ตั้งแต่ที่ไทยเริ่มเน้นการกักตัว ผมไถหน้าฟีดในเฟซบุ๊กก็ได้เจออะไรสารพัด ตั้งแต่ชาว TikTok นักออกกำลังกาย คนเล่นกับหมา เพื่อนออกกำลังกาย คนแชร์เรื่องการทำงาน คนแชร์ว่าคนถูกกดดันที่ไม่พัฒนาตัว คนที่ไม่สนเรื่องพัฒนาตัว คนแชร์พื้นหลังวิดีโอคอล คนเล่นเกม Animal Crossing สารพัดสารพัน ก็เป็นแนวทางในการข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากของแต่ละคน ไม่มีใครผิดใครถูก ใครทำอะไรแล้วสบายใจไม่ไปเบียดเบียนคนอื่นก็โอเคล่ะครับ
ส่วนที่ญี่ปุ่นเอง แม้จะมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 7 จังหวัด แต่ก็ไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ รัฐสามารถสั่งได้แค่บางหน่วยงานให้หยุดกิจการเท่านั้น แต่ที่เหลือก็เป็นการขอความร่วมมือกัน แต่เท่าที่สังเกตดูก็จัดว่าดีในระดับหนึ่ง เพราะตัวเมืองก็คนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ปริมาณผู้โดยสารลดไฟก็ลดลงชัดเจน หลายกิจการก็เลือกปิดไปเลยหนึ่งเดือน หลายกิจการก็พยายามให้พนักงานทำงานจากบ้าน ซึ่งอย่างหลังนี่ล่ะครับ กลายมาเป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นตามมา นั่นคือ ‘การทำร้ายร่างกายในครัวเรือน’
จริงๆ แล้วนี่ก็ไม่ใช่ปัญหาของญี่ปุ่นแต่เพียงอย่างเดียว ช่วงล็อกดาวน์ในหลายๆ ประเทศ ก็มีอัตราการทำร้ายร่างกายในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น และรวมไปถึงอัตราการหย่าร้างที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งก็เป็นผลกระทบจากการที่สามีภรรยาต้องมาใช้เวลาร่วมกันมากขึ้นกว่าเดิม ในพื้นที่จำกัด ส่งผลให้ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นได้มาก จนส่งผลอย่างที่เห็น ถึงขนาดที่องค์การสหประชาชาติยังต้องแถลงว่าเป็นห่วงเรื่องนี้เลยทีเดียว
กรณีของญี่ปุ่นก็เป็นประเด็นขึ้นมาจนมีแฮชแท็ก #コロナDV หรือ Corona Domestic Violence นั่นเอง หลายคนก็แสดงความเห็น ช่วยกันเตือนสติ ช่วยกันระวัง ซึ่งกรณีนี้ก็เกิดขึ้นได้ง่ายในญี่ปุ่นเช่นกัน เพราะสาเหตุหลักๆ ก็คือ บ้านของญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีพื้นที่ใหญ่มากนัก ส่วนใหญ่ก็อยู่เท่าที่จำเป็น ถ้าคุณไม่ได้มีเงินเหลือพอ คุณไม่มีห้องหนังสือ หรือห้องทำงานส่วนตัว ในบ้านได้ง่ายๆ เพราะส่วนใหญ่แล้วการทำงาน โดยเฉพาะของฝ่ายชายก็คือ การออกไปทำงานนอกบ้าน ดังนั้น จะมีห้องทำงานในบ้านทำไมล่ะครับ อย่างหรูก็คือมีพื้นทีทำกิจกรรมส่วนตัวในบ้าน พอเป็นแบบนี้ การแยกพื้นที่ ‘บ้าน’ กับ ‘ที่ทำงาน’ ก็ยากลำบาก
ยิ่งพื้นที่ยิ่งเล็ก พออยู่กันไปนานๆ ยิ่งกดดัน
อาจจะทำให้ระเบิดได้ง่ายขึ้น
แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แค่ไหน
ยิ่งถ้าเป็นครอบครัวที่มีลูกที่ยังเล็ก หรือกระทั่งเข้าวัยประถมแล้วก็ยิ่งเสี่ยงครับ เพราะว่าจากที่ผ่านมาตารางชีวิตของแต่ละคนคือ พ่อไปทำงานตอนเช้ากลับมาตอนเย็น ลูกไปโรงเรียน แม่ทำงานบ้านอยู่บ้าน ทุกคนมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง แต่พอต้องมาอยู่พร้อมกันทั้งครอบครัวทั้งวัน ยิ่งเพิ่มโอกาสความตึงเครียดให้สูงยิ่งขึ้น ลูกก็เล่นไปตามประสาเด็ก ทำอะไรได้ล่ะ แต่แค่นั้นก็พอเพิ่มความปวดหัวให้ทั้งพ่อกับแม่แล้ว ยิ่งถ้าพ่อต้องรีบทำงานส่งอีกยิ่งเพิ่มความเครียดจนระเบิดและเผลอลงไม้ลงมือได้ง่ายยิ่งขึ้น
เท่าที่ไล่อ่านมา บางทีปัญหาการลงไม้ลงมือก็อาจจะเกิดขึ้นจากคำพูดเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่บางทีคำพูดเหล่านั้นก็กลายเป็นสวิตช์จุดระเบิดได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการบอกว่า “ไหนๆ ก็….แล้ว ช่วย…ด้วยสิ” เช่น “ไหนๆ ก็ออกไปซื้อของที่เซเว่นแล้ว แวะเอาขยะไปทิ้งหน่อยสิ” ทำให้สามีรู้สึกว่า นอกจากทำงานแล้ว จะพักหน่อยก็ถูกใช้งาน หรือ “ถ้าไม่ช่วยงานบ้านเลย ก็หาเงินเพิ่มหน่อยเถอะ” ก็กลายเป็นประโยคที่ทำให้ระเบิดได้ง่ายๆ เหมือนกัน ในขณะเดียวกัน ฝ่ายภรรยาก็อาจมองว่า การต้องทำอาหารให้สามีกินทั้งสามมื้อ กลายเป็นความเครียดได้เหมือนกัน เพราะปกติมื้อเที่ยงจะทำอะไรกินเองง่ายแค่ไหนก็ได้ ถูกติเรื่องรสชาติหน่อยก็หัวเสียได้ง่ายๆ เหมือนกัน
ซึ่งก็ได้มีการไปสัมภาษณ์อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญเรื่องประเด็นปัญหาครอบครัวว่า ทำไมเวลาแบบนี้ถึงเกิดการทำร้ายร่างกายในครอบครัวมากขึ้น ทำให้มีสองประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาคือ
ประเด็นแรกคือ โดยสัญชาติญาณของเพศชาย มักจะติดนิสัย แก้ปัญหา คือเมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็จะหาทางแก้ตามสัญชาติญาณซึ่งถูกปลูกฝังมาพร้อมกับวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์นี่ล่ะครับ แต่พอเป็นปัญหาขนาดใหญ่ที่ระดับชาติยังไม่รู้จะหาทางออกได้เมื่อไหร่อย่างเช่นการระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ ก็ทำให้เกิดความเครียด เพราะไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์รอบตัวได้ และไม่รู้ว่าสถานการณ์ปัญหาแบบนี้จะจบลงเมื่อไหร่ กลายเป็นความเครียดสะสมที่ทำให้สามารถระเบิดได้โดยง่ายดาย
ประเด็นที่สองคือ ระบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป อย่างที่บอกไปว่า ปกติคือสามีต้องตื่นออกไปทำงาน กลับมาบ้านตอนเย็น ภรรยาคือคนดูแลบ้าน (อันนี้กรณีครอบครัวญี่ปุ่นส่วนใหญ่นะครับ) ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็มีพื้นที่แยกกันชัด พอกลายเป็นว่าต้องมาอยู่ในพื้นที่เดียวกันตลอดทั้งวันในวันทำงาน สำหรับสามีแล้ว นี่ก็คือเกมเยือนชัดๆ เมื่อนับรวมถึงเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบๆ บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนบ้านที่รู้จักแต่กับภรรยาเท่านั้น สามีก็เลยยิ่งรู้สึกหัวเดียวกระเทียมลีบ ยังไม่นับว่า เหมือนถูกจ้องมองการทำงานตลอดเวลาอีกด้วย ในทางกลับกัน สำหรับฝ่ายภรรยาก็กลายเป็นว่า มีงานมีภาระเพิ่ม แล้วถ้าสามีพักสักหน่อย หรือทำงานอยู่แล้วแวะเปิดเว็บนั่นนี่ฆ่าเวลา ก็อาจจะทำให้รู้สึกว่า อ่าว นี่ เล่นไม่ใช่เหรอ ไม่ได้ทำงาน แล้วทำไมชั้นต้องทำงานบ้านคนเดียว ก็กลายเป็นความเครียดสั่งสมรอวันระเบิดได้
ซึ่งอาจารย์ก็แนะนำว่า สิ่งสำคัญคือ อย่าพยายามทำความเข้าใจอีกฝ่าย เพราะยิ่งพยายามจะยิ่งเหนื่อยและยิ่งเครียด เพราะไม่มีทางเข้าใจกันได้แน่นอน (ฮา) ยิ่งพยายามยิ่งเครียด ควรยอมรับอีกฝ่ายในแบบที่อีกฝ่ายเป็น และพยายามหาทางเว้นระยะจากกันให้เหมาะสมบ้างครับ ก็ฟังดูน่าคิดเหมือนกัน
นั่นก็คือกรณีของครอบครัวที่ปกติก็ไม่มีอะไร แล้วพอต้องกักตัวถึงมีปัญหา แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือ ครอบครัวที่มีปัญหานี้อยู่แล้ว พอยิ่งต้องกักตัว ความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น โอกาสที่ฝ่ายที่ถูกทำร้ายเป็นประจำ จะถูกทำร้ายถี่ หรือหนักขึ้นก็ยิ่งสูงขึ้น แต่ปัญหาก็คือ
สถานการณ์ที่ต้องกักตัว
ทำให้หลายคนหาทางออกไม่ได้
เพราะการที่ต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกันตลอด ทำให้ฝ่ายที่ถูกกระทำไม่สามารถที่จะโทรศัพท์ปรึกษาศูนย์ให้ความช่วยเหลือได้ง่าย เพราะไม่รู้จะแอบอย่างไร หรือการจะเดินทางไปศูนย์ช่วยเหลือก็ลำบากกว่าเดิม เพราะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมไปถึงกรณีที่ศูนย์พักพิงต้องปิดตัวลงชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาด ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ไม่รู้จะไปพึ่งใคร
นี่ก็รวมไปถึงกรณีของการที่เด็กในครอบครัวเป็นฝ่ายที่ถูกทำร้าย การที่ไปโรงเรียนไม่ได้ อาจจะหมายถึงความเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายเพิ่มมากขึ้น ยิ่งเด็กหลายคนเลือกที่จะหนีออกจากบ้านแล้วอาศัยร้านเน็ตคาเฟ่เป็นที่พึ่งพิง แต่ปัญหาคือเน็ตคาเฟ่ก็ต้องหยุดให้บริการเช่นกัน กลายเป็นการผลักเด็กกลุ่มนี้ให้กลายเป็นเด็กไร้ที่พึ่ง หรือเร่ร่อนในสถานการณ์เช่นนี้ได้เหมือนกัน
ผมเองก็สนับสนุนเรื่องการ อยู่บ้านเพื่อความปลอดภัย stay home stay safe แต่ก็เข้าใจว่าหลายคนไม่สามารถทำได้เพราะเรื่องการงานและการใช้ชีวิต แต่พอไล่อ่านหลายๆ บทความ กลายเป็นว่า กระทั่ง stay home สำหรับหลายคน ก็ไม่ได้หมายถึง stay safe เสียด้วยซ้ำ ก็ได้แต่หวังว่าทั้งรัฐและตัวสังคมจะมีมาตรการช่วยเหลือตามมาอีกนะครับ ไม่อย่างนั้นอาจจะส่งผลให้กลายเป็นแผลลึกต่อไปได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก