาก็จบลงเป็นช่วงพูดคุยกับผู้ชมงานที่ประเด็นไม่ได้เกี่ยวข้องกับหนัง LGBTQ โดยตรงแต่เป็นการคุยกันเกี่ยวกับสังคมใหญ่ ว่ามีความพร้อมขนาดไหนในการต้อนรับ LGBTQ แต่อย่างน้อยเราเองก็คาดหวังเช่นเดียวกันกับคำพูดของ คุณกอล์ฟที่บอกกกล่าวว่า สุดท้ายแล้ว สักวันหนึ่งในอนาคต เราจะก้าวถึงจุดที่มนุษย์ละทิ้งคำนำหน้าเพศ และสามารถชื่นชมหรือชื่นชอบใครก็ได้ในฐานะ ‘มนุษย์คนหนึ่ง’